การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
ดร.ปัญญา อุดชาชน นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ

การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
        รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญที่นำมาใช้ในการกำหนดทิศทางการเมือง การปกครองของประเทศคือ การออกเสียงประชามติ (Referendum) การออกเสียงประชามติ หมายถึง กระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นโดยให้ตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งเป็นการลงมติวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือความมั่นคงของประเทศอย่างยิ่ง ในต่างประเทศการออกเสียงประชามติได้ถูกนำมาใช้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เพื่อลงมติแยกตัวเป็นอิสระเป็นประเทศใหม่กรณีมณฑลQuebec ที่ต้องการแยกตัวออกจากประเทศCanada โดยมีThe Quebec Referendum Actค.ศ. 1978 เป็นกฎหมายใช้ในการออกเสียงประชามติที่จัดขึ้นในปี 2538 เพื่อลงมติชี้ขาดร่างกฎหมาย หรือเพื่อลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับประเทศไทย การออกเสียงประชามติได้ถูกนำมาใช้เพื่อขอความเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เช่น รัฐธรรมนูญปี 2492 ปี 2511 และปี 2517 เพื่อขอความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2534 และเพื่อขอคำปรึกษาจากประชาชนของคณะรัฐมนตรี เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้น แต่การออกเสียงประชามติยังไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 บัญญัติให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการครบถ้วนตามที่กำหนดไว้แล้ว โดยผลการออกเสียงประชามติมี 2 ลักษณะคือ ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศใช้บังคับ แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบ ผลที่เกิดขึ้นคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไปและสภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงด้วย ดังนั้น การออกเสียงประชามติย่อมเกิดขึ้นแน่นอนในประเทศไทยในอนาคตอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญต่อการออกเสียงประชามติอย่างสูงสุด ดังนี้

        1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องให้ความสำคัญกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... เป็นลำดับแรกทั้งทางด้านรูปแบบและเนื้อหาที่ประกอบด้วย 31 มาตราอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นกติกาการปฏิบัติ

        2. ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของการออกเสียงประชามติและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกเสียงประชามติโดยผ่านกลไกของรัฐ องค์กรเอกชน และสื่อมวลชน

        3. ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา เป็นหน่วยปฏิบัติที่ต้องรณรงค์สิทธิของการออกเสียงประชามติและลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดที่มีโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

        จะเห็นได้ว่า การออกเสียงประชามติเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายที่จะชี้ชะตาว่า ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการเลือกตั้งตามที่สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้หรือไม่ หากผลการออกเสียงประชาติไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน จะด้วยเหตุผลของความไม่เข้าใจหรือเหตุผลอื่นก็ตาม ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นอย่างมหาศาลทั้งเวลาที่เสียไปและงบประมาณของแผ่นดิน

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศาลรัฐธรรมนูญ
ดร.ปัญญา อุดชาชน นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย