กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว" กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว บทความกฎหมาย

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว
บทนำ

        " ความรุนแรงในครอบครัว" ที่เกิดจากการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่สามีทำร้ายภรรยา บิดาและ/หรือมารดาทำร้ายบุตร หรือ ผู้ที่แข็งแรงกว่าทำร้ายบุพการีที่มีความชราภาพ เป็นญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอทางสรีระ หรือเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจสังคม หรือในทางกลับกัน มีเพียงส่วนน้อยที่ภรรยาทำร้ายสามี นั้น เป็น "ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม" ที่มีจำนวนความถี่และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน

        บ้างก็โด่งดังระดับลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เป็นข่าวทีวีทุกช่อง หรือ บ้างก็ปรากฏเพียงถ้อยคำซุบซิบจากเพื่อนบ้าน จากวงศาคณาญาติ และรับรู้กันเพียงระดับชุมชนหมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงทางสังคมของครอบครัวนั้นๆ โดยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้ เน้นเฉพาะคือเรื่องของ "การทำร้ายภรรยาโดยสามี" (domestic violence หรือ partner violence หรือ wife abuse) หรือ "การทำร้ายคู่สมรส" (spouse abuse)

        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมได้ใช้วิธีการจัดการกับปัญหาความรุนแรง อันเกิดจากสามีทำร้ายภรรยาหลายลักษณะหลากวิธีการ อาทิเช่น การปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเพียง "เรื่องภายในครอบครัว" ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดการแก้ปัญหากันเอง ไม่ใช่เรื่องของคนนอกครอบครัวจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งผลที่เกิดตามมา คือ ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าจะต้องยอมรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของฝ่ายที่ก้าวร้าวและแข็งแรงกว่าเสมอมา และส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายที่ต้องยอมรับสภาพการตกเป็นเบี้ยล่างและสั่งสมความรู้สึกหวาดกลัว เจ็บแค้น รวมทั้งเก็บกดความโกรธเคืองดังกล่าวไว้ตลอดเวลา รอการระเบิดทางอารมณ์ตอบโต้ หรือระบายต่อบุตรหลาน หรือสร้างบุคลิกภาพ สร้างตัวตนแห่งตนเองในภาพลักษณ์ใหม่ที่ชินชา หยาบกระด้างแตกต่างไปจากเดิม

        อย่างไรก็ตาม เมื่อ "สังคมไทย" มีลักษณะเป็นสังคมเปิดมากขึ้น และ "รัฐ" ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมากขึ้น ดังปรากฏตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 53 ซึ่งกำหนดว่า

        "เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม" การที่รัฐและสังคมไทยร่วมสมัย ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนด้วยการกำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ที่จะไม่ปล่อยเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวลักษณะใดๆก็ตามให้เป็นเพียง "เรื่องกระทบกระทั่งกันภายในครอบครัว" แต่ยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทางหนึ่ง หรือเมื่อผู้หญิงไม่สามารถอดทนต่อสภาพความรุนแรงดังกล่าว และได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐและสังคม รัฐและสังคมจึงได้ช่องแทรกตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอีกทางหนึ่งนั้น

        ปรากฏว่า นับจาก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีการพัฒนามาตรการที่มีรูปแบบเฉพาะใดๆมารองรับการดำเนินการแก่ "คดีความรุนแรงในครอบครัว" ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมในเชิงของการบำบัดเยียวยา แต่ยังคงปล่อยให้คดีความเหล่านั้นดำเนินการไปตามครรลองปกติโดยวิธีการของ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก" ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่นเดียวกับการทำร้ายร่างกายโดยทั่วไปและคดีอาชญากรรมอื่นๆ นั่นคือ ภรรยาที่ตกเป็นเหยื่อดำเนินคดีผ่านทางกระบวนการของตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ตามลำดับ รวมทั้งกฎหมายบางมาตราที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ที่ระบุว่า

        "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

        ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ "ผู้ชายข่มขืนภรรยาของตน" แม้ว่าจะกระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ก็ตามนั้นเป็นการกระทำที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นความผิดฐานข่มขืนแต่อย่างใด ทั้งๆที่ปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากสามีทำร้ายภรรยานี้ เป็นปัญหาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแตกต่างไปจากปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ

        ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการเพื่อบำบัดรักษาและปรับพฤติกรรมของสามีที่นิยมความรุนแรง และเยียวยาภรรยาและบุตรของครอบครัวที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ทั้งกายและใจ ต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว รวมทั้งการแก้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิ่งจำเป็น อันควรค่าแก่การพิจารณาเพื่อยังให้เกิดการป้องกัน การสร้างเสริมปรับปรุง และการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ การเป็น "ครอบครัวที่เข้มแข็งและสมานฉันท์" อันเป็นฐานรากสำคัญของสังคมไทยต่อไป

ความรุนแรงในครอบครัว: ความหมายและขอบเขตของปัญหา

        Merton นักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียง (อ้างถึงใน Joseph Julian & William Kornblum, 1983, p.82) กล่าวไว้ในทฤษฎีอะโนมี (Merton's Theory of Anomie) ของเขาว่า

        "ที่ใดที่มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศ ที่มีการให้ค่าแก่เพศทั้งสองแตกต่างกัน และการบรรลุถึงบทบาททางเพศดังกล่าวถูกยับยั้งหรือประสบอุปสรรค ที่นั่นก็จะมีอัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศสูง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าสังคมใดส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้นเท่าใด อัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศในสังคมนั้นย่อมจะลดลงเท่านั้น"

        ความรุนแรงในครอบครัวในมุมมองของนักสังคมวิทยา มองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่มีผลกระทบต่อผู้คนและพฤติกรรมของคนในสังคม สังคมที่นิยมยกย่องพ่อเป็นใหญ่ (patriarchal society) คือสังคมที่กำหนดและควบคุมกฎเกณฑ์โดยชาย เช่น สังคมชาวอาเซีย นั้น จะสร้างสมาชิก "ผู้ชาย" ที่แสดงบทบาททางเพศเชิงอำนาจนิยม ขณะที่สร้าง "ผู้หญิง" ให้เป็นฝ่ายเก็บกดและยอมตามมากกว่าสังคมที่ถือว่าแม่เป็นใหญ่ (matriarchal society) และสังคมที่ถือว่าพ่อแม่เป็นใหญ่เท่ากัน (equalitarian society)

        ขณะที่นักจิตวิทยามองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นปัญหาที่ผู้กระทำการรุนแรงมีลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติเฉพาะบุคคล โดยให้เหตุผลว่า ผู้เป็นสามีในครอบครัวอื่นๆที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมในระดับชนชั้นเดียวกัน ได้รับการขัดเกลาจากวัฒนธรรมทางสังคมแบบเดียวกัน มิใช่จะกระทำรุนแรงต่อภรรยาเช่นเดียวกันทุกครอบครัว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กระทำพฤติกรรมเช่นนี้

        ส่วนความรุนแรงในมุมมองของ "ผู้หญิง" (feminism) มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของ "เพศ" และ "อำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทอด ผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมที่ให้ค่าความสำคัญและชื่นชมชายมากกว่าหญิง โดยนิยามความรุนแรงในครอบครัวในมุมมองของผู้หญิงหมายรวมถึง การที่เหยื่อสูญเสียพื้นที่แห่งความเป็นส่วนตัว การถูกทำร้ายทางเพศ (ถูกข่มขืน) สูญเสียความเชื่อมั่น ถูกทำให้โดดเดี่ยว ถูกตามตื้อทำร้ายซ้ำๆ และรวมทั้งถูกข่มขู่คุกคามด้วย

วิเคราะห์ขอบเขตความหมายตามนัยของ "บุคคลผู้กระทำหรือตกเป็นเหยื่อการกระทำ"

        เมื่อพิเคราะห์ถึงขอบเขตความหมายของคำจำกัดความที่ใช้ในที่นี้ พบว่า กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาในลักษณะนี้ ถ้าใช้คำว่า "ความรุนแรงต่อผู้หญิง" (violence against women) จะหมายถึง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในภาพรวมทั้งในและนอกความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ซึ่งกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มิใช่คู่สมรส หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยานั้น จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้กระทำ" กับ "ผู้ถูกกระทำ" จะเปลี่ยนไปเป็น "ผู้กระทำผิด" กับ "เหยื่ออาชญากรรม" แทน คือมีการล่วงละเมิดทางเพศหรือทำร้ายร่างกายและชีวิตเกิดขึ้น ดังนั้น คำว่าความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงมีนัยที่กว้างขวางมากโดยครอบคลุม ทั้งกรณีสามีทำร้ายภรรยา และกรณีที่ผู้ชายทำอันตรายแก่ชีวิตร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงอื่นๆไว้ด้วยทั้งหมด

        สำหรับคำว่า "ความรุนแรงในครอบครัว" (family violence) หมายถึงความรุนแรงที่มีลักษณะเฉพาะที่เกิดการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายทางเพศและจิตใจแบบต่างๆ ระหว่างสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ฉันครอบครัวเดียวกัน ได้แก่ สามี-ภรรยา-บุตร-ญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ

        ส่วนคำว่า "การทำร้ายภรรยา (โดยสามี)" (wife abuse) เป็นคำที่มีความรู้สึกในเชิงของเพศนิยมหรือสตรีนิยมแฝงเร้นอยู่ เพราะมีนัยของ "อำนาจ การต่อสู้ ความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างทางเพศ" ทับซ้อนอยู่ด้วย

        ด้วยเหตุนี้ คำว่า "โรงซ่อมสามี" จึงมีนัยในเชิงของเพศนิยมแฝงอยู่เช่นกัน เพราะหมายถึงเฉพาะหน่วยงานหรือโครงการหรือมาตรการที่สร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการบำบัดฟื้นฟูเยียวยาบรรดา "ผู้ชาย" ที่ได้ชื่อว่าเป็น "สามี" ที่นิยมความรุนแรง ทั้งๆที่ความรุนแรงอันเป็นพฤติกรรมแสดงออกที่ปลายเหตุนั้น อาจเกิดจากบุคลิกภาพ หรือโครงสร้างทางสังคม หรืออารมณ์โกรธ หึงหวง ฯลฯ ที่ฝ่ายผู้หญิงอาจมีส่วนสำคัญในการยั่วยุอยู่ด้วยก็ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวฝ่ายหญิงก็เป็นผู้ที่สมควรต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู มากกว่าหรือพอๆกับฝ่ายชายด้วยซ้ำไป

        ดังนั้น หากจะใช้คำว่า "การทำร้ายคู่สมรส" (spouse abuse) จะสามารถสื่อความหมายได้อย่างเป็นกลาง โดยคำดังกล่าวนี้หมายรวมทั้งการที่สามีทำร้ายภรรยา และภรรยาทำร้ายสามีด้วยเช่นกัน แม้กรณีหลังจะมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม ส่วนโครงการที่ทำการบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงเหล่านี้ อาจใช้ชื่อว่า โครงการ "ครอบครัวสมานฉันท์" หรือ "คืนคนดีสู่ครอบครัว" ฯลฯ ตามคำขวัญของกรมคุมประพฤติก็ย่อมได้

วิเคราะห์ขอบเขตความหมายตามนัยของ "การกระทำ"

        กรณีที่ควรพิจารณาต่อไป คือกรณีที่ว่า การทำร้ายที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะมาก-น้อย หนัก-เบา เช่นไร หรือมีระดับความรุนแรงเพียงไร จึงได้ชื่อว่าเป็นความรุนแรงที่สามารถเยียวยาได้ เช่น สามีเพียงแต่ทำร้ายร่างกาย หรือประทุษร้ายด้วยวาจา หรือกรณีใดที่หนักเกินกว่าจะเยียวยาได้ เช่น กรณีพยายามฆ่า หรือ ฆาตกรรม นั้น มีระดับความรุนแรงของพฤติกรรมแตกต่างกัน (cited in O'Leary, 1993, p.20) ดังนี้

แสดงการจำแนกระดับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส

        ความก้าวร้าวทางวาจา / ดูถูก เหยียดหยาม, ตะโกนใส่, ตั้งฉายาอันเนื่องมาจากเหตุที่ต้องการควบคุม, แสดงพลังความเป็นชาย, อิจฉาริษยา, คู่สมรสไม่ปรองดองกัน

        ความก้าวร้าวต่อร่างกาย / ผลัก ตบตี กระแทก, ยอมรับและนำเอาการควบคุมโดยวิธีการที่รุนแรงมาใช้, เลียนแบบการแสดงความก้าวร้าวรุนแรงต่อร่างกาย, ถูกกระทำทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก, มีบุคลิกภาพที่นิยมความก้าวร้าว, ติดสุรา

        ความก้าวร้าวขั้นรุนแรง / ทุบตี, เตะต่อย, ทุบตีด้วยวัตถุหรืออาวุธ, มีบุคลิกภาพแปรปรวน เก็บอารมณ์ไม่อยู่, มีความยกย่องนับถือตนเองต่ำ ฆาตกรรม / จะเห็นได้ว่า ระดับความรุนแรงของพฤติกรรม เริ่มจากพฤติกรรมที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า ไปสู่ระดับความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งมีระดับความรุนแรงสูงที่สุด คือ เริ่มจาก ความก้าวร้าวทางวาจา ไปสู่ ความก้าวร้าวทางร้างกาย และพัฒนาไปสู่ ความก้าวร้าวขั้นรุนแรง ซึ่งบางกรณีระดับความก้าวร้าวที่สั่งสมต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิด ความก้าวร้าวรุนแรงสูงสุด ในระหว่างคู่สมรส คือ การฆาตกรรมคู่สมรส ได้แก่ สามีฆ่าภรรยาหรือภรรยาฆ่าสามี

        อย่างไรก็ตาม คดีความที่อยู่ในขอบเขตซึ่งสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ คือคดีความในระดับที่สามีแสดงความก้าวร้าวทางร่างกาย และแสดงความก้าวร้าวขั้นรุนแรง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เยียวยาสมานฉันท์กันได้ ส่วนการพยายามฆ่า หรือฆาตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น จัดว่าเป็นความผิดต่อชีวิตร่างกายที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งสมควรใช้วิธีการของกระบวนการยุติธรรมก่อน ส่วนการบำบัดเยียวยา หรือการแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม ควรกำหนดขึ้นภายหลังกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่เป็น "คำตอบสุดท้าย"ภูมิหลังแห่งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมโลกกับคดีความรุนแรงในครอบครัว: กรณีทำร้ายคู่สมรส

        กล่าวได้ว่า กระแสที่นำมาสู่การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในระยะแรกเริ่มขึ้นเมื่อปีคริสต์ทศวรรษ 1960s และ 1970s ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของเหยื่ออย่างจริงจัง จากการสนับสนุนเหยื่อในคดีสามีทำร้ายภรรยา (domestic violence) ซึ่งเป็นเรื่องที่บรรดาผู้หญิงทั้งหลายได้ทำการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ โดย Erin Pizzey ได้จัดตั้งบ้านพักพิงแห่งแรกขึ้นที่ Chiswick สำหรับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย ในปีค.ศ.1972 และมีการเลียนแบบกันข้ามประเทศเป็นกลุ่มเล็กๆโดยเงินสนับสนุนของกลุ่มผู้หญิง ด้วยการจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้แก่หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย ภายในปีเดียว (1977-8) มีผู้หญิงจำนวน 11,400 ราย และเด็กจำนวน 20,850 ราย เข้าพักพิงในบ้านพักฉุกเฉินจำนวน 150 แห่ง (Binny et al., 1985) ในสหราชอาณาจักร องค์การที่เป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวให้แก่เหยื่อ คือ "Victim Support" เริ่มต้นกิจกรรมในปี ค.ศ.1974. ปัจจุบันมีโครงการในเครือข่ายทั่วประเทศ โดยมีอาสาสมัครประมาณ 12,000 คน ให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อมากกว่าปีละ 1 ล้านคน (Home Office, 1996, p.33)

        ส่วนในสังคมไทยกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนทั้งหลาย ดูแลกันเอง ขณะที่ภาครัฐเพิ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรมขึ้นในกระทรวงยุติธรรม พร้อมๆกับการปฏิรูประบบราชการไทย พ.ศ.2545 นี้

        กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ยุทธศาสตร์ทางการยุติธรรมที่ลงตัว เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าวิธีการของระบบงานยุติธรรมไทย ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับวิธีการที่ระบบกฎหมายตะวันตกทั้งหลาย ใช้รับมือกับอาชญากรรม นั่นคือ วิธีการที่ทำให้ "เหยื่อ" มีความ รู้สึกสูญเสียอำนาจ ครั้งแรกก็เสียอำนาจให้กับผู้กระทำผิด และต่อมาก็เสียอำนาจให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม โดยพวกเหยื่อต้องพยายามอดกลั้นความรู้สึกต่ำต้อยเหล่านี้ไว้ การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่นี้ จึงเป็นแนวคิดและวิธีการที่ทำให้เกิด "ความยุติธรรม" แก่ทุกฝ่าย โดยใช้ความสุขุมนุ่มนวลที่เหนือกว่า จัดการกับผลที่เกิดตามมาจากอาชญากรรม และป้องกันการกระทำผิดในทำนองเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าไปพร้อมๆกัน

        การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อทำให้เกิดการเยียวยาชดเชยความเสียหาย และสร้างความสามัคคีปรองดองบนพื้นฐานความรู้สึกที่เชื่อว่า จะได้รับความยุติธรรม การเยียวยาเพียงอย่างเดียว โดยปล่อยให้ความอยุติธรรมยังคงลอยนวลอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ "การสมานฉันท์อย่างสมดุล" (restoring balance) จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวคิดหลักของการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Braithwaite, 1998. p.323-344) ถ้าเพียงแต่มีดุลภาพเกิดขึ้นระหว่าง ผู้กระทำผิดและเหยื่อที่เคยมีเกียรติมาก่อนที่จะเกิดอาชญากรรม หรือการกระทำผิดนั้นได้รับการปฏิบัติในสิ่งที่สมควรอย่างสมดุล โดย "การสมานฉันท์อย่างสมดุล" ระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำผิด จะเป็นไปได้ก็เมื่ออยู่ภายใต้บริบทที่ได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกัน ระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยมีคนกลางจากชุมชนเข้ามาช่วยสนับสนุน และมีหน่วยงานของรัฐช่วยประสานการจัดการให้เกิดเวทีการพูดคุยสมานฉันท์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

        ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้แก่ ผู้กระทำผิด เหยื่อ ผู้แทนชุมชน หรืออาสาสมัคร และผู้ประสานงานโครงการซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก มีเพียงผู้กระทำผิดและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ โดยเหยื่อและชุมชนถูกกันไว้วงนอกของกระบวนการ ทำให้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆมากนัก และส่งผลให้ "เหยื่อ" กับ "ผู้กระทำผิด" หันหลังให้แก่กัน โดยปราศจากเวทีที่จะแสดงความรับผิดชอบ (accountability) เข้าใจถึงผลที่เกิดตามมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ (consequences) เยียวยาความเสียหายและสมานรอยร้าวแห่งสัมพันธภาพแก่กัน เช่นเดียวกับที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในโครงการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

        ดังนั้นเมื่อผู้กระทำผิดพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม จึงเกิดการแปลกแยกไม่สามารถบูรณาการเข้าสู่สังคมเดียวกันได้อย่างสนิทใจเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบของความรับผิดชอบ หมายถึง การยอมรับว่าตนเป็นผู้ก่อเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้น เข้าใจถึง "ความเสียหายที่เกิดขึ้น" จากมุมมองอื่นๆ ตระหนักว่าตนมีทางเลือก สามารถดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อแก้ไขเยียวยาได้ และได้ลงมือกระทำการแก้ไขบรรเทาผลร้ายนั้น และองค์ประกอบแห่งความรับผิดชอบนี้ เป็นสิ่งที่เหยื่อในคดีการทำร้ายคู่สมรสต้องการ จากผู้กระทำซึ่งเป็นสามี/ภรรยาของตนมากกว่าสิ่งอื่นใด ในกรณีที่ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันต่อไป

ความเป็นไปได้ในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

มาใช้ในการเยียวยาสามีที่นิยมความรุนแรงในสังคมไทย

        "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะ "เติมเต็ม" ส่วนที่ขาดหายไปของการแก้ปัญหา "ความรุนแรงในครอบครัว" ได้อย่างลงตัวอย่างไร เป็นคำถามที่บรรดานักวิชาการด้านสังคมวิทยาปัญหาสังคม นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม นักกฎหมาย บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และบรรดาองค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงทั้งหลาย จะต้องตอบคำถามนี้แก่สังคมไทยของเรา ซึ่งผู้เขียนขอวิเคราะห์สาระสำคัญเกี่ยวกับความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัว ดังนี้

ประการแรก การมีกฎหมายรองรับ

        กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นวิธีการใหม่ของรัฐและสังคมไทย ในการดูแลสมาชิกครอบครัวที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 53 ซึ่งกำหนดว่า "เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม..." จึงเป็นเรื่องที่มีกฎหมายสูงสุดกล่าวถึงและให้ความสำคัญอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรมีการกำหนดกฎหมายรองรับการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่รับดำเนินการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือกรมคุมประพฤติและพนักงานคุมประพฤติ ก็สามารถดำเนินการได้ทันทีที่มีความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากรและงบประมาณ

ประการที่สอง วิธีการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีความเหมาะสม

        วิธีการที่จะนำมาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัวกรณีสามีทำร้ายภรรยา ซึ่งมีความละเอียดอ่อนนี้ ควรเป็นวิธีการที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากวิธีการทั่วไป โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสม ดังนี้

        2.1 กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จัดว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการปรับเปลี่ยนปรัชญาในการมองอาชญากรรมที่แตกต่างไปจาก "การให้ความหมายอาชญากรรมตามปกติแบบเหมารวม" และ "การแยกอาชญากรรมออกจากพฤติกรรมเบี่ยงเบน" คือ เป็นการมองและแยกวิธีการปฏิบัติต่อปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม ออกจากปัญหาอาชญากรรมทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วคดีสามีทำร้ายภรรยาเหล่านี้เมื่อเรื่องมาถึงโรงพัก ตำรวจมักจะทำการไกล่เกลี่ยประนีประนอมโดยมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ทำให้เหยื่อเสียเปรียบและคับข้องใจ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตครอบครัว ที่ไม่ได้รับการบำบัดเยียวยาแต่อย่างใด

        ขณะเดียวกันหากเรื่องดังกล่าวถูกดำเนินคดีแบบคดีทำร้ายร่างกาย ตามแบบวิธีที่ดำเนินการกับอาชญากรรมและการกระทำผิดทั้งหลายก็เป็นวิธีการที่ "ตึง" เกินไป ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน และความสัมพันธ์ของครอบครัวตามมาหลายประการ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงเป็น "ทางเลือก" ที่เหมาะสมสำหรับคดีที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้

        2.2 รูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ กับคดีทำร้ายคู่สมรสนี้ จัดว่าเป็นรูปแบบที่ลงตัวและได้ดุลยภาพระหว่าง "การสั่งการจากข้างบนลงล่าง" (top-down) คือ การดำเนินการตามทิศทางตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กับ "การเคลื่อนไหวจากข้างล่างเพื่อผลักดันข้างบน" (bottom-up) คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของบรรดากลุ่มผู้หญิงและองค์กรต่างๆ และยังเป็นเสมือนเวทีที่ "เหยื่อ" กับ "ผู้กระทำ" ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน ร่วมกับคนกลางและผู้ประสานงาน ซึ่งควรเป็น "พนักงาน คุมประพฤติ" ที่ได้รับการฝึกหัดอบรมแล้ว โดยผู้เขียนเห็นว่าเป็นความลงตัวที่มีลักษณะสมานฉันท์และสมดุลกันอย่างน่าสนใจ ดังภาพต่อไปนี้

        2.3 กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นวิธีการที่มีลักษณะของ "กระบวนการยุติธรรมทางเลือก" ที่รัฐและสังคมรับรู้และให้การยอมรับในความถูกต้องชอบธรรม ทั้งมีลักษณะ "กึ่งทางการ" ที่ไม่เป็นแบบแผนพิธีการมากเกินไป จนดูเหมือนเป็นการดำเนินคดีความที่มีข่าวครึกโครม ขณะเดียวกันก็มิใช่ทิ้งร้างให้เกิดช่องว่างทางสังคม ที่รัฐไม่เข้าไปดูแลรับรู้ปัญหาเหล่านี้ ทั้งๆที่สังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความเสมอภาคแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้กับกรณีสามีทำร้ายภรรยาได้เป็นรายกรณี โดยพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี และความยินยอมพร้อมใจของเหยื่อและผู้กระทำประกอบกัน ส่วนกรณีการกระทำที่มีลักษณะอุกฉกรรจ์มีโทษร้ายแรง ก็สามารถใช้วิธีการของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักตามปกติได้

ประการที่สาม เป็นเรื่องของลักษณะเฉพาะของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกรณีทำร้ายคู่สมรส ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกรณีการทำร้ายคู่สมรส หรือสามีทำร้ายภรรยานั้น มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ ดังนี้

        3.1 เพราะความเป็นครอบครัวจะมีนัยของความสัมพันธ์พิเศษที่มีลักษณะเป็น "ความสัมพันธ์แบบสองทาง" ดังนั้น จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น พบว่าการที่โยนความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวว่า มีความบกพร่องทางบุคลิภาพ การอบรมเลี้ยงดู ฯลฯ ด้วยการใช้มุมมองแบบใดๆก็ตามนั้นย่อมไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะบ่อยครั้งที่ภรรยาก็มีส่วนยั่วยุด้วยคำพูด ท่าทีและการกระทำบางอย่างเช่นกัน รวมทั้งขาดเทคนิควิธีการในการลดทอนความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น ให้แสดงออกอย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นความไม่ยุติธรรมและเป็นการละเลยความสำคัญของสัมพันธภาพที่มีลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งสามารถเยียวยาแก้ไขได้โดยอาศัย "คนกลาง" เข้าช่วยรับฟังและให้คำแนะนำในบางสถานการณ์

        3.2 ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ชื่อว่าเป็น "ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม" เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างไปจากปัญหาสังคมทั่วไป และขณะเดียวกันก็แตกต่างไปจากปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ คือการทำร้ายร่างกายผู้อื่นซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆที่มีพฤติการณ์แห่งคดีทำนองเดียวกัน เช่น เตะ ต่อย ใช้อาวุธทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของผู้อื่น และข่มขืนคู่สมรส ฯลฯ ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าและฆาตกรรมด้วย

        ทั้งนี้เนื่องจากกรณีความรุนแรงในครอบครัว เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจสมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัว โดยบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่สร้างครอบครัวมาจากพื้นฐานของความรักใคร่ผูกพันต่อกัน และบ้างก็ทำร้ายกันด้วยความรักใคร่หึงหวงด้วยซ้ำไป ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปัญหานี้เป็น "ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม" เพราะแตกต่างไปจากปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ทำนองเดียวกันที่เหยื่อมักจะเป็นบุคคลนอกครอบครัว

        3.3 เหยื่อและผู้กระทำผิดในกรณีนี้ส่วนใหญ่เป็น "บุคคลคนเดียวกันตามกฎหมาย" กรณีที่ทำการจดทะเบียนสมรส หรือไม่ก็มีบุตรซึ่งเป็นบุคคลที่สามผูกพันโยงใยอยู่ด้วย และได้รับผลกระทบจากการทำร้ายร่างกายกัน ระหว่างคนสองคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันด้วย ก่อให้เกิดปัญหาลำบากใจที่ยากแก่การจัดการอย่างเด็ดขาด กับสามีผู้กระทำความรุนแรงแก่เหยื่อซึ่งเป็นภรรยาของตน เพราะเหตุที่ไม่สามารถสวมบทบาทสามี บิดา หรือผู้นำครอบครัวได้อย่างสมบทบาทตามที่ควรจะเป็น เพราะการพรากสามีและบิดาไปจากตนเองและบุตร ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวของตน แต่หากไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เหยื่อก็ต้องยอมทนทุกข์ทรมานต่อสภาพความรุนแรงต่อไปเช่นกัน


        3.4 พฤติกรรมการกระทำผิดกรณีการทำร้ายคู่สมรสนั้น จัดว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัวที่มีลักษณะเป็น paradox คือ ขัดแย้งกันเองระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวซึ่งแฝงไว้ด้วยนัยแห่งการผนึกกำลัง การเป็นพันธมิตร การเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็ง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการมีความเมตตากรุณาต่อคนในกลุ่มเดียวกัน (in-group) มากกว่าที่มีต่อคนนอกกลุ่ม (out-group) ซึ่งเป็นธรรมชาติของพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ ดังนั้น การที่คนในครอบครัวทำร้ายร่างกายและจิตใจกันเอง นั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในบริบทของความเป็น "ครอบครัว" อย่างชัดเจนและมีความถี่เพิ่มขึ้นสูงมากในปัจจุบัน โดยประเด็นดังกล่าวมีงานวิจัยสนับสนุนมากมาย ดังเช่น จากรายงานการวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการประกอบอาชญากรรมทางเพศต่อผู้หญิงไทย" ของ จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (2544) พบว่า ร้อยละ 43 เหยื่อถูกข่มขืนโดยคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักกัน ร้อยละ 43.0 ถูกข่มขืนโดยคนรัก แฟน สามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และร้อยละ 7.2 ถูกข่มขืนโดยบิดา ลุง อา มีเพียงร้อยละ 20.5 ที่ถูกข่มขืนโดยคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ดังนั้น การที่คนแข็งแรงกว่าทำร้ายร่างกายและจิตใจคนที่อ่อนแอกว่าในครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รักใคร่สนิทสนมใกล้ชิดกัน คือเป็น "คนในกลุ่มเดียวกัน" มากกว่า "คนนอกกลุ่ม" นั้น วิเคราะห์ได้ว่าสังคมปัจจุบันมีการนำมโนทัศน์ที่ตรงกันข้ามมาใช้ผิดที่ผิดทางคือนำแนวคิด "การแข่งขัน" (competition) ซึ่งควรใช้กับคนนอกกลุ่ม (เพราะเป็นวิธีคิดและวิธีการที่ต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ในทุกวิถีทาง) มาใช้กับครอบครัวและคนในกลุ่มเดียวกันแทนแนวคิด "การร่วมมือร่วมใจ" (cooperation) ที่ทุกครอบครัวควรมีไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ

        3.5 ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากสามีทำร้ายภรรยานั้นมีลักษณะเป็น "ความรุนแรงสองชั้น" กล่าวคือในครอบครัวที่มีบุตรและบุตรทราบถึง หรือเห็นพฤติกรรมความรุนแรงที่บิดามารดากระทำโต้ตอบกันในลักษณะตบตี ทำร้ายร่างกาย ขว้างปาสิ่งของ หรือตะโกนใส่กันนั้น บุตรจะตกเป็น "เหยื่อโดยอ้อม" ในเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเรียนรู้บทบาททางเพศควบคู่กับความรุนแรง ยอมรับความก้าวร้าวรุนแรงว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขายอมรับได้

        ข้อมูลดังกล่าวมีงานวิจัยสนับสนุนอย่างชัดเจน คือ งานวิจัยของพรเพ็ญ เพชรสุขศิริ เรื่องการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัว และความก้าวร้าวของเยาวชนไทย (2539) พบว่าเยาวชนกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา ซึ่งเป็นนักเรียนในโรงเรียนทั่วไป มีการยอมรับความรุนแรงในครอบครัวของเยาวชนสูงถึงร้อยละ 92.6 โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่สามีสั่งสอนภรรยาได้ และร้อยละ 11.2 ของเยาวชนยอมรับว่าเป็น เรื่องปกติที่สามีมีสิทธิ์ตีภรรยาได้ตามสมควร และที่สำคัญ คือ เด็กเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อโดยอ้อมเหล่านี้ ได้ถูกบ่มเพาะนิสัยที่สามารถทนทานต่อความก้าวร้าวในระดับที่สูงขึ้นทีละขั้นๆ จากครอบครัวที่มีความรุนแรงจนมีขีดจำกัดแห่งความทนได้สูงมาก ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อครอบครัวที่จะเกิดใหม่ และสังคมไทยในอนาคต เมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

ประการที่สี่ ลักษณะสำคัญของโครงการปรับพฤติกรรมและหน่วยงานรองรับประสานการจัดการ

        หลักการและวิธีการปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่ชอบทำร้ายคู่สมรสเหล่านี้ นอกจากจะเป็นมาตรการที่ต้องมีกฎหมายรองรับแล้ว ยังต้องมีหน่วยงานเหมาะสมรองรับการดำเนินการอีกด้วย แนวคิดการใช้พนักงานคุมประพฤติเพื่อการนี้ จึงเกิดขึ้น กล่าวคือ

        4.1 แนวคิดการเยียวยาสัมพันธภาพที่แตกร้าวในครอบครัว โดยการปรับพฤติกรรมสามีและเยียวยาเหยื่อโดยวิธีการคุมประพฤตินี้ สามารถแสดงได้ ดังภาพที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการปรับพฤติกรรมคู่สมรส ใช้วิธีการคุมประพฤตินั้นจัดว่า เป็นมาตรการที่มีระดับความเข้มข้นของมาตรการแทนโทษจำคุกสูงสุด เท่าที่การกำหนดเงื่อนไขแห่งการคุมประพฤติจะควบคุมได้ คือการใช้วิธีการคุมประพฤติร่วมกับโปรแกรมการปรับพฤติกรรม และเป็นวิธีการที่ใช้กับคดีที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำสูง หากไม่มีการปรับพฤติกรรมหรือเยียวยาแก้ไขด้วยวิธีการใดๆ แม้แต่จะใช้วิธีการจำคุกไว้ระยะหนึ่งก็ตาม

        4.2 ความเหมาะสมของการใช้พนักงานคุมประพฤติเพื่อการนี้ สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีความเหมาะสม เนื่องจาก

- พนักงานคุมประพฤติมีความชำนาญทางเทคนิค ในการให้บริการเชิงสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และชำนาญงานด้านชุมชนอยู่แล้ว จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ประสานการจัดการโครงการดังกล่าว


- กรณีที่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข เพื่อคุมความประพฤติเพื่อความปลอดภัยของเหยื่อและครอบครัว ก็มีความพร้อมทางกฎหมายรองรับการดำเนินการนี้ได้ ทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนอีกชั้นหนึ่ง


- กรณีที่จำเป็นต้องให้บริการส่งต่อ "สามี" เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทางการแพทย์ พนักงานคุมประพฤติก็มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ที่จะดำเนินการดังกล่าวได้เช่นกัน


        4.3 ลักษณะสำคัญของโปรแกรมที่สร้างขึ้น เพื่อเยียวยาสามีที่ทำร้ายภรรยาของตนนั้น จำเป็นต้องมีลักษณะทั้งกว้างและทั้งเจาะลึก กล่าวคือ ชี้ให้เห็นภาพรวมและผลกระทบของปัญหาทั่วไป และเจาะจงที่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะราย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมต่อไป รวมทั้งจำเป็นต้องกล่าวถึงธรรมชาติทั่วไปและลักษณะที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการปรับพฤติกรรมควรมีประเด็นหลักครอบคลุมสามประเด็นสำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิด, การเยียวยาเหยื่อ, และการให้การเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกต้องใหม่อีกครั้ง, อันเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและโลกทัศน์ในเรื่อง "ครอบครัว" แก่คู่สมรส

ข้อสังเกตการนำมาใช้

        1. ถ้าขยายขอบเขตของโครงการให้ครอบคลุมความรุนแรงในครอบครัวกรณีอื่นๆด้วย ได้แก่ การทำร้ายทางเพศแก่บุตร/หลานในครอบครัว สำหรับผู้ต้องโทษจำคุกที่มีการคุมประพฤติในชั้นพักโทษ จะเกิดอานิสงฆ์แก่เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจจะกลับไปอยู่ร่วมครอบครัวเดียวกันกับเหยื่ออีกครั้ง โดยไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมใดๆ

        2. ควรมีการจำแนกกลุ่มคนที่เหมาะสมเข้ารับการบำบัดอย่างชัดเจน เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการทำร้ายคู่สมรสเกิดจากการเสพย์สุรา ยาเสพติด ซึ่งควรได้รับการแก้ไขปรับพฤติกรรมที่ต้นเหตุของปัญหามากกว่า

        3. ควรจัดให้มีหรือประสานการจัดโปรแกรมการบำบัดเยียวยาเหยื่อด้วย เพราะเหยื่อบางคนมีส่วนยั่วยุให้สามีเกิดโทสะทำร้ายร่างกายตน

        4. ควรนำทรัพยากรชุมชน เช่น อาสาสมัครบางคนที่เป็นครู นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ใหญ่ ฯลฯ มาช่วยเยียวยาเหยื่อด้วย

        5. เมื่อเข้าสู่โครงการสมานฉันท์ ควรจัดให้มีบ้านพักพิงสำหรับผู้กระทำผิดที่แยกออกจาก ผู้หญิงและเด็ก เพราะหลักการสำคัญคือผู้หญิงและเด็ก จะต้องอยู่ที่บ้านมิใช่ผู้ชายที่เป็นผู้กระทำ ส่วนบ้านพักพิงสำหรับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย ควรมีไว้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุเฉพาะหน้า ขณะที่เหยื่ออยู่ระหว่างการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด

        6. ควรพัฒนาหลักสูตรการอบรม และปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่เนื่องจากวิธีการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่นำมาใช้ในงานคุมประพฤตินั้น เน้นที่ "เหยื่อ" เหยื่อต้องได้รับการใส่ใจอย่างมากพอๆกับผู้กระทำผิด ขณะที่บางส่วนมองว่า ตนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะปฏิบัติเฉพาะต่อผู้กระทำผิดเท่านั้น

บทสรุป

        เหล่านี้คือคำตอบต่อคำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้นว่า "จะมีวิธีการอื่นใดซึ่งเป็น "ทางสายกลาง" หรือ "ทางเลือก" ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอีกหรือไม่ ระหว่าง "การปล่อยให้เป็นเรื่องภายในครอบครัว ที่คู่สมรสต้องจัดการแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องกันเอง" กับ "การใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักอย่างเต็มรูปเข้าไปจัดการกับปัญหานี้"

        ในฐานะที่เป็นเรื่องราวอันก่อให้เกิดความไม่สงบสุขแก่สังคมชุมชนส่วนรวมอย่างหนึ่ง ซึ่งหากจะมีวิธีการทางเลือกดังกล่าวเกิดขึ้นนั้น วิธีการนี้ควรมีลักษณะ "กึ่งทางการ" มี "ความยืดหยุ่น" ในการนำมาใช้ โดยคำนึงถึงผลลัพธ์เชิงเยียวยาสมานฉันท์ที่เสริมสร้างให้ความเป็น "ครอบครัว" กลับมาอีกครั้ง เพื่อดำเนินภารกิจหลักของตนแก่สังคมส่วนรวมได้อย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มากกว่าส่งเสริมให้เกิดความแตกร้าว แตกแยก ตัดขาด และลดทอนศักยภาพของทุกฝ่าย และวิธีการนั้น คือ การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเยียวยารอยร้าวแห่งสัมพันธภาพอันเกิดจากการกระทบกระทั่งเกินพอดี ของความรักที่ขาดความยืดหยุ่นเหล่านี้

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว"

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย