ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีแพ่ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีแพ่ง


        เกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในคดีแพ่งนั้น มีบทบัญญัติรวบยอดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายกล่าวที่อ้าง

        แต่ว่า (1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งมิอาจโต้แย้งได้ หรือซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว

        (2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่า ตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

        ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้วางหลักได้ง่าย ๆ ว่า คู่ความในคดี ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย ผู้ร้อง หรือผู้คัดค้าน ถ้ากล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคำฟ้อง คำให้การ คำร้องขอหรือคำคัดค้านของตนแล้ว มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริง ตามที่ตนกล่าวอ้างไว้นั้น ถ้านำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเชื่อไม่ได้ตามนั้น หรือไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามข้อเท็จจริงนั้นเสียเลย ข้อกล่าวอ้างของตนในข้อเท็จจริงนั้น ๆ ย่อมตกไป และศาลก็จะพิพากษาให้แพ้คดี หากข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อแพ้ข้อชนะในคดี แต่หลักที่ว่านั้นมีข้อยกเว้นอยู่ 4 ประการด้วยกัน ซึ่งหากเข้าข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งแล้วผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหาต้องนำพยานมาสืบสนับสนุนข้อเท็จจริงนั้นไม่ ข้อยกเว้นมีดังนี้

ถ้าข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าปีหนึ่งมี 12 เดือน หรือเดือนมกราคมมี 31 วัน เดือนเมษายนมี 30 วัน เป็นต้น มีคำพิพากษาฎีกา 436/2509 วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ว่าเรือหางยาวเป็นเรือเล็ก ๆ ไม่ใหญ่โต ใช้วิ่งรับส่งในแม่น้ำลำคลอง มีระวางบรรทุกไม่เกิน 250 ตัน เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป และคำพิพากษาฎีกาที่ 1947/2520 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าวันที่เท่าใดเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป
ถ้าข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าน้ำตาลต้องหวาน เกลือต้องเค็ม หรือน้ำแข็งต้องเย็นเป็นต้น
ถ้าข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว และ
ถ้าข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างนั้นมีกฎหมายสันนิษฐานไว้เป็นคุณแก่คู่ความที่กล่าวอ้าง คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างก็มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบแต่เพียงว่า ตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐานนั้น ๆ เท่านั้นก็พอ เช่น โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 บัญญัติว่า “บุคคลยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง” และมีมาตรา 1369 บัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” ดังนี้ โจทก์เพียงแต่นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ยึดถือหรือครอบครองที่พิพาทนั้นไว้เท่านั้นก็พอ ก็จะได้รับการสันนิษฐานจากมาตรา 1369 ว่าโจทก์ยึดถือที่พิพาทไว้เพื่อตน จึงถือว่าโจทก์มีสิทธิโจทก์ครอบครองในที่พิพาทตามมาตรา 1367 แล้ว ในข้อยกเว้นทั้งหมดนั้น ข้อยกเว้นข้อที่ 3 เป็นข้อยกเว้นที่มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนมากกว่าข้ออื่น ๆ และในทางปฏิบัติแล้วคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาในปัญหาว่า คู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก็มักจะเป็นปัญหาในข้อ 3 นี้เกือบทั้งสิ้น เพราะความยากอยู่ที่ว่า อย่างไรถือว่า ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างนั้นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้วหรือไม่ เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจำนวนหนึ่ง ครบกำหนดตามสัญญาแล้วไม่ชำระ จำเลยให้การว่าได้กู้เงินโจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ชำระแล้ว ดังนี้จะถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า ได้ชำระแล้ว หรือจะถือว่าคดีนี้มีข้อเท็จจริง 2 ข้อ คือ ข้อแรกโจทก์อ้างว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ และข้อที่สองจำเลยยังมิได้ชำระ เมื่อข้อแรกจำเลยรับแล้วว่าได้กู้เงินจากโจทก์จริง ข้อเท็จจริงข้อแรกก็ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท คงมีประเด็นข้อพิพาทเฉพาะข้อเท็จจริงข้อที่สองเท่านั้นว่าจำเลยชำระเงินกู้แล้วหรือยัง (ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 เรื่องประเด็นข้อพิพาท) ฉะนั้นจึงต้องถือว่าคดีนี้จำเลยปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่า จำเลยยังค้างหนี้เงินกู้อยู่ ถ้าถือตามนัยแรก จำเลยก็มีหน้าที่นำสืบ เพราะถือว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าได้ชำระแล้ว ถ้าถือตามนัยหลัง โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องนำสืบ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าจำเลยยังค้างหนี้เงินกู้อยู่นั้นจำเลยมิได้รับ
        บทความนี้ประสงค์จะให้ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบเฉพาะปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้เท่านั้น เพราะปัญหาตามข้อยกเว้นอื่นไม่อาจยุ่งยากเท่าใดนัก เช่น ข้อสันนิษฐานของกฎหมายมีอยู่เพียงใดหรือไม่ก็ดูจากตัวบทกฎหมายได้ อาจจะมีปัญหาบ้างก็ในข้อยกเว้นข้อแรกที่ว่า ข้อเท็จจริงอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป แต่ปัญหาดังกล่าวมักจะมีไม่สู้มากนัก และมักจะศึกษาได้จากตำราทั้งในและต่างประเทศ

        ข้อสังเกตประการแรกในการที่จะพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งได้กล่าวอ้างขึ้น จะถือว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้วหรือไม่นั้น (มีข้อน่าคิดว่า จะต้องพิจารณาปัญหานี้ตามประเด็นข้อพิพาทเป็นประเด็น ๆ ไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 หรือจะไม่แยกพิจารณาเป็นประเด็น ๆ ไป หากแต่พิจารณาเรื่องราวทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน แล้วพิเคราะห์ดูว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดนั้น ถือได้หรือไม่ว่าจำเลยรับ เช่นตัวอย่างที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินแล้วยังมิได้ชำระก็ดี หรือฟ้องว่าจำเลยซื้อสินค้าแล้วยังไม่ชำระราคาสินค้านั้นก็ดี จำเลยให้การว่ากู้เงินจริงแต่ชำระแล้ว หรือซื้อสินค้าจากโจทก์จริงแต่ชำระแล้ว ดังนี้จะถือว่าจำเลยได้รับข้อเท็จจริงที่ว่าได้กู้เงินจริง ได้ซื้อสินค้าจริงแล้ว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าได้ชำระแล้ว หรือจะถือว่าคดีทั้งสองนี้มีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยชำระเงินแล้วหรือยัง เมื่อโจทก์อ้างว่ายังไม่ชำระเงิน แต่จำเลยต่อสู้ว่าชำระแล้ว ก็เท่ากับจำเลยปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างสำหรับประเด็นนี้

        สำหรับปัญหาดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า น่าจะถือประเด็นข้อพิพาทแต่ละประเด็นเป็นข้อพิจารณาว่าข้อเท็จจริงในประเด็นนั้น ๆ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ยอมรับแล้วหรือปฏิเสธ หรือว่าได้ยอมรับในข้อเท็จจริงตามประเด็นนั้น ๆ แล้ว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ทั้งนี้จะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 ซึ่งบัญญัติให้ศาลจดประเด็นข้อพิพาทไว้เฉพาะแต่ในปัญหา ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับเท่านั้น และถ้าศาลเห็นจำเป็นจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานมาสืบในประเด็นโต้เถียงข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้ จึงแสดงว่าปัญหาใดถ้าคู่ความยอมรับกันเสียแล้วก็ไม่เกิดเป็นประเด็นโต้เถียง และคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงนั้นก็ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมาสืบแต่ประการใด ศาลรับฟังข้อเท็จจริงนั้นได้ทีเดียว เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 218/2488 วินิจฉัยว่า ฟ้องข้อใดซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธหรือต่อสู้ไว้ ก็ถือว่าฟ้องข้อนั้นไม่เป็นประเด็นข้อทุ่มเถียงในคดี โจทก์ไม่ต้องนำสืบ ศาลก็รับฟังตามฟ้องได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1225/2508 วินิจฉัยว่า เมื่อศาลสอบถามและโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ก็ฟังข้อเท็จจริงตามที่แถลงรับกันนั้นได้ ไม่จำต้องสืบพยานต่อไป

        คดีบางเรื่องมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียว บางคดีอาจจะมีหลายประเด็น ดังนั้นหน้าที่นำสืบในแต่ละประเด็นอาจต่างกันได้ เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์ชนโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยให้การว่าขับรถยนต์ชนโจทก์จริง แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยและค่าสินไหมทดแทนก็ไม่ถูกต้อง โจทก์เรียกร้องมากกว่าที่เป็นจริง ดังนี้มีประเด็นข้อพิพาทอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. การที่จำเลยขับรถยนต์ชนโจทก์นั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ และ 2. ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด สำหรับประเด็นแรกนั้นเมื่อจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่าได้ขับรถยนต์ชนโจทก์ แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า เกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าการชนนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย ส่วนประเด็นหลังโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า ค่าสินไหมทดแทนมีจำนวนเท่าใด แต่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ถูกต้อง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าค่าสินไหมทดแทนมีจำนวนตามที่กล่าวอ้าง

        ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นข้อยากที่จะวินิจฉัยก็คือ อย่างไรจึงจะถือว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธ หรือว่ารับแต่อ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ถ้าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินแล้วไม่ชำระ จำเลยให้การว่าไม่เคยกู้เงินโจทก์เลย ดังนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องของโจทก์ โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยได้กู้เงินจากโจทก์จริง หรือถ้าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินแล้วไม่ชำระ จำเลยรับว่าได้กู้จริง แต่อ้างว่าโจทก์หลอกว่าจะจ่ายเงินให้เมื่อต้องการ จำเลยจึงมิได้รับเงินไปก็ดี หรือต่อสู้ว่าสัญญากู้เป็นนิติกรรมอำพรางการเช่าที่ดินก็ดี ย่อมเห็นได้ชัดว่า จำเลยรับข้อเท็จจริงในเรื่องกู้แล้ว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าเป็นนิติกรรมอำพรางการเช่าที่ดิน ดังนี้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1527/2518 และ 2255/2518) แต่บางครั้งก็วินิจฉัยได้ยาก เช่น โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยต่อสู้ว่าได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้วโดยโจทก์ได้สวน 2 แปลง โจทก์แถลงว่าได้ครอบครองสวน 2 แปลงจริง แต่ไม่ใช่เพราะจำเลยแบ่งให้ คดีนี้ย่อมมีประเด็นว่า จำเลยแบ่งมรดกให้โจทก์แล้วหรือยัง ถ้าพิจารณาตามประเด็นตรงไปตรงมาก็น่าจะถือว่า จำเลยปฏิเสธ เพราะโจทก์อ้างว่ายังไม่แบ่ง แต่จำเลยต่อสู้ว่าแบ่งให้แล้ว มิหนำซ้ำยังอ้างข้อเท็จจริงสนับสนุนเสียด้วยว่า โจทก์ได้สวนไป 2 แปลง ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ครอบครองสวน 2 แปลงจริง เพียงแต่ต่อสู้ว่าไม่ใช่เพราะจำเลยแบ่งให้ แต่ศาลฎีกาได้พิพากษาในปัญหานี้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าได้มีการแบ่งมรดกแล้วจริง เพราะคำแถลงของโจทก์มิใช่รับในข้อแบ่งมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ 122/2490) จึงเท่ากับศาลฎีกาถือว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่ยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าได้แบ่งมรดกให้แล้ว ความจริงจะว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อพิพาทเห็นจะมิได้ แต่การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกก็แสดงว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นทายาทของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าได้แบ่งมรดกให้โจทก์แล้ว จึงเท่ากับจำเลยรับข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นทายาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามส่วนของตน เมื่อจำเลยอ้างว่าแบ่งมรดกให้แล้ว จึงเท่ากับอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อให้พ้นความรับผิด จำเลยจึงต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่ให้ตนพ้นความรับผิดนั้น ฉะนั้นปัญหาตามคำพิพากษาฎีกานี้จึงมิใช่ปัญหาที่ง่ายนัก

        คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวกับการปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมีตัวอย่างดังนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 109/2486 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาจริง แต่ต่อสู้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาและปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เสียหาย โจทก์ต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1037/2487 โจทก์ฟ้องว่ากู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้จำเลยทำต่างดอกเบี้ย จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กู้ แต่โจทก์ขายให้ และจำเลยได้ครอบครองมากว่า 2 ปีแล้ว โจทก์ต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 971/2492 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยืมไม้ของโจทก์ไปขอให้คืน จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ขายให้และจำเลยชำระราคาเสร็จแล้ว เป็นการโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จำเลยครอบครองอยู่ โจทก์ต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1112/2493 โจทก์ฟ้องว่ามารดาจำเลยทำสัญญาแบ่งขายที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ ต่อมามารดาจำเลยตาย โจทก์ครอบครองมากว่า 10 ปีแล้ว ขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การว่ามารดาจำเลยเพียงแต่ทำสัญญาจะขายให้โจทก์เท่านั้น โจทก์ครอบครองโดยอาศัยมารดาจำเลย ดังนี้โจทก์มีหน้าที่นำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 58/2495 จำนองที่ดินมือเปล่าไว้กำหนดไถ่คืนภายใน 3 ปี ปรากฏว่าผู้รับจำนองครอบครองมาแล้ว 6 ปี โจทก์อ้างว่ามอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ย จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มอบให้เป็นสิทธิแทนต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 244/2497 โจทก์ฟ้องจำเลยกู้เงิน 1,000 บาท ตามสัญญากู้ จำเลยให้การว่าทำสัญญากู้จริงแต่กู้เพียง 100 บาท โจทก์แก้จาก 100 บาทเป็น 1,000 บาท ดังนี้ถือว่าเป็นการปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารพยานที่โจทก์อ้าง เพราะเท่ากับต่อสู้ว่าเอกสารนั้นปลอม โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นความถูกต้องแท้จริง เมื่อไม่นำสืบถือว่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องบังคับคดี ต้องยกฟ้อง

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1527/2497 โจทก์ฟ้องเรียกมรดกจากจำเลย จำเลยต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์ที่เจ้ามรดกยกให้จำเลยตั้งแต่ยังไม่ตาย จำเลยครอบครองตลอดมา โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าเป็นทรัพย์มรดก

        คำพิพากษาฎีกาที่ 2009/2505 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายแล้ว ขอเรียกเงินค่าปรับที่จำเลยยึดโดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ผิดสัญญาส่งของไม่ถูกต้อง หน้าที่นำสืบตกโจทก์

        คำพิพากษาฎีกาที่ 326/2508 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งชำระแล้ว อีกครั้งหนึ่งยังไม่ได้ชำระ ขอให้ชำระ จำเลยให้การว่ากู้เงินโจทก์เพียงครั้งเดียวและชำระแล้ว เมื่อโจทก์รับว่าได้ชำระหนี้แล้ว แต่อ้างว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญากู้อีกฉบับหนึ่ง โจทก์ต้องนำสืบในข้อนี้ เพราะจำเลยมิได้กล่าวข้อเท็จจริงอะไรขึ้นมาอีกเลย ถ้าให้จำเลยนำสืบ จำเลยคงจะสืบแต่ปฏิเสธ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1069/2509 เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ายังไม่ขาดอายุความ ถ้าโจทก์ไม่นำสืบต้องฟังว่าขาดอายุความ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 592/2513 ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยต่อสู้ว่าไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นที่สาธารณะ และไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์มีหน้าที่นำสืบ

        ข้อสังเกตุที่เกี่ยวกับการปฏิเสธฟ้องของโจทก์นั้นมีว่า จำเลยจะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นด้วยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ถ้าข้อเท็จจริงใดที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่จำเลยมิได้ให้การถึงเลยว่าจะรับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าข้อเท็จจริงนั้นไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบตามข้อเท็จจริงนั้น นอกจากนี้คำให้การของจำเลยมักจะถือเป็นแบบฉบับลอกเลียนกัน โดยพอเริ่มคำให้การก็จะบรรยายว่า “นอกจากที่จำเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้ว ขอให้ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้น” ความจริงการให้การไว้เช่นนี้ไม่มีผลเป็นการปฏิเสธฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้นแต่ประการใด เพราะเป็นคำให้การที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา 177 ดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใดโดยชัดแจ้ง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในฟ้องข้อนั้น ๆ ทั้งนี้จะเห็นได้จาก คำพิพากษาฎีกาที่ 1196/2511 ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยให้การว่า “นอกจากที่จำเลยให้การต่อไปนี้ ขอให้ถือว่าปฏิเสธฟ้อง” โดยไม่ปรากฏเหตุผลแห่งการปฏิเสธ ย่อมเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ฉะนั้นเมื่อจำเลยมิได้ให้การถึงฟ้องข้อใดไว้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิเสธ โจทก์ไม่ต้องนำสืบฟ้องข้อนั้น

        อย่างไรจึงจะถือว่าจำเลยให้การรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างให้ใหม่นั้น น่าจะต้องพิจารณาเป็นประเด็น ๆ ไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยพิเคราะห์ว่าคดีนั้นมีประเด็นข้อพิพาทกี่ประเด็น แต่ละประเด็นนั้นฝ่ายใดเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาก่อน แล้วจึงพิจารณาว่าข้อเท็จจริงนั้น ๆ อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธหรือรับ ถ้ารับแล้ว มีการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ๆ ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พ้นจากความรับผิดบ้างหรือไม่ ถ้ามี ฝ่ายหลังนี้ก็มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้เช่นนั้น มิฉะนั้นย่อมแพ้คดี การจะถือว่าอย่างไรเป้นการยอมรับแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาตัวอย่างดังต่อไปนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 598/2485 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงขายข้าวสารให้โจทก์และรับเงินไปแล้ว แต่ไม่ส่งข้าวสารให้ จำเลยให้การว่าได้ขายข้าวสารให้โจทก์จริงแตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่ชำระเงินและรับข้าวไปในวันที่กำหนด ดังนี้ วันที่ตกลงใหรับข้าวเป็นข้อที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นใหม่ จำเลยต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 971/2496 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลย จำเลยต่อสู้ว่าทำสัญญาดังกล่าวจริง แต่โจทก์ใช้กลฉ้อฉล ความจริงเจตนาขายฝาก จำเลยมีหน้าที่นำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 2094/2497 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าทำงานกับโจทก์ และรับสินค้าจากโจทก์ไปจำหน่ายแล้วไม่ชำระค่าสินค้า ขอให้ชำระ จำเลยต่อสู้ว่าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าเป็นหุ้นส่วน

        คำพิพากษาฎีกาที่ 636 – 640/2502 โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าโดยอ้างว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า จำเลยให้การว่านำค่าเช่าไปชำระให้โจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมรับ ดังนี้เท่ากับจำเลยยอมรับว่าได้ค้างค่าเช่าอยู่จริง จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1318/2505 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 1,100 บาท ตามสัญญากู้ขอให้ใช้ จำเลยต่อสู้ว่าบุตรจำเลยลักพาบุตรสาวโจทก์ไป เจ้าพนักงานเปรียบเทียบให้บุตรเสียค่าสินสอด 2,000 บาท จำเลยมอบเงินสดและสร้อยคอให้ไป ที่เหลือ 1,100 บาท จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ แต่โจทก์กลับไม่ยอมให้บุตรจำเลยอยู่กินกับบุตรโจทก์ ดังนี้ การกู้เงินดังกล่าวมีมูลหนี้ที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ยอมให้บุตรจำเลยอยู่กินกับบุตรโจทก์ตามข้อตกลงนั้น เป็นข้อต่อสู้ที่อ้างเพื่อให้พ้นความรับผิด จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 690/2511 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยรับว่าผิดสัญญาจริง แต่ต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ เพราะจำเลยเป็นคนต่างด้าว และจำเลยสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม ดังนี้จำเลยมีหน้าที่นำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1727/2513 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายฝากทรัพย์ให้กับโจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยไม่ออกไปจากทรัพย์นั้น ขอให้ขับไล่ จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาขายฝากจริง แต่เป็นการทำลวงกันไว้เท่านั้น ดังนี้จำเลยต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 99/2515 โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าได้กู้เงินโจทก์ไปจริง แต่โจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย และจำเลยได้ชำระให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าต้นเงินกู้ ขอให้เอามาหักกลบลบหนี้กัน ดังนี้เท่ากับจำเลยให้การรับว่ายังมิได้ชำระต้นเงินคืนให้โจทก์ โจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 944/2515 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายฝากที่ดินและเรือนจนหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์แล้วขอให้ขับไล่ จำเลยรับว่าผู้รับมอบอำนาจของจำเลยทำสัญญาขายฝากไว้กับโจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่าผู้รับมอบอำนาจของจำเลยมิได้รับมอบอำนาจให้ไปทำสัญญาขายฝากแก่โจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 895/2517 โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ จำเลยให้การว่าจำเลยตกลงขายสวนให้โจทก์ แต่โจทก์กลับหลอกลวงให้ทำสัญญากู้ และจำเลยไม่ได้รับเงิน ดังนี้จำเลยมีหน้าที่นำสืบ

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1131/2520 จำเลยทราบข้อสัญญาการประกวดราคาตามประกาศเรียกประกวดราคาของโจทก์แล้ว จึงยื่นซองประกวดราคา เมื่อจำเลยประมูลได้ก็ต้องผูกพันตามสัญญานั้น โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยประมูลได้แล้วไม่มาทำสัญญาก่อสร้าง จำเลยรับว่าได้ยื่นซองเสนอราคาจริง แต่อ้างว่าจำเลยไม่ผูกพันตามสัญญา ดังนี้ประเด็นที่ว่าคำเสนอของจำเลยยังคงผูกพันจำเลยหรือไม่ จำเลยต้องมีหน้าที่นำสืบ

        ข้อสังเกตจากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นมีว่า การจะถือว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายแรกกล่าวอ้าง มิได้พิจารณาเฉพาะข้อความตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น จะต้องพิจารณาข้อความทั้งหมดรวมกันไป แต่ละข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างแล้วพิเคราะห์ว่าเป็นการรับหรือปฏิเสธ หรือเป็นการรับแต่ยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นต่อสู้

        แม้จะมีคำพิพากษาเป็นแนวทางอยู่ข้างต้นก็ตาม ปัญหาที่ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินแล้วไม่ชำระ หรือโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซื้อสินค้าแล้วไม่ชำระ ซึ่งจำเลยให้การว่าทำสัญญากู้จริง หรือซื้อสินค้าตามฟ้องจริง แต่ต่อสู้ว่าได้ชำระแล้ว ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า โจทก์หรือจำเลยมีหน้าที่นำสืบในประเด็นที่ว่าได้มีการชำระเงินกู้ หรือค่าสินค้าแล้วหรือยัง ถ้าถือตามหลักที่ผู้เขียนมีความเห็น ก็จะเห็นว่าคดีนี้มีประเด็นเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแล้วหรือยัง โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นก่อนว่าจำเลยยังไม่ชำระ แต่จำเลยต่อสู้ว่าชำระแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จึงน่าจะมีหน้าที่นำสืบ แต่อย่างไรก็ตามมีหลักอยู่ว่าการนำสืบในทางปฏิเสธนั้นสืบยาก จึงมีความเห็นอีกฝ่ายหนึ่งว่าควรให้จำเลยซึ่งอ้างว่าชำระหนี้แล้วเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบว่าได้ชำระแล้วเพราะสืบได้ง่ายกว่า ฉะนั้นจึงมีการหาเหตุผลมาสนับสนุน เพื่อให้เข้าหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ว่า แม้จะมีประเด็นเพียงว่าจำเลยได้ชำระหนี้แล้วหรือยังก็ตาม แต่เมื่อจำเลยรับแล้วว่าได้กู้หรือได้ซื้อสินค้าจริง จำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระ เมื่อจำเลยอ้างว่าชำระแล้วจึงถือว่าเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบเหตุผลดังกล่าวนี้ก็มีน้ำหนัก และดูจะเป็นเหตุผลที่นักกฎหมายส่วนมากยอมรับ แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตุอยู่ว่า สำหรับประเด็นที่ว่าจำเลยชำระหนี้หรือยังนั้น โจทก์มิใช่หรือที่เป็นผู้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาก่อน เพื่อให้จำเลยรับผิดและก็จำเลยปฏิเสธข้ออ้างนั้นโดยเถียงว่าชำระแล้ว ดังนี้ ถ้าต่างฝ่ายไม่สืบพยานสมควรให้ฝ่ายใดแพ้คดี โจทก์ผู้กล่าวอ้างเรียกร้องเงินหรือจำเลยผู้ปฏิเสธ และนอกจากนี้ถ้าเป็นเรื่องซื้อขายก็ยังมีแง่คิดอีกว่าจำเลยเป็นผู้ได้ทรัพย์ไปจากผู้ขายแล้ว ตามปกติธรรมดาถ้าผู้ซื้อยังไม่ชำระเงิน ผู้ซื้อก็ไม่น่าจะได้รับทรัพย์ที่ซื้อนั้นไป ดังนั้นเมื่อโจทก์อ้างว่ามิใช่กรณีปกติธรรมดา เพราะจำเลยรับทรัพย์ไปก่อน แต่ยังไม่ชำระเงิน และเมื่อจำเลยก็ปฏิเสธว่าชำระแล้ว เช่นนี้ โจทก์ก็ควรมีหน้าที่นำสืบว่ายังมิได้รับชำระ แต่ความเห็นของผู้เขียนในปัญหาดังกล่าวนี้สงสัยอยู่ว่าจะถูกต้อง และมีผู้เห็นด้วยเพียงใดหรือไม่

        อนึ่ง ปัญหาหน้าที่นำสืบหรือภาระในการพิสูจน์นั้น ต่างกับปัญหาในการนำพยานเข้าสืบ เพราะคดีที่มีหลายประเด็น หน้าที่นำสืบอาจจะอยู่ที่โจทก์บ้าง จำเลยบ้างก็ได้ แต่ศาลอาจสั่งว่าเพื่อความสะดวกให้โจทก์หรือจำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนในทุกประเด็นก็ได้ ส่วนปัญหาที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงหรือมีภาระพิสูจน์ความจริง ย่อมเป็นไปตามหน้าที่นำสืบในแต่ละประเด็นนั้นโดยไม่คำนึงว่า ฝ่ายใดนำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลัง.


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย