ความผิดฐานฆ่าคนตามกฎหมายอังกฤษ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ความผิดฐานฆ่าคนตามกฎหมายอังกฤษ


        ตามกฎหมายอังกฤษ ความผิดฐานฆ่าคน (Homicide) แบ่งออกได้เป็น Murder (ฆ่าโดยเจตนา) Manslaughter (ฆ่าโดยไม่เจตนา โดยประมาท และโดยถูกยั่วโทษะ) Suicide (ฆ่าตัวเอง) และ Infanticide (ฆ่าบุตรขณะยังเป็นทารก)

        1. ความผิดฐานฆ่าโดยเจตนา เดิมมีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2500 มีกฎหมายออกมา 1 ฉบับ คือ Homicide Act, 1957 แก้ไขโทษความผิดฐานฆ่าโดยเจตนา ลงเพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น เว้นแต่ความผิดฐานฆ่าด้วยเหตุฉกรรจ์ (Capital Murder) จึงยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่

        หลักเกณฑ์ความผิดฐานนี้คล้ายคลึงกับของไทยเรา ผิดกันในข้อสำคัญ คือ ผู้ฆ่าจะต้องมีเจตนาชนิดที่เรียกว่า Malice aforethought และการตายจะต้องอยู่ในระยะเวลา 1 ปี กับ 1 วันนับตั้งแต่วันทำผิด มีข้อที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ตายจะต้องอยู่ใน King’s หรือ Queen’s Peace คือเป็นผู้ที่ได้รับการคุ้มครองจากพระเจ้าแผ่นดินของอังกฤษ ดังนั้นการฆ่าข้าศึกของอังกฤษในยามสงครามจึงไม่เป็นความผิดฐานฆ่าคน แต่การฆ่าเชลยศึกโดยไม่ชอบก็ดี และการที่คนอังกฤษฆ่าผู้อื่นนอกราชอาณาจักรอังกฤษก็ดี ก็ยังเป็นผิดฐานฆ่าคนตามกฎหมายอังกฤษและพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอังกฤษได้อยู่

        เจตนาที่เรียกว่า Malice aforethought นั้นหมายถึง (ก) เจตนาที่จะฆ่าหรือจะก่อให้เกิดอันตรายสาหัสแก่ร่างกายของผู้อื่น (ข) รู้หรือควรจะรู้ว่าการกระทำของตนจะทำให้ผู้อื่นตายหรือเป็นอันตรายสาหัสแก่ร่างกาย (ค) เจตนาที่จะทำผิดฐาน felony โดยใช้กำลังและเกิดการตายจากการใช้กำลัง (act of violence) นั้น (ง) เจตนาที่จะต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ หรือราษฎรซึ่งช่วยเหลือเจ้าพนักงานดั่งกล่าว แต่ตาม Homicide Act, 1957 เจตนาสองประการหลังไม่ถือว่าเป็น Malice aforethought และไม่ทำให้ผู้ทำผิดดังว่านี้มีผิดฐานฆ่าโดยเจตนา ดังนั้นคำว่า Malice aforethought ในขณะนี้จึงหมายถึงเจตนาในข้อ (ก) และ (ข) เท่านั้น

        ความผิดฐานฆ่าคนด้วยเหตุฉกรรจ์ซึ่งมีโทษประหารชีวิตสถานเดียวนั้น ได้แก่ (ก) การฆ่าในขณะหรือเป็นผลเนื่องจากการลักทรัพย์ (ข) การฆ่าโดยใช้ปืนยิงหรือก่อให้เกิดการระเบิด (ค) การฆ่าในขณะหรือเพื่อประสงค์จะต่อสู้หลีกเลี่ยง ขัดขวางการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือช่วยให้พ้นจากคุมขังที่ชอบด้วยกฎหมาย (ง) การฆ่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ หรือบุคคลผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานดั่งกล่าว (จ) การฆ่าเจ้าพนักงานเรือนจำผู้กระทำการตามหน้าที่หรือบุคคลผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานนั้น แต่ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นนักโทษ อยู่ในขณะทำผิด

        ตั้งแต่เริ่มใช้ Homicide Act, 1957 มา เพิ่งจะมีคำพิพากษาของศาลอังกฤษให้ประหารชีวิตจำเลย ซึ่งฆ่าตำรวจเป็นครั้งแรกในเดือน เมษายน 2502 นี้เอง แต่มีผู้แทนราษฎรร้อยกว่าคน และราษฎรอีกหลายพันคนลงชื่อยื่นเรื่องราวขอลดโทษให้จำเลย เรื่องราวนี้ต้องยื่นต่อ Home Secretary (คล้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเรา) ถ้า Home Secretary เห็นควรลดโทษก็จะต้องทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระบรมราชินี เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป เฉพาะจำเลยคดีนี้ยังไม่ทราบผลว่าจะได้รับการลดโทษหรือไม่

        2. ความผิดฐาน Manslaughter ความผิดฐานนี้ถ้าเทียบกับของไทยเราแล้ว ย่อมรวมถึงความผิดทั้งที่ฆ่าโดยไม่เจตนา ฆ่าโดยถูกยั่วโทษะถึงขนาด และฆ่าโดยประมาทด้วย อัตราโทษอย่างสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต

        การฆ่าโดยไม่เจตนา หลักเกณฑ์ไม่ต่างกับกฎหมายของเรา แต่การฆ่าโดยถูกยั่วโทษะนั้น การยั่วโทษะจะเกิดจากการกระทำหรือคำพูดก็ได้ แต่ต้องถึงขนาดที่ทำให้บุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะตามธรรมดาขาดการยับยั้งชั่วใจตนเอง การวินิจฉัยเหตุยั่วโทษะนี้ เป็นหน้าที่ของลูกขุนที่จะชี้ว่าถึงขนาดหรือไม่ ถ้าไม่ถึงขนาดก็เป็นความผิดฐานฆ่าโดยเจตนาไป

        สำหรับการฆ่าคนโดยประมาทนั้น มีได้ทั้งการละเว้นไม่กระทำการ ตามที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้ เช่น ละทิ้งเด็ก หรือไม่จัดการรักษาความเจ็บไข้ของบุตรตามสมควร และเด็กตายเนื่องจากการละทิ้งหรือเพิกเฉยนั้น และมีได้ทั้งการกระทำสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย หากแต่ทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่น หมอผ่าตัดคนไข้โดยเลินเล่อลืมกรรไกรไว้ในท้องคนไข้ จึงเป็นเหตุให้คนไข้ตายเป็นต้น

        3. ความผิดฐานฆ่าตัวเอง มีโทษเช่นเดียวกับความผิดฐาน Manslaughter ก่อน Homicide Act, 1957 มีโทษถึงประหารชีวิตโดยถือว่าเป็นการฆ่าโดยเจตนาทีเดียว จะอย่างไรก็ดีผู้ที่จะรับโทษความผิดสำเร็จในความผิดฐานนี้ จะมีได้แต่เฉพาะในกรณีที่บุคคลหลายคนคบคิดกันฆ่าตัวตายพร้อมกัน และไม่ตายหมดทุกคน ผู้ที่รอดอยู่เท่านั้น จึงจะมีผิดฐานพยายามฆ่าตัวเอง และผิดฐานเป็นตัวการชั้นสองในความผิดฐานฆ่าตัวเองของคนที่ตายและรับโทษเช่นเดียวกับ Manslaughter ถ้าคนเดียวฆ่าตัวตายและตายไปก็ไม่มีทางลงโทษคนตายได้ ถ้าไม่ตายก็เป็นเพียงพยายาม ซึ่งผิด Misdemeanour เท่านั้น อนึ่งผู้ที่จะผิดฐานนี้ต้องทำไปในขณะที่ตนยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนดีอยู่

        เกี่ยวกับตัวการและสมรู้นั้น ตามกฎหมายอังกฤษ ต่างกับกฎหมายของเรามาก เฉพาะตัวการเขาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ตัวการชั้นหนึ่ง (Principal in the first degree) และตัวการชั้นสอง (Principal in the second degree) ตัวการชั้นหนึ่ง คือผู้ที่ทำผิดโดยตรงหรือให้ผู้อื่นทำแทน โดยผู้อื่นนั้นไม่รู้ว่าตนทำผิด เช่น ก. เอายาพิษใส่ถ้วยน้ำให้ ข. ซึ่งไม่รู้ว่ามียาพิษอยู่ในน้ำไปให้ ค. ดื่ม ตัวการชั้นสองคือผู้ที่มิได้ทำผิดโดยตรง แต่อยู่ในขณะที่มีความผิดเกิดขึ้น และได้ช่วยเหลือตัวการชั้นหนึ่งนั้นด้วย ความผิดตามที่กล่าวนี้จะต้องเป็นความผิด felony เท่านั้น ถ้าเป็นความผิดอย่างอื่น เช่น Misdemeanour ไม่มีผิดฐานเป็นตัวการชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง (อย่างไรเป็นความผิด felony หรือ misdemeanour นั้นกฎหมายบัญญัติไว้เช่นลักทรัพย์เป็น felony ฉ้อโกงหรือยักยอกเป็น Misdemeanour เป็นต้น กล่าวโดยย่อ felony มักจะมีโทษแรงกว่า แต่ไม่เสมอไป และถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่า Misdemeanour)

        ผู้สมรู้ก็แบ่งเป็นผู้สมรู้ก่อนความผิด (Accessory before the fact) และผู้สมรู้หลังความผิด (Accessory before the fact) ผู้สมรู้ก่อนความผิดคือผู้ที่จัดหา แนะนำ สั่งบังคับ หรือยุยงให้ผู้อื่นทำผิด แต่ตัวเองมิได้อยู่ในขณะทำผิดด้วย ผู้สมรู้หลังความผิด คือ ผู้ที่รู้อยู่แล้วว่ามีความผิดเกิดขึ้นและได้รับ ช่วยเหลือ แก่ผู้ทำผิดนั้น ความผิดที่ว่านี้ก็ต้องเป็น felony เช่นกัน

        โดยที่ตัวการต้องรับผิดในความผิดที่เกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นขโมยที่ลักทรัพย์มาแล้วเอาไปขายให้ผู้อื่นจึงต้องมีผิดฐานเป็นตัวการชั้นสอง ในความผิดฐานรับของโจรของบุคคลอื่นนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย

        4. ความผิดฐานฆ่าบุตรขณะยังเป็นทารก (Infanticide) ความผิดฐานนี้ต้องกระทำโดยมารดาของเด็ก (ถ้าทำโดยบิดาก็ผิดฐานฆ่าโดยเจตนา) และเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ทั้งขณะทำผิดหญิงนั้นต้องมีจิตใจไม่ปกติ อันเนื่องมาจากการคลอดบุตรนั้นด้วย โทษของความผิดฐานนี้ ชั้นสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต

        นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานทำลายชีวิตเด็ก และความผิดฐานขับรถชนคนตายอีก ความผิดฐานทำลายชีวิตเด็กนั้นจะต้องเป็นเด็กที่สามารถคลอดมามีชีวิตรอดอยู่ และผู้ทำผิดจะต้องมีเจตนาทำลายชีวิตเด็กนั้น และได้ทำให้เด็กนั้นตายก่อนคลอด อัตราโทษความผิดฐานนี้ถึงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานขับรถชนคนตายนั้น เป็นความผิดเกิดจากขับรถโดยประมาท หรือด้วยความเร็วสูง หรือในลักษณะที่จะเกิดอันตรายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

        ความผิดทางอาญาของอังกฤษ มีบัญญัติไว้กระจัดกระจายตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ เช่น Murder, manslaughter และ suicide รวมอยู่ในพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง Infanticide อีกฉบับหนึ่ง Child destruction อีกฉบับหนึ่งเป็นต้น และมีความผิดอีกมากที่เป็นผิดตามคอมมอนลอว์ (คือขนบธรรมเนียมที่ใช้กันแพร่หลาย และได้รับการยอมรับโดย คำพิพากษาของศาล ซึ่งมีผลบังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเหมือนกัน) ความผิดบางอย่างก็ผิดทั้ง คอมมอนลอว์ และพระราชบัญญัติ เช่น ความผิดฐานจลาจล (Riot) เป็นผิดทั้งตามคอมมอนลอว์ และตาม Riot Act, 1714 ผิดกันแต่ว่าตามคอมมอนลอว์ถือเอาบุคคลตั้งแต่ 3 คน เป็นเกณฑ์ ตามพระราชบัญญัติถือเอาบุคคลตั้งแต่ 12 คนขึ้นไป และต้องมีการอ่าน หรือพยายามที่จะอ่านประกาศของพระราชบัญญัติฉบับนั้นให้ฟังเสียก่อน ผู้ที่ยังมั่วสุมอยู่ภายหลังการอ่านหรือพยายามอ่านหนึ่งชั่วโมงจึงจะมีผิด และอัตราโทษตามพระราชบัญญัติหนักกว่าตามคอมมอนลอร์

        ข้อที่แปลกสำหรับความผิดทางอาญาของอังกฤษ ก็คือ ผู้แพ้คดี (บางประเภท) ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ฝ่ายที่ชนะตามที่ศาลกำหนดอีกด้วย


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย