การแสดงเจตนาของนิติบุคคล

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา การแสดงเจตนาของนิติบุคคล www.lawonline.co.th บทความกฎหมาย

การแสดงเจตนาของนิติบุคคล
        นิติบุคคล มิใช่บุคคลตามธรรมชาติ แต่เป็นบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ นิติบุคคลหมายถึงคณะบุคคล หรือกองทรัพย์สินซึ่งกฎหมายยอมรับให้มีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เพียงแต่ว่าสิทธิและหน้าที่ใดซึ่งโดยสภาพแล้วจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น สิทธิและหน้าที่นั้นนิติบุคคลจะมีมิได้ เช่นสิทธิในการสมรส หรือหน้าที่ในการรับราชการทหาร สภาพไม่เปิดช่องให้นิติบุคคลมีได้ นิติบุคคลจึงจะสมรสหรือรับราชการทหารมิได้ แต่ถ้าสิทธิหรือหน้าที่ใด ที่ไม่ขัดต่อสภาพของนิติบุคคล เช่น สิทธิในการทำสัญญา สิทธิในการฟ้องร้อง หรือหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไป นิติบุคคลย่อมมีได้ ฉะนั้นถ้านิติบุคคลกระทำผิดตามกฎหมายทางอาญาก็อาจจะต้องรับโทษได้ เพียงแต่ว่าโทษที่จะลงนั้น จะจำคุกหรือประหารชีวิตมิได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามโดยที่นิติบุคคลเป็นบุคคลที่กฎหมายรับรอง หรืออนุญาตให้เป็นบุคคล มิใช่บุคคลธรรมดาทั่วไปที่เกิดตามธรรมชาติ ดังนั้นนิติบุคคลเกิดหรือมีขั้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จัดตั้งมหาวิทยาลัย เป็นต้น เมื่อนิติบุคคลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเช่นนี้ สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคล นอกจากจะต้องไม่เป็นสิทธิและหน้าที่ ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาดังกล่าวมาข้างต้นแล้วเท่านั้น สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลยังจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ให้อำนาจจัดตั้งเป็นนิติบุคคล และภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลดังที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้น ๆ อีกด้วย เช่น บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นเพื่อการค้าขาย ย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่นอกเหนือไปถึงกิจการอื่นที่มิใช่การค้าขาย เช่นจะทำกิจการให้กู้ยืมเงินมิได้เป็นต้น

        นิติบุคคล เมื่อเกิดหรือมีขึ้นแล้ว ย่อมมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจากบุคคลธรรมดา แม้ว่าบุคคลธรรมดานั้น จะรวมกันได้รับอำนาจจากกฎหมายให้เป็นนิติบุคคลนั้น ๆ ก็ตาม ทั้งนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1233/2505 ซึ่งวินิจฉัยว่า ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้วัด โดยเจ้าอาวาสลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมด้วย หาทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไม่ เพราะวัดเป็นนิติบุคคล ย่อมเป็นอีกบุคคลหนึ่งต่างหากจากเจ้าอาวาส แม้เจ้าอาวาสจะเป็นผู้แทนของวัด และความประสงค์ของนิติบุคคลแสดงปรากฏจากผู้แทนของนิติบุคคลก็ดี ก็ไม่มีผลทางกฎหมายให้เจ้าอาวาสกับวัดรวมเป็นบุคคลเดียวกัน ไม่ถือว่าวัดเป็นพยานในพินัยกรรม

        นิติบุคคลส่วนใหญ่เกิดขึ้น โดยอาศัยอำนาจของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามมาตรา 72 ได้แก่ ทบวงการเมือง วัดวาอาราม ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว

        ทบวงการเมืองนั้น มาตรา 73 อธิบายว่าได้แก่ กระทรวงและกรมในรัฐบาลเทศาภิบาลปกครองท้องที่และประชาบาลทั้งหลาย ตามมาตรา 73 นี้ คำว่ากระทรวงและกรมในรัฐบาลย่อมหมายความถึงกระทรวงและกรมโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่กินความถึงรัฐบาลด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 724/2490 ซึ่งวินิจฉัยว่า รัฐบาลมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย จึงเป็นคู่ความมิได้ คำว่าเทศาภิบาลปกครองท้องที่ย่อมกินความถึงผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 544/2475) แต่ไม่กินความถึงคณะกรรมการจังหวัดและคณะกรรมการอำเภอ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1061/2497) คำว่าประชาบาล ย่อมหมายถึงเทศบาลด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 538/2493)

        โดยที่นิติบุคคล มิใช่บุคคลธรรมดา เป็นเพียงคณะบุคคล หรือกองทรัพย์สินเท่านั้น ฉะนั้น จึงแสดงเจตนาหรือแสดงความประสงค์ด้วยตนเองดังเช่นบุคคลธรรมดามิได้ แต่เมื่อกฎหมายยอมให้มีสิทธิและหน้าที่ได้เหมือนบุคคลธรรมดาดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น กฎหมายจึงต้องบัญญัติให้มีผู้แสดงความประสงค์ หรือแสดงเจตนาแทนนิติบุคตลเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลนั้น ๆ กฎหมายที่ว่าคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 ซึ่งบัญญัติว่า “อันความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น”

        คำว่า “ผู้แทน” นี้ต่างจากคำว่า “ตัวแทน” ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 เพราะคำว่า “ผู้แทน” ตามมาตรา 75 เป็นผู้ที่แสดงความประสงค์ของนิติบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นิติบุคคลจะแสดงความประสงค์ จะใช้สิทธิหรือหน้าที่มิได้ หากไม่มีผู้แทน แต่ “ตัวแทน” นั้น เป็นบุคคลผู้มีอำนาจทำการอย่างหนึ่งอย่างใด แทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือตัวการโดยลำพังเองก็แสดงเจตนาแสดงความประสงค์เพื่อใช้สิทธิหรือหน้าที่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าตัวการไม่ประสงค์จะทำการใด หรือแสดงความประสงค์ใดด้วยตนเอง ก็ตั้งตัวแทนให้ทำการนั้น ๆ หรือแสดงความประสงค์นั้น ๆ แทนตน ฉะนั้น ถ้านิติบุคคลจะทำการใดด้วยตนเองก็กระทำโดยผู้แทน ถ้าไม่ประสงค์จะทำเอง ก็มอบอำนาจหรือตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนทำการแทนตน และการมอบอำนาจหรือตั้งตัวแทนนั้น นิติบุคคลก็ต้องแสดงเจตนามอบอำนาจ หรือตั้งตัวแทนโดยทางผู้แทนของนิติบุคคลอยู่นั่นเอง เกี่ยวกับผู้แทนและตัวแทนนี้ได้มี คำพิพากษาฎีกาที่ 1808/2494 อธิบายไว้ดังนี้ เมื่อข้อบังคับของบริษัทระบุให้อำนาจกรรมการ 2 คน ทำนิติกรรมแทนบริษัทได้ ฉะนั้น กรรมการ 2 คน จึงมีอำนาจเป็นผู้แทนบริษัทในการฟ้องคดีได้ กรณีเช่นนี้กรรมการ 2 คน นั้นได้ชื่อว่าผู้แทน (representative) ของบริาทตามมาตรา 75 มิใช่ตัวแทน (agent) ตามมาตรา 801

        เกี่ยวกับตัวแทนนั้น เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตัวแทนมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น ตัวแทนโดยแต่งตั้งแสดงออกชัด และตัวแทนโดยปริยาย (มาตรา 797) ตัวแทนเชิด (มาตรา 821, 822) และตัวแทนโดยการให้สัตยาบัน (มาตรา 823) ดังนั้นหากเป็นการตั้งตัวแทนประเภทแสดงออกชัด หรือประเภทให้สัตยาบันของนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นก็จะต้องแสดงความประสงค์ในการแต่งตั้ง หรือให้สัตยาบันตัวแทน โดยทางผู้แทนของนิติบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 75 แต่ถ้าเป็นตัวแทนโดยปริยาย หรือตัวแทนเชิด การแต่งตั้งตัวแทนก็ไม่จำเป็นต้องมี ฉะนั้นนิติบุคคลอาจมีตัวแทนโดยปริยาย หรือตัวแทนเชิดได้โดยไม่ต้องแสดงความประสงค์โดยอาศัยผู้แทนตามมาตรา 75 แต่ประการใด และตัวแทนโดยปริยายของนิติบุคคลนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากผู้แทนของนิติบุคคลนั่นเอง แต่เป็นผู้แทนที่ไม่ถูกตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง เช่น ตามข้อบังคับของบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีว่า ผู้ที่จะมีอำนาจทำการใดในนามของบริษัทจำกัดได้ ต้องเป็นกรรมการของบริษัท 2 คน และต้องประทับตราของบริษัทด้วย หากกรรมการเพียงผู้เดียว ทำการไปในนามบริษัท หรือกรรมการ 2 คน ทำการไปแต่มิได้ประทับตราบริษัทไว้ด้วยเช่นนี้ ก็ไม่ถือว่า กรรมการดังกล่าวนั้นทำการในฐานะเป็นผู้แทนตามมาตรา 75 ของบริาทแต่ก็อาจถือได้ว่าทำการในฐานะเป็นตัวแทนโดยปริยายบริษัทได้ และผลก็คือการที่กระทำไปนั้นผูกพันบริษัทเช่นเดียวกับกระทำโดยผู้แทนดุจกัน มีตัวอย่างเรื่องนี้ตามคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 955/2510 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดลงชื่อในสัญญาโดยมิได้ประทับตราของห้างหุ้นส่วน แต่ได้ความว่าในการทำสัญญาอื่น ๆ หุ้นส่วนผู้จัดการก็ปฏิบัติเช่นนี้ ต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนต้องรับผิดตามสัญญา แต่หุ้นส่วนผู้จัดการไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

        คำพิพากษาฎีกาที่ 853/2512 นิติบุคคลเชิดบุคคลอื่นให้มีอำนาจทำการแทนตน เมื่อบุคคลนั้นทำสัญญาในนามนิติบุคคล สัญญานั้นย่อมผูกพันนิติบุคคล นิติบุคคลจะยกเอาข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นมายันโจทก์หรือบุคคลภายนอกมิได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 362/2512 กรรมการผู้จัดการของนิติบริษัทซึ่งเป็นบุคคล ทำสัญญาเช่าซื้อในนามบริษัทโจทก์กับจำเลย มิได้ประทับตราบริษัทตามข้อบังคับ ถือว่าบริษัทโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 782/2516 ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1309/2515 ข้อบังคับของบริษัทมีว่า กรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงนามแทนบริษัทได้ แต่ต้องประทับตราบริษัท การที่บริษัทจ้างโจทก์โดยมิได้ประทับตราบริษัท แต่เมื่อบริษัทยอมรับเอาผลงานที่โจทก์ทำให้ จนมีการชำระค่าจ้างเรียบร้อยไปงวดหนึ่งแล้ว บริษัทจะปฏิเสธว่า สัญญาไม่มีผลผูกพันมิได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1709/2516 ประธานกรรมการมูลนิธิลงนามในหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่า โดยไม่มีกรรมการอื่นอีก 2 คน ลงนามให้ครบถ้วน แม้จะถือว่ามิได้ทำในนามผู้แทนมูลนิธิ แต่เห็นได้ว่าทำในฐานะตัวแทนของมูลนิธิ ทั้งมูลนิธิก็รับเอาผลนิติกรรมนั้น จำเลยจะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการเลิกสัญญาเช่ามิได้

        ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว นอกจากคำพิพากษาฎีกาที่ 1709/2516 เท่านั้น ที่ให้เหตุผลว่า นิติบุคคลย่อมผูกพันตามการกระทำของผู้ทำแทนในฐานะผู้ทำแทนเป็นตัวแทนคำพิพากษาฎีกา นอกนั้นมิได้ให้เหตุผลเลยว่าเหตุใดนิติบุคคลจึงต้องผูกพัน ในการกระทำของผู้ทำแทนนิติบุคคลนั้น ในเมื่อผู้ทำแทนนั้นมิใช่ผู้แทนของนิติบุคคลโดยชอบด้วยข้อบังคับ และกฎหมาย แต่แม้คำพิพากษาฎีกาเหล่านั้นจะมิได้ให้เหตุผลไว้ก็ตาม หลักกฎหมายที่ถือว่า นิติบุคคลจะต้องผูกพันในการกระทำของบุคคลผู้ทำแทนนั้น ก็ต้องอาศัยหลักตัวแทนดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนั้นเอง

        แต่ถ้ากรณีใดไม่สามารถจะอ้างความเป็นตัวแทนโดยปริยาย หรือตัวแทนเชิดได้แล้ว การกระทำของผู้ทำแทนนิติบุคคล (มิใช่ผู้แทนของนิติบุคคล ตามมาตรา 75) ย่อมไม่ผูกพันนิติบุคคล ทั้งนี้จะเห็นได้จาก คำพิพากษาฎีกาที่ 407/2501 ซึ่งวินิจฉัยว่า ข้อบังคับของบริษัทมีว่า “คณะกรรมการมีอำนาจตั้งตัวแทน กำหนดอำนาจตัวแทนได้ตามที่เห็นสมควร และให้คณะกรรมการเป็นโจทก์จำเลยในคดีแพ่งหรืออาญา โดยกรรมการ 2 นาย มีอำนาจลงนามและประทับตรา และให้คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการของบริษัท โดยความควบคุมของที่ประชุมใหญ่” เมื่อคณะกรรมการยังไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้จัดการฟ้องคดี ผู้จัดการจะอ้างนามบริษัทฟ้องมิได้

        โดยที่นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ฉะนั้น นิติบุคคลจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ และการฟ้องคดีก็ถือเป็นการแสดงความประสงค์อย่างหนึ่งของนิติบุคคล ฉะนั้น จึงต้องให้ผู้แทนของนิติบุคคลตามมาตรา 75 เป็นผู้ดำเนินคดีในนามของนิติบุคคล เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 944 – 945 /2497 วินิจฉัยว่า เจ้าอาวาสมีอำนาจมอบฉันทะให้ไวยาวัจกรฟ้องผู้บุกรุกที่ธรณีสงฆ์ของวัดได้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คำพิพากษาฎีกาที่ 538/2493 วินิจฉัยว่า นายกเทศมนตรีมีอำนาจฟ้องคดีซึ่งเทศบาลเป็นโจทก์ และลงชื่อแต่งทนายได้

        นอกจากนิติบุคคลจะดำเนินคดีเองโดยทางผู้แทนดังกล่าวแล้ว นิติบุคคลอาจมอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินคดีแทนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา หรือจะมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้จะเห็นได้จาก คำพิพากษาฎีกาที่ 755/2502 ซึ่งวินิจฉัยว่านิติบุคคลมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ได้ และคำพิพากษาฎีกาที่ 787 – 788 /2506 วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายไม่ว่าเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาผู้แทนได้

        โดยที่นิติบุคคลมีฐานะต่างหากจากบุคคลธรรมดา หรือต่างหากจากผู้แทนของนิติบุคคล ฉะนั้น เมื่อนิติบุคคลดำเนินคดีในศาลโดยทางผู้แทนก็ดี หรือโดยทางผู้รับมอบอำนาจก็ดี หากต่อมาผู้แทนหรือผู้รับมอบอำนาจตาย นิติบุคคลนั้นก็คงมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้ เพราะถือว่านิติบุคคลนั้นยังคงเป็นคู่ความอยู่มิได้ตายไปด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 480/2502 วัดมอบอำนาจให้ไวยาวัจกรฟ้องคดี ต่อมาไวยาวัจกรตาย ก็ไม่ทำให้ใบแต่งทนายที่ไวยาวัจกรลงชื่อไว้สิ้นสุดไปด้วย ทนายคงดำเนินคดีต่อไปได้ เพราะถือว่าทนายความยังเป็นทนายความของโจทก์อยู่ คำพิพากษาฎีกาที่ 678/2512 เมื่อผู้แทนของนิติบุคคลตาย นิติบุคคลก็ยังคงดำเนินคดีต่อไปได้)

        เมื่อนิติบุคคลมีสิทธิเป็นโจทก์ได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา นิติบุคคลจึงย่อมมีความรับผิดในทางแพ่งและทางอาญาได้เช่นกัน สำหรับความผิดในทางแพ่งนั้น นิติบุคคลจะต้องรับผิดก็เฉพาะแต่เมื่อการกระทำของนิติบุคคลนั้น อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้น ๆ และภายใต้บังคับของกฎหมายที่ใให้อำนาจจัดตั้งนิติบุคคลนั้นด้วย หากการใดได้กระทำไปนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ นิติบุคคลย่อมไม่ต้องรับผิด แต่ผู้ที่กระทำการนั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้แทนหรือบุคคลอื่นอาจต้องรับผิดเป็นส่วนตัวได้ แต่สำหรับความผิดในทางอาญานั้น นิติบุคคลจะต้องรับผิดก็แต่เฉพาะความผิดที่สภาพของความผิดเปิดช่องให้ลงโทษแก่นิติบุคคลได้ เช่น ความผิดที่มีโทษปรับ หรือริบทรัพย์เป็นต้น หากความผิดใดมีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกแต่สถานเดียว นิติบุคคลย่อมไม่อาจจะมีความรับผิดในความผิดเช่นนั้นได้ หรือความผิดใดโดยสภาพจะพึงกระทำผิดได้ เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่นความผิดฐานลักทรัพย์ เบิกความเท็จ นิติบุคคลก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน นอกจากนี้แม้กรณีจะเข้าหลักเกณฑ์นิติบุคคล อาจต้องรับผิดในทางอาญาได้ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ตาม แต่นิติบุคคลจะรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อการกระทำผิดนั้นได้กระทำ (โดยผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75) ไปในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล และนิติบุคคลนั้นได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นด้วย ทั้งนี้จะเห็นจากคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 787 - 788 / 2506 เจตนาของนิติบุคคลย่อมแสดงออกทางผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อผู้แทนของนิติบุคคลแสดงเจตนาอันใด ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้แทนในทางการของการดำเนินกิจการตามวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคล เจตนานั้นก็ผูกพันนิติบุคคล และถือเป็นเจตนาของนิติบุคคลนั่นเอง ฉะนั้น นิติบุคคลจึงอาจมีเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา และการกระทำความผิดซึ่งผู้กระทำต้องมีเจตนารวมทั้งโทษทางอาญาเท่าที่ลักษณะแห่งโทษเปิดช่องให้ลงแก่นิติบุคคลได้ ซึ่งทั้งนี้ต้องพิจารราตามลักษณะความผิด พฤติการณ์แห่งการกระทำและอำนาจหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคล ประกอบกับวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นราย ๆ ไป (คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น)

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1669/2506 บริษัทนิติบุคคลแม้ไม่สามารถทำการทุกอย่างได้เช่นบุคคลธรรมดา แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นไปตามความประสงค์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ และได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นแล้ว ย่อมมีเจตนาในการทำผิดทางอาญาได้ (คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการปลอมและใช้เอกสารปลอมในการส่งแร่ไปต่างประเทศ)

        คำพิพากษาฎีกาที่ 59/2507 นิติบุคคลย่อมแสดงความประสงค์ทางผู้แทน เมื่อผู้แทนออกเช็คโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดร่วมกับผู้แทนด้วย

        คำพิพากษาฎีกาที่ 584/2508 นิติบุคคลอาจรับผิดทางอาญาร่วมกับบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการของนิติบุคคลได้ ถ้าการทำผิดอาญานั้น กรรมการดำเนินงานไปเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนไว้ และเพื่อให้นิติบุคคลนั้นได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น

        มีข้อสังเกต ในการฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลย เพียงแต่ระบุชื่อนิติบุคคลเป็นจำเลยเท่านั้นก็พอ หาจำเป็นต้องระบุชื่อผู้แทนของนิติบุคคลไว้ด้วยไม่ ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาฎีกาที่ 1525/2495 ซึ่งวินิจฉัยว่า การฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลย เพียงแต่ระบุชื่อนิติบุคคลเป็นจำเลย ไม่ระบุชื่อผู้แทนนิติบุคคลมาด้วย ย่อมใช้ได้ เพราะนิติบุคคลย่อมมีผู้ดำเนินการอยู่ในตัวตามกฎหมาย แม้คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้จะวินิจฉัยแต่เฉพาะการฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลย แต่ก็ย่อมจะนำหลักนี้ไปใช้กับการที่นิติบุคคลเป็นโจทก์ฟ้องได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ระบุชื่อนิติบุคคลเป็นโจทก์เท่านั้นก็พอ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมักจะมีการระบุชื่อผู้แทนของนิติบุคคลไว้ด้วยเสมอ

        ก่อนจบ ขอย้ำว่าผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 นั้น หมายถึงผู้แทนผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่ก่อตั้งนิติบุคคล หรือตามข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคล ในอันที่จะจัดการดูแล หรือทำการใด ๆ ให้มีผลผูกพันนิติบุคคลนั้น ๆ ได้ เช่น รัฐมนตรีเป็นผู้แทนของกระทรวง อธิบดีเป็นผู้แทนของกรม ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนของจังหวัด นายกเทสมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด ผู้จัดการหรือกรรมการตามข้อบังคับของห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียน หรือตามข้อบังคับของบริษัทจำกัด เป็นผู้แทนของห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียน หรือบริษัทจำกัด ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามข้อบังคับของสมาคมให้เป็นผู้จัดการสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคม และผู้จัดการมูลนิธิเป็นผู้แทนของมูลนิธิ เป็นต้น และก็อย่าลืมว่า ผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 นั้น ต่างกับตัวแทนตามมาตรา 797 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างมากมาย และไม่สามารถจะนำถ้อยคำไปใช้แทนกันได้เลย


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th 
บทความกฎหมาย
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย