ข้อสังเกตและทัศนะของคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีปกปิดทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ รองศาสตราจารย์.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน อาจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เลขานุการภาควิชากฎหมายมหาชน อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน

ข้อสังเกตและทัศนะของคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


[แก้ไข]
ในคดีปกปิดทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี
        ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติโดยเสียงข้างมาก ๘ ต่อ ๗ เสียง วินิจฉัยชี้ขาดว่า นายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ และขณะนี้คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว ได้ปรากฏต่อสาธารณชนแล้ว ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษากฎหมาย คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตและแสดงทัศนะในทางวิชาการต่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยสรุปดังต่อไปนี้

[แก้ไข] ๑. ปัญหาความลักลั่นในการนำรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ ไปใช้บังคับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
        ๑.๑ ในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ แม้โดยสรุปศาลจะวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรี ถือเป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสื่อมวลชน ปรากฏว่า มีตุลาการฯ ๔ ท่าน กลับเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนุญดังกล่าว

        ๑.๒ ความเห็นของตุลาการฯ ๔ ท่านข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อน ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ประสงค์จะให้บทกำหนดโทษตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ คือ การห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดเป็นเวลา ๕ ปี เป็นบทบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ทั้งในระหว่างดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง เพื่อไปตรวจสอบในท้ายที่สุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๓ และมาตรา ๒๙๔ ว่าผู้นั้นมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติอันเป็นการสื่อทุจริตหรือไม่ โดยจะไม่มีการตรวจสอบในเรื่องที่เกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สิน หากว่าผู้นั้นพ้นตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วนั้น ความเห็นของตุลาการฯ ๔ ท่านดังกล่าว หากต่อไปได้รับการยอมรับจนกลายเป็นเสียงข้างมาก กลไกการตรวจสอบการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะถูกทำลายโดยสิ้นเชิง การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ เช่นนี้ จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการตีความรัฐธรรมนูญที่ต้องตีความให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญสามารถเกิดผลบังคับได้จริง

        ๑.๓ มีข้อสังเกตว่า ตุลาการฯท่านหนึ่งได้กลับคำวินิจฉัยของตน โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะคดีของนายโกศล ศรีสังข์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับนายกรัฐมนตรีก้ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ การกลับคำวินิจฉัยของตนเช่นนี้ น่าจะมีผลเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อคำวินิจฉัยของตุลาการฯ ท่านดังกล่าว และเป็นความลักลั่นในการนำรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ ไปใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น

[แก้ไข] ๒. ปัญหาการกำหนดประเด็นในการลงมติ
        ๒.๑ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยเป็น ๒ ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่งนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีฯตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ หรือไม่ และการยื่นคำร้องของ ป.ป.ช. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ หรือไม่ ประเด็นที่สอง นายกรัฐมนตรีมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ หรือไม่

        ๒.๒ ในประเด็นวินิจฉัยสองประเด็นที่ปรากฎตามคำวินิจฉัยกลางเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริง ซึ่งตะลาการฯ บางท่านได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่เคยมีการตั้งประเด็นให้ลงมติปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า นายกรัฐมนตรีต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ หรือไม่ มาก่อนเลย ประกอบกับข้อเท็จจริงที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยว่า ในการลงมติของคณะตุลาการฯ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคมฯ คณะตุลาการฯกำหนดประเด็นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า นายกรัฐมนตรีมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ หรือไม่ กรณีนี้จะเห็นได้ว่า ประเด็นวินิจฉัยที่ปรากฏตามคำให้สัมภาษณ์ของตุลาการฯ และตามคำแถลงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังนั้น ไม่สอดคล้องต้องกันอย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นวินิจฉัยของคณะตุลาการฯ เช่นนี้ แม้ยังมิต้องไปพิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงของฝ่ายใดจริงฝ่ายใดเท็จ ก็มีผลกระทบสำคัญในการลดทอนความน่าเชื่อถือ ตลอดจนแสดงออกถึงระดับมาตรฐานในวิธีการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

        ๒.๓ ข้อที่ต้องสังเกตมีว่า ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแถลงว่า การลงมติของตุลาการฯ ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า นายกรัฐมนตรีมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ หรือไม่ ความข้อนี้แสดงแจ้งชัดว่า คณะตุลาการฯ ยังไม่เข้าใจว่าการรวมประเด็นวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นประเด็นเดียวนั้น โดยสภาพเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้ เพราะนอกจากจะเป็นคนะละเรื่องคนละประเด็นแล้ว ยังส่งผลให้มีปัญหาโต้เถียงได้มากว่า เสียงข้างมากในคำวินิจฉัยนี้จะนับจากด้านใด อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่งที่ปรากฎว่าในขณะที่คำแถลงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ คำวินิจฉัยกลางของตุลาการฯ กลับมีการแยกประเด็นพิจารณาวินิจฉัยออกเป็นสองประเด็นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งสร้างความสับสนแก่บุคคลทั่วไปเป็นที่สุดว่าระหว่างคำแถลงกับคำวินิจฉัย เอกสารใดจะถูกต้องและมีค่าบังคับเป็นคำพิพากษา

[แก้ไข] ๓. ปัญหาองค์คณะในการพิจารณา
        ๓.๑ ตุลาการฯ ที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีนากรัฐมนตรี มัทั้งสิ้น ๑๕ ท่าน โดยมีตุลาการฯ ท่านหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเข้าปฎิบัติหน้าที่ไม่นาน ได้ออกนั่งพิจารณาโดยเปิดเผยในนัดสุดท้าย และเข้าเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยชี้ขาด

        ๓.๒ ความจริงตามหลักวิธีพิจารณาคดี โดยเฉพาะการพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงตุลาการฯ ท่านใดจะจินิจฉัยชี้ขาดในคดีใด ตุลาการฯท่านนั้นจะต้องออกนั่งพิจารณาคดีนั้นมาแต่ต้น เพื่อจะนำเอาอากัปกิริยาของคู่ความที่ได้โต้แย้งหักล้างระหว่างกันในชั้นการพิจารณา และข้อพิจารณาที่ได้พบเห็นด้วยตนเองในระหว่างกระบวนการพิจารณา มาเป็นเครื่องมือในการชั่งน้ำหนัก เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อเท็จจริงว่า ตนควรจะรับฟังข้อเท็จจริงประการใด ด้วยเหตุผลใด โดยหลักเช่นนี้ เมื่อตุลาการฯท่านดังกล่าวเพิ่งเข้ามาปฎิบัติหน้าที่โดยมิได้ออกมานั่งพิจารณาคดีมาตั้งแต่แรก โดยครรลองที่เหมาะสม แม้ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯจะมิได้กล่าวถึงเรื่องนี้ และแม้ที่ประชุมตุลาการฯ จะมีมติอนุญาตให้เข้าเป็นองค์คณะ แต่ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ตุลาการฯ ท่านนั้นจะต้องไม่เข้าร่วมเป็นองค์คณะวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อกรณีกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ในที่สุดย่อมเกิดปัญหาความไม่แน่นอนขององค์คณะขึ้นได้ ว่าแท้ที่จริงองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีจะประกอบด้วยตุลาการคนใดบ้างเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และผลที่ตามมาก็คือในท้ายที่สุดบทบัญญัติเกี่ยวกับการคัดค้านตุลาการฯ ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างบังเกิดผล เพราะคู่ความในคดีย่อมไม่อาจรับรู้โดยแน่นอนได้ว่าตุลาการฯ ท่านใดที่เป็นองค์คณะในการตัดสินคดีบ้าง

        ๓.๓ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีก ในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดและประกาศองค์คณะในการวินิจฉัยคดีหนึ่งคดีใดให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง (ถ้าหากมี) ได้ทราบเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ต้น

[แก้ไข] ๔. ปัญหาการวางภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้กับผู้ร้อง ซึ่งไม่เหมาะสมกับระบบวิธีพิจารณาแบบไต่สวน
        ๔.๑ ในคำวินิจฉัยกลางฯของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลได้ให้เหตุผลต่อการวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างอิงและนำสืบแล้วไม่พอฟังว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ผู้ถูกร้องจึงไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕"

        ๔.๒ เหตุผลในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากปรากฏอยู่ในคดีแพ่งทั่วไป ซึ่งคู่กรณีต่างเป็นเอกชนหรือถือเสมือนหนึ่งเป็นเอกชนด้วยกันย่อมถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะโดยหลักแล้ว ภายใต้กรณีที่เป็นเอกชนต่างต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองเมื่อมาต่อสู้คดี ผู้ใดกล่าวหาว่าผู้อื่นกระทำสิ่งใด ผู้นั้นก็ย่อมมีหน้าที่พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้อื่นนั้นได้กระทำส่งนั้น ตามหลักที่ว่า "ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริง ผู้นั้นก็ต้องนำสืบถึงความมีอยู่ของข้อเท็จจริงนั้น"

        ๔.๓ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ได้วางหลักการพิจารณาเป็นระบบไต่สวน เมื่อระบบนี้กำหนดให้ศาลมีบทบาทเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องคือ ป.ป.ช. และผู้ถูกร้องคือ นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อศาล การที่ศาลได้ให้เหตุผลในคดีผลักภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงไปให้กับป.ป.ช. และวินิจฉัยว่า ป.ป.ช. ได้นำสืบพยานหลักฐานไม่พอฟังว่านายกรัฐมนตรีจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทาราบ จึงดูเสมือนหนึ่งว่า ศาลได้โยนความบกพร่องทั้งมวลให้ตกกับ ป.ป.ช. ที่ไม่นำสืบให้แจ้งชัด ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว โดยระบบวิธีพิจารณาแบบไต่สวนที่ศาลใช้อยู่ ศาลเองก็มีหน้าที่สำหรับการหาข้อเท็จจริงในคดีด้วย และหากจะมีข้อเท็จจริงบกพร่อง ความบกพร่องในการแสวงหาข้อเท็จจริงก็ย่อมเป็นความบกพร่องของศาล หาใช่ความบกพร่องของคู่คดีแต่อย่างใด

        ๔.๔ มีข้อน่าสังเกตยิ่งว่า ขณะที่ในคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ศาลรัฐธรรมนูญได้วางภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้กับผู้ร้อง แต่ในคดีอื่นที่ศาลวินิจฉัยโดยตลอดทั้ง ๙ คดี ตามมาตรา ๒๙๕ ศาลกลับไม่เคยใช้หลักนี้เลย ความข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ศาลหามีความสม่ำเสมอในการนำหลักดังกล่าวไปปรับใช้กับทุกคดีอย่างเสมอหน้ากันไม่

[แก้ไข] ๕. ปัญหาการเขียนคำวินิจฉัยที่อาจไม่สอดคล้องกับมติที่แม้จริงของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
        ๕.๑ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยเป็นสองประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ หรือไม่ และการยื่นคำร้องของ ป.ป.ช. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ หรือไม่ ประเด็นที่สอง นายกรัฐมนตรีมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ หรือไม่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒.๑

        ๕.๒ ในคำวินิจฉัยตอนท้าย ศาลรัฐธรรมนูญเขียนความตอนหนึ่งไว้ว่า"-----ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๔ คน คือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจุมพล ณ สงขลา นายผัน จันทรปาน และนายศักดิ์ เตชาชาญ วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ ไม่ใช้บังคับกับกรณีของผู้ถูกร้องและวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องไม่มีความผิดตาม มาตรา ๒๙๕ วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน---"

        ๕.๓ ข้อความที่ปรากฏในคำวินิจฉัยกลาง หากเทียบกับการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของตุลาการฯ ท่านหนึ่งที่ให้ข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ ๓ สิงหาคม ตุลาการฯทั้ง ๔ ท่าน ได้วินิจฉัยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นเพียงว่า นายกรัฐมนตรีไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ กรณีเป็นที่น่าสงสัยว่า แล้วคำวินิจฉัยตอนท้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร ว่าตุลาการฯ ทั้ง ๔ ท่าน วินิจฉัยในปัญหาหลักของคดีด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดในข้อหาลงใจยื่นบัญชีฯเท็จตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ วรรคหนึ่ง

        ๕.๔ อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงขณะนี้จะยังชี้ชัดไม่ได้ว่า กรณีใดจริงกรณีใดเท็จ แต่เมื่อการเขียนคำวินิจฉัยต้องเป็นไปตามมติของตุลาการฯ กรณีเช่นนี้ หากมีการตรวจสอบต่อไปจนเชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงจากคำสัมภาษณ์ตุลาการฯท่านดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้องก็ต้องหมิ่นเหม่ว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายกรัฐมนตรี จะมีปัญหาเรื่องความไม่สมบูรณ์ทันที เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่สอดคล้องกับมติที่แม้จริงของคณะตุลาการฯ ในวันที่ ๓ สิงหาคม

[แก้ไข] ๖. ข้อเปรียบเทียบมาตรฐานในการวางหลักกฎหมายและการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีจงใจปกปิดทรัพย์สิน ๒ คดี ที่วินิจฉัยในวันเดียวกัน (๓ สิงหาคม ๒๕๔๔)
        ๖.๑ มาตรฐานในเรื่องการเป็นคู่สมรสต้องทราบข้อเท็จจริงในเรื่องทรัพย์สินของกันและกัน "---เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ บัญญัติให้ยื่นบัญชีฯ ต้องแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรสอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นหน้าที่ของคู่สมรสต้องแจ้งให้ผู้ยื่นบัญชีฯ ทราบว่า คู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินอย่างไรบ้าง เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ เป็นข้อสันนิษฐานของรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องในการกระทำของคู่สมรสด้วย เนื่องจากผู้ถูกร้องและคู่สมรสเป็นสามีภรรยาต้องอุปการเลี้ยงดูกัน ย่อมต้องทราบถึงสถานะทางการเงิน ทรัพย์สินและหนี้สินซึ่งกันและกัน---" (คดีนายประยุทธ มหากิจศิริ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔) "--พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ชัดได้ว่าผู้ถูกร้องยังมีทรัพย์สินซึ่งเป็นหุ้นของคู่สมรสที่ให้ผู้อื่นถือแทนอีก ผู้ร้องมีความเห็นแต่เพียงว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสของผู้ถูกร้องพักอาศัยบ้านเดียวกัน มีสำนักงานอยู่ในอาคารเดียวกัน ทรัพย์สินเป็นเงินจำนวนมาก มีการซื้อขายหุ้นเป็นประจำ ซึ่งผู้ถูกร้องต้องรู้หรือน่าจะรู้การกระทำของคู่สมรส รวมตลอดทั้งทรัพย์สินเป็นหุ้นที่คูสมรสดำเนินการอยู่เสมอไปนั้น หาได้ไม่ เพราะในความเป็นจริง บางกรณีอาจไม่รู้ก็ได้---" (คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔)

        ๖.๒ มาตรฐานในเรื่องการมีทรัพย์สินมากจะทำให้เชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องไม่ทราบการมีอยู่ของทรัพย์สิน "--ผู้ถูกร้องและคู่สมรสเป็นสามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน ย่อมต้องทราบถึงสถานะทางการเงินหรือทรัพย์สินและหนี้สินของกันและกัน อีกทั้งทรัพย์สินของคู่สมรสที่ไม่ได้ยื่นบัญชีฯไว้นั้น มีจำนวนมาก จึงไม่เชื่อว่าฟู้ถูกร้องไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อต่อสู้ของผู้ถูกร้องจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้---" (คดีนายประยุทธ มหากิจศิริ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔)

        ๖.๓ มาตรฐานในการวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มาตรา ๒๙๕ นำมาใช้กับผู้ที่พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วได้หรือไม่ "--พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ เป็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา ๒๙๑ มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีฯให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในวันที่ยื่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๒ กล่าวคือ พิจารณาเพียงว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีฯ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ และบัญชีฯที่ยื่นไว้มีความถูกต้องตามความเป็นจริงในวันที่ยื่นบัญชีฯ หรือไม่เท่านั้น โดยไม่ต้องพิจารณาในประเด็นการได้มาของทรัพย์สิน ว่าได้มาก่อนหรือหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง "---วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่จะต้องแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ๑๒ คน คือ นายกระมล ทองธรรมชาติ ---นายผัน จันทรปาน---" (คดี นายประยุทธ มหากิจศิริ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) "--ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก ๔ คนคือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจุมพล ณ สงขลา นายผัน จันทรปาน และนายศักดิ์ เตชาชาญ วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ ไม่ใช้บังคับกับกรณีผู้ถูกร้อง เพราะขณะที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้ง ๓ ครั้ง ผู้ถูกร้องได้พ้นตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว---" (คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔) (ในคำวินิจฉัยที่ ๒๗/๒๕๔๓ กรณีนายโกศล ศรีสังข์ เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน และผู้ถูกร้องได้ยกข้อต่อสู้ในเรื่องบทบัญญัติของ มาตรา ๒๙๕ ไม่มีผลบังคับใช้กับตน ปรากฎว่า ในคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของนายจุมพล ณ สงขลา ได้วินิจฉัยว่า บทบัญญัติ มาตรา ๒๙๕ ใช้บังคับผู้ถูกร้องได้)


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์
รองศาสตราจารย์.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน
อาจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เลขานุการภาควิชากฎหมายมหาชน
อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย