จิตเภทกับความอ่อนแอของสังคมไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

จิตเภทกับความอ่อนแอของสังคมไทย


        ข่าวคุณจิตรลดา ทำร้ายเด็กที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา และอีกสารพัดเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจต่อความรู้สึกของประชาชนโดยทั่วไป ล้วนแล้วแต่ถูกนำไปตั้งเป็นคำถามในแวดวงสนทนาตามสถานที่ต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้กระทั่งวิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ มีการตั้งกระทู้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น ยุคสมัยนี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยของเรา ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากคนส่วนใหญ่มักจะพูดว่าเกิดจากความเครียดซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางสังคมขึ้น ล่าสุดคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมนี้ต้องตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ กรณีคุณจิตรลดาซึ่งถูกกล่าวหาว่าเธอเป็นโรคจิต ในทางสุขภาพจิตแล้ว เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย เพราะเกิดจากความหวาดระแวง กลัวคนจะมาทำร้ายตน ผู้เขียน ตระหนักดีว่า ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมของเรากำลังตกอยู่ในภาวะจิตใจว้าวุ่น สับสน วิตกกังวล หวาดระแวงไปหมด จนบางครั้งทำให้บุคลิกภาพของคนเราทุกวันนี้ดูยุ่งเหยิงไปหมด อย่างกรณีคุณจิตรลดาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทางกรมสุขภาพจิตเป็นห่วงว่าอันที่จริงผู้ป่วยโรคจิตเภทมีจำนวนมากทั่วประเทศโดยประมาณ 6 แสนกว่าคน และโอกาสที่จะทำการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ให้หายขาดได้มีไม่ถึง 10% ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยซึ่งต้องถือเรื่องสำคัญที่จะต้องแสวงหาหนทางแก้ไขเยียวยาโดยเร่งด่วน

        อนึ่ง ต้นตอขอปัญหาต่างๆ เกิดจากคนไทยทุกวันนี้ มีชีวิตอยู่บนความไม่มั่นคงทางจิตใจ ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่บนความสะดวกสบายมากเกินไป โดยการอาศัยเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต โดยละเลยต่อจิตสำนึกร่วมสาธารณะต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม อันได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิตเภท อย่างไรก็ดี กรณีของคุณจิตรลดานั้น ในที่สุดจะมีคนกลุ่มหนึ่งเพียงคิดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า จะต้องเอาคุณจิตรลดามาลงโทษอย่างสาสม อย่าให้ออกมาทำร้ายสังคมอีก นั้นเป็นเพียงความสะใจมากกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะมีส่วนช่วยปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนในสังคมต้องหันมาทบทวนว่าเดี๋ยวนี้จิตใจของคนในสังคมไทยถูกครอบงำด้วยอารมณ์มากจนเกินไป

        เมื่อหันมามองในแง่ของกฎหมายแล้วเห็นว่า กฎหมายที่จะนำมาปรับใช้กรณีคุณจิตรลดานั้น ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 กำหนดว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น จะเห็นได้ว่า กฎหมายเขียนไว้ในกรณีคนที่กระทำความผิดอันเนื่องจากเหตุโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนให้ไม่ต้องรับโทษ สำหรับความผิดที่กระทำลง ดังนั้น การที่ทางกรมสุขภาพจิตออกมาระบุว่าคุณจิตรลดาเป็นโรคจิตเภท ซึ่งถือว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่พบมาก ก็นับได้ว่าเป็นข้อยกเว้น ถ้าผลพิสูจน์ออกมาเป็นเช่นนั้นจริง แต่ถ้าผลปรากฏว่า คุณจิตรลดายังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง คุณจิตรลดาก็ยังคงต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่ แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ซึ่งมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5058/2531 เป็นกรณีจำเลยเป็นโรคจิตชนิดจิตเภทเรื้อรัง ศาลฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะที่จิตบกพร่อง หรือเป็นโรคจิต แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบ หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยทำนองเดียวกันอีก เช่น ฎีกาที่ 3024/2525, 776/2537 เป็นต้น

        สุดท้าย ผู้เขียนขอแสดงทัศนะว่า ไม่ใช่ว่า เมื่อคุณจิตรลดาเป็นโรคจิตแล้วจะไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่หากศาลพิจารณาว่าป่วยมาก ก็จะให้เข้ารับการรักษาโดยที่การรักษายังอยู่ภายใต้ขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ในส่วนกระแสของสังคมที่เรียกร้องให้ลงโทษคุณจิตรลดาผู้ต้องหานั้นจะทำได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของจิตแพทย์ที่ติดตามพฤติกรรม ดังนั้น เราไม่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะปล่อยให้ผ่านไป โดยไม่คิดว่าจะช่วยกันลดปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพราะนี่คือการป่วยของคนซึ่งถ้าป่วยกันมากๆ ย่อมเท่ากับปล่อยให้สังคมอาการหนัก อย่าปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นโดยอารมณ์หรือเพียงเพราะความสะใจเท่านั้น เพราะนั่นอาจเป็นฆาตกรรมทางสังคมโดยไม่ทันได้รู้ตัว จากกรณีดังกล่าวนี้ทุกภาคส่วนของสังคมต้องเริ่มตระหนักในเรื่องการป่วยทางจิตและคิดหาหนทางแก้ไขกันดีกว่า


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย