ข้อสัญญาที่กำหนดขึ้นฝ่ายเดียว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ข้อสัญญาที่กำหนดขึ้นฝ่ายเดียว


        คำเสนอใดซึ่งผู้เสนอมีความประสงค์จะให้มีนิติสัมพันธ์ กล่าวคือให้มีความผูกพันได้ตามกฎหมายแล้ว หากมีการสนองรับขึ้นมาเมื่อใด ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นตั้งแต่เมื่อนั้น เช่นคำเสนอที่กระทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าหรือทางโทรศัพท์ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการกระทำคำเสนอแก่บุคคลที่อยู่ห่างไกลกันโดยระยะทาง จะเกิดสัญญาขึ้นก็ต่อเมื่อคำบอกกล่าวสนองได้ไปถึงผู้เสนอแล้ว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361) หลักของไทยตามมาตรา 361 นี้ต่างกับหลักของอังกฤษ ซึ่งถือว่าการทำคำสนองรับคำเสนอของผู้ที่อยู่ห่างไกลนั้น หากคำเสนอมิได้ระบุวิธีการสนองรับอย่างไรไว้โดยเฉพาะแล้ว ผู้สนองอาจส่งคำบอกกล่าวสนองรับโดยทางไปรษณีย์หรือโทรเลขก็ได้ และในกรณีเช่นนี้ถือว่าคำเสนอนั้นได้มีการสนองรับตั้งขณะที่ได้ส่งคำสนองรับนั้นทางไปรษณีย์หรือโทรเลขแล้ว (Adams v. Lindsell (1818) 1 B & Ald. 681)

        คำเสนอนั้นไม่จำต้องทำแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ คำเสนออาจทำแก่บุคคลใด ๆ ทั่วไปก็ได้ เช่น คำมั่นว่าจะให้รางวัลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 362 และมาตรา 365 เป็นต้น เมื่อมีการกระทำใด ๆ ตามคำมั่นนั้นขึ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการสนองรับแล้ว จึงเกิดเป็นสัญญาผูกพันระหว่างผู้ให้คำมั่นและผู้กระทำตามคำมั่น ฝ่ายใดผิดสัญญาย่อมฟ้องร้องบังคับกันได้

        การสนองรับนั้นไม่จำเป็นต้องกระทำโดยชัดแจ้งเสมอไป การสนองรับโดยปริยายก็มีอยู่ เช่นคำเสนอใดตามปกติประเพณีไม่จำต้องมีคำบอกกล่าวสนองรับก็เกิดเป็นสัญญาได้ในเมื่อมีการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับเกิดขึ้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคสุดท้าย) เช่นสั่งซื้อข้าวสาร 1 กระสอบจากร้านค้าข้าวสาร เจ้าของร้านไม่ตอบอย่างไร แต่ได้นำข้าวสารมาส่งให้ตามที่สั่ง ก็ถือได้ว่าเกิดสัญญาซื้อขายกันแล้ว ผู้สั่งจะบิดพลิ้วไม่ชำระค่าข้าวสารหาได้ไม่

        สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และคู่สัญญาต่างก็ได้เซ็นชื่อไว้ในสัญญานั้นด้วย คู่สัญญาย่อมจะต้องผูกพันตามข้อความในสัญญานั้น ไม่ว่าตนจะได้อ่านข้อความและทราบข้อความนั้นหรือไม่ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นในเรื่องการแสดงเจตนาประการอื่น เช่น เป็นการแสดงเจตนาลวง สำคัญผิด กลฉ้อฉล ข่มขู่ หรือสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรม โดยเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ เป็นต้น ซึ่งจะต้องไปพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ อีกเป็นกรณีหนึ่งต่างหาก ถ้าสัญญาใดกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยแล้ว คู่สัญญาก็จะนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญานั้นมิได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94)

        แต่มีสัญญาบางอย่างซึ่งข้อความในสัญญาเกิดขึ้นจากทางฝ่ายเสนอแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายสนองรับไม่มีโอกาสจะเลือกตกลงตามข้อความนั้น ๆ ได้เลย เพราะผู้สนองรับมีทางเลือกแต่เพียงว่าจะสนองรับหรือไม่สนองรับเท่านั้น เช่น ใบรับเสื้อผ้าที่ร้านซักผ้าออกให้แก่ผู้ที่นำผ้าไปซักมีข้อความว่าทางร้านจะไม่รับผิดในความเสียหายเกินกว่า 10 เท่าของค่าจ้าง หรือตั๋วรถ ตั๋วเรือที่ออกให้แก่ผู้โดยสารมีข้อความจำกัดความรับผิดของบริษัทในกรณีที่ผู้โดยสารได้รับความเสียหายจากการโดยสาร เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้มีปัญหาว่าผู้สนองรับเมื่อมิได้ตกลงยินยอมกับข้อกำหนดต่าง ๆ เหล่านั้น แต่เพราะเหตุที่ได้ตกลงนำผ้าไปซักรีด หรือต้องโดยสารรถหรือเรือของบริษัท จึงจำเป็นต้องยอมรับใบรับหรือตั๋วด้วยนั้น จะต้องผูกพันในข้อความในเอกสารนั้นเพียงใด

        ได้มี คำพิพากษาฎีกาที่ 223/2497 วินิจฉัยเกี่ยวแก่สลากกินแบ่งของรัฐบาล ซึ่งด้านหลังของตัวสลากมีข้อความพิมพ์ไว้ว่า “เงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ” ว่าข้อความนี้เป็นเพียงข้อกำหนดเพื่อป้องกันการทุจริตแอบอ้างมารับเงินรางวัล เมื่อโจทก์เป็นผู้ถูกรางวัลโดยไม่มีปัญหา แม้จะไม่มีสลากมาขอรับเงินเพราะสลากหาย โจทก์ก็รับเงินรางวัลได้ และ คำพิพากษาฎีกาที่ 1372/2497 ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน แต่ยังให้หลักต่อไปอีกว่า แม้โจทก์ (ผู้ซื้อสลาก) จะรับว่าได้ทราบระเบียบและเงื่อนไขหลังสลากนั้นแล้ว ข้อกำหนดนี้ก็มีไว้เพื่อจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าของสลากกินแบ่งอันแท้จริงโดยป้องกันผู้ทุจริตแอบอ้างมารับรางวัล ไม่ใช่ข้อกำหนดว่าถ้าไม่มีสลากมาจะไม่จ่ายเงินตามที่ถูกรางวัล แต่หมายความเพียงว่า ถ้ามีกรณีโต้แย้งกันว่าใตรเป็นผู้ถูกรางวัลแน่แล้วก็จะจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ที่ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลเท่านั้น การออกสลากกินแบ่งย่อมมีข้อสัญญาว่าจะจ่ายเงินแก่ผู้ถูกรางวัล จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะแปลข้อกำหนดนั้นว่า ถึงแม้จะถูกรางวัลแล้วถ้าไม่ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลมาแล้วจะไม่ได้รับเงินรางวัลตามที่มีสิทธิ และโดยที่คดีนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าใครเป็นผู้ถูกรางวัลแน่ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่บังคับแก่โจทก์ ต่อมา คำพิพากษาฎีกาที่ 1291/2498 ก็ยืนยันหลักอย่างเดียวกันนี้อีก แต่อธิบายต่อไปว่า แม้หนังสือกำหนดการออกสลากกินแบ่งจะมีข้อความว่า “ถ้าผู้ถูกรางวัลไม่สามารถนำสลากที่ถูกรางวัลมาขอรับเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็เป็นอันไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จ่ายเงินที่อ้างว่าถูกรางวัลนั้น” ก็ตาม และแม้ข้อกำหนดนี้จะได้แจกจ่ายและโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง ก็เป็นข้อความที่แยกออกไปจากข้อสัญญาที่ระบุไว้ในสลาก ไม่เป็นเหตุที่จะให้ถือว่า ผู้ซื้อสลากได้รับเอาข้อสัญญาตามกำหนดนั้นไปด้วย ทั้งตามที่จำเลยนำสืบมาก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ได้รู้และรับเอาข้อสัญญาตามข้อกำหนดนั้นไว้ด้วย คำพิพากษาฎีกาหลังสุดซึ่งได้วินิจฉัยอย่างเดียวกันนี้ คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 473/2509 ซึ่งนอกจากจะวินิจฉัยในหลักดังกล่าวแล้ว ยังวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ถูกรางวัลต้องขอรับรางวัลภายใน 3 เดือน นับจากวันออกสลาก ซึ่งพิมพ์ไว้ด้านหลังสลากอีกด้วยว่า ข้อความเช่นว่านี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 191 เพราะผู้ถูกรางวัลมีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลได้ภายใน 10 ปี ตามมาตรา 164

        ในแง่ของสัญญา สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกจำหน่ายแก่ประชาชนทุกวันนี้ ย่อมเป็นคำเสนอ แต่เป็นคำเสนอที่มีเงื่อนไขว่า จะจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ที่ถูกรางวัลเมื่อถึงคราวออกรางวัลตามวันที่กำหนดไว้ในตัวสลาก และเงินรางวัลนั้นก็จะจ่ายให้ตามจำนวนที่ประกาศไว้ด้านหลังของตัวสลาก เมื่อผู้ใดซื้อสลากย่อมถือได้ว่าเป็นการสนองรับคำเสนอนั้นโดยปริยายแล้ว จึงเกิดสัญญาขึ้นระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งและผู้ซื้อสลาก แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน หากเงื่อนไขสำเร็จขึ้นเมื่อใด กล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อสลากถูกรางวัลในงวดวันที่กำหนดไว้ สัญญานี้ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายทันที เมื่อตัวสลากเป็นสัญญาแล้ว ข้อความใด ๆ ในตัวสลากก็น่าจะต้องถือว่าผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าข้อความบางตอน บางข้อผู้ซื้อตัวสลากจะมิได้ยินยอมด้วยก็ตาม เพราะก่อนซื้อผู้ซื้อสลากมีโอกาสได้อ่านและรู้ข้อความในตัวสลากแล้ว เมื่อยังติดใจสนองรับโดยวิธีซื้อก็ต้องถือว่าผู้ซื้อสลากยอมรับข้อเสนอนั้นโดยปริยายแล้ว แต่แม้ข้อความในคำเสนอจะผูกพันผู้สนองในแง่ของสัญญาดังกล่าวมาแล้วก็ตาม ข้อความนั้นก็หาใช่จะบังคับกันได้เสมอไปไม่ เช่น ถ้าข้อความนั้นต้องห้ามต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ข้อความในสัญญาถ้าเป็นเพียงแต่กำหนดเวลาไว้เพื่อให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิทวงถามหนี้ภายในเวลาใดเวลาหนึ่ง กำหนดเวลานั้นก็อาจจะเป็นกำหนดเวลาให้ทวงถามหนี้ได้ และถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายก็อาจฟ้องบังคับตามสัญญาได้ภายในกำหนดอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้ในเรื่องนั้น ๆ ส่วนข้อความที่ว่าจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้น แม้จะเป็นข้อความในสัญญาซึ่งผูกมัดผู้ซื้อสลากด้วยก็ตาม แต่จะใช้บังคับระหว่างกันได้เพียงใดก็อยู่ที่การตีความข้อความนี้ว่า คู่สัญญามีเจตนาเช่นใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 บัญญัติว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย และมาตรา 11 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีข้อสงสัย ท่านให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้นั้น

        เมื่อพิเคราะห์ดูเจตนาในการออกสลากกินแบ่งของรัฐบาล ก็มุ่งหวังจะจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ที่ถูกรางวัล แต่เพื่อป้องกันการทุจริต และเพื่อมิให้ผู้ที่ไม่ถูกสลากมาแอบอ้างรับเงินรางวัล ทั้งนี้เพื่อให้ทางสำนักงานสลากกินแบ่งมีหลักฐานการจ่ายเงิน จึงได้กำหนดข้อความนั้นไว้ ดังนั้นในระหว่างผู้ที่อ้างว่าถูกรางวัลด้วยกัน และถ้าทางสำนักงานสลากกินแบ่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลไป ก็ถือว่าทางสำนักงานสลากกินแบ่งได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแลิว ผู้ที่ไม่มีสลากมาขอรับ แม้จะอ้างว่าเป็นผู้ถูกสลากก็ไม่น่าจะมีสิทธิเรียกร้องให้ทางสำนักงานสลากกินแบ่งจ่ายเงินรางวัลให้ตนอีกได้ แต่ถ้าไม่มีผู้ใดถือสลากที่ถูกรางวัลมารับเงินรางวัลเลย และปรากฏว่าผู้ที่ขอรับรางวัลเป็นผู้ที่ถูกรางวัลอันแท้จริง แม้ไม่มีสลากที่ถูกรางวัลมาขอรับ ข้อกำหนดที่ว่าจะจ่ายรางวัลให้แก่ผู้ที่ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ น่าจะต้องตีความว่า ทางสำนักงานสลากกินแบ่งไม่มีเจตนาจะให้นำข้อกำหนดเช่นว่านั้นมาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ เพราะผู้นั้นเป็นผู้ถูกสลากที่แท้จริง และก็ยังไม่มีผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลผู้ใดมาขอรับรางวัลไปแล้วด้วย การตีความเช่นนี้เป็นการตีความไปในทางสุจริต และเป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ซึ่งต้องเสียในมูลหนี้

        เกี่ยวกับข้อกำหนดหรือข้อเงื่อนไขในคำเสนอแต่ฝ่ายเดียว จะถือว่าผูกมัดคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้เพียงใดนั้น ตามกฎหมายอังกฤาได้มีหลักวางไว้ในคดี Parker v. South Eastern Railway Co. (1877) 2 C.P.D. 416 ซึ่งข้อเท็จจริงมีดังนี้

        โจทก์ได้ฝากกระเป๋าเดินทางไว้ที่แผนกรับฝากของของสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นของบริษัทจำเลย โจทก์ได้ชำระค่าฝากเป็นเงิน 2 เพนนี แก่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ออกตั๋วให้โจทก์ ด้านหนึ่งของตั๋วได้เขียนเลขที่ของตั๋วและวันที่ที่ออกตั๋ว กับมีข้อความเกี่ยวกับเวลาเปิดและปิดของที่ทำงาน พร้อมกับข้อความว่า “ดูด้านหลัง” พิมพ์ไว้ อีกด้านหนึ่งของตั๋วได้พิมพ์ข้อความไว้หลายข้อเกี่ยวกับสิ่งของที่รับฝาก และมีข้อความตอนหนึ่งว่า “บริษัทจะไม่รับผิดชอบในสิ่งของใด ๆ เกินกว่าจำนวนเงิน 10 ปอนด์” ในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้นำตั๋วนี้มาขอรับกระเป๋าที่ฝาก ปรากฏว่ากระเป๋าหาย โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าสิ่งของและราคากระเป๋าเป็นเงิน 24 ปอนด์ 10 ชิลลิง จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยได้รับฝากสิ่งของภายใต้ข้อเงื่อนไขว่าจะไม่รับผิดชอบเกินกว่า 10 ปอนด์ ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของตั๋ว และยังได้มีประกาศข้อความเช่นนั้นติดไว้ในห้องรับฝากของด้วย ในการพิจารณาคดี โจทก์ให้การว่าเขามิได้เห็นประกาศเช่นว่านั้น และมิได้อ่านข้อความในตั๋วนั้นเลย แต่ก็รับว่าเขาได้รับตั๋วเช่นนี้บ่อย ๆ และรู้ว่ามีข้อความพิมพ์ไว้บนตั๋วด้วย แต่ไม่รู้ว่าข้อความนั้นมีว่าอย่างไร โจทก์คิดว่าตั๋วนั้นคือใบรับเงินที่เขาได้ชำระค่าฝากไป

        ในการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาได้เสนอแนะให้ลูกขุนพิจารณาในปัญหา 2 ข้อ คือ

โจทก์ได้อ่านหรือทราบข้อความอันเป็นข้อเงื่อนไขพิเศษนี้หรือไม่ และ
มีพฤติการณ์หรือหน้าที่ใด ๆ หรือไม่ที่โจทก์หากได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเช่นวิญญูชนแล้ว จะต้องอ่านหรือทราบข้อเงื่อนไขเช่นว่านั้น
        ลูกขุนพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ่านและไม่ทราบข้อเงื่อนไขนั้น ทั้งไม่มีพฤติการณ์ หรือหน้าที่อันใดที่โจทก์จะต้องอ่านหรือทราบข้อเงื่อนไขนั้นด้วย ศาลจึงพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี

        จำเลยอุทธรณ์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ เพราะเหตุว่าข้อเสนอแนะของผู้พิพากษาที่ให้ลูกขุนพิจารณาไม่ถูกต้อง

        ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ท่านผู้พิพากษา Mellish ได้วินิจฉัยว่า

         “ฯลฯ ปัญญาในคดีมีว่า โจทก์จะต้องผูกพันตามข้อเงื่อนไขในตั๋วนั้นหรือไม่ ตามปกติถ้าโจทก์ฟ้องตามสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าโจทก์ได้เซ็นชื่อในสัญญานั้นด้วย หากกรณีมิใช่เป็นเรื่องโจทก์ถูกลวงด้วยกลฉ้อฉลแล้ว การที่โจทก์มิได้อ่านและไม่รู้ข้อความในสัญญาก็หาเป็นข้อแก้ตัวของโจทก์ไม่ แต่ถ้าโจทก์มิได้เซ็นชื่อในสัญญานั้น และสัญญานั้นก็อาศัยแต่เพียงหนังสือสัญญาที่โจทก์มิได้เซ็นชื่อฉบับเดียว ไม่มีสัญญาอื่นอีกแล้ว คู่สัญญาอีกฝ่ายจะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมกับข้อความในสัญญานั้นด้วย ถ้าพิสูจน์นำสืบได้เช่นนี้ และกรณีมิใช่เป็นกลฉ้อฉลแล้ว การที่โจทก์มิได้อ่านสัญญาและไม่รู้ข้อความในสัญญานั้นก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวสำหรับโจทก์เช่นกัน ในกรณีที่สัญญานั้นเป็นเรื่องคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเพียงแต่มอบเอกสารที่มีข้อความพิมพ์ไว้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง และคู่สัญญาฝ่ายซึ่งรับมอบเอกสารก็รู้ว่าเอกสารนั้นมีข้อความอันเป็นข้อเงื่อนไขที่คู่สัญญาฝ่ายที่มอบเอกสารประสงค์จะให้เป็นสัญญาผูกพัน ก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าโดยการรับเอกสารและเก็บไว้นั้นย่อมถือว่าคู่สัญญาฝ่ายที่รับเอกสารนั้นได้ตกลงยินยอมตามข้อเงื่อนไขที่มีอยู่ในเอกสารนั้นแล้วด้วย แม้ว่าผู้นั้นจะมิได้อ่านข้อความหรือไม่ทราบว่าข้อความนั้นมีว่าอย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ศาลจึงเห็นว่าคดี Harris v. Great Western Ry. Co. (1876) 1 Q. B. D. 515 ได้พิพากษาไว้ถูกต้องแล้ว เพราะในคดีนั้นโจทก์รับว่าโจทก์เชื่อว่ามีข้อเงื่อนไขอยู่บนตั๋วนั้น แต่คดี Henderson v. Stevenson (1875) L.R. 2 H.L. Sc. 470 ได้วินิจฉัยไว้ว่า ถ้าผู้ที่ได้รับตั๋วไม่รู้ว่า มีข้อความพิมพ์ไว้ด้านหลังตั๋ว ก็ไม่ผูกพันตามข้อเงื่อนไขที่พิมพ์ไว้ด้านหลังตั๋วนั้น แต่คดีที่พิจารราอยู่นี้ต่างกับคดีทั้งสองนั้น กล่าวคือคดีนี้แม้โจทก์จะรับว่าได้รู้ว่ามีข้อความพิมพ์ไว้ด้านหลังตั๋วก็ตาม แต่โจทก์นอกจากจะมิได้อ่านข้อความนั้นแล้ว ยังไม่รู้หรือคิดว่าข้อความที่พิมพ์ไว้นั้นจะมีข้อกำหนดเงื่อนไขอยู่ ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าตามพฤติการณ์เช่นว่านี้ จะวางหลักข้อกฎหมายว่าโจทก์ย่อมผูกพันหรือไม่ผูกพันตามข้อเงื่อนไขที่มีอยู่ในตั๋วนั้นจะได้หรือไม่ หรือจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ลูกขุนจะได้วินิจฉัยต่อไปอีก

        ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เราไม่อาจจะวางหลักข้อกฎหมายลงไปได้ว่าโจทก์จะต้องผูกพันหรือไม่ต้องผูกพันตามข้อเงื่อนไขที่พิมพ์ไว้บนตั๋วโดยอาศัยเพียงแต่ข้อเท้จจริงที่ว่า โจทก์รู้ว่ามีข้อความพิมพ์ไว้บนตั๋วแต่ไม่รู้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อเงื่อนไช บางคดีอาจเป็นได้ว่า ในการติดต่อธุรกิจ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้มอบเอกสารซึ่งมีข้อความปรากฏอยู่ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายที่ได้รับเอกสารนั้นอาจมีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อว่าข้อความในเอกสารนั้นมิใช่ข้อเงื่อนไข จึงเก็บเอกสารนั้นไว้ในกระเป๋าโดยมิได้อ่านเลย เช่นผู้ที่ขับรถผ่านด่านเก็บเงินค่าใช้ถนน เมื่อจ่ายเงินแล้วย่อมมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าตั๋วที่ได้รับไว้นั้น มีความประสงค์เพียงเพื่อเก็บไว้แสดงต่อด่านปลายทางเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าผ่านด่านอีกเท่านั้น จึงเก็บตั๋วใส่กระเป๋าไว้โดยมิได้อ่านข้อความในตั๋วเลย แต่ถ้าเป็นกรณีเรื่องผู้ส่งสินค้าทางเรือได้รับ บิลออฟเลดดิ้ง จากนายเรือ ผู้ส่งสินค้าย่อมผูกพันตามข้อความใน บิลออฟเลดดิ้ง นั้น แม้ว่าผู้นั้นจะปฏิเสธว่ามิได้อ่าน บิลออฟเลดดิ้ง และไม่รู้ว่าข้อความนั้นเป็นสัญญาเกี่ยวกับการขนส่ง และไม่รู้ว่าข้อความนั้น ทำให้เจ้าของเรือไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าของเขาสูญหายเลยก็ตาม เหตุผลที่ผู้ส่งสินค้าจำต้องผูกพันตาม บิลออฟเลดดิ้ง นั้น น่าจะเป็นว่าผู้ส่งสินค้าส่วนมากรู้ว่า บิลออฟเลดดิ้ง มีข้อความอันเป็นสัญญาขนส่ง และเจ้าของเรือหรือนายเรือที่มอบ บิลออฟเลดดิ้ง ให้ มีเหตุผลอันควรที่จะเชื่อว่าผู้ส่งสินค้าย่อมรู้เรื่องนี้ แม้ในกรรีที่ผู้ไม่เคยค้าหรือผู้ที่มิใช่ทนายได้ส่งสินค้าทางเรือและไม่รู้ว่า บิลออฟเลดดิ้ง คืออะไร ผู้นั้นก็น่าจะต้องผูกพันตามข้อความใน บิลออฟเลดดิ้ง เพราะความไม่รู้ของตนนั้นเป็นเรื่องยกเว้นนอกเหนือจากหลักทั่ว ๆ ไป การประกอบธุรกิจย่อมดำเนินไปโดยสะดวกมิได้ ถ้าจะให้ผู้ที่มอบ บิลออฟเลดดิ้ง ต้องคอยอธิบายว่า บิลออฟเลดดิ้ง คืออะไร

        ปัญหาที่เราจะต้องพิจารณามีว่า บริษัทรถไฟมีเหตุผลอันควรที่จะเชื่อได้หรือไม่ว่าผู้ที่ฝากหีบห่อสัมภาระ และได้รับตั๋วโดยวิธีซึ่งผู้นั้นน่าจะรู้ว่ามีข้อความพิมพ์อยู่บนตั๋ว จะเข้าใจว่าข้อความที่พิมพ์อยู่นั้นเป็นข้อเงื่อนไขของสัญญา ข้าพเจ้าคิดว่า ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปควรจะเข้าใจเช่นนั้นหรือไม่ ข้าพเจ้าคิดว่าบริษัทรถไฟย่อมมีสิทธิจะเชื่อเช่นนั้น และเชื่อว่าผู้ที่ฝากหีบห่อสัมภาระย่อมอ่านหนังสือออกและเข้าใจภาษาอังกฤษ ทั้งควรจะสนใจในสิ่งซึ่งบุคคลผู้ติดต่อธุรกิจประเภทเช่นฝากสิ่งของที่สถานีรถไฟควรจะต้องสนใจด้วย บริษัทรถไฟชอบที่จะถือเอาบุคคลธรรมดาที่พบปะอยู่เสมอเป็นเกณฑ์ และถ้าบริษัทรถไฟได้ทำสิ่งใดอันถือได้ว่าเป็นการเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าตั๋วนั้นมีข้อเงื่อนไขพิมพ์อยู่ด้วยแล้ว โจทก์จะอาศัยความไม่รู้ ความโง่ หรือความประมาทเลินเล่อของตนมาทำให้โจทก์อยู่ในฐานะดีกว่าประชาชนคนอื่นหาได้ไม่ แต่ถ้าบริษัทรถไฟได้ทำสิ่งใดอันถือได้ว่ายังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่ว ๆ ไปรู้ว่า ตั๋วนั้นมีข้อเงื่อนไขพิมพ์อยู่ ต้องถือว่าบริษัทรถไฟได้รับฝากสิ่งของโดยผู้ฝากมิได้ยินยอมในข้อเงื่อนไขที่จำกัดความรับผิดของบริษัทรถไฟนั้นด้วย ฉะนั้นจึงควรจะเสนอแนะลูกขุนในคดีนี้ให้เห็นว่า ถ้าบุคคลที่ได้รับตั๋วไม่เห็นหรือไม่รู้ว่ามีข้อความพิมพ์อยู่บนตั๋ว ผู้นั้นย่อมไม่ผูกพันในข้อเงื่อนไขนั้น ถ้าบุคคลผู้รับตั๋วรู้ว่ามีข้อความพิมพ์อยู่ และรู้หรือเชื่อว่าข้อความนั้นมีข้อเงื่อนไขอยู่ด้วย ผู้นั้นย่อมต้องผูกพันตามข้อเงื่อนไขในตั๋ว ถ้าบุคคลผู้รับตั๋วรู้ว่ามีข้อความพิมพ์อยู่บนตั๋ว แต่ไม่รู้หรือไม่คิดว่าข้อความนั้นจะเป็นข้อเงื่อนไข ผู้นั้นก็ยังคงต้องผูกพันตามข้อเงื่อนไขนั้นอยู่นั่นเอง ในเมื่อการมอบตั๋วนั้นตามความเห็นของลูกขุนได้กระทำโดยวิธีซึ่งผู้นั้นน่าจะเห็นข้อความบนตั๋ว และโดยวิธีที่ชัดแจ้งพอสมควรอันจะทำให้รู้ว่าข้อความนั้นมีข้อเงื่อนไขอยู่ด้วย

        ดังนั้นข้อเสนอแนะของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นจึงยังไม่ถูกต้องและอาจทำให้ลูกขุนเข้าใจผิดได้ ข้อเสนอแนะต่อลูกขุนจึงควรเสนอแนะให้พิจารณาปัญหาโดยตรง กล่าวคือบริษัทรถไฟได้ทำสิ่งใดเป็นการเพียงพออันควรที่จะให้โจทก์ได้รู้ถึงข้อความบนตั๋วนั้นหรือไม่ จึงเห็นว่า ต้องมีการพิจารณาคดีนี้ใหม่

        นอกจากหลักที่ศาลอังกฤษได้วางไว้ในคดีนี้แล้ว ยังมีคดี Chapelton v. Barry Urban District Council (1940) 1 K.B. 532 วางหลักไว้ว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดประสงค์จะถือเอาเอกสารฉบับใดเป็นการแสดงหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อความที่ตกลง คู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องแสดงให้เห็นว่าเอกสารนั้นเป็นส่วนสำคัญแห่งข้อตกลง และเอกสารนั้นจะต้องตั้งใจให้เป็นข้อสัญญา โดยไม่เพียงแต่ตั้งใจจะให้เป็นเพียงใบรับ หรือเป็นการรับทราบการชำระเงินเท่านั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า นาย Chapelton ได้ไปเที่ยวชายหาดในท้องที่ของเทศบาลจำเลย ได้เช่าเก้าอี้ผ้าใบจากเจ้าหน้าที่ของเทศบาลจำเลย 2 ตัว ตัวหนึ่งเพื่อเขาเอง อีกตัวหนึ่งสำหรับเพื่อนสาวของเขา ที่กองเก้าอี้ผ้าใบมีประกาศปิดไว้ ตอนแรกเป็นชื่อของเทศบาลจำเลย ถัดไปมีข้อความว่า “ค่าเช่าเก้าอี้ 2 เพนนีต่อเวลา 3 ชั่วโมง ผู้ใดประสงค์จะเช่าเก้าอี้ให้ซื้อตั๋วได้จากเจ้าหน้าที่ และจะต้องเก็บตั๋วไว้ให้ตรวจด้วย” เมื่อนาย Chapelton ได้รับตั๋วจากเจ้าหน้าที่ ก็มองดูแว่บเดียวแล้วเอาใส่กระเป๋าเสื้อโดยไม่คิดว่าจะมีข้อเงื่อนไขอยู่บนตั๋ว และไม่รู้ว่ามีข้อความอะไรอยู่ที่ด้านหลังของตั๋วด้วย เมื่อนำเก้าอี้ไปกาง พอนั่งลงผ้าใบเกิดขาด นาย Chapelton ก้นกระแทกพื้น เลยตกใจไม่สบายต้องไปหาหมอ แล้วนำคดีมาฟ้องเทศบาลจำเลยเรียกค่าเสียหาย ศาลพิพากษาว่าประกาศของเทศบาลจำเลยมีผลเพียงว่า คิดค่าเช่าเก้าอี้ 2 เพนนีต่อเวลา 3 ชั่วโมงเท่านั้น จึงถือว่าข้อความเพียงเท่านี้ที่เป็นคำเสนอ ส่วนโจทก์คือนาย Chapelton ก็เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่ประสงค์จะเช่าเก้าอี้ ย่อมจะคิดแต่เพียงว่า ถ้าจ่ายเงินเพียง 2 เพนนีแล้วจะได้ใช้เก้าอี้นั้น เมื่อไม่มีประกาศข้อจำกัดความรับผิดอยู่ใกล้ ๆ กับกองเก้าอี้ผ้าใบนั้นด้วย ตั๋วที่โจทก์ได้รับจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นเพียงใบรับเงิน ซึ่งไม่เหมือนกับตั๋วรถไฟที่มีข้อความว่า บริษัทรถไฟตกลงจะรับส่งผู้โดยสาร ดังนั้น แม้ตั๋วที่โจทก์ได้รับจะมีข้อความว่า เทศบาลจำเลยจะไม่รับผิดในอุบัติเหตุหรือความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการเช่าเก้าอี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้บริษัทจำเลยพ้นจากความรับผิดไปได้

        แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าว ถ้าคู่สัญญาฝ่ายที่กำหนดข้อเงื่อนไขได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการเพียงพอที่จะให้บุคคลธรรมดาในฐานะเดียวกับคู่สัญญาอีกฝ่าย ได้รู้ถึงข้อความในตั๋วนั้นได้แล้ว คู่สัญญาฝ่ายหลังนี้ก็จำต้องผูกพันตามข้อความในตั๋วนั้น ไม่ว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะพูดอังกฤษได้หรือไม่ อ่านหนังสือออกหรือไม่ หรือตาจะบอดหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นตัวอย่างในคดี Thompson v. L. M. & S. Railway Co. (1930) I K. B. 41 ซึ่งข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์อ่านหนังสือไม่ออก หลานสาวของโจทก์ได้ซื้อตั๋วรถไฟสำหรับเดินทางราคาถูกให้ ด้านหน้าของตั๋วมีข้อความว่า โปรดดูเงื่อนไขด้านหลัง ด้านหลังของตั๋วมีข้อความว่า ตั๋วนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดเวลาเดินรถของบริษัทรถไฟ หนังสือกำหนดเวลาเดินรถ (ซึ่งขายเล่มละ 6 เพนนี) มีข้อความยกเว้นความรับผิดของบริษัทเกี่ยวกับอันตรายใด ๆ ที่ผู้โดยสารได้รับไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โจทก์ได้รับบาดเจ็บในการเดินทางเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของบริษัท ศาลวินิจฉัยว่าบริษัทจำเลยได้ทำการเพียงพอที่จะให้ผู้โดยสารในฐานะเดียวกับโจทก์ได้รู้ถึงข้อความ ยกเว้นความรับผิดนั้นแล้ว การที่โจทก์อ่านหนังสือไม่ออกไม่อาจยกเป็นข้ออ้างได้เพราะเป็นเรื่องของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทจำเลยได้

        แม้คู่สัญญาจะต้องผูกพันตามข้อความที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังกล่าวมาแล้วก็ตาม ถ้าข้อความนั้นกำกวมหรือมีความหมายไม่ชัดแจ้ง ศาลย่อมตีความให้เป็นโทษแก่คู่สัญญาฝ่ายที่กำหนดข้อความซึ่งจำกัดความรับผิดชอบของตนนั้น (คดี Alderslade v. Hendon Laundry, Ltd. (1945 K. B. 189) และถ้าข้อความ หรือข้อเงื่อนไขในสัญญานั้นเป็นข้อความหรือข้อเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล หรือขัดต่อความยุติธรรมตามธรรมชาติจนไม่มีผู้ใดจะคิดว่า ข้อความหรือข้อเงื่อนไขเช่นนั้นจะมีอยู่แล้ว ข้อความหรือข้อเงื่อนไขนั้นย่อมไม่มีผล และไม่ผูกพันคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

        เกี่ยวกับข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดอันเป็นข้อกำหนดในสัญญาแต่ฝ่ายเดียวนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในเรื่องการรับขนของหรือคนโดยสาร เจ้าสำนักโรงแรม และเก็บของในคลังสินค้าดังนี้

        มาตรา 625 ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น

        มาตรา 639 ตั๋วใบรับ หรือเอกสารอื่นทำนองเช่นว่านี้ อันผู้ขนส่งได้ส่งมอบแก่คนโดยสารนั้น หากมีข้อความยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งอย่างใด ๆ ท่านว่าข้อความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนโดยสารจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นนั้น

        มาตรา 677 ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานอื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

        และมาตรา 772 บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 625 ว่าด้วยการรับขนมาใช้บังคับแก่การเก็บของในคลังสินค้าอนุโลมตามควรแก่บท

        ทั้งนี้แสดงว่าข้อความยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดที่กำหนดฝ่ายเดียวในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น ไม่มีผลแต่ประการใด เว้นแต่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั้น เหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ เพราะตามปกติผู้ขนส่งของจะต้องรับผิดในความสูญหายบุบสลาย หรือส่งมอบล่าช้าอยู่แล้วตามมาตรา 616, 617, 618, 620, 621 และ 623 ส่วนผู้ขนส่งคนโดยสารก็ต้องรับผิดตามมาตรา 634 และ 638 เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดตามมาตรา 674 และ 675 นายคลังสินค้าก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้รับฝากทรัพย์อยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าผู้ขนส่ง เจ้าสำนักโรงแรม หรือนายคลังสินค้ายกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของตนนอกเหนือไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็ต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงโดยแจ้งชัดด้วย

        ในกรณีที่กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามไว้โดยเฉพาะมิให้กำหนดข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังกล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะต้องใช้หลักทั่วไปของสัญญามาบังคับดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น และหากจะนำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอังกฤษมาใช้พิจารณาประกอบด้วยแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย