การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขาย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขาย
        ปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายจะโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อใดนั้นเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมาก แม้ว่าจะมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติในเรื่องนี้ไว้อยู่ไม่กี่มาตราก็ตาม และโดยเฉพาะที่บัญญัติโดยตรงในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ก็มีอยู่เพียง 3 มาตราเท่านั้น คือมาตรา 498 มาตรา 459 และมาตรา 460

        เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจในปัญหาข้างต้น ขอแยกปัญหาของการโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขายแต่ละประเภทดังนี้

สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง
สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอน
สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา และ
สัญญาซื้อขายในกรณีพิเศษ คือ สัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนา สัญญาซื้อขายเผื่อชอบ สัญญาซื้อขายทอดตลาด สัญญาซื้อขาย F.O.B. สัญญาซื้อขาย C.I.F. และสัญญาซื้อขาย Ex. Ship
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง
        คำว่าทรัพย์เฉพาะสิ่งนี้ แม้จะมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 วรรคสอง แต่ก็มิได้มีบทนิยามหรือคำอธิบายความหมายไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ประการใดไม่ ผิดกับกฎมหายของอังกฤษคือ The Sale of Goods Act, 1893. ซึ่งมีบทนิยามของทรัพย์เฉพาะสิ่งไว้ในมาตรา 62 ว่า หมายถึง ทรัพย์ที่ได้บ่งตัวทรัพย์และซึ่งได้ตกลงกันไว้ในขณะทำสัญญาซื้อขาย (goods dentified and agreed upon at the time a contract of sale a made) แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบทนิยามไว้เช่นนั้น ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับคำว่าบ่งตัวทรัพย์ (identified) ว่าจะต้องเป็นการบ่งแน่นอนเพียงใด ในคดี Kwsell v. Timber Operators & Contractors, Ltd; โจทก์ขายต้นไม้ในป่าแห่งหนึ่งให้จำเลย โดยจะต้องทำการวัดกันเสียก่อน จำเลยมีสิทธิที่จะตัดและขนไม้ไปได้ภายใน 15 ปี ต่อมามีกฎหมายออกมาให้ป่าไม้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษตัดสินว่า กรรมสิทธิ์ในต้นไม้ยังไม่โอนเป็นของจำเลย เพราะยังถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่บ่งตัวทรัพย์ไว้แน่นอน เนื่องจากว่าสัญญาซื้อขายระบุขายเฉพาะต้นไม้ที่จะได้วัดกันแล้วเท่านั้น มิได้ตกลงขายเหมาต้นไม้ทั้งหมด

        เมื่อกฎหมายไทยมิได้มีบทนิยามเช่นนี้ คำว่าทรัพย์เฉพาะสิ่งจึงต้องมีความหมายอย่างเช่นคนธรรมดาสามัญเข้าใจกัน คือหมายถึงทรัพย์ที่ระบุเจาะจงลงไปว่าเป็นทรัพย์อะไร เช่น รถยนต์ ทรัพย์สิ่งใด เช่น รถยนต์คันไหน และทรัพย์จำนวนเท่าใด เช่น รถยนต์คันนั้น 1 คัน เป็นต้น หากระบุแต่เพียงรถยนต์ 1 คันเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์คันไหน รถยนต์ 1 คันนั้น หาใช้ทรัพย์เฉพาะสิ่งไม่ เพราะยังกำหนดมิได้ว่าเป็นรถยนต์คันใด หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรัพย์เฉพาะสิ่งหมายถึง ทรัพย์ที่ผู้ซื้อรู้ได้แน่นอนว่าเป็นทรัพย์ใดที่ตนตกลงซื้อ และผู้ขายก็รู้ได้แน่นอนว่าเป็นทรัพย์ใดที่ตนตกลงขาย หากยังไม่สามารถรู้ได้ในขณะทำสัญญาซื้อขายว่าทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายกันนั้นคือทรัพย์ใดแล้ว หาใช่เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งไม่ เช่น ซื้อโค 2 ตัว จากโค 1 ฝูง ที่ผู้ขายมีอยู่มิใช่เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่ถ้าตกลงกันในขณะซื้อขายว่า ซื้อโค 2 ตัวสีใด ลักษณะรูปร่างอย่างไร หรือเป็นตัวใด ดังนี้เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว

        การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน”

        ตามบทบัญญัติมาตรา 458 นี้ แม้จะมิได้กล่าวว่าทรัพย์สินที่ขายนั้น จะต้องเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งก็ตาม แต่มาตรานี้ ย่อมจะต้องหมายถึงการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง เพราะหากเป็นการซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน หรือมิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้ต่างหากอีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 460 วรรคแรก และมาตรา 458 นี้ก็ยังหมายถึง ทรัพย์เฉพาะสิ่งที่กำหนดราคา หรือรู้ราคาไว้แน่นอนแล้วในขณะทำสัญญาซื้อขายแล้วเท่านั้น หากเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกี่ยวแต่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้ราคาทรัพย์สินแน่นอนก็มีบัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 460

        คำว่า “ทำสัญญาซื้อขาย” ในมาตรา 458 นี้ หมายถึง “ทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 455 นั่นเอง เพราะมาตรา 455 บัญญัติว่า “เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่า เวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์” และคำว่า “ทำสัญญาซื้อขาย” ในมาตรา 458 นี้ยังหมายถึงว่าต้องมิใช่เป็นการทำสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ เพราะสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ได้มีมาตรา 458 บัญญัติไว้แล้ว

        อย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือที่นักฎหมายนิยมเรียกว่า “สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” นั้น พระยาวิฑูรธรรมพิเนตุได้อธิบายไว้ในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะซื้อขายทรัพย์ ฯลฯ หน้า 11 – 16 ว่า “สัญญาซื้อขายเด็ดขาดนั้นเป็นการซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเปลี่ยนมือ หรือโอนมายังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด เมื่อการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ การซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์เมื่อใดนั้น นอกจากการตกลงแล้ว ต้องพิเคราะห์ถึงแบบแห่งสัญญาด้วย ถ้าการซื้อขายทรัพย์สินชนิดที่กฎหมายต้องการให้มีแบบแล้วต้องทำตามแบบ ฯลฯ” พระมนูธรรมวิมลศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในคำสอนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หน้า 3 ว่า “สัญญาซื้อขายตามมาตรานี้ (มาตรา 453) หมายความเฉพาะแต่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ซึ่งมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายแล้ว หากกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมีเพียงข้อตกลงว่าจะโอนก็เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย หรือเมื่อมีข้อตกลงว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดตามเงื่อนเวลาก็ไม่เป็นซื้อขายโดยเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการซื้อขายโดยมีเงื่อนไข (คือเงื่อนไขบังคับก่อน) หรือเงื่อนเวลา

        ตามกฎหมายอังกฤษคือ The Sale of Goods Act, 1893 มาตรา 1 (1) ให้ความหมายของสัญญาซื้อขาย (a contract of sale) ว่า “สัญญาซึ่งผู้ขายโอนหรือตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อสินจ้างเป็นเงินที่เรียกว่า ราคา” และมาตรา 1 (3) บัญญัติว่า “ตามสัญญาซื้อขาย หากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ สัญญานั้นเรียกว่าสัญญาซื้อขาย (a sale) แต่ถ้ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปในภายหน้า หรือจะโอนไปเมื่อเงื่อนไขบางอย่างได้สำเร็จแล้ว สัญญานั้นเรียกว่าสัญญาจะซื้อขาย (an agreement to sell)”

        ความจริงสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น หาจำเป็นจะต้องผูกมัดอยู่กับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายเสมอไปไม่ สัญญาซื้อขายอาจสำเร็จบริบูรณ์ หรือเสร็จเด็ดขาดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องโอนไปยังผู้ซื้อ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2497 ซึ่งวินิจฉัยว่า การตกลงซื้อขายโต๊ะบิลเลียด เป็นทรัพย์ที่แน่นอนมิได้มีกฎหมายห้ามมิให้โอนกันได้เอง แม้จะมีข้อตกลงกันมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น จึงน่าจะมีความหมายถึงสัญญาซื้อขายซึ่งมิใช่สัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น ฉะนั้นสัญญาซื้อขายใดที่มิใช่สัญญาจะซื้อขายแล้ว ย่อมเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทั้งสิ้น แต่เนื่องจากสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นสัญญาที่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปเป็นของผู้ซื้อ หรือเป็นสัญญาที่จะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ในภายหลัง ฉะนั้นสัญญาซื้อขายใดที่ตกลงให้กรรมสิทธิ์ตกไปเป็นของผู้ซื้อทันที สัญญาซื้อขายนั้นย่อมเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความในทางกลับกันว่า สัญญาซื้อขายที่ตกลงมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อในขณะทำสัญญา จะต้องเป็นสัญญาจะซื้อขายเสมอไป เพราะอาจเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 459 ก็ได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้นแล้ว ฉะนั้นที่มาตรา 458 บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อทำสัญญาซื้อขายนั้น จึงใช้บังคับเฉพาะเมื่อเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาอย่างใดกำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น และใช้บังคับเฉพาะการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่กำหนดราคาหรือทราบราคาแน่นอนแล้วในขณะทำสัญญา

        สำหรับสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น จะได้แยกกล่าวในภายหลัง แม้ว่าจะเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขาย ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 458 เช่นเดียวกันก็ตาม

[แก้ไข] ผลของการที่กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อนั้น ตามกฎหมายอังกฤษ(1) จะทำให้
ภัยพิบัติ (risk) ในทรัพย์สินที่ซื้อตามปรกติย่อมโอนไปพร้อมกรรมสิทธิ์ด้วย
ถ้าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง (specific goods) และกรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อจะปฏิเสธไม่ยอมซื้อเพราะเหตุผู้ขายกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา (breach of condition) มิได้เพียงแต่เรียกค่าสินไหมทดแทนได้เท่านั้น
ถ้ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ ผู้ขายไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคาทรัพย์ที่ขาย ฯลฯ
        หลักเกณฑ์ดังกล่าวแม้จะเป็นหลักกฎหมายอังกฤษ แต่ก็น่าจะนำมาปรับกับหลักกฎหมายไทยเช่นกัน

        เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งดังกล่าวมาข้างต้น จะศึกษาตัวอย่างได้จากคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 609/2472 ขายยาเส้น 2250 ม้วน ราคา 1,462 บาท 50 สตางค์ ผู้ซื้อชำระราคาแล้ว แต่ให้ผู้ขายส่งยาเส้นไปที่สถานีเพชรบุรี เมื่อผู้ขายบรรทุกยาไปถึงสถานีเพชรบุรีแล้ว ถือว่ากรรมสิทธิ์โอนเป็นของผู้ซื้อแล้ว

        คำพิพากษาฎีกาที่ 864/2472 ยอมความกันว่า “จำเลยยอมซื้อโรงสีโดยจำเลยออกเงินใช้โจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วน 6,000 บาทแล้ว โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องกับโรงสีต่อไป โดยหมดสิทธิ์ มอบให้ฝ่ายจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว แต่จำเลยขอผัดใช้เงินให้เสร็จภายใน 8 เดือน ถ้าไม่ใช้ยอมให้ปรับและนำยึดทรัพย์” ถือว่าการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ตั้งแต่วันทำยอมความ ทรัพย์สมบัติของหุ้นส่วนตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว

        คำพิพากษาฎีกาที่ 779/2482 การซื้อขายรถยนต์กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายต่อกัน ไม่ใช่โอนไปในขณะที่ทำการโอนทะเบียน เพราะมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2473 เป็นบทบัญญัติเพื่อสะดวกแก่การควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 304 – 305 / 2494 และ 1687/2506 ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)

        คำพิพากษาฎีกาที่ 988/2482 ขายข้าวเปลือกให้เขา 6 กระสอบ เป็นเงิน 12 บาท ผู้ซื้อตกลงและชำระราคาแล้ว นัดให้ผู้ขายบรรทุกไปส่งในวันรุ่งขึ้น แม้กรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ขายยังครอบครองอยู่ เมื่อผู้ขายเอาข้าวไปขายผู้อื่น ไม่ผิดฐานลักทรัพย์

        คำพิพากษาฎีกาที่ 723/2492 ทำสัญญาซื้อน้ำตาล 310 หาบ ซึ่งบรรจุกระสอบไว้เต็มทั้ง 310 กระสอบ กระสอบละ 1 หาบ และน้ำตาลนี้เก็บไว้เป็นส่วนสัด ไม่ต้องชั่ง ตวง วัดอีก เมื่อผู้ซื้อชำระราคาแล้ว เมื่อทางราชการบังคับซื้อ ผู้ขายไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าน้ำตาลที่ซื้อยังไม่อยู่ที่ผู้ขาย เพราะผู้ขายซื้อจากผู้อื่น และแยกเก็บไว้ยังที่ต่าง ๆ และผู้ซื้อยังมิได้ตรวจและชำระราคา เป็นแต่วางมัดจำไว้ และให้ผู้ขายนำน้ำตาลไปส่งผู้ซื้อถึงท่าเรือที่ผู้ซื้อจะนำเรือมารับ ยังไม่เป็นการซื้อขายเด็ดขาด น้ำตาลขาดหายไป ผู้ขายต้องรับผิด

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1223/2496 ทำสัญญาขายอิฐ 2 เตา ประมาณ 220,000 แผ่น ซึ่งอยู่ที่ลานเป็นเงิน 7,000 บาท ดังนี้เป็นการขายอิฐเป็นเตาซึ่งมีจำนวนแน่นอนคือ 2 เตา และราคาก็แน่นอนคือ 7,000 บาท แม้จะกล่าวถึงจำนวนอิฐไว้ด้วย ก็เป็นการกล่าวโดยประมาณกรรมสิทธิ์ในอิฐย่อมผ่านจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญากันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460

        คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2505 ตกลงซื้อผลลำใยในสวนขณะลำใยกำลังออกดอก โดยชำระราคากันบางส่วนแล้ว และให้ผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาต้นลำใยเอง ผลได้เสียเป็นของผู้ซื้อ ถ้าเกิดเสียหายอย่างใด ผู้ขายไม่ต้องคืนเงิน ถ้าได้ผลมากก็เป็นของผู้ซื้อฝ่ายเดียว เป็นการเสี่ยงโชคโดยคำนวณจากดอกลำใยและสุดแต่ดินฟ้าอากาศจะอำนวยให้ ดังนี้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อขายกันแน่นอนแล้ว โดยคำนวณจากดอกลำใยเป็นหลัก ต่อมาถ้าต้นลำใยถูกพายุพัดหักหมด ผู้ซื้อจะเรียกเงินคืนจากผู้ขายมิได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1832/2505 ซื้อข้าวสาร 40 กระสอบ ราคากระสอบละ 210 บาท ผู้ซื้อได้ขนข้าวไปจากผู้ขายแล้ว สัญญาซื้อขายเด็ดขาดก็เกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453, 460 การซื้อขายรายนี้เมื่อมีการส่งมอบกันแล้วเป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1283/2513 ทำสัญญาซื้อรถยนต์พร้อมทั้งอุปกรณ์เป็นการซื้อเหมา และทรัพย์ที่ซื้อขาย มีจำนวนแน่นอนไม่จำเป็นต้องมีการตรวจนับอย่างใดอีก ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นี้ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 458 การส่งมอบทรัพย์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์

        ถ้าเป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพะาสิ่งซึ่ง ยังไม่อาจจะรู้ราคาทรัพย์นั้นได้ จนกว่าจะมีการนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างใดเกี่ยวกับทรัพย์นั้นเสียก่อน เช่น ซื้อข้าวเปลือกในยุ้งทั้งหมดในราคาถังละ 20 บาท หรือซื้อส้มทั้งกองในราคร้อยละ 200 บาท เช่นนี้ยังไม่อาจจะรู้ราคาแน่นอนได้ จนกว่าจะมีการตวงข้าวในยุ้งว่ามีกี่ถัง หรือนับส้มทั้งกองว่ามีกี่ผลเสียก่อน กรณีเช่นนี้แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์แล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นจะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้มีการนับชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างใดเกี่ยวกับทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 460 วรรคสองว่า “ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นทำแล้ว”

        เกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ยังไม่รู้ราคาแน่นอนนั้น มีคำพิพากษาฎีกาที่ 339/2506 วินิจฉัยดังนี้ จำเลยตกลงขายไม้ในโรงเลื่อยให้โจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้วัดไม้ตีตรากรรมสิทธิ์ได้ไม้ครบตามสัญญาและชำระราคาแล้ว กรรมสิทธิ์ในไม้นั้นย่อมโอนไปยังโจทก์ หากไฟไหม้ไม้นั้นเสียหายเพราะเหตุอันจะโทษจำเลยมิได้ การสูญหรือเสียหายย่อมตกเป็นพับแก่โจทก์

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอน
        ทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอนนั้น หมายถึงทรัพย์ที่ในขณะทำสัญญาซื้อขาย ยังมิได้กำหนดให้รู้แน่ชัดลงไปว่าเป็นทรัพย์ใด ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาซื้อขาย แต่ยังไม่รู้ตัวทรัพย์ที่แน่นอน หรืออาจเป็นทรัพย์ที่ผู้ขายจะมีในภายหน้าจึงยังไม่รู้ตัวทรัพย์แน่นอนก็ได้ ทรัพย์เช่นนี้แม้จะตกลงซื้อขายกัน ผู้ขายก็ยังไม่สามารถส่งมอบตัวทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อได้ จนกว่าจะได้มีการนับ ชั่ง ตวง วัด คัดเลือก หรือทำการอย่างใดให้รู้ตัวทรัพย์แน่นอนแล้ว เช่น ซื้อมะพร้าว 100 ผล จากมะพร้าวที่อยู่ในเรือทั้งลำ หรือซื้อข้าวเปลือก 100 ถัง จากข้าวเปลือกที่อยู่ในยุ้ง

        ตามกฎหมายอังกฤษ(1) ทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอน (unascertained goods) แม้จะมิได้มีคำนิยามไว้ในกฎหมายแต่ก็พอจะหมายถึง

ทรัพย์ที่ผู้ขายจะต้องทำหรือปลูกขึ้น (goods to be manufactured or grown by the seller)
ทรัพย์ที่กำหนดไว้แต่เพียงชนิดหรือประเภทเท่านั้น (purely generic goods) เช่น ข้าวสาลี 100 ต้น
ทรัพย์เฉพาะสิ่งส่วนใดส่วนหนึ่งที่ยังมิได้บ่งระบุไว้แน่นอน (an unidentified part of a specified whole) เช่น ข้าวสาลี 100 ต้นจากข้าวสาลีทั้งหมดที่มีอยู่ 280 ตัน
[แก้ไข] คำอธิบายดังกล่าวน่าจะนำมาใช้กับกฎหมายไทยได้เช่นกัน
        การซื้อขายทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอนนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าจะได้ทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์แล้ว และได้มีการหมายนับ ชั่ง ตวง วัด คัดเลือก หรือทำการอย่างใดเพื่อให้รู้ตัวทรัพย์นั้นแน่นอนแล้ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 460 วรรคแรก ดังนี้ “ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมายหรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่น เพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว” ตัวอย่างเรื่องนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2050/2493 ซึ่งวินิจฉัยว่า ขายยาง (พารา) ซึ่งเก็บไว้ในโรงซึ่งมีของผู้อื่นเก็บรวมอยู่ด้วย แต่ผู้ขายยังไม่ได้แยกเป็นส่วนสัดเป็นแต่ตกลงมาว่าจะเอาออกชั่งเมื่อส่งมอบ ดังนี้ก่อนแบ่งแยกออกชั่ง กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อมาตามมาตรา 460

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
        ทรัพย์ซึ่งตามกฎหมายการซื้อขายจะสำเร็จบริบูรณ์ หรือเสร็จเด็ดขาดก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เรือกำปั่น หรือเรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ (ที่คนอยู่อาศัย) และสัตว์พาหนะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456) สำหรับสัตว์พาหนะนั้นหมายถึง ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ และลา ซึ่งได้ทำและต้องทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 มาตรา 4 และสัตว์ดังกล่าวจะต้องทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ดังนี้

ช้างมีอายุย่างเข้าปีที่ 8 สัตว์อื่นนอกจากโคตัวเมียมีอายุย่างเข้าปีที่ 6
สัตว์ที่ได้ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานได้แล้ว
สัตว์ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 4 เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร โคตัวเมียเมื่อมีอายุย่างเข้าปีที่ 6 เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์เว้นแต่ในกรณีรับมรดก
สัตว์นอกจากข้อ 1 ถึง 3 เจ้าของจะขอจดทะเบียนทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณก็ได้
        ทรัพย์ดังกล่าวเมื่อซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว หากเพียงทำสัญญาเป็นหนังสืออย่างเดียวโดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จะได้ชำระราคาเรียบร้อยแล้ว ก็หาถือเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ไม่ ดังนั้นกรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามมาตรา 456 แล้ว หากทำสัญญาซื้อขายทรัพย์ดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ดังนี้กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 477/2492 วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีข้อความว่า จะไปทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย แม้ผู้ขายจะมอบให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองที่ดิน ก็เป็นการอนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าใช้และรับประโยชน์ไปพลางก่อนเท่านั้น เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาของจำเลย ผู้ซื้อยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดในที่ดินนั้น

        ถ้าเป็นการซื้อขายที่ดินที่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) การซื้อขายที่ดินเช่นนั้นไม่อาจจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ เพราะประมวลกฎหมายที่ดินมิได้บัญญัติอนุญาตให้ทำได้ ฉะนั้นที่ดินดังกล่าวคือที่ดินที่มีเพียงสิทธิ์ครอบครองเท่านั้น จึงอาจซื้อขายกันได้โดยเพียงส่งมอบที่ดินนั้นให้ผู้ซื้อเข้าครอบครอง และผู้ขายสละเจตนาครอบครองให้ผู้ซื้อย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่านั้นทันที (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 และ 1367)

        ถ้าเป็นการซื้อขายส่วนควบของทรัพย์ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107) ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านหรือตึกแถวสิ่งปลูกอยู่บนที่ดิน และหากผู้ซื้อเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ประธานอยู่แล้ว ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนควบนั้นทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนการซื้อขายส่วนควบนั้นอีก ทั้งนี้โดยอาศัยบทบัญญัติของมาตรา 107 วรรคสองที่ว่า “ใครเป็นเจ้าของทรัพย์อันใดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบรรดาส่วนควบทั้งหลายของทรัพย์อันนั้น” ทั้งนี้ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2105/2511 ที่วินิจฉัยว่า ซื้อเฉพาะแต่ที่ดินซึ่งมีเรือนปลูกอยู่ด้วย ต่อมาผู้ขาย ขายเรือนให้อีก เรือนย่อมตกเป็นส่วนควบทันทีที่ได้ทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ต้องจดทะเบียนการซื้อขายอีก

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา
        คำว่าเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลานี้ย่อมหมายถึง เงื่อนไขบังคับก่อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144, 145 และเงื่อนเวลาเริ่มต้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 153 แต่เหตุการณ์ที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หรือเป็นผลที่จะพึงบังเกิดขึ้นเองตามกฎหมาย เช่น แดงตกลงกับขาวว่า ต่อเมื่อขาวขายหนังสือให้แดงจึงจะใช้ราคาให้ ดังนี้การที่ต้องใช้ราคาเป็นผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อขายอยู่ในตัวแล้ว ไม่ใช่เหตุการณ์ความเป็นไปในอนาคตไม่แน่นอน แม้ไม่กำหนดกันไว้ก็ยังจะต้องเป็นไปตามนั้น จึงมิใช่เงื่อนไขข้อเหนี่ยวรั้งผลของนิติกรรมมิให้เกิดขึ้น(1) ฉะนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนว่าผู้ซื้อผู้ขายจะมาทำการโอนกันในวันจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน จึงมิใช่เงื่อนไข (คำพิพากษาฎีกาที่ 298/2495) แต่ถ้าตกลงกันว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่เป็นของผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาเสร็จ ถือเป็นเงื่อนไขแล้ว เพราะการจะชำระราคาเสร็จหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคต และไม่แน่นอน ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 144 คำพิพากษาฎีกาที่ 127/2471 วินิจฉัยว่า ทำสัญญาซื้อขายว่าผู้ซื้อซื้อเครื่องโรงสีข้าวจากผู้ขาย โดยผู้ซื้อต้องผ่อนชำระเงินครั้งแรกเป็นจำนวนหนึ่ง และที่เหลือจะใช้ให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่เครื่องโรงสีข้าวยังเป็นของผู้ขายจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ ดังนี้เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา 459 คำพิพากษาฎีกาที่ 716 – 717/2493 ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา 459 คำพิพากษาฎีกาที่ 716 – 717/2493 ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ซื้อรับมอบรถยนต์ไปและตกลงกันว่า ผู้ซื้อจะต้องชำระราคาให้หมดเสียก่อน ผู้ขายจึงจะโอนทะเบียนให้เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข

        ส่วนเงื่อนเวลาเริ่มต้นนั้นเป็นการตกลงกันมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าจะถือวันใดวันหนึ่ง เช่น ซื้อรถยนต์ ชำระราคาเรียบร้อยแล้ว แต่ตกลงว่าผู้ขายจะต้องซ่อมแซมรถให้ดีเสียก่อนและส่งมอบให้ในวันที่ 1 มกราคม 2519 ดังนี้เป็นสัญญามีเงื่อนเวลา

        สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จ หรือถึงกำหนดเวลานั้นแล้ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ว่า “ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลานั้น”

        สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลานั้น ความจริงก็เป็นสัญญาซื้อขายที่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว มิใช่สัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งตามธรรมดากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ ที่ขายควรจะโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว แต่เนื่องจากมีเงื่อนไขบังคับก่อนหรือมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายจึงยังไม่โอนจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายในกรณีพิเศษ
        1. สัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง สัญญาซื้อขายตามตัวอย่างนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามตัวอย่าง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 503 วรรคแรก) ฉะนั้นสัญญาซื้อขายชนิดนี้จะถือว่าสัญญาสำเร็จบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบทรัพย์ตามตัวอย่างที่ผู้ขายได้เสนอขายต่อผู้ซื้อแล้ว หากทรัพย์ที่ส่งมอบไม่ตรงตามตัวอย่าง ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมซื้อได้ ดังนั้นแม้ผู้ขายจะส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตาม ถ้าผู้ซื้อยังไม่มีโอกาสตรวจดูทรัพย์นั้นว่าตรงตามตัวอย่างที่ผู้ขายเสนอขายหรือไม่ จะถือว่าเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์มิได้ การซื้อขายตามตัวอย่างนี้กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อการซื้อขายนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว กล่าวคือเมื่อผู้ซื้อได้ตรวจดูทรัพย์นั้นเป็นที่พอใจแล้วว่าตรงตามตัวอย่าง และได้รับมอบทรัพย์นั้นแล้ว หากผู้ซื้อยังไม่รับมอบทรัพย์โดยมีข้ออ้างว่าไม่ตรงตามตัวอย่างการซื้อขายหาสำเร็จบริบูรณ์ไม่ ฉะนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจึงยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ

        2. สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนา สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนาคือ สัญญาซื้อขายซึ่งผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 503 วรรคสอง) การซื้อขายเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อตกลงซื้อทรัพย์โดยเชื่อคำพรรณนาเกี่ยวกับคุณภาพ ลักษณะหรือรูปร่างสีสรรของทรัพย์ซึ่งผู้ขายได้พรรณาไว้ ฉะนั้นสัญญาจะสำเร็จบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบทรัพย์ที่ตรงตามคำพรรณนาให้แก่ผู้ซื้อแล้ว การซื้อขายชนิดนี้ ผู้ซื้อต้องมีการตรวจตราทรัพย์ที่ส่งมอบนั้นว่าตรงตามคำพรรณนาหรือไม่ หากไม่ตรงตามคำพรรณนา ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อได้ ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2010/2500 วินิจฉัยว่า การซื้อขายตามแค๊ตตาล็อคและคำพรรณนาเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา เมื่อผู้ขายส่งของไม่ตรงตามคำพรรณนาผู้ซื้อเลิกสัญญาได้

        สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนาก็เช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อสัญญาซื้อขายได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว คือเมื่อผู้ซื้อได้ตรวจตราทรัพย์จนเป็นที่พอใจว่า ตรงตามคำพรรณนาและรับมอบทรัพย์ไว้แล้ว

        3. สัญญาซื้อขายเผื่อชอบ สัญญาซื้อขายเผื่อชอบคือ สัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสตรวจดูทรัพย์สินก่อนรับซื้อ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505) การซื้อขายเช่นนี้ผู้ขายต้องให้ผู้ซื้อมีโอกาสตรวจตราทรัพย์สินที่จะซื้อก่อนที่จะตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน หากผู้ซื้อตรวจดูแล้วไม่พอใจที่จะซื้อ สัญญาซื้อขายก็ยังไม่เกินขึ้น ดังนั้นสัญญาซื้อขายเผื่อชอบจะสำเร็จบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ตกลงรับซื้อหรือตกลงทำสัญญาซื้อขายทรัพย์นั้นแล้ว แต่ถ้าผู้ซื้อได้รับมอบทรัพย์จากผู้ขายเพื่อให้ตรวจดู และผู้ซื้อมิได้ตอบให้ผู้ขายทราบว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 508 บัญญัติว่า การซื้อขายย่อมบริบูรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้

ถ้าผู้ซื้อมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว
ถ้าผู้ซื้อไม่ส่งทรัพย์สินคืนภายในเวลาดังกล่าวมานั้น
ถ้าผู้ซื้อใช้ราคาทรัพย์สินนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
ถ้าผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการอื่นอย่างใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อของนั้น

        สัญญาซื้อขายเผื่อชอบนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์แล้ว กล่าวคือเมื่อผู้ซื้อตกลงรับซื้อหรือเมื่อตกลงทำสัญญาซื้อขาย หรือเมื่อมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 508

        4. สัญญาขายทอดตลาด สัญญาขายทอดตลาดคือ สัญญาซื้อขายซึ่งการขายทรัพย์จะต้องกระทำโดยเปิดเผย โดยวิธีโฆษณาให้บุคคลทั่วไปมีโอกาสทราบ และการซื้อกระทำโดยวิธีสู้ราคา ในระหว่างผู้ซื้อด้วยกัน การซื้อขายเช่นนี้ถือว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อผู้ขายทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด หากยังไม่มีการแสดงความตกลงเช่นนั้นอยู่ตราบใด ผู้ซื้อซึ่เข้าสู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนก็ได้ และถ้าผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 509, 510 และ 513)

        กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดนั้น ตามปกติแล้วย่อมโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อถือว่า การขายทอดตลาดได้สำเร็จบริบูรณ์ โดยวิธีเคาะไม้หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณี ในการขายทอดตลาด เว้นเสียแต่ว่าจะมีเงื่อนไขเงื่อนเวลา หรือข้อความอื่นแจ้งให้ทราบไว้ในคำโฆษณา หรือซึ่งผู้ทอดตลาดได้ประกาศให้ทราบก่อนที่จะมีการสู้ราคา ในกรณีเช่นนี้ กรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อเงื่อนไขได้สำเร็จหรือถึงกำหนดตามเงื่อนเวลา หรือผู้ซื้อได้ปฏิบัติตามข้อความที่ผู้ทอดตลาดประกาศให้ทราบ

        มีคดีของศาลอังกฤษคดีหนึ่ง คือ Dennant v. Skinner and Collom(1) ข้อเท็จจริงมีว่า ก. เข้าสู้ราคารถยนต์คันหนึ่งจากการขายทอดตลาด และเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด ผู้ทอดตลาดได้เคาะให้ตกลงขายให้ ก. ก. ออกเช็คให้และขอรับรถยนต์ ผู้ทอดตลาดตกลงแต่ให้ ก. ทำบันทึกมีข้อความว่า เช็คนั้นมีเงินในธนาคารพอจ่าย และกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะยังไม่โอนเป็นของ ก. จนกว่าจะขึ้นเงินตามเช็คนั้นได้แล้ว ต่อมา ก. นำรถยนต์คันนั้นไปขายให้ ข. ปรากฏว่าเช็คขึ้นเงินไม่ได้ ผู้ทอดตลาดจึงฟ้องเรียกรถยนต์คันนั้นคืนจาก ข. ศาลพิพากษาว่าผู้ทอดตลาดเรียกรถยนต์คืนจาก ข. มิได้ เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของ ก. ตั้งแต่ได้เคาะไม้แล้ว ฉะนั้นบันทึกของ ก. ที่มิให้กรรมสิทธิ์เป็นของ ก. จนกว่าเช็คจะขึ้นเงินได้จึงไม่มีผล เมื่อรถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. แล้ว ข. ผู้ซื้อรถยนต์จาก ก. จึงได้กรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นไปโดยชอบ แต่ถ้าในการขายทอดตลาดได้มีการโฆษณาสงวนราคาขั้นต่ำไว้ แม้ผู้ทอดตลาดจะเผลอเคาะไม้ให้ผู้สู้ราคาสูงสุด ซึ่งให้ราคาต่ำกว่าราคาที่สงวนไว้ ผู้สู้ราคาสูงสุดก็หาได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นไม่ ทั้งนี้ปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลอังกฤษในคดี Mc Manus v. Fertescue(2)

        ข้อวินิจฉัยของศาลอังกฤษทั้งสองคดีนี้น่าจะนำมาใช้กับกฎหมายไทยได้ เพราะมาตรา 58 (2) ของ The Sale of Goods Act, 1693 ได้บัญญัติข้อความไว้ตรงกับมาตรา 509 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทุกประการ

        ถ้าทรัพย์ที่ซื้อจากการขายทอดตลาดเป็นทรัพย์ประเภทที่ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการซื้อขาย กรรมสิทธิ์จะโอนเป็นของผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

        5. สัญญาซื้อขาย F.O.B. (Free on board) สัญญาเช่นนี้มิได้มีกฎหมายไทยบัญญัติไว้ จึงต้องใช้หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถือตามหลักกฎหมายของอังกฤษ สัญญาซื้อขาย F.O.B. คือสัญญาขายสินค้าที่ให้ขนส่งทางทะเล โดยมีข้อตกลงว่า ผู้ขายมีหน้าที่ส่งสินค้าลงเรือตามที่ผู้ซื้อได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นเรือลำใด และจะให้ส่งสินค้าไปลงที่ท่าเรือไหนเพื่อผู้ขายจะได้ส่งสินค้าลงเรือถูกต้อง ค่าประกันภัยในการขนส่งสินค้า ค่าระหว่างบรรทุกผู้ซื้อต้องจ่าย ผู้ขายคงจ่ายเพียงค่านำสินค้าลงเรือเท่านั้น เมื่อได้นำสินค้าลงเรือแล้ว ถือเป็นการส่งมอบสินค้า ฉะนั้นภัยพิบัติในสินค้านั้น หากมีก็ตกเป็นภัยแก่ผู้ซื้อเมื่อใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสินค้านั้นว่าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง หรือมิใช่ ถ้าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์ย่อมโอนเมื่อนำสินค้าลงเรือ เว้นแต่จะมีข้อตกลง หรือแสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น ถ้ามิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์จะโอนเมื่อได้จัดการให้ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งขึ้นมา

        6. สัญญาซื้อขาย C.I.F. (cost, insurance and freight) สัญญา C.I.F. คือ สัญญาซื้อขายสินค้าเพื่อขนส่งทางทะเล โดยผู้ขายตกลงจะส่งสินค้าไปให้ถึงท่าเรือตามที่ผู้ซื้อต้องการ และผู้ขายเป็นผู้ออกค่าระวางบรรทุกรวมทั้งค่าประกันภัยให้ แต่แทนที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อโดยตรง ผู้ขายจะส่งมอบเพียงเอกสารการขนส่ง (shipping documents) ซึ่งถือเป็นเอกสารแทนสินค้าให้ผู้ซื้อเท่านั้น เอกสารการขนส่งนี้ได้แก่ บิลออฟเลดดิ้ง (bill of lading) กรมธรรม์ประกันภัย (policy of insurance) และใบแสดงรายการสินค้า (invoice) ภัยพิบัตรในสินค้าจะตกอยู่แก่ผู้ซื้อนับตั้งแต่สินค้านั้นได้นำลงเรือแล้ว แต่กรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ส่งมอบเอกสารการขนส่งให้แก่ผู้ซื้อแล้ว อย่างไรก็ตามแม้จะถือว่า กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อดังกล่าว แต่เมื่อผู้ซื้อได้ตรวจตราสินค้าแล้ว หากไม่ตรงตามสัญญาที่กระทำกันไว้ ผู้ซื้อก็มีสิทธิจะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบสินค้านั้นได้

        7. สัญญาซื้อขาย Ex. Ship สัญญา Ex Ship คือสัญญาซื้อขายที่ผู้ขายจะนำสินค้าบรรทุกเรือไปส่งให้ผู้ซื้อที่ท่าเรือปลายทาง โดยจะส่งมอบสินค้าให้จากเรือนั้น ผู้ขายเป็นผู้ชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าเอง แต่ภัยพิบัติในสินค้าหากมีก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้า ย่อมตกเป็นภัยแก่ผู้ขาย สำหรับกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว

        เพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขาย โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อใด นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ขอนำหลักกฎหมายของอังกฤษตาม The Sale of Goods Act; 1983 มากล่าวไว้เป็นสังเขป ดังนี้

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง
        มาตรา 17 (1) สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือทรัพย์ที่กำหนดไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อคู่สัญญามีเจตนาจะให้โอน (2) เพื่อจะทราบเจตนาของคู่สัญญา ต้องพิจารณาข้อความในสัญญา การปฏิบัติของคู่สัญญาและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วย

        มาตรา 18 เว้นแต่จะปรากฏเจตนาเป็นอย่างอื่น ให้ใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้เพื่อจะทราบเจตนาของคู่สัญญาจะให้กรรมสิทธิ์โอนไปเมื่อใด

        ข้อ 1. เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งโดยไม่มีเงื่อนไข และเป็นทรัพย์ที่อยู่ในสภาพส่งมอบได้ กรรมสิทธิ์จะโอนตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงว่ามีการผ่อนชำระราคาผ่อนเวลาส่งมอบ หรือผ่อนเวลาทั้งสองกรณีหรือไม่

        ข้อ 2. เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง และผู้ขายผูกพันที่จะต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์นั้น เพื่อให้ทรัพย์นั้นอยู่ในสภาพที่จะส่งมอบได้ กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าผู้ขายจะได้ทำการนั้น และผู้ซื้อได้ทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว

        ข้อ 3. เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่อยู่ในสภาพส่งมอบได้ แต่ผู้ขายผูกพันที่จะต้อง ชั่ง วัด ทดสอบ หรือทำการอย่างใดหรือทำสิ่งใดเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ให้รู้กำหนดราคาทรัพย์นั้นแน่นอน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน จนกว่าผู้ขายจะได้ทำการนั้นหรือทำสิ่งนั้น และผู้ซื้อได้ทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว

        ข้อ 4. ถ้าทรัพย์ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเป็นการขายแบบขายเผื่อชอบ หรือจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ (on sale or return) หรือเป็นการขายทำนองดังกล่าว กรรมสิทธิ์จะโอนเมื่อ

        (ก) ผู้ซื้อแจ้งให้ผู้ขายทราบว่าตนเห็นชอบหรือยอมรับหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการยอมรับทรัพย์นั้น

        (ข) ถ้าผู้ซื้อไม่แจ้งให้ผู้ขายทราบว่าตนเห็นชอบ หรือยอมรับทรัพย์นั้น แต่ยังคงยึดถือทรัพย์ไว้โดยมิได้ปฏิเสธให้ผู้ขายทราบภายในเวลากำหนด หรือถ้ามิได้กำหนดเวลาไว้ มิได้ปฏิเสธในเวลาอันสมควร อย่างไรจะถือว่าเป็นเวลาอันสมควรนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัยพ์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน
        มาตรา 16 สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์ที่กำหนดลงแน่นอนแล้ว

        และตามหลักเกณฑ์ข้อ 5 (1) ของมาตรา 18 บัญญัติว่า สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน หรือทรัพย์ที่ยังไม่มีอยู่ตามคำพรรณนานั้น หากผู้ขายโดยความยินยอมของผู้ซื้อ หรือผู้ซื้อโดยความยินยอมของผู้ขายได้กำหนดทรัพย์ตามคำพรรณนาซึ่งอยู่ในสภาพส่งมอบได้ ไว้ในสัญญาโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างใด กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ ความยินยอมของผู้ซื้อหรือผู้ขายจะชัดแจ้งหรือปริยาย และจะให้ไว้ก่อนหรือหลังที่จะกำหนดทรัพย์นั้นก็ได้

[แก้ไข] สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข
        มาตรา 19 (1) สัญญาขายทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือทรัพย์ที่มีการกำหนดตัวทรัพย์ไว้ในสัญญาในภายหลัง ผู้ขายอาจสงวนสิทธิไว้ในสัญญาหรือในการกำหนดตัวทรัพย์ว่า จะจำหน่ายทรัพย์ต่อเมื่อมีเงื่อนไขอย่างใดเกิดขึ้น ในกรณีเช่นนี้ แม้ว่าจะมีการส่งมอบทรัพย์แก่ผู้ซื้อ ผู้ขนส่ง ผู้รับฝาก ผู้ดูแลเพื่อจะมอบให้แก่ผู้ซื้อ กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้จะสำเร็จแล้ว

[แก้ไข] ข้อตกลงเกี่ยวกับภัยพิบัติ
        มาตรา 20 ภัยพิบัตรตกอยู่แก่ผู้ขายจนกว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อ แต่เมื่อกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ภัยพิบัติย่อมตกอยู่แก่ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะได้มีการส่งมอบทรัพย์นั้นแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เว้นแต่จะตกลงเป็นประการอื่น

        ถ้าการส่งมอบทรัพย์ล่าช้า เนื่องจากความผิดของผู้ซื้อหรือผู้ขาย ภัยพิบัติในทรัพย์ย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายผิดเท่าที่เป็นความผิดของฝ่ายนั้น

        บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งถึงหน้าที่ หรือความรับผิดของผู้ขาย หรือผู้ซื้อในฐานะเป็นผู้รับฝากหรือผู้ดูแลทรัพย์ไว้แทนคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

        หลักกฎหมายของอังกฤษดังกล่าวมีอะไรหลายอย่างที่สอดคล้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกับกฎหมายของไทยเรา จึงน่าจะนำมาประกอบการพิจารณาในการใช้บทกฎหมายไทยได้ แทนที่ไม่ขัดแย้งกัน


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย