ทายาทแห่งกองมรดก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com โดย คุณ ลีลา LAW

ทายาทแห่งกองมรดก


        เมื่อบุคคลใดตาย มรดกจักตกทอดแก่ทายาททันทีตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก หลายคนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมรดกของผู้ตายว่า หมายถึงทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนตายเท่านั้นอันที่จริงแล้วหลักกฎหมายกำหนดชัดว่า กองมรดกได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆด้วย จึงหมายความว่าทายาทองผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สิน แต่เพื่อความเป็นธรรมกฎหมายจึงมีขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา เช่น ทายาทรับที่ดินมรดกมูลค่า 1 ล้านบาทและหนี้สินจำนวน 1.5 ล้านบาท เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากทายาทได้เพียงเท่ามูลค่าของที่ดิน คือ 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ หรือ เจ้ามรดกไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่เลย เหลือเพียงหนี้สินอย่างเดียว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ทวงหนี้จากทายาทซึ่งไม่ได้รับทรัพย์สินจากกองมรดก เป็นต้น


        กฎหมายมรดกยังแบ่งทายาทแห่งกองมรดกไว้สองแบบ คือ ทายาทโดยธรรม กับ ทายาทตามพินัยกรรม ซึ่งมีที่มาและข้อกำหนดรับมรดกแตกต่างกัน กรณีที่ผู้ตายหรือเจ้ามรดกมีเจตนาแตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ย่อมมีอำนาจแบ่งสัดส่วนในมรดกได้เองโดยพินัยกรรม หากเขามิได้ทำพินัยกรรม การแบ่งมรดกต้องเป็นไปตามกฎหมายมรดกเท่านั้น


        ทายาทประเภทแรกคือ ทายาทโดยธรรมซึ่งกฎหมายจัดลำดับชั้นไว้โดยคำนึงถึงประเพณีทางสังคมและความเกี่ยวพันทางสายเลือดกับเจ้ามรดกเป็นหลัก ดังนี้

        1.ผู้สืบสันดาน

        2. บิดามารดา

        3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

        4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

        5. ปู่ ย่า ตา ยาย

        6. ลุง ป้า น้า อา


        นอกจากนั้นกฎหมายยังกำหนดให้คู่สมรสที่มีทะเบียนถูกต้อง ถือเป็นทายาทโดยธรรมเป็นกรณีพิเศษ เมื่อมีการแบ่งมรดกต้องจัดให้คู่สมรสอยู่ในลำดับเดียวกับผู้สืบสันดานด้วย


        การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรมมีหลักโดยสังเขป คือ ถ้ามีทายาทลำดับต้นแล้ว พวกที่อยู่ถัดไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกเลย ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีลูกซึ่งถือเป็นทายาทลำดับที่ 1 คือ ผู้สืบสันดาน ย่อมทำให้พี่น้อง ปู่ย่า ลุงป้าน้าอา ของคนตายหมดสิทธิ์รับมรดกอย่างเด็ดขาด เป็นต้น แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นเพื่อส่งเสริมความกตัญญูต่อบุพการีของเจ้ามรดก โดยกำหนดว่าถ้ามีผู้สืบสันดานรับมรดกแล้ว ห้ามตัดสิทธิ์การแบ่งมรดกแก่บิดามารดาเจ้ามรดกซึ่งต้องมีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดกกันด้วย โดยให้ถือว่ามีส่วนแบ่งเท่ากับทายาทชั้นบุตร แม้ว่าลำดับของบิดามารดาจะอยู่ที่สองก็ตาม


        แม้จะมีการจัดลำดับทายาทโดยธรรมแล้ว กฎหมายมรดกยังกำหนดสัดส่วนที่คู่สมรสพึงได้รับร่วมกับทายาทลำดับต่างๆด้วย เช่น เจ้ามรดกมีลูก ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 1 คู่สมรสจะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับพวกเขา ถ้ามีแต่ทายาทชั้นพี่น้อง หรือไม่มีลูก แต่มีพ่อแม่ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 2 คู่สมรสจะได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง เป็นต้น


        ทายาทประเภทต่อมา คือ ทายาทตามพินัยกรรม ซึ่งเกิดจากเจตนาของเจ้ามรดกในการจัดแบ่งทรัพย์สินตามที่ตนต้องการเองและไม่จำกัดว่าต้องแบ่งให้ลูกหลานของเขาเท่านั้น บุคคลภายนอกอาจเป็นทายาทตามพินัยกรรมก็ได้ การเขียนพินัยกรรมจักทำด้วยตนเองหรือให้ทนายความช่วยจัดการก็ได้ แล้วยังสามารถลงทะเบียนพินัยกรรมไว้กับหน่วยงานรัฐเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันเจตนาก่อนตายของตนซึ่งป้องกันการโต้แย้งเรื่องเอกสารปลอมระหว่างทายาทด้วยกันได้ เมื่อเจ้ามรดกตาย การแบ่งมรดกต้องกระทำตามพินัยกรรมเท่านั้น จะไม่มีการนำวิธีแบ่งของกฎหมายมาใช้เด็ดขาด ยกเว้นมีทรัพย์สินนอกพินัยกรรมซึ่งคนตายมิได้เขียนไว้ จึงต้องนำการแบ่งมรดกตามกฎหมายไปใช้กับทายาทโดยธรรม ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ลูกคนโตเพียงคนเดียว ลูกที่เหลือจะไม่ได้รับมรดกเลย ต่อมาก่อนตายวันเดียวเขาซื้อที่ดินอีกแปลง แต่ยังไม่ได้เขียนเพิ่มเติมในพินัยกรรม ที่ดินแปลงนี้จะต้องจัดแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับชั้นที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ลูกทั้งหมดของเจ้ามรดกมีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้เท่าเทียมกัน เพราะมันไม่อยู่ในพินัยกรรม เป็นต้น


        กฎหมายกำหนดประเภทและลำดับทายาท วิธีแบ่งมรดกไว้ชัดเจน แล้วยังเปิดโอกาสให้แสดงเจตนาที่แตกต่างจากกฎหมายได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายในสังคมและสร้างระบบครอบครัวให้มีระเบียบมากขึ้น นอกจากนั้นยังกำหนดว่าผู้ใดไม่มีทายาทรับสืบทอดมรดกตามกฎหมาย ให้ทรัพย์สินของเขาตกแก่แผ่นดินด้วย จึงไม่มีวันที่ทรัพย์มรดกจะขาดผู้สืบทอดได้เลย ทายาทโดยธรรมลำดับต้นจะตัดสิทธิ์การสืบทอดมรดกของทายาทลำดับถัดไปเสมอ


        ทายาทลำดับใดกำจัดผู้อยู่ลำดับต้นด้วยความละโมบ กฎหมายจะตัดสิทธิ์ของพวกเขาทันที ทุกคนจึงควรพึงพอใจต่อสถานภาพของตนและเคารพเจตนาของคนตายให้มาก ส่วนเจ้าของทรัพย์สินต้องการแบ่งสัดส่วนมรดกแตกต่างจากกฎหมาย ควรทำพินัยกรรมอย่างถูกต้องและชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้ทายาทขัดแย้งและระแวงใจต่อกันว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ จึงควรศึกษารูปแบบและวิธีทำพินัยกรรม จากนั้นเลือกทำอย่างเหมาะสมกับตน โดยเฉพาะควรเปลี่ยนแนวคิดเรื่องเตรียมเจตนาก่อนตายใหม่ว่า มิใช่การแช่งตัวเองให้อายุสั้นตามที่คนโบราณเชื่อถือกันมา เนื่องเพราะเจ้ามรดกย่อมรู้จักทายาทของตนเป็นอย่างดี จึงคาดหวังได้ว่าทรัพย์สินแต่ละชิ้นควรอยู่กับผู้ใดจึงสร้างประโยชน์สูงสุด หรือรักษามันไว้ได้ตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดก ความรักชอบทายาทย่อมมีไม่เท่ากัน พินัยกรรมถือเป็นการแสดงความปรารถนาสุดท้ายของคนตายและช่วยจัดระเบียบทรัพย์สินสิทธิ์ต่างๆด้วยตัวเอง ส่วนวิธีจัดแบ่งมรดกของกฎหมายยึดถือลำดับทายาทเป็นหลักใหญ่โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือข้อดี ข้อด้อยของทายาท ซึ่งย่อมมีผลต่อมรดกที่รับทอดไปอย่างมาก มันอาจเป็นการทำลายสมาชิกครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่หากมรดกตกแก่ทายาทที่ไม่ใช่คนดีก็ได้ ดังนั้น การแสดงเจตนาเกี่ยวกับทรัพย์สินล่วงหน้าของเจ้ามรดกโดยทำพินัยกรรมไว้น่าจะเป็นการดูแลหรือรับผิดชอบต่อครอบครัวครั้งสุดท้ายของเจ้ามรดกเพื่อมิให้ต้องมีห่วงกังวลทิ้งไว้บนโลกใบนี้อีก


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com โดย คุณ ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย