การถ่ายสำเนาหนังสือโดยร้านถ่ายเอกสารตามคำสั่งของนักศึกษาเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไ่ม่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา ่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การถ่ายสำเนาหนังสือโดยร้านถ่ายเอกสารตามคำสั่งของนักศึกษาเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไ่ม่
ความนำ

        บทความนี้เขียนขึ้นจากแรงจูงใจที่ได้รับคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเขียน การผลิต และการเผยแพร่ตำรา-หนังสือวิชาการ” ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๕ - ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ และสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในการเขียน การผลิต และการเผยแพร่หนังสือวิชาการแก่อาจารย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า ๑๔๐ คน ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้ไปช่วยในการบรรยายในหัวข้อ “ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์” แทนอาจารย์ท่านเดิมที่ติดภาระกิจไม่สามารถไปบรรยายได้ ด้วยเห็นว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นองค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่จึงตอบรับการชักชวน เมื่อต้องบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เขียนตำรา จึงตั้งใจว่านอกเหนือจากเนื้อหาของกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว ก็ควรที่จะหาตัวอย่างคดีใหม่ ๆ ที่มีการฟ้องร้องกันเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อประกอบการบรรยาย จึงได้นำคำพิพากษาสองฉบับ โดยคัดเฉพาะย่อคำพิพากษา คือ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓๒/๒๕๔๓ และ ๕๘๔๓/๒๕๔๓ มาใชประกอบการบรรยาย

        เมื่อถึงวันที่มีการบรรยายก็พบว่าได้รับคำถามหนึ่งที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า เมื่ออ่านคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับแล้ว ทำให้เกิดข้อน่าสงสัยว่า การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวนั้นจะหมายความไปถึงว่า กรณีที่นักศึกษาถ่ายหนังสือที่มีผู้เขียนแล้วใช้เพื่อการเรียน จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะคำพิพากษาทั้งสองฉบับทำให้เข้าใจได้ว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะทำเพื่อใช้เองไม่ได้แสวงหากำไร ซึ่งความเข้าใจนี้ก็ดูประหนึ่งจะมีเหตุผล แต่ก็ได้รับการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมอีกฝ่ายหนึ่งว่า หากนักศึกษาไม่ซื้อหนังสือ แต่ทุกคนที่เรียนถ่ายเอกสารหนังสือนั้นทั้งหมด เช่นนี้ผู้เขียนจะเขียนหนังสือขายให้ใคร เพราะไม่มีผู้ซื้อหนังสือ มีแต่ผู้นำหนังสือไปถ่ายเอกสาร คำโต้ตอบและความเห็นต่าง ๆ เหล่านั้นจึงทำให้เมื่อกลับจากการประชุมดังกล่าว ต้องพิจารณาประเด็นปัญหานี้เพื่อค้นคว้าหาคำตอบ

สภาพปัญหา
        เหตุผลพื้นฐานที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็เพราะว่าผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมา โดยการสร้างสรรค์นั้นต้องใช้สติปัญญาและความสามารถ ผู้สร้างสรรค์จึงต้องได้รับความคุ้มครองจากการที่บุคคลอื่นจะนำงานนั้นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะหากไม่ให้ความคุ้มครองเสียแล้วย่อมทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ

        จากเหตุผลข้างต้น ผู้เขียนหนังสือซึ่งสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะวรรณกรรม จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในหนังสือหรือตำราที่แต่งหรือเรียบเรียงขึ้นนั้น บุคคลใดทำซ้ำ ดัดแปลง หนังสืออันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์มีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา

        ตลาดหนังสือทางวิชาการของประเทศไทยยังไม่กว้างขว้างมากนัก สังคมไทยยังคงให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือน้อย จนเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศให้ปี พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่าน แต่ก็หาได้มีการดำเนินการใด ๆ ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

        สภาพของการใช้หนังสือหรือตำราทางวิชาการในประเทศไทย หากเป็นหนังสือแบบเรียนที่มีการบังคับให้ต้องใช้ มักไม่มีปัญหาในการจัดพิมพ์และการจำหน่ายมากนัก เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องใช้อย่างชัดเจน ต่างไปจากหนังสือและตำราทางวิชาการที่ไม่มีการบังคับให้ต้องใช้ ที่มักมีปัญหาในการจัดพิมพ์และการจำหน่าย หนังสือและตำราบางเล่มเป็นตำราที่ดีในทางวิชาการของสาขาวิชานั้น แต่พิมพ์เพียง ๑,๐๐๐ เล่ม วางจำหน่ายมาแล้วกว่า ๑๐ ปี ก็ยังไม่สามารถจำหน่ายได้หมด จึงทำให้ผู้แต่งหนังสือและตำราขาดกำลังใจในการแต่งหนังสือและตำราต่อไป

        สภาพการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเกิดมานานแล้ว แต่สภาพการณ์ที่เพิ่งเกิดในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้เองกลับตอกย้ำสถานการณ์ในตลาดหนังสือทางวิชาการให้มีปัญหามากยิ่งขึ้น สภาพการณ์ที่ว่านี้ก็คือ การแพร่หลายของร้ายถ่ายเอกสาร ที่เริ่มต้นจากยุคแรกที่มีร้านถ่ายเอกสารจำนวนไม่มากนักรอบ ๆ สถานศึกษาต่าง ๆ แต่ต่อมาก็มีการขยายตัวของร้านถ่ายเอกสารตั้งอยู่เต็มพื้นที่รอบ ๆ สถานศึกษา ปัจจุบันสถานศึกษาต่าง ๆ ก็มีความคิดในการหารายได้เข้าสถานศึกษา โดยให้ร้านถ่ายเอกสารเข้ามาถ่ายในสถานศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับคณะวิชาต่าง ๆ ที่จะมีร้านถ่ายเอกสารอยู่ใต้ถุนตึกของคณะ แม้กระทั่งห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นระดับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหรือห้องสมุดของคณะวิชาต่าง ๆ ก็มีการให้เช่าพื้นที่แก่ร้านถ่ายเอกสารเข้ามาบริการชนิดที่เรียกว่า “บริการทุกระดับประทับใจ”

        เมื่อร้านถ่ายเอกสารเข้ามาใกล้แหล่งสถานศึกษา หนังสือที่เคยมีการซื้อเพื่อใช้ประกอบการศึกษา ผู้ใช้ก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนจากการซื้อหนังสือ มาเป็นการถ่ายเอกสารหนังสือแทน การเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ราคาหนังสือแพงกว่าการถ่ายเอกสาร หนังสือเล่มหนึ่งเป็นหนังสือภาษาไทย มีความหนา ๑๐๐ หน้ากระดาษ A4 ตั้งราคาขายไว้ ๑๗๐ บาท ผู้ใช้หนังสือก็ใช้การคำนวณคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ว่า ถ้าถ่ายหนังสือนั้นทั้งเล่ม ในอัตราราคาหน้าละ ๕๐ สตางค์ ราคาเพียง ๗๕ บาท แต่จะประหยัดมากกว่านั้น หากให้ร้านถ่ายเอกสารถ่ายย่อ โดยให้ถ่ายจากต้นฉบับหน้าคู่ ให้ลงในกระดาษ A4 เพียงหน้าเดียว ก็จะจ่ายเพียง ๓๗.๕๐ บาท เท่านั้น จึงเป็นอันว่า หนังสือราคา ๑๗๐ บาท สามารถหาได้ในราคาเพียง ๓๗.๕๐ บาท จึงไม่แปลกใจที่ผู้ใช้หนังสือเลือกวิธีการถ่ายเอกสารแทนการซื้อหนังสือ ซึ่งก็น่าเห็นใจผู้ใช้หนังสือ เพราะหนังสือมีราคาสูง แต่ถ้าผู้ใช้หนังสือทุกคนกระทำเช่นนี้ก็น่าเห็นใจผู้แต่งหนังสืออีกเช่นกัน

        สถานการณ์การถ่ายหนังสือทั้งเล่มเพื่อประโยชน์ในการศึกษานั้น จะมีการกระทำกันอย่างแพร่หลายในสาขาวิชาที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ตำราภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฯลฯ เป็นตำราหลักในการประกอบการเรียน หนังสือเหล่านี้ราคาอยู่ในหลักพันบาทขึ้นไปแทบทั้งสิ้น ทั้ง ๆ ที่นับจำนวนหน้าแล้วก็อยู่ในไม่กี่ร้อยหน้า หากถ่ายเอกสารก็ถูกกว่าซื้อหนังสือถึง ๔ - ๕ เท่า ผู้ใช้หนังสือต่างประเทศประกอบการเรียนจึงนิยมถ่ายหนังสือด้วยเหตุผลความประหยัดเป็นสำคัญ

        การถ่ายหนังสือต่างประเทศเพื่อประกอบการเรียนมีการพัฒนารูปแบบจากแต่เดิมนักศึกษานำหนังสือไปถ่ายทั้งเล่ม ร้านถ่ายเอกสารก็ถ่ายให้ครั้งละเล่ม แต่เมื่อมีนักศึกษาหลายคนนำหนังสือเล่มเดียวกันมาถ่ายบ่อยครั้งเข้า ร้านถ่ายเอกสารก็เริ่มเห็นช่องทางในการให้บริการที่ประทับใจ โดยสอบถามจากนักศึกษาว่าภาคเรียนนี้ต้องใช้หนังสือเล่มใดประกอบการเรียน ร้านถ่ายเอกสารก็จะลงมือถ่ายเอกสารหนังสือดังกล่าวทั้งเล่มพร้อมเข้าปกเตรียมไว้ เมื่อนักศึกษานำหนังสือมาถ่าย ร้านถ่ายเอกสารก็บอกกับนักศึกษาว่าไม่ต้องรอ สามารถรับเล่มที่ถ่ายสำเนาแล้วไปได้เลย ทำให้ร้านถ่ายเอกสารดังกล่าวเป็นร้านยอดนิยมในบรรดานักศึกษา

        การถ่ายหนังสือภาษาอังกฤษของร้านถ่ายเอกสารเพื่อเตรียมให้นักศึกษานี้เองเป็นเหตุให้สำนักพิมพ์ต่างประเทศที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับร้านถ่ายเอกสารในฐานละเมิดลิขสิทธิ์

        ปัญหาในเรื่องนี้ที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า นักศึกษาจะสามารถถ่ายเอกสารหนังสือเพื่อใช้ประกอบการเรียนได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาษาต่างประเทศหรือหนังสือภาษาไทย

ข้อกฏหมาย
        เดิมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ กำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับการถ่ายหนังสือเพื่อใช้เรียนไว้ในมาตรา ๓๐ ว่า การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) วิจัยหรือศึกษา ซึ่งบทมาตรานี้ทำให้มีการกล่าวอ้างกันมาโดยเสมอว่า ถ่ายหนังสือทั้งเล่มไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะเป็นการกระทำที่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่ว่าเพื่อการศึกษา มิได้แสวงหากำไรแต่อย่างใด

        แต่ต่อมาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีการปรับปรุงข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการถ่ายหนังสือเพื่อใช้เรียน โดยกำหนดไว้ในมาตรา ๓๒ ว่า

         “มาตรา ๓๒ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

        ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(๒) ….ฯลฯ”
        บทบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอ้างการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษา อันไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยวางข้อจำกัดไว้ว่า

        ประการแรก การกล่าวอ้างว่าการกระทำเพื่อประโยชน์ในการศึกษาแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะเข้าข้อยกเว้นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในมาตรา ๓๗ วรรคแรก ๒ ประการ คือ

๑) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ

๒) ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

        ประการที่สอง การกระทำเพื่อการศึกษานั้น ต้องไม่เป็นการแสวงหากำไร

        ดังนั้น การถ่ายหนังสือเพื่อใช้ศึกษานั้น หากต้องด้วยลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ย่อมไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

แนวคำพิพากษาของศาล
        ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องร้านถ่ายเอกสารถ่ายหนังสือที่มีลิขสิทธิ์ โดยทั้งสองคดี ผู้ฟ้องคดีเป็นสำนักพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษ โดยร้านถ่ายเอกสารที่ถูกฟ้องเป็นร้านที่ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยที่มีการใช้หนังสือภาษาอังกฤษประกอบการเรียน

(๑) คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓๒/๒๕๔๓ จำเลยซึ่งมีอาชีพรับจ้างถ่ายเอกสารได้นำเครื่องถ่ายเอกสารทำสำเนาจากต้นฉบับหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามแล้วเข้าเล่มจำนวน ๗๑ เล่ม ยังไม่เข้าเล่มจำนวน ๒๙๐ ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน ๑๕๘ ชุด (๖,๑๖๒ แผ่น) จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยรับจ้างถ่ายสำเนาเอกสารตามคำสั่งของนักศึกษาผู้ว่าจ้างที่นำไปใช้เพื่อการศึกษาหรือวิจัย จึงได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างของตน แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่ามีนักศึกษามาว่าจ้างให้จำเลยถ่ายสำเนาเอกสารของกลางเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาหรือวิจัยงานอันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร พยานหลักฐานของจำเลยคงมีจำเลยปากเดียวเบิกความว่าจำเลยรับจ้างนักศึกษาถ่ายสำเนาเอกสารของกลางโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการว่าจ้างและนักศึกษาที่ว่าจ้าง จึงเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเข้าเงื่อนไขแห่งข้อยกเว้นความผิดดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงมีความผิดฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองตามฟ้อง

(๒) คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๔๓/๒๕๔๓ พฤติการณ์ที่จำเลยทำซ้ำโดยถ่ายเอกสารอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้หลายชุดแล้วเก็บไว้ที่ร้านค้าของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือของโจทก์ร่วมและมีโอกาสที่จำเลยจะขายเอกสารที่ทำซ้ำขึ้นแก่นักศึกษาได้สะดวก เป็นการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยการถ่ายสำเนาเอกสารจำนวน ๔๓ ชุดไว้เพื่อขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขาย อันเป็นการที่จำเลยทำซ้ำขึ้นเองเพื่อการค้าและแสวงหาประโยชน์จากการขายสำเนางานที่จำเลยทำซ้ำขึ้นมา มิใช่การรับจ้างถ่ายเอกสารจากนักศึกษาที่ต้องการได้สำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำไปใช้ในการศึกษาวิจัยอันเป็นเหตุยกเว้นมิให้ถือว่าการทำซ้ำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา ๓๒ (๑) แต่อย่างใด

บทวิเคราะห์
        คำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับเมื่ออ่านแล้วชวนให้เข้าใจต่อไปได้ว่า หากมีการพิสูจน์ได้ในคดีดังกล่าวว่า นักศึกษาเป็นผู้ว่าจ้างให้ร้านถ่ายเอกสารถ่ายหนังสือทั้งเล่ม ย่อมเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๒ (๑)

-อย่างไรก็ดี ทั้งสองคดีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นของบทความนี้ ๒ ประการ คือ

        ประการแรก ลักษณะการถ่ายเอกสารที่แตกต่างกันของคดีทั้งสอง กล่าวคือ ในคำพิพากษาฎีกาแรก(คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓๒/๒๕๔๓)นั้น เป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือทั้งเล่ม ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่สอง(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๔๓/๒๕๔๓) เป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือบางส่วน โดยงานที่ทำซ้ำนั้นคิดเป็นร้อยละแล้วไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของหนังสือที่มีลิขสิทธิ์

        ประการที่สอง คดีแรกศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในฐานะศาลชั้นต้นตัดสินว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และศาลฎีกาพิพากษายืน เพราะค่อนข้างจะชัดว่าเป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือทั้งเล่ม ส่วนคดีที่สองนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตัดสินว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการถ่ายเอกสารบางส่วนจากหนังสือและศาลเห็นว่าเป็นการถ่ายพอสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษา อีกทั้งเป็นการทำตามคำสั่งของนักศึกษา แต่ศาลฎีกากลับคำตัดสินให้จำเลยผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะศาลเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ความว่า จำเลยรับจ้างนักศึกษาเป็นผู้ถ่ายเอกสาร

        จากปัญหาการถ่ายเอกสารหนังสือนั้น อาจแยกวิเคราะห์ได้เป็น ๒ กรณี คือ กรณีแรกเป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือทั้งเล่ม และกรณีที่สองเป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือบางส่วน

การถ่ายเอกสารจากหนังสือทั้งเล่ม
        กรณีแรกนี้เป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือทั้งเล่ม เมื่อได้พิจารณาจากหลักกฎหมายตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑) ซึ่งเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว พบว่า

(๑) ร้านถ่ายเอกสารที่ถ่ายหนังสือทั้งเล่มไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่นักศึกษา เพื่อให้บริการทุกระดับประทับใจ ไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ร้านถ่ายเอกสารย่อมต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการทำเพื่อแสวงหากำไร แม้จะขายในราคาถ่ายเอกสารก็ตาม กรณีนี้ย่อมหมายความรวมไปถึงกรณีที่มีการจัดประชุมแล้วมีการจัดเอกสารประกอบการประชุม โดยมีการถ่ายหนังสือทั้งเล่ม แทนการซื้อหนังสือ กรณีเช่นนี้ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นกัน

(๒) ร้านถ่ายเอกสารที่ถ่ายหนังสือทั้งเล่ม ตามคำสั่งของนักศึกษา โดยหนังสือเล่มนั้นยังคงมีจำหน่ายในร้านค้าทั่วไป กรณีนี้ทำให้ต้องพิจารณาว่า การกระทำของนักศึกษานั้นเข้าข้อยกเว้นของมาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑) หรือไม่ เพราะหากถือว่าเข้าข้อยกเว้น ร้านถ่ายเอกสารก็ได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นนี้ด้วย

        ปัญหานี้ เมื่อพิจารณาจากด้านของนักศึกษาโดยพิจารณามาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑) แต่เพียงอนุมาตราเดียว จะเห็นว่านักศึกษานั้นได้ถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มไว้เพื่อศึกษา มิได้เพื่อการจำหน่าย จึงไม่เป็นการค้ากำไรแต่อย่างใด

        แต่อย่างไรก็ดี ข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑) นั้น ต้องอยู่ภายใต้มาตรา ๓๒ วรรคแรก ด้วย คือ จะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

        เมื่อพิจารณาการถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มโดยนักศึกษา พบว่า หากนักศึกษาจำนวนมากต่างก็ใช้วิธีการถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่ม จะกล่าวว่าได้อย่างไรว่าไม่เป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะการที่นักศึกษาถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มหนึ่งเล่ม ย่อมทำให้หนังสือขายไม่ได้หนึ่งเล่ม หากมีนักศึกษาถ่ายเอกสารหนึ่งร้อยคน ย่อมทำให้หนังสือขายไม่ได้หนึ่งร้อยเล่ม (แต่หากหนังสือนั้นไม่มีการพิมพ์จำหน่ายแล้ว การถ่ายหนังสือนั้นก็ไม่กระทบสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์)

        ดังนั้น จึงเห็นว่าการถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มโดยนักศึกษานั้น เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่นนี้แล้วไม่ว่านักศึกษาจะว่าจ้างให้ร้านถ่ายเอกสารถ่ายหนังสือทั้งเล่มหรือไม่ ร้านถ่ายเอกสารก็ย่อมไม่อาจอ้างข้อยกเว้นว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

        อีกทั้ง จะอ้างแนวคำพิพากษาในคดีแรก ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะไม่มีการพิจารณาในประเด็นที่ว่า หากนักศึกษาว่าจ้างให้ร้านถ่ายเอกสารถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่ม จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ หากแต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่มีพยานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่านักศึกษาว่าจ้างให้จำเลยถ่ายเอกสาร ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้

        แม้จะเห็นว่าการถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มโดยนักศึกษาเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การดำเนินคดีกับนักศึกษาโดยผู้แต่งหนังสือนั้นอาจไม่เกิดขึ้น เพราะผู้แต่งหนังสือมักมีความเป็น “ครู” ที่ไม่ถือสาในเรื่องทำนองนี้ แต่สิ่งที่นักศึกษาผู้ถ่ายเอกสารพึงระมัดระวัง คือ ลิขสิทธิ์ในหนังสือนั้น บางครั้งมีการตกลงระหว่างผู้แต่งหนังสือกับสำนักพิมพ์ ให้ลิขสิทธิ์ในหนังสือตกอยู่แก่สำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์อาจฟ้องนักศึกษาได้

        อย่างไรก็ดี ปัญหาการถ่ายหนังสือทั้งเล่มโดยนักศึกษานี้ เป็นปัญหาที่จะนำกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์มาดำเนินคดีกับนักศึกษา ก็คงเป็นสิ่งที่ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่หนังสือนั้นมีราคาแพง ในห้องสมุดมีหนังสือนั้นไม่เพียงพอให้ยืม จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาทุนทรัพย์น้อยจะต้องถ่ายเอกสาร เพราะประหยัดกว่า ดังนั้น สำนักพิมพ์ต่าง ๆ พึงช่วยเหลือนักศึกษาโดยการพยายามตั้งราคาหนังสือในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ก็จะทำให้นักศึกษามีกำลังทรัพย์ในการซื้อหนังสือได้

การถ่ายเอกสารจากหนังสือบางส่วน
        กรณีที่สองนี้ เป็นการถ่ายเอกสารจากหนังสือบางส่วน มีข้อพิจารณาที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า การถ่ายเอกสารจากหนังสือบางส่วนเพื่อใช้ในการศึกษานั้น จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

        ในคดีที่สองนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นนี้ ความตอนหนึ่งว่า

         “งานที่ทำซ้ำจำนวน ๔๓ ชุด เป็นการทำซ้ำจากหนังสือ Organizational Behavior จำนวน ๕ บท คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของหนังสือทั้งเล่ม จำนวน ๒๐ ชุด และทำซ้ำจากหนังสือ Environmental Science จำนวน ๕ บท คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๘๓ ของหนังสือทั้งเล่ม จำนวน ๑๙ ชุด”

        ศาลจึงเห็นว่าเป็นการกระทำพอสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นไปตามข้อยกเว้นทั้งมาตรา ๓๒ วรรคแรก และมาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑)

        คำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสภาพการณ์ของประเทศไทย โดยศาลได้วินิจฉัยไว้อีกตอนหนึ่ง ความว่า

         “การศึกษาวิจัยจำต้องใช้ข้อมูลที่อยู่ในตำราและบทความจำนวนมาก การกำหนดให้นักศึกษาทำสำเนาได้เฉพาะหนึ่งบทความในวารสารทั้งฉบับหรือหนึ่งบทในหนังสือทั้งเล่ม จึงอาจทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจความคิดหรือปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในหนังสือได้อย่างชัดเจน การให้นักศึกษาต้องซื้อหนังสือทุกเล่มหรือเป็นสมาชิกวารสารทุกฉบับ โดยกฎหมายมิได้ให้ข้อยกเว้นอันควร ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางการศึกษาและวิชาการในสังคม”

        แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นข้างต้นเป็นของศาลชั้นต้น แต่ศาลฎีกาไม่มีโอกาสวินิจฉัยในประเด็นนี้ เพราะศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการถ่ายเอกสารนั้นเป็นการถ่ายโดยการรับจ้างจากนักศึกษา

        ดังนั้น จึงยังคงมีปัญหาว่า กรณีที่นักศึกษาถ่ายเอกสารหนังสือบางส่วนนั้น จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

        ประเด็นปัญหานี้ ต้องพิจารณาจากปริมาณของการถ่ายเอกสารนั้นว่ามีจำนวนมากจนกระทบต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร หรือที่เรียกว่า “การใช้ที่เป็นธรรม” (fair use) หรือไม่ (มาตรา ๓๒ วรรคแรก)

        ในประเด็นที่ว่าปริมาณเท่าใดที่จะถ่ายเอกสารได้โดยเป็นการใช้ที่เป็นธรรมนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ในต่างประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้งานลิขสิทธิ์อาจร่วมกันกำหนดแนวทางการใช้งานลิขสิทธิ์ที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการใช้ที่เป็นธรรม [1] สำหรับประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาในสมัยที่ท่านอาจารย์ยรรยง พวงราช เป็นอธิบดี ได้พยายามตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อท่านอาจารย์ยรรยง พวงราช พ้นจากตำแหน่งอธิบดีฯ ความพยายามดังกล่าวก็เงียบหายไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักเกณฑ์ดังกล่าว หลักเกณฑ์นั้นก็ไม่ใช่กฎหมาย ศาลจึงอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ เพียงแต่การมีหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะส่งเสริมการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม

บทสรุป
        การถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มโดยร้านถ่ายเอกสาร เพื่อเตรียมไว้ให้นักศึกษานั้น เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และแม้นักศึกษาจะว่าจ้างร้านถ่ายเอกสารให้ดำเนินการให้ถ่ายหนังสือทั้งเล่ม ก็เห็นว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน เพราะการถ่ายหนังสือทั้งเล่มย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม

        ส่วนการถ่ายเอกสารหนังสือบางส่วนโดยนักศึกษานั้น ต้องเป็นการถ่ายบางส่วนในลักษณะที่เป็นการใช้ที่เป็นธรรม ไม่กระทบต่อการแสวงหาประโยชน์จากลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์จนเกินสมควร จึงจะถือว่าเข้าข้อยกเว้นของการละเมิดลิขสิทธิ์

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา ่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย