จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทความเรื่อง "จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต"

จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต


        ดังที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นในบทความเรื่อง "๕๐ ปี การประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘" (ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๘ หน้า ๖๔-๘๐) ความทรงจำหรือข้ออ้างของจอมพล ป. ที่ว่า เขาได้พยายามช่วยชีวิตจำเลยคดีสวรรคตทั้ง ๓ ด้วยการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ถึง ๓ ครั้งนั้น ไม่เป็นความจริง

        อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้พบข้อมูลเล็กๆน่าสนใจชิ้นหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับการประหารชีวิตจำเลยในคดีสวรรคตทั้ง ๓ โดยตรง แต่ก็อาจจะมีนัยยะที่พาดพิงถึงกันได้ นั่นคือ ในปลายปี ๒๔๙๓ ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง จอมพล ป. ได้เสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต น่าเสียดายว่า ช่วงนั้น คณะรัฐมนตรีไม่มีการจัดทำรายงานการประชุมโดยละเอียด มีเพียง "หัวข้อการประชุม" ซึ่งสรุปประเด็นที่พิจารณาและมติอย่างสั้นๆ ดังนี้

         เรื่อง โทษประหารชีวิต (ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด ควรจะได้เลิกเสีย จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับหลักการออกกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ)


มติ ให้ส่งกระทรวงยุติธรรมพิจารณา.

        ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า การที่จอมพลเสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตนี้ ด้วยเหตุผลอะไร เท่าที่ผู้เขียนทราบ เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ทั้งในที่สาธารณะและในเอกสารภายในของรัฐบาล ทั้งในเวลานั้นและเวลาต่อมา และเป็นไปได้ว่า ขณะที่เขาเสนอ เขาอาจคิดถึงการลงโทษสำหรับคดีอาญาทั่วๆไป ไม่ได้คิดถึงคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ

        แต่ที่ชวนให้สะดุดใจก็คือ สำหรับคดีการเมือง ขณะนั้นคดีที่จำเลยต้องเผชิญกับโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ก็มีเพียงคดีสวรรคตเท่านั้น (คดีกบฏอย่างกบฏเสนาธิการ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ และกบฏวังหลวง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อมีการดำเนินคดีก็ไม่ถึงขั้นเสนอโทษประหารชีวิต รวมทั้งกบฏแมนฮัตตัน ๒๔๙๔ หรือกบฏ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ในเวลาต่อมาด้วย)

        ในปี ๒๔๙๓ คดีสวรรคตยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาสชั้นต้น จอมพลเองได้ขึ้นเป็นพยานโจทก์ในปีนั้นด้วยซ้ำ ดังนั้น คงยากที่เขาจะลืมหรือไม่คิดถึงนัยยะของการเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีสวรรคตเสียเลย แต่ในทางกลับกัน ขณะนั้นจอมพลก็ไม่เคยมีท่าทีไปในทางที่ตีความได้ว่าเป็นห่วงต่อจำเลยในคดีสวรรคต คำให้การต่อศาลของเขา ตามรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ ออกมาในลักษณะที่ปรักปรำฝ่ายจำเลยโดยอ้อม (ต่อปรีดีมากกว่าต่อตัว ๓ จำเลย)

        ผู้เขียนไม่มีหลักฐานว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้นแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้นำเรื่องโทษประหารชีวิตไปพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หรือคณะรัฐมนตรีเองได้นำเรื่องนี้กลับเข้าพิจารณาอีกหรือไม่ หรือมีมติในที่สุดอย่างไร ปัจจุบันรายงาน (หรือหัวข้อ) การประชุมคณะรัฐมนตรีของปี ๒๔๙๔ และ ๒๔๙๕ ตลอดทั้ง ๒๔ เดือน ได้หายไปจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในระหว่างเวลานั้นยังมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนรัฐบาลอีกด้วย

        แต่ที่แน่นอนคือ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๔ ให้ประหารชีวิต ชิต สิงหเสนี และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ให้ประหารชิต และบุศย์ ปัทมศริน นั่นคือ ถึงปลายปี ๒๔๙๖ หรือ ๒ ปีหลังการประชุมครม.ดังกล่าว โทษประหารชีวิตก็ยังคงมีอยู่

        แต่ในต้นปี ๒๔๙๗ ได้มีการหยิบยกปัญหาโทษประหารชีวิตขึ้นมาพิจารณาในคณะรัฐมนตรีอีก ที่น่าสนใจคือ การหยิบยกครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับในหลวง ในประเด็นที่ว่าควรมีการให้อภัยลดโทษประหารชีวิตแก่นักโทษบางรายหรือไม่ หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ดังนี้ (ขีดเส้นใต้เน้นความของผู้เขียน)          (ข้อความขีดเส้นใต้) เรื่อง โทษประหารชีวิต และเรื่องนักโทษเด็ดขาดชาย ชด พุ่มไสว และนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสือหัวย่าน ขอพระราชทานอภัยลดโทษ (ข้อความขีดเส้นใต้) (เนื่องจากราชเลขาธิการแจ้งว่า ตามที่กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายชด พุ่มไหว ซึ่งต้องโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กำหนดโทษประหารชีวิต และนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสือหัวย่าน ต้องโทษฐานชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย กำหนดโทษประหารชีวิต ลดลงเป็นจำคุกตลอดชีวิตทั้งสองรายนั้น

        ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสว่า เหตุผลที่อ้างมาเพื่อขอพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดชายทั้งสองรายนี้ ดูยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลได้ กฎหมายเรื่องการลงโทษประหารชีวิตก็ได้มีมาในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานและสืบต่อเนื่องมาจนบัดนี้ เมื่อมีกฎหมายบังคับอยู่ ถ้าจะลดหย่อนผ่อนโทษตามเหตุผลที่อ้างมานี้ ก็จะกระทบกระเทือนระดับการวางโทษของศาล

        อนึ่ง ในเรื่องนี้ได้มีพระราชกระแสใคร่ทรงทราบข้อนโยบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตเพื่อประกอบพระราชดำริอีกด้วย

        ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า (ข้อความขีดเส้นใต้) นโยบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตก็ไม่มีอะไรนอกจากว่าใคร่ขอให้เลิกโทษประหารชีวิต (ข้อความขีดเส้นใต้) และได้ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำอธิบายนโยบายในเรื่องนี้ประกอบด้วยตัวอย่างซึ่งมีในต่างประเทศ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำบันทึกเรื่องโทษประหารชีวิตเสร็จแล้วเสนอมา

        คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า โทษประหารชีวิตนั้นในหลักการยังไม่สมควรยกเลิกกฎหมายขณะนี้ แต่ได้มีนโยบายว่า ในเวลาปรกติจะไม่ลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่มีความรู้น้อยและโฉดเขลาเบาปัญญา จึงได้ขอพระราชทานอภัยลดโทษเป็นการแปลงโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และการลงโทษเบาลงนั้นก็เป็นการเมตตาในทางมนุษยธรรม ซึ่งฝ่ายตุลาการก็คงจะเป็นที่ชื่นชมยินดี

        อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีเห็นว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ พระองค์ทรงเจริญพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เป็นนิจ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระมหากรุณามา หากจะทรงโปรดวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็เป็นพระราชอำนาจ

        สำหรับเรื่องนี้ ก็สุดแต่จะทรงพระมหากรุณา รัฐบาลก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์)


มติ เห็นชอบด้วย ให้นำความกราบบังคมทูลต่อไป


        น่าสังเกตว่า ถ้าบันทึกการประชุมอย่างย่อๆนี้ถูกต้อง ตัวจอมพล ป.เอง พูดถึงความเห็นของเขาต่อโทษประหารชีวิตในลักษณะทั่วไปครอบคลุมหมด ไม่มีข้อยกเว้น (ดูประโยคที่ผู้เขียนขีดเส้นใต้) แม้ว่าคณะรัฐมนตรีของเขาดูเหมือนจะไม่คิดไปไกลเท่าเขา (ดูย่อหน้าถัดมา) ถ้าจอมพลมีความเห็นเช่นนั้นจริงๆ ถึงจุดนั้น (มกราคม ๒๔๙๗) คงยากที่พูดว่าเขาไม่คิดถึงกรณีสวรรคตด้วยเลย (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เราไม่อาจสรุปได้เด็ดขาดจากหลักฐานที่มีอยู่)

        เดือนเศษต่อมา ในหลวงทรงให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสตอบรัฐบาลในเรื่องนี้ ขอให้สังเกตภาษาที่ทรงใช้ ผู้เขียนคิดว่า ไม่เป็นปัญหาเลยว่าข้อความของรัฐบาลประเภท "คณะรัฐมนตรีเห็นว่า พระมหากษัตริย์...ทรงเจริญพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เป็นนิจ..." ไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยนัก ดูเหมือนจะทรงอ่านในลักษณะที่ตรงข้ามกับความหมายตามตัวอักษรของข้อความเลยทีเดียว:

         (ข้อความขีดเส้นใต้) เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ (โทษประหารชีวิต) (ข้อความขีดเส้นใต้) (ราชเลขาธิการได้เชิญพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษมาว่า พระองค์ใช่ว่าจะมีพระราชหฤทัยเหี้ยมโหด ไม่มีความเมตตาปราณีแก่เพื่อนมนุษย์ และมีพระราชประสงค์จะให้ประหารชีวิตคนก็หาไม่ ที่ได้ทรงทักท้วงไปก็เพราะทรงเห็นว่าเรื่องควรจะได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบและโดยมีเหตุผลจริงๆ เพื่อการได้ดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายไม่เสียระดับเป็นการรั้งเหนี่ยวมิให้เกิดอาชญากรรมอันอุกฤษฎ์ดังนี้มากขึ้น

        อย่างไรก็ดี เมื่อทางรัฐบาลได้กราบบังคมทูลนโยบายในเรื่องนี้ขึ้นมา และทั้งยังยืนยันขอให้พระราชทานอภัยโทษจากโทษประหารชีวิต เป็นทางแผ่พระราชเมตตาโดยอ้างว่านักโทษทั้ง 3 นี้ กระทำความผิดไปโดยโฉดเขลาเบาปัญญาฉะนี้แล้ว ก็ทรงพร้อมที่จะพระราชทานอภัยโทษลดลง ตามที่เสนอขอพระมหากรุณามาเท่าที่อยู่ในพระราชอำนาจจะทรงทำได้ โดยเฉพาะนักโทษเด็ดขาดชาย ขาวทองคำ ก็เป็นอันทรงพระมหากรุณาให้ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนักโทษเด็ดขาดชาย ชด พุ่มไหว กับนักโทษเด็ดขาดชาย เลี้ยน เสียหัวย่าน นั้นข้องพระราชหฤทัยว่า จะไม่อยู่ในพระราชอำนาจที่จะทรงสั่งการพระราชทานอภัยลดโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ เพราะผ่านพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ทรงเกรงว่าถ้าทรงสั่งไปจะเป็นการขัดกับบทกฎหมายนั้น

        คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า บทกฎหมายเกี่ยวแก่เรื่องนี้ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 262 ตามบทกฎหมายนี้เห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเวลาไว้ว่า ให้นำตัวไปประหารชีวิตได้เมื่อใด มิใช่เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ฉะนั้นเมื่อยังมิได้มีการนำตัวไปประหารชีวิตเมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ก็ยังพระราชทานอภัยโทษให้ได้อยู่ ไม่ขัดต่อกฎหมายเพราะความประสงค์ของมาตรา 262 นี้ เป็นแต่ให้อำนาจฝ่ายบริหารที่จะนำตัวไปประหารชีวิตได้ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่มีพระบรมราชโองการมาภายในเวลาที่กำหนด

        สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลกำลังติดต่อกับพระมหากษัตริย์และรอฟังพระบรมราชวินิจฉัยอยู่ จึงยังมิได้นำตัวไปประหารชีวิต เมื่อมาตรา 262 ไม่บังคับให้ต้องนำตัวไปประหารชีวิตเมื่อพ้นหกสิบวัน เป็นแต่อนุญาตให้นำตัวไปประหารชีวิตได้ จึงยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษได้)


มติ ให้นำความกราบบังคมทูลไปตามนัยดังกล่าวนี้

        อนึ่ง ให้ถือเป็นหลักการว่านักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษประหารชีวิตนั้น ให้ขอพระราชทานอภัยลดโทษลงเป็นตลอดชีวิต และให้ถือหลักว่า ไม่มีการลดโทษให้อีกในทุกกรณี และในทางนโยบายนั้นยังไม่ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยโทษประหารชีวิต.

        จะเห็นว่า ตามมตินี้ คณะรัฐมนตรี "ถือเป็นหลักการ" ว่า โทษประหารชีวิตให้ขอพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงปลายปีนั้นที่มีการพิจารณาฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของจำเลยคดีสวรรคต คณะรัฐมนตรีจึงอ้างได้ว่า "เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้" (ผู้เขียนไม่เคยเห็นบันทึกการพิจารณา "เห็นชอบด้วย" ของคณะรัฐมนตรีต่อ "หลักการของกระทรวงมหาดไทย" ที่ว่านี้)

        ในส่วนของราชสำนักนั้น ผู้เขียนคิดว่า กรณีนี้ทำให้เราทราบว่า ในหลวงทรงให้ความสนพระทัย และทรงพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในฎีกาขอพระราชทานอภัยลดโทษประหารชีวิต แม้ในคดีอาญาธรรมดา

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทความเรื่อง "จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต"

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย