การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอื่น

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ บทความกฎหมาย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอื่น
        ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานในคดีเรื่องหนึ่งจะนำไปรับฟังในอีกคดีหนึ่งได้เพียงใดหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีอยู่ไม่น้อย มีกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มาตราเดียว คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” ตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ หมายความว่า ได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาไว้แล้ว แต่ต่อมาได้มีการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นอีก ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งนั้น ศาลจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงดั่งที่ศาลได้วินิจฉัยและพิพากษามาแล้วในคดีอาญานั้น แต่ก็มีปัญหาต่อไปว่า ถ้าคดีที่ได้พิพากษามาก่อนเป็นคดีแพ่ง และคดีที่พิจารณาภายหลังเป็นคดีอาญา หรือคดีก่อนและคดีหลังเป็นคดีอาญาด้วยกัน หรือเป็นคดีแพ่งด้วยกัน ข้อเท็จจริงในคดีก่อน จะนำมาผูกพันการวินิจฉัยในคดีหลังได้เพียงใด

        เพื่อเป็นการตอบปัญหาเหล่านี้ ผู้เขียนได้พยายามหาหลักเกณฑ์จากคำพิพากษษของศาลฎีกาบ้าง จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องบ้าง จากหลักเกณฑ์ของศาลต่างประเทศ และจากแนวความคิดเห็นของนักกฎหมายบ้าง มาเทียบเคียงไว้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับให้มีการค้นคว้าเรื่องนี้ให้กว้างขวางต่อไป

ผู้เขียนขอแบ่งหัวข้อเพื่อความสะดวกดังนี้

คดีอาญากับคดีอาญาด้วยกัน
คดีอาญากับคดีแพ่ง
คดีแพ่งกับคดีแพ่งด้วยกัน และ
คดีแพ่งกับคดีอาญา
[แก้ไข] 1. คดีอาญากับคดีอาญาด้วยกัน
        ถ้าคดีอาญาทั้งสองคดีนั้น จำเลยเป็นบุคคลคนละคนกัน แม้ข้อหาที่จะต้องพิจารณาจะเป็นข้อหาในการกระทำผิดเดียวกันทั้งสองคดีก็ตาม ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนหาอาจนำมาผูกพันจำเลยในคดีหลังได้ไม่ ทั้งนี้เพราะพยานหลักฐานในคดีก่อนมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 จำเลยไม่มีสิทธิซักค้านโต้แย้งพยานหลักฐานในคดีก่อน และไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาเช่นว่านัน้

        ถ้าคดีทั้งสองนั้น จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน และถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน หรือต่างข้อหากันแต่สืบเนื่องมาจากการกระทำอันเดียวกัน คำพิพากษาและข้อวินิจฉัยในคดีก่อนย่อมผูกมัดจำเลยและโจทก์ในคดีหลัง ไม่ว่าโจทก์ในคดีหลังจะเป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีแรกหรือไม่ ผลแห่งความผูกมัดในคำพิพากษษคดีก่อนนั้นจึงทำให้คำฟ้องในคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำกับคำฟ้องในคดีก่อน ทำให้สิทธิของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยในคดีหลังระงับไป ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4)

        ตัวอย่างเช่นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยฉ้อโกง ศาลได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยมิได้ทำผิด โจทก์จะมาฟ้องจำเลยผู้นั้นว่าแจ้งความเท็จในการกระทำเดียวกันนั้นอีกหาได้ไม่ (ฎีกาที่ 553/2484)

        โจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ก. ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ต่อมา ก. ตาย โจทก์จะฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้นฐาน ฆ่า ก. ตาย อีกมิได้ (ฎีกาที่ 2019/2492)

        โจทก์และ น. เคยถูกจำเลยฟ้องในคดีแพ่ง ต่อมา น. ฟ้องจำเลยหาว่าเบิกความเท็จ ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนั้นอีกมิได้ (ฎีกาที่ 559/2484)

        อัยการเคยฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ศาลลงโทษไปแล้ว ผู้เสียหายจะมาฟ้องจำเลยเดียวกันนั้นฐานบุกรุกในกรรมเดียว วาระเดียวกันนั้นอีกมิได้ (ฎีกาที่ 168/2489)

        คำพิพากษาในคดีก่อนนั้น แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ก็ย่อมผูกมัดโจทก์ในคดีหลังมิให้ฟ้องจำเลยคนเดียวในความผิดนั้นได้อีก ทั้งนี้เนื่องมาจากมีภาษิตกฎหมายอยู่ว่า บุคคลไม่ควรจะถูกลงโทษในความผิดเดียวกันถึงสองครั้ง เช่น พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลได้พิพากษาไปแล้ว แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยคนเดียวในความผิดเดียวกันนั้นได้อีก (ฎีกาที่ 671/2483)

        ตามหลักกฎหมายอังกฤษ เมื่อจำเลยถูกฟ้องจนศาลพิพากษาไปแล้ว ไม่ว่าจะดดยพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดหรือมิได้กระทำผิด จำเลยผู้นั้นหากถูกฟ้องในความผิดเดียวกันนั้นอีก ย่อมยกข้อต่อสู้ว่าตนถูกศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว (Autrefois acquit) หรือถูกศาลพิพากษาว่าได้กระทำผิดไปแล้ว (Autrefois convict) ได้ และถ้าเป็นความจริงศาลก็ย่อมจะยกฟ้องคดีหลังนั้นเสีย

        ถ้าจำเลยคนเดียวกันนั้นไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะถูกฟ้องได้ใหม่ในความผิดเดียวกันนั้นอีก ซึ่งมีกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 เช่น อัยการได้ฟ้องคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวได้ และได้ถอนฟ้องคดีนั้นไปก่อนที่ศาลจะพิจารณา ดังนี้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีนั้นใหม่ได้ หรือกลับกันผู้เสียหายได้ฟ้องคดีเช่นว่านั้นแล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป อัยการก็มีอำนาจฟ้องคดีนั้นได้อีก ในกรณีเช่นนี้มีปัญหาว่า คำให้การพยานบุคคลในคดีก่อนจะนำมาอ้างอิงให้รับฟังในคดีหลังได้เพียงใดหรือไม่ โดยไม่ต้องนำพยานเหล่านั้นมาสืบอีกครั้งหนึ่ง ปัญหาเช่นนี้มิได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายของเราโดยตรง จะอ้างว่ารับฟังมิได้ ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้ ทั้งการสืบพยานในคดีก่อนนั้นก็ได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยมีโอกาสซักค้านได้เต็มที่อยู่แล้ว จะมีข้อโต้แย้งก็แต่เพียงว่าคำให้การพยานนั้นเป็นพยานบอกเล่าในคดีหลังเท่านั้น แต่ตามหลักคอมมอนลอว์ของอังกฤษ พยานเช่นว่านี้นำมารับฟังในคดีหลังได้ในเมื่อ

คู่ความในคดีก่อนและคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกัน หรือสืบสิทธิจากคู่ความเดียวกัน (privy)
มีประเด็นหรือมูลคดีความผิดอย่างเดียวกัน
คู่ความฝ่ายที่พยานถูกอ้างมายันนั้นมีโอกาสที่จะซักค้านพยานเช่นว่านั้นได้ และ
ไม่สามารถจะอ้างพยานนั้นมาเบิกความในคดีหลังได้ เนื่องจากพยานนั้นตาย วิกลจริต ป่วยเจ็บจนไม่สามารถให้การได้ หรือถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขัดขวางมิให้มาเบิกความ
        ตามหลักกฎหมายอเมริกา ได้มีกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 ในปี ค.ศ. 1935 มีบัญญัติเพิ่มเติมเป็นข้อ 3 (d) ว่า “เมื่อจำเลยเคยถูกพิจารณาคดีโดยคำฟ้องไม่ว่าจะโดย indictment หรือ information เกี่ยวกับความผิดในข้อหาอย่างเดียวกันมาก่อน คำให้การพยานในคดีก่อนอาจนำมาอ้างเป็นพยานในคดีหลังที่ถูกฟ้องอย่างเดียวกันได้ หากแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลว่าพยานเช่นว่านั้นตาย วิกลจริต หรือไม่สามารถจะหาตัวได้ในรัฐนั้น ”

        หลักเกณฑ์จากกฎหมายทั้งของอังกฤษ และอเมริกา นี้น่าจะนำมาใช้กับหลักกฎหมายของเราได้ และเฉพาะที่ว่าต้องเป็นคู่ความเดียวกัน หรือสืบสิทธิจากคู่ความเดียวกัน (privy) ตามหลักกฎหมายของอังกฤษนั้น ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 964/2507 วินิจฉัยว่า การที่อัยการได้ฟ้องคนขับรถว่า ประมาททำให้บุตรของโจทก์บาดเจ็บนั้น ถือว่าอัยการได้ฟ้องคดีแทนโจทก์ คำพิพากษาในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ในคดีที่ฟ้องคนขับรถในทางแพ่งด้วย

[แก้ไข] 2. คดีอาญากับคดีแพ่ง
        เกี่ยวกับคดีอาญาและคดีแพ่งนี้ มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา”

        แม้มาตรา 46 จะเขียนไว้กว้าง ๆ เช่นนี้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาจะฟังมาผูกมัดคดีแพ่งได้ ก็จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

        1. คู่ความในคดีอาญาและคดีแพ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกัน (ฎีกาที่ 793/2492 และที่ 1884/2492) หลักเกณฑ์ที่ว่านี้มีคำอธิบายอยู่ในคำพิพากษาฎีกาที่ 36/2501 และที่ 650/2507 ว่ามาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ จะผูกพันก็เฉพาะแต่คู่ความเดียวกันเท่านั้น

        คดีก่อนอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ต่อมาผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในทางแพ่ง เนื่องจากคดีอาญานั้น ก็ถือว่าอัยการได้ฟ้องคดีอาญานั้นแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจึงต้องถูกผูกพันในคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลในคดีอาญาเช่นเดียวกับจำเลยเหมือนกัน (ฎีกาที่ 964/2507)

        การที่โจทก์และจำเลยในคดีแพ่งเคยถูกอัยการฟ้องเป็นคดีอาญา หาว่าขับรถชนกันโดยประมาท และศาลพิพากษาคดีไปแล้ว ก็ถือว่าโจทก์และจำเลยในคดีแพ่งเป็นคู่ความมาแล้วในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 ข้อ 11 เมื่อคดีอาญาศาลฟังว่าจำเลยมิได้ประมาท ข้อเท็จจริงเช่นนั้นย่อมผูกมัดโจทก์ในคดีแพ่งด้วย (ฎีกาที่ 1285/2481)

        บุคคลภายนอกผู้มิได้ถูกฟ้องในคดีอาญาด้วย ย่อมไม่ถูกผูกมัดในคำชี้ขาดข้อเท็จจริงในคดีอาญา (ฎีกาที่ 1078/2494 และที่ 793/2497) ดังนั้นจึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ได้วินิจฉัยแล้วได้ ส่วนการที่ศาลจะรับฟังเพียงใดหรือไม่นั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง

        2. คำพิพากษาในคดีอาญานั้นต้องเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้น และต้องถึงที่สุดแล้ว (ฎีกาที่ 875/2492 และที่ 1104 – 1105/2501)

        3. คำพิพากษาของศาลในคดีอาญาต้องเป็นคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงแล้ว ชี้ขาดเป็นยุติแล้ว หากในคดีอาญาศาลวินิจฉัยเพียงว่าคดีเป็นที่สงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยดังนี้ ในคดีส่วนแพ่งศาลมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ (ฎีกาที่ 928/2507)

        4. ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญานั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา และในคดีแพ่งก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกับคดีอาญานั้น ถ้าคดีอาญาศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า จำเลยมิได้ลักข้าวในนา แต่มิได้วินิจฉัยว่านานั้นเป็นของใคร ในคดีแพ่งที่คู่ความพิพาทกันว่านาพิพาทเป็นของผู้ใดนั้น ศาลย่อมฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ (ฎีกาที่ 789/2498) หรือเช่นเดิม จำเลยฟ้องโจทก์ว่าลักตัดยางในสวนพิพาท และในคดีนั้นศาลฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงพิพากษายกฟ้อง ในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้แสดงว่า สวนพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์ก็มีส่วนได้ 2 ใน 3 ส่วน ศาลฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน เมื่อใช้บรรพ 5 แล้ว เพราะคดีใหม่มีมูลกรณีเป็นคนละอย่างหาได้เกี่ยวเนื่องมาจากคดีอาญาที่หาว่าลักตัดยางในสวนพิพาทไม่ (ฎีกาที่ 661/2498)

        จำเลยเคยถูกอัยการฟ้องว่าทำร้ายผู้เสียหายบาดเจ็บ จำเลยรับสารภาพ ศาลลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 254 ต่อมาผู้เสียหายฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหาย จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงใหม่ว่า การทำร้ายนั้นเกิดจากการวิวาทระหว่างจำเลยและผู้เสียหายได้ เพราะคดีก่อนนั้นศาลมิได้ฟังว่าวิวาทกันหรือไม่ (ฎีกาที่ 1380/2493)

        แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคู่ความในคดีแพ่ง ตกลงให้ถือเอาพยานหลักฐานในคดีอาญามาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมใช้ได้

        ตามหลักกฎหมายอังกฤษ คำพิพากษาในคดีอาญาที่ให้ยกฟ้องจำเลยนั้น ไม่ยอมให้นำมารับฟังในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้เลย ทั้งนี้เพราะถือว่าภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาและคดีแพ่งต่างกัน คดีอาญาโจทก์จะต้องนำสืบให้เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (beyond a reasonable doubt) ฉะนั้นการที่ศาลยกฟ้องจึงไม่หมายความว่า จำเลยจะมิได้กระทำผิดเสมอไป จำเลยอาจกระทำผิดแต่โจทก์นำสืบให้ศาลลงโทษจำเลยมิได้ก็ได้ ผิดกับคดีแพ่งซึ่งถือเอาน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดนำสืบสมข้ออ้าง หรือข้อต่อสู้ได้ดีกว่ากันเท่านั้น

        แต่คำพิพากษาในคดีอาญาที่พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น มีบางคดีที่ศาลยอมรับฟังข้อเท็จจริงที่ฟังว่า จำเลยทำผิดมาใช้ฟังในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นด้วย เช่น คดี Hill v. Clifford แต่คดีส่วนมากถือคำพิพากษาเช่นว่านี้ไม่อาจนำมารับฟังผูกมัดจำเลยในคดีแพ่งได้ คดีที่สำคัญคือ คดี Hollington v. Hewthorn ซึ่ง Lord Goddard ผู้ตัดสินให้เหตุผลในการไม่รับฟังว่า

คำวินิจฉัยของศาลในคดีอาญานั้นเป็นเพียงความเห็นของศาลอื่นเท่านั้น มิใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีแพ่ง
ประเด็นในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่ตรงกันทีเดียว
คำวินิจฉัยของศาลในคดีอาญา ถือเป็นเพียงความเห็นเท่านั้น จึงจะนำความคิดเห็นมาฟังเป็นพยานในคดีหลังมิได้
คำวินิจฉัยในคดีอาญาเป็นพยานบอกเล่าในคดีหลัง
ถ้าคำพิพากษษว่าจำเลยทำผิดนำมารับฟังได้ คำพิพากษาที่ให้ยกฟ้องก็ควรรับฟังได้เช่นกัน
        ตามหลักกฎหมายของอเมริกา บางศาลก็ยอมรับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาที่ลงโทษจำเลย บางศาลก็ไม่ยอมรับฟัง แต่ความคิดเห็นของนักกฎหมายส่วนมากยอมให้รับฟังได้ ดังจะเห็นได้จากหนังสือชื่อ Model Code of Evidence จัดพิมพ์โดย American Law Institute ใน ค.ศ. 1942 ข้อ 521 ว่า “คำพิพากษาของศาลที่พิพากษาว่าบุคคลใดทำผิดคดีอาญาประเภท crime หรือ misdemeanour ย่อมนำมารับฟังเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวอ้างไว้ในคำพิพากษานั้น หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษษนั้นได้”

        สำหรับออสเตรเลีย เดิมก็ไม่ยอมรับเอาคำพิพากษาคดีอาญาที่ลงโทษจำเลยมาผูกมัดคดีแพ่ง แต่ใน ค.ศ. 1945 ได้มีกฎหมายออกมาแก้ไขกฎหมายลักษณะพยานเดิม โดยแก้ไข Evidence Act 1929 เพิ่มเติมมาตรา 34 (a) ดังนี้

         “เมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษษว่าได้กระทำผิด และการกระทำความผิดนั้นเป็ฯประเด็น หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นในคดีแพ่ง คำพิพากษาเช่นว่านั้นย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานผูกมัดบุคคลนั้น หรือบุคคลอื่นที่อ้างสิทธิของบุคคลผู้กระทำผิดนั้นได้ แต่ถ้าคำพิพากษานั้นมิใช่คำพิพากษษของศาลสูง (Supreme Court) ย่อมรับฟังมิได้ เว้นแต่ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งเห็นสมควรจะรับฟังเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

[แก้ไข] 3. คดีแพ่งกับคดีแพ่งด้วยกัน
        เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 บัญญัติเป็นใจความว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความ ในกระบวนการพิจารณาของศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเท่านั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ ตามมาตรา 142 (1), 245, 274 และคำพิพากษาที่เกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล คำพิพากษษสั่งให้เลิกนิติบุคคล คำสั่งเรื่องล้มละลายซึ่งบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้ คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิดีกว่า

        ดังนั้นคำพิพากษาและข้อเท็จจริงในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ย่อมจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีนั้นเท่านั้น จะนำคำพิพากษาในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งไปใช้ยัน หรือให้ผูกพันคู่ความอื่นในคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ ไม่ว่าคดีทั้งสองนั้นจะมีประเด็นอย่างเดียวกัน พยานหลักฐานอย่างเดียวกันหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าคู่ความบางคนจะเคยเป็นคู่ความในคดีก่อนมาก่อน เช่น เป็นโจทก์ทั้งสองคดี หรือเป็นจำเลยทั้งสองคดีหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่คู่ความในคดีหลังจะตกลง หรือยอมให้ผูกพันเช่นนั้น (ฎีกาที่ 563//2479 ที่ 1305 – 1306/2479 และที่ 76/2492)

        ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีก่อนและในคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีทั้งสองพิพาทกันในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นอย่างเดียวกันแล้ว คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลในคดีก่อน ย่อมผูกพันคู่ความในคดีหลังด้วย เพราะถือว่าคู่ความในคดีหลังได้เป็นคู่ความในคดีก่อน ซึ่งต้องถูกผูกพันในผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีก่อนนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นแม้จะนำคดีมาฟ้องกันใหม่ ความผูกพันนั้นก็ต้องติดมาด้วย

        เช่นเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน แต่ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงนั้น จึงพิพากษายกฟ้อง ดังนี้หากโจทก์มาฟ้องจำเลยใหม่ ขอให้แบ่งที่ดินนั้นให้ตนตามส่วน โจทก์และจำเลยย่อมถูกผูกพันในคำพิพากษาคดีก่อน จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่พิพาทมิได้ ศาลชอบที่จะฟังตามข้อเท็จจริงในคดีก่อนและให้แบ่งที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลย โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไปได้ (ฎีกาที่ 660/2498)

        แต่ถ้าประเด็นในคดีก่อนและคดีหลังเป็นประเด็นเดียวกัน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อนมาแล้ว คู่ความในคดีเดิมนั้นก็ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องในประเด็นเช่นว่านั้นอีก เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นดั่งที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

        ถ้าคู่ความต่างกัน หรือประเด็นในคดีที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนและหลังต่างกัน หรือไม่เกี่ยวเนื่องกันแล้ว คำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนหาผูกพันคู่ความในคดีหลังไม่ อย่างไรจะถือว่าประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันนั้น อาจพิเคราะห์ได้จากพยานหลักฐานเดียวกันนั้น นำมาใช้สนับสนุนประเด็นทั้งสองนั้นได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ถือว่าเป็นประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน

        คำว่าคู่ความเดียวกันนี้ มิได้จำกัดเฉพาะตัวโจทก์หรือจำเลยเดียวกันเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงผู้ที่สิ้นสิทธิจากคู่ความในคดีก่อนด้วย (privy) เช่น เดิมผู้มีชื่อในโฉนด 2 คน พิพาทกันเรื่องสิทธิในที่ดิน ศาลพิพากษาว่าได้ครอบครองมาคนละครึ่ง จึงให้แบ่งที่ดินตามที่ได้ครอบครองมา ต่อมาที่ดินนั้นตกมาเป็นของโจทก์และจำเลย ดังนี้คำพิพากษษในคดีก่อนย่อมผูกมัดโจทก์และจำเลยด้วย เพราะแม้จะมิใช่คู่ความในคดีก่อน แต่ก็ถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความในคดีก่อน โจทก์จะมาฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินนั้นใหม่ ให้ผิดจากเดิมมิได้ (ฎีกาที่ 949/2496)

        สามีหรือภริยาที่ดำเนินคดีโดยอาศัยสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิของฝ่ายนั้นด้วย เช่น ภริยาฟ้องคดีขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสามีอนุญาต คดีเสร็จไปโดยการประนีประนอมยอมความ สามีจะกลับมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้น ขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันนั้นอีกมิได้ (ฎีกาที่ 699/2498)

        แต่ถ้าสามีและภริยานั้นได้เป็นคู่ความในคดีก่อน และคดีหลังในฐานะต่างสิทธิกัน ก็ไม่ถือว่าสามีหรือภริยาเป็นผู้สืบสิทธิซึ่งกันและกัน คำพิพากษษในคดีก่อนจึงไม่ผูกมัดสามีหรือภริยาในคดีหลัง เช่น โจทก์เคยฟ้องห้ามจำเลยขัดขวางคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ระหว่างฎีกาสามีโจทก์ตาย ศาลฎีกาจำหน่ายคดี เพราะเห็นว่าสิทธิที่จะได้รับประทานบัตรเหมืองแร่เป็นสิทธิเฉพาะตัว คำพิพากษษศาลอุทธรณ์ในคดีนั้นผูกพันเพียงคู่ความในคดีเดิมเท่านั้น ไม่ผูกพันภริยา ภริยามีสิทธิฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดในคดีก่อนไม่ปิดปากจำเลยคดีนี้ จำเลยอาจต่อสู้ได้เช่นเดียวกับที่เคยต่อสู้คดีก่อนมาแล้วได้ (ฎีกาที่ 76/2492)

        ผู้จัดการมรดกคนใหม่ในกองทรัพย์มรดกเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นผู้เสียสิทธิของผู้จัดการมรดกก่อนด้วย และเมื่อผู้จัดการมรดกคนก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล และศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว ผลแห่งคำพิพากษษตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมผูกพันผู้จัดการมรดกคนก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และผู้จัดการมรดกคนใหม่ย่อมถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้นด้วย (ฎีกาที่ 948/2507)

        ถ้าคู่ความในคดีก่อนและคดีหลัง แม้จะเป็นบุคคลเดียวกัน แต่กระทำการคนละฐานะกัน เช่นคดีก่อนกระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกหรือผู้รับมอบอำนาจ และคดีหลังกระทำการในฐานะส่วนตัวหรือกลับกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน คำพิพากษษในคดีก่อนจึงไม่ผูกมัดคู่ความในคดีหลัง

        คำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลาย ย่อมใช้อ้างอิงโดยบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือใช้ยันต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เสมอไป ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคู่ความในคดีก่อนหรือไม่ กล่าวคือ คำพิพากษษเช่นว่านี้ ย่อมนำมาฟังหรือมาผูกพันคู่ความในคดีใด ๆ ได้ทั้งสิ้น คำพิพากษาเช่นนี้ตรงกับคำพิพากษาที่เรียกว่า Judgments in Rem ในกฎหมายอังกฤษ และใช้ยันได้ต่อบุคคลทั่วไปเช่นเดียวกับของเราเหมือนกัน ส่วนคำพิพากษาที่ผูกพันเฉพาะคู่ความนั้นตรงกับ Judgments in Personam ซึ่งมีหลักเกณฑ์การนำมาใช้ในอีกคดีหนึ่งเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145

        คำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน อาจใช้ยันต่อบุคคลนอกคดีได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะฟังเป็นยุติเสียทีเดียว บุคคลภายนอกอาจนำสืบหักล้างใหม่ได้ว่า ตนมีสิทธิดีกว่า เช่นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและศาลได้มีคำสั่งว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้ร้อง คำสั่งนี้ก็หานำมาใช้ยันต่อเจ้าของที่ดินอันแท้จริง ผู้มีสิทธิดีกว่าได้ไม่ (ฎีกาที่ 532/2496)

        คำพิพากษาหรือคำสั่งที่จะนำมาผูกพันคู่ความในคดีหลังนั้น จะต้องเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุด และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อคดีอาญากับคดีแพ่ง

        ส่วนคำให้การพยานบุคคลในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง จะนำไปรับฟังในคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่ง จะได้เพียงใดนั้น ก็สุดแล้วแต่ข้อตกลงยินยอมของคู่ความ หากคู่ความมิได้ตกลงกันไว้ก็อาจจะรับฟังได้ในเมื่อกรณีเข้าหลักเกณฑ์ ตามกฎหมายอังกฤษดั่งกล่าวมาแล้ว ในหัวข้อคดีอาญากับคดีอาญาด้วยกันเพียงแต่ในคดีแพ่ง หลักเกณฑ์ในข้อ 4 ขยายไปจากหลักเกณฑ์ในคดีอาญาให้กว้างขึ้นว่า “แม้ไม่สามารถจะอ้างพยานนั้นมาเบิกความในคดีหลังได้เพราะอยู่นอกเขตอำนาจศาล หรือไม่สามารถจะหาตัวให้พบได้ ไม่ว่าด้วยประการใด” ก็ใช้ได้

[แก้ไข] 4. คดีแพ่งกับคดีอาญา
        ตามปกติข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีแพ่งไม่อาจนำไปผูกพันคู่ความในคดีอาญาได้ ไม่ว่าคู่ความนั้นจะเป็นคู่ความเดียวกันในทั้งสองคดีหรือไม่ (ฎีกาที่ 1131/2482 และที่ 183/2508) ทั้งนี้เพราะถือว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นำมาใช้ได้ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ประการหนึ่ง และภาระในการพิสูจน์ในคดีแพ่งมีน้อยกว่าในคดีอาญา โดยคดีอาญาโจทก์จะต้องนำสืบให้ศาลแน่ใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น โดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควรอีกประการหนึ่ง

        ตามหลักกฎหมายอังกฤษก็เป็นเช่นเดียวกัน คือไม่ยอมให้คำวินิจฉัยของศาลในคดีแพ่งมาผูกมัดในการวินิจฉัยคดีอาญา ไม่ว่าจำเลยและคู่ความจะเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่

        ส่วนการอ้างคำให้การพยานในคดีแพ่งมาเป็นพยานในคดีอาญานั้น แม้จะอ้างได้แต่จะรับฟังได้ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า เพราะคำให้การเช่นว่านั้นมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสซักค้าน

        อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผลแห่งคำวินิจฉัยในคดีเรื่องหนึ่ง ไม่อาจนำมาใช้ยันหรือผูกพันคู่ความในอีกคดีหนึ่งได้ดังกล่าวมาในหัวข้อต่าง ๆ ข้างต้นนั้น คำพิพากษานั้นก็อาจนำมาอ้างเป็นพยานในคดีหลังได้ โดยถือว่าเป็นเอกสารมหาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 แต่ก็คงใช้รับฟังได้เพียงเท่าที่ปรากฏในคำพิพากษษนั้นเท่านั้น เช่นว่าคำพิพากษานั้นตัดสินเมื่อใด ใครเป็นคู่ความ และพิพากษาว่าอย่างไรเป็นต้น กรณีมักจะมีเมื่อโจทก์อ้างคำพิพากษษมายันจำเลย ซึ่งต่อสู่ว่าตนมิได้เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษมาก่อน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย