กฎหมายสาธารณสุขกับการควบคุมดูแลกิจการด้านอาหาร

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/01/2008
ที่มา: 
ธิดารัตน์ ดำรงสอน ศูนย์อนามัยที่ ๔ ราชบุรี กฎหมายสาธารณสุขกับการควบคุมดูแลกิจการด้านอาหาร

กฎหมายสาธารณสุขกับการควบคุมดูแลกิจการด้านอาหาร
_____________________________________

 

        กิจการด้านอาหารตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้แก่ ตลาดสด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ ซึ่งเป็นกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อสาธารณชนหากมีการประกอบการที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรืออาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินอาหาร ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร สำหรับกิจการอื่นจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

        พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีบทบัญญัติในการควบคุมดูแลกิจการด้านอาหารดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารที่มีขนาดเกินกว่า ๒๐๐ ตารางเมตร ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนประกอบกิจการ ใบอนุญาตมีอายุ ๑ ปี จึงต้องมีการต่ออายุทุกปี สำหรับสถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหารที่มีขนาดไม่เกิน ๒๐๐ ตารางเมตร ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ หนังสือรับรองการแจ้งนี้ไม่มีอายุ จึงประกอบกิจการได้ตลอดไป แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีทุกปี กรณีที่โอนให้ผู้อื่นหรือประสงค์เลิกกิจการจะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบด้วย ใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งต้องแสดงไว้โดยเปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบกิจการตลอดเวลาที่ประกอบการนั้น

        การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้ประกอบกิจการตามที่ขออนุญาตหรือไม่นั้น จะพิจารณาจากสุขลักษณะของกิจการในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ลักษณะที่ตั้ง โครงสร้าง การรักษาความสะอาด อุปกรณ์ ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยและน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งสุขลักษณะเหล่านี้ ราชการส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดลงในข้อกำหนดท้องถิ่นให้สถานประกอบกิจการอาหารต้องดูแลในเรื่องสุขลักษณะทั้งในขั้นตอนการขออนุญาต และขณะประกอบกิจการ ซึ่งหากผู้ประกอบกิจการไม่ว่าจะเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารที่มีขนาดเกินกว่า ๒๐๐ ตารางเมตร หรือไม่เกิน ๒๐๐ ตารางเมตร ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดท้องถิ่นดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุง ให้หยุดดำเนินกิจการ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้

        การประกอบกิจการด้านอาหารเป็นกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การประกอบกิจการดังกล่าวต้องได้รับการตรวจสอบเกี่ยวกับความถูกต้องเหมาะสมของสุขลักษณะต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองในการบริโภคจากแหล่งที่ถูกสุขลักษณะจริงๆ

 

 

--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ธิดารัตน์ ดำรงสอน ศูนย์อนามัยที่ ๔ ราชบุรี

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย