กฎหมายที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการช่วยเหลือ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/01/2008
ที่มา: 
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความกฎหมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการช่วยเหลือ

กฎหมายที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการช่วยเหลือ
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


        ภัยธรรมชาติ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยและทรัพย์สินของผู้ที่ประสบภัย รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอีกหลายด้าน อาทิเช่น ความเสียหายต่อจิตใจของผู้ที่สูญเสีย การประกอบอาชีพ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ ซึ่งนอกจากการให้ความช่วยเหลือแก่ตัวบุคคลที่ประสบภัยแล้วยังต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาตินั้นด้วย

        บ่อยครั้งที่ภัยธรรมชาติได้เกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ดังนั้นการเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวจึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการป้องกันไว้ล่วงหน้าก็ไม่สามารถระงับเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกกรณีไป การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัยจึงเป็นผลที่ตามมาอย่างไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในการให้ความช่วยเหลือนี้ ครอบคลุมในหลายๆ ด้านด้วยกัน ทั้งด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ การค้นหาและประกอบพิธีกรรมทางศาสนากรณีมีผู้เสียชีวิต การจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ซึ่งเป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าในระดับหนึ่ง และยังต้องมีการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ตกงานเนื่องจากเหตุดังกล่าว การฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ประสบภัย การจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูในด้านอื่นๆ

        การที่เราทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาตินี้จะช่วยให้สามารถทราบถึงสิทธิต่างๆ ที่ผู้ประสบภัยจะได้รับ และในส่วนของราชการหรือเจ้าหน้าที่เองก็จะได้ทราบถึงการป้องกันหรือการระงับเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาตินั้น รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องดำเนินการในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาตินั้นขึ้น ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติมีทั้งที่เป็นการบัญญัติในเรื่องดังกล่าวโดยตรงและกรณีที่เป็นการกล่าวถึงเพียงโดยอ้อม โดยในที่นี้จะได้กล่าวถึงเฉพาะกรณีที่บัญญัติเกี่ยวกับภัยธรรมชาติไว้โดยตรงเท่านั้น มิได้จำกัดว่าภัยธรรมชาตินั้นจะเป็นภัยประเภทใด เนื่องจากภัยธรรมชาตินั้นเป็นคำที่มีความหมายกว้างครอบคลุมทั้งภัยประเภทต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า เป็นต้น และยังมีคำที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน อาทิ ภัยพิบัติ สาธารณภัย ภยันตรายที่เกิดแก่สาธารณะ สงคราม ซึ่งกฎหมายบางฉบับก็ใช้สำหรับภัยประเภทหนึ่งแต่เพียงประเภทเดียว เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการบัญญัติเพื่อใช้บังคับในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติในความหมายอย่างกว้าง โดยอาจจะกล่าวถึงภัยธรรมชาติทั้งฉบับหรือกล่าวไว้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผู้จัดทำได้รวบรวมมา และเรียบเรียงให้ง่ายต่อการเข้าใจ ทั้งนี้ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งภาครัฐและประชาชน และขอเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากภัยธรรมชาตินั้น

[แก้ไข] การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
        ๑. ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖

        ระเบียบฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยกำหนดให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินสำหรับภัยพิบัติแต่ละครั้งหรือแต่ละเหตุการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในระหว่างที่ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่าย กล่าวคือ เป็นการสำรองเงินไว้ล่วงหน้าเพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นเมื่อใดและจะก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด โดยได้กำหนดว่าส่วนราชการใดบ้างที่จะมีเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและกำหนดวงเงินของแต่ละส่วนราชการนั้นไว้ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดผู้ที่มีอำนาจจัดสรรเงินทดรองราชการตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อภัยพิบัติแต่ละครั้งหรือแต่ละเหตุการณ์

        เมื่อส่วนราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว ให้การอนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการสำหรับภัยพิบัติแต่ละครั้งหรือแต่ละเหตุการณ์สิ้นสุดลงเพราะเงินทดรองราชการนี้ใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินและจำเป็นรีบด่วนเท่านั้น

        ในระเบียบได้มีการกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทั้งในระดับจังหวัดและในระดับอำเภอ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการสำรวจความเสียหาย พิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ระดมสรรพกำลัง ควบคุม เร่งรัด และประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อนุมัติค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์เครื่องมือและอื่นๆ ที่จำเป็นจากส่วนกลาง

        นอกจากนี้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอาจกำหนดประเภทภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินขนาดเล็กหรือเฉพาะหน้าก็ได้และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้ทันทีและให้ดำเนินการประกาศให้ภัยพิบัตินั้นเป็นภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในภายหลังโดยเร็ว

        ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการจัดหาพัสดุเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น เครื่องมือในการค้นหาผู้ประสบภัย เครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น ในระเบียบฉบับนี้กำหนดให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหา เจรจาต่อรองและตกลงราคากับผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างทำงานนั้นโดยตรงในราคาซึ่งไม่สูงกว่าราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อพิจารณาอนุมัติและออกใบสั่งซื้อหรือใบสั่งจ้างต่อไป

        ๒. พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

        พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดลักษณะของบุคคลที่จะเป็นผู้ประสบภัยและได้รับความคุ้มครอง กล่าวคือ เป็นผู้ที่ถูกประทุษร้ายหรือได้รับอันตรายถึงขนาดสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเพราะเหตุที่บุคคลนั้นช่วยเหลือราชการหรือปฏิบัติงานของชาติหรือช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่มนุษยธรรมซึ่งพลเมืองดีพึงปฏิบัติ โดยบุคคลเหล่านี้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย แต่มีข้อยกเว้นคือกรณีที่อันตรายหรือความป่วยเจ็บนั้นเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือเกิดจากความผิดของตนเอง

        ในการจ่ายเงินช่วยเหลือสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

        - กรณีที่ผู้ประสบภัยถึงแก่ความตาย ให้จ่ายเงินชดเชยแก่ทายาท รวมทั้งจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพแก่ทายาทซึ่งจัดการศพหรือผู้จัดการศพของผู้ประสบภัย

        - กรณีที่ผู้ประสบภัยต้องพิการทุพพลภาพขนาดหนักจนเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพหรือในการดำรงชีพให้ได้รับเงินดำรงชีพด้วยโดยจ่ายเป็นรายเดือน

        - ผู้ประสบภัยมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากรัฐ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประสบภัยจะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์หรือไม่ก็ตาม

        การขอรับเงินสงเคราะห์ต้องกระทำภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิได้รับทราบถึงสิทธิของตน ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่ได้กระทำการเพื่อประโยชน์ของชาติได้รับความคุ้มครองช่วยเหลืออย่างเต็มที่

        ๓. พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. ๒๕๒๒

        ในกรณีที่สาธารณภัยเกิดขึ้นหรือใกล้จะเกิดขึ้น ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจหน้าที่ตามความจำเป็น เช่น การสั่งให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือน สมาชิกหน่วยอาสาสมัคร และบุคคลใดๆ ในเขตท้องที่ที่เกิดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในการป้องกันและบรรเทาอันตรายหรือความเสียหาย ใช้สถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ ยานพาหนะของทางราชการฝ่ายพลเรือน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนที่อยู่ในเขตนั้น ใช้เครื่องมือสื่อสารทุกระบบที่อยู่ในเขตท้องที่นั้น สั่งห้ามเข้าบริเวณหรือสถานที่ที่กำหนด หรืออำนวยการและควบคุมการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงและรวดเร็ว

        ในกรณีที่สาธารณภัย ภัยทางอากาศ หรือการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้น หรืออันตรายดังกล่าวใกล้จะถึงและผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบเห็นว่า สภาพของสิ่งก่อสร้าง วัสดุหรือทรัพย์สินใดอาจเป็นอุปสรรคต่อการบำบัด หรือป้องกันอันตราย ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนดังกล่าวมีอำนาจในการดัดแปลงหรือทำลายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง วัสดุหรือทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนมีหน้าที่สำรวจความเสียหายจากภัยที่เกิดขึ้นและทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานเพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย และมีอำนาจในการประกาศจำกัดพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีอันตรายหรือไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยจนกว่าอันตรายหรือความไม่เหมาะสมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วได้

        การจำหน่ายเคมีภัณฑ์หรือเครื่องมือในการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศที่ไม่ใช่การขายของส่วนราชการ จะขายได้เฉพาะสิ่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อการนี้เท่านั้น

        บุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ หรือได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการหรือช่วยเหลือในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน มีสิทธิได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม ถ้าลูกจ้างคนใดได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ถ้ามีระยะเวลาไม่เกินปีละ ๓๐ วัน นายจ้างจะงด หรือลดค่าจ้าง หรือเลิกจ้าง หรือลงโทษ หรือขัดขวางการทำงานในหน้าที่ดังกล่าวของลูกจ้างไม่ได้ อีกทั้งไม่ให้ถือว่าการที่ลูกจ้างต้องไปปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการขาดงาน

        ๔. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙

        เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา ๑๐ (๓)

        กรณีที่มีภัยธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การประกอบเกษตรกรรมพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฯ กำหนดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีอำนาจในการร่วมดำเนินการตามโครงการชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติแก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยได้อย่างกว้างขวางขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือจำกัดอยู่เพียงเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรตามความหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพในการทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การเลี้ยงไหมและสาวไหม การทำนาเกลือ การปลูกกล้วยไม้หรือไม้ดอก การปลูกไม้สน การปลูกสวนป่า การเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงครั่ง การเพาะเห็ด หรืออาชีพการเกษตรอื่นตามที่คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกำหนดโดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้หมายความรวมถึงเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย

[แก้ไข] สิ่งแวดล้อม
        ๑. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

        เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐

        เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงรวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ที่ตามมาจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้กำหนดว่าในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีภยันตรายต่อประชาชนอันสืบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติหรือเกิดการแพร่กระจายของมลพิษซึ่งหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐอย่างมาก นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือบุคคลใด กระทำการต่างๆ ซึ่งจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างทันท่วงที เป็นการให้อำนาจสั่งการแก่นายกรัฐมนตรีโดยตรงทำให้การระงับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนต่างๆ และการสั่งการนี้มีผลกับบุคคลทั่วไปด้วยมิได้จำกัดแต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เพื่อให้การป้องกันแก้ไขเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

        ในกรณีที่พบว่าบุคคลใดเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการกระทำดังกล่าวเพื่อไม่ให้เพิ่มความรุนแรงแก่ภาวะมลพิษในระหว่างที่มีเหตุภยันตรายนั้นด้วย อำนาจในการสั่งการนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการภายในเขตจังหวัดนั้นแทนตนได้

        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไข ระงับหรือบรรเทาเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุภยันตรายจากภาวะมลพิษได้

        ๒. พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

        เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา ๖๕

        ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ และบ่อยครั้งที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้านอื่นๆ ด้วย พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จึงได้ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้ผู้รับอนุญาต (ผู้รับอนุญาตทำไม้, ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือค้าไม้แปรรูป, ผู้รับอนุญาตเก็บไม้ไหลลอย) หรือผู้รับสัมปทานในป่านั้นหรือในป่าที่ใกล้เคียง รวมทั้งคนงานหรือผู้รับจ้างของผู้รับอนุญาตหรือผู้รับสัมปทานให้ความช่วยเหลือด้วยแรงงานหรือสิ่งของอื่นตามที่จำเป็น เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายที่เกิดแก่สาธารณะโดยฉุกเฉินซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้หรือของป่าที่อยู่ในป่า เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของสภาพป่าไว้

[แก้ไข] การเดินทาง
        ๑. ประกาศกรมการบินพาณิชย์ เรื่อง การอนุญาตให้ทำการบินในกรณีพิเศษ (เงื่อนไขประกอบใบสำคัญสมควรเดินอากาศ)

        ข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ แห่งประกาศกรมการบินพาณิชย์ เรื่อง การอนุญาตให้ทำการบินในกรณีพิเศษ (เงื่อนไขประกอบใบสำคัญสมควรเดินอากาศ) กำหนดให้กรณีที่จะนำอากาศยานทำการบินหนีภัยธรรมชาติ เพื่อป้องกันความเสียหายกับอากาศยาน ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ทำการบินในกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไข เช่น อากาศยานจะต้องมีประกันภัยสำหรับความเสียหายของบุคคลที่สาม อากาศยานจะต้องบินตามเส้นทาง ความสูง และเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต เป็นต้น และการอนุญาตให้ทำการบินในกรณีพิเศษนั้นจำกัดอยู่เฉพาะในราชอาณาจักรเท่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากประเทศที่ทำการบินเข้าและบินผ่าน

        ๒. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕

        มาตราที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑

        เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าไประงับเหตุหรือการเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย การลำเลียงเครื่องมือ สิ่งของจำเป็นเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในพระราชบัญญัติทางหลวงฯ จึงได้กำหนดให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่บางประการ กล่าวคือ

        - ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเข้าใช้ที่ดินหรือเข้าครอบครองวัตถุสำหรับใช้งานทาง ( กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้างการขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง) ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดในบริเวณหรือใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดภัยพิบัตินั้นได้เท่าที่จำเป็น โดยกรณีดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การก่อสร้าง การขยาย การบูรณะหรือการบำรุงรักษาทางหลวง ทั้งนี้ เพื่อให้ทางหลวงมีความสมบูรณ์และพร้อมที่จะใช้งานได้อย่างเต็มที่ ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างสะดวก คล่องตัว ส่งผลให้การดำเนินการป้องกันหรือการระงับภัยพิบัติ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือสามารถทำได้อย่างเต็มที่

        - ให้อำนาจเกณฑ์แรงงานของราษฎร สัตว์พาหนะหรือยานพาหนะ ตลอดจนเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องอุปกรณ์สำหรับใช้งานทางได้ด้วย เนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น บางกรณีก็ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ถนนหนทาง หรือถนนต่างๆ ที่มีอยู่เดิมไม่สะดวกแก่การขนส่ง และการดำเนินการขนส่งจะต้องกระทำโดยเร่งด่วน ลำพังเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่อยู่อาจไม่เพียงพอ จึงให้อำนาจในการเกณฑ์แรงงานดังกล่าวแก่ผู้อำนวยการทางหลวง เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการเกณฑ์แรงงานนี้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างหรือค่าตอบแทนไว้ด้วย

        - เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะอันเป็นการฉุกเฉิน ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมทางหลวงในการเข้าครอบครองทางหลวงสัมปทาน และให้สิทธิและอำนาจสั่งการของผู้รับสัมปทานตกมาอยู่กับอธิบดีกรมทางหลวงทั้งหมด จนกว่าภัยพิบัตินั้นจะหมดไป กล่าวคือ แม้ว่ารัฐจะให้สัมปทานแก่บุคคลใดแล้ว แต่เมื่อมีเหตุฉุกเฉินอันเนื่องมาจากภัยพิบัติสาธารณะ รัฐก็สามารถกลับเข้าครอบครองทางหลวงสัมปทานนั้นอีกได้เพราะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะตกได้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

[แก้ไข] องค์การสาธารณกุศล
        พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

        เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา ๑

         สภากาชาดสยาม เป็นสมาคมที่ได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นสมาคมที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วย โดยความมุ่งหมายอย่างหนึ่งของสภากาชาดสยาม คือ การจัดการช่วยเหลือผู้รับภัยเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น มีโรคระบาด หรือเกิดอุทกภัย เป็นต้น ซึ่งสภากาชาดสยามได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดไทย” ในปัจจุบัน

 


[แก้ไข] อัคคีภัย
         พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๒

        อัคคีภัยหรือไฟไหม้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกระทำของมนุษย์ อุบัติเหตุ รวมทั้งเกิดจากภัยธรรมชาติ พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่รับผิดชอบทางด้านนี้ไว้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยดังต่อไปนี้

        - ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นและเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการจัดให้มีวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย จัดให้มีสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จัดการบรรเทาทุกข์และจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยเมื่อเกิดเพลิงไหม้รวมทั้งจัดให้มีการอบรมและฝึกซ้อมป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย

        - ให้อำนาจแก่นายตรวจ (ผู้ที่ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้ง) ตรวจตราสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย เข้าไปในสถานที่ใดเพื่อตรวจตราการเก็บรักษาสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายหรือในเวลาฉุกเฉินที่แสดงให้เห็นว่าสถานที่นั้นอยู่ในภาวะที่จะเกิดอัคคีภัย รวมทั้งให้คำแนะนำแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารให้ขนย้ายหรือทำลายสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย

        - ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือสั่งให้พนักงานดับเพลิงหรืออาสาดับเพลิงดำเนินการกำหนดบริเวณที่อาจเกิดเพลิงไหม้ จัดระเบียบการจราจรชั่วคราว ปิดกั้นมิให้เข้าไปในบริเวณที่กำหนดและเคลื่อนย้ายหรือทำลายสิ่งที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้

        -ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ได้กำหนดให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น พนักงานดับเพลิงและเจ้าพนักงานตำรวจ ในการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์สำหรับระงับอัคคีภัยของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่เกิดเพลิงไหม้หรือที่อยู่ใกล้เคียงได้เท่าที่จำเป็น เข้าไปในสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้เพื่อทำการดับเพลิงหรือช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมมิให้เพลิงลุกลามต่อไป ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องที่มีอำนาจสั่งให้รื้อถอน ย้าย หรือทำลายอาคารหรือสิ่งที่จะเป็นสื่อให้เพลิงลุกลามต่อไปได้เท่าที่จำเป็น

        - เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาอาคารที่เป็นต้นเพลิงมีหน้าที่ดับเพลิงเท่าที่สามารถกระทำได้และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน

        - ผู้ที่พบเหตุเพลิงไหม้ให้แจ้งต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองดูแลรักษาสถานที่ที่เป็นต้นเพลิงเพื่อทำการดับเพลิง ถ้าไม่พบบุคคลดังกล่าวและตนอยู่ในสภาพที่สามารถดับเพลิงนั้นได้ก็ให้ทำการดับเพลิงนั้นทันที

        จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหน้าที่แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งบุคคลผู้พบเห็นเหตุการณ์ ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันหรือการระงับอัคคีภัยนั้นสามารถกระทำได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เกิดความเสียหายขึ้นน้อยที่สุด

 


[แก้ไข] การยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือค่าเช่า
        กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

        ๑. กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๕

        ๒. ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๖

        เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น อาจทำให้ผู้ประสบภัยมีปัญหาในด้านการใช้จ่าย สำหรับปัญหาดังกล่าวรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ตามข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอรับสำเนาทะเบียนบ้านถ้าสำเนาทะเบียนบ้านชำรุดจนใช้การไม่ได้หรือสูญหาย ในเขตท้องที่ที่ประสบภัยธรรมชาติตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางประกาศกำหนด และเจ้าบ้านขอรับสำเนาทะเบียนบ้านใหม่ภายในกำหนดเวลาที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางประกาศกำหนด

        นอกจากนี้ ตามข้อ ๗ แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดให้ในท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ถ้ามิได้มีประกาศของคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลให้เป็นท้องที่ที่เสียหาย แต่เกษตรกรได้ร้องเรียนเป็นหนังสือขอลดหรือยกเว้นการชำระค่าเช่าที่ดิน เนื่องจากได้ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง เช่น อุทกภัย อันทำให้การประกอบเกษตรกรรมไม่ได้ผล ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากเห็นว่ามีเหตุผลสมควรให้ลดหรือยกเว้นค่าเช่าที่ดินตามส่วนแห่งความเสียหายสำหรับปีนั้นได้

[แก้ไข] เงินบริจาค
         ประมวลรัษฎากร

        มาตราที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๔๗ (๗)

        ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน การให้ความช่วยเหลือต้องอาศัยเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งลำพังแต่งบประมาณของรัฐอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย ซึ่งทางหนึ่งก็คือ เงินบริจาค ในประมวลรัษฎากรจึงได้กำหนดให้ผู้ที่บริจาคเงินที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น สามารถแจ้งเรื่องเพื่อขอหักลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะได้ออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีเนื่องจากเหตุดังกล่าวเป็นคราวๆ ไป

[แก้ไข] ผู้สูญหาย
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละคราวนั้น จะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวและจำนวนไม่น้อยที่สูญหายไป ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาหลายประการ รวมทั้งด้านการจัดการทรัพย์สิน เรื่องครอบครัวและเรื่องมรดก ดังนี้

        - กรณีเกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพย์สินนั้น ถ้าปรากฏว่าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่รู้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการสามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตามที่จำเป็นไปพลางก่อนได้ และถ้าล่วงเลยไปหนึ่งปีแล้วยังไม่ได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นก็สามารถร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นได้

        - กรณีการขอให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญนั้น จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ แต่หากบุคคลใดสูญหายไปในเหตุการณ์ภัยธรรมชาติซึ่งเป็นเหตุอันตรายแก่ชีวิตและไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญได้ภายในระยะเวลาเพียงสองปีนับแต่วันที่เหตุการณ์นั้นได้ผ่านพ้นไป

        - เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาห้าปีหรือสองปีแล้วแต่กรณี ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้นตามกฎหมายต่อไป

 


[แก้ไข] สุขภาพอนามัย
        พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

        มาตราที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๘


        เนื่องจากสุขภาพอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความดูแล เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในแต่ละครั้งย่อมส่งผลให้สภาพแวดล้อมต่างๆ เสื่อมโทรมลงและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย จึงกำหนดว่าในกรณีที่เกิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน อธิบดีกรมอนามัยมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของวัตถุหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องระงับการกระทำหรือให้กระทำการใดๆ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายได้ตามสมควร หากบุคคลซึ่งได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติการใดๆ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายดังกล่าวแทนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อควบคุมมิให้เกิดความเสียหายหรือให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดนั่นเอง

_____________

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย