กรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน ในสังคมประชาธิปไตย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
กรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน ในสังคมประชาธิปไตย www.lawonline.co.th มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน ในสังคมประชาธิปไตย
        "ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดีและขายสินค้าได้ราคายุติธรรม"

        "เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง

        "ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป"

        "นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน"

        ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ( "คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" 2516)

        ในวงสนทนาของชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และกลุ่มชาวบ้านต่อต้านโรงไฟฟ้าหินกรูดเรื่องข้อพิพาทที่ดินระหว่างกลุ่มเกษตรกรยากจนกับนายทุนเจ้าของที่ดินฟองสบู่ ในจังหวัดลำพูน พอถึงประเด็นการปฏิรูปที่ดิน เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งก็ถามขึ้นว่าสมมุติท่านซื้อที่ดินผืนหนึ่งและได้โฉนดมาครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย ท่านย่อมมีสิทธิขาดเป็นเอกเทศเหนือที่ดินผืนนั้นโดยที่คนอื่นหรือสังคมมิอาจมาแทรกแซงยุ่มย่ามแล้วมิใช่หรือ? ไฉนจึงจะกล่าวอ้างได้ว่า ที่ดินเป็นทุนทางสังคมซึ่งรัฐมีสิทธิชอบธรรมที่จะเอาของเอกชนไปปฏิรูปจัดสรรให้เกษตรกรยากไร้ทำกินเลี้ยงชีพอีกเล่า?

        คำถามนี้กระตุ้นให้ผมนึกถึงอะไรบางอย่าง จึงแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ไปว่า : - มันก็ไม่เชิงครับ เพราะในสังคมประชาธิปไตยอาจกล่าวได้ว่า ทันทีที่อาจารย์จ่ายเงินซื้อและถือโฉนดแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนั้นในมือ อาจารย์ก็พลอยได้รับพันธกรณีหรือข้อผูกพันต่อสังคมที่พ่วงติดกับทรัพย์สินชิ้นนั้นๆ มาด้วยในเวลาเดียวกัน...

        อันที่จริง คำถามข้างต้นตีเปรี้ยงตรงปมปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนในสังคมประชาธิปไตยพอดี ซึ่งมีความยอกย้อนซ่อนเงื่อนและสำคัญยิ่งต่อการเข้าใจและหาทางแก้ไขวิกฤตที่ดินในสังคมไทยปัจจุบัน น่าจะนำมาพิเคราะห์พิจารณาดู

        จะว่ากันไป ในบรรดาแนวคิดหลักๆ เกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมเศรษฐกิจการเมืองในโลกสมัยใหม่ นอกจากแนวคิดอิสรเสรีนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ (Libertarianism or Neo-liberalism) ของศาสตราจารย์ Robert Nozick (พ.ศ.2481-2545) นักปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เพิ่งวายชนม์ไปเมื่อวันที่ 23 มกราคมศกนี้ ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแล้ว ก็ไม่มีสำนักคิดอื่นใดยืนกรานหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเอกชนอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์โดยปราศจากข้อแม้เงื่อนไขเลย

        แม้แต่สำนักเสรีนิยม (Liberalism) คลาสสิคแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 บิดาของเสรีนิยมใหม่ปัจจุบันก็ไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น แน่นอน ด้านหนึ่งเสรีนิยมยืนยันเหมือนเสรีนิยมใหม่ว่าทรัพย์สินเอกชน(private property) เป็นสิทธิเด็ดขาดสัมบูรณ์ของปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของ มันเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่เกิดมาก่อนบุคคลจะมารวมตัวกันเป็นสังคมและก่อตั้งรัฐขึ้น(pre-social, pre-state natural right) สิทธิในทรัพย์สินเอกชนจึงศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมกว่าอำนาจของสังคมและรัฐ บุคคลอื่นรวมทั้งสังคมและรัฐจะไปจำกัดหรือล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนมิได้ยกเว้นเจ้าของยินยอม(consent)

        แต่กระนั้น เสรีนิยมคลาสสิคก็ยังตั้งข้อแม้เงื่อนไขไว้ว่าในกรณีเจ้าทรัพย์มีทรัพย์สินเอกชนส่วนเกินเหลือเฟือ ขณะที่คนอื่นขัดสนจนยากอดอยากยากไร้ไม่มีสิ่งใดพอยาไส้ยังชีพต่อไปได้นั้น ฝ่ายหลังย่อมมีสิทธิ(Right or Title)ในส่วนเกินของฝ่ายแรก - นี่ไม่ใช่การขอทานซึ่งอาจจะขอได้หรือไม่ได้แล้วแต่เจ้าทรัพย์จะเมตตาปรานีโดยไม่มีใครบังคับ หากเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของคนยากไร้เหลือแสน ที่จะเอื้อมหยิบส่วนเกินจากเจ้าทรัพย์มาประทังยังชีพตนในยามความจำเป็นบีบคั้น - ตามหลักที่เรียกว่า Charity หรือการกุศล(John Locke, Two Treatises of Government, Book 1, Chapter IV, Passage 42, ค.ศ.1689)

        ในทางตรงข้ามสุดขั้ว ลัทธิสหชีพ(ศัพท์บัญญัติของอัศนี พลจันทร) หรือลัทธินิยมมวลชน หรือลัทธิสรรพสาธารณนิยม(ศัพท์บัญญัติของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) หรือคอมมิวนิสต์(ทับศัพท์ ง่ายดี และทำให้คำนี้กลายเป็น "คนต่างด้าว" ถาวรในภาษาไทย) ถือว่าทรัพย์สินเอกชนเป็นของโจร แรกเริ่มเดิมทีก็สะสมด้วยการปล้นชิงมาจากเมืองขึ้น ในระบบทุนนิยมก็งอกงามงอกเงยด้วยการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานรับจ้างในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม ฉะนั้น ลัทธิสหชีพจึงปฏิเสธว่าทรัพย์สินเอกชนไม่ใช่สิทธิชอบธรรมใดๆ หากเป็นสถาบันค้ำยันอำนาจชนชั้นนายทุนและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาขั้นต่อไปของสังคมต่างหาก ต้องยกเลิกเสียแล้วแทนที่ด้วยกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของสังคม

        สำหรับประเด็นนี้ พึงแยกแยะให้ชัดเจนว่าลัทธิสหชีพมุ่งล้มล้างทรัพย์สินเอกชน (private property) เหนือปัจจัยการผลิตหลักทางเศรษฐกิจเช่นที่ดิน โรงงาน สื่อมวลชน ฯลฯ เป็นสำคัญ ไม่ได้รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัว(personal property) เช่น แปรงสีฟัน ผ้าถุง กางเกงใน ฯลฯ ดังที่นักศึกษาปัญญาชนฝ่ายซ้ายจากในเมืองนำไปประพฤติปฏิบัติในเขตป่าเขาบางแห่งหลัง 6 ตุลา...

        หากจัดวางเสรีนิยมใหม่กับสหชีพเป็นแนวคิดสองขั้วตรงข้ามกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชน โดยขั้วหนึ่งยึดมั่นว่ามันสัมบูรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนอีกขั้วมุ่งปฏิเสธล้มล้างแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดประชาธิปไตยมีท่าทีในเรื่องนี้อยู่กลางๆ กล่าวคือไม่ปฏิเสธล้มล้างทรัพย์สินเอกชน แต่ขณะเดียวกัน ก็มุ่งจำกัดและกำกับขอบ เขตของมันด้วยสิทธิอำนาจของสังคมที่ทับซ้อนลงไป

        ถ้าพูดด้วยภาษาวัฒนธรรมชุมชนของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือสังคมประชาธิปไตยถือว่าทรัพย์สินเอกชนนั้นเป็น "สิทธิเชิงซ้อน" หมายความว่า ในภาวะธรรมชาติ บุคคลย่อมถือครองสมบัติ(possession)ใดๆ ที่ตนมีโดยลำพัง ต้องคอยปกป้องมันจากการแย่งชิงของผู้อื่นด้วยกำลังตนเอง การถือครองสมบัติของเอกชนในลักษณะดังกล่าวย่อมหาความมั่นคงยั่งยืนใดๆ มิได้ เพราะถ้าเจอปรปักษ์ที่ล่ำสันแข็งแรงหรือฉลาดเจ้าเล่ห์กว่าเข้ามาแย่งชิงเมื่อใด ก็ย่อมต้องสูญเสียไป มันจึงไม่แน่นอนมั่นคงพอจะนับเป็นทรัพย์สิน(property)ในกรรมสิทธิ์ของบุคคลได้

        ภาวะล่อแหลมสุ่มเสี่ยงไร้หลักประกันในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินเช่นนี้ ทำให้บุคคลทั้งหลายโหยหาที่จะเข้าร่วมกับบุคคลอื่นๆ ผูกสัมพันธ์กันตั้งเป็นสังคมขึ้นเพื่อยังความมั่นคงยั่งยืนแน่นอนให้แก่ตนเอง ซึ่งในกระบวนการตั้งสังคมประชาธิปไตยนั้น บรรดาบุคคลที่เข้ามาร่วมรวมกันต่างก็ตกลงยกบรรดาสมบัติทั้งหมดที่ทุกคนมี(possessions)ให้สังคม ซึ่งก็คือยกให้ตัวเอง เพราะตัวเองก็กลายเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของสังคมที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ปมเงื่อนอยู่ตรงสถานภาพที่เปลี่ยนไปของบุคคลในกระบวนการก่อตั้งสังคม กล่าวคือ นาย ก. ที่ยกสมบัติของตนให้สังคมนั้นเป็นปัจเจกบุคคล แต่นาย ก. ที่ร่วมรับทรัพย์สินของตัวเองมานั้นได้กลายสภาพไปเป็นสมาชิกหน่วยหนึ่งของสังคมที่ไม่อาจแยกออกจากสังคมนั้นได้เสียแล้ว

        เมื่อสังคมประชาธิปไตยได้รับสมบัตินั้นมาจากบุคคล ก็จัดการ "ฝาก" กลับมาให้บุคคลคนเดียวกันนั้นถือครองช่วงใช้ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม, โดยใช้พลังอำนาจส่วนรวมของสังคมตีตราการันตีรับรองค้ำประกันความมั่นคงให้แก่การถือครองสมบัติของบุคคลนั้น ว่าเขามีกรรมสิทธิ์เอกชนในทรัพย์สินนั้นโดยชอบธรรม(possession กลายเป็น ---> property) ใครจะบังอาจมาล่วงล้ำละเมิดปล้นชิงทรัพย์สินดังกล่าวจากเขาไม่ได้ ขืนใครทำ ก็ต้องเจอกับสหบาทาของสังคมทั้งสังคมที่จะช่วยกันปกป้องคุ้มครองเขาในฐานะเพื่อนสมาชิก

        ใครขโมยรถส่วนตัวของเรา ตำรวจจึงต้องช่วยตามให้ในนามของสังคม ในทางกลับกัน หากมีโจรปล้นควายเพื่อนบ้าน ชาวบ้านจึงระดมกำลังออกช่วยกันตามควายทั้งหมู่บ้าน เพราะถือว่าชุมชนมีพันธกรณีต่อเจ้าของควายด้วยในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชน

        ด้วยหลักดังกล่าว สิทธิของสังคมจึงทับซ้อนอยู่เหนือทรัพย์สินเอกชนในสังคมประชาธิปไตย สังคมช่วยค้ำประกันรับรอง ปกป้องคุ้มครอง และขณะเดียวกัน ก็จำกัดกำกับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนด้วยในเวลาเดียวกัน บุคคลเจ้าทรัพย์ในฐานะผู้ได้ประโยชน์จากการร่วมด้วยช่วยกันค้ำประกันรับรองและปกป้องคุ้มครองของสังคมดังกล่าว ก็ย่อมเป็นหนี้ต่อสังคม, มีพันธกรณีหรือข้อผูกพันต่อสังคมเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินของตนนั้นด้วย

        สิทธิสังคมที่ทับซ้อนอยู่เหนือทรัพย์สินเอกชนในสังคมประชาธิปไตยจะถูกใช้ออกมาจำกัดกำกับกรรมสิทธิ์ของเจ้าทรัพย์ใน 2 กรณี คือ 1)เพื่อประกันสายใยสังคม และ 2)เพื่อประกันอำนาจอธิปไตยของรัฐ

        กล่าวคือ หากเมื่อใดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนถูกใช้ หรือเปลี่ยนไปในทางที่คุกคามความผูกพันของเพื่อนสมาชิกร่วมสังคมเดียวกันให้สั่นคลอนเสื่อมคลาย หรือน่ากลัวอันตรายว่าจะขาดสะบั้นลง, หรือทำให้พื้นที่กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจสังคมหลุดไปจากอำนาจอธิปไตยของรัฐ เช่น เกิดช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนแยกชนชั้นแตกต่างเหลื่อมล้ำกันเกินไป, หรือใช้ที่ดินเอกชนไปในกิจการที่ก่อปัญหามลภาวะร้ายแรงแก่วิถีชีวิต การยังชีพและทรัพยากรของชุมชนแวดล้อม, หรือกักตุนที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ เอาไปปั่นราคาเก็งกำไร วางค้ำไว้กับธนาคาร กู้แหลกมาลงทุนซี้ซั้วในธุรกิจฟองสบู่ จนฟองสบู่แตก เจ๊งกะบ๊งกันทั้งชาติแล้วยังอมที่ดินฟองสบู่ไว้ไม่ยอมคายออกมาให้เกษตรกรไร้ที่ดินได้เพาะปลูกทำมาหากิน, หรือที่ดินที่เคยเป็นของรัฐวิสาหกิจหรือติดจำนองอยู่กับธนาคารพาณิชย์ไทย แล้วทุนใหญ่ต่างชาติเข้าเทกโอเวอร์กิจการธนาคารนั้นๆ หรือเข้าซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจที่กำลังถูก privatized ในตลาดหลักทรัพย์ จนทำให้ที่ดินดังกล่าวกลายเป็นทรัพย์สินของเอกชนต่างชาติ หากแม้นทุนต่างชาติสั่งรื้อไล่สลัม รัฐก็ไม่อาจใช้อำนาจอธิปไตยเข้าไปกำกับดูแลได้ถนัดถนี่....

        หรือนัยหนึ่งเกิดสถานการณ์ประหลาดที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นิยามว่า "ปัญหาประชาธิปไตย ที่ไม่มีอธิปไตย" และ "ปัญหาหนึ่งรัฐสองสังคม" ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราขณะนี้แล้ว

        สังคมประชาธิปไตยย่อมมีความชอบธรรมที่จะเรียกใช้สิทธิเชิงซ้อนของตนจำกัดและกำกับเหนือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชน - รวมทั้งที่ดิน - เพื่อแก้วิกฤตสายใยสังคมและฟื้นฟูบูรณะอธิปไตยของรัฐ


--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย