กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกับธุรกิจสปา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
บทความกฎหมายสาธารณสุข ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข โดย พรพรรณ ไม้สุพร

กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกับธุรกิจสปา
        ในปัจจุบันสังคมไทยเราหันมานิยมการทำธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น โดยการประยุกต์เอาเรื่องการอาบน้ำ อบสมุนไพร อบไอน้ำ การนวด และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ มาประกอบกันในการให้บริการ หรือบางแห่งก็นำเอารูปแบบการบริการสปาจากต่างประเทศมาให้บริการก็มี และเนื่องจากลักษณะของกิจการมีลักษณะเป็นสถาน อาบ อบ นวด ที่มีผู้ให้บริการแก่ลูกค้า จึงเป็นกิจการที่เข้าข่ายเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งต้องดูแลด้านสุขาภิบาล ได้แก่ เรื่อง ความสะอาดและสุขลักษณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

        ดังนั้น การประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพจึงถูกควบคุมและดูแลโดยกฎหมายหลักทั้ง ๒ ฉบับ ดังกล่าว และโดยที่รัฐบาลมีนโยบายให้การสนับสนุนกิจการสปาเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

        จึงกำหนดให้การใช้กฎหมายเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมดูแลกิจการดังกล่าวให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศว่าเมืองไทยของเรามีกฎหมายที่จะควบคุมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้มารับบริการ ผู้ให้บริการ และผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงสถานประกอบกิจการ

        ก่อนอื่นเราคงต้องยอมรับว่าคำว่าสปาที่เราได้ยินกันและเข้าใจกันนั้นมีหลากหลายความหมายค่อนข้างสับสนทั้งจากหลายสำนักหลายตำราและจากหลายประเทศ ดังนั้นก่อนที่เราซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายจะต้องทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการสปา จึงต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าความหมาย ขอบเขตและลักษณะของกิจการสปาเพื่อสุขภาพตามกฎหมายที่มีในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ (กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข) และตามพระราช-บัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ (กฎหมายว่าด้วยสถานบริการ) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสถานบริการ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ ว่ากำหนดไว้อย่างไร เพื่อให้การใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ ถูกต้องและเที่ยงธรรม ซึ่งประกาศทั้ง ๒ ฉบับ ได้ประกาศกำหนดไว้ตรงกัน ดังนี้

        “กิจการสปาเพื่อสุขภาพ” หมายความว่า การประกอบกิจการที่ให้การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพ โดยบริการหลักที่จัดไว้ประกอบด้วย การนวดเพื่อสุขภาพและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ โดยอาจมีบริการเสริมประกอบด้วย เช่น การอบเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โภชนบำบัดและการควบคุมอาหาร โยคะและการทำสมาธิ การใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ก็ได้

        ทั้งนี้ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการกำหนดเพิ่มเติมว่าต้องมีบริการเสริมอีกอย่างน้อย ๓ รายการอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะรู้และเข้าใจความหมายข้างต้นแล้ว แต่ราชการส่วนท้องถิ่นก็อาจจะสับสนอยู่ว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฉบับที่ ๔) ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังมีกิจการอื่นๆที่คล้ายคลึงกันในประกาศฉบับดังกล่าว คือ

        ๑. กิจการสปาเพื่อสุขภาพ เว้นแต่เป็นการให้บริการในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เป็นกิจการประเภทที่ ๙(๑)

        ๒. การประกอบกิจการอาบ อบ นวด เว้นแต่เป็นการให้บริการใน ๙(๑) หรือในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เป็นกิจการประเภทที่ ๙(๒)

        ๓. การประกอบกิจการเสริมสวยหรือแต่งผม เว้นแต่กิจการที่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกิจการประเภทที่ ๙(๑๐)


        ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมดูแลกิจการสปาเพื่อสุขภาพและกิจการที่คล้ายคลึงกันข้างต้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง ๒ ฉบับ เป็นไปอย่างสอดคล้องกัน คณะกรรมการสาธารณสุขจึงได้อาศัยอำนาจหน้าที่ตามความในมาตรา ๑๐ (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ ๕ / ๒๕๔๗ เรื่อง การควบคุมการประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการอาบ อบ นวด และกิจการเสริมสวยหรือแต่งผม แก่ราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบกิจการดังกล่าว โดยถือปฏิบัติเป็นหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ ไว้ดังนี้

        ๑) การพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการสปาเพื่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ให้พิจารณาดังนี้

        ๑.๑) กิจการสปาเพื่อสุขภาพให้พิจารณาว่า มีการจัดบริการหลัก ๒ รายการ คือ การนวดเพื่อสุขภาพและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้จะต้อมีบริการอย่างอื่นร่วมด้วยอย่างน้อย ๓ รายการ และต้องไม่เข้าข่ายเป็นการบำบัดรักษาโรค ตามข้อ ๘ แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข “เรื่อง กำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเสริมสวยตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙” ออกตามความในมาตรา ๓ (๓) (ข) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ ส่วนกิจการอื่นๆที่มิได้มีบริการหลักดังกล่าว และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานไม่ถือว่าเป็นกิจการสปาเพื่อสุขภาพ

        ๑.๒) สำหรับกิจการนวดเพื่อสุขภาพ และกิจการนวดเพื่อเสริมสวย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ออกตามความในมาตรา ๓ (๓) (ข) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ ถือว่าเป็นกิจการที่อยู่ในข่าย กิจการอาบ อบ นวด หรือกิจการเสริมสวยหรือแต่งผม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฉบับที่ ๔) ด้วย แล้วแต่กรณี

        ๒) เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลกิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ และกิจการนวดเพื่อเสริมสวย ราชการส่วนท้องถิ่นนั้น มีอำนาจออกข้อบัญญัติของท้องถิ่น ดังนี้

        ๒.๑) กำหนดให้ กิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อ เสริมสวย เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการสปาเพื่อสุขภาพกิจการอาบ อบ นวด หรือกิจการเสริมสวยหรือแต่งผมที่ต้องควบคุมในท้องถิ่นนั้น ตามมาตรา ๓๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

        ๒.๒) กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน เงื่อนไขการจัดตั้งสถานประกอบการให้ผู้ดำเนินกิจการต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๓๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข “เรื่อง กำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙”

        ๓) ผู้ประกอบกิจการที่ถูกควบคุมตาม ข้อ ๒) ต้องดำเนินการดังนี้

        ๓.๑) ให้ผู้ประกอบการในลักษณะที่เป็นการค้า ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการฯ จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตตามที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนด

        ๓.๒) ให้ผู้ประกอบกิจการขอรับใบรับรองมาตรฐานสถานประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพหรือกิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือกิจการนวดเพื่อเสริมสวยจากกระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศกระทรวง สาธารณสุขฯ ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ ดังนี้

๓.๒.๑) สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นขอใบรับรองมาตรฐานฯ ที่กองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข
๓.๒.๒) สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในท้องที่ต่างจังหวัด ให้ยื่นขอใบรับรองมาตรฐานฯ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
        ๓.๓) สำหรับสถานประกอบกิจการใดที่ไม่เข้าข่ายเป็นกิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือกิจการนวดเพื่อเสริมสวย แต่มีบริการนวดที่มีผู้ให้บริการ หรือมีบริการอาบน้ำที่มีผู้ให้บริการ ผู้ประกอบกิจการจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

        ๓.๔) กรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้รับใบรับรองมาตรฐานฯ ตามข้อ ๓.๒) แล้ว ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการอีก

        ๔)เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการสปาเพื่อสุขภาพ ตามยุทธศาสตร์เพิ่มพูนรายได้ให้ประเทศไทย ในการพิจารณาอนุญาต ให้ราชการส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาต ดังนี้

        ๔.๑) กรณีที่ผู้ประกอบกิจการมีใบรับรองมาตรฐานฯ ตามข้อ ๓.๒) แล้วให้ราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาอนุญาตได้เลยโดยถือว่าได้ผ่านการตรวจสอบของเจ้าพนักงานสาธารณสุขด้านสุขลักษณะตามหลักเกณฑ์ในข้อบัญญัติของท้องถิ่นแล้ว

        ๔.๒) กรณีที่ผู้ประกอบกิจการยังไม่มีใบรับรองมาตรฐานฯ ตามข้อ ๓.๒) และได้ยื่นขอใบรับรองมาตรฐานฯ แล้ว ให้แนบสำเนาการขอใบรับรองมาตรฐานฯ ประกอบการการยื่นขอใบอนุญาตด้วย ทั้งนี้ในการพิจารณาอนุญาต ราชการส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานสถานประกอบการในการออกใบรับรองมาตรฐานฯ ตามข้อ ๓.๒) เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบกิจการที่มายื่นคำขอ

        ๕) ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการได้รับใบอนุญาตแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมกิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการอาบ อบ นวด และกิจการเสริมสวยหรือแต่งผม ตามกฎหมายว่าด้วยการ สาธารณสุข ดังนี้

        ๕.๑) กรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรือกฎกระทรวง หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการออกคำสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปรับปรุงแก้ไขได้ ตามมาตรา ๔๕ หรือคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๕๙ หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๖๐

        ๕.๒) กรณีที่ตรวจพบว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข “เรื่อง กำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙” ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งกองการประกอบโรคศิลปะ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องและสนับสนุนกันระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

        ๖) กรณีที่ราชการส่วนท้องถิ่นใดออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นว่าด้วยการควบคุมการประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการอาบ อบ นวด กิจการเสริมสวยหรือแต่งผม ควรประชาสัมพันธ์ และชี้แจงข้อบัญญัติของท้องถิ่นดังกล่าว ให้ผู้ประกอบกิจการและประชาชนทราบโดยทั่วกันด้วย เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้ต่อไป

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข โดย พรพรรณ ไม้สุพร
รวมบทความกฎหมายสาธารณสุข ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย