การโชว์บุหรี่ ณ จุดขายผิดกฎหมายหรือไม่ ?

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา

การโชว์บุหรี่ ณ จุดขายผิดกฎหมายหรือไม่ ?
        เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๘ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ว่า ห้ามมิให้มีการโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

        ช่วงเวลาประมาณเพียง ๕ วัน นับแต่วันที่ทางกระทรวงสาธารณสุดเริ่มนำเดินการ ได้ทำให้ภาพของการที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขได้เดินตรวจร้านค้าปลีกเป็นภาพที่นำเสนอตามสื่อต่าง ๆ ตลอดจนมีภาพที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวผู้ขายปลีกในร้านค้าปลีกที่ยังโชว์บุหรี่ ณ จุดขายอยู่ไปที่สถานีตำรวจ ภาพเหล่านี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

        ผู้เขียนเองชื่นชมในเจตนาดีของผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการลดการบริโภคบุหรี่ ตลอดจนป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้ามาเป็นผู้เสพหน้าใหม่ และเห็นด้วยในเจตนาดังกล่าว

        แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่ดีนั้น จะต้องดำเนินการด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่ผู้เขียนตั้งเป็นข้อสังเกตในเรื่องนี้ คือ ในด้านวิธีการของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายอันมีเจตนาที่ดี แต่หลงลืมที่จะตรวจสอบว่าวิธีการที่ใช้นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

        หากเจ้าหน้าที่รัฐ คำนึงถึงแต่เป้าหมาย ว่าเป็นเป้าหมายที่ดี แต่ไม่คำนึงว่าวิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่วิธีการที่ใช้นั้นมีผลกระทบต่อผู้อื่นที่เป็นโทษในทางอาญา เพราะประเทศไทยนั้นอยู่ในระบบ “นิติรัฐ” ซึ่งหมายความว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะกระทบสิทธิของประชาชน จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ดังสุภาษิตในกฎหมายมหาชนที่ว่า “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำไม่ได้”

        บุหรี่นั้น สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่บริโภคเข้าไปในร่างกายแล้วมีผลร้ายต่อร่างกาย และเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิด บุหรี่จัดในทางวิชาการได้ว่าเป็นสิ่งเสพติดอย่างหนึ่ง แต่ในทางกฎหมายนั้น บุหรี่ไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดที่กำหนดให้การจำหน่ายยาเสพติดตามกฎหมายเป็นความผิด

        ดังนั้น แม้บุหรี่จะเป็นสินค้าที่มีอันตราย แต่ในระบบกฎหมายยังไม่ได้จัดให้อยู่ในประเภทที่ห้ามขายโดยเด็ดขาด หากแต่เพียงมีกฎหมายในการควบคุม คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งหมายความว่า บุหรี่ยังเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ แต่ต้องดำเนินการภายในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เงื่อนไขที่ที่ทุกท่านคุ้นเคยกันดี คือ ห้ามไม่ให้มีการขายบุหรี่แก่ผู้ที่อายุไม่ครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์

        มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่เรียกร้องไม่ให้มีการตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย นั้น ชัดเจนว่า ไม่ได้มีการออกเป็นกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ นั้น ชัดเจนอีกว่า ไม่มีบทมาตราใดให้อำนาจในการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย

        อย่างไรก็ดี สิ่งที่สื่อนำเสนอสู่สายตาของประชาชนว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการ หรือมีการประกาศ นั้น ย่อมทำให้เกิดความสับสนได้ว่า มีการออกกฎหรือออกประกาศ

        มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการในเรื่องการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย คือ การที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ตีความกฎหมายในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับบทนิยามความหมายของคำว่า “โฆษณา” ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ซึ่งการฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา ๑๙ คือ ปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

-พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕

        มาตรา ๓ ได้ให้คำนิยามของคำว่า “โฆษณา” ไว้ว่า “หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า”

         “มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูฐในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ หรือใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในการแสดง การแข่งขัน การให้บริการหรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์ให้สาธาณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อ หรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ”

“มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท”

        เท่าที่ผู้เขียนได้จับประเด็นของทางกระทรวงสาธารณสุขในการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย พบว่า เป็นการตีความกฎหมาย โดยทางกระทรวงสาธารณสุด เห็นว่า มาตรา ๘ ที่ห้ามมิให้โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ นั้น รวมถึงการตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขายด้วย เพราะการโฆษณาตามบทนิยามศัพท์นั้น หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า

        การตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย นั้น ในทางวิชาการของสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการตลาด มีการยอมรับกันว่า จุดที่ตั้งโชว์สินค้า แต่ละจุดในร้านค้าส่งผลต่อการซื้อสินค้า

        ดังนั้น เมื่อพิจารณาในด้านของกระทรวงสาธารณสุขที่ตีความกฎหมาย ก็จะเห็นว่า การอ่านกฎหมายจากเพียงลายลักษณ์อักษร ๒ มาตราประกอบกัน ก็อาจทำให้ตีความได้อย่างที่กระทรวงสาธารณสุขตีความ

        ด้วยความเคารพต่อการตีความของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เขียนมีข้อพิจารณาทีสำคัญ ๒ ประการเกี่ยวกับการตีความกฎหมายข้างต้น ดังนี้

        ประการที่หนึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๘ เป็นบทกฎหมายที่มีโทษในทางอาญา คือ โทษปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งในทางกฎหมายนั้น บทกฎหมายใดมีโทษในทางอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด

        หลักการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดนี้ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ บรมจารย์ทางกฎหมายอาญา ได้อธิบายไว้ในหนังสือกฎหมายอาญาภาค ๑ พิมพ์โดยเนติบัณฑิตสภา พ.ศ.๒๕๓๖ หน้า ๓๙ ว่า

         “หลักที่ว่าจะลงโทษบุคคลในทางอาญาได้ ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด มีผลอยู่ในตัวเองว่า กฎหมายที่บัญญัติความผิดเช่นนั้น จะต้องบัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด การตีความในกฎหมายนั้นจึงต้องพิจารณาตามตัวอักษร จะขยายความในบทกฎหมายออกไปถึงกรณีที่ไม่ระบุไว้ให้ชัดว่าเป็นความผิดด้วยย่อมไม่ตรงกับหลักที่กล่าวนั้น”

        ปัญหาของการตีความกฎหมายในเรื่องการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย ของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ว่าเป็นการตีความขยายความในกฎหมายไปถึงกรณีที่ไม่ระบุไว้ชัดว่าเป็นความผิดด้วยหรือไม่ เพราะหากเป็นการตีความขยายเสียแล้ว ย่อมเป็นการตีความที่ขัดต่อหลักการตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด

        เมื่อพิจารณามาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ จะพบว่า การห้ามโฆษณายาสูบนั้น กฎหมายห้ามไม่ให้ทำใน ๒ กรณี ใหญ่ ๆ คือ กรณีแรก ห้ามโฆษณา กรณีที่สองห้ามใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในการต่าง ๆ

        ในที่นี้มีข้อพิจารณาในกรณีการห้ามกรณีแรก ที่ห้ามโฆษณา ซึ่งตามตัวบทมาตรา ๘ เป็นการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในในสิ่ง ๔ ประการดังต่อไปนี้ คือ

(๑) สิ่งพิมพ์

(๒) ทางวิทยุกระจายเสียง

(๓) วิทยุโทรทัศน์

(๔) สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้

        การโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย ย่อมไม่ใช่การโฆษณาในสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง ไม่ใช่การโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ แต่มีข้อพิจารณาว่าจะถือว่า การโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย เป็นการโฆษณาในสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้หรือไม่

        หากตีความแต่ถ้อยคำที่ว่า “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” ย่อมต้องยอมรับว่า การตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย เป็นสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ เพราะการตั้งสินค้า ณ จุดขายมีผลต่อการขายสินค้า

        แต่อย่างไรก็ดี การตีความกฎหมายหาได้พิจารณาแต่ตัวอักษรเพียงถ้อยคำไม่ หากแต่ต้องพิจารณาบริบทของถ้อยคำในมาตรานั้น ๆ ในองค์รวม ไม่พิจารณาในลักษณะแยกส่วน โดยเฉพาะในกรณีที่ตัวบทกฎหมายเขียนต่อเนื่องกัน

        มาตรา ๘ นี้มีลักษณะเป็นการเขียนต่อเนื่องกันที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา โดย ๓ สิ่งแรกเป็นสิ่งที่ดูแล้ว ยิ่งใหญ่ เห็นชัดว่าเป็นการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เมื่อ ๓ สิ่งแรกเป็นสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่ สิ่งที่ ๔ คือ “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” ก็ย่อมต้องมีลักษณะในทำนองเดียวกันกับ ๓ สิ่งแรก คือ ต้องยิ่งใหญ่ในทางการโฆษณาเหมือน ๓ สิ่งแรก สิ่งที่ ๔ จะมีลักษณะเล็ก ๆ ดังเช่น การตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย คงไม่ได้ เพราะเป็นการตีความที่ไม่คล้อยตามกัน

        การที่มาตรา ๘ ห้ามไปถึงการโฆษณาใน “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” เป็นลักษณะการเขียนที่กฎหมายประสงค์จะให้ครอบคลุมถึงสื่อโฆษณาต่าง ๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคต เพราะในขณะที่เขียนกฎหมายนี้ สื่อนั้นอาจยังไม่มี ถ้ามีสื่อในทำนองเดียวกันนั้นก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการแก้ไขกฎหมาย ตัวอย่างสื่อในปัจจุบันที่จะถือว่าเป็นสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณา เช่น การโฆษณาผ่านระบบอินเตอร์เนต เป็นต้น

        ดังนั้น ด้วยความเคารพต่อการตีความของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เขียนจึงเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงหลักการตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด ที่ห้ามไม่ให้มีการตีความกฎหมายออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ชัดว่ามีความ การตีความของกระทรวงสาธารณสุด ที่ว่า การตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย ย่อมเป็นการตีความที่มีลักษณะต้องห้ามในกฎหมายอาญา เพราะเป็นการตีความ “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” ไม่เป็นไปในทำนองหรือลักษณะเดียวกันกับ ๓ สิ่งแรกที่กฎหมายห้าม

        ประการที่สอง การตีความกฎหมายอาญานั้น มีทั้งการตีความโดยพิจารณาตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังที่ศาตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย บรมจารย์ทางกฎหมายอาญา ได้อธิบายไว้ในหนังสือกฎหมายอาญาภาค ๑ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๖ พ.ศ.๒๕๓๗ หน้า ๔๓ ว่า

         “การตีความในกฎหมายอาญาก็มีหลักเช่นเดียวกับการตีความในกฎหมายอื่น ๆ กล่าวคือ จะต้องตีความตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์ (spirit) ของกฎหมายนั้น ๆ เป็นแต่กฎหมายอาญามีหลักการตีความพิเศษเพิ่มขึ้นอีก

        การตีความตามตัวอักษร หมายความว่า จะต้องถือว่าในการที่ผู้บัญญัตินำถ้อยคำอันใดมาใช้นั้น ในประการแรก จะต้องถือว่าได้ตั้งใจจะให้ถ้อยคำนั้น ๆ มีความหมายตามที่สามัญชนเข้าใจกันอยู่ ในกรณีใดที่ผู้บัญญัติกฎหมายเห็นว่าถ้อยคำของกฎหมายไม่ควรจะเข้าใจอย่างภาษาสามัญธรรมดาหรือภาษาเทคนิค ผู้บัญญัติกฎหมายก็จะได้กำหนดบทวิเคราะห์ศัพท์หรือบทนิยาม (definition) ไว้…

        การตีความตามเจตนารมณ์ การตีความตามตัวอักษรอย่างเดียวในบางกรณียังไม่อาจทำให้เข้าใจความหมายของกฎหมายได้ โดยเหตุนี้ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องหยั่งทราบเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมายนั้น ๆ ทั้งนี้โดยพยายามสืบทราบว่าในการที่ผู้บัญญัติกฎหมายได้บัญญัติบทมาตรานั้น ๆ ลงไว้นั้น ผู้บัญญัติกฎหมายมีความประสงค์อย่างใด เมื่อทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ก็สามารถทราบความหมายของถ้อยคำในกฎหมายได้ โดยถือว่าถ้อยคำนั้น ๆ ต้องมีความหมายไปในทางที่ตรงต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย มีข้อที่ควรสังเกตว่า ถ้อยคำของกฎหมายชัดอยู่แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะตีความเป็นอย่างอื่นได้ และไม่สามารถจะอ้างเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อแสดงว่ากฎหมายมีความหมายผิดไปกว่าถ้อยคำอันชัดแจ้งนั้นได้…”

        ปัญหาการตีความมาตรา ๘ ว่าครอบคลุมถึงการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขายหรือไม่ นั้น เมื่อพิจารณาจากตัวอักษรของกฎหมาย ดังที่ได้พิจารณาไปในประการที่หนึ่ง แล้วนั้น จะพบว่า อาจยังมีข้อโต้แย้งได้ในเชิงตัวอักษรของบทบัญญัติในมาตรา ๘ อันอาจถือได้ว่า เป็นกรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายมีความไม่ชัดเจนอยู่ ดังนั้น การตีความมาตรา ๘ จึงต้องนำหลักการตีความตามเจตนารมณ์มาพิจารณาประกอบด้วย

        เมื่อพิจารณาตามหลักการตีความเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นเจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรา ๘ นี้ได้ คือ ต้องหยั่งทราบให้ได้ว่าผู้บัญญัติกฎหมายมาตรา ๘ นี้ มีความประสงค์อย่างใด

        ผู้บัญญัติกฎหมายในที่นี้ หมายถึง รัฐสภาอันเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยที่จะบัญญัติกฎหมายขึ้นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

        เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของผู้บัญญัติกฎหมาย พบว่า พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ในขณะนั้นมีเพียงสภาเดียวเป็นผู้พิจารณากฎหมาย) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติรับหลักการในร่างกฎหมายนี้ในการประชุมครั้งที่ ๑๖/๒๕๓๕ วันศุกร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๓๕ ต่อมาในการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ วาระที่ ๒ ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายประสพ รัตนากร เป็นประธาน ได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความเห็น ดังนี้

๑. ผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มาชี้แจงแสดงความคิดเห็น คือ นายพิพัฒน์ ทองผดุงรัตน์ หัวหน้าฝ่ายปรับปรุงกฎหมาย (นิติ ๗) กองนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

๒. ผู้ซึ่งคณะกรรมาธิการเชิญมาชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ คือ

๒.๑ นายหทัย ชิตานนท์ ประธานคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาต กระทรวงสาธารณสุข
๒.๒ นายประกิต วาทีสาธกกิจ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
๒.๓ นายสุภกร บัวสาย นายแพทย์ ๕ ช่วยราชการกองแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข
๒.๔ นายอัชพร จารุจินดา เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
๒.๕ นายภมิชัย พันธพฤทธิพยัค ผู้ช่วยเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
๒.๖ นายบัญชา เสือวรรณศรี อัยการประจำกรม สำนักงานอัยการสูงสุด
๒.๗ นายนิโรธ เจริญประกอบ หัวหน้าฝ่ายประสานงาน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค”
        ในการแปรญัตติร่างกฎหมายนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา ๓ คำนิยาม “โฆษณา” มีเพียงการขอเพิ่มคำว่า “ได้ยิน” ในส่วนของมาตรา ๘ วรรคหนึ่งขอเติมคำว่า “ทาง” หน้าคำว่า “วิทยุกระจายเสียง”

        จากการพิจารณารายงานการประชุมของสภานิติบัญญัติที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ พบว่า ไม่ปรากฏชัดเจนว่าได้มีการอภิปรายหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำใด ๆ ที่เพียงพอจะชี้ให้เห็นว่า ผู้บัญญัติกฎหมาย ประสงค์จะให้คำการโชว์บุหรี่ ณ จุดขายผิดกฎหมายด้วย

        อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์แล้วจะพบว่า การวางขายบุหรี่ ณ จุดขาย ที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน ได้กระทำมาแล้วในอดีต ซึ่งในขณะที่สภานิติบัญญัติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ ประสงค์จะให้บทมาตรา ๘ คลุมไปถึงการตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย ก็น่าจะมีการบัญญัติให้ชัดแจ้ง หากแต่มาตรา ๘ นั้น บัญญัติแต่เพียงการโฆษณาในลักษณะที่ยิ่งใหญ่ สื่อสารให้คนหมู่มากได้เห็นหรือได้ยินการโฆษณา เท่านั้น

        นอกจากนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงสถานการณ์ในการโฆษณาบุหรี่ในช่วงที่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ จะพบได้ว่า การโฆษณาบุหรี่ในยุคนั้น(พ.ศ.๒๕๓๕) มีการโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ทั้ง ๓ สื่อจึงเป็นเป้าหมายหลักที่มาตรา ๘ ห้ามไม่ให้กระทำ ส่วนคำว่า “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” ได้ น่าจะหมายถึง การโฆษณาในทำนองเดียวกับ ๓ สื่อหลัก อันทำให้ประชาชนหมู่มากได้เห็นหรือได้ยิน เช่น ป้ายโฆษณาใหญ่ตามข้างทาง เป็นต้น

        อนึ่ง ในช่วงที่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบนี้ ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือโดยสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข ใช้ชื่อหนังสือว่า “ผิดกฎหมาย ตัวอย่างการกระทำที่นับว่าเป็นการผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ในหน้าปกในของหนังสือ ใต้ชื่อหนังสือ ก่อนชื่อสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ มีชื่อระบุว่า “นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานกรรมการร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับบุหรี่และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข” หนังสือนี้พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ (พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๕ และกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป)

        ในหนังสือนี้ได้มีการยกตัวอย่างต่าง ๆ ที่เป็นการโฆษณาบุหรี่ เพื่อทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในหน้า ๑๔ ข้อ ๑.๓ มีถ้อยคำว่าพร้อมภาพว่า

การโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย
        การวางบุหรี่ตามปกติย่อมกระทำได้ แต่การจัดซอง, คารตอน, หรือสื่ออื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการขายถือเป็นการโฆษณา เนื่องจาก “ทำให้ประชาชนเห็น เพื่อประโยชน์ทางการค้า”

        ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและริเริ่ม ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการลดการบริโภคบุหรี่ และป้องกันเยาวชนหน้าใหม่เข้าสู่การบริโภคบุหรี่ นั้น เข้าใจและตีความกฎหมายในการห้ามโฆษณาบุหรี่ ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ใช้บังคับ ว่า “การวางบุหรี่ตามปกติย่อมกระทำได้”

        จากการที่ได้พิจารณาในประเด็นการตีความว่าการโชว์บุหรี่ ณ จุดขายผิดกฎหมายหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า เจตนาของท่านที่ออกมาตีความว่าการโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย เป็นการโฆษณา จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ นั้น เป็นเจตนาที่ดี ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง เพราะท่านคำนึงถึงผลร้ายของบุหรี่ ซึ่งในด้านเจตนานี้ ผู้เขียนมีความเห็นพ้องต้องด้วยเป็นอย่างยิ่ง

        แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนติดขัดที่วิธีการที่ท่านตีความกฎหมาย โดยผู้เขียนเห็นว่า “การวางโชว์บุหรี่ ณ จุดขายตามปกติ” ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา

        แต่เพื่อให้เจตนาของท่านที่เรียกร้องในเรื่องนี้บรรลุผล ผู้เขียนเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข เป็นฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อกฎหมายยังไม่ได้ให้อำนาจในการบังคับให้การโชว์บุหรี่ ณ จุดขายผิดกฎหมาย หากกระทรวงสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องมีเจตนาเช่นนั้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ชัดเจน เพราะความไม่ชัดเจนในกฎหมายอาญาในเรื่องนี้ อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ค้าขายได้

        ผู้ค้าขายบุหรี่นั้น ไม่ใช่ผู้ขายยาเสพติดตามกฎหมาย บุหรี่ยังเป็นสินค้าที่ขายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การขายต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและกระทำการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายในปัจจุบันกำหนดนั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย

        อนึ่ง ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า การตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย ของร้านค้าใด ไม่ใช่การตั้งขายตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการโฆษณา ก็ควรที่จะดำเนินคดีเป็นรายกรณี ไม่ควรที่จะเหมารวมทุกร้านค้าที่ตั้งโชว์บุหรี่

        มาตรการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย อาจเป็นมาตรการที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะบุหรี่เป็นสินค้าอันตราย แต่ความเข้าใจของประชาชนในประเด็นนี้ เป็นความเห็นพ้องต้องกันในด้านวัตถุประสงค์ที่จะลดการบริโภคบุหรี่ ตลอดจนป้องกันเยาวชนหน้าใหม่ไม่ให้เข้าสู่วงจรผู้บริโภคบุหรี่

        แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นพ้องต้องกันในเชิงวัตถุประสงค์ร่วมกันนี้ วิธีการที่ภาครัฐจะดำเนินการ จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ภาครัฐก็จะดำเนินการใด ๆ ที่กระทบสิทธิของประชาชนไม่ได้

        อย่างไรก็ดี ภาครัฐอาจอาศัยกระแสสังคมนี้ เสนอแก้ไขกฎหมาย แล้วให้ผู้แทนของปวงชน คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดเพียงบางคน กระทำตนเป็นผู้บัญญัติกฎหมายเสียเอง


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย