ข้อสังเกตในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการเขียนคำพิพากษา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ข้อสังเกตในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการเขียนคำพิพากษา


        การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับคดีอาญาแตกต่ากัน คดีแพ่งมีหลักใหญ่บัญญัติไว้ใน มาตรา 104 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้น จะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ส่วนคดีอาญามีหลักใหญ่บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ว่าให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่วน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

        นอกจากหลักใหญ่ดังกล่าวข้างต้นแล้วจะต้องพิจารณาด้วยว่า พยานหลักฐานอย่างไรรับฟังไม่ได้ ซึ่งต้องดูจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86, 87, 89, 90, 93, 94 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226, 232 และ 238

        การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ศาลจะต้องวินิจฉัยโดยการชั่วน้ำหนักพยานทั้งสองฝ่ายเทียบกันดูว่า ฝ่ายใดมีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่ากัน เช่น ถ้าคิดเทียบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าพยานโจทก์ 51 เปอร์เซ็นต์ พยานจำเลย 49 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องตัดสินให้โจทก์ชนะ กลับกันถ้าพยานโจทก์ 49 เปอร์เซ็นต์ พยานจำเลย 51 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องตัดสินให้โจทก์แพ้

        สำหรับคดีอาญาจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จนแน่ใจว่า มีความผิดเกิดขึ้นจริง และจำเลยกระทำความผิดนั้นจึงจะลงโทษจำเลยได้ จะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้าพยานโจทก์ 51 เปอร์เซ็นต์ พยานจำเลย 49 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงตัดสินลงโทษจำเลยไม่ได้ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นที่สงสัยต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

        มีคำพิพากษาฎีกาที่ 899/2487 วางหลักไว้ว่าคดีอาญา โจทก์ต้องนำสืบให้ปราศจากสงสัยว่า จำเลยทำผิดจริง แต่คดีแพ่งศาลต้องดูพยานหลักฐานของทุกฝ่าย แล้วพิจารณาว่าพยานหลักฐานทั้งหมดเจือสมหนักไปข้างฝ่ายใด แม้จะไม่ถึงกับปราศจากสงสัยศาลก็ชี้ขาดให้ชนะคดีได้

สำหรับคดีอาญา ควรพิจารณาดังต่อไปนี้

        1. การจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์เป็นสำคัญ เพราะถือว่าโจทก์มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย หากพยานโจทก์รับฟังไม่ได้หรือเป็นที่สงสัย ต้องยกฟ้องไปเลยโดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานจำเลยว่าฟังได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด ฉะนั้น หากพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังแล้ว แม้จำเลยจะเบิกความในฐานะเป็นพยานของตนว่าได้ทำผิดจริงก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยมิได้ให้การในฐานะเป็นพยานโจทก์ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 540/2504 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเล่นการพนัน โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอย่างใด นอกจากคำรับของจำเลยชั้นสอบสวน ในชั้นศาลจำเลยปฏิเสธ แต่เมื่อจำเลยเบิกความเป็นพยานตนเองได้ตอบคำซักค้านของโจทก์ว่า ได้เล่นการพนันจริง ดังนี้ ลงโทษจำเลยมิได้

        แต่ถ้าพยานหลักฐานของโจทก์มั่นคงแล้ว จะต้องนำพยานหลักฐานของจำเลยขึ้นมาวินิจฉัยด้วยว่า ฟังได้หรือไม่ได้ และสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้หรือไม่ได้อย่างไร

        คดีอาญาตามหลักทั่วไปแล้วโจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบก่อนเสมอ และการพิจารณาพิพากษาก็ต้องหยิบยกพยานหลักฐานของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยก่อน แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่จำเลย ซึ่งในกรณีเช่นนี้หากจำเลยนำสืบได้ไม่สมก็ต้องแพ้คดีไป

        กรณีที่หน้าที่นำสืบตกแก่จำเลยมีดังต่อไปนี้

        (1) เมื่อจำเลยยอมรับว่ากระทำผิดจริง แต่ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง เช่น ต่อสู้ว่าวิกลจริต กระทำโดยจำเป็น บันดาลโทสะ จำเลยต้องเป็นผู้นำสืบในข้อเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทางโจทก์จะไม่ต้องนำสืบเสียเลย โจทก์ควรจะต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยทำผิดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอย่างอื่น แล้วจำเลยจึงนำสืบในข้อแก้ตัวเหล่านี้ หากจำเลยสืบไม่สมจำเลยก็ต้องถูกลงโทษเต็มตามฟ้อง

        ส่วนในกรณีที่จำเลยรับว่าได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องจริง แต่ต่อสู้ว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นมีคำพิพากษาฎีกาที่ 330/2491 วินิจฉัยว่า โจทก์จะต้องนำสืบพิสูจน์ความผิดเสมอ ไม่ใช่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้นำสืบ เพราะการกระทำโดยป้องกันอันชอบด้วยกฎหมายนั้น กฎหมายอาญาถือว่าไม่เป็นความผิดเลย ดังนั้น การที่จำเลยต่อสู้ว่าทำความผิดโดยป้องกันอันชอบด้วยกฎหมายจึงเท่ากับเป็นการต่อสู้ว่ามิได้กระทำความผิดนั่นเอง โจทก์จึงต้องนำสืบพิสูจน์ว่าจำเลยทำความผิดนั้น กรณีนี้ต่างกับต่อสู้ว่า กระทำไปด้วยความจำเป็น เพราะกระทำด้วยความจำเป็นถือว่ากระทำความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงต้องนำสืบให้เห็นว่าตนกระทำด้วยความจำเป็น มิฉะนั้นต้องรับโทษ

        (2) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติสันนิษฐานไว้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ หรือมีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบ เช่น พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 6 บัญญัติว่าผู้ใดอยู่ในวงการพนันแล้วให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เล่นด้วย ผู้ใดจะอ้างเป็นอย่างอื่น ผู้นั้นจะต้องนำสืบ หรือตามพระราชบัญญัติฝิ่น ซึ่งเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 396 – 397/2500 ตัดสินว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมกับฝิ่นของกลางอยู่ในความครอบครอง ถ้าจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับฝิ่น จำเลยจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

        2. ในคดีอาญา โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความ 2 ประการ คือ

        ก. มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง และ

        ข. จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

        ถ้าโจทก์นำสืบไม่สมในข้อหนึ่งข้อใดในสองข้อนี้ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง หรือถ้าพยานหลักฐานของโจทก์ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าจำเลยทำผิดจริงหรือไม่ ก็ต้องยกฟ้องเช่นกัน กรณีอย่างใดจึงจะถือว่าเหตุสงสัยตามสมควรนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละคดีไป แต่ว่าเหตุที่สงสัยนั้นต้องเป็นเหตุอันสมควรที่จะให้สงสัย ซึ่งคำพิพากษาฎีกาที่ 572/2500 ได้วางแนวไว้ว่า ประโยชน์แห่งความสงสัยที่จะยกให้เป็นผลดีแก่จำเลยนั้น จะต้องมีเหตุผลอันสมควรที่จะให้เกิดความสงสัย ข้อสงสัยที่ห่างไกลต่อเหตุผลไม่เป็นเหตุให้ยกฟ้อง

        ตัวอย่างเช่น เหตุเกิดเวลากลางวัน พยานเบิกความว่าเห็นคนร้ายห่าง 2 เส้น เห็นแต่เพียงด้านหลังก็จำได้ว่าเป็นจำเลย ดังนี้ ย่อมมีเหตุผลให้สงสัยได้ว่า คนอยู่ห่างกันถึง 2 เส้น และเห็นเพียงด้านหลังเท่านั้นจะจำได้โดยไม่ผิดพลาดได้อย่างไร หรือเหตุเกิดเวลากลางคืนเดือนมืด พยานเบิกความว่าคนร้ายปล้นแล้วลงเรือหนีไป พยานได้ใช้ไฟฉายส่องดูเห็นคนร้ายทางด้านหลังห่าง 5 วา จำได้ว่าเป็นจำเลยนี้ ดังนี้ ก็มีเหตุผลสมควรให้น่าสงสัยได้ แต่ในกรณีที่มีพยาน 3 ปาก เบิกความเรื่องเดียวกัน มี 2 ปาก เบิกความตรงกันน่าเชื่อถือ ส่วนอีกปากหนึ่งเบิกความแตกต่างไป ดังนี้ จะถือว่ามีเหตุสงสัยไม่ได้ ควรถือว่าพยาน 2 ปากที่เบิกความตรงกันน่าเชื่อนั้นมีน้ำหนักฟังได้ดีกว่า

        3. เหตุที่จะยกฟ้องคดีอาญานั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ซึ่งบัญญัติว่าถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความก็ดี หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้อง

        เหตุที่อ้างว่าจำเลยมิได้กระทำผิดนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เหตุที่ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเป็นข้อกฎหมาย ส่วนเหตุที่ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนแล้วจึงนำมาปรับในข้อกฎหมายว่า คดีขาดอายุความหรือไม่

        เหตุยกฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้กระทำผิดอาจเป็นเพราะ

        ก. พยานโจทก์ให้การแตกต่างขัดแย้งกันในข้อสำคัญ มิใช่แตกต่างขัดแย้งกันเพียงพลความ

        อย่างไรเป็นข้อสำคัญ อย่างไรเป็นพลความนั้น ต้องพิจารณาดูว่าสิ่งใดเป็นรายละเอียดที่คนธรรมดาจะต้องพิจารณาโดยละเอียดจึงจะรู้ได้สิ่งนั้นเป็นพลความ แต่ถ้าสิ่งใดเมื่อพิจารณาเพียงเล็กน้อย ก็จะทราบได้ถือว่าเป็นข้อสำคัญ เช่น มีคนร้ายชิงทรัพย์ มีพยาน 2 ปาก ปากหนึ่งว่าคนร้ายไว้หนวด โพกศีรษะ ส่วนอีกปากหนึ่งเบิกความว่า คนร้ายไม่ได้ไว้หนวดและไม่ได้โพกศีรษะ อย่างนี้เป็นการแตกต่างในข้อสำคัญ เพราะคนธรรมดาเมื่อมองไปที่บุคคลใดย่อมเห็นได้ทันทีว่าบุคคลนั้นไว้หนวดหรือโพกศีรษะหรือไม่ แต่ถ้าพยานปากหนึ่งว่าคนร้ายนุ่งกางเกงขายาวสีดำ อีกปากหนึ่งว่าสีเทา หรือพยานปากหนึ่งว่าคนร้ายใส่เสื้อสีขาว อีกปากหนึ่งว่าเสื้อสีนวล อย่างนี้เรียกว่าเป็นเรื่องพลความ เพราะสีของกางเกงหรือสีของเสื้อที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความสังเกตจึงจะบอกได้ถูกต้อง การแตกต่างเช่นนี้จึงเป็นการแตกต่างกันในพลความ หรือกรณีเช่นพยานเบิกความว่าคนร้ายมา 1 คน อีกปากหนึ่งว่ามา 2 คน ถือเป็นข้อสำคัญ แต่ถ้าหากพยานคนหนึ่งเบิกความว่าคนร้ายวิ่งไปทางทิศใต้ อีกปากหนึ่งว่าวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นพลความ หรือพยานเบิกความว่าได้ยินเสียงปืนดัง 2 นัด อีกปากหนึ่งว่าดัง 3 นัด ก็เป็นพลความ แต่ถ้าหากว่าปากหนึ่งว่าดัง 1 นัด แต่อีกปากหนึ่งว่าดัง 10 นัด เช่นนี้ถือเป็นการแตกต่างในข้อสำคัญได้ เพราะระหว่างเสียงปืนดัง 1 นัด กับ 10 นัดนั้น บุคคลธรรมดาไม่ต้องใช้ความสังเกตก็บอกได้ถูกต้องว่าต่างกันมาก

        ข. พยานโจทก์ให้การขัดต่อเหตุผล คือพยานโจทก์อาจเบิกความสอดคล้องกันดี แต่คำเบิกความนั้นเองขัดเหตุผลอยู่ในตัว กรณีเช่นนี้ย่อมรับฟังคำพยานนั้นไม่ได้ ศาลต้องยกฟ้อง เช่น พยานเบิกความว่าเห็นคนร้ายใช้ปืนยิงสวนออกมาเมื่อผู้เสียหายวิ่งเข้าไป แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลที่ข้างหลังแห่งเดียว หรือพยานเบิกความว่าเห็นจำเลยนั่งอยู่ที่พื้นยิงผู้ตายซึ่งยืนอยู่ วิถีกระสุนต้องแล่นจากต่ำไปหาสูง ถ้าบาดแผลของผู้ตายอยู่ในระดับแนวตรงเช่นนี้ย่อมขัดต่อเหตุผล ในกรณีที่พยานเบิกความเกี่ยวกับเวลาที่เกิดเหตุหรือเวลาที่เห็นเหตุการณ์โดยเฉพาะในต่างจังหวัดต้องระมัดระวังให้มาก เพราะส่วนมากชาวบ้านมักจะเบิกความว่าวันนั้นเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรมเสมอ ผู้พิพากษาจึงควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคิด คำนวณ เวลาทางจันทรคติไว้ด้วยว่า ถ้าขึ้นกี่ค่ำหรือแรมกี่ค่ำ ดวงจันทร์จะขึ้นและตกในเวลาเท่าใด ซึ่งมีหลักอยู่ว่าให้เอา 8 คูณจำนวนค่ำ ผลลัพธ์ที่ได้มาเลขตัวหน้าจะเป็นชั่วโมง แล้วเอา 6 ไปคูณกับเลขหลักหน่วยของผลลัพธ์นั้น (ถ้ามี) อีกครั้งหนึ่ง ผลที่ได้ออกมาจะเป็นนาที รวมแล้วจะเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นหรือตกในวันนั้น ทั้งนี้ โดยใช้หลักธรรมชาติเข้าช่วยเพราะถ้าเป็นเวลา ข้างขึ้น ดวงจันทร์จะขึ้นในเวลา 6 โมงเย็น (18.00 น.) เสมอ เพราะฉะนั้น เวลาที่คำนวณได้ดังกล่าวข้างต้น จะเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ตก ส่วนถ้าเป็น ข้างแรม ดวงจันทร์จะตกในเวลา 6 โมงเช้า (6.00 น.) เสมอ เวลาที่คำนวณได้จะเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นในคืนนั้น ๆ เช่น พยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุเป็นวันแรม 4 ค่ำ จะคำนวณหาเวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นในคืนนั้นได้โดยเอา 8 คูณ 4 ได้ผลลัพธ์เป็น 32 ซึ่ง 3 คือจำนวนชั่วโมง หมายถึง 3 ทุ่ม (นับจาก 6 โมงเย็น) อยากทราบเวลาให้ละเอียดลงไปเป็นนาทีก็เอา 6 ไปคูณตัวท้าย (หลักหน่วย) ของผลลัพธ์คือ 2 จะได้ออกมาเป็นนาทีคือ 12 นาที จึงทราบได้ว่าในวันแรม 4 ค่ำ ดวงจันทร์จะขึ้นในเวลา 3 ทุ่ม 12 นาที และตกในเวลา 6 โมงเช้า ดังนั้น ถ้าพยานเบิกความว่าในวันแรม 4 ค่ำนั้น พยานเห็นและจำหน้าคนร้ายได้จากแสงจันทร์ เมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ก็แสดงให้เห็นว่าพยานคนนั้นเบิกความขัดต่อเหตุผลรับฟังมิได้ เพราะตามที่คำนวณแล้วในวันดังกล่าว ดวงจันทร์จะเริ่มขึ้นจากขอบฟ้าเมื่อเวลา 3 ทุ่ม 12 นาที

        ถ้าพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุนั้นเป็นวันขึ้น 3 ค่ำ เขาเห็นคนร้ายได้จากแสงจันทร์ และตอนขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 2 ทุ่ม ดังนี้ โดยวิธีคำนวณเวลาตามหลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะทราบได้ว่าในวันเกิดเหตุ ดวงจันทร์จะขึ้นในเวลา 6 โมงเย็น (18.00 น.) และตกในเวลา 2 ทุ่ม 24 นาที ฉะนั้น จึงทราบได้ว่าข้อความที่พยานเบิกความว่าเห็นคนร้ายด้วยแสงจันทร์จึงเป็นความจริง คือในตอนเวลา 2 ทุ่ม ดวงจันทร์ยังอยู่บนท้องฟ้าแต่จวนจะตกแล้ว

        ค. พยานโจทก์เบิกความเป็นที่สงสัยโดยมีเหตุอันควร ศาลก็ต้องยกฟ้องดังได้อธิบายมาแล้วในตอนแรก

        4. การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา

        (1) ในคดีอาญาที่มีการรวมพิจารณาคดีหลายเรื่องเข้าเป็นคดีเดียวกัน การรับฟังพยานหลักฐานจะต้องรับฟังเป็นแนวเดียวกันไปเหมือนเป็นคดีเดียวกัน การพิพากษาก็ต้องถือเป็นคดีเดียวกัน จะแยกยกฟ้องสำนวนหนึ่งและลงโทษอีกสำนวนหนึ่งมิได้ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 133 – 134/2491

        (2) ในคดีอาญาที่ต้องมีการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย โจทก์มีหน้าที่สืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดนั้นโจทก์ไม่ต้องสืบพยาน ศาลก็รับฟังได้เช่นคำพิพากษาฎีกาที่ 415/2494 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีฝิ่นไว้ในความครอบครอง จำเลยรับสารภาพ โจทก์สืบเพียงว่า จำเลยมีฝิ่นในครอบครองจริงก็เพียงพอลงโทษได้แล้ว ส่วนราคาฝิ่นตามฟ้อง แม้โจทก์ไม่สืบก็ฟังได้ว่ามีราคาตามฟ้อง

        การนำสืบพยานประกอบในคดีที่จำเลยรับสารภาพดังกล่าวนี้ โจทก์จะอ้างเพียงคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนอย่างเดียว โดยไม่มีพยานอื่นในชั้นศาลเลยไม่พอ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 901/2482 ซึ่งวินิจฉัยว่า คดีที่ต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยนั้น จะอ้างเพียงคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเท่านั้น ไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้

        (3) คำบอกเล่าของคนที่ตายไปแล้วหรือของผู้อื่น ที่บอกในระยะเวลากระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีเวลาไตร่ตรองไว้ก่อน หรือไม่มีโอกาสทิ้งช่วงให้เสริมแต่งได้แล้วศาลก็รับฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดไม่เฉพาะแต่เรื่องทำร้ายร่างกายหรือฆ่าคนตายเท่านั้น เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 304/2500, 502/2501 และ 411/2513

        (4) คำของผู้ต้องหาด้วยกันที่กันไว้เป็นพยานตามปกติมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจฟังมาลงโทษจำเลยได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1659/2514 แต่ถ้าโจทก์มีพยานอื่นมาสืบประกอบ เช่น จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วย โดยมีพนักงานสอบสวนเบิกความประกอบก็ฟังลงโทษได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 401/2496 และ 2001/2514

        (5) คำซัดทอดของจำเลยหลายคนที่ทำผิดด้วยกันจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยในคดีเดียวกันไมได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 944/2500 วินิจฉัยว่าคู่กรณีที่ทะเลาะวิวาทกันต่างซัดทอดว่ามีฝ่ายหนึ่งทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลจะเอาคำพยานที่ซัดทอดนั้นมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้

        (6) คำรับของจำเลยในชั้นสอบสวน ในกรณีที่จำเลยปฏิเสธในชั้นศาล ตามปกติแล้วจะรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ แต่รับฟังประกอบพยานอื่นในชั้นศาลได้ แต่พยานชั้นศาลจะต้องมิใช่คำของตำรวจผู้สอบสวนคำรับเท่านั้น เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2514

        (7) คำพยานชั้นสอบสวนจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะเป็นพยานบอกเล่าตามคำพิพากษาฎีกาที่ 165/2503 และแม้จำเลยจะยอมให้ถือคำให้การชั้นสอบสวนของพยานนั้น เป็นคำเบิกความพยานในชั้นศาลก็รับฟังมิได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2514

        (8) ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จะอ้างแต่คำเบิกความของพยานในคดีแพ่ง โดยไม่นำพยานมาเบิกความประกอบ ถือว่าไม่มีพยานในสำนวนอันจะพึงฟังว่าคดีมีมูล แม้ว่าคดีแพ่งนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาก็ตาม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 604/2492

สำหรับคดีแพ่ง ควรพิจารณาดังต่อไปนี้         1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 บัญญัติว่าเมื่อศาลเห็นว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ก็ดี หรือพยานหลักฐานที่รับฟังได้ แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ ฯลฯ

        อย่างไรเรียกว่าพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ ปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93, 94 ส่วนพยานหลักฐานยื่นฝ่าฝืน ต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาตามแพ่ง นั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90

        2. การนำสืบพยานเพื่อหักล้าง ฯลฯ ถ้อยคำพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนในคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 กำหนดไว้ว่า คู่ความจะต้องถามค้านเอาไว้ก่อน เมื่อพยานอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเบิกความไม่ว่าจะเบิกความถึงหรือไม่ก็ตาม หากไม่ถามค้านเอาไว้ ในภายหลังจะนำพยานฝ่ายของตนเข้าสืบหักล้างไม่ได้ แต่ในกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้ในคำฟ้อง หรือคำให้การเพื่อตั้งเป็นประเด็นไว้แล้ว แม้ในการสืบพยานของฝ่ายตรงข้าม ตนจะไม่ได้ถามค้านไว้ก็ตาม ก็สามารถเข้าสืบตามคำฟ้องหรือคำให้การของตนได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 89 ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 583/2506 และ 2090/2514

        การคัดค้านตามมาตรา 89 วรรค 2 ต้องคัดค้านเสียในขณะที่พยานของฝ่ายนำสืบภายหลังเบิกความ จะคัดค้านภายหลังมิได้ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 392/2506 และ 952/2507

        3. การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง

        (1) พิจารณาจากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ว่าฝ่ายใดจะมีน้ำหนักเหตุผลน่าเชื่อมากกว่ากัน ก็ให้ฝ่ายนั้นชนะคดีโดยไม่ต้องคำนึงว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดมีกรณีสงสัยดังเช่นคดีอาญาหรือไม่ ในกรณีที่พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายมีน้ำหนักก้ำกึ่งกัน ศาลก็จะต้องดูหน้าที่นำสืบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 84 ว่าฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้น เมื่อกรณีก้ำกึ่งกันต้องถือว่าฝ่ายนั้นสืบไม่สม ต้องตัดสินให้ฝ่ายนั้นแพ้คดีไป แต่ถ้า

        ก. ฟ้องโจทก์ข้อใดที่จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธหรือให้การต่อสู้ไว้ ถือว่าฟ้องนั้นไม่เป็นประเด็นข้อโต้เถียงในคดี โจทก์ไม่ต้องนำสืบ ศาลรับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเลยตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 218/2488

        ข. ในกรณีที่คดีหลายประเด็นและบางประเด็นโจทก์มีหน้าที่นำสืบ บางประเด็นจำเลยมีหน้าที่นำสืบ ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่นำสืบพยานของตน ศาลก็ต้องตัดสินไปตามหน้าที่นำสืบของแต่ละประเด็นดังคำพิพากษาฎีกาที่ 122/2490

        (2) ถ้ามีพยานเอกสารก่อนตัดสินคดี ต้องดูว่าเสียค่าอ้างครบถ้วนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เสียค่าอ้างหรือเสียไม่ครบถ้วน ต้องมีค่าคำสั่งให้คู่ความเสียค่าอ้างเอกสารให้ครบถ้วนก่อนที่จะพิจารณา แต่คำพิพากษาฎีกาที่ 454/2489 และ 1033/2482 ตัดสินว่าไม่ได้เสียค่าอ้าง เพราะความพลั้งเผลอของเจ้าพนักงานศาลโดยที่ได้ขอว่าความอย่างคนอนาถามาก่อน มารู้ภายหลังเมื่อมีคำพิพากษาแล้ว คู่ความนำค่าอ้างเอกสารมาเสียให้ก็รับฟังได้

        (3) สำเนาพยานเอกสารตามหลักแล้วรับฟังไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1), (2), (3) สำหรับสำเนาเอกสารนั้นแม้ผู้รับรองจะมิใช่ที่ระบุไว้ในมาตรา 93 (3) แต่ว่าคู่ความตรวจดูแล้ว ลงชื่อรับรองว่าไม่ค้านก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 350/2492

        (4) ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่าตราสารที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้นั้นจะต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วน เอกสารใดที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน รับฟังมิได้แม้กฎหมายจะบัญญัติไว้เช่นนี้ แต่คู่ความอาจร้องขอปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องก่อนที่ศาลจะพิพากษาได้ และกรณีนี้ศาลรับฟังพยานเอกสารนั้น ๆ ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1873/2493 หรือก่อนที่จะยื่นคำฟ้อง คู่ความอาจนำเอกสารที่จะใช้อ้างอิงเป็นพยานมาปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน ก็รับฟังเป็นพยานได้ แม้จะมิได้เสียเงินเพียงอากรตามประมวลรัษฎากร (คำพิพากษาฎีกาที่ 184/2495)

        ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 กำหนดเรื่องการขีดฆ่าอากรแสตมป์ไว้ว่า ต้องขีดฆ่าและลงวันที่ด้วยจึงจะเป็นการขีดฆ่าที่ถูกต้อง แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 561/2487 และ 463/2516 วินิจฉัยว่าการขีดฆ่านั้นจะใช้หมึกหรือดินสอก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงวันที่กำกับก็ถือเป็นการขีดฆ่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

        ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารแล้ว ก็ไม่จำต้องอาศัยเอกสารนั้นเป็นพยาน ฉะนั้น แม้เอกสารนั้นจะได้ปิดอากรแสตมป์โดยถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงตามนั้นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1187/2494)

        (5) คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กำหนดให้ศาลที่พิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

        ก. คู่ความในคดีแพ่งกับคดีอาญาต้องเป็นคู่ความเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 793/2492, 36/2501 และ 650/2507) ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา แล้วผู้เสียหายมาฟ้องคดีแพ่งก็ต้องถือว่าผู้เสียหายเป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาแล้ว เพราะถือว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาแทนผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงถูกผูกมัดในคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีอาญาที่อัยการฟ้องด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 964/2507)

        ข. คำพิพากษาคดีอาญาต้องเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้น และต้องถึงที่สุดแล้วตามนัยคำพิพากษษฎีกาที่ 875/2492 และ 1104 – 1105/2501 ซึ่งปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย ระหว่างฎีกาจำเลยตาย ศาลฎีกาจึงสั่งจำหน่ายคดี กรณีนี้ไม่เรียกว่าคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด จะนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษษศาลอุทธรณ์มาใช้ในคดีแพ่งไม่ได้

        ค. คำพิพากษาคดีอาญาต้องเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยข้อเท็จจริง และชี้ขาดเป็นยุติแล้ว หากวินิจฉัยว่าคดีเป็นที่สงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลยพิพากษายกฟ้องดังนี้ไม่ผูกมัดในคดีแพ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2507) แต่คำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า คดียังไม่พอฟังให้ศาลชี้ขาดว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง ดังนี้ ถือได้ว่าชี้ขาดเป็นยุติแล้ว คดีแพ่งต้องถือตาม (คำพิพากษาฎีกาที่ 438 – 439/2512)

        ง. ข้อเท็จจริงในคดีอาญาต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา และคดีแพ่งก็ต้องมีประเด็นอย่างเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 661/2498 และ 992 – 993/2508)

        คดีอาญาฟ้องว่าทำร้ายร่างกายและศาลฟังว่าทำร้ายร่างกายจริง โจทก์มาฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย จำเลยต่อสู้ว่าเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท ดังนี้ จำเลยนำสืบได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1380/2493)

        โจทก์ฟ้องว่าโกงเจ้าหนี้ ศาลคดีอาญาฟังว่ากู้เงินกันจริงและยังไม่ได้ชำระ แต่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิทางศาลจึงยกฟ้อง โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีแพ่ง ดังนี้ต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา (คำพิพากษาฎีกาที่ 1005/2509)

        (6) พยานผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการพิเศษ ความเห็นของพยานเหล่านี้ ไม่ผูกมัดให้ศาลต้องเชื่อถือเสมอไป เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1231/2506 ซึ่งวินิจฉัยว่าพยานผู้เชี่ยวชาญ เป็นพยานแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชา แม้จะเป็นพยานที่ศาลรับฟัง แต่มิใช่ว่าต้องเชื่อเสมอไป พยานเช่นนี้จะมีน้ำหนักยิ่งกว่าประจักษ์พยานหรือไม่ ต้องพิจารณาตามรูปเรื่องและเหตุผลพยานหลักฐานอื่นประกอบกัน

        (7) กรณีกฎหมายปิดปาก คือการที่คู่ความบางฝ่ายจะต้องถูกผูกมัดตามข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจะนำสืบโต้แย้งหักล้างข้อเท็จจริงนั้นมิได้ แยกออกได้ 3 กรณี คือ

        ก. ปิดปากโดยคำพิพากษา โดยอาศัยหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 997/2497 และ 2071 – 2072/2512)

        ข. ปิดปากโดยสัญญา เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 82/2491 และ 654/2496 เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ ผู้เช่าจะอ้างว่าผู้ให้เช่าไม่มีสิทธินำทรัพย์มาให้เช่ามิได้ เว้นแต่จะต่อสู้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1286/2508 และ 1166 – 1168/2509 หรือตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1000/2504 เรื่องขับรถชนกันแล้วทำหนังสือยอมรับผิดต่อเจ้าหน้าที่ไว้ ครั้นถูกฟ้องจะต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทไม่ได้

        ค. ปิดปากโดยพฤติการณ์โดยอาศัยหลักเรื่องตัวแทนเชิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และ 822 และหลักตามมาตรา 806 เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 631/2503 เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์ไปฝากผู้อื่นขาย โดยแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าผู้รับฝากขายเป็นเจ้าของ เมื่อผู้รับฝากนำทรัพย์ไปจำนำ เจ้าของทรัพย์จะเอาทรัพย์คืนจากผู้รับจำนำไว้โดยสุจริต โดยไม่ใช้ค่าไถ่ไม่ได้

[แก้ไข]
การเขียนคำพิพากษา
        คดีอาญาต้องเขียนให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 186 และ 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนคดีแพ่งต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 และ 142

        การที่เขียนคำพิพากษาให้ดีได้นั้น จะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ และการศึกษาจากคำพิพากษาต่าง ๆ เป็นแบบอย่างเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเขียนคำพิพากษา

[แก้ไข] หลักทั่วไปในการเขียนคำพิพากษา
        (1) ต้องใช้ถ้อยคำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ไม่ใช่คำว่า “พยานให้การ” เพราะกฎหมายใช้คำว่า “พยานเบิกความ” หรือเมื่อมีการขอแก้ฟ้อง ถ้าเป็นคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ควรใช้ถ้อยคำว่า โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ถ้าเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 ควรใช้ถ้อยคำว่า แก้ฟ้อง หรือ เพิ่มเติมฟ้อง

        (2) ต้องไม่วินิจฉัยชี้ขาดถึงบุคคลภายนอกคดีที่ไม่ใช่คู่ความ เช่น คดีอาญา โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนี้กับพวกรวม 4 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง (ฟ้องเพียงคนเดียว) ……………….ดังนี้ จะต้องไม่เขียนคำพิพากษษให้เป็นการวินิจฉัยถึงคนที่ยังไม่ถูกฟ้อง เพราะจะเป็นการผูกมัดเขาในเมื่อเขายังมิได้เป็นจำเลย ส่วนในคดีแพ่งก็เช่นกัน อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีร่วมกันทำละเมิดหลาย ๆ คน ก็ต้องไม่วินิจฉัยถึงผู้ที่ยังมิได้ถูกฟ้องเข้ามาในคดี

        (3) อย่าใช้ถ้อยคำหรือวินิจฉัยเป็นการเปิดช่องให้มีการฟ้องคดีอาญาแก่คู่ความ หรือพยานอันเนื่องจากคำวินิจฉัยนั้น หรือให้มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในภายหลัง อันเนื่องจากข้อวินิจฉัยที่เปิดช่องไว้ เว้นเสียแต่จะเป็นประเด็นโดยตรงในคดี

        (4) คดีอาญาต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 คือต้องให้ได้ความว่า ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความด้วยว่า ได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริงตามฟ้อง เช่นเขียนว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องจริง แต่จำเลยจะเป็นคนร้ายดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น………”

        ส่วนคดีแพ่งต้องวินิจฉัยทุกประเด็นในคดี เว้นแต่กรณีที่วินิจฉัยประเด็นข้อหนึ่งแล้ว ทำให้ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น ก็งดวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นได้ แต่ก็ต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาด้วยว่า “เมื่อวินิจฉัยในประเด็นนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็น………..ต่อไป”

        (5) ในคดีที่มีปัญหาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ถ้าจะชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายแล้วจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ก็ให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนโดยไม่ต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ถ้าการชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายนั้น จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงใดก่อน ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงนั้นให้เป็นที่ยุติเสียก่อนแล้ว จึงวินิจฉัยปัยหาข้อกฎหมาย

        (6) ถ้ามีปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เช่น ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ใบมอบอำนาจถูกต้องหรือไม่ ต้องวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้เสียก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น มิฉะนั้นจะเป็นการข้ามขั้น อนึ่งในการชี้สองสถานกำหนดประเด็น ก็ควรกำหนดประเด็นในเรื่องเหล่านี้ไว้ก่อนประเด็นอื่นด้วย

หลักการเขียนคำพิพากษาในคดีอาญา นอกจากที่กล่าวขางต้นแล้วมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

        1. ย่อคำฟ้อง คำให้การ โดยเอาแต่เพียงใจความสำคัญให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) ก็พอ แต่ถ้ามีการขอให้เพิ่มโทษเพราะจำเลยเคยต้องโทษมาแล้ว ก็ต้องเขียนไว้ให้ปรากฏด้วย ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ อาจลอกฟ้องของพนักงานอัยการลงไปเลยได้ เพราะพนักงานอัยการบรรยายฟ้องสั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าราษฎรฟ้องกันเอง ต้องย่อใจความ เพราะอาจจะมีพลความอยู่มาก

        2. เขียนข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานโจทก์และจำเลย หรือเป็นที่ยอมรับกัน เช่นเขียนว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า…………….ฯลฯ จำเลยนำสืบว่า……………ฯลฯ” หรือเขียนว่า “ตามทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่า…………….ฯลฯ” เป็นต้น การย่อข้อเท็จจริงมักจะย่อจากคำพยานให้ได้เรื่องเป็นลำดับไป โดยเขียนเสมือนบุคคลที่สามเล่าเรื่อง (ไม่นำเอาคำของพยานปากใดปากหนึ่งมาใส่ไว้) ซึ่งมักจะได้มาจากคำเบิกความของโจทก์หรือผู้เสียหายหรือจำเลยเป็นหลัก ถ้าคำเบิกความของบุคคลดังกล่าวไม่ได้ความ ก็ย่อคำเบิกความของพยานอื่นประกอบกันให้ได้ความ

        อนึ่ง ในการย่อข้อเท็จจริงที่ได้ความนี้ จะต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราจะเอาข้อเท็จจริงตอนไหนไปใช้ในการวินิจฉัยคดี ก็ต้องเขียนข้อเท็จจริงนั้น ๆ ให้ปรากฏไว้ด้วย

        3. เมื่อเขียนข้อเท็จจริงที่ได้ความแล้ว ก็จะถึงตอนวินิจฉัยคดี ส่วนมากมักจะเขียนว่า “ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องจริง ปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์มีพยานคือ……………” การวินิจฉัยนั้นต้องวินิจฉัยจากพยานโจทก์ก่อนว่า ฟังได้หรือไม่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น แล้วจึงวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยว่า ฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ไม่ได้เพียงใด

        4. ถ้าจะลงโทษจำเลย ต้องเขียนบทมาตราที่ถือว่าจำเลยกระทำความผิดให้ถูกต้อง ถ้าบทมาตรานั้นมีการแก้ไขอย่างใด ก็ต้องระบุกฎหมายที่แก้ไขไว้ด้วย และข้อสำคัญต้องตรวจดูตัวบทกฎหมายให้ถูกต้องเสียก่อน อย่าไปเชื่อว่าตัวบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาถูกต้องเสมอไป เพราะบางครั้งมาตราที่อ้างมาท้ายฟ้องมิใช่บทความผิดหรือบทลงโทษก็มี หากกฎหมายที่อ้างอิงในชั้นพิพากษาเป็นกฎหมายหลายฉบับต่างกันต้องระบุให้ชัดเจน

        ถ้าจะยกฟ้องก็เพียงใช้คำว่า “จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้อง” เท่านั้นก็พอ

        ถ้ามีคำขอท้ายฟ้องในเรื่องของกลางมาด้วย จะต้องไม่ลืมคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางริบหรือไม่ริบ หรือคืนเจ้าของเสมอ เพื่อความแน่ใจควรเปิดดูคำขอท้ายฟ้องกอน

หลักการเขียนคำพิพากษาในคดีแพ่ง นอกจากที่กล่าวไว้ในหลักทั่วไปแล้ว มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

ย่อคำฟ้องคำให้การและถ้ามีฟ้องแย้งก็ต้องย่อใส่ไว้ด้วย ซึ่งกรณีนี้ต้องไม่ลืมย่อคำแก้ฟ้องแย้งของโจทก์
ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การก็ระบุไปว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณาด้วยก็ต้องระบุด้วยว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ถ้ามีการชี้สองสถานต้องระบุว่าศาลได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นอะไรไว้บ้าง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัย และถ้าคู่ความรับกันในประเด็นข้อใดแล้วก็ให้ระบุไว้
ถ้ามีการท้ากันให้ระบุไว้ก่อนชั้นนำสืบว่า คู่ความตกลงท้าเป็นข้อแพ้ ชนะในประเด็นว่า…………..
ข้อเท็จจริงที่ได้ความใช้หลักเดียวกับในคดีอาญา แต่ข้อเท็จจริงในคดีแห่ง มักยุ่งยากกว่าคดีอาญา และต้องระบุข้อเท็จจริงให้ครบทุกประเด็น
ตอนวินิจฉัย ต้องวินิจฉัยให้ครบทุกประเด็นเรียงตามลำดับ เว้นแต่เมื่อวินิจฉัยประเด็นใดแล้วจะทำให้ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก ก็ต้องกล่าวไว้ด้วยว่าสำหรับประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย
        ถ้าจะต้องอ้างอิงคำพิพากษาฎีกาสนับสนุนข้อวินิจฉัยให้ใช้คำว่า “ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่……………..” โดยเขียนเลขฎีกาให้ถูกต้อง และต้องระบุชื่อระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลยไว้ด้วย อย่าเขียนย่อเพียงว่า “ฎีกาที่…………….” เพราะในคำพิพากษาไม่ควรใช้คำย่อ

        ถ้าจะต้องอ้างอิงเอกสาร ก็ต้องเขียนเอกสารที่ศาลหมายไว้ให้ชัดเจน เช่น ตามเอกสารหมาย จ. ……………… ล. ………………. หรือ ร. ………………… เป็นต้น         7. ตอนชี้ขาดต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า ให้ยกฟ้องหรือให้จำเลยรับผิดแค่ไหน เพียงใด กรณีนี้ให้ดูคำขอท้ายฟ้องเป็นหลัก และต้องเขียนให้ชัดเจนปราศจากข้อสงสัย เช่น ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับที่ดินควรระบุให้ชัดว่าที่พิพาทตามหมายสีอะไร ในแผนที่พิพาท (หรือวิวาท) หรือถ้าเป็นภารจำยอมหรือทางจำเป็นต้องระบุความกว้างยาว ตามแนวหมายสีอะไรในแผนที่พิพาท หรือถ้าเป็นหนี้เงินหากต้องคิดดอกเบี้ยไม่จำต้องคำนวณให้ เพราะอาจผิดพลาดได้ เพียงแต่เขียนว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าใดของต้นเงินเท่าใดตั้งแต่เมื่อใด จนกว่าจะชำระเสร็จก็พอ ถ้าโจทก์คิดมาแล้วต้องคิดสอบว่า ถูกต้องหรือไม่ก่อนที่จะพิพากษาให้ตามที่เขาขอมา

        8. ค่าฤชาธรรมเนียม ต้องสั่งเสมอสำหรับค่าทนายความ ปัจจุบันศาลฎีกาใช้คำว่า “ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้………….บาท” หากคู่ความชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องหรือฟ้องแย้ง และศาลเห็นควรให้คู่ความฝ่ายแพ้ใช้ค่าขึ้นศาลแทนฝ่ายชนะก็ใช้คำว่า “ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายให้…………….บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี”

        กรณีที่มีการรวมพิจารณา ก่อนอื่นต้องให้มีข้อความปรากฏว่า “คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน” และถ้าเป็นการฟ้องกลับกันไปกลับกันมาควรเรียกชื่อโจทก์จำเลยเสียใหม่ โดยเขียนว่า “เพื่อความสะดวกให้เรียกนาย………………..ว่าโจทก์ และนาย…………………..ว่าจำเลยที่ 1 นาย……………..ว่าจำเลยที่ 2 ฯลฯ เป็นต้น การย่อคำฟ้อง ถ้าคำฟ้องในแต่ละสำนวนเหมือนกัน อาจย่อรวมกันไปเลยว่า “โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า…………….……..” แต่ถ้าเป็นคนละเรื่องต้องเขียนว่า “โจทก์คดีดำที่…………….ฟ้องว่า…….…..…….” และ “โจทก์คดีดำที่………….….ฟ้องว่า………….…….” คนละตอนไม่นำไปปะปนกัน ควรย่อคำฟ้องในแต่ละสำนวนให้หมดเสียก่อน แล้วจึงจะย่อคำให้การของแต่ละสำนวน ไม่ควรย่อคำฟ้อง คำให้การสำนวนหนึ่งแล้วมาย่อคำฟ้อง และคำให้การของอีกสำนวนหนึ่งสลับกัน

        การย่อคำให้การก็ใช้หลักอย่างเดียวกับการย่อคำฟ้อง

        ชั้นข้อเท็จจริงที่ได้ความ ถ้าสามารถเอาข้อเท็จจริงในแต่ละสำนวนมาเขียนรวมกันได้ก็เขียนไป ถ้ารวมกันไม่ได้ก็ต้องเขียนแยกแต่ละคดีเรียงตามลำดับไป

        ชั้นวินิจฉัย ถ้าจะต้องวินิจฉัยเหมือนกันก็เขียนรวมกันได้ ถ้าจะต้องวินิจฉัยไม่เหมือนกันต้องแยกวินิจฉัยแต่ละคดี โดยระบุเลขคดีเรียงลำดับไป สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ต้องสั่งให้เป็นรายสำนวนไป


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย