วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com การแจ้งเกิด

การแจ้งเกิด
ผู้แจ้ง

        เด็กเกิดในบ้าน เป็นหน้าที่ของ ผู้เป็นเจ้าบ้าน

        เด็กเกิดนอกบ้าน เป็นหน้าที่ของ มารดาเด็กหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

        เด็กเกิดที่โรงพยาบาล เป็นหน้าที่ของ โรงพยาบาลจะออกใบรับรองการเกิดให้บิดาหรือมารดา เพื่อนำไปแจ้งการเกิดที่สำนักทะเบียนที่โรงพยาบาลนั้นตั้งอยู่ ยกเว้น โรงพยาบาลแห่งที่ทำความตกลงกับสำนักงานเขตอาจเป็นผู้ดำเนินการแจ้งเกิดให้

กำหนดเวลาการแจ้งเกิด

        ต้องแจ้งชื่อของเด็กพร้อมการเกิดภายใน ๑๕ วัน นับแต่ วันที่เด็กเกิด

สถานที่แจ้งเกิด

        เด็กที่เกิดในเขตเทศบาล แจ้งที่สำนักงานทะเบียนซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาลนั้นเอง

        เด็กที่เกิดนอกเขตเทศบาล แจ้งที่ที่ว่าการอำเภอหรือที่สำนักงานทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เช่น เขตกรมทหาร

        เด็กที่เกิดในกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต

        เด็กซึ่งเป็นบุตรบุคคลสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศ ถ้าต้องการให้บุตรมีสัญชาติไทยต้องแจ้งต่อสถานกงสุลไทย หรือสถานฑูตไทย ณ ประเทศนั้น ๆ เนื่องจากสถานกงสุลไทย หรือสถานฑูตไทย เป็นสำนักงานทะเบียนในต่างประเทศ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

        กรณีเกิดที่บ้าน

        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านและของบิดามารดาเด็ก

        ๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

        กรณีเกิดนอกบ้าน

        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนของมารดาเด็ก

        ๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

        ๓. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ที่ได้รับมอบหมาย (กรณีมารดาเด็กไม่ได้ไปแจ้งเกิดด้วยตนเอง)

        กรณีเกิดที่โรงพยาบาล

        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาเด็กและผู้แจ้ง (กรณีที่บิดามารดาไม่สามารถไปแจ้งได้ด้วยตนเอง)

        ๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะนำเด็กย้ายเข้า

        ๓. หนังสือรับรองการเกิดของผู้รักษาพยาบาลโดยอาชีพ

        ๔. อายุ สัญชาติ

ค่าธรรมเนียม

        การแจ้งเกิดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ

โทษของการไม่แจ้งเกิด

        การไม่แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท

การแจ้งเกิดเกินกำหนด

        หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงกรณีเป็นบุตรของบุคคลที่มีสัญชาติไทย

        ๑. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

        ๒. บัตรประจำตัวประชาชน

        ๓. หลักฐานที่แสดงว่าบิดามารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย เช่น ทะเบียนบ้าน ทะเบียนทหาร สูติบัตร ใบสุทธิ

        ๔. พยานเอกสาร ได้แก่ ใบรับรองการเกิด ทะเบียนนักเรียน(ถ้ามี)

        ๕. พยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิด ได้แก่ บิดามารดา ผู้ทำคลอด เจ้าบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้รู้เห็นการเกิดอื่น ๆ เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน โดยต้องมีพยานบุคคลอย่างน้อย ๒ คน พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน

        หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงกรณีเป็นบุตรของบุคคลต่างด้าว

        ๑. เช่นเดียวกับผู้มีสัญชาติไทยทั้ง ๕ ข้อ

        ๒. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้ายของบิดามารดา

        ๓. รูปถ่ายเด็กที่ขอแจ้งเกิด ขนาด ๒"x๓" จำนวน ๒ ภาพ

        ๔. รูปถ่ายทั้งครอบครัวของเด็กที่ขอแจ้งเกิด จำนวน ๑ รูป โดยระบุชื่อและความสัมพันธ์กับเด็กทุกคนไว้ด้านหลังรูป

        ๕. หลักฐานการพิสูจน์ตัวบุคคลที่เกิดแต่ไม่ได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา เช่น ทะเบียนนักเรียน

        ๖. เอกสารหลักฐานต่าง ๆ หากเป็นสำเนาของหน่วยราชการให้หน่วยราชการนั้นเป็นผู้รับรองให้เรียบร้อย

โทษของการไม่แจ้งเกิด

        การไม่แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลามีความผิด และเสียค่าปรับ ไม่เกิน ๒๐๐ บาท

 


หมายเหตุ

        เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานและสอบสวนข้อเท็จจริงเปรียบเทียบปรับ (กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา) และได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย (กรณีบุตรบุคคลต่างด้าว)แล้ว นายทะเบียนจะออกสูติบัตรพร้อมทั้งเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน

[แก้ไข] การแจ้งตาย
ผู้แจ้ง

        คนตายในบ้าน เป็นหน้าที่ของ ผู้เป็นเจ้าบ้านหรือผู้พบเห็นหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน

        คนตายนอกบ้าน เป็นหน้าที่ของ บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพ

        คนตายในต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของ บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้รู้เห็นการตาย

กำหนดเวลาการแจ้งตาย

        ต้องแจ้งการตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ

สถานที่แจ้งตาย

        คนตายในเขตเทศบาล แจ้งที่สำนักงานทะเบียนซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาลนั้นเอง

        คนตายนอกเขตเทศบาล แจ้งที่ที่ว่าการอำเภอหรือที่สำนักงานทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เช่น เขตกรมทหาร         คนตายในกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต

        คนตายในต่างประเทศ แจ้งต่อสถานกงสุลไทย หรือสถานฑูตไทย ณ ประเทศนั้น ๆ เนื่องจากสถานกงสุลไทย หรือสถานฑูตไทยเป็นสำนักงานทะเบียนในต่างประเทศ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

        กรณีคนตายในบ้าน

        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหรือผู้แจ้งและผู้ตาย(ถ้ามี)

        ๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ตายมีชื่ออยู่

        ๓. หนังสือรับรองการตาย (ถ้าผู้ตายมีผู้รักษาพยาบาลโดยอาชีพ)

        ๔. กรณีนายทะเบียนสงสัยว่าอาจเป็นการตายด้วยโรคติดต่ออันตราย หรือตายโดยผิดธรรมดา อาจชะลอการออกมรณบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

        กรณีคนตายนอกบ้าน

        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบผู้ตายซึ่งเป็นผู้แจ้งและผู้ตาย (ถ้ามี)

        ๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

        ๓. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ที่ได้รับมอบหมาย (กรณีมารดาเด็กไม่ได้ไปแจ้งเกิดด้วยตนเอง)

        กรณีตายที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่นอกเขตที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่

        ๑. ต้องนำหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งที่โรงพยาบาลตั้งอยู่เพื่อขอให้ออกใบมรณบัตร

        ๒. ต้องนำใบมรณบัตรพร้อมด้วยหลักฐานที่จะต้องแสดงกรณีคนตายในบ้านหรือกรณีคนตายนอกบ้านไปแสดงต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้งที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่

ข้อมูลที่ต้องเตรียมไปแสดงเพื่อแจ้งการตาย

        ๑. ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ เพศ ของผู้ตาย

        ๒. ตายเมื่อวัน เดือน ปี ใด

        ๓. ที่อยู่ของผู้ตายและสถานที่ตาย

        ๔. สาเหตุที่ตาย

        ๕. ชื่อตัว ชื่อสกุล และสัญชาติของบิดามารดาผู้ตาย

        ๖. ศพของผู้ตายจะดำเนินการอย่างไร (เก็บ ฝัง เผา) ที่ไหน เมื่อไร (ถ้ารู้)

ค่าธรรมเนียม

        การแจ้งตายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ

การแจ้งตายเกินกำหนด

        ๑. ผู้แจ้งต้องไปยื่นคำร้องแจ้งการตายต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น พร้อมหลักฐานที่ต้องนำไปแสดง รวมทั้งข้อมูลที่จะต้องทราบเช่นเดียวกับการแจ้งตายภายในกำหนดเวลา

        ๒. นายทะเบียนดำเนินการสอบพยานหลักฐาน เมื่อเห็นว่าไม่มีเจตนาแอบแฝง นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะ ออกใบมรณบัตรให้โดยหมายเหตุมุมด้านขวาของมรณบัตรด้วยสีแดง "แจ้งการตายเกินกำหนด" และจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านโดยประทับตราว่า "ตาย" สีแดงไว้หน้าชื่อผู้ตายแล้วคืนสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านหรือผู้แจ้ง

โทษของการไม่แจ้งตาย

        การไม่แจ้งตายภายในกำหนดเวลามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท


เอกสารอ้างอิง คู่มือกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชน สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย(สคช) สำนักงานอัยการสูงสุด.

__________


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย