คำให้การในคดีแพ่ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

คำให้การในคดีแพ่ง


        การจะตั้งประเด็นข้อพิพาทในคดีนั้น จำเลยจะต้องปฏิเสธข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่ปรากฏในคำฟ้อง หากข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างไว้ในฟ้อง จำเลยให้การรับก็ดี หรือมิได้ให้การปฏิเสธก็ดี ย่อมไม่มีประเด็นที่จะให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้จะเห็นได้จากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 ว่า “…….ให้ศาลมีการชี้สองสถานโดยตรวจคำคู่ความที่คู่ความยื่นต่อศาล แล้วฟังคำแถลงที่คู่ความทั้งปวงแถลงเอง หรือแถลงโดยตอบคำถามของศาล แล้วให้ศาลจด ข้ออ้าง ข้อเถียง และคำรับของคู่ความเหล่านั้นเทียบกันดู ถ้ามีปัญหาข้อใด ไม่ว่าปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ให้ศาลจดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท แล้วให้ศาลจดไว้ในรายงานพิจารณาซึ่งประเด็นข้อพิพาททั้งปวง…….”

        ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเขียนคำให้การในคดีแพ่งนั้นมีความสำคัญมิใช่น้อย และเป็นเหตุหนึ่งในการที่จะทำให้ชนะหรือแพ้คดีได้ เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายจ้างของนายคำ และขณะที่นายคำขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลย นายคำได้ขับรถยนต์ชนโจทก์บาดเจ็บ ทั้งนี้เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของนายคำที่ขับรถยนต์เร็ว เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับแซงรถคันอื่นมาโดยมิได้ใช้ความระมัดระวังว่า มีคนเดินข้ามถนนอยู่ในทางข้ามที่ทางราชการกำหนดไว้ เป็นเหตุให้ชนโจทก์ และโจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเพราะขาหัก เป็นเงิน 20,000 บาท จึงขอให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชำระเงินจำนวนนี้ จำเลยให้การเพียงว่า เหตุที่นายคำขับรถยนต์ชนโจทก์ เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง ที่เดินตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิด และค่ารักษาพยาบาลมีไม่มากดังฟ้อง ดังนี้ปัญหาที่ว่านายคำเป็นลูกจ้างของจำเลย และขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยจริงหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดี และศาลฟังตามฟ้องของโจทก์ในปัญหานี้ เรื่องนี้คงมีประเด็นว่า นายคำหรือโจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อ และค่าเสียหายมีเพียงใดเท่านั้น

        การให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์นั้น จำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้ง และอ้างเหตุผลแห่งการปฏิเสธไว้ด้วย ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” การที่บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้จำเลยให้การโดยแจ้งชัดว่า จะรับหรือปฏิเสธฟ้องของโจทก์นั้น ก็เพื่อที่ศาลจะได้กำหนดประเด็นพิพาทได้ถูกต้องว่า คดีนั้นมีประเด็นอย่างใดบ้าง ส่วนที่กฎหมายบัญญัติให้จำเลยให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธด้วยนั้น ก็เพื่อที่จำเลยจะได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบตามเหตุผลนั้นได้ ถ้าจำเลยให้การปฏิเสธเฉย ๆ โดยไม่ให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธ แม้จะมีประเด็นในเรื่องที่ปฏิเสธนั้น แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบในประเด็นนั้น เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วไม่ชำระ จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กู้เงินโจทก์ ดังนี้ แม้จะมีประเด็นว่าจำเลยกู้เงินโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำสืบเสร็จแล้ว จำเลยก็หามีสิทธินำสืบตามข้อต่อสู้นั้นไม่

        การปฏิเสธฟ้องนั้น จำเลยจะต้องให้การไว้โดยชัดแจ้ง จะให้การคลุมเคลือเพียงว่า “ที่โจทก์ฟ้องว่า…….นั้น จำเลยไม่ทราบ” หรือว่า “นอกจากที่จำเลยให้การรับแล้ว ถือว่า จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสิ้น” ดังนี้ ถือมิได้ว่าเป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้ง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นพิพาทแต่อย่างใด ในบางกรณีกฎหมายบังคับว่า จำเลยจะต้องให้การต่อสู้ไว้ มิฉะนั้นศาลจะไม่รับฟังเลยทีเดียว เช่น เรื่องอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193 บัญญัติว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ท่านว่าศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องมิได้” แต่อย่างไรก็ตามการยกอายุความขึ้นต่อสู้นั้น ก็จะต้องอ้างเหตุด้วยว่าขาดอายุความในเรื่องอะไร ถ้าอ้างว่าขาดอายุความในเรื่องหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขาดอายุความอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจำเลยมิได้ยกอายุความในเรื่องนั้นขึ้นต่อสู้เลย ดังนี้ ศาลก็จะหยิบยกอายุความที่ได้ความนั้นขึ้นมาเป็นเหตุยกฟ้องมิได้

        ในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมก็เช่นเดียวกัน จำเลยก็จะต้องให้การต่อสู้ไว้ว่า ฟ้องเคลือบคุลมเพราะเหตุใด จะอ้างลอย ๆ เพียงว่าฟ้องเคลือบคลุมเท่านั้นไม่พอ เพราะถ้าอ้างเพียงเท่านี้ ศาลจะไม่รับวินิจฉัยให้ว่า ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่ให้การว่าฟ้องเคลือบคลุม รวมทั้งเหตุแห่งการเคลือบคลุมไว้แล้ว แม้ความจริงฟ้องจะเคลือบคลุม ศาลก็หยิบยกขึ้นพิจารณามิได้

        ในเรื่องคำให้การชัดแจ้งหรือไม่ชัดแจ้ง และได้อ้างเหตุแห่งการนั้น ตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 812/2486 ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถเป็นปกติธุระของจำเลยที่ 1 ชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายโดยประมาทเลินเล่อ จำเลยให้การว่า การชนเกิดจากความผิดของโจทก์ ไม่ได้ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำการในทางที่จ้าง จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะโต้เถียงในข้อนี้ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อที่มิได้มีประเด็นโต้เถียงนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 218/2488 ในคดีฟ้องหย่า จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นสามีภริยากับจำเลย ไม่ได้ปฏิเสธในเหตุหย่า โจทก์ไม่ต้องนำสืบในเหตุหย่า ศาลรับฟังตามฟ้องได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1556/2497 จำเลยให้การว่าที่โจทก์บรรยายว่า ซื้อห้องพิพาทมานั้น จำเลยไม่ทราบ ถือว่าจำเลยไม่ปฏิเสธ ไม่มีข้อต่อสู้ในข้อนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบ แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1011/2498 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นสินเดิมของโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ เท่ากับจำเลยปฏิเสธ โจทก์ต้องสืบให้สมอ้าง

        สำหรับ คำพิพากษาฎีกาที่ 1556/2497 และ 1011/2498 นี้ผลขัดกัน น่าจะต้องถือคำพิพากษาฎีกาฉบับสุดท้ายว่าทับคำพิพากษาฎีกาฉบับเดิมแล้ว แต่ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัว การให้การว่า “ไม่ทราบ” นั้น ไม่น่าจะถือว่าได้ปฏิเสธฟ้องโดยชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177

        คำพิพากษาฎีกาที่ 349/2500 จำเลยยกอายุความได้ทรัพย์ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขึ้นต่อสู้ ศาลจะยกอายุความเรื่องฝากทรัพย์มาใช้ไม่ได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ 955/2508 ให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่สามารถเข้าใจสภาพแห่งข้อหาได้ มิได้ให้การว่าไม่สามารถเข้าใจสภาพแห่งข้อหา ข้อไหน คำไหน อย่างไร ดังนี้ถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่มีประเด็น

        คำพิพากษาฎีกาที่ 231 – 232 / 2509 ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น จำเลยไม่มีประเด็นสืบ เพราะมิได้ให้การว่าไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายด้วยเหตุอย่างไร

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1141 – 1157 / 2509 ให้การว่านอกจากจำเลยให้การรับโดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยขอปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น เป็นคำปฏิเสธไม่ชัดแจ้งว่าปฏิเสธในเรื่องใด อย่างใด

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1196/2511 ให้การว่า “นอกจากที่ให้การต่อไปนี้ ขอให้ถือว่าปฏิเสธฟ้อง” เป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ฉะนั้น เมื่อจำเลยมิได้ให้การถึงฟ้องข้อใดไว้จึงถือว่าไม่ปฏิเสธ โจทก์ไม่ต้องนำสืบฟ้องข้อนั้น

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1310/2520 โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ศาลอนุญาตแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธฟ้องเพิ่มเติม ถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมุลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย