การฟ้องคดีอาญาในศาลอังกฤษ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

การฟ้องคดีอาญาในศาลอังกฤษ
        การฟ้องคดีอาญาในประเทศอังกฤษอาจทำได้ 2 วิธี คือ ฟ้องด้วยวาจา (INFORMATION) หรือฟ้องเป็นลายลักษณ์อักษร (INDICTMENT)

[แก้ไข] 1. ฟ้องด้วยวาจา
        ความผิดที่จะฟ้องด้วยวาจาได้ จะต้องเป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติว่าอยู่ในอำนาจของศาล MAGISTRATES (พอจะเทียบได้กับศาลแขวงของเรา แต่ไม่ตรงทีเดียวนัก) ศาล MAGISTRATES มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังนี้

คดีความผิดซึ่งพิจารณาโดยรวบรัดได้ (SUMMARY OFFENCES) ส่วนมากโทษไม่เกิน 3 เดือน
คดีความผิดบางประการตามท้ายพระราชบัญญัติ ศาล MAGISTRATES เช่น คดีลักทรัพย์ ซึ่งตามธรรมดาจะต้องพิจารณาต่อหน้าลูกขุน (INDICTABLE OFFENCES) แต่ศาลเห็นว่าเพื่อความเหมาะสม เป็นต้นว่าลักษณะความผิดไม่ร้ายแรง อาจพิจารณาโดยรวบรัดได้ แต่ศาลจะลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน หรือปรับไม่เกินกว่า 100 ปอนด์ หรือทั้งจำและปรับเกินกว่านี้ไม่ได้
        การฟ้องด้วยวาจาจะต้องฟ้องต่อผู้พิพากษาศาล MAGISTRATES ซึ่งเรียกว่า JUSTICES OF THE PEACE (ผู้พิพากษาเช่นนี้ต่างกับผู้พิพากษาศาลแขวงของเรามาก เพราะเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ไม่จำต้องมีความรู้ทางกฎหมาย ฉะนั้นจึงต้องมีบุคคลผู้รู้กฎหมายอีกคนหนึ่งเรียกว่า JUSTICES CLERK เป็นผู้คอยแนะนำในด้านกฎหมาย และด้านการพิจารณา แต่ไม่เกี่ยวในการพิพากษาคดี) การฟ้องแบบนี้ นอกจากผู้เสียหายจะฟ้องได้แล้ว ผู้อื่นก็อาจฟ้องได้ (เทียบได้กับการกล่าวหาของเรา) แต่ว่าความผิดบางประการกฎหมายบัญญัติว่า จะฟ้องได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอม หรืออนุญาตจากบุคคลบางคน หรือจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน บุคคลผู้มีสิทธิ์ฟ้องจะให้ทนายฟ้องแทน หรือมอบอำนาจให้ผู้ใดฟ้องแทนก็ได้ ในทางปฏิบัติตำรวจจะเป็นผู้ฟ้องเป็นส่วนใหญ่ และตำรวจนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนายร้อย แม้เพียงพลตำรวจซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ก็ฟ้องได้

        เมื่อมีผู้ฟ้องด้วยวาจา ศาลจะออกหมายเรียกจำเลยให้มาสู้คดี ถ้าจำเลยขัดขืน ศาลอาจออกหมายจับ แต่การพิจารณาไม่จำต้องทำต่อหน้าจำเลย จำเลยขดให้ทนายความ หรือในบางกรณีอาจยื่นคำให้การทางไปรษณีย์ได้

        การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลนี้ ถ้าศาลพิพากษาลงโทษ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไปยังศาล QUARTER SESSIONS แต่ถ้าศาลยกฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อศาล QUARTER SESSIONS พิพากษาแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อกฎหมายต่อไปยังศาล QUEEN’S BENCH ซึ่งตามปกติเป็นศาลชั้นต้น ซึ่งพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ถ้าคดีมีปัญหาข้อกฎหมายหรือเกี่ยวด้วยอำนาจพิจารณาของศาล โจทก์และจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล MAGISTRATES ตรงไปยังศาล QUEEN’S BENCH ได้เลยทีเดียว ถ้าจำเลยใช้สิทธิดังนี้ จะหมดสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไปยังศาล QUARTER SESSIONS

        การพิจารณาอุทธรณ์ของศาล QUARTER SESSIONS นอกจากคดีที่จำเลยอุทธรณ์ในเรื่องโทษอย่างเดียว ทำโดยวิธีสืบพยานใหม่ และมีอำนาจพิจารณาเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะอุทธรณ์แต่เพียงขอให้ยกฟ้อง นอกจากนี้ศาลยังมีอำนาจส่งสำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปให้ศาล MAGISTRATES อื่นที่อยู่ในเขตท้องถิ่นเดียวกับศาล MAGISTRATES เดิมพิจารณาพิพากษาใหม่ได้

        การพิจารณาอุทธรณ์จากศาล MAGISTRATES ของศาล QUEEN’S BENCH ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาล MAGISTRATES ได้พิจารณาไว้ ข้อเท็จจริงที่ศาล MAGISTRATES ทำไว้นี้เรียกว่า CASE STATED เมื่อคู่ความจะอุทธรณ์ จะต้องร้องขอต่อศาล MAGISTRATES ให้บันทึกข้อเท็จจริงในคดี ศาลมีสิทธิปฏิเสธได้ แต่จะต้องออกหลักฐานในการปฏิเสธให้ บันทึกข้อเท็จจริงนี้ ศาลจะต้องทำภายใน 3 เดือน (ช้ากว่าของศาลเรามาก) ศาล QUEEN’S BENCH มีสิทธิส่งสำนวนพร้อมด้วยความเห็นให้ผู้พิพากษาศาล MAGISTRATES คนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนพิจารณาพิพากษาใหม่ได้

        การพิจารณาอุทธรณ์จากศาล QUARTER SESSIONS ในข้อกฎหมายของศาล QUEEN’S BENCH คงเป็นการพิจารณาโดยวิธี CASE STATED เช่นเดียวกับการพิจารณาอุทธรณ์จากศาล MAGISTRATES และอำนาจของศาลก็คล้ายคลึงกัน

[แก้ไข] 2. ฟ้องเป็นลายลักษณ์อักษร
อาจทำได้ 3 วิธี คือ

        1. การฟ้องโดยวิธีที่เรียกว่า CRIMINAL INFORMATION คำฟ้องนี้ ATTOR NEY GENERAL (เจ้าหน้าที่สูงสุดฝ่ายกฎหมายของแผ่นดิน และเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล โดยนัย อาจเทียบได้กับอธิบดีกรมอัยการของเรา) เป็นผู้ฟ้องต่อศาล QUEEN’S BENCH ในคดีบางคดีซึ่งกระทบกระเทือนต่อแผ่นดิน รัฐบาล หรือข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือรัฐมนตรีในหน้าที่ เป็นต้น การฟ้องโดยวิธีนี้มักไม่ค่อยจะมีมากนัก

        2. การฟ้องโดยวิธีการไต่สวนของ CORONER ในคดีฆ่าคน (CORONER คือ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจไต่สวนเมื่อมีการตายเกิดขึ้นในเขตอำนาจ โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่า ตายโดยผิดธรรมชาติ ไม่ปรากฏสาเหตุ หรือตายในเรือนจำ การไต่สวนทำในศาลของ CORONER ต่อหน้าลูกขุน) เมื่อปรากฏจากพยานหลักฐานว่าบุคคลใดตายโดยการกระทำของบุคคลอื่น CORONER จะออกหมายจับผู้กระทำผิด และส่งสำนวนการไต่สวนไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี และถือเอาสำนวนการไต่สวนนี้เป็นการฟ้อง

        การฟ้องโดยวิธีนี้อาจซ้ำกับการฟ้องโดยวิธี INDICTMENT ได้ ฉะนั้นหากมีการฟ้องคดีฆ่าคนต่อศาลอื่นก่อน ศาลนั้นจะต้องแจ้งให้ CORONER ทราบ และ CORONER จะต้องเลื่อนการไต่สวนไป แต่ถ้า CORONER ไต่สวนและฟ้องก่อนที่จะได้รับแจ้ง จำเลยก็อาจถูกฟ้องทั้งสองทาง แต่ศาลย่อมพิจารณาแต่เพียงคดีเดียว เพื่อกันข้อยุ่งยากมิให้เกิดขึ้น ในทางปฏิบัติคดีฆ่าคนจึงมักจะยื่นฟ้องโดยวิธี INDICTMENT

        3. คำฟ้องโดยวิธี INDICTMENT การฟ้องโดยวิธีนี้ คำฟ้องไม่ใช่โจทก์เป็นผู้เซ็น แต่ CLERK OF THE PEACE (ถ้าคำฟ้องยื่นต่อศาล QUARTER SESSIONS) หรือ CLERK OF ASSIZE (ถ้าคำฟ้องยื่นศาลต่อ ASSIZES) เป็นผู้เซ็น และจะเซ็นได้ต่อเมื่อ

        ก. ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องคดีนั้นที่ศาล MAGISTRATES และศาลสั่งว่าคดีมีมูลแล้ว

        ข. โดยคำสั่งหรือด้วยความยินยอมของผู้พิพากษา HIGH COURT (HIGH COURT คือศาลซึ่งตามปกติพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่ง แบ่งเป็นแผนก QUEEN’S BENCH, CHANCERY, และ DIVORCE, PROBATE AND ADMIRALTY แต่แผนก QUEEN’S BENCH มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาโดยวิธี CRIMINAL INFORMATION และพิพากษาอุทธรณ์ในข้อกฎหมายจากศาล MAGISTRATES และ QUARTER SESSIONS ดังได้กล่าวมาแล้ว ผู้พิพากษาประจำ HIGH COURT นี้นอกจากจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งแล้ว ยังอาจได้รับแต่งตั้งให้นั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาล ASSIZES ซึ่งรวมทั้งศาลอาญาส่วนกลาง CENTRAL CRIMINAL COURT หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า OLD BAILEY ด้วย)

        ค. เมื่อพยานเบิกความเท็จในระหว่างพิจารณาคดี และศาลที่พิจารณาคดีเห็นสมควรให้ฟ้องพยานนั้นฐานเบิกความเท็จ

        ในการไต่สวนมูลฟ้องของศาล MAGISTRATES ดังกล่าวใน ข้อ ก. เมื่อศาลสั่งว่า คดีมีมูล โจทก์ (นอกจาก DIRECTOR OF PUBLIC PROSECUTIONS) ย่อมผูกพันโดยทราบว่าจะต้องฟ้องจำเลย และพยานโจทก์ที่ให้การแล้วก็ต้องผูกมัดโดยวิธีเดียวกันว่า จะต้องไปให้การชั้นพิจารณาคดีโดยไม่จำต้องออกหมายเรียกอีก เว้นแต่ศาลเห็นว่าไม่จำเป็น เช่น จำเลยรับสารภาพ ก็อาจสั่งว่าพยานไม่จำต้องไปให้การในชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์จะต้องการและแจ้งให้ทราบ (DIRECTOR OF PUBLIC PROSECUTIONS คือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฟ้อง ดำเนินคดีอาญา ภายใต้คำแนะนำปรึกษาของ ATTORNEY GENERAL และยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานตำรวจ JUSTICES CLERK และบุคคลอื่นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา ตามธรรมดา DIRECTOR OF PUBLIC PROSECUTIONS จะเป็นโจทก์แต่เฉพาะคดีที่มีโทษถึงประหารชีวิต หรือคดีที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ)

        ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาโดยการฟ้องดังกล่าวข้างต้นได้แก่

ศาล QUARTER SESSIONS ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาจำกัดกว่าศาลอาญาอื่น เช่น ไม่อาจจะพิจารณาคดีฆ่าคน คดีที่มีอัตราโทษจำคุกถึงตลอดชีวิต หรือคดีที่มีปัญหาข้อกฎหมายซับซ้อน เช่น ดคีเบิกความเท็จ ปลอมหนังสือเป็นต้น QUARTER SESSIONS แบ่งเป็น COUNTY SESSIONS และ BOROUGH SESSIONS ผู้พิพากษาของ COUNTY SESSIONS เรียกว่า JUSTICES OF THE PEACE ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมาย แต่หัวหน้ามักจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย ส่วนผู้พิพากษาของ BOROUGH SESSIONS มีคนเดียวเรียกว่า RECORDER ซึ่งจะต้องแต่งตั้งจากผู้ที่สำเร็จเนติบัณฑิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
ศาล ASSIZES ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกคดี แต่ว่าศาลนี้มิได้นั่งพิจารณาคดีตลอดปี ปีหนึ่งจะนั่งพิจารณาคดีประมาณ 2 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งประมาณ 1 เดือน หรือจนกว่าคดีจะเสร็จ และทั้งอังกฤษและเวลส์ศาลนี้จะนั่งพิจารณาเพียง 7 แห่งเท่านั้น
ศาลอาญาส่วนกลาง หรือที่เรียกกันว่า OLD BAILEY มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกคดีและนั่งพิจารณาตลอดปี แต่จะพิจารณาแต่เฉพาะคดีที่เกิดในลอนดอน และหัวเมืองใกล้เคียงเท่านั้น
        การพิจารณาคดีในศาลทั้งสามนี้ต้องกระทำต่อหน้าผู้พิพากษาหนึ่งนาย และลูกขุน 12 คน ลูกขุนนี้ CLERK OF THE COURT จะเป็นผู้เลือกจากรายชื่อซึ่ง SHERIFF (ไม่ใช่นายอำเภออย่างที่มักจะเข้าใจกัน) เป็นผู้ทำประจำแต่ละท้องถิ่น ลูกขุนอาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลอายุระหว่าง 21 ถึง 60 ปี และมีที่ดิน หรือถือที่ดินมีมูลค่าปีละ 10 ปอนด์ หรือเป็นเจ้าของบ้านซึ่งเสียภาษีปีละ 20 ปอนด์ ลูกขุนนี้อาจถูกคู่ความคัดค้านได้ในการพิพากษาคดี ลูกขุนจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจำเลยผิดหรือไม่ คำวินิจฉัยจะต้องเป็นเอกฉันท์ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจะต้องสืบพยานใหม่ต่อหน้าลูกขุนคณะใหม่ ถ้าครั้งที่สองลูกขุนยังไม่สามารถให้คำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ได้ ศาลต้องพิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สาม ในทางปฏิบัติเมื่อถึงครั้งนี้โจทก์ย่อมเสนอขอไม่สืบพยาน ซึ่งผลก็เท่ากับยกฟ้อง ผู้พิพากษาย่อมผูกพันในคำวินิจฉัยของลูกขุนถ้าเอกฉันท์ และมีหน้าที่เพียงกำหนดโทษเท่านั้น แต่ว่าในทางปฏิบัติเวลาผู้พิพากษาสรุปข้อเท็จจริงให้ลูกขุนฟัง ก็มักจะเน้นถึงความสำคัญของพยานบางคน ถึงข้อกฎหมายบางประการ ซึ่งก็เท่ากับชี้แนวให้ลูกขุนเหมือนกัน

        เมื่อศษลพิพากษาคดีแล้ว จำเลยเท่านั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และอุทธรณ์ต่อไปยังศาลอุทธรณ์ส่วนอาญา (COURT OF CRIMINAL APPEAL) ถ้าเป็นปัญหาข้อกฎหมายจำเลยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ถ้าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลที่พิพากษาคดีหรือศาลอุทธรณ์ และถ้าอุทธรณ์เรื่องโทษอย่างเดียว ศาลอุทธรณ์เท่านั้นที่จะอนุญาตได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วคู่ความไม่มีสิทธิฎีกาต่อไปยัง HOUSE OF LORDS เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ หรือ HOUSE OF LORDS และจะอนุญาตได้แต่เฉพาะคดีที่เป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับประชาชนจริง ๆ

        HOUSE OF LORDS นี้ทำหน้าที่ทั้งเป็นสภาสูงของ PARLIAMENT และเป็นทั้งศาลสูงสุด แต่ผู้พิพากษาในศาลนี้จะต้องประกอบด้วย LORD CHANCELLOR, LORDS OF APPEAL IN ORDINARY และ PEER ผู้ดำรงตำแหน่งทางกฎหมายซึ่งเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า LAW LORDS.


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย