ค่ารักษาพยาบาลกับศพ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW


ค่ารักษาพยาบาลกับศพ


        เราอาจเคยได้ยินคำบอกเล่ากันมาว่า ถ้าไม่จ่ายค่ารักษาที่ติดค้างสถานพยาบาล เขาจักยึดศพไว้ทำให้ญาติคนตายต้องเร่งรีบหาเงินมาจ่ายคืนหนี้เพื่อนำศพไปทำพิธีทางศาสนาของตน ปัญหาคาใจ คือ สถานพยาบาลมีสิทธิ์ยึดศพได้หรือ ? ด้านศีลธรรมหรือกฎหมายเป็นสิ่งควรทำหรือ ?


        หลักกฎหมายเรื่องสิทธิยึดหน่วงซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด ตามหลักดังกล่าว หากมีหนี้ค้างที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่อยู่กับเจ้าหนี้ ย่อมมีสิทธิ์ยึดหน่วงทรัพย์ชิ้นนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น อู่ซ่อมรถมีสิทธิยึดหน่วงรถของลูกค้าที่ติดค้างหนี้ค่าซ่อมรถคันนั้นและยังอยู่ในอู่ของตนจนกว่าเจ้าของรถจะชำระเงินครบถ้วน จะตามไปยึดรถคันอื่นหรือทรัพย์อื่นของเขามิได้ เป็นต้น เมื่อกฎหมายถือว่า ศพคนตาย เป็นทรัพย์สิน การยึดศพเพื่อเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลไม่อาจทำได้ เพราะการยึดหน่วงทรัพย์สินจักเกิดขึ้นได้เมื่อมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ซึ่งในที่นี้ คือ ศพ แต่ค่ารักษาพยาบาลคนเป็นหรือผู้มีชีวิต มิใช่หนี้อันเป็นคุณต่อทรัพย์สิน คือ ศพ เลย จึงยึดศพแลกค่ารักษาพยาบาลคนมีชีวิตไม่ได้ ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงอาจเป็นการทำละเมิดต่อทายาทคนตายได้ สถานพยาบาลควรใช้สิทธิทางศาลฟ้องเรียกหนี้ค่ารักษาพยาบาลกับทายาทของคนตาย จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง


        ด้านศีลธรรมจรรยาบรรณแล้ว สถานพยาบาลไม่สมควรอย่างยิ่งในการยึดศพคนไข้ไว้โดยควรใช้หลักเมตตาธรรมแล้วเลือกใช้สิทธิทางกฎหมายแทน จักเป็นการเหมาะสมที่สุด


        หากพบเห็นการยึดศพแลกค่ารักษาพยาบาล เราควรแจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาลงโทษสถานพยาบาลซึ่งด้อยจรรยาบรรณเหล่านั้น เพราะสถานพยาบาลมิใช่กิจการค้ากำไรอย่างเดียว ยังต้องมีคุณธรรมต่อผู้ใช้บริการ คนไข้ หรือ ศพ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย