คนไทยได้อะไรจากกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/01/2008
ที่มา: 
Lawyerthai.com พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545 รองศาสตราจารย์สุมาลี วงษ์วิฑิต,บทความเรื่อง กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Law) นั้น สำคัญไฉน,มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 คนไทยได้อะไรจากกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์


        มาดูเรื่องกฎหมายที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราลองมาดูกันว่า พวกเราชาวไซเบอร์ทั้งหลายจะได้อะไรจากกฎหมายนี้กันบ้าง


        ถามว่าวันนี้มีใครรู้บ้างว่า พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกฎหมายไอที 1 ใน 6 ฉบับนั้นออกมาใช้บังคับแล้ว เอาล่ะครับ เชื่อว่าคงมีคนรู้ไม่มากนัก นอกจากคนที่ติดตามจริงๆ ส่วนมากมักจะคิดว่า กฎหมายอะไรจะออกมามันก็ไม่ได้กระทบกับเราซักเท่าไหร่

        ก็คงเพราะเมืองไทยเราบังคับใช้กฎหมายกันอย่างหละหลวม ไม่มีความเด็ดขาดหรือเอาจริงเอาจัง เช่น มีกฎหมายยาเสพติดออกมาใช้ ก็ยังเห็นว่ามียาเสพติดเกลื่อนเมือง มีกฎหมายป้องกันปราบปรามโสเภณีออกมาใช้ ก็ยังเห็นว่าคุณโส(เภณี) เต็มบ้านเต็มเมืองเหมือนเดิม แล้วกฎหมายไอทีของเราล่ะ จะเป็นยังไง

        ปัจจุบันนี้ การทำธุรกิจในยุค E-Commerce นั้นแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง รูปแบบการทำการค้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การค้าขายไม่ได้ทำเหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนเราใช้เงินสดเท่านั้น สมัยนี้เรามีบัตรเครดิต ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง การค้าขายทำได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต เพียงนิ้วคลิ๊กก็สามารถสั่งซื้อสินค้าได้

        มาถึงวันนี้กฎหมายใช้บังคับไปแล้วเมื่อวีนที่ 3 เมษายน 2545 เป็นกฎหมายไฮเทค ดังนั้น อันดับแรก ลองมาดูกันว่า กฎหมายนี้ใช้บังคับโดยมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร

        กฎหมายของบ้านเราบังคับใช้แค่ในประเทศเท่านั้น หมายความว่าบังคับได้เฉพาะธุรกรรมที่เกิดในประเทศ ผู้ทำธุรกรรมก็อยู่ในประเทศ บริษัท ห้างร้าน ผู้ค้าก็อยู่ในประเทศ ถ้าทุกอย่างเป็นแบบนี้หมด ก็จะไม่มีปัญหาอะไร

        แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดในเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ว่าไม่มีขอบเขตจำกัดเลย คู่ค้าที่ทำธุรกรรมแต่ละฝ่ายจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ขอเพียงคุณมีคอมพิวเตอร์ที่มีโมเด็มเชื่อมกับสายโทรศัพท์

        ถามว่า ถ้าเป็นการซื้อขายระหว่างบุคคลที่อยู่คนละประเทศกัน กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยคุ้มครองหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าคุ้มครองเฉพาะในประเทศไทย หรือเฉพาะประเทศที่มีความตกลงร่วมกันกับประเทศไทยเท่านั้น แต่จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า บริษัทที่ให้บริการซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตจริงๆนั้น โดยมากแล้วอยู่ในต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ในประเทศไทยก็อาจมีบ้าง แต่ว่ายังน้อยอยู่มากที่จะเน้นการค้าขายโดยเฉพาะเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อาจเป็นเพราะในปัจจุบันคนไทยยังไม่นิยมการ Shopping ทางอินเทอร์เน็ตมากนัก ดังนั้น เรื่องขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายนั้น ก็จะเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมการซื้อขายในยุคไอทีมากเท่าใดนัก

        คราวนี้มาดูรูปแบบการซื้อขายกันบ้าง กฎหมายนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้มากเท่าใดนัก มีเพียงเรื่องของการ รับ ส่งข้อมูล และก็เรื่องของลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะเห็นได้ว่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้น มิได้จำกัดรูปแบบเพียงเท่าที่กฎหมายดังกล่าวระบุเท่านั้น เพราะระบบไอทีจะไม่ได้ส่งข้อมูลประเภท ใบสั่งซื้อ หรือใบจ่ายเงิน ไปให้ผู้ขายเท่านั้น แต่จะใช้ในรูปแบบ Information Technoogy ทั้งหมด ซึ่งจะอยู่ในรูปของ Application ที่หลากหลาย แตกต่างกัน

        แต่จะเห็นได้ว่าในกฎหมายดังกล่าวไม่ได้พูดถึงเรื่อง Application ไว้โดยตรง จะมีก็แต่เฉพาะบางมาตรา ที่พูดถึงเรื่องการส่งข้อมูลโดยวิธีใดๆก็ได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าเรื่องนี้ยังมีความไม่ชัดเจนมากนัก เพียงแต่กล่าวไว้กว้างๆเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความในภายหลัง

        พูดถึงเรื่อง ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) น้อยคนนักจะรู้จัก และยิ่งน้อยไปอีกที่จะรู้จักและเคยใช้ ผู้ใช้ทั่วๆไป User อย่างเราๆท่านๆ ก็คงไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับมันมากนัก แต่ในการซื้อขายแบบไอทีก็มีใช้กันอยู่บ้าง แต่น้อยรายนักที่จะใช้กัน

        ส่วนเมืองไทยเรานั้น ส่วนมากจะนิยมใช้กันในรูปของ User Name/Passward ซะมากกว่า คงอีกซักระยะหนึ่ง จึงจะเป็นที่นิยมมากขึ้น หากวิธีการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันมาก ในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ ก็ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้ว

        แต่ไม่ใช่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ดีเอาซะเลย ข้อดีของกฎหมายนี้มีอยู่บ้างตามสมควร แม้ว่า กฎหมายนี้จะออกมาจากสภาที่มีผู้แทนกว่าร้อยละ 80 ที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต(ใช้ไม่เป็น!!!) แต่กลับต้องทำหน้าที่ออกกฎหมายอินเทอร์เน็ตให้ชนชาวไอทีใช้กัน ยังดีที่กฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงค่อนข้างมาก ดังนั้น ก็ยังพอใช้ได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ดีที่สุด

        กฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่ครอบคลุม ในเรื่องขอบข่ายของธุรกรรม แต่เวบไซต์ที่จะทำการค้าเอง ก็ต้องศึกษากฎหมายนี้ด้วย เพราะไม่ว่าจะอย่างไร องค์ประกอบในการทำธุรกรรมในปัจจุบันก็มีพร้อมอยู่แล้ว องค์กรกลางที่ออกใบรับรองก็มีแล้ว ธนาคารที่เป็นตัวกลาง ในการชำระเงินก็มีแล้ว

        และวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ การออกมาเพื่อปกป้องทั้งทางผู้ขายและผู้ซื้อ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบอาจจะมีไม่มากนัก เพราะเมื่อก่อนที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ออกมา ระบบการซื้อขายออนไลน์ก็มีกลไกของมันเองอยู่แล้ว กฎหมายนี้เพียงแต่ออกมารองรับความสมบูรณ์ ของการทำธุรกรรมเท่านั้น

        ส่วนเรื่องที่ควรติดตามดูกันต่อไปก็คือ หลังจากที่กฎหมายนี้บังคับใช้ไปแล้ว จะเกิดปัญหาอะไรกับใครบ้าง นี่คือเรื่องที่ควรจะจับตาดู เช่น หากจะเอากฎหมายนี้ ไปเชื่อมกับการจดโดเมนเนมแบบ .co.th เท่านั้น ปัญหาที่จะเกิดก็คือ เวบการค้าทั้งหลายต่างไม่เป็นไปดังนั้น เพราะต่างก็ใช้แบบ .com กันหมด

        เท่านั้นยังไม่พอ การจดทะเบียนโดเมนเนมแบบ .com ก็ยังจดทะเบียนกับบริษัทต่างประเทศ ที่มีที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศอีกด้วย ปัญหาตรงนี้ก็อาจจะเกิดมีขึ้นมาได้ กฎหมายนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวเท่าที่ควร

        แต่เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ไม่ว่าทางผู้ซื้อ หรือ ผู้ขายเอง ก็ต่างต้องปรับตัว ให้เข้ากับกฎหมายนี้แทบทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ภาคธุรกิจก็ต้องมีการเตรียมตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้า การให้บริการแบบใหม่ ต้องมีการพัฒนา Application เพื่อให้ทันสมัยและรองรับธุรกรรมที่เกิดขึ้น

        ด้านผู้ใช้บริการเองก็จะมีความวางใจในการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น คนไทยจะนิยมใช้เครดิตการ์ดกันมากขึ้น ผลกระทบทางบวกด้านเศรษฐกิจก็จะตามมาอย่างแน่นอน

        อีกทั้งองค์กรภาครัฐ ก็จะมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น เพราะเม็ดเงินตรงนี้มากมายมหาศาล เป็นผลประโยชน์ที่ภาครัฐเองก็ไม่อาจจะมองข้ามได้ แต่ก็จะเข้ามาในรูปการควบคุมดูแล เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่จะพึงได้เท่านั้น ไม่มาก้าวก่ายการทำธุรกรรมระหว่างเอกชนด้วยกัน

        จะว่าไปแล้ว อาจจะเป็นการดีเสียอีกที่กฎหมายฉบับนี้ออกมา อย่างน้อยเมืองไทยเราเองก็ยังไม่ล้าสมัยจนเกินไป จนนานาอารยประเทศไม่อยากทำการค้าด้วย (แต่ว่าในต่างประเทศเค้ามีกฎหมายแบบนี้ ออกมาใช้ก่อนเมืองไทยหลายปีแล้ว) ต้องขอบคุณรัฐบาลของเราที่ยังเอาใจใส่ต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

        ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมอาจจะมีน้อยมากๆ เพราะคนไทยยังไม่นิยมบัตรเครดิตกันมากนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น ไม่ไว้วางใจที่จะกรอกหมายเลขบัตรเครดิตลงในเวบไซต์ ไม่แน่ใจในระบบรักษาความปลอดภัย หรืออาจเพราะวงเงินขั้นต่ำในการทำบัตรเครดิตยังสูงเกินไป (ตอนนี้ลดฐานเงินเดือนขั้นต่ำลงมามากแล้ว เหลือไม่ถึง 10,000 บาท บางเจ้าเพียงแค่ 7,000 บาท ก็เป็นเจ้าของบัตรเครดิตได้แล้ว)

        ถ้าหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเราก็คงจะบูมได้ไม่ยาก เพราะมีกฎหมายมารองรับด้วยแล้ว

        เท่าที่ดูเหตุการณ์ ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรมากนัก ผมเข้าไป Search ในเวบไซต์ต่างๆ เพื่อหาคดีความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ ก็ยังไม่พบว่ามีอะไรน่าสนใจ อาจเพราะยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ก็ได้ คงต้องรอซักพักนึง ถึงจะมีคนเรียกร้องสิทธิของตนเองตามกฎหมายดังกล่าว

        ถึงตอนนั้นเราก็คงจะได้เห็นการปรับใช้กฎหมายนี้ อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เชื่อว่าอีกไม่นานกฎหมายฉบับนี้ อาจเป็นกฎหมายที่พวกเรา ต้องหยิบยกมาถกประเด็นกันบ่อยที่สุดก็เป็นได้


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Lawyerthai.com พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545 รองศาสตราจารย์สุมาลี วงษ์วิฑิต,บทความเรื่อง กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Law) นั้น สำคัญไฉน,มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย