การเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา

การเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุ
บทนำ

        ปัจจุบันมักปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้งถึงปัญหาเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในขณะอยู่ในสมณเพศนั้น เป็นการได้มาในฐานะส่วนตัว หรือได้มาเพราะมีผู้ให้แก่ศาสนา ให้แก่วัด พระภิกษุเพียงแต่ครอบครองไว้แทน โดยปัญหาเหล่านี้บางครั้งนำมาซึ่งความมัวหมองแก่พุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ จึงควรที่จะได้มีการพิจารณาทบทวนถึงหลักกฎหมายเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุอีกสักครั้ง

สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน
        พระภิกษุเป็นบุคคลเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป ดังนั้น สิทธิของพระภิกษุในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ดังที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 รับรองไว้ในมาตรา 48 วรรคแรกว่า

         “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

        อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินไว้ แต่หาใช่รับรองไว้โดยไม่มีขอบเขต โดยขอบเขตของสิทธิในทรัพย์สิน ตลอดจนการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สิทธิของพระภิกษุในทรัพย์สิน
        ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุนั้น ไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องกำหนดไว้เป็นเอกเทศ โดยปกติย่อมถือตามกฎหมายทั่วไปเหมือนกับทรัพย์สินของบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่อย่างไรก็ดี ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของพระภิกษุไว้เป็นการเฉพาะอยู่ 3 มาตรา ดังนี้ คือ

(1) มาตรา 1622 พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แต่ พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้

(2) มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

(3) มาตรา 1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

        จากมาตรา 1623 และมาตรา 1624 กฎหมายแยกการได้มาซึ่งทรัพย์สินของพระภิกษุเป็น 2 กรณี คือ

กรณีแรก การได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คือ มาตรา 1624
กรณีที่สองการได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ คือ มาตรา 1623
-การได้มาที่ดูจะเป็นปัญหา คือ กรณีที่สอง การได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ

ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ
        เมื่ออ่านตัวบทมาตรา 1623 แล้ว ในเบื้องต้นอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุนั้น ฉะนั้น ท่านจึงสามารถจำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรมก็ได้ แต่หากพิจารณาถึงที่มาและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าการณ์หาเป็นดังเช่นที่กล่าวมาไม่ กล่าวคือ มาตรา 1623 นี้มีที่มาจากกฎหมายลักษณะมฤดก บทที่ 36 ซึ่งตราไว้ว่า

         “มาตราหนึ่ง ภิกษุจุติจากอาตมภาพและคหัถจะปันเอาทรัพย์มรดกนั้นมิได้ เหตุว่าเขาเจตนาทำบุญให้แก่เจ้าภิกษุเปนของอยู่ในอารามท่านแล้ว ถ้าเจ้าภิกษุอุทิศไว้ให้ทานแก่คหัถ ๆ จึ่งรับทานท่านได้

        อนึ่ง ถ้าคหัถมรณภาพ บิดา มารดา ญาติพี่น้องลูกหลานเป็นเจ้าภิกษุอยู่ในสิกขาบทแล้ว จะปันเอาทรัพย์มรดกคหัถนั้นมิได้ เหตุว่าเปนบุตรพระเจ้าแล้ว ถ้าคหัถผู้มรณภาพนั้นอุทิศไว้ ถวายสะวิญาณกะทรัพย์และอะวิญาณกะทรัพย์แก่เจ้าภิกษุผู้เปนญาติพี่น้องลูกหลาน จึ่งรับเอาทรัพย์ทั้งนั้นเปนเจ้าของเจ้าภิกษุได้ ถ้าเจ้าภิกษุจุติจากอาตมภาพ ทรัพย์นั้นคงเปนของในอาราม ผู้ใดว่าจะกล่าวเอาท่านว่าหามิได้เลย”

นอกจากนี้ ในบทที่ 2 ตราไว้ว่า
         “อนึ่ง ผู้มรณภาพนั้น เอาสะวิญาณกะทรัพย์และอะวิญาณกะทรัพย์ไปฝากไว้ยังอารามก็ดี แลสั่งไว้ให้ทำบุญให้ทานก็ดี และจำเภาะให้แก่เจ้าภิกษุองค์ใดก็ดี ผู้ใดจะเอาออกจากอารามนั้นมิได้ ท่านว่าผู้นั้นมิพ้นจัตุราบาย”

        การที่กฎหมายลักษณะมฤดกตราไว้เช่นนี้ เพราะประเพณีไทยแต่เดิมถือกันว่าของถวายเข้าวัดแล้วอาถรรพณ์ ใครเอากลับเข้าบ้านคนนั้นจะไม่มีความเจริญ [1]

        ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 1623 นี้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้อธิบายไว้อย่างชัดแจ้ง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศไว้ ดังนี้

(1) “มีข้อที่สังเกตได้ในเบื้องต้นว่าประมวลแพ่งฯ มาตรา 1623 ไม่เกี่ยวกับสมบัติของ วัด วัดเป็นนิติบุคคล...จึงถือสิทธิและมีสิทธิในทรัพย์สินได้ กรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1623 เกี่ยวเป็นเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุซึ่งถึงแก่มรณภาพ กฎหมายให้ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศตกเป็นสมบัติของวัดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เหตุผลในทางนิตินัยและในทางศาสนาอยู่ที่ว่า พระภิกษุอยู่ในสถาบันอนาถาเป็นผู้ไม่หามาหรือสะสมไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ แต่ห้ามไม่ได้ที่จะมิให้ชาวบ้านถวายของเป็นจตุปัจจัยตามศรัทธา ซึ่งสำหรับพระบางองค์ที่เทศนาโปรดสัตว์เก่ง ๆ อาจได้กัณฑ์เทศนี้เป็นเงินสะสมไว้ถึงเรือนแสนก็ได้ ของที่ชาวบ้านถวายพระนี้ในทางหลักนโยบายถือว่าเป็นของที่เขาทำบุญในศาสนา ไม่ใช่ของให้แก่พระเป็นส่วนตัว เมื่อพระถึงแก่มรณภาพ กฎหมายจึงให้ตกเป็นสมบัติของวัด ว่ากันในทางนโยบาย บทบัญญัติเช่นนี้ย่อมเป็นผลดีไปอีกทางหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีบทบังคับให้ทรัพย์สินของพระภิกษุตกเป็นของวัดเมื่อมรณภาพ พระบางองค์ที่ไม่เคร่งในทางธรรมวินัยอาจขวนขวายสะสมทรัพย์สมบัติผิดต่อสมณเพศ ทำให้พระศาสนาเศร้าหมอง” [2]

(2) “มีข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินของพระที่ตกได้แก่วัดนั้น ตัวบทไม่ได้กล่าวว่าเป็นมฤดก และจะกล่าวว่าเป็นมฤดกของพระก็กล่าวไม่ได้ เพราะสาเหตุในหลักการนโยบายที่ให้ทรัพย์ของพระตกเป็นของวัด ก็เพราะถือว่าเป็นของที่ชาวบ้านเขาทำบุญในพระศาสนา ไม่ได้ให้แก่พระเป็นส่วนตัว” [3]

(3) “มีข้อยกเว้นบัญญัติไว้ในมาตรา 1623 ว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุจะตกเป็นของวัดต่อเมื่อท่านมิได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม ข้อนี้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ซึ่งผู้ทรงศีลเป็นพระภิกษุจะพึงบำเพ็ญจาคะ ทำบุญให้ทานแก่คนอื่น กฎหมายจึงได้บัญญัติยกเว้นไว้ให้ท่านจำหน่ายทรัพย์สินได้ ทั้งในระหว่างชีวิตและโดยพินัยกรรม ทรัพย์ใดที่ท่านได้จำหน่ายไปแล้วเช่นนี้ ย่อมไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ประเพณีในทางปฏิบัติของพระภิกษุที่เคร่งในพระธรรมวินัย เมื่อได้จตุปัจจัยมาเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ท่านมักจะจับสลากแจกจ่ายไปในบรรดาสามเณรและศิษย์วัด ไม่เก็บสะสมไว้ แม้ท่านจะทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์เมื่อท่านมรณภาพ ก็อยู่ในหลักการของการบำเพ็ญจาคะอยู่นั่นเอง ทางวัดจะโต้แย้งเอาเป็นสมบัติของวัดไม่ได้”

(4) เมื่อพิจารณาดูถึงที่มาของมาตรา 1623 ประกอบกับวัตถุประสงค์แล้วจะเห็นว่าทรัพย์สินที่มีผู้ให้แก่พระภิกษุในขณะอยู่ในสมณเพศนั้นกฎหมายถือว่าเป็นของที่ให้เพื่อทำบุญในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ให้แก่พระภิกษุเป็นการส่วนตัว เพราะถ้าไม่ใช่เป็นพระภิกษุ ก็จะไม่มีคนทำบุญให้ หรือดังที่มีผู้ตั้งคำถามว่า“ถ้าไม่บวชจะได้มาหรือ”

        ส่วนการที่กฎหมายยอมให้พระภิกษุจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศได้นั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระภิกษุจะพึงบำเพ็ญจาคะ ทำบุญให้ทานแก่คนอื่น

        อนึ่ง มีข้อพึงสังเกตว่า กรณีที่พระภิกษุสึกออกจากสมณเพศ บุคคลนั้นจะนำทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมณเพศมาเป็นของตนเองได้หรือไม่ ประเด็นนี้ ว่ากันตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์แล้วไม่อาจจะทำได้ เพราะถือว่าเป็นของที่มีผู้ให้แก่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ให้ในฐานะส่วนตัว

        แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกรณีดังกล่าว ผู้ที่สึกจากสมณเพศมักจะนำทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศออกไปด้วย อีกทั้ง นักกฎหมายบางท่านยังได้ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กรณีข้างต้นสามารถกระทำได้ กล่าวคือ

(1) “ตัวอย่าง พระภิกษุ ก. อุปสมบทครั้งแรก ระหว่างอยู่ในสมณเพศมีผู้นำพระพุทธรูปทองคำ 1 องค์มาถวาย หลังจากสึกแล้วได้อุปสมบทอีก ครั้งหลังมีผู้ถวายเงิน 50,000 บาท พระภิกษุ ก. นำเงินนั้นไปเก็บไว้ที่บ้าน ต่อมาพระภิกษุ ก. มรณภาพ ดังนี้ พระพุทธรูปทองคำตกทอดแก่ทายาทของพระภิกษุ ก. ก่อนอุปสมบทตามมาตรา 1624 ส่วนเงิน 50,000 บาท ตกเป็นสมบัติของวัดเพราะเป็นทรัพย์ที่พระภิกษุ ก. ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ แม้ขณะมรณภาพเงินจำนวนนี้ไม่ได้อยู่ที่วัดที่เป็นภูมิลำเนา วัดก็มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวน 50,000 บาท นี้ได้ตามมาตรา 1623” [6]

(2) “ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบทในมาตรานี้ หมายถึง ที่มีอยู่ก่อนอุปสมบทครั้ง สุดท้ายนั่นเอง ดังนั้น หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างดำรงสมณเพศครั้งก่อน แต่ลาสิขาบทออกไปแล้วกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ก็คงต้องถือว่าทรัพย์สินนี้ได้มาก่อนการดำรงสมณเพศนั่นเอง” ดังนี้ จึงน่าพิจารณาอย่างยิ่งว่า ควรแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินของพระภิกษุระหว่างอยู่ในสมณเพศหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขโดยกำหนดให้ทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มาในระหว่างที่เป็นสมณเพศให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัด

ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอยู่ที่ใคร
        ดังได้พิจารณาในหัวข้อที่ 3 ที่ผ่านมาแล้วว่า โดยนโยบายและเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้พระภิกษุนั้นไม่ใช่ให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุ แต่ให้แก่พุทธศาสนา แต่มีปัญหาต่อไปว่าถ้าเช่นนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้พระภิกษุจะตกได้แก่ใคร เพราะพุทธศาสนาไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

        ประเด็นข้างต้น จะเห็นว่าแม้พุทธศาสนาจะเป็นสถาบันที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่วัดมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 จะถือได้หรือไม่ว่า กรรมสิทธิ์ตกอยู่ที่วัดที่พระภิกษุนั้นมีภูมิลำเนาอยู่

        เมื่อพิจารณา มาตรา 1623 แล้วจะเห็นว่า กฎหมายให้ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาระหว่างเวลาอยู่ในสมณเพศนั้นเป็น “ทรัพย์สินของพระภิกษุ” ซึ่งดูแล้วจะเห็นว่ากรณีนี้เองเป็นช่องทางที่ทำให้บุคคลผู้เป็นภิกษุแต่เพียงในนาม อาศัยหาผลประโยชน์ โดยการบวชเพื่อจะได้รับทรัพย์สิน หากสามารถแสดงออกให้เกิดความศรัทธาเคารพจากประชาชน แล้วมีผู้บริจาคทรัพย์ให้จำนวนมากทรัพย์นั้น “ภิกษุแต่ในนาม” ก็จะเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว หรือไม่ก็ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบรรดาญาติพี่น้อง ทั้ง ๆ ที่ หากภิกษุแต่ในนามนั้น ไม่ได้ห่มผ้าเหลืองแล้วก็คงไม่มีใครบริจาคทรัพย์สินให้

        ดังนี้ จากการที่ได้พิจารณาที่มา นโยบาย เจตนารมณ์ของมาตรา 1623 แล้ว แสดงให้เห็นว่า แม้กฎหมายจะให้ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมณเพศเป็นของพระภิกษุ โดยพระภิกษุสามารถจำหน่ายออกไปได้ ก็เพื่อสอดรับกับหลักคำสอนในพุทธศาสนาเรื่องการบริจาค แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป มีบุคคลที่เป็นภิกษุแต่ในนามจำนวนหนึ่งแฝงตัวอยู่ในพุทธศาสนา แล้วอาศัยช่องทางตามมาตรา 1623 เพื่อแสวงหาทรัพย์สินเป็นของตนเอง จึงน่าที่จะทบทวนหลักการในมาตรา 1623 ว่า ถึงเวลาที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่

บทส่งท้าย
        ผู้เขียนเองมีความเห็นว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาการทางวัตถุเจริญก้าวหน้าขึ้น แต่จิตใจคนมิได้พัฒนาตามไปด้วยโดย ลักษณะพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นผู้รับเอาซึ่งสถาบันอนาถา ที่จะประทั้งชีวิตอยู่ด้วยเพียงปัจจัย 4 คือ [8]

(1) บิณฑิตบาตหรืออาหารที่มีคนเขาถวาย
(2) จีวร คือ เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งตามหลักได้มาจากผ้าติดศพ
(3) คิลาณเภสัช คือ ยารักษาโรค อันประกอบด้วยของดองน้ำมูด
(4) เสนาสน คือ ที่อยู่อาศัยตามโคนต้นไม้
        บทบัญญัติมาตรา 1623 ที่เปิดช่องให้เข้าใจได้ว่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมณเพศ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุนั้นทำให้เกิดปัญหา ในกรณีพระภิกษุบางรูปที่ไม่เคร่งธรรมวินัย อาจขวนขวายสะสมทรัพย์สมบัติผิดต่อสมณเพศ ทำให้เป็นที่เศร้าหมองแก่พุทธศาสนา

        ดังนั้น ควรจะแก้ไขหลักการในมาตรา 1623 โดยกำหนดให้ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างเวลาอยู่ในสมณเพศนั้น ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพของพระภิกษุ เช่น จีวร คิลาณเภสัช เท่านั้นที่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุได้


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย