ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล
        ปัญหาว่า นิติบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเพียงใดหรือไม่นั้น แต่เดิมมานักนิติศาสตร์มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรต้องรับผิด อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรต้องรับผิด เหตุผลโดยละเอียด ท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทย์ ได้อธิบายไว้แล้วในหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 ตอนที่ 1 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สำหรับกฎหมายอังกฤษนั้น แต่เดิมมาถือว่า นิติบุคคลไม่ต้องรับผิดทางอาญา หากมีการกระทำผิดทางอายาโดยเจ้าหน้าที่หรือคนงานของนิติบุคคล ผู้ซึ่งกระทำไปตามคำสั่งของนิติบุคคล เฉพาะเจ้าหน้าที่หรือคนงานผู้กระทำความผิดเท่านั้นที่ต้องรับผิด นิติบุคคลหาต้องรับผิดด้วยไม่ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลที่วา คดีอาญาจำเลยจะต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาล จะให้ผู้อื่นมาแทนมิได้ ต่อมาก็มีเหตุผลสนับสนุนความเห็นนี้อีกว่า นิติบุคคลไม่มีตัวตน ไม่มีเจตนา ฉะนั้นจึงจะมีเจตนาทำผิดอาญามิได้ หรือหากจะฟังว่ามีเจตนาได้โดยถือเอาเจตนาของผู้แทนของนิติบุคคลเป็นเจตนาของนิติบุคคล เจตนาเช่นว่านั้นก็จะต้องอยู่ในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคล แต่การกระทำผิดทางอาญาย่อมอยู่นอกขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลอย่างแน่นอน และยังมีเหตุผลสนับสนุนต่อไปอีกว่า นิติบุคคลไม่มีตัวตน ฉะนั้นจะถูกลงโทษได้อย่างไร

        เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น กิจการค้าและพาณิชย์ได้ดำเนินโดยนิติบุคคลมากขึ้น นักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงมีความเห็นว่า หากยังคงให้นิติบุคคลไม่ต้องรับผิดทางอาญาแล้ว จะเป็นผลเสียหายต่อบ้านเมืองและประชาชนอย่างมาก จึงได้เปลี่ยนความเห็นเป็นว่า นิติบุคคลอาจต้องรับผิดทางอาญาในคดีประเภทที่กฎหมายบัญญัติว่า การละเว้นกระทำการเป็นความผิดทางอาญา (nonfeasant) คดีแรกที่นิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาในความผิดดังกล่าว คือ คดี R.v. Birmingham and Gloucester Ry. Co. (1840) ซึ่งเป็นความผิดฐานละเลยการซ่อมแซมทางหลวง ต่อมาความเห็นก็ก้าวหน้าต่อไปโดยยอมรับว่า แม้ความผิดที่เกิดจากการกระทำ (misfeasant) ไม่ใช่เพียงแต่ความผิดประเภทละเว้นกระทำ นิติบุคคลก็อาจรับผิดทางอาญาได้ คดีที่วินิจฉัยดังกล่าวได้แก่คดี R.v. The Grent North of England Ry. Co. (1846) ซึ่งมีความผิดฐานกีดขวางทางหลวง หลังจากคดีทั้งสองนี้แล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติของอังกฤษก็ได้รับรองความเห็นดังกล่าวโดยได้ออกกฎหมายมาฉบับหนึ่ง คือ Interpretation Act, 1889 บัญญัติว่าในการตีความกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา คำว่า “บุคคล” หากไม่มีข้อความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่นในกฎหมายนั้น ๆ แล้ว ให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลด้วย ต่อมาก็ได้มีการวางหลักไว้ในคดี Mousell Brothers v. London and North Western Ry. Co. (1917) ว่าในคดีอาญาที่บุคคลธรรมดาอาจต้องรับผิดในการกระทำของผู้อื่นได้ เช่นเป็นผู้จ้าง วาน ใช้ นิติบุคคลก็อาจต้องรับผิดในกรณีดังกล่าวได้เช่นกัน คดีนี้เป็นกรณีที่ลูกจ้างของบริษัทจำเลยแจ้งเท็จในการบรรทุกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ถือว่าบริษัทจำเลยต้องรับผิดด้วย จากหลักที่วินิจฉัยในคดีนี้ จึงมีคดีต่อมาว่า นิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาในคดีที่หมิ่นประมาท เพราะคดีหมิ่นประมาทนั้นบุคคลธรรมดาก็ต้องรับผิดในการกระทำของผู้อื่นที่ตนจ้าง วาน ใช้ได้ คดีนี้คือ Triples Safety Glass Co. Ltd. v. Lancegaye Safety Glass Ltd. (1939)

        แต่อย่างไรก็ตามแม้นิติบุคคลอาจต้องรับผิดทางอาญา แต่เนื่องจากนิติบุคคลไม่มีตัวตน ฉะนั้นโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลได้ จึงมีเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ความผิดใดที่มีโทษเฉพาะจำคุกหรือประหารชีวิต ย่อมจะให้นิติบุคคลรับผิดมิได้ หรือความผิดบางอย่างที่มีโทษปรับ แต่ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับการใช้กำลัง เช่น ทำร้ายร่างกาย นิติบุคคลก็ย่อมจะไม่ต้องรับผิดเช่นกัน เพราะขัดกับสภาพของนิติบุคคล กล่าวโดยสรุป ตามแนวคำพิพากษาของศาลอังกฤษและหลักกฎหมายอังกฤษในปัจจุบัน นิติบุคคลย่อมมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่ความผิดซึ่งโดยสภาพจะพึงกระทำได้เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น ความผิดฐานเบิกความเท็จ และความผิดฐานมีคู่สมรสหลายคนในขณะเดียวกัน (bigamy) หรือความผิดซึ่งมีโทษเฉพาะจำคุกหรือประหารชีวิต เช่น ความผิดฐานฆ่าคน ทั้งนี้โดยถือว่าการกระทำและเจตนาของผู้แทนของนิติบุคคลนั้น เป็นการกระทำและเจตนาของนิติบุคคลด้วย

        สำหรับประเทศไทยนั้น นิติบุคคลอาจต้องรับผิดทางอาญาได้ในกรณีดังต่อไปนี้

        1. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติโดยตรงให้นิติบุคคลใดต้องรับผิดทางอาญา นิติบุคคลนั้นก็ย่อมจะต้องรับผิดตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติไว้ เช่น ความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499

        2. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้นิติบุคคลใดต้องรับผิดในการกระทำของผู้อื่นซึ่งนิติบุคคลจะต้องรับผิดชอบ เช่น พระราชบัญญัติสมุดเอกสารแลหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นให้เจ้าของต้องรับผิดในความผิดที่ได้กระทำลงด้วยการโฆษณาสมุด หรือเอกสาร หรือหนังสือพิมพ์ ฉะนั้นบริษัทจำกัดนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ จึงต้องรับผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาทอันเนื่องจากข้อความที่ตีพิมพ์ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 265/2473) หรือตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ยื่นบัญชีแร่ไม่ถูกต้อง ก็มีความผิด แม้ผู้ถือประทานบัตรนั้นจะเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคล และแม้ผู้จัดการของบริษัทจะเป็นผู้ทำบัญชีก็ตาม (คำพิพากษษฎีกาที่ 185/2489)

        3. หากไม่มีกฎหมายบัญญัติโดยตรงให้นิติบุคคลต้องรับผิด หรือต้องรับผิดในการกระทำของผู้อื่นดังกล่าวข้างต้นแล้ว นิติบุคคลจะรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อความผิดทางอาญานั้นได้กระทำไปในการดำเนินงานตามวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ๆ และนิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นแล้ว ทั้งนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1669/2506 และ 584/2508 ซึ่งวินิจฉัยว่า บริษัทนิติบุคคลแม้ไม่สามารถกระทำการทุกอย่างได้เช่นบุคคลธรรมดาก็ตาม แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นไปตามความประสงค์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ และได้รับประโยชน์อันเกิดจากการกระทำนั้นแล้ว ก็ย่อมมีเจตนาในการรับผิดทางอาญาได้ (ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1669/2506 เป็นเรื่องกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำกัด ปลอมและใช้เอกสารปลอมในการส่งแร่ไปต่างประเทศตามวัตถุประสงค์ของบริษัทจำกัด และข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 584/2508 เป็นเรื่องปลอมเอกสารในกิจการของนิติบุคคล) คำพิพากษาฎีกาที่ 59/2507 นิติบุคคลย่อมแสดงความประสงค์จากทางผู้แทน เมื่อผู้แทนออกเช็คโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดร่วมกับผู้แทนของนิติบุคคลด้วย คำพิพากษาฎีกาที่ 1620/2508 พบอาหารกระป่องไม่บริสุทธิ์ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร พ.ศ. 2484 ในร้านค้าของบริษัทจำกัด บริษัทจำกัดต้องมีความผิด คำพิพากษาฎีกาที่ 637/2509 บริษัทจำกัดที่ตั้งที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการอันเป็นกุศลหรือสงเคราะห์ผู้ถือหุ้นอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 และ 889 จะต้องได้รับอนุญาต มิฉะนั้นมีความผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยและผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. 2471 มาตรา 7 และ 8 แต่ถ้าการกระทำความผิดนั้นมิได้กระทำไปในกิจการที่อยู่ในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลแล้ว แม้ผู้แทนของนิติบุคคลกระทำไป ก็หาทำให้นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดด้วยไม่ ผู้แทนของนิติบุคคลเท่านั้นต้องรับผิดทางอาญาเป็นส่วนตัว ทั้งนี้ ดังที่วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1050/2504 ว่า เมื่อบริษัทจำกัดไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย แต่ผู้จัดการไปกระทำกิจการคล้ายการรับประกันภัย อันเป็นความผิดต่อ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยและผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. 2471 บริษัทจำกัดไม่มีความผิด เพราะเป็นการนอกวัตถุที่ประสงค์ แต่ผู้จัดการที่กระทำมีความผิด

        การกระทำผิดทางอาญา ตามปกติผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด หรือมีกฎหมายบัญญัติว่าต้องรับผิด แม้กระทำโดยไม่มีเจตนาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ดังนั้น เมื่อนิติบุคคลแสดงเจตนาเองมิได้ จึงต้องถือเอาเจตนาของผู้แทนของนิติบุคคลซึ่งแสดงออกตามอำนาจหน้าที่และซึ่งอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 75 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเจตนาของนิติบุคคล คำพิพากษาฎีกาที่อธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดตลอดคือ คำพิพากษาฎีกาที่ 787 – 788/2506 ซึ่งได้วินิจฉัยว่า เจตนาของนิติบุคคลย่อมแสดงออกทางผู้แทนของนิติบุคคล ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เมื่อผู้แทนของนิติบุคคลแสดงเจตนาอันใดซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้แทนในทางการของการดำเนินกิจการ ตามวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคล เจตนานั้นก็ผูกพันนิติบุคคล และต้องถือว่าเป็นเจตนาของนิติบุคคลนั้นเอง ฉะนั้นนิติบุคคลจึงอาจมีเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา และกระทำความผิดซึ่งผู้กระทำต้องมีเจตนา รวมทั้งต้องรับโทษทางอาญาเท่าที่ลักษณะแห่งโทษเปิดช่องให้ลงแก่นิติบุคคลได้ ซึ่งทั้งนี้ต้องพิจารณาตามลักษณะความผิด พฤติการณ์แห่งการกระทำและอำนาจหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคล ประกอบกับวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลเป็นราย ๆ ไป (ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นเรื่องผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของนิติบุคคลอื่น ซึ่งได้กระทำไปในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการในทางการค้ายา อันเป็นวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล)

        ตามแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว เป็นเรื่องความผิดที่กระทำโดยเจตนาทั้งสิ้น จึงมีปัญหาว่า ถ้าเป็นความผิดที่กระทำโดยไม่ต้องมีเจตนาก็ดี ความผิดที่กระทำโดยประมาทและมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดก็ดี นิติบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเพียงใดหรือไม่ สำหรับความผิดที่กระทำโดยไม่ต้องมีเจตนานั้น หากการกระทำนั้นเป็นของผู้แทนของนิติบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคล และนิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น นิติบุคคลย่อมจะต้องรับผิดทางอาญาสำหรับการกระทำนั้นอย่างไม่มีปัญหา เพราะการกระทำของผู้แทนของนิติบุคคลดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการกระทำและความประสงค์ของนิติบุคคลตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 แล้ว ส่วนความผิดที่กระทำโดยประมาทนั้น ความประมาทของผู้แทนของนิติบุคคลจะถือว่าเป็นความประสงค์ของนิติบุคคลน่าจะไม่ได้ เพราะการกระทำโดยประมาทนั้นมิใช่การกระทำโดยเจตนาที่ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความประสงค์ของนิติบุคคล

        มีปัญหาต่อไปว่า นิติบุคคลจะรับผิดทางอาญาในฐานะเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ได้หรือไม่ ปัญหานี้อาจตอบได้ว่า บุคคลธะรรมดาต้องรับผิดเป็นผู้ใช้ได้ฉันใด นิติบุคคลก็ต้องรับผิดเป็นผู้ใช้ได้ฉันนั้น หากการใช้นั้นเป็นการกระทำของผู้แทนซึ่งได้กระทำไปภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคล และนิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เห็นว่า แม้แต่ความผิดฐานเบิกความเท็จ นิติบุคคลก็อาจมีความผิดเป็นผู้ใช้ได้ ถ้านิติบุคคลได้ใช้ให้ผู้ใดเบิกความเท็จที่เกี่ยวกับวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคล และนิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการเบิกความเท็จนั้น แม้ว่านิติบุคคลโดยลำพังเอง จะกระทำผิดฐานเบิกความเท็จมิได้ เพราะขัดกับสภาพของนิติบุคคลก็ตาม

        แม้ว่านิติบุคคลอาจต้องรับผิดทางอาญาดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่โทษที่จะลงแก่นิติบุคคลก็มีได้เพียงโทษปรับหรือริบทรัพย์เท่านั้น โทษอื่นที่เกี่ยวกับร่างกายคือประหารชีวิต จำคุก และกักขัง หากอาจลงแก่นิติบุคคลได้ไม่ ฉะนั้นความผิดใดซึ่งมีโทษประหารชีวิต จำคุก หรือกักขังแต่อย่างเดียวแล้ว หาอาจฟ้องนิติบุคคลให้รับผิดในความผิดนั้นได้ไม่

        การดำเนินคดีอาญากับนิติบุคคลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลไปยังพนักงานสอบสวน หรือศาลแล้วแต่กรณี หากผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลขัดขืนหมายเรียก ผู้มีอำนาจออกหมายจับของพนักงานสอบสวน หรือศาล จะออกหมายจับผู้นั้นให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาลก็ได้ แต่จะขัง จำคุก หรือใช้วิธีการปล่อยชั่วคราวแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลมิได้เลย และในการฟ้องนิติบุคคลก็จะต้องระบุชื่อนิติบุคคลโดยระบุว่าผู้ใดเป็นผู้แทนของนิติบุคคลด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้เรียกผู้แทนนั้นไปศาลได้ถูกต้อง


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมุลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย