การจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ของการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
สถาบันการแพทย์แผนไทย ข่าวสารการแพทย์แผนไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2543

การจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ของการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
        พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 นับเป็นมิติใหม่ในการคุ้มครองสมุนไพร และภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ด้วยลักษณะของการให้ความคุ้มครองที่แตกต่างจากกฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เพราะนอกจากพระราชบัญญัติฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาที่คิดค้นขึ้นใหม่แล้ว ยังให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่อีกด้วย สาระสำคัญของการให้ความคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยนั้นอยู่ในหมวดที่ 2 ของพระราชบัญญัติฯ เรื่องการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่ว่าด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสามประเภท ได้แก่

        (1) ตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ

        (2) ตำรับยาแผนไทยทั่วไปหรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป

        (3) ตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคลหรือตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล

        การให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั้งสามประเภทนั้น ในส่วนของ (1) และ (2) นั้น ไม่มีความซับซ้อนมาก เนื่องจากได้กำหนดวิธีการคุ้มครองไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 18 ตามลำดับ รวมทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์ของ (1) ไว้ในมาตรา 19 แต่สำหรับ (3) ตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคลนั้น มีรายละเอียดในการดำเนินการอยู่มาก รวมทั้งเป็นส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

        ข้อโต้แย้งในเรื่องของการจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยนี้ มีอยู่มากมายหลายประเด็นด้วยกันทั้งการมองในภาพรวม เช่น การจดทะเบียนสิทธิฯ จะทำให้คนไทยแตกแยก แก่งแย่งความเป็นเจ้าของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย, การจดทะเบียนสิทธิฯ จะทำให้ความรู้ถูกหวงแหน ไม่ได้รับการพัฒนา และอาจเกิดการแย่งชิงทรัพยากรของคนระดับล่าง, เกรงว่าการจดทะเบียนสิทธิจะทำให้ตำรับยาส่วนบุคคลถูกยึดไปเป็นของรัฐ หรือถูกนำไปต่อยอด โดยที่เจ้าของตำรับยาไม่ทราบ หรือการมองในแต่ละมาตรา แต่ละประเด็น เช่น หากเป็นตำรับยาเดียวกันจะสามารถระบุได้อย่างไรว่า ผู้ใดมาจดก่อน หรือผู้ใดมาจดหลังจะใช้เกณฑ์อะไรวัด?, การประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน จะเป็นการเปิดเผยตำรับยาหรือไม่?, การตรวจสอบความซ้ำซ้อนของตำรับยาจะทำได้อย่างไร? ข้อสงสัย และข้อสันนิษฐานต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจในพระราชบัญญัติฯ ความไม่เชื่อมั่นในพระราชบัญญัติฯ และการปฏิบัติงานของสถาบันการแพทย์แผนไทย พระราชบัญญัติฯ ยังไม่มีรายละเอียดในทางปฏิบัติ เป็นระเบียบกระทรวง หรือกฎกระทรวงที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

        สำหรับ (1) และ (2) นั้น ทางสถาบันการแพทย์แผนไทยได้พยายามแก้ปัญหา ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสาระประโยชน์ของพระราชบัญญัติ ส่วน (3) นั้น ทางสถาบันการแพทย์แผนไทยได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะดำเนินการร่างระเบียบกระทรวง และกฎกระทรวงที่จำเป็นให้เร็วที่สุด และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

        รูปแบบของการจดทะเบียนสิทธิฯ ที่สถาบันการแพทย์แผนไทยได้วางกรอบแนวคิดไว้รูปแบบหนึ่ง มีความน่าสนใจและน่าพิจารณา นอกเหนือไปจากการจดทะเบียนสิทธิด้วยระบบเอกสารเพราะนอกจากจะสามารถให้คำตอบแก่ข้อโต้แย้งหลายประการ ในเรื่องการจดทะเบียนสิทธิได้ นั่นคือการจดทะเบียนสิทธิทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (network) โดยจะมีรูปแบบคร่าวๆ คือ ให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งในสาธารณสุขจังหวัด หรือสถานที่ที่รับคำขอจดทะเบียนฯ ซึ่งจะเรียกว่า "สถานี" และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ที่คอยปฏิบัติงานรับคำขอจดทะเบียนฯ เมื่อมีผู้มายื่นคำขอจดทะเบียนฯ เจ้าหน้าที่จะต้องเปิดโปรแกรมรับคำขอจดทะเบียนฯ เพื่อเชื่อมต่อสถานีเข้ากับ "ศูนย์ข้อมูล" ที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการเก็บรักษาฐานข้อมูลเรื่องตำรับยา-ตำรายา และคำขอจดทะเบียนฯ ทันที จากนั้นถ้าเป็นตำรับยา ให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อมูลของตำรับนั้นทั้งหมด ถ้าเป็นตำรายาให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่อง scanner สแกนเนื้อหาจากตำราทุกหน้าทุกเล่ม ที่ผู้ขอจดทะเบียนฯ นำมาขอจดทะเบียนฯ ทันที เมื่อเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้วให้ส่งข้อมูลนั้นทั้งหมดสู่ศูนย์ข้อมูล ส่วนตำรับ หรือตำรานั้นให้ส่งคืนกลับ แก่ผู้มาขอจดทะเบียนฯ โดยผู้ขอจดทะเบียนฯ จะได้รับหมายเลขประจำคำขอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าได้มายื่นคำขอจดทะเบียนฯ แล้ว ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียนฯ นั้น จะกระทำโดยคณะอนุกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย คณะอนุกรรมการชุดนี้จะประกอบไปด้วย หมอพื้นบ้าน หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ, นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ และนักพฤกษศาสตร์ เมื่อมีวาระการประชุมพิจารณาตำรับยา หรือตำรายา จะทำการเปิดข้อมูลตำรับยา-ตำรายา ที่มายื่นคำขอจดทะเบียนฯ หากเป็นภาษาไทยก็ทำการพิจารณาทันที ถ้าเป็นภาษาโบราณอื่นๆ เช่น ภาษาธรรมล้านนา, ภาษาไทยใหญ่, ภาษาขอม ก็ให้นักภาษาศาสตร์แปลตำรับยา-ตำรายานั้นเป็นภาษาไทย แล้วทำการพิจารณา

        เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาตำรับยา-ตำรายาใดเสร็จสิ้นแล้ว ให้แจ้งผลพร้อมเหตุผลให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางทราบ จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางแจ้งผลกลับไปให้นายทะเบียนทราบ ขั้นตอนต่อจากนั้นก็จะเป็นไปตามมาตรา 23 และมาตรา 24 ในพระราชบัญญัติฯ ตามลำดับ ส่วนการคัดค้านก็จะใช้ขั้นตอนคล้ายคลึงกับการยื่นคำขอจดทะเบียนฯ

        รูปแบบการจดทะเบียนสิทธิฯ ทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ นอกจากจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังสามารถทำให้ความลับในสูตรตำรับยา หรือตำรายาได้รับการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากทุกขั้นตอนในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง หรืออนุกรรมการทุกคนต้องใช้ "บัตรปฏิบัติงาน" ซึ่งมีคนละหนึ่งใบ เพื่อการเข้าสู่ระบบการขอจดทะเบียนฯ, เข้าสู่ระบบการคัดค้าน, เข้าสู่ฐานข้อมูลทะเบียนตำรับยา-ตำรายา, การเข้าสู่ฐานข้อมูลการขอจดทะเบียนในสิทธิภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และการถ่ายโอนข้อมูล โดยบัตรปฏิบัติงานนี้จะเป็นบัตรแข็งติดแถบแม่เหล็กบันทึกข้อมูล เพื่อการเข้าสู่แต่ละระบบ ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถือบัตรปฏิบัติงานนั้นๆ

        ในส่วนของฐานข้อมูลที่ได้เก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลนั้น จะแยกออกเป็นส่วนๆ การจะอ่านข้อมูลต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน จึงจะอ่านได้ เพื่อป้องกัน "แครกเกอร์" (Cracker) หรือการลักลอบเข้าสู่ฐานข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูลจึงมีความรัดกุมมากพอสมควร

        การดำเนินการติดตั้งในช่วงแรก คงจะเริ่มจากจังหวัดที่มีความพร้อมมากที่สุดก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมรองลงไปในภายหลัง รูปแบบการจดทะเบียนสิทธิทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้ ยังเป็นร่างคร่าวๆ ที่ยังไม่ได้ปรับแก้ไข จนกว่าจะเป็นร่างระเบียบกระทรวงฉบับที่สมบูรณ์อาจต้องปรับแก้ไขอีกหลายครั้งแต่อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนสิทธิทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้ นับเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเพื่อใช้คุ้มครองภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย ได้อย่างน่าสนใจ แนวทางในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยอาจไม่ใช่เพียงการฟื้นฟู และพัฒนาตามนโยบายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางไว้เท่านั้น การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้กับการแพทย์แผนไทย อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้การแพทย์แผนไทยพัฒนาก้าวกระโดด ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สถาบันการแพทย์แผนไทย
ข่าวสารการแพทย์แผนไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2543

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย