การเติมเต็มในสัญญากู้เงิน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com โดย ลีลา LAW การเติมเต็มในสัญญากู้เงิน

การเติมเต็มในสัญญากู้เงิน
        ปกติแล้วเมื่อต้องการกู้ยืมเงินกันเจ้าหนี้มักมีสัญญากู้มาให้ลูกหนี้เซ็นชื่อรับทราบจำนวนเงินทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องหนี้ทางศาลในภายหลังหากลูกหนี้เบี้ยวไม่ยอมชำระหนี้ มันเป็นขั้นตอนปกติที่กระทำกันมานานแล้ว อีกกรณีหนึ่งซึ่งลูกหนี้อาจเคยพบด้วย คือ การทำสัญญากู้เงินโดยให้เจ้าหนี้ไปกรอกตัวเลขเงินที่ยืมและดอกเบี้ยเอง โดยลูกหนี้เซ็นชื่อรับสภาพหนี้ไว้ล่วงหน้า หลายคนต้องพบทีหลังว่าเป็นหนี้สูงเกินจริงเพราะเจ้าหนี้ซึ่งมีจิตทุจริตกรอกตัวเลขตามใจชอบ ต่อมาต้องทะเลาะกับลูกหนี้และหลายคนถูกยึดบ้านหรือจ่ายคืนหนี้สูงเพราะความประมาทของตน

        กรณีศึกษานี้เป็นตัวอย่างของการทำสัญญากู้เงินโดยละเว้นไม่กรอกตัวเลขหนี้ที่มีระหว่างกัน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต่อมาเกิดการโต้แย้งกันเมื่อลูกหนี้ไม่ยอมรับตัวเลขดังกล่าวที่เจ้าหนี้เขียนเติมเข้าไปด้วยข้ออ้างว่าตนมิได้เขียนจำนวนเงินนั้น จึงไม่ยอมชดใช้หนี้เงินที่ยืมจากเจ้าหนี้ ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงและคำโต้แย้งของทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงมี คำพิพากษาฎีกาที่ 7428/2543 ว่า นายเบี้ยว ยอมรับว่ากู้ยืมเงินตามสัญญากู้ที่ไม่ได้กรอกข้อความและตัวเลขจริง อีกทั้งได้ลงลายมือชื่อไว้จริงในฐานะลูกหนี้ ถือว่าสัญญากู้เป็นเอกสารที่ไม่ได้รับความยินยอม แต่เจ้าหนี้กรอกจำนวนเงินกู้ตามความเป็นจริง อัตราดอกเบี้ยไม่เกินกำหนดของกฎหมายด้วย จึงถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรค 1 กำหนดว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังนั้น นายเบี้ยว ผู้เป็นลูกหนี้ต้องใช้เงินตามสัญญากู้ฉบับนี้คืนแก่เจ้าหนี้

        คำพิพากษาในกรณีศึกษาข้างต้นนั้นเป็นการบอกย้ำว่าการกระทำที่เกิดด้วยความสุจริตใจและเป็นความจริง กฎหมายย่อมคุ้มครองผู้สุจริตเสมอ แต่ลูกหนี้ควรกรอกข้อความและจำนวนเงินกู้ตามความเป็นจริงให้ชัดเจนในวันทำสัญญากู้ หากเจ้าหนี้แก้ไขตัวเลขภายหลังเพื่อเอาเปรียบ ลูกหนี้จะรับผิดชอบหนี้เท่าตัวเลขจริงเท่านั้นเพราะกฎหมายไม่คุ้มครองการกระทำที่ทุจริต สิ่งพึงระวังให้มากในการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมิใช่ธนาคารคือ การคิดดอกเบี้ยต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ร้อยละ 15 ต่อปี เพราะจะทำให้ดอกเบี้ยกลายเป็นโมฆะทั้งหมดและเรียกร้องต่อกันไม่ได้เลย นอกจากนั้นเจ้าหนี้ซึ่งคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวยังมีโทษอาญาถึงขั้นจำคุกอีกด้วย ดังนั้น ลูกหนี้พึงปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนไว้และตระหนักแก่ใจด้วยว่า เมื่อท่านเดือดร้อน เจ้าหนี้เป็นผู้ผ่อนคลายปัญหาของท่าน จึงไม่ควรโกงหนี้ด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆนานา ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ควรได้รับดอกเบี้ยตามที่กฎหมายพึงอนุญาตไว้และอย่าคิดเอาเปรียบผู้ขัดสนเนื่องเพราะเขาเป็นลูกค้าที่สร้างรายได้เลี้ยงชีพให้ท่านและครอบครัวอยู่กันอย่างผาสุก ดังนั้น จงอย่าคิดเอาเปรียบซึ่งกันและกันเลย

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com โดย ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย