วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW

ค่าไถ่มือถือ


        ปัจจุบันนี้การติดต่อสื่อสารทำได้สะดวกและกว้างไกลโดยอาศัยโทรศัพท์มือถือเท่านั้น นอกจากนั้นยังสามารถบันทึกข้อมูลหรือใช้งานได้หลากหลายด้วย มันจึงมีความสำคัญต่อเจ้าของมากขึ้น บางคนยอมจ่ายเงินหลายหมื่นบาทเพื่อซื้อมือถือที่มีประสิทธิภาพสูง หากมือถือถูกขโมยไปย่อมเกิดความเสียดายเป็นที่สุด คนร้ายจึงอาศัยความรู้สึกนี้เพื่อข่มขู่เจ้าของให้นำเงินไปแลกมือถือคืน ระยะหลังจึงมีข่าวการเรียกค่าไถ่มือถือให้ได้ยินเป็นระยะซึ่งตำรวจจับกุมคนร้ายได้บางส่วน อีกหลายส่วนผู้เสียหายมิได้แจ้งความ จึงไม่อยู่ในฐานข้อมูลซึ่งจักแสดงว่ามีการใช้วิธีนี้แพร่หลายเพียงใด


        กรณีศึกษาเกี่ยวกับการเรียกค่าไถ่มือถือโดยคนร้ายหรือเจ้าของร้านรับซื้อมือถือเคยมีการเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาล มันจะเป็นเรื่องเตือนใจว่า การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดและต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ดังปรากฏใน คำพิพากษาฎีกาที่ 1484/2549 นายสุระ เป็นเจ้าของร้านรับซื้อมือถือจากคนร้ายที่ลักทรัพย์ แล้วนำไปขู่เข็ญผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของมือถือเครื่องนั้นให้นำเงิน 5500 บาทไปมอบให้เพื่อเป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ หากไม่นำเงินมาให้จักไม่ได้รับโทรศัพท์คืนและจะนำไปขายให้บุคคลอื่น การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญอันทำให้เจ้าของมือถือเกิดความกลัวและยินยอมนำเงินไปให้นายสุระ ต่อมาตำรวจจึงจับกุมผู้ขู่เข็ญ พฤติกรรมของนายสุระเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ต้องรับโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือ ยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท


        นอกเหนือจากความผิดฐานกรรโชกแล้ว เจ้าของร้านรับซื้อมือถือจากคนร้ายที่ลักทรัพย์ ยังมีความผิดทางอาญาฐานรับของโจรอีกกระทงหนึ่ง แต่กรณีศึกษาข้างต้นฟ้องข้อหากรรโชกทรัพย์เท่านั้น จึงไม่มีการพิพากษาคดีจำคุกในคดีรับของโจรด้วย ดังนั้น การรับซื้อสิ่งของจากการกระทำผิดกฎหมายอาจทำให้เจ้าของต้องรับโทษจำคุกในสองฐานความผิดได้ จึงต้องทำงานอย่างรอบคอบ เจ้าของร้านรับซื้อของทุกชนิดควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า องค์ประกอบความผิดคดีรับของโจรต้องการเพียงที่มาของทรัพย์ต้องเกิดจากความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง เป็นต้น และมีผู้รับซื้อมันไว้ โดย


        ไม่จำเป็นที่ผู้รับซื้อจะต้องทราบเบื้องหลังของทรัพย์นั้นก่อนผู้รับซื้อจึงพบความเสี่ยงต่อความผิดประเภทนี้ง่ายมาก

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย