ดอกเบี้ยต้องห้าม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW

ดอกเบี้ยต้องห้าม


         หลายท่านอาจเคยมีประสบการเรื่องขัดสนทางการเงินจนกระทั่งต้องพึ่งพาเจ้าหนี้มาแล้ว จักทราบได้ว่าเจ้าหนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งบุคคลธรรมดาหรือสถาบันการเงินต่างๆ เจ้าหนี้แต่ละแบบจะมีกฎหมายดูแลและวางกรอบควบคุมไว้ต่างฉบับกัน ดังนั้น จึงสังเกตเห็นว่า สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ย เกินร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นกฎเกณฑ์ใช้บังคับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาได้ นั่นเกิดจากใช้กฎหมายคนละฉบับ ครั้งนี้จักกล่าวถึงโทษของเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและสภาพของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายเกินไปว่า จะฟ้องเรียกคืนได้ไหม

         พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 5 บัญญัติว่า “บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” กฎหมายฉบับนี้ใช้ควบคุมการกู้ยืมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงิน ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ชอบด้วยกฎหมายในปัจจุบันนี้ คือ ร้อยละ 15 ต่อปี หากเจ้าหนี้คนใดเรียกเกินอัตราดังกล่าว จะทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่อาจเรียกได้ แต่มิได้ทำให้หนี้เงินกู้ระงับไปด้วย

         แม้สังคมจะมีการใช้กฎหมายกำหนดห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานานเพียงใด ก็ยังมีเจ้าหนี้หลายคนทำเลี่ยงเสมอ บางครั้งลูกหนี้ จำใจต้องรับข้อเสนอดอกเบี้ยสูงเกินอัตราด้วยความจำเป็นส่วนตัว จนกระทั่งมีข้อพิพาทถึงศาลหลังจากทนบีบคั้นหนักในการทวงหนี้ไม่ได้ โดยมีคำพิพากษาฎีกาซึ่งมาจากกรณีพิพาทของเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจก่อนก่อหนี้และโทษของการเรียกดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ดังตัวอย่างคำตัดสินของศาลที่นำมาเสนออันได้แก่

         คำพิพากาฎีกาที่ 1452/2511 โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ 14000 บาท จำเลยรับว่ากู้จริงเพียง 10000 บาท และชำระแล้ว ส่วนเงิน 4000 บาท เป็นดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนรวม 8 เดือนมารวมเป็นเงินต้นที่กู้ยืม ถือเป็นคำให้การต่อสู้ว่า หนี้ตามสัญญาจำนวน 4000 บาท ไม่สมบูรณ์ จำเลยมีสิทธินำสืบพยานบุคคลพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ เมื่อเป็นดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยชำระต้นเงินแท้จริงแล้ว หนี้จึงระงับสิ้นไป

         คำพิพากษาฎีกาที่ 4690/2540 จำเลยรู้และยินยอมให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยเกินอัตรารวมกับต้นเงิน ถือเป็นนิติกรรมมุ่งผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย สัญญากู้และจำนองมีผลบังคับใช้ได้ หาเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่ เฉพาะดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและนำไปคำนวณเป็นเงินต้น ถือเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ

         คำพิพากษาฎีกาที่ 3864/2524 จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจของลูกหนี้ จะเรียกคืนหรือนำไปหักจากต้นเงินไม่ได้ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่”

         หลักกฎหมายและคำตัดสินดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อพิพาทระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งน่าจะทำให้เห็นผลของการละเมิดกฎหมายชัดเจนขึ้น ขอให้ระลึกด้วยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกคืนหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายและอัตราดอกเบี้ยอันเป็นผลประโยชน์ที่กฎหมายยอมให้เรียกได้ จึงควรปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายเพื่อรับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรม แม้แต่การทวงหนี้ก็ต้องไม่ละเมิดกฎหมายด้วย เช่น การข่มขู่หรือทำร้าย เป็นต้น มันอาจทำให้เจ้าหนี้ต้องรับโทษอาญา ย่อมไม่คุ้มค่ากันหากเทียบระหว่างหนี้เงินกับอิสรภาพส่วนตัวของเจ้าหนี้แน่ ส่วนลูกหนี้ต้องสำนึกด้วยว่า ยามเดือดร้อนขัดสนเงินทอง จึงไปพึ่งพาเจ้าหนี้ ดังนั้น ไม่ควรคิดหลบหนีหรือโกงเจ้าหนี้เลย แต่ต้องรู้จักสิทธิของตนที่จะไม่ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบเกินเหตุหรือยอมให้อีกฝ่ายทำละเมิดกฎหมายตามใจชอบ ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะศาลจะคุ้มครองลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่สุจริตเท่านั้น ขอให้พึงตระหนักในใจด้วยว่า สังคมจักสงบสุขได้ หากทุกคนปฏิบัติตนภายใต้กรอบของกฎหมายและมีความสุจริตใจต่อกันเป็นพื้นฐาน


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com เขียนโดย ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย