การตายทางการแพทย์กับการยอมรับของกฎหมายไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
www.dtl-law.com การตายทางการแพทย์กับการยอมรับของกฎหมายไทย

การตายทางการแพทย์กับการยอมรับของกฎหมายไทย
_____________________________________

        เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ได้มีคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องคณะแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและข้อหาอื่น ๆ โดยศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย และขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

        อย่างไรก็ดี ในคำพิพากษาที่ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการวินิจฉัยถึงการตายในทางการแพทย์คือการยอมรับว่าผู้ป่วยที่ "แกนสมองตาย" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "สมองตาย" (braindeath) นั้นเป็นบุคคลที่ตายแล้วในทางกฎหมายน่าเชื่อว่าคดีนี้คงจะต่อสู้กันถึงศาลฎีกา ซึ่งก็เป็นผลดีเพราะจะได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่าการที่บุคคลอยู่ในสภาพสมองตายนั้นจะถือว่าเป็นบุคคลที่ตายแล้วในทางกฎหมายหรือไม่ และหากแพทย์ยุติการช่วยชีวิตโดยถอดเครื่องช่วยหายใจออกจะมีความผิดทางอาญาฐานหนึ่งใดหรือไม่

        จากคำพิพากษาของศาลอาญาข้างต้นสรุปได้ว่าศาลเห็นว่าผู้ป่วยทั้งสองรายในคดีที่ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บที่ศรีษะแพทย์ตรวจแล้วพบว่าฐานสมองแตกหักและสมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงทำให้แกนสมองเคลื่อนไป มีผลทำให้ผู้ป่วยทั้งสองรายนี้แกนสมองตายไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจแพทย์ประสาทศัลยศาสตร์ตรวจและวินิจฉัยผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ ๒ ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันเกินกว่า ๖ ชั่วโมงเกณฑ์การตรวจและวินิจฉัยสมองตายกระทำ โดยการตรวจสมองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของแพทยสภาว่าด้วยเรื่องเกณฑ์การตรวจและวินิจฉัยสมองตายพบว่าผู้ป่วยทั้งสองรายนี้แกนสมองตาย ไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจอย่างแน่นอนแม้หัวใจยังเต้นอยู่ก็โดยอาศัยเครื่องช่วยหายใจ มิได้เต้นเองตามธรรมชาติถือได้ว่าการดำรงอยู่ของชีวิตผู้ป่วยทั้งสองรายนี้สิ้นสุดลง กล่าวคือผู้ป่วยทั้งสองรายนี้สิ้นชีวิตหรือถึงแก่ความตายตั้งแต่ครั้งแรกที่ไม่หายใจแล้ว และโจทก์ไม่มีหลักฐานใดมานำสืบแสดงให้เห็นได้ว่ามีการใช้ยาหรือหากมีการทำโดยประการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยทั้งสองรายนี้แกนสมองตายโดยเจตนา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ประสบอุบัติเหตุและถึงแก่ความตายแล้วก่อนจะมีการผ่าตัดนำอวัยวะออกไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

        ปัญหาการตายทางการแพทย์ที่เรียกว่าสมองตายนี้ได้เกิดขึ้นมาช้านานแล้วและในทางปฏิบัติแพทย์ก็จะยุติการช่วยชีวิตผู้ป่วยเพื่อปล่อยให้ตายโดยสงบ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากความยินยอมของญาติผู้ป่วยด้วย แต่ในทางกฎหมายก็ยังข้อโต้เถียงกันอยู่ตลอดมาว่าการตายทางการแพทย์เช่นนี้ จะถือว่าเป็นการตายทางกฎหมายด้วยหรือไม่ เพราะหากทางกฎหมายไม่ยอมรับว่าเป็นการตายด้วยโดยถือว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ ก็จะทำให้แพทย์เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่ากระทำการที่มีโทษรุนแรง นั่นคือความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดฆ่าผู้อื่นมีความผิดต้องรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกินยี่สิบปี" และหากเป็นการฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุอุกฉกรรจ์ตามมาตรา ๒๘๙ เช่น ฆ่าผู้อื่นด้วยโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฯลฯ ก็จะมีความผิดต้องระวางโทษหนักยิ่งขึ้นคือประหารชีวิตสถานเดียว

        อนึ่ง แม้การยุติการช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยโดยการถอดเครื่องมือต่าง ๆ ออกจะมิใช่เป็นการลงมือฆ่าโดยตรง แต่แพทย์ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยการละเว้นการกระทำตามมาตรา ๕๙ วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า

        "การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย" เพราะบุคคลทั่วไปยังมีความคิดกันว่าแพทย์มีหน้าที่ต้องช่วยชีวิตผู้ป่วย หากแพทย์ยุติการช่วยชีวิตเพื่อป้องกันการตายก็อาจถือว่าเป็นการหระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยการละเว้นการกระทำได้เช่นกัน

        ในขณะที่ยังมีการโต้แย้งกันในทางหลักวิชาการแพทย์ซึ่งถือว่าผู้ป่วยสมองตายคือผู้ที่ตายแล้วในทางการแพทย์ กับหลักวิชานิติศาสตร์ที่ยังไม่ยอมรับกันว่าการตายโดยอาการสมองตายนั้น เป็นการตายแล้วอย่างแท้จริงกล่าวคือในทางกฎหมายนี้มีหลักถือมาช้านานในการพิสูจน์ความตายของบุคคลก็คือ ต้องตายตามธรรมชาติโดยหมดลมหายใจและหัวใจหยุดเต้นอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของรัฐและของเอกชนก็ยังมีความจำเป็นต้องยุติการรักษาคนไข้สมองตายต่อไป ด้วยเหตุผลที่อาจสรุปได้ดังนี้

        ประการแรก เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์เนื่องจากผู้ป่วยประเภทนี้อยู่ในสภาพสิ้นหวังที่จะรักษาให้ฟื้นคืนเป็นบุคคลปกติได้ การรักษาโดยการช่วยต่อชีวิตไปไม่มีที่ยุติย่อมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าปกติอย่างแน่นอน

        ประการที่สอง เป็นเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชนเพราะการที่บุคคลหนึ่งที่มีอาการสมองตายและมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยชีวิตไปตลอดชีวิตนั้น ย่อมก่อให้เกิดความทุกขเวทนามากกว่าจะเกิดประโยชน์แก่บุคคลนั้นเอง และมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปล่อยให้เขาหมดสภาพบุคคลไปน่าจะเหมาะสมยิ่งกว่า

        ประการที่สาม เป็นเหตุผลความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ตับ ไต หัวใจ ฯลฯ เพื่อนำอวัยวะจากผู้ที่มีอาการสมองตายไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่รอการรักษา ซึ่งต้องทำให้ผู้ป่วยสมองตายนั้นสิ้นชีวิตเพื่อต่อชีวิตผู้อื่น

        การวินิจฉัยว่าผู้ใดมีอาการสมองตายหรือไม่นั้น แต่เดิมไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาจะวินิจฉัยและตัดสินใจตามที่เห็นสมควร แต่ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้แถลงการณ์ว่าได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับคนไข้โรคหัวใจที่รอการบริจาคอยู่เป็นรายแรกของประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยได้หัวใจจากผู้ป่วยสมองตายที่ยุติการช่วยชีวิตความยินยอมของญาตินับเป็นความสำเร็จทางการแพทย์ไทยอันน่าภาคภูมิใจยิ่ง ขณะเดียวกัน ก็เกิดข้อวิตกกังวลในทางกฎหมายขึ้นมาว่า การที่ทำให้ผู้ป่วยสมองตายต้องหมดชีวิตลงเพื่อนำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นนั้น จะเกิดปัญหาในทางกฎหมายแก่แพทย์ที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในความผิดต่อชีวิตหรือไม่ประการใด

        ดังนั้น จึงได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งใหญ่ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเรื่องนี้ ที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย อาทิ แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มศาสนา ทนายความ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ฯลฯ โดยทางแพทย์ยืนยันว่าผู้ที่สมองตายนั้นถือว่า เป็นการตายแล้วและแพทย์สามารถยุติการรักษาชีวิตเพื่อนำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายต่อไปได้ ส่วนทางนักกฎหมายจำนวนหนึ่งยอมรับว่าผู้ป่วยสมองตายนั้นถือว่าตายแล้ว แต่จำนวนหนึ่งก็ยังเห็นว่าน่าจะเป็นการตายธรรมชาติทั่วไปอย่างแท้จริง ส่วนการตายด้วยภาวะสมองตายนั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนที่จะวินิจฉัยและอาจเกิดการยุติชีวิตผู้ป่วยโดยอ้างว่าอยู่ในสภาวะสมองตายโดยไม่สมควรหรือมีเหตุผลแอบแฝงจึงหาข้อยุติไม่ได้

        ในที่สุดผู้เขียนซึ่งได้ร่วมการสัมมนาด้วยจึงเสนอว่าเมื่อทางแพทย์ยืนยันว่าผู้ที่สมองตายนั้นถึงแก่ความตายแล้วและจำเป็นต้องยุติการช่วยชีวิตผุ้ป่วยด้วยเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยกรณีสมองตาย แพทยสภาเป็นองค์กรที่ควบคุมดูการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็ควรมีบทบาทในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดสมองตายซึ่งควรยุติการช่วยชีวิตโดยแพทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เป็นระบบและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองในทางกฎหมายแก่แพทย์ผู้ทำการยุติการช่วยชีวิตผู้ป่วยและเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยมิให้ต้องถูกยุติชีวิตด้วยเหตุผลอันไม่สมควร

        ต่อมา แพทยสภาได้ออก "ประกาศแพทยสภาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย" ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ กำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่า เมื่อใดจึงจะถือว่าผู้ป่วยมีอาการสมองตายเช่นต้องไม่รู้สึกตัวและอยู่ในเครื่องช่วยหายใจและต้องทำการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอีกว่าจะไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๒ ชั่วโมง จึงจะถือได้ว่าสมองตาย ส่วนวิธีการปฏิบัติในการวินิจฉัยสมองตายนั้นต้องกระทำโดยคณะแพทย์ไม่น้อยกว่า ๓ คน และต้องไม่ประกอบด้วยแพทย์ผู้จะกระทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะรายนั้น โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้รับมอบหมายต้องลงนามรับการวินิจฉัยสมองตาย และรับรองการตายด้วย และต่อมาแพทยสภาได้ออกประกาศฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๙ กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องการวินฉัยและการทดสอบว่าผู้ใดสมองตายอย่างแท้จริง รวมทั้งลดระยะเวลาการตรวจสอบจาก ๑๒ ชั่วโมง เป็น ๖ ชั่วโมง จึงจะถือว่าสมองตาย

        อนึ่ง ผู้ป่วยที่สมองตายและแพทย์ได้ทำการยุติการช่วยชีวิตแล้วนั้น สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ตาม "ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกรรม พ.ศ.๒๕๒๓" ข้อ๓ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย

        จากหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศของแพทยสภาและการนำอวัยวะของผู้ป่วยสมองตายที่แพทย์ยุติการช่วยชีวิตไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ตามข้อบังคับของแพทยสภาดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงกำหนดหลักเกณฑ์ทางการแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าแพทย์ดังกล่าวให้ทำการยุติการช่วยชีวิตผู้ป่วยสมองตายคนใดแล้วนำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ นั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้หรือไม่ แต่ยังเป็นเพียง "ข้อเท็จจริง" เพราะว่าข้อบังคับหรือประกาศของแพทยสภานั้นมิใช่กฎหมายโดยตรงเพียงแต่ออกโดยอำนาจของกฎหมายเท่านั้นยังไม่อาจใช้เป็นข้อยกเว้นทางกฎหมายโดยตรงในความผิดต่ชีวิตตามมาตรา ๒๘๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่อย่างน้อยก็เกิดผลในทางกฎหมาย คือ หากแพทย์ผู้ใดได้ยุติการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยสมองตายถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดก็ย่อมยืนยันในข้อเท็จจริงว่า แพทย์ผู้นั้นกระทำการด้วยความสุจริต (goodfaith) มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ป่วยเหมือนผู้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา ๒๘๘ หรือมาตราการ ๒๘๙ ของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อพนักงานสอบสวนพนักงานอัยการ และศาลจะได้นำไปประกอบการพิจารณาว่าสมควรฟ้อง หรือสมควรลงโทษแพทย์ผู้นั้นหรือไม่ประการใด

        ดังนั้น หากมีการร้องเรียนกล่าวหาในทางคดีอาญา หรือ คดีแพ่งว่าแพทย์ผู้ทำการยุติชีวิตผู้ป่วยที่สมองตายกระทำการอันมิชอบ เช่น ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่แพทย์สภากำหนด หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนหรือกระทำโดยประมาทหรือการยุติชีวิตผู้ป่วยนั้น ๆ กระทำโดยมีเหตุผลอื่นแอบแฝงและจากการสอบสวนคดีอาญามีมูลน่าเชื่อว่าอาจจะเกิดการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงก็อาจจำต้องฟ้องแพทย์ผู้ยุติการช่วยชีวิตผู้ป่วยสมองตายเพื่อพิสูจน์ในศาลต่อไป

        อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ....ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษตามร่างมาตรา ๑๐ มีข้อความว่า

        "บุคคลมีสิทธิทำคำสั่งเป็นหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อยึดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

        การทำเช่นการตามคำสั่งตามวรรคแรกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

        ร่างกฎหมายมาตรานี้อาจจะผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่หรือจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในชั้นที่สุดประการใดก็ต้องคอยติดตามผลการพิจารณาต่อไป แต่ก็นับเป็นก้าวใหม่ของกฎหมายไทยเริ่มมีการยอมรับการตายโดยทางการแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้ยุติการช่วยชีวิตของบุคคลอย่างเป็นทางการได้ อนึ่ง เมื่อพิจารณาข้อความในร่างมาตรา ๑๐ เท่า ที่ปรากฏในปัจจุบันดังกล่าว เห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับการทำ "พินัยกรรมชีวิต" (Living will) ในต่างประเทศ กล่าวคือบุคคลสามารถทำหนังสือกำหนดการตายของตนโดยทางการแพทย์ไว้ได้ล่วงหน้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และใช้ครอบคลุมได้ทั้งกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสมองตายและที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ แต่ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยของตน สำหรับการตายประการหลังนี้น่าจะหมายความว่า กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาพสมองตาย แต่ไม่ต้องการทรมานจากการเจ็บป่วยต่อไปเช่นเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายจะใช้วิธี "ปฏิเสธรับการรักษาจากแพทย์เพื่อช่วยชีวิต" ได้ เพราะที่อังกฤษได้เคยเกิดคดีขึ้นแล้วเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๕ ศาลสูงของอังกฤษได้พิพากษายอมให้คนไข้สตรีซึ่งป่วยหนักเป็นอัมพาตครึ่งตัวและมีชีวิตอยู่ในห้องไอซียูโดยแพทย์ใช้ท่อช่วยหายใจไว้ให้มีสิทธิตายตามประสงค์ของผู้ป่วย และพิพากษาให้แพทย์ชดใช้เงิน ๑๐๐ ปอนด์ แก่เธอฐานใช้เครื่องช่วยหายใจล่วงล้ำในตัวเธอโดยเธอไม่ยินยอมอีกด้วย และการยุติการทรมานของผู้ป่วยโดยแพทย์ตามรางมาตรา ๑๐ นี้จะถึงขั้นยอมให้แพทย์ลงมือปลิดชีวิตให้ เช่น ด้วยการฉีดยาพิษให้ตายซึ่งเรียกว่า "การฆ่าด้วยการความกรุณา" หรือไม่เพราะปัจจุบันมีบางประเทศ เช่น รัฐสภาเนเธอร์แลนด์เพิ่งลงมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ให้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะนี้ได้โดยให้มีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา

        อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎหมายรับรองการตายโดยทางการแพทย์ไว้อย่างเป็นทางการก็ตามแพทย์และโรงพยาบาลก็ต้องระมัดระวังควบคุมดูแลให้การปฏิบัติได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด หากกระทำโดยประมาทหรือโดยที่ยังไม่มีเหตุสมควร หรือโดยมีเหตุผลอื่นแอบแฝง ก็อาจเกิดปัญหาทางคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง (กรณีโรงพยาบาลของรัฐ) ติดตามมาได้เสมอ จึงขอฝากเป็นข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

 

--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.dtl-law.com

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย