กฎหมายสาธารณสุขกับการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/01/2008
ที่มา: 
พรพรรณ ไม้สุพร ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

กฎหมายสาธารณสุขกับการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
__________________________________

 

        ท่านคงเคยได้ยินเรื่อง การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน มาจากสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือจากพรรคพวกเพื่อนฝูงมาบ้างแล้ว แต่อาจจะสงสัยไม่กระจ่างโดยเฉพาะถ้าเราขายของอยู่ในที่หรือทางสาธารณะจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากเป็นที่หรือทางสาธารณะจึงไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ แม้แต่สัญญาเช่าที่ ที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นทุนในการขายของดังกล่าว จะมีก็แต่ใบอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะที่ออกโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่ากฎหมายสาธารณสุขเท่านั้นจะใช้ได้หรือไม่ และการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนกับกฎหมายสาธารณสุขเกี่ยวข้องกันอย่างไร

        รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้และผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ โดยใช้ทรัพย์สินที่ครอบครองหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุน ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย ประเภทของสินทรัพย์ที่รัฐบาลจะดำเนินการแปลงให้เป็นทุน มี 5 ประเภท คือ

        1) ที่ดินและทรัพย์สินติดกับที่ดิน ได้แก่ ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 น.ค.1 กสน.3 และน.ส.2

        2) สัญญาเช่า - เช่าซื้อ ได้แก่ ที่ดินหรืออาคารในความดูแลของกรมธนารักษ์ การเคหะแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่ชาติ

        3) หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่สาธารณะ และหนังสือรับรองอื่นๆ ได้แก่ การขายของในตลาด หรือที่ทางสาธารณะ

        4) ทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ และ5) เครื่องจักร ได้แก่ กรรมสิทธิ์เครื่องจักรที่จดทะเบียนไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม

        การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนทั้ง 5 ประเภทดังกล่าว จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสาธารณสุขในเรื่อง หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่สาธารณะ ซึ่งครอบคลุมเรื่อง ผู้จำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ และผู้ขายของในตลาด ดังนี้


        ผู้จำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ตามกฎหมายสาธารณสุขกำหนดให้ผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรี และนายกอบต. ก่อนจึงจะดำเนินกิจการได้ โดยมีอายุคราวละ 1 ปีและต้องปฏิบัติให้ได้ตามสุขลักษณะในข้อบัญญัติของท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ยังมีกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่ควบคุมดูแลการจำหน่ายสินค้าในที่ทางสาธารณะ โดยการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดเขตผ่อนผันได้ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในเรื่องนี้จึงประกอบด้วยขั้นตอน

        1) ให้ราชการส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการกำหนดพื้นที่ผ่อนผัน พิจารณากำหนดเขตที่สาธารณะที่จะผ่อนผันให้มีการจำหน่ายสินค้าได้

        2) ให้มีคณะกรรมการจัดระเบียบการจำหน่ายสินค้าและคัดเลือกผู้จำหน่ายสินค้าอีกคณะหนึ่ง พิจารณาการจัดระเบียบและคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าไปจำหน่ายสินค้าในเขตผ่อนผันนั้น โดยยึดบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับข้างต้น แล้วจึงออกใบอนุญาต

        3) ผู้ได้รับใบอนุญาต ถ้ามีความประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ สามารถขอหนังสือรับรองการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ผ่อนผันจากราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินกู้ตามสัญญาและการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะตามกฎหมาย เป็นเงื่อนไขในการเพิกถอนสิทธิการจำหน่ายในที่สาธารณะนั้น


        สำหรับผู้ขายของในตลาด ตามกฎหมายสาธารณสุขกำหนดให้ผู้ที่จะจัดตั้งตลาดต้องขอใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และปฏิบัติตามข้อบัญญัติของท้องถิ่นเช่นเดียวกับกรณีการจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยผู้ขายของในตลาดจะต้องปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะด้วย การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในเรื่องนี้ กรณีที่เข้าข่ายการจัดหาผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ตลาดนัดสวนจตุจัสของกทม. ประกอบด้วยขั้นตอน

        1) กทม.กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก หรือประมูลสิทธิการนำสินค้าเข้าขายในตลาดหรือสิทธิการเช่าแผง

        2) ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ กทม.พิจารณาคุณสมบัติ แล้วออกหนังสือรับรองสิทธิหรือสัญญาเช่า เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน

        3) สถาบันการเงินจะประเมินราคาสินทรัพย์ซึ่งได้แก่ สินค้าที่ขาย แล้วให้กู้โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินกู้ตามสัญญาและการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะตามกฎหมาย เป็นเงื่อนไขในการเพิกถอนสิทธิการเช่าแผงในตลาดของกทม. หรือการจัดการให้ผู้อื่นเข้าสวมสิทธิแทน

        การจะแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้เราจะต้องมีหนังสือแสดงเอกสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินนั้น เช่น โฉนดที่ดิน สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ใบอนุญาตหรืออื่นๆที่ออกตามกฎหมาย เป็นต้น แต่สำหรับกรณีที่เรามีใบอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะได้ตามกฎหมายสาธารณสุข ซึ่งมีอายุคราวละ 1 ปี เท่านั้น ไม่สามารถที่จะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้เนื่องจากมีระยะเวลาการอนุญาตเพียง 1 ปี จึงไม่มีหลักประกันในการส่งคืนเพียงพอ ซึ่งควรมีระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี รัฐบาลจึงได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทย โดยให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกหนังสือรับรองการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ผ่อนผัน แก่ผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้วได้ตามความเหมาะสม เพื่อใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินกู้ตามสัญญาและการมีใบอนุญาตที่ยังไม่หมดอายุ ตลอดจนมีการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะตามกฎหมาย เป็นเงื่อนไขในการเพิกถอนหนังสือรับรองการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ผ่อนผันได้

        พวกเราในฐานะผู้ขายของในที่หรือทางสาธารณะที่มีความประสงค์จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินคงได้รับความกระจ่างมากขึ้นว่าและเข้าใจแล้วว่ากฎหมายสาธารณสุขกับการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร รู้ว่าเราต้องค้าขายในจุดที่ผ่อนผัน ต้องมีใบอนุญาตให้ขายของในที่หรือทางสาธารณะตามกฎหมายสาธารณสุข และถ้าสมัครใจเข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก็ต้องได้รับหนังสือรับรองการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ผ่อนผันก่อนจึงจะสามารถนำไปเป็นหลักฐานขอกู้เงินได้

 

 

--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

พรพรรณ ไม้สุพร ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย