วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

การตีความเอกสาร
        เอกสารที่คู่ความอ้างเป็นพยานในศาลนั้น บางฉบับอาจจะทำความหนักใจให้แก่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีอยู่บ้าง หากข้อความในเอกสารนั้นกำกวม ไม่ชัดเจน หรือมีความหมายหลายนัยจนไม่อาจหยั่งทราบได้ว่าผู้ทำเอกสารนั้นมีความประสงค์เช่นไร และการที่จะนำพยานบุคคลมาสืบอธิบายข้อความในเอกสารนั้นบางครั้งก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะหาตัวผู้ทำเอกสารไม่พบ หรือตัวผู้ทำเอกสารตายไปเสียก่อนแล้ว หรือหาตัวบุคคลที่จะมาอธิบายข้อความนั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของศาลเองที่จะต้องตีความว่าเอกสารนั้นมีความหมายเช่นไร

        การตีความหมายนั้นไม่ควรจะถือเอาตามความคิดเห็นโดยลำพังของผู้พิพากษาแต่ละท่าน แต่ควรอาศัยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามแนวคำพิพากษาที่ศาลสูงได้วางไว้เป็นหลัก ถ้าหลักเกณฑ์นั้นยังไม่เพียงพอ ก็ควรถือเอาหลักการตีความที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ได้วางไว้เป็นแนวทางประกอบอีกทางหนึ่งด้วย

        การตีความเอกสารนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเสมอไป ศาลจะตีความก็ต่อเมื่อข้อความในเอกสารนั้นไม่ชัดเจน เคลือบคลุม กำกวม หรือมีความหมายเป็นหลายนัยดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าเอกสารใดมีข้อความชัดเจนอยู่แล้ว ก็หาจำต้องมีการตีความไม่

        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นแม่บทใหญ่ในทางแพ่งได้วางหลักเกณฑ์การตีความเอกสารไว้ดังต่อไปนี้

        1. เมื่อข้อความใดอาจตีความได้เป็นสองนัย (หรือหลายนัย) นัยไหนที่จะมีผลบังคับได้ ก็ให้ตีความเอานัยนั้น ตัวอย่างเช่น เอกสารมีข้อความว่าจำเลยได้ยืมเงินโจทก์ไป ข้อความเช่นนี้ยังไม่พอชัดว่าจำเลยได้รับเงินตามที่ยืม ไปแล้วหรือยัง แต่ถ้าจะตีความว่ายืมเงินไปโดยยังมิได้รับเงินนั้นไปก็ดูจะไม่มีผล เพราะผู้ที่ยืมเงินควรจะได้รับเงินไปแล้วจึงเขียนข้อความนั้นไว้ให้ ในกรณีเช่นนี้จึงควรตีความว่า จำเลยได้รับเงินที่ยืมนั้นแล้ว เพราะเป็นการตีความตามนัยที่มีผลกว่า

        การตีความเพื่อให้เป็นผลบังคับได้นี้ ในบางกรณีอาจจะต้องพิจารณาถึงวิธีปฏิบัติซึ่งคู่สัญญาได้ทำต่อกันตลอดมาเป็นเครื่องประกอบด้วย เช่นสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า “การค้ำประกันนี้มีผลใช้สำหรับระหว่างเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่ลงในสัญญาค้ำประกันนี้เป็นต้นไป” ปรากฏว่าโจทก์และลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) มีการค้าน้ำมันต่อกันโดยวิธีเปิดบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้ และคิดเอาจำนวนสินค้าที่ลูกหนี้ได้รับหักกับเงินที่ชำระแล้ว และภาชนะที่ส่งคืนเป็นคราว ๆ ติดต่อกันไป ผู้ค้ำประกันเคยต้ำประกันมาแล้ว 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งระบุจำนวนน้ำมันกี่ถัง ภายในวงเงินเท่าใด ดังนี้ต้องวินิจฉัยว่าระยะเวลา 2 เดือนนั้นหมายถึงระยะ 2 เดือนที่ลูกหนี้รับน้ำมันไปจากโจทก์ ไม่ใช่ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายใน 2 เดือนแล้ว ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้น

        2. เมื่อมีข้อสงสัยต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่าายที่จะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ ตัวอย่าง เช่น จำเลยยืมเงินโจทก์ไปหลายคราว ๆ ละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 500 บาท จำเลยที่ 2 – 3 – 4 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า “ด้วยนายจือซัน (จำเลยที่ 1) ยืมเงินของท่านไป 50 บาท เงินรายนี้เมื่อนายจือซันไม่นำต้นเงินมาส่งใช้ให้แก่ท่านตามกำหนดสัญญาด้วยประการใด ผู้เป็นนายประกันยอมรับใช้เงินจำนวนนี้ให้ท่านจนครบ” ปัญหามีว่านายประกันจะต้องรับผิดในหนี้เพียง 50 บาท หรือ 500 บาท ที่นายจือซันยืมไปจากโจทก์ทั้งหมด ศาลฎีกาพิพากษาว่าต้องตีความว่า ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียง 50 บาท เท่านั้นเพราะเป็นผู้ที่จะต้องเสียในมูลหนี้

        สัญญาย่อมมีว่า โจทก์ยอมให้ที่พิพาทหมายเลข 3 กับที่พิพาทหมายเลข 1 กับที่หมายเลข 2 โจทก์จำเลยตกลงแบ่งกันคนละครึ่ง ต้องตีความว่าโจทก์ยกที่ดินหมายเลข 3 และ 1 ให้จำเลย แต่หมายเลข 2 ให้แบ่งคนละครึ่ง ไม่ใช่ให้แบ่งครึ่งทั้ง 3 แปลง

        ข้อความในเอกสารมีว่า “เงินรายมรดกมารดา ฯลฯ ขอสัญญาว่าจะไม่เกี่ยวข้องมรดกรายนี้” ต้องตีความว่าผู้ให้สัญญาไม่ขอเกี่ยวข้องเฉพาะมรดกที่เป็นเงินเท่านั้น ไม่รวมถึงมรดกที่เป็นที่ดินด้วย

        สัญญากู้กำหนดวันใช้เงินไว้ แต่มีสัญญาซื้อขายรถยนต์อีกฉบับหนึ่ง ระหว่างผู้ใดกู้และผู้กู้มีข้อความว่า เงินกู้รายนั้นให้ใช้คืนเมื่อผู้ให้กู้โอนทะเบียนรถให้ผู้กู้แล้ว 60 วัน ต้องตีความสัญญากู้และสัญญาซื้อขายประกอบกัน และต้องตีความว่าวันครบกำหนดที่ผู้กู้จะใช้เงินคืนวันครบ 60 วันนับตั้งแต่วันโอนทะเบียนรถ เพราะเป็นคุณแก่ผู้กู้

        3. ถ้าในเอกสารลงจำนวนไว้ทั้งตัวเลขและตัวอักษร และตัวเลขกับตัวอักษรไม่ตรงกัน ทั้งไม่มีทางจะรู้ถึงเจตนาอันแท้จริงของผู้ทำเอกสารนั้นได้แล้ว ต้องตีความโดยถือเอาจำนวนที่เป็นตัวอักษรว่าถูกต้อง เช่นข้อความมีว่า “ตกลงขายรถยนต์ในราคา 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาท)” ดังนี้ ถ้าผู้ซื้อและผู้ขายเกิดโต้แย้งกัน และไม่มีพยานอื่นที่จะทำให้รู้ราคาขายที่แท้จริงได้ ต้องถือเอาจำนวนตามตัวอักษรเป็นสำคัญ

        4. ถ้าจำนวนในเอกสารมีแต่ตัวเลขอย่างเดียว หรือมีแต่ตัวอักษรอย่างเดียว แต่ตัวเลขหรือตัวอักษรนั้นเขียนไว้หลายแห่งและไม่ตรงกัน เมื่อศาลไม่มีทางรู้ถึงเจตนาอันแท้จริงของผู้ทำเอกสารได้ ต้องตีความตามจำนวนที่น้อยที่สุด เช่นสัญญาเช่ามีว่า “คิดค่าเช่าเดือนละ 500 บาท แต่ถ้าผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเดือนละ 500 บาท เมื่อใดถือว่าสัญญาเช่าระงับทันที” ดังนี้เมื่อไม่มีทางทราบว่าคู่สัญญาตกลงค่าเช่ากันเท่าใดแน่ ต้องถือเอาจำนวน 500 บาท ซึ่งเป็นจำนวนน้อยที่สุด

        5. ถ้าเอกสารทำขึ้นเป็นสองภาษา (หรือกว่านั้น) และภาษาหนึ่งเป็นภาษาไทย นอกนั้นเป็นภาษาอื่น แต่ข้อความในภาษาอื่นกับภาษาไทยไม่ตรงกัน และไม่มีทางจะรู้ว่าคู่สัญญาประสงค์จะให้ใช้ข้อความภาษาใดบังคับ ต้องถือเอาข้อความที่เป็นภาษาไทยบังคับ ถ้าปรากฏจากพยานหลักฐานอื่นหรือจากข้อความในเอกสารนั้นเองว่าคู่สัญญาประสงค์จะให้ใช้ภาษาอื่นบังคับก็ต้องเป็นไปตามนั้น

        6. การตีความเอกสารนั้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของผู้ทำสัญญายิ่งกว่าถ้อยคำตามตัวอักษร หลักเกณฑ์ข้อนี้นัยว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดในการตีความเอกสาร เพราะถ้ารู้ได้ว่าผู้ทำเอกสารมีเจตนาหรือมีความประสงค์เช่นไรในการใช้ถ้อยคำ หรือข้อความนั้น หากจะต้องมีการตีความก็ควรต้องตีความไปในทางที่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของผู้ทำเอกสารนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามการค้นหาเจตนาของผู้ทำเอกสารนั้นจะต้องทำก็ต่อเมื่อข้อความที่ปรากฏนั้นไม่ชัดเจนพอ ถ้าข้อความนั้นชัดเจนแน่นอนอยู่แล้วก็ต้องถือตามข้อความนั้น จะอ้างว่าผู้ทำเอกสารมีเจตนาเป็นอย่างอื่นมิได้ เพราะมีหลักอยู่ว่าผู้พูดหรือผู้เขียนย่อมพูดหรือเขียนในสิ่งที่ตนประสงค์

        ตัวอย่างเช่น สัญญายอมความมีว่า “โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าอยู่ต่อไปอีก 1 ห้อง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี” ปัญหามีว่าข้อความที่ว่า “ให้จำเลยเช่าอยู่ต่อไป” นั้น จะหมายถึงให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยต่อไปหรือจะหมายถึงให้เช่า (เพื่อทำอะไรก็ได้) ต่อไปโดยคำว่าอยู่เป็นเพียงประกอบคำว่าต่อไปเท่านั้น ไม่ใช่ประกอบคำว่าเช่า ดังนี้ต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาของผู้ให้เช่าและผู้เช่าประกอบด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยเปิดร้านขายน้ำมันและมีปั๊มน้ำมันมาก่อนแล้ว ต้องตีความว่า ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่า เช่าเพื่อการค้าน้ำมันตามเดิมนั่นเองมิใช่เช่าเพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียว

        สัญญาเช่าเรือมีว่า ผู้เช่าต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในความเสียหายที่เกิดแก่เรือที่เช่า เว้นแต่การสึกหรอโดยปกติของการใช้นั้น ปรากฏว่าเรือนั้นได้จมเพราะคลื่นลมจัดอันเป็นเหตุสุดวิสัย จึงมีปัญหาว่าข้อความในสัญญานั้นจะกินความถึงความเสียหายทุกประการที่เกิดขึ้น อันรวมทั้งความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยด้วยหรือไม่ โดยที่ข้อความในสัญญานั้นไม่มีข้อความใดนอกเหนือไปจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 ฉะนั้นจึงแสดงว่าผู้ให้เช่าไม่มีเจตนาจะให้ผู้เช่าต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกกรณี เมื่อความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย ผู้เช่าจึงไม่ต้องรับผิด

        7. การตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริตโดยต้องพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย เช่น ถ้าสัญญาขนส่งมิได้ระบุไว้ว่า ถ้าขนสินค้าไม่เสร็จภายในกำหนดจะต้องเสียค่าเสียเวลาหรือไม่ เมื่อมีปํญหาเกิดขึ้นและคู่สัญญานำสืบได้ว่าประเพณีการขนส่งมีว่าต้องขนสินค้าให้เสร็จใน 7 วัน ถ้าขนไม่เสร็จต้องคิดค่าเสียเวลา 3 วันแรก 50% เพิ่มขึ้นอีก และผู้จ้างกับผู้รับจ้างก็เข้าใจประเพณีนี้ดีอยู่แล้ว ดังนี้ต้องตีความสัญญานั้นว่ากรณีเช่นนี้ผู้จ้างต้องรับผิดตามประเพณีนั้น แต่ถ้าประเพณีนั้นคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ทราบจะนำประเพณีนั้นมาใช้นอกเหนือไปจากข้อความในสัญญามิได้

        8. ถ้าเอกสารนั้นเป็นพินัยกรรม และข้อความในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ต้องตีความตามนัยที่จะให้ผลสมตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ผู้ทำพินัยกรรมมีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสอยู่ 2 คน คนหนึ่งได้เลิกร้างกันไปแล้ว อีกคนหนึ่งยังอยู่กินด้วยกัน และผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมขณะที่อยู่กินกับภริยาคนหลังนี้ว่า “เมื่อตายแล้วให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกได้แก่ภริยาข้าพเจ้า” คำว่า ภริยานี้อาจจะหมายถึงภริยาทั้งสองของผู้ตายก็ได้ แต่โดยที่ผู้ตายทำพินัยกรรมขณะอยู่กินกับภริยาคนหลัง และภริยาคนแรกก็เลิกร้างไปแล้ว จึงต้องตีความว่าผู้ตายเจตนาจะทำพินัยกรรมให้ภริยาคนหลังนี้แต่ผู้เดียว

        9. ถ้าผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้ที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดคุณสมบัติไว้ และมีผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นนั้นหลายคน ถ้าไม่อาจจะหยั่งทราบเจตนาหรือความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมได้แล้ว ต้องตีความว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นนั้นทุกคนมีส่วนได้ทรัพย์ตามพินัยกรรมเท่า ๆ กัน เช่น ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมให้แก่ “หลานข้าพเจ้าที่เป็นตำรวจ” ปรากฏว่าผู้ทำพินัยกรรมมีหลานที่เป็นตำรวจอยู่ 3 คน ดังนี้ต้องตีความว่าทั้งสามคนมีส่วนได้ทรัพย์เท่า ๆ กัน

        นอกจากหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในกรณีที่เอกสารมิได้กล่าวถึงข้อความอย่างหนึ่งอย่างใดไว้ แต่มีกฎหมายบัญญัติข้อความที่มิได้กล่าวถึงนั้นไว้แทนแล้ว การตีความเอกสารนั้นก็ต้องนำข้อความที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นไปเพิ่มเติมเข้าด้วย

        เช่น สัญญากู้กำหนดไว้ว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยให้ แต่จำนวนเท่าใดมิได้เขียนไว้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ได้บัญญัติไว้แล้วว่าในกรณีเช่นนี้ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ฉะนั้นจึงต้องคิดดอกเบี้ยให้ตามที่มาตรา 7 ได้บัญญัติไว้

        ทำสัญญาปลูกอาคารให้เสร็จใน 5 เดือน แต่มิได้ระบุไว้ว่าเดือนหนึ่งถือเอากี่วันเป็นเกณฑ์ ก็ต้องนำ มาตรา 159 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลานับเป็นสัปดาห์ก็ดี เดือนหรือปีก็ดี ท่านให้คำนวณตามปฏิทินในราชการ” มาใช้ กล่าวคือ 5 เดือนนั้น คือ 5 เดือนตามปฏิทิน

        ทำสัญญาซื้อขายที่ดินว่าจะไปจดทะเบียนการซื้อขายในวันที่ 1 คำว่าวันที่ 1 นั้น ต้องตีความว่าภายในเวลาราชการเท่านั้น เพราะเป็นการจดทะเบียนต่อสถานที่ราชการ ทั้งนี้โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 162 บัญญัติไว้ว่า ในทางความในทางราชการ และทางค้าขายนั้น วัน หมายความว่าเวลาทำงานตามปกติ

        ทำสัญญาซื้อข้าวสาร 100 กระสอบ มิได้ระบุว่าเป็นข้าวชนิดใด และไม่ปรากฏว่า ผู้ซื้อและผู้ขายเคยติดต่อซื้อขายข้าวกันมาก่อน ทั้งไม่อาจทราบเจตนาของผู้ซื้อได้ว่าประสงค์ข้าวชนิดใด ก็ต้องนำมาตรา 195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ คือผู้ขายต้องส่งมอบข้าวชนิดปานกลาง

        ที่กล่าวมานี้เป็นหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังหาเพียงพอที่จะทำให้การตีความเอกสารได้ผลไปทุกกรณีไม่ ฉะนั้นจึงควรอาศัยหลักเกณฑ์ที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ได้วางไว้แล้วมาเป็นเครื่องช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย หลักเกณฑ์เช่นว่านี้ จำเป็นต้องอ้างอิงหลักเกณฑ์ของนักกฎหมายต่างประเทศ เพราะได้รับการรับรองมาชำนาญและเป็นสากลแล้ว

        หลักเกณฑ์ต่อไปนี้ ผู้เขียนได้นำมาจากหลักทั่วไป และหลักย่อยในการตีความในหนังสือชื่อ The Construction of Deeds and Statues โดย Sir Charles E. Odgers, M.A.B.C.L., of Middle Temple, Barrister – at – Law

[แก้ไข] หลักทั่วไป
        1. ความหมายของเอกสารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดนั้นจะต้องตีความเอาจากเอกสารนั้นเอง หลักนี้เป็นหลักประการแรกที่ต้องใช้ในการตีความ กล่าวคือการจะค้นหาเจตนาของผู้ทำเอกสารนั้น เบื้องแรกต้องค้นเจตนาเอาจากถ้อยคำหรือข้อความที่ปรากฏในเอกสารนั้นเสียก่อน ทั้งนี้เพราะข้อความหรือถ้อยคำที่แสดงออกนั่นแหละคือเจตนาของผู้ทำเอกสารนั้น หลักมีอยู่ว่า ศาลไม่มีหน้าที่เดาเจตนาของคู่สัญญานอกเหนือไปจากข้อความที่แสดงออก มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าศาลเป็นผู้ทำเอกสารนั้นเสียเอง

        2. ถ้าถ้อยคำที่ใช้ในเอกสารไม่ชัดเจนหรือกำกวม ต้องตีความตามเจตนาของผู้ทำเอกสารนั้น ทั้งนี้หมายความว่าในเบื้องแรกต้องใช้หลักข้อ 1 ก่อน คือค้นหาเจตนาของผู้ทำเอกสารจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ถ้าเจตนาที่ค้นได้นั้นเกิดขัดแย้งหรือไม่ตรงกับถ้อยคำที่ใช้ในตอนใดแล้ว ต้องถือเอาเจตนานั้นเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำ หลักนี้ก็ตรงกับมาตรา 132 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรานั่นเอง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การตีความต้องตีตามถ้อยคำที่ใช้ในเอกสาร แต่ต้องให้สอดคล้อง หรือใกล้เคียงกับเจตนาของผู้ทำเอกสารให้มากที่สุด เช่นผู้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่หลานชายคนหนึ่งและ “บุตรทั้งสามคนของลูกผู้พี่ของข้าพเจ้า” โดยให้ได้รับเท่า ๆ กัน ปรากฏว่า ลูกผู้พี่ของเจ้ามรดกมีบุตรทั้งหมดสี่คนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ และทุกคนก็ถูกกันดีกับเจ้ามรดก ดังนี้ถือว่าเจ้ามรดกมีเจตนาจะยกทรัพย์ให้แก่บุตรทุกคนของลูกผู้พี่นั้น

        การตีความให้ต้องตามเจตนาของผู้กระทำเอกสารนั้น ก็เพื่อให้เจตนาของผู้กระทำบรรลุผล ตามนัยสุภาษิตที่ว่า Ut res magis valeat guam pereat (It is better for a thing to have effect than to be made void) ซึ่งหมายความว่า ตีความให้เป็นผลดีกว่าที่จะตีความให้ไร้ผล อันตรงกับ มาตรา 10 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรา ดังกล่าวมาแล้ว โดยการตีความให้เป็นผลเช่นนี้ ถ้าสัญญาอาจตีความได้เป็นสองนัย นัยหนึ่งชอบด้วยกฎหมาย อีกนัยหนึ่งขัดต่อกฎหมาย ศาลต้องตีความไปตามนัยที่ชอบด้วยกฎหมาย

        3. ถ้อยคำที่ใช้ในเอกสารต้องตีความตามความหมายของถ้อยคำนั้น ๆ ความหมายของถ้อยคำนั้นมิใช่จะถือเอาความหมายตามพจนานุกรม หรือความหมายของนักภาษาศาสตร์ หากแต่ถือเอาความหมายที่รู้กันอยู่ทั่วไปในขณะทำเอกสารนั้นเป็นสำคัญ แต่ถ้าผู้ทำเอกสารนั้นได้ให้ความหมายพิเศษสำหรับถ้อยคำนั้นไว้ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เช่น ถ้อยคำที่ใช้ในการค้าบางประเภทเป็นต้น หรือถ้าผู้ทำเอกสารชอบใช้ถ้อยคำให้มีความหมายแตกต่างไปจากความหมายธรรมดาอยู่เสมอ ก็ต้องตีความไปตามความหมายที่ผู้ทำเอกสารชอบใช้นั้น

        การตีความถ้อยคำตามความหมายธรรมดาของถ้อยคำนั้น หากจะทำให้ความหมายนั้นขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกับข้อความอื่นในเอกสารนั้นแล้ว ก็ต้องตีความหมายของถ้อยคำให้ลงรอยกับข้อความอื่น ๆ ในเอกสารนั้นด้วย

        4. ความหมายของถ้อยคำที่ใช้ในเอกสารนั้นย่อมสุดแล้วแต่พฤติการณ์ทั่ว ๆ ไปของคู่สัญญาด้วย เช่น คู่สัญญาคือใคร ได้ทำสัญญาหรือเอกสารในพฤติการณ์เช่นไร และคู่สัญญาชอบใช้ถ้อยคำให้มีความหมายเป็นพิเศษอย่างไรบ้าง ฉะนั้นจึงอาจนำพยานอื่นมาสืบประกอบ เพื่อหาความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำได้ แต่ทั้งนี้เพียงเพื่อให้อธิบายความหมายของถ้อยคำ ในเมื่อถ้อยคำนั้นมีข้อสงสัยเท่านั้น หาใช่นำมาเพื่อให้ตีความเอกสารนั้นไม่

        ตามปกติพยานอื่นจะยอมให้นำมาสืบได้แต่เพียงในกรณีต่อไปนี้ คือ         (1) ถ้าเอกสารนั้นทำเป็นภาษาต่างประเทศ ยอมให้นำพยานมาสืบถึงความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำที่เป็นภาษาต่างประเทศนั้นได้

        (2) ถ้าถ้อยคำที่ใช้เป็นคำเฉพาะในศิลปหรือวิชาการ และได้ใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปหรือวิชาการนั้น ๆ แล้ว ก็ยอมให้นำพยานอื่นมาสืบอธิบายความหมายโดยเฉพาะของคำนั้นได้

        (3) ถ้าเป็นถ้อยคำที่เกี่ยวกับการค้า พยานอื่นที่เกี่ยวกับประเพณีการค้า และความหมายทางการค้าของถ้อยคำย่อมนำมาสืบได้

        (4) ถ้าเป็นเอกสารโบราณ และถ้อยคำที่ใช้นั้นอาจมีความหมายแตกต่างไปจากความหมายในสมัยปัจจุบัน ก็ยอมให้นำพยานอื่นมาสืบอธิบายความหมายได้ อย่างไรจึงจะถือว่าเป็นเอกสารโบราณ เพื่อประโยชน์ในการยอมให้นำพยนอื่นมาสืบประกอบได้นั้น Evidence Act, 1938 มาตรา 4 ถือเอาเอกสารที่มีอายุกว่า 20 ปี

        5. เป็นการนำสืบถึงพฤติการณืแวดล้อมเกี่ยวแก่เอกสารที่จะต้องตีความนั้น เช่น นำสืบถึง ตัวบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ที่ปรากฏในเอกสาร และข้อเท็จจริงประการอื่นอันจะทำให้ศาลสามารถเข้าไปอยู่ในสถานะของผู้ทำเอกสารนั้นได้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

        ถ้าถ้อยคำที่จะต้องตีความนั้นมีคำนิยาม หรือคำอธิบายไว้แล้วในกฎหมาย ก็ไม่ยอมให้นำพยานอื่นมาสืบอธิบายอีก ต้องตีความไปตามคำนิยามหรือคำอธิบายของกฎหมายนั้น ๆ

        6. คำเฉพาะในภาษากฎหมาย ย่อมมีความหมายตามภาษากฎหมายที่ใช้อยู่ ฉะนั้น ถ้ามีข้อความเช่นนี้ในเอกสารก็ต้องถือว่าผู้ทำเอกสารประสงค์จะให้ถ้อยคำมีความหมายตามภาษากฎหมายเช่นนั้น แม้ว่าอาจจะไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ทำเอกสารก็ตาม

        7. เอกสารต้องตีความเอาจากข้อความทั้งหมดรวมกัน มิใช่แยกตีความเป็นตอน ๆ ไป กล่าวคือต้องอ่านเอกสารนั้นทั้งฉบับแล้วจึงตีความหาเจตนาของผู้ทำเอกสารนั้น ถ้าเอกสารนั้นมีหลายฉบับและเกี่ยวข้องกัน ก็ต้องอ่านเอกสารทุกฉบับนั้นประกอบกันด้วย

        ถ้าเอกสารเป็นแบบพิมพ์ และผู้ทำเอกสารได้กรอกข้อความเป็นตัวเขียนหรือคำพิมพ์ดีดลงไปในแบบพิมพ์นั้น ถ้ามีการตีความ ต้องถือเอาตัวเขียนหรือตัวพิมพ์ดีดเป็นสำคัญ เพราะถือว่าเป็นถ้อยคำที่ผู้ทำเอกสารใช้เพื่อแสดงเจตนาของตน ตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อได้ตกลงซื้อไม้จากผู้ขาย และข้อความในสัญญาซื้อขายที่เป็นตัวพิมพ์มีว่า “ถ้าส่งไม้ไม่เต็มระวางบรรทุกของเรือ ผู้ซื้อจะต้องรับไม้จำนวนนั้น แต่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนสำหรับไม่ที่ส่งต่ำกว่าระวางบรรทุก” และมีข้อความพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดว่า “ขายตามจำนวนที่บรรทุกมาในเรือ ไม้ที่มิได้ส่งลงเรือถือว่า งด” ผู้ขายส่งไม้ต่ำกว่าจำนวนระวางบรรทุก ผู้ซื้อฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ศาลพิพากษาว่า สัญญานี้ให้สิทธิผู้ขายที่จะบรรทุกไม้ลงเรือหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าบรรทุกลงเรือแล้วก็ถูกผูกมัดที่จะต้องขายให้ผู้ซื้อ หากบรรทุกไม้ไม่เต็มระวางบรรทุก ผู้ซื้อก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

        8. เพื่อให้การตีความเป็นไปตามเจตนาของผู้ทำเอกสารมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางกรณีศาลอาจต้องเติมคำเพิ่มขึ้น เพื่อให้อ่านได้ความ หรือไม่รับฟังคำบางคำที่ขัดแย้งกับข้อความอื่น หรืออาจจัดวางถ้อยคำเสียใหม่ให้อ่านได้ความก็ได้ เช่น กู้เงินไป 70 ปอนด์ “สัญญาจะส่งใช้เดือนละ 7” ศาลก็เติมคำว่า “ปอนด์” ต่อท้ายคำว่า 7 ให้ เพราะถือว่าเป็นเจตนาของผู้กู้เช่นนั้น หรือเช่นสัญญาเช่าที่ให้เช่าทรัพย์แก่ผู้เช่าสองคน “ร่วมกันและแยกกัน” คำว่าแยกกันต้องถือว่าไม่มี หรือเช่นจำเลยสัญญาจะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ แต่มีข้อความต่อไปว่า “โดยจะไม่ทำให้เกิดความรับผิดเป็นการส่วนตัวขึ้นแก่จำเลย” ดังนี้ถือว่าข้อความตอนนี้ต้องตัดออก เพราะเป็นการขัดกับข้อความตอนแรกที่ว่าจำเลยจะชำระค่าเสียหายให้ การชำระค่าเสียหายย่อมเป็นการรับผิดส่วนตัว ถ้าไม่ตัดข้อความตอนนี้ออก ข้อสัญญาของจำเลยก็ไร้ผล

[แก้ไข] หลักย่อย
ถ้าข้อความที่แสดงออกมีกฎหมายกล่าวไว้แล้ว ข้อความนั้นก็ไม่จำเป็นและไม่จำต้องสนใจ
เมื่อมีกฎหมายกล่าวไว้แล้ว ข้อความที่แสดงการให้สิทธิหรือเสรีภาพย่อมไม่ถือว่าจำกัดหรือลบล้างความที่กฎหมายกล่าวไว้ เช่น ยกที่ดินให้แก่ผู้รับ และให้ผู้รับมีสิทธิขุดถ่านหินในที่ดินนั้นได้ ข้อความที่ให้มีสิทธิขุดถ่านหินในที่ดินนั้นได้ไม่หมายความว่าจะตัดสิทธิอื่นของผู้รับที่มีตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน
เมื่อมีข้อความตกลงอย่างใดโดยแจ้งชัดแล้ว ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นความประสงค์ทุกอย่างของผู้ให้ข้อตกลง จึงถือว่าไม่ประสงค์ข้อความอื่นนอกไปจากที่ตกลงไว้ หลักเช่นว่านี้มาจากสุภาษิตลาตินที่ว่า Expressum facit cessare tacitum (When there is express mention of certain things then anything not mentioned is exclude) ซึ่งหมายความว่า เมื่อมีข้อความชัดแจ้งกล่าวถึงสิ่งใดไว้แล้ว สิ่งอื่นที่มิได้กล่าวไว้ย่อมถือว่าไม่ประสงค์ เช่น โอน “โรงหลอมเหล็กและบ้าน 2 หลัง พร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับบ้านให้” ย่อมไม่หลายความว่าจะโอนเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับโรงหลอมเหล็กให้ด้วย
ข้อความที่กล่าวถึงบุคคลหรือสิ่งใดโดยชัดเจนแล้ว ย่อมถือว่าไม่ประสงค์ให้กินความถึงบุคคลหรือสิ่งอื่นในประเภทเดียวกันซึ่งมิได้กล่าวไว้ หลักข้อนี้มาจากสุภาษิตลาตินที่ว่า Expressio unius personae vel rei, est exclusio alterius (The express mention of one person or thing is the exclusion of another)
ถ้อยคำต้องตีความไปในทางที่เป็นโทษแก่ผู้ให้ถ้อยคำนั้น ซึ่งหมายความว่า ถ้าใช้หลักการตีความทุกอย่างมาช่วยแล้วยังไม่อาจทราบความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำที่ใช้ได้ ก็ต้องถือเอาความหมายที่เป็นโทษแก่ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ทำเอกสารนั้น หลักนี้นำไปใช้กับข้อความที่เป็นข้อยกเว้นในเอกสารด้วย กล่าวคือข้อยกเว้นที่กล่าวไว้ถือว่ามีขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ทำ จึงต้องกล่าวไว้ให้ชัดเจนไม่กำกวม ดังนั้นเมื่อมีข้อสงสัยจึงต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นผู้รับจ้างขนของที่มีข้อความจำกัดความรับผิดไว้ แต่มิได้เขียนให้ชัดเจนพอที่จะคุ้มถึงความรับผิดในความประมาทเลินเล่อของตน ก็ต้องตีความว่า ข้อจำกัดความรับผิดนั้นเฉพาะแต่ในกรณีอื่น ซึ่งไม่ใช่กรณีประมาทเลินเล่อ ในคดีหนึ่ง โจทก์จ้างรถสามล้อเครื่องบรรทุกของจากจำเลย สัญญามีข้อยกเว้นไว้ว่า “สัญญานี้ไม่ทำให้จำเลยต้องรับผิดในกรรีที่ผู้ขับขี่บาดเจ็บอันเนื่องจากรถ” ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ขี่รถนั้นอานรถได้เลื่อนกระดกไปข้างหน้า จนโจทก์ตกลงไปบาดเจ็บ ศาลวินิจฉัยว่าข้อยกเว้นนี้ไม่กินความถึงความรับผิด เพราะความประมาทของจำเลย ฉะนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
        หลักการตีความจากหนังสือดังกล่าวมาข้างต้นนี้ แม้จะเป็นหลักของต่างประเทศ แต่ก็เป็นหลักสากลและมิได้ขัดแย้งกับหลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด จึงย่อมจะนำมาใช้ประกอบการตีความเอกสารของศาลเราได้ตามความจำเป็นเท่าที่ศาลผู้พิจารณาคดีจะพิเคราะห์เห็นเป็นการเหมาะสมและยุติธรรม


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย