การจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ www.lawonline.co.th

การจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
        ความจำเป็นของมหาวิทยาลัยไทยในการจัดหารายได้ด้วยตนเองนอกเหนือไปจากเงินรายได้ที่ได้รับความสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในสภาวะปัจจุบัน เหตุผลของความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพราะการที่มหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดในการได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินอันเนื่องมาจากการมีสถานะทางกฎหมายเป็นเพียง “กรม” กรมหนึ่งที่จะต้อง “แย่งชิง” นำเสนอแผนการจัดทำงบประมาณที่จะต้องดึงดูดใจเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณโดยแข่งขันกับกรมอื่น ๆ อีกเกือบสองร้อยกรมในระบบราชการไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีเหตุผลมาจากการที่รายได้ที่มหาวิทยาลัยหามาได้ด้วยตนเองดังกล่าวนี้เป็น “รายได้พิเศษ” ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถจัดเก็บไว้ได้เองตามกฎหมายมหาวิทยาลัย และสามารถบริหารจัดการภายใต้ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยอย่างอิสระอีกด้วย นอกจากนั้นรายได้ส่วนนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้สามารถมีการดำเนินการตามนโยบายและบริหารงานตามความจำเป็นของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อให้สามารถธำรง “ความเป็นอิสระ” ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเอาไว้ได้ เพราะกรณีย่อมเป็นการไร้ประโยชน์หากจะยังคงพร่ำบ่นถึงความเป็นอิสระทางวิชาการก็ดี ความเป็นอิสระในทางการบริหารก็ดี ในขณะที่มหาวิทยาลัยยังไม่มีแม้แต่เงินงบประมาณและไม่มีอำนาจในการบริหารและใช้จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเห็นว่าเหมาะสมสำหรับตนเองได้

        ดังนั้น รายได้ของมหาวิทยาลัยที่จัดหามาได้ด้วยตนเอง จึงไม่ใช่แต่เพียงงบประมาณอีกก้อนหนึ่งที่จะนำมาสนับสนุนรายจ่ายที่ไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น หากแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงระดับของความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ภายใต้ยุคสมัยที่การบริหารจัดการกับเงินงบประมาณแผ่นดิน และการจับจ่ายใช้สอยเงินงบประมาณแผ่นดิน ยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในฝ่ายบริหารอื่นๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

        ปัญหาประการสำคัญที่อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับมหาวิทยาลัยทั้งหลายในอันที่จะพยายามจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยเอง ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างก็มีศักยภาพในทางวิชาการ มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า และมีความรู้ในการจัดการที่ดียิ่งในสาขาวิชาการด้านต่าง ๆ ก็คือ ปัญหาในเรื่องความไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการเพื่อจัดหารายได้ของตนเองประการหนึ่ง กับปัญหาการไม่ทราบแนวทางและรูปแบบที่เป็นไปได้ที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยอีกประการหนึ่ง

        ปัญหาทั้งสองประการนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคสำหรับการหารายได้ด้วยตนเองของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย เพราะแม้ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะกำหนดให้สภามหาวิทยาลัยหรือสภาสถาบันมีอำนาจดำเนินกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวางภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยหรือของสถาบันก็ตาม แต่โดยที่การดำเนินการเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและการบริหารจัดการทางการเงิน ซึ่งโดยปกติจะมีกฎระเบียบและคำสั่งทั้งของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาเกี่ยวข้องหรือ “น่าจะเกี่ยวข้อง” กับการดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อไม่มีความแน่ชัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างในเรื่องนั้น ๆ มาก่อน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงมักมีความลังเลที่จะดำเนินการเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่ตนไม่เคยดำเนินการมาก่อน และความลังเลดังกล่าวก็มักจะนำไปสู่การตัดสินใจไม่ดำเนินการในกิจกรรมที่พึงกระทำเพื่อการหารายได้ของมหาวิทยาลัยไปเสีย จนกระทั่งทำให้รายได้ส่วนที่เป็นรายได้พิเศษของมหาวิทยาลัยที่ได้รับยกเว้นมิให้ต้องนำส่งคลังของบางมหาวิทยาลัยนั้นอาจจะจำกัดอยู่เพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นรายได้ค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมการศึกษาต่าง ๆ กับรายได้ดั้งเดิมที่มีมาพร้อม ๆ กับการดำเนินงานมหาวิทยาลัย อาทิเช่น ค่าบำรุงหอพักนักศึกษา ค่าธรรมเนียมการจำหน่ายอาหารในโรงอาหารมหาวิทยาลัย ค่าเช่าสถานที่ หรือเงินกำไรจากการจัดทำชีท หรือเอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาต่าง ๆ เท่านั้น

        แม้ว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัยทุกแห่งหรือเกือบทุกแห่งได้ริเริ่มดำเนินการในการจัดกิจกรรมเพื่อจัดหารายได้ของตนเองนอกเหนือไปจากรายได้พิเศษดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยที่กล่าวมาข้างต้นบ้างแล้ว แต่ปัญหาในเรื่องความไม่มั่นใจในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย และความไม่ชัดเจนในแนวทางที่จะจัดหารายได้ก็ยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดหารายได้ในเรื่องที่มีความสำคัญและอาจกระทบกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ อาทิ เช่นการจัดหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ดูแลที่ราชพัสดุของประเทศ หรือการจัดกิจกรรมทางการเรียนการสอนนอกระบบบริหารแบบราชการที่อาจกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของทบวงมหาวิทยาลัยเองโดยตรง ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น การทำความกระจ่างในประเด็นข้อกฎหมายและการนำเสนอรูปแบบของการหารายได้ของมหาวิทยาลัยที่ได้มีการดำเนินการเป็นผลมาแล้ว จึงน่าจะมีความจำเป็นและจะเป็นประโยชน์สำหรับการกำหนดแนวทางในการจัดองค์กรเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยต่อไป

        ในการนำเสนอนี้ จะได้นำกรณีของการดำเนินการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศสตร์มาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสองประการคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยค่อนข้างหลากหลายพอที่จะนำมาเป็นกรณีตัวอย่างได้ประการหนึ่ง กับทั้งการที่ผู้เขียนมีความเกี่ยวข้องและมีข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินการจัดหารายได้ในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากพอที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาเรียบเรียงนำเสนอภายในระยะเวลาที่จำกัดในการเสนอบทความนี้ได้อีกประการหนึ่ง

        ในบทความนี้จะได้แยกนำเสนอเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกจะได้กล่าวถึงแนวทางและรูปแบบในการดำเนินการเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเป็นตัวแบบเพื่อการทดลองดำเนินการสำหรับมหาวิทยาลัยที่ยังมิได้มีการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งอาจทำให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินการต่อไปได้ และส่วนที่สองจะได้นำเสนอปัญหาของการดำเนินการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้กล่าวถึงปัญหาความไม่มั่นใจในเรื่องอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายในการดำเนินการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยรวมไว้ในประเด็นที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ด้วย

[แก้ไข]
ส่วนที่ 1 แนวทางในการดำเนินการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
        เมื่อพิจารณาจากกรอบในเรื่องของ “รายได้” ที่มหาวิทยาลัยได้รับและจัดเก็บไว้เพื่อการบริหารงานด้วยตนเองโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน การจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยยกเว้นไม่กล่าวถึงค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมการศึกษาในการจัดการศึกษาโดยปกติการจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์การจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยกรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยมีรายได้ในส่วนนี้เป็นรายได้หลักของ “รายได้พิเศษของมหาวิทยาลัย” โดยไม่ต้องนำส่งคลังอยู่แล้ว1 และยกเว้นไม่กล่าวถึงรายได้ปลีกย่อยอื่น ๆ ที่เป็นรายได้ “ดั้งเดิม” ของมหาวิทยาลัย อาทิเช่น ค่าบำรุงหอพัก ค่าธรรมเนียมการใช้สถานที่ ฯลฯ แล้ว อาจจำแนกการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.25312 ออกได้เป็นห้าแนวทางคือ 1. การดำเนินงานด้านการจัดการเรียนการสอน 2. การวิจัยและให้คำปรึกษาทางวิชาการ 3. การจัดการสัมมนาและฝึกอบรม 4. การจัดบริการทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และ 5. การจัดหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุ และที่ดินของมหาวิทยาลัย

[แก้ไข] 1. การดำเนินงานด้านการจัดการเรียนการสอน
        กิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการจัดการเรียนการสอนอันเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของธรรมศาสตร์ในที่นี้ หมายถึงการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยที่มีระยะเวลาของการจัดหลักสูตรตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการดำเนินการในกิจกรรมประเภทนี้ในหลายระดับ ตั้งแต่ชั้นปริญญาตรีชั้นประกาศนียบัตรบัณฑิต และในระดับปริญญาโท ทังการจัดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้มีความหลากหลายกระจายออกไปในคณะต่าง ๆ เกือบทุกคณะ และเป็นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กับทั้งมีการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ทั้งในภาคกลางวันและในภาคค่ำ

        ลักษณะของกิจกรรมทางด้านการเรียนการสอนที่มีผลเป็นการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ที่มีความแตกต่างไปจากการจัดการเรียนการสอนเพื่อรับปริญญาในหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัยก็คือ โครงการจัดการเรียนการสอนที่เป็นการจัดหารายได้ ซึ่งมีชื่อเรียกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “โครงการพิเศษ” เหล่านี้ เป็นการจัดหลักสูตรที่เพิ่มเติมขึ้นจากหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนโดยปกติที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ตามแผนจัดการศึกษา ซึงได้รับความสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินโดยปกติ ซึ่งความแตกต่างนี้มีผลทำให้ “โครงการพิเศษ” ต่าง ๆ จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเปิดโครงการขึ้นเอง ซึ่งก็หมายความว่า ผู้สมัครเข้าศึกษาใน “โครงการพิเศษ” เหล่านี้จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการเข้าศึกษาในโครงการปกติมาก และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในด้านการสอนหรือให้บริการที่จะบริหารงานโครงการพิเศษเหล่านี้ก็จะได้รัค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษจากการปฏิบัติงานในโครงการพิเศษเหล่านี้ด้วย

        ตัวอย่างของ “โครงการพิเศษ” ที่เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัย อาทิเช่น โครงการ Executive MBA. โครงการ MIM. ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โครงการหลักสูตรนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต และโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขากฎหมายธุรกิจของคณะนิติศาสตร์ โครงการปริญญาโททางด้านบริหารรัฐกิจหลักสูตรผู้บริหารของคณะรัฐศาสตร์ โครงการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาคอมพิวเตอร์ ภาคพิเศษของคณะวิทยาศาสตร์ หรือโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการแปลของคณะศิลปศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้น โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มีลักษณะเป็น “โครงการพิเศษ” เหล่านี้ รวมทั้งสิ้น 19 หลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและประกาศนียบัตรบัณฑิต

        โครงการพิเศษเหล่านี้เป็นกิจกรรมทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิตที่จัดทำขึ้นคู่ขนานไปกับการจัดการศึกษาในระบบปกติของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างโครงการทั้งสองนี้คือ การที่ผู้เข้าศึกษาในโครงการพิเศษเหล่านี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของการศึกษาเอง โดยหากจะเปรียบเทียบอัตราค่าใช้จ่ายของผู้เข้าศึกษาในโครงการปกติที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่กับผู้เข้าศึกษาในโครงการพิเศษในหลักสูตรทำนองเดียวกันจะพบว่ามีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก อาทิเช่น นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในภาคปกติจะต้องเสียค่าหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 240 บาท ในขณะที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในโครงการภาคบัณฑิต (โครงการพิเศษ) ต้องเสียค่าหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 300 บาท หรือการที่นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ในโครงการปกติเสียค่าหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 1,000 บาท แต่นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารรัฐกิจหลักสูตรผู้บริหาร (โครงการพิเศษ) เสียค่าหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 1,800 บาท หรือกรณีของนักศึกษาชั้นปริญญาโทภาคปกติคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเสียค่าหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 1,800 บาท ในขณะที่นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (Executive MBA.) เสียค่าหน่วยกิตในอัตราหน่วยกิตละ 2,300 บาท เป็นต้น

        ในแง่การบริหารจัดการสำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็นการหารายได้ของมหาวิทยาลัยนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แยกรูปแบบการดำเนินงานสำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีลักษณะพิเศษที่จัดคู่ขนานไปกับการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติ ออกเป็น 2 รูปแบบคือ

1.1 การจัดการโดยใช้ทรัพยากรเดิมของหน่วยงาน

        โครงการพิเศษที่จัดการบริหารงานในแนวทางนี้คือโครงการพิเศษเกือบทั้งหมดของมหาวิทยาลัยที่บริหารและจัดการทั้งในทางธุรการและทางการเรียนการสอนภายใต้โครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ โดยใช้บุคลากรที่มีฐานะเป็นอาจารย์และข้าราชการของคณะนั้น ๆ ให้เป็นผู้รับผิดชอบจะจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมเป็นพิเศษให้แก่บุคลากรของตน สำหรับการปฏิบัติงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยและการจัดหารายได้เพิ่มขึ้นแล้ว การดำเนินกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวยังมีผลเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนและจูงใจให้บุคลากรทั้งในสายอจารย์และข้าราชการยังคงอยู่ในระบบราชการต่อไปได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

        ในปัจจุบันนี้ โดยที่ภาระในการดำเนินงานโครงการจัดการเรียนการสอนในลักษณะโครงการพิเศษเหล่านี้มีเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นหลายคณะในมหาวิทยาลัยจึงได้จัดสรรเงินรายได้ที่ได้รับจากโครงการพิเศษเหล่านี้ไปจ้างลูกจ้างของมหาวิทยาลัย เพื่อรับผิดชอบปฏิบัติงานเต็มเวลาในการบริหารจัดการโครงการพิเศเหล่านี้ด้วย และบางคณะได้มีการจ้างอาจารย์พิเศษเพื่อปฏิบัติงานสอนและค้นคว้าวิจัยให้คำปรึกษาทางวิชาการสำหรับแต่ละโครงการเพิ่มเติมขึ้นโดยเฉพาะอีกด้วย

        สำหรับการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีในลักษณะโครงการพิเศษที่ดำเนินการโดยใช้ภาษาอังกฤษซึ่งมีการจัดเก็บค่าหน่วยกิตในอัตราที่สูงนั้น ปัจจุบันมีการดำเนินการในลักษณะโครงการพิเศษอยู่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปใน 1.2) รวม 3 หลักสูตร

        หากพิจารณาจากรายได้ของโครงการจะพบว่าการจัดโครงการการเรียนการสอนในลักษณะ “โครงการพิเศษ” จำนวนรวมทั้งสิ้น 19 โครงการหรือ 19 หลักสูตรที่ดำเนินการอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ เป็นแหล่งรายได้ที่มีความสำคัญแหล่งหนึ่งของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ โดยมหาวิทยาลัยได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเงินบำรุงมหาวิทยาลัยจากโครงการพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ในลักษณะของการเหมารวม โดยเรียกเก็บจากทุกโครงการในอัตราร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ของค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เก็บได้ของแต่ละโครงการ (ร้อยละ 15 สำหรับโครงการปริญญาโทและร้อยละ 10 สำหรับโครงการที่ต่ำกว่าปริญญาโท) โดยเงินค่าหน่วยกิตส่วนที่เหลือมหาวิทยาลัยยินยอมให้หน่วยงานผู้ทำโครงการเก็บไว้ใช้จ่ายในโครงการและเก็บผลกำไรไว้เป็นรายได้ของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานเองได้ ปรากฏว่าในปีงบประมาณรายจ่ายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2540 (มิถุนายน 2540 – พฤษภาคม 2541) ซึ่งมหาวิทยาลัยประมาณการไว้ว่า มหาวิทยาลัยจะมีรายรับทั้งหมดในส่วนที่เป็นรายได้พิเศษของมหาวิทยาลัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดินจำนวน 251,447,970 บาทนั้น เป็นประมาณการรายรับที่จะได้รับจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากโครงการพิเศษต่างๆ จำนวน 19 โครงการนี้เป็นจำนวนสูง 44,594,970 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.74 ของงบประมาณพิเศษประจำปีของมหาวิทยาลัย

        ประมาณการรายรับจำนวนเกือบ 45 ล้านบาทนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมของโครงการพิเศษต่าง ๆ เท่านั้น เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเพียงอัตราค่าบำรุงมหาวิทยาลัยที่เรียกเก็บเป็นอัตราส่วนร้อยละจากแต่ละโครงการเท่านั้น เงินค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ส่วนที่เหลือจำนวนร้อยละ 90 หรือ 85 แล้วแต่กรณี จะตกเป็นรายได้ของหน่วยงานของผู้จัดโครงการสำหรับนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการและผลกำไรที่เหลืออยู่จากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บเข้าเป็นรายได้ของคณะแต่ละคณะเพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละคณะต่อไป โดยหากจะคิดคำนวณอัตราค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมการศึกษาทั้งหมดที่จัดเก็บได้จากโครงการพิเศษทั้ง 19 โครงการนี้ ก็จะพบว่ายอดรวมของการจัดเก็บค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมการศึกษาของโครงการต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะมีจำนวนรวมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในแต่ละปีการศึกษา 3

1.2 การบริหารโครงการพิเศษโดยการจัดตั้งหน่วยงานนอกระบบราชการ

        นอกจากการดำเนินโครงการพิเศษโดยใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่อยู่ในระบบราชการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ริเริ่มจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่มิได้อยู่ในระบบราชการ และมิได้ใช้บุคลากรที่เป็นข้าราชการกับทั้งมิได้พึ่งพางบประมาณแผ่นดินในการริเริ่มดำเนินโครงการนี้เลยอีกด้วย ทั้งนี้ โดยได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรขึ้น เพื่อดำเนินโครงการพิเศษในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตโดยศึกษาเป็นภาคภาษาอังกฤษ

        โครงการที่ดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2535 มีความแตกต่างจากโครงการพิเศษอื่น ๆ ในแง่ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมิได้เริ่มต้นจากการเป็นโครงการของคณะที่มีอยู่เดิมในมหาวิทยาลัย หากแต่สถาบันนี้เริ่มต้นจากการจ้างบุคลากรทั้งหมด ทั้งในสายผู้สอนและในสายผู้ปฏิบัติงานธุรการจากบุคลากรภายนอกที่มิใช่อาจารย์หรือข้าราชการของมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานภายใต้ระบบสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้อย่างจำกัด และจะต้องพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานทุก ๆ ระยะเวลา 2 หรือ 4 ปี ภายใต้การกำกับนโยบายและควบคุมการบริหารงานโดยคณะกรรมการอำนวยการสถาบันที่สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบให้แต่งตั้งขึ้นโดยมีอธิการบดีเป็นประธาน

        ปัจจุบันสถาบันที่มีอัตราอาจารย์ประจำที่ต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ จำนวน 35 อัตรา และมีนักศึกษาที่ศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษสาขาวิศวกรรมศาสตร์จำนวนประมาณ 1,100 คน และกำลังดำเนินการเพื่อเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ (ศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ) ในปีการศึกษา 2540 นี้

        ในแง่การเงิน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มีงบประมาณรายจ่ายของตนเองแยกต่างหากจากงบประมาณของมหาวิทยาลัย โดยในปีการศึกษา 2540 สถาบันมีงบประมาณรายจ่ายของตนเองจำนวน 121,558,200 บาท และสำหรับประมาณการค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่เป็นค่าหน่วยกิต และค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษของสถาบัน จะอยู่ที่ประมาณปีการศึกษาละ 120,000 บาท ต่อนักศึกษาแต่ละคน

        การดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร 4 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความสนับสนุนทางการเงินในระยะเริ่มต้นเป็นจำนวนมกาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์เศรษฐกิจแห่งชาติของญี่ปุ่น (KAIDANREN) นั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการทดลองจัดตั้งสถาบันอิสระนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีความมุ่งหวังและคาดหมายว่าสถาบันอิสระนอกระบบราชการที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยภายในมหาวิทยาลัยที่ยังคงอยู่ในระบบราชการนี้ จะเป็นต้นแบบของการนำมหาวิทยาลัยในระบบราชการออกไปจากระบบราชการได้ทีละส่วน ๆ โดยไม่มีผลกระทบกับโครงสร้างเดิมของมหาวิทยาลัยที่ถูกสร้างขึ้นมาภายในระบบราชการ

[แก้ไข] 2. การดำเนินการด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาทางวิชาการ
        การดำเนินการในเรื่องการจัดการวิจัยและให้บริการทางวิชาการ เป็นกิจกรรมที่มีผลเป็นการหารายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยที่มีการริเริ่มดำเนินการค่อนข้างช้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้ารับทำงานวิจัยและให้คำปรึกษาทางวิชาการในลักษณะงานวิจัยส่วนบุคคลและในฐานะที่ปรึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ ในลักษณะการดำเนินงานส่วนบุคคล โดยมิได้มีการจัดระบบการสนับสนุนรองรับและอำนวยความสะดวกในกิจกรรมประเภทนี้มาเป็นเวลานาน ทั้ง ๆ ที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนมากเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในทางวิชาการและการค้นคว้าวิจัยในระดับสูง และได้รับการยอมรับในวงกว้างในหลายสาขาวิชาการและมีความเหมาะสมสำหรับงานวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่งจนปรากฏผลงานวิจัยจำนวนมากที่ทำขึ้นโดยนักวิจัยที่เป็นบุคคลากรของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ในลักษณะผลงานวิจัยส่วนบุคคล

        ความพยายามในการริเริ่มจัดองค์กรกลางขึ้นเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในปี 2539 ภายใต้ชื่อของโครงการจัดตั้งศูนย์การวิจัยและให้คำปรึกษาทางวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC, Thammasat University Research and Consultancy Center) ซึ่งจะมีฐานะเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่มีสถานะในระดับเดียวกันกับคณะ สำนัก สถาบันที่มีอยู่แล้วโดยการจัดตั้ง TU-RAC ทำโดยระเบียบของสภามหาวิทยาลัยซึ่งประสงค์จะให้หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่มีระบบบริหารที่เป็นอิสระไม่อยู่ภายในระบบราชการ

        โครงสร้างของ TU-RAC จะประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและผู้อำนวยการ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานของศูนย์ประสานงาน ตลอดจนติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัยต่าง ๆ รวมตลอดไปจนถึงการดำเนินการในทางธุรการในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานผู้สนับสนุนการวิจัยอีกด้วย

        เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีหน่วยงานกลางที่จะรองรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นประเด็นที่เกิดจากปัญหาในทางกฎหมายและปัญหาเกี่ยวกับสภาพในทางเทคนิคของการบริหารงานวิจัยต่าง ๆ โดยแท้ กล่าวคือ ในทางกฎหมาย องค์กรผู้ให้ทุนการวิจัยมักมีเงื่อนไขที่จะต้องมีคู่สัญญาที่รับจัดทำงานวิจัยที่เป็นนิติบุคคล หรือที่มีสถานะเป็นส่วนราชการเพื่อความมั่นคงในเรื่องความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของานวิจัย ประกอบกับงานวิจัยจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะงานวิจัยที่มาจากกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ที่ไม่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในด้านการสนับสนุนการวิจัย) ซึ่งมักมีเงื่อนไขในเรื่องการวางหลักประกันผลงาน (แต่ก็จะได้รับการยกเว้นในกรณีที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการเข้าเป็นคู่สัญญารับจัดทำงานวิจัยนั้นๆ) อีกทั้งภาระงานในการเจรจาต่อรองและจัดทำสัญญาวิจัยซึ่งมักจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างไปจากสัญญาที่มหาวิทยาลัยในฐานะส่วนราชการเคยลงนามผูกพันอยู่โดยปกติ เหตุผลความจำเป็นดังกล่าวทำให้จำต้องมีองค์กรเฉพาะเข้ามารับผิดชอบตรวจสอบความผูกพันและความเป็นไปได้ตามเงื่อนไขของงานวิจัยก่อนลงนาม คอยติดตามการปฏิบัติงานวิจัยหรือบริหารงานวิจัยหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาวิจัยแล้วเพื่อให้งานวิจัยที่ดำเนินการในนามของมหาวิทยาลัยสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

        ในประเด็นเรื่องเทคนิคของการบริหารงานวิจัยเอง งานวิจัยทุกโครงการมีความจำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการบริหารค่าตอบแทนการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการทำการวิจัยเอง และหลายโครงการจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำการวิจัยก่อนที่จะได้รับค่าตอบแทนการวิจัยงวดแรกด้วยซ้ำ ดังนั้นการมีกองทุนเฉพาะสำหรับสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากมหาวิทยาลัยประสงค์จะให้การสนับสนุนภาระกิจในด้านการวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากนั้นโครงการวิจัยจำนวนมากยังอาจจะประสบปัญหาในเรื่องการดำเนินการทางธุรการ การติดต่อกับแหล่งทุน ตลอดไปจนถึงการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดการสัมมนาระดมความคิดเห็นในประเด็นของเรื่องที่ทำการวิจัย การจัดเก็บข้อมูลที่ต้องใช้เทคนิคการสำรวจความคิดเห็นในวงกว้าง ปัญหาการจัดพิมพ์และจัดทำรายงานวิจัยเป็นรูปเล่มและการเผยแพร่ ฯลฯ ปัญหาในทางเทคนิคของการทำงานวิจัย เช่นนี้ไม่ใช่ปัญหาที่คณะผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะสามารถจัดการหรือแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปทั้งหมดโดยง่ายได้ ดังนั้น การจัดตั้งหน่วยงานกลางในลักษณะ TU-RAC เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการวิจัยและเพื่อดูแลช่วยเหลือในการบริหารงานวิจัยที่มีสัญญาวิจัยแล้ว การจัดการทางธุรการต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงการรวบรวมข้อสนเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัย จึงเป็นการจัดการเพื่อรองรับกิจกรรมในเรื่องการวิจัยและการให้คำปรึกษาทางวิชาการที่มีความจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับมหาวิทยาลัยในยุคสมัยปัจจุบัน

        ในแง่การจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัย หลักเกณฑ์ TU-RAC จะกำหนดไว้โดยแจ้งชัดว่า โครงการวิจัยที่ดำเนินการในนามมหาวิทยาลัยภายใต้บริหารจัดการของ TU-RAC จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเงินบำรุงมหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ 15 ของค่าตอบแทนที่ได้รับของโครงการวิจัยแต่ละโครงการ ในระหว่างปีการศึกษา 2539 – 2540 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของ TU-RAC นั้น ได้มีโครงการวิจัยที่ได้ “ทดลอง” บริหารจัดการภายใต้ TU-RAC แล้ว 2 โครงการ คือ โครงการวิจัยในเรื่องการศึกษาความเหมาะสมในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยเครื่องออกสลากอัตโนมัติ ซึ่งมีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และโครงการวิจัยเรื่องหลักเกณฑ์และความเป็นไปได้ในการโอนกิจการ ขสมก. ให้แก่ กทม. ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย โครงการวิจัยทั้งสองโครงการนี้ได้แบ่งส่วนรายได้จากการวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัย โดยผ่าน TU-RAC เป็นจำนวนรวมเกือบหนึ่งล้านบาท

        ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น เพื่อให้เป็นนิติบุคคลเอกเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ซึ่งจะบริหารงานตามแนวทางและโดยบุคลากรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนด โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้มูลนิธินี้อยู่ในลักษณะเดียวกันกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาในการเข้ารับงานวิจัยจากกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคเอกชน ตลอดถึงแห่งทุนต่าง ๆ แทนมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพราะการดำเนินการในลักษณะของมูลนิธิซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกเทศจะทำให้เกิดความคล่องตัวในทางการบริหารและการเงิน และจะมีข้อจำกัดต่างๆ ในการดำเนินการในทางกฎหมายน้อยกว่าการดำเนินการในฐานะที่เป็นส่วนราชการซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องลงนามผูกพันเป็นคู่สัญญาเองโดยตรง โดยในระยะยาวการดำเนินการในเรื่องการวิจัยและให้คำปรึกษาทางวิชาการโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยจะทำในนามของมูลนิธิ และเฉพาะงานวิจัยที่มีความจำเป็นต้องทำสัญญาวิจัยในนามของมหาวิทยาลัยตามความประสงค์ของแหล่งทุนวิจัยเท่านั้น ที่จะบริหารจัดการโดยผ่าน TU-RAC ที่จะยังคงอยู่ต่อไป

[แก้ไข] 3. การดำเนินงานด้านการจัดการสัมมนาและฝึกอบรม
        การจัดการสัมมนาในทางวิชาการและการฝึกอบรมระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับงานทางวิชาการ ที่มีการเรียนการสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยดูจะเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการให้มีเพิ่มขึ้นจากเรื่องดังกล่าวก็คือการจัดวางระบบการจัดการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะอำนวยความสะดวก ทั้งในการริเริ่มดำเนินโครงการและการตรวจสอบควบคุมดูแลความถูกต้องในการบริหารการเงินของโครงการ ทั้งนี้ โดยได้เรียกโครงการเหล่านี้ว่า “โครงการเลี้ยงตัวเองประเภทโครงการสามัญ” เพื่อให้แตกต่างจากโครงการพิเศษ (ซึงหมายถึงโครงการที่จัดการสอนตามหลักสูตรชั้นปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิต)

        สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเลี้ยงตัวเองในลักษณะของการจัดการสัมมนาและฝึกอบรม โดยมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เข้ารับการอบรมหรือสัมมนาเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกันของทั้งมหาวิทยาลัย โดยได้กำหนดแนวทางสำหรับการจัดทำโครงการ การขออนุมัติโครงการและแบบแผนการกำหนดและบริหารเงินรายได้โครงการ รูปแบบการจัดทำบัญชีรับจ่ายของแต่ละโครงการ ไปจนถึงการรายงานผลและการตรวจสอบความถูกต้องในการใช้จ่ายเงินของโครงการเหล่านี้ด้วย 5

        การกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนไว้ในระเบียบของสภามหาวิทยาลัยฉบับเดียวในลักษณะเช่นนี้มีผลให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยที่มีแนวความคิดที่จะจัดโครงการประเภทนี้ ซึ่งอาจจะมีการดำเนินการเพียงวันเดียว เช่น การจัดการสัมมนาทางวิชาการ หรืออาจใช้เวลาดำเนินการยาวนานถึง 4 เดือนติดต่อกัน ดังเช่นโครงการ MINI MBA มีความเข้าใจในระเบียบแบบแผนตลอดทั้งวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการเงินและบัญชี และมีความมั่นใจในการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้ที่จัดเก็บจากโครงการได้โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับกฎระเบียบหรือการตรวจสอบอื่นใดทั้งจากมหาวิทยาลัยหรือจากหน่วยงานภายนอก (อาทิเช่น สตง. หรือกระทรวงการคลัง) อีก หากว่าได้ถือปฏิบัติและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของสภามหาวิทยาลัยว่าด้วยโครงการบริการสังคมนี้แล้ว

        หลังจากที่ได้มีการวางหลักเกณฑ์ที่มีใช้บังคับทั่วไปในลักษณะเช่นนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2535 ก็ปรากฏว่าได้มีการริเริ่มดำเนินการโครงการเลี้ยงตัวเองในลักษณะของการสัมมนาและฝึกอบรมขึ้นเป็นจำนวนมาก และในปีงบประมาณมหาวิทยาลัย 2539 ที่เพิ่มผ่านไปเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม 2540 ปรากฏว่าได้มีการดำเนินโครงการฝึกอบรมและสัมมนาที่มีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เข้าร่วมที่เข้าข่ายเป็นโครงการเลี้ยงตัวเองเป็นจำนวนมากกว่า 500 โครงการ ทั้งนี้โดยไม่ได้นับรวมการจัดกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมากที่ได้มีการจัดขึ้นในมหาวิทยาลัย

        ในแง่รายได้ของมหาวิทยาลัยจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ระเบียบของสภามหาวิทยาลัยในเรื่องนี้กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปไว้ว่า โครงการทุกโครงการที่จัดกิจกรรมฝึกอบรมและสัมมนาทางวิชาการโดยมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เข้าร่วม จะต้องนำเงินรายได้ในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับทั้งหมดที่จัดเก็บได้ ส่งให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นเงินค่าธรรมเนียมบำรุงมหาวิทยาลัย โดยรายได้ที่เหลืออีก 95% นั้น อนุญาตให้หน่วยงานที่จัดโครงการนั้น ๆ เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการและส่วนที่เหลือจากรายจ่ายก็อนุญาตให้จัดเก็บเป็นรายได้ของหน่วยงานได้ โดยไม่ต้องนำส่งให้แก่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานเกือบทุกแห่งก็นำเงินรายได้จากการดำเนินกิจกรรมโครงการเลี้ยงตัวเองปรเภทนี้ไปใช้จ่ายในด้านสวัสดิการและเป็นเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษให้แก่อาจารย์และข้าราชการในหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนั่นเอง

        ในปีงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัย 2540 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณว่ามหาวิทยาลัยจะมีรายรับจากค่าธรรมเนียมร้อยละห้าของกิจกรรมโครงการเลี้ยงตัวเองประเภทการฝึกอบรมและสัมมนานี้สูงถึง 3,400,000 บาท ซึ่งหมายความว่า ยอดรายรับรวมของโครงการประเภทนี้ทั้งหมด (ซึ่งรวมทั้งส่วนที่เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย 5% และส่วนที่หน่วยงานจัดเก็บไว้อีก 95%) จะมีจำนวนรวมสูงถึง 68,000,000 ล้านบาทนั่นเอง

        นอกจากการวางแนวทางการจัดกิจกรรมประเภทการจัดการสัมมนาและฝึกอบรม เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในความสนใจและความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน แล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ริเริ่มจัดตั้งหน่วยงานพิเศษของมหาวิทยาลัยซึ่งมีฐานะเท่ากับ คณะ สำนัก สถาบัน ขึ้น เพื่อรองรับภารกิจในการฝึกอบรม ค้นคว้า และพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดทั้งร่วมมือกับภาคธุรกิจในการผลิตทางอุตสาหกรรมโดยอาศัยพื้นฐานการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่หน่วยงานนี้ดำเนินการขึ้น โดยได้จัดตั้ง “วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา” ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่ในระยะแรกจะบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระนอกระบบราชการขึ้น โดยอำนาจของสภามหาวิทยาลัยโดยการตราระเบียบของสภามหาวิทยาลัยให้มีผลเป็นการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น

        วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2538 โดยมีโครงสร้างการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการบริหารซึ่งมีอธิการบดีเป็นประธาน และคณะกรรมการที่ปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรระดับสูงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมีผู้อำนวยการซึ่งอธิการบดีแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานและควบคุมดูแลบุคลากรซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ แต่มีสถานะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินภารกิจตามจุดมุ่งหมายของวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา 6

        โดยที่วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาเป็นหน่วยงานแรกที่ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งและดำเนินการ ณ ศูนย์ถาวร-อุษา พรประภา อันเป็นที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้รบบริจาคจำนวนกว่า 500 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับเมืองพัทยา ดังนั้นในระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาจึงได้เร่งดำเนินการในส่นของการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานและการก่อสร้างอาคารที่ทำการของวิทยาลัยเป็นด้านหลัก และในปีการศึกษา 2541 นี้ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาจะได้เริ่มดำเนินกิจกรรมที่มีลักษณะเป็น “นวัตกรรม” (Innovation) สำหรับอุดมศึกษาไทย โดยการริเริ่มร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ จัดการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีตลอดทั้งพัฒนาต้นแบบในการผลิตที่ทันสมัยในทางอุตสาหกรรม การริเริ่มการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดทั้งการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคที่มีศักยภาพในทางอุตสาหกรรมอย่างสูง คือชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ในลำดับต่อไป

        ในทางการเงิน โครงการนี้ได้รับความสนับสนุนในรูปของเงินบริจาคสำหรับริเริ่มโครงการแล้วจากภาคเอกชนมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ทั้งนี้ โดยความเข้าใจถึงความจำเป็นในการพัฒนาภารกิจในด้านวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของมหาวิทยาลัยไทย และตระหนักถึงศักยภาพในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีของรัฐบาล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังเสนอโครงการจัดตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษาในรูปของส่วนราชการ ในระดับเดียวกันกับคณะ สำนัก สถาบัน ไปยังทบวงมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถรองรับการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาในลักษณะของศาสตร์ประยุกต์ (applied science) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ และเพื่อผลักดันให้แนวนโยบายในด้านดังกล่าวของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในระบบราชการทั้งหมดต่อไปอีกด้วย

[แก้ไข] 4. การจัดบริการทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัย
        การดำเนินกิจกรรมทางวิชาการที่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยในฐานะแหล่งความรู้ในทางวิชาการของชาติโดยตรงในที่นี้ก็คือ การดำเนินกิจกรรมของสำนักพิมพ์โรงพิมพ์และศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        การดำเนินการสนับสนุนและเสริมสร้างตำรา เอกสารการวิจัยและหนังสือประกอบการเรียนการสอน การจัดพิมพ์ตำรา หนังสือและเอกสารดังกล่าว ตลอดไปถึงการเผยแพร่ตำราและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อันเป็นภารกิจของหน่วยงานบริการทางวิชาการทั้งสามหน่วยนี้ เป็นภารกิจที่มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มและดำเนินการสืบเนื่องกันมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่งานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่สังคมในวงกว้างออกไปอีกด้วย

        ในแง่การบริการจัดการกิจกรรมของหน่วยงานทั้งสามของมหาวิทยาลัย ดำเนินการไปภายใต้ระเบียบที่สภามหาวิทยาลัยตราขึ้น ซึ่งรับรองให้หน่วยงานทั้งสามของมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่มีระบบบริหารงานที่เป็นอิสระแยกต่างหากจากระบบราชการ โดยแต่ละหน่วยงานจะมีคณะกรรมการบริหารและผู้จัดการที่คณะกรรมการบริหารเสนอให้อธิการบดีทำสัญญาจ้างขึ้นมารับผิดชอบในกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานเอง ทั้งนี้ภายใต้แนวนโยบายและการกำกับดูแลของคณะกรรมการอำนวยการที่อธิการบดีแต่งตั้งขึ้นเพื่อกำกับการบริหารงานของหน่วยงานทั้งสามให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 7

        บุคลากรที่ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งในปีงบประมาณ 2540 มีจำนวนรวมมากกว่า 100 คนนี้ มีสถานะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานประจำให้แก่หน่วยงานแต่ละแห่ง โดยมีโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นพิเศษแตกต่างจากลูกจ้างของทางราชการโดยทั่วไป มีระบบสวัสดิการ กองทุนบำเหน็จและหลักประกันในการทำงานที่มีความมั่นคง แยกออกไปต่างหากจากข้าราชการและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยโดยปกติ

        เมื่อพิจารณาในแง่ของการจัดหารายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยของกิจกรรมการให้บริการทางวิชาการที่ดำเนินการโดย สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ และศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพบว่าในปีงบประมาณมหาวิทยาลัย 2540 หน่วยงานทั้งสามนี้ได้ประมาณการรายได้จากการดำเนินการของทั้งสามหน่วยงานไว้ที่ประมาณ 125 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผลกำไรสุทธิภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าเสื่อมราคาในวิธีการเดียวกันกับที่ใช้ในธุรกิจภาคเอกชนแล้ว เป็นจำนวนรวมประมาณ 7 ล้านบาท

        รายได้จากการให้บริการสังคมที่มาจากกิจกรรมของสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์และศูนย์หนังสือเป็นรายได้เฉพาะที่เป็นการดำเนินการโดยส่วนรวมของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเท่านั้น ในส่วนของคณะ สำนัก สถาบันต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนและได้ดำเนินการจัดพิมพ์ตำราและเอกสารประกอบการสอนของตนเองขึ้นเพื่อให้บริการแก่นักศึกษาในหน่วยงานของตนเองนั้น ยังมิได้นำมารวมกับผลการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ของมหาวิทยาลัย

[แก้ไข] 5. การจัดหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุและที่ดินของมหาวิทยาลัย
        โดยที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2531 เป็นกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่มีการปรับปรุงแก้ไขเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจในการจัดหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองอยู่จึงปรากฏแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความในวรรคสองของมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ” ซึ่งเป็นแนวทางที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำลังผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งให้มีบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในขณะนี้

        เพื่อรองรับอำนาจตามกฎหมายในการจัดหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองดูแลอยู่ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ตราระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดหารายได้หรือผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ปกครองดูแลหรือใช้ประโยชน์ขึ้น เพื่อวางหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหารายได้และผลประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติราชพัสดุ พ.ศ.2518 ซึ่งกรมธนารักษ์ได้กำหนดไว้สำหรับการบริหารจัดการที่ราชพัสดุโดยทั่วไปแต่อย่างใด โดยรายได้ที่เกิดจากการหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์นี้ ถือเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยโดยตรง โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง

        โดยระเบียบดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมดูแล ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อมหาวิทยาลัยในการจัดหารายได้จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยดูแลใช้ประโยชน์อยู่ โดยในกรณีที่เป็นการจัดหาผลประโยชน์ในลักษณะการให้เช่าที่ดินที่มีระยะเวลาเกินกว่าห้าปีขึ้นไป ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ต้องดำเนินการโดยได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยก่อน และสำหรับการเช่าที่มีระยะเวลาต่ำกว่าห้าปีให้อยู่ในอำนาจของอธิการบดี

        นับแต่มีการใช้ระเบียบดังกล่าวสำหรับการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองดูแลรักษาอยู่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการจัดหาประโยชน์ในลักษณะของการให้เช่าที่ดินที่มีระยะเวลาการเช่านานกว่า 1 ปีมาแล้วหลายกรณี อาทิเช่น การให้เช่าที่ดินเพื่อตั้งสาขาของธนาคารพาณิชย์ การให้เช่าที่ดินเพื่อตั้งเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) การตั้งร้านค้าสะดวกซื้อเพื่อให้บริการแก่นักศึกษา และการตั้งสถานีบริการน้ำมันภายในมหาวิทยาลัย การดำเนินการต่าง ๆ ในกรอบของการให้เช่าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มหาวิทยาลัยครอบครองใช้ประโยชน์อยู่นี้ได้ก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นตัวเงินให้แก่มหาวิทยาลัยมาแล้วมากกว่าสิบล้านบาทในระหว่างระยะเวลา 4 – 5 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ โดยไม่รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เช่าที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่หลายสิบไร่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตด้านที่อยู่ติดถนนพหลโยธิน ภายใต้ชื่อโครงการ TU COMPLEX ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เปิดโครงการให้เอกชนเสนอตัวเข้าพัฒนาที่ดินในปี 2537 แต่ต่อมาได้มีการระงับโครงการไว้เนื่องจากภาวะการณ์ในทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ซึ่งเดิมเคยมีการคาดหมายว่า โครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าโครงการหลายร้อยล้านบาท

        สำหรับกรณีที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เร่งเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุให้มีความชัดเจนขึ้นนั้น แนวทางการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นแนวทางใหม่สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งที่เอื้ออำนวยและให้มีการตีความอำนาจในการจัดหาผลประโยชน์ในที่ราชพัสดุของมหาวิทยาลัยในลักษณะที่เปิดกว้างดังกล่าวมาเป็นเวลานานก่อนหน้านั้นแล้ว การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยไปยังทบวงมหาวิทยาลัยพร้อม ๆ กับมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้ดำเนินการไปในช่วงกลางปี 2540 นี้ จึงเป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องของการปฏิบัติเดิมและเพิ่มความชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของมหาวิทยาลัยในที่ดินที่ได้รับบริจาคหรือซื้อมาด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ให้ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องตกเป็นที่ราชพัสดุเท่านั้น

        ปัจจุบันการจัดการทางธุรการและการติดตามดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหารายได้และผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ได้ดำเนินการไปภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของงานรายได้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกองคลังของมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในระบบบริหารแบบราชการ และเมื่อเร็วๆ นี้สภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาความจำเป็นในเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยซึ่งจะมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และพิจารณาขอบเขตของที่ดินที่จะนำมาดำเนินการจัดหารายได้ที่จะมีมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่อยู่ ณ ศูนย์รังสิตของมหาวิทยาลัยแล้ว จึงได้มีมติสภามหาวิทยาลัยให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยต่อไป

        ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวของคณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยตั้งขึ้นได้มีความเห็นว่า แนวทางที่มีความเหมาะสมจะเป็นประโยชน์มากที่สุดในการบริหารจัดการในเรื่องการหาผลประโยชน์จากที่ดินนั้น น่าจะต้องดำเนินการโดยองค์กรเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่ไม่อยู่ในระบบบริหารแบบราชการ และจะต้องมีความคล่องตัวสูงกับทั้งมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของตนเองแยกต่างหากจากงานโดยปกติของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ดังนั้น คณะกรรมการจึงได้เสนอให้มีการตราระเบียบจัดตั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น โดยอาศัยอำนาจของสภามหาวิทยาลัย โดยให้มีโครงสร้างในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินงานสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ และศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคณะกรรมการกำกับนโยบายและมีผู้บริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานภายใต้ความรับผิดชอบของรองอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ซึ่งจะได้เสนอให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบภารกิจในเรื่องนี้ต่อไป

        ในขณะนี้คณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาและเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียดและยกร่างระเบียบเพื่อการจัดการทรัพย์สิน เพื่อนำเสนอสภามหาวิทยาลัยต่อไป

        การจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งห้าแนวทางที่ได้นำเสนอมานี้เป็นการดำเนินการที่ได้ริเริ่มปฏิบัติมาแล้วในมหาวิทยาลัยและเป็นการจัดหารายได้ที่มีสัดส่วนสำคัญอย่างยิ่งในงบประมาณรายจ่ายจากรายได้พิเศษของมหาวิทยาลัย และน่าจะครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะแตกต่างกันค่อนข้างครบถ้วน10 และอาจจะเป็นตัวอย่างสำหรับการริเริ่มดำเนินการของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังมิได้มีการดำเนินการในส่วนหนึ่งส่วนใดได้เป็นอย่างดี หากว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหาในการจัดหารายได้ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไปได้

[แก้ไข]
ส่วนที่ 2 ปัญหาของการดำเนินการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัย
        ในทรรศนะของผู้เขียนปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่) มีลักษณะคล้ายคลึงกันและอาจรวบรวมนำเสนอตามลำดับความสำคัญและความยุ่งยากของปัญหาได้เป็น 4 ประการคือ

ปัญหาเรื่องความไม่แน่ชัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย
ปัญหาในเรื่องการไม่มีรูปแบบและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการ
ปัญหาในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรควบคุมภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ของมหาวิทยาลัย และ
ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่รับผิดชอบดำเนินการในการจัดหารายได้
        ทั้งนี้โดยจะได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นลำดับต่อไป

[แก้ไข] 1. ปัญหาความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย
        ความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้ อาจเกิดขึ้นได้มากในมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหรือที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาทางด้านนิติศาสตร์ หรือที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดเรื่องนั้น ๆ ไว้โดยชัดแจ้ง และมักจะเกิดกับกรณีของการดำเนินการในกิจกรรมประเภทที่จะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมตรวจสอบหรือดูแลเฉพาะเรื่อง อาทิเช่น กรมธนารักษ์ หรือกระทรวงการคลัง เป็นต้น

        หากจะนำกรณีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นตัวอย่าง กิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความลังเลหรือไม่แน่ใจในการดำเนินการมากที่สุดอาจจะได้แก่ การจัดการเรียนการสอนเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่มีลักษณะเป็น “โครงการพิเศษ” ที่มอบให้หน่วยงานไปบริหารการเงินเอง หรือ การจัดตั้งหน่วยงานนอกระบบราชการขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนโดยตรง ดังเช่นกรณีสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กับการจัดหารายได้หรือผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่

        สภาพของปัญหาประเภทนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยไม่มีความมั่นใจว่าโดยขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งและโดยบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีความรับผิดชอบดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยตรงอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยจะยังคงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้โดยชอบ และไม่ละเมิดบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่อีกหรือไม่

        ผู้เขียนไม่ได้ศึกษารายละเอียดในกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย แต่เมื่อได้พิจารณาบทกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยจำนวนมาก (ซึ่งมักจะมีเนื้อหาทำนองเดียวกันและลอกเลียนเนื้อความต่อ ๆ กันมา) แล้ว ผู้เขียนใคร่ขอเสนอข้อความคิดในทางกฎหมายในลักษณะรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไว้สำหรับปัญหาทางกฎหมายดังกล่าว สองประการดังนี้

        ประการแรก มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีพระราชบัญญัติเฉพาะของตนเองที่กำหนดให้มีการบริหารในรูปของผู้บริหารอันได้แก่อธิการบดีกับองค์กรที่กำหนดนโยบาย ควบคุมการเงินการบริหารและวางระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ อันได้แก่ สภามหาวิทยาลัย/สภาสถาบัน ซึ่งองค์กรหลังนี้ได้รับมอบหมายโดยกฎหมายให้มีอำนาจวางกฎระเบียบ ข้อบังคับในเรื่องต่าง ๆ ไว้ในลักษณะที่เป็น “อำนาจทั่วไป” ภายในกรอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยได้โดยมีฐานะเป็น “กฎหมายลำดับรอง”

        ดังนั้นสภามหาวิทยาลัยจึงมีอำนาจในการกำหนดระเบียบข้อบังคับในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรของมหาวิทยาลัย การบริหารงาน การเงิน ตลอดไปจนถึงการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตราบเท่าที่การดำเนินการนั้นๆ เป็นไปภายในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัย

        แม้จะมีฐานะเทียบเท่า “กรม” ในระบบบริหารราชการแผ่นดินแต่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เป็นกรมประเภทเดียวที่มีสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารและไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาขององค์กรอื่นใดมีอำนาจตรากฎหมายลำดับรองขึ้นใช้บังคับได้เอง กับทั้งมีอำนาจบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายพิเศษของมหาวิทยาลัยเองอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินอีกด้วย

        ประการที่สอง ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งนั้น ๆ ต้องถือว่าพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็น “กฎหมายเฉพาะ” ในขณะที่กฎหมายที่ให้อำนาจส่วนราชการอื่น ๆ ในเรื่องทำนองเดียวกันนั้นเป็น “กฎหมายทั่วไป” ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายที่ว่า “กฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป” เสมอ ดังที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยตีความมาแล้วว่าการที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้อำนาจมหาวิทยาลัยในการ “ปกครอง ดูแล รักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ” ย่อมเป็นการยกเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุที่ให้กรมธนารักษ์ดูแลรับผิดชอบบริหารจัดการและจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุนั่นเอง

        ข้อสรุปสำหรับเรื่องนี้ก็คือ หากพิจารณาจากหลักการในเรื่องความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่สะท้อนจากการกำหนดโครงสร้างบริหารงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยดังที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่นที่เป็นอยู่นี้แล้ว ย่อมต้องถือว่าการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่อยู่ขอบเขตอำนาจหน้าที่ดังปรากฏอยู่ในกฎหมายจัดตั้ง เป็นการกระทำที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และมหาวิทยาลัยโดยสภามหาวิทยาลัยย่อมมีอำนาจในการกำหนดระเบียบข้อบังคับสำหรับดำเนินกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้ได้เอง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบของการจัดตั้งหน่วยงานถาวรของมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการขึ้นรองรับการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี การจัดหาและจัดเก็บรายได้จากการหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่มหาวิทยาลัยครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ไว้ได้เอง หรือการวางระเบียบข้อบังคับที่ให้อำนาจหน่วยงานต่าง ๆ บริหารจัดการในทางงบประมาณและการเงินในการดำเนินโครงการจัดหารายได้ต่าง ๆ เอง เป็นต้น

[แก้ไข] 2. ปัญหาในเรื่องรูปแบบและแนวทางในการดำเนินการจัดหารายได้
        มหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจจะมีวิสัยทัศน์และมีทรัพยากรในทางวิชาการที่มีศักยภาพสูง แต่อาจลังเลที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมในการจัดหารายได้ที่มีลักษณะชัดเจน หรืออาจจะลังเลที่จะจัดตั้งองค์กรขึ้นมารองรับการดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายได้อย่างถาวร เพราะขาดแนวทางที่จะเป็นตัวอย่างในการวางรูปแบบโครงสร้างองค์กรและการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตลอดจนความสัมพันธ์กับองค์กรอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยขององค์กรจัดหารายได้เหล่านี้

        ปัญหาความไม่ชัดเจนในแนวทางที่จะดำเนินการเช่นนี้มักเกิดขึ้นเสมอในขณะเมื่อจะมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นเพื่อจัดทำกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย เพราะประเด็นปัญหาสำคัญที่จะต้องตัดสินใจในการจัดตั้งองค์กรเช่นนี้ก็คือ รูปแบบขององค์กร การบริหารองค์กร การตรวจสอบ ควบคุม ความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย ตลอดทั้งแนวทางปฏิบัติในทางงบประมาณ และการบัญชีขององค์กร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความชัดเจนในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่แรกในขั้นของการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรจัดหารายได้เหล่านี้ขึ้น

        เมื่อศึกษากรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ริเริ่มและประสบกับปัญหาในการกำหนดแนวทางอำนาจหน้าที่ กำหนดความสัมพันธ์ตลอดทั้งการควบคุมตรวจสอบของมหาวิทยาลัยในกรณีที่มีการจัดตั้งระบบหรือองค์กรที่มีกิจกรรมในเชิงการจัดหารายได้เหล่านี้มาแล้วในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมให้บริการทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยดังเช่นการบริหารจัดการโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ศูนย์หนังสือ หรือการจัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นรับผิดชอบการเรียนการสอนดังเช่นกรณีสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร หรือการจัดวางระบบมาตรฐานสำหรับการจัดกิจกรรมโครงการเลี้ยงตัวเองในลักษณะของการจัดการฝึกอบรมหรือสัมมนาเป็นต้น

        การจัดวางระบบหรือจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ซึ่งมีความจำเป็นต้องค้นหา “แนวทาง” การวางโครงสร้างการดำเนินงานและการกำหนดวิธีการปฏิบัติในการประสานงานกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดจนกระทั่งมาถึงจุดที่ค่อนข้างมีความลงตัวมากพอสมควรดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานหรือสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ได้ผ่านการฟันฝ่าอุปสรรคและขวากหนามของ “ระบบราชการแบบเดิม” ที่เคยเป็นอยู่มามากพอสมควรจนมีผลทำให้ “การเดินทางสามารถสร้างทางเดินขึ้นได้” ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น การจัดวางระบบหรือแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยจึงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่าการศึกษาจากตัวอย่างและประสบการณ์ที่มีการดำเนินการมาแล้วในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และการนำบทเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้เคยทำการศึกษาและลองผิดลองถูกมาแล้วมาเป็นแนวทางดำเนินการนั่นเอง

[แก้ไข] 3. ปัญหาในเรื่องอำาจหน้าที่ขององค์กรควบคุมภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัย
        องค์กรควบคุมจากภายนอกที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยอาจจะได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และทบวงมหาวิทยาลัยเอง

        ในกรณีของ สตง. นั้นความเกี่ยวข้องสำคัญอยู่ที่ การที่ สตง. มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทุกประเภทของมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน และทั้งที่เป็นงบประมาณรายจ่ายจากรายได้พิเศษของมหาวิทยาลัยเองด้วย ดังนั้น สตง. จึงมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายของเงินที่มาจากกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยได้ทุกประเภท

        แต่เนื่องจาก สตง. ถูกกำหนดให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และสภามหาวิทยาลัยก็มีอำนาจตราระเบียบข้อบังคับสำหรับใช้บังคับกับเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเองได้ตามกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัย ดังนั้นการตรวจสอบการใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยจึงจำต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินที่สภามหาวิทยาลัยวางระเบียบไว้ ซึ่งก็หมายความว่าในการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีระเบียบที่ออกโดยสภามหาวิทยาลัยมารองรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ นั่นเอง

        ในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะถาวรนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัย (อาทิเช่นกรณีสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร) ระเบียบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดให้มีการตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุาตเพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานก่อนรายงานสภามหาวิทยาลัยด้วย ส่วนการดำเนินกิจกรรมหารายได้อื่น ๆ ก็จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของการใช้จ่ายเงินโดยผู้ตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งขึ้น โดยไม่มีข้อยกเว้น

        สำหรับการตรวจสอบของสำนักงาน ก.พ. และกรมบัญชีกลางนั้น ในกรณีที่การดำเนินกิจกรรมเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยไม่มีการขอกำหนดอัตราบุคลากรเพิ่มขึ้นหรือขอใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน หรือมิได้นำเงินงบประมาณที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการ ความเกี่ยวข้องของหน่วยงานตรวจสอบทั้งสองนี้ต่อกิจกรรมการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยก็มักจะไม่ปรากฏขึ้น

        สำหรับทบวงมหาวิทยาลัย กิจกรรมในการจัดหารายได้ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน “เจ้าสังกัด” ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นี้ ก็คือการจัดการเรียนการสอนเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร กับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่อิงอยู่กับระบบราชการ ซึ่งมีความจำเป็นในเรื่องการกำหนดให้มีแผนการจัดการเรียนการสอนหรือแผนการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาการศึกษา ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ด้วยอีกทั้งในกรณีการจัดกิจกรรมประเภทการเรียนการสอนหลักสูตรการศึกษานั้น ๆ จะต้องได้รับอนุมัติหลักสูตรจากทบวงมหาวิทยาลัยเสียก่อนด้วย โดยในปัจจุบันนี้ทบวงมหาวิทยาลัยก็ได้มอบอำนาจอนุมัติหลักสูตรนี้ไว้กับสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้เป็นผู้อนุมัติในนามทบวงมหาวิทยาลัยได้แล้ว ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องแจ้งให้ทบวงมหาวิทยาลัยทราบการอนุมัติหลักสูตรของสภามหาวิทยาลัยก่อนการเริ่มดำเนินการสอนและจะต้องปรากฏหลักสูตรดังกล่าวอยู่ในแผนพัฒนาการศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยด้วย

        การติดต่อประสานงานกับทบวงมหาวิทยาลัยในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้สามารถดำเนินการไปในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาปกติของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

[แก้ไข] 4. ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่รับผิดชอบในการดำเนินการ
        แม้ว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมีบุคลากรที่มีคุณภาพในทางวิชาการและมีทรัพยากรที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้ แต่ปัญหาร่วมประการหนึ่งที่มักจะพบเป็นเสมอคือการขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้

        ภาระรับผิดชอบในการบริหารโครงการต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นการหารายได้เหล่านี้มีความหลากหลาย และมีปริมาณงานไม่น้อย นับตั้งแต่การดำเนินการในทางงบประมาณ การวางแผนการเงิน การจัดทำบัญชี การประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน การบริหารบุคลากรตลอดไปจนถึงปัญหาด้านการบริหารทางวิชาการหรือการดูแลรักษาวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์หรือแม้กระทั่งอาคารสถานที่ของโครงการ

        ยิ่งขนาดของการจัดกิจกรรมเพื่อจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยใหญ่โตมากขึ้นเพียงใด ความต้องการบุคลากรก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและในด้านคุณภาพ จนกระทั่งวิธีการที่มอบหมายให้บุคลากรในระบบราชการอันได้แก่ อาจารย์และข้าราชการของมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบจัดการในกิจกรรมต่าง ๆ โดยให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ก็จะถึงจุดอิ่มตัวที่จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเริ่มเกิดอุปสรรคในเรื่องปริมาณงานในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น

        แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ที่ได้ดำเนินการกันอยู่ในหลายมหาวิทยาลัยก็คือ การจ้างบุคลากรพิเศษของมหาวิทยาลัยเพื่อรับผิดชอบงานลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการเฉพาะแทนบุคลากรประจำที่มีอยู่ แต่แนวทางนี้ก็มักจะนำไปสู่ปัญหาในเรื่องอื่นๆ อีก อาทิเช่น ปัญหาการจัดความสัมพันธ์และการบังคับบัญชาระหว่างบุคลากรเดิมในระบบราชการกับบุคลากรใหม่ในระบบการจ้างหรือในกรณีที่มีขนาดของโครงการใหญ่มากก็อาจจำต้องมีการวางระบบบริหารบุคลากร ระบบเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรมาจากการจ้างเหล่านี้เป็นภาระงานเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งในหลายหน่วยงาน (อาทิเช่นในบางคระของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) บุคลากรที่จ้างมาเป็นพิเศษเหล่านี้มีจำนวนใกล้เคียงหรืออาจมากกว่าบุคลากรประจำที่เป็นข้าราชการด้วยซ้ำ ซึ่งก็จะส่งผลให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ มาจัดการกับปัญหาการบริหารบุคลากรเหล่านี้อีกด้วย

        การจัดการปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและการจัดการกับปัญหาอื่นที่อาจเกิดตามมาในการจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยเช่นนี้ ย่อมสามารถดำเนินการแก้ไขให้ได้โดยการศึกษาแนวทาง และบทเรียนของหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เคยประสบปัญหาเหล่านี้มาก่อน และไม่มีแนวทางอื่นใดในการดำเนินการในเรื่องนี้ที่ดีไปกว่าการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวในระหว่างมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเท่านั้นเพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ที่ทำอยู่ในมหาวิทยาลัยหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ได้

        การดำเนินกิจกรรม การวางระบบและการจัดองค์กรเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัยไทยที่ได้นำเสนอกรณีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัญหาในการดำเนินการในเรื่องนี้ที่อาจเกิดขึ้นสำหรับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปภายใต้กรอบความคิดหลักที่ว่ามหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นอิสระ และความเป็นอิสระในทางวิชาการหรือในทางบริหารของมหาวิทยาลัยจะมีอยู่ไม่ได้ หากมหาวิทยาลัยไม่มีความเป็นอิสระในทางการเงินและมีงบประมาณในส่วนของตนเองเสียก่อน

        แม้ว่ารายได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจะมีสัดส่วนที่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับ แต่โดยที่รายได้ส่วนนี้เป็นรายได้ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีอำนาจจัดการและบริหารได้เองอย่างเต็มที่ ดังนั้น รายได้พิเศษของมหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงเป็นดัชนีที่บ่งชี้ขอบเขตความเป็นอิสระที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง และย่อมเป็นที่คาดหวังด้วยว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะสามารถทำให้ดัชนีที่แท้จริงของความเป็นอิสระนี้มีค่าสูงมากขึ้นในแต่ละปี

        โดยเหตุดังกล่าวการนำเสนอรูปแบบและแนวทางการจัดหารายได้ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งประสงค์จะนำเสนอเป็นกรณีศึกษา และเป็นตัวอย่างของการดำเนินการที่เป็นไปได้ที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำไปพิจารณาปรับปรุงหรือริเริ่มการดำเนินกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการจัดหารายได้เช่นนี้ขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่มุ่งจะพัฒนาและยกระดับความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยไทยโดยส่วนรวมนั่นเอง


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย