กระดาษเปล่ากับลายเซ็น

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW บทความกฎหมาย

กระดาษเปล่ากับลายเซ็น
____________________________________________________

 

        หลายท่านอาจเคยได้ยินว่า เขาเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า แล้ววันหนึ่งมีเจ้าหนี้เรียกร้องหนี้จากเขา เหตุใดจึงต้องรับผิดชอบตามกระดาษแผ่นนั้นซึ่งเขาไม่เคยเห็นข้อความมาก่อน หากคิดตามหลักทั่วไปอาจไม่ต้องรับผิดในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น แต่หลักกฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้สังคมสงบสุขและคนต้องมีความรอบคอบและต้องรับผิดชอบทุกการกระทำของเขา มิฉะนั้น สังคมจักมีความวุ่นวายโดยการปฏิเสธทุกการกระทำซึ่งเป็นผลร้ายต่อตนเอง กฎหมายจึงกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดชอบไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง นอกเหนือจากนั้นเขาจำต้องรับผิดชอบความเสียหายหรือหนี้ที่เกิดขึ้น

        ปัญหาที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันและสร้างความสงสัยแก่ทุกคนว่า เหตุใดเขาเซ็นชื่อในสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความมาก่อน จึงต้องรับผิดชอบในหนี้ของลูกหนี้ด้วย เรื่องนี้เป็นกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาลจนกระทั่งมีผลการตัดสินออกมาใน คำพิพากษาฎีกาที่ 357/2548 นายทุกข์ ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความใดๆ พร้อมมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนแก่ เจ้าหนี้ ต่อมาวันหนึ่งเขาถูกฟ้องเรียกหนี้ค้ำประกันแทน นายขอน ลูกหนี้ ตามสัญญาดังกล่าว พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง เมื่อมีการนำสัญญาค้ำประกันที่กรอกข้อความผิดไปจากเจตนาของตน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง นายทุกข์ไม่อาจอ้างความสำคัญผิดนั้นมาใช้ประโยชน์แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 ซึ่งบัญญัติว่า ความสำคัญผิดตามมาตร 156 หรือ มาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้ประโยชน์แก่ตนไม่ได้ จึงทำให้นายทุกข์ต้องร่วมรับผิดกับนายขอน ลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันฉบับนั้น

        กรณีศึกษาข้างต้นเป็นตัวอย่างเตือนใจให้พึงระวังการเซ็นชื่อในกระดาษว่างเปล่า แล้วไว้วางใจคนอื่นไปกรอกข้อความตามใจชอบ จนกระทั่งกลายเป็นลูกหนี้ในท้ายที่สุด ข้อวินิจฉัยของศาลถือว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และนำมาอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดชอบของตนมิได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจมีขึ้น ท่านจึงต้องรับรู้ข้อความในสัญญาทุกชนิดและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน จึงเซ็นชื่อในเอกสาร มิควรทำอย่างเร่งร้อนหรือขาดความรอบคอบ เนื่องเพราะผู้กระทำต้องรับผิดชอบตามสัญญาดังกล่าวโดยมิอาจอ้างความสำคัญผิดตามข้อกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนได้


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย