กฎหมายสาธารณสุขคุ้มครองอะไรคนไทยบ้าง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/01/2008
ที่มา: 
รัชดาพร จันทบุตร ศูนย์อนามัยที่ ๗ อุบลราชธานี กฎหมายสาธารณสุขคุ้มครองอะไรคนไทยบ้าง

กฎหมายสาธารณสุขคุ้มครองอะไรคนไทยบ้าง
______________________________________

 

        “ถ้าพูดถึงกฎหมาย ประชาชนทั่วไปมักรู้สึกว่า เป็นการบังคับขู่เข็ญให้ต้องปฏิบัติ แท้จริงแล้วเป็น กฎกติกา ที่สังคมกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขของสังคม”


        เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่คนไทย มีพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองดูแลสุขภาพ แต่น้อยคนนักที่จะสนใจและเห็นความสำคัญ ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว อาจเนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่ทราบสิทธิของตนที่พึงปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ดูแลในเรื่องนี้ จึงใคร่ขอเรียนว่าพระราชบัญญัติการสาธารณ-สุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มีจุดมุ่งหมายที่จะดูแลให้ประชาชนได้อยู่ในสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ลดปัญหาสุขภาพประชาชนจากมลภาวะ ให้เป็นสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี และไม่เป็นพิษเป็นภัย ซึ่งได้แก่

        ๑) การควบคุมและกำจัดสิ่งปฏิกูล(อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งโสโครก) และมูลฝอย(ขยะ) ที่เกิดจาก ครัวเรือนหรือชุมชน โดยราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่เกิดขึ้นในเขต ราชการส่วนท้องถิ่นตน ดังนั้น อบต. หรือเทศบาลจะปฏิเสธไม่ทำการเก็บขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือ มูลฝอยไม่ได้ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขยะที่ประชาชนต้องเสียได้ในข้อกำหนดท้องถิ่น ไม่เกินอัตราเดือนละ ๔๐ บาท ต่อขยะ ๒๐ ลิตรต่อวัน หากมีกรณีที่พนักงานขนขยะเรียกเก็บเงินอีกนั้น เป็นการเรียกเก็บที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราจึงมีสิทธิที่จะไม่ให้ได้ และหากพนักงานนั้นกลั่นแกล้งไม่เก็บขยะให้ ประชาชนย่อมมีสิทธิแจ้งแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ตรวจสอบดูแลได้ แต่ถ้าอยากจะให้เป็นสินน้ำใจก็เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ให้

        ๒) การดูแลอาคารให้ถูกสุขลักษณะ คือต้องสะอาด ไม่สกปรก รกรุงรัง โครงสร้างไม่แตกร้าว หรือปล่อยให้คนอยู่มากเกินไป คือให้มีคนอยู่ไม่เกิน ๑ คนต่อพื้นที่ ๓ ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม เรื่องการ ก่อสร้างอาคาร โดยทั่วไปนั้น ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร หาก อบต.หรือเทศบาลพบว่าอาคารใดไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นปรับปรุงแก้ไขได้

        ๓) การควบคุมดูแลกิจการที่เกี่ยวกับอาหาร ได้แก่ ตลาดสด กิจการร้านอาหาร การขายของชำ หาบเร่แผงลอย ให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งหมายถึง อาหาร อุปกรณ์ ภาชนะ ต้องสะอาดปลอดภัย การปรุง ประกอบ จำหน่ายปราศจากการปนเปื้อน สถานที่สะอาดเป็นระเบียบ ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและได้รับใบอนุญาต รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นรายปี เพราะการประกอบกิจการนั้น อาจมีผลกระทบหรือต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ดังนั้น พึงจะต้องแบ่งส่วนกำไรจำนวนหนึ่งให้แก่สาธารณะ ซึ่งก็คือค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้ราชการส่วนท้องถิ่นนั่นเอง หากประชาชนผู้บริโภคพบผู้ประกอบการจำหน่ายไม่ถูกสุขลักษณะ สามารถร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบได้

        ๔) การควบคุมดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หมายถึง กิจการที่มีกระบวนการผลิตหรือให้บริการที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ข้างเคียง หรือผู้ใช้บริการกิจการนั้น โดยให้มีระบบหรือเครื่องมือ วิธีการกำจัด หรือป้องกันมลพิษ หรืออันตรายต่อสุขภาพ และไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนประกอบกิจการ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่ท้องถิ่นกำหนด นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการที่ถูกสุขลักษณะ หากมีผู้ร้องเรียน และเจ้าพนักงานตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นการฝ่าฝืนจริง ก็อาจจะได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงาน หรืออาจได้รับโทษ ตามกฎหมาย(ข้อกำหนดของท้องถิ่น)ได้

        ๕) การกำหนดเป็นเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น หรือห้ามเลี้ยงสัตว์เกินกว่าจำนวนที่กำหนด หรือให้เลี้ยงได้โดยต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อการป้องกันปัญหาด้าน สุขลักษณะ และไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทั้งนี้ การกำหนดเขตควบคุมดังกล่าว จะต้องมีเหตุผลตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากไม่มีเหตุผล ประชาชนย่อมมีสิทธิฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นได้

        ๖) การกำหนดเขตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ เพื่อให้มีความเป็นระเบียบ ไม่เป็นปัญหาต่อชุมชน ซึ่งประกาศนี้จะต้องปิดที่ที่ทำการของราชการส่วนท้องถิ่น และปิดป้ายห้ามตรงบริเวณดังกล่าวด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ แม้จะมีใบอนุญาต ยังต้องไม่ละเมิดเขตห้ามข้างต้นด้วย

        ๗) การควบคุมดูแลและการแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ ซึ่งได้แก่การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น แสง เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือ กรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ กรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้น ประชาชนผู้เดือดร้อนย่อมมีสิทธิที่จะ ร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้

        สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ก็อาจเป็นสิ่งที่เราพบเห็น และอาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพทั้งด้านกายและจิตใจอยู่ทุกวัน เพียงแต่ความเป็นคนไทย ไม่ชอบวิธีการรุนแรง ชอบการประนีประนอม และมักจะปล่อยเลยตามเลย จนตัวเองได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็สายเกินไป

        ทางศูนย์บริหารกฎหมาสาธารณสุข ยังบอกฝากประชาชนอีกว่า สิทธิของคนไทยที่มีอยู่แล้ว หากหันมาใส่ใจกันมากขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ชุมชนสังคม เมืองน่าอยู่คู่ครอบครัวไทย ก็เป็นได้ไม่ยากเลย

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

รัชดาพร จันทบุตร ศูนย์อนามัยที่ ๗ อุบลราชธานี

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย