วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าลายขิดไทลื้อ

การทอผ้าลายขิดของไทลื้อนั้น เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาหลายช่วงอายุคนกลุ่มไทลื้อที่ทอผ้าลายขิด ได้แก่ ไทลื้อ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน และจังหวัดพะเยา เป็นต้น

ชาวไทยลื้อนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นของใช้ ในครัวเรือน อาทิ สะลี (ฟูก) ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน)และหมอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังนิยมทอผ้าลายขิดเป็นสิ่งทอในพระพุทธศาสนาถวายเป็นพุทธบูชาเช่น ตุง เป็นต้น ทอเป็นเคื่องนุ่งห่ม เช่น ผ้าเช็ด ในปัจจุบันกลุ่มไทยลื้อได้พัฒนาตัดเย็บผ้า

ลายขิดแบบดั้งเดิมเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอร่วมสมัย อาทิ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง และผ้ารองจาน ฯลฯ

ผ้าขิดของไทลื้อ มีทั้งลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นลายม้า ลายช้าง ลายสสิงห์ ลายนก ลายขอ ลายดอกแก้ว และลายดอกจันทน์ เป็นต้น ลวดลายที่เกิดจากความเชื่อถือศรัทธาพระพุทธศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณี อาทิ ลายพญานาค ลายหงห์ ลายปราสาท ลายพานพุ่มดอกไม้ และลายช่างฟ้อนถือช่อดอกไม้ ฯลฯ

ไทลื้อในแต่ละท้องถิ่นนิยมใช้สีสันคล้ายคลึงกันคือใช้ฝ้ายสีแดง สีดำ หรือสีครามบนผืนผ้าฝ้ายสีขาว ซึ่งทำให้ลวดลายมองเห็นได้เด่นชัด โดยเฉพาะผ้าที่ทำของใช้ในบ้าน จะใช้สีสันแนวเดียวกัน เมื่อใช้สอยร่วมกันก็เป็นกลุ่มสีสันที่สวยงามเหมาะสมกลมกลืน

เส้นใยที่ใช้ทอผ้าลายขิดนั้น กลุ่มไทลื้อนิยมใช้เส้นใยฝ้ายคล้ายกับการทอผ้าอื่น ๆ ในวิถีชีวิต ส่วนเส้นใยไหมไม่นิยมนำมาทอผ้าลายขิดเพราะกลุ่มไทลื้อทอผ้าขิดเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน ลักษณะการใช้งานต้องการผ้าเนื้อหนาและทนทาน อีกทั้งฝ้ายหาได้ง่ายในท้องถิ่น เพราะปลูกฝ้ายกันอย่างแพร่หลาย แต่เส้นใยไหมนั้นหายากเนื่องจากชาวไทลื้อมีความเชื่อเช่นเดียวกับ กลุ่มไทยวน ว่าการสาวไหมจะทำให้ตัวหนอนไหมตายเกรงว่าจะเป็นบาป ผ้าลายขิดของไทลื้อจึงเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายงดงามและแฝงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาไว้ด้วย

ผ้าลายขิด ผ้าเช็ด ไทลื้อ
ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/textilek/textilek03/textilek03.html

<- ย้อนกลับไปยังหน้ารวม ผ้าขิด ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร