ทำไมซากฟอสซิลจึงกลายเป็นโบราณวัตถุ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ความหมายของ “ฟอสซิล” ตามพระราชบัญญํติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ -เรื่องเสร็จที่ ๒๙๕/๒๕๔๗ - คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๘) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทำไมซากฟอสซิลจึงกลายเป็นโบราณวัตถุ


        กรมศิลปากรได้หารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ซากฟอสซิลและซากดึกดำบรรพ์อยู่ในความคุ้มครองของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ หรือไม่

        คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) ได้พิจารณาปัญหาข้อหารือของกรมศิลปากรและรับฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม (กรมศิลปากร) ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (มหาวิทยาลัยศิลปากร) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณี) ผู้แทนสมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย และนักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี แล้ว มีความเห็นดังนี้

        นิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ฯ สามารถแยกองค์ประกอบหรือความหมายของโบราณวัตถุได้ว่า (๑) ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ (๒) สังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นของโบราณ (๓) สังหาริมทรัพย์นั้นอาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน เป็นซากมนุษย์ หรือเป็นซากสัตว์ และ (๔) โดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี

        เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพของซากฟอสซิลแล้วปรากฏว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากซากสัตว์หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในอดีตได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและทำให้ส่วนประกอบของอินทรีย์สารเปลี่ยนแปลงไปจากส่วนประกอบเดิม แต่ยังคงรูปลักษณะโครงสร้างให้เห็นอยู่เป็นรอยพิมพ์หรือรูปพิมพ์ของสิ่งมีชีวิตประทับอยู่บนหรือในเนื้อหิน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและฟิสิกส์จนทำให้เกิดการแข็งตัวกลายเป็นหิน และสามารถบ่งชี้ถึงอายุและความสัมพันธ์ของชั้นหินที่ซากฟอสซิลเหล่านั้นฝังตัวอยู่ได้ ซากฟอสซิลจึงเป็นของโบราณและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

        แต่โดยอายุหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของซากฟอสซิลนั้นจะเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีหรือไม่เพียงใด จะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงความหมายทางวิชาการของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแต่ละเรื่องเป็นสำคัญ

        ในประเด็นที่จะกล่าวว่าซากฟอสซิลมีประโยชน์ในทางศิลปหรือไม่นั้น เนื่องจากในทางวิชาการศิลปต้องเป็นงานประดิษฐ์ของมนุษย์ แต่ซากฟอสซิลเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซากฟอสซิลจึงไม่มีประโยชน์ในทางศิลปแต่อย่างใด

        ประเด็นจึงต้องพิจารณาต่อไปว่าซากฟอสซิลจะเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีหรือไม่ สำหรับเรื่องโบราณคดีนั้น นักวิชาการด้านโบราณคดีมีความเห็นว่า วิชาโบราณคดีเป็นศาสตร์ที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และศิลปเพื่อศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ วัฒนธรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในอดีต ตามความหมายนี้ซากฟอสซิลซึ่งเกิดมาเก่าก่อนและมีอายุย้อนหลังขึ้นไปได้จนถึงก่อนกำเนิดของมนุษยชาติ จึงไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทางโบราณคดี เพราะไม่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของมนุษย์แต่อย่างใด เว้นแต่ซากฟอสซิลนั้นมีความเชื่อมโยงกับมนุษยชาติ เช่น เป็นซากฟอสซิลของเอฟ (ape) ที่มีเค้าโครงว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ หรือเป็นซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่มนุษย์ได้นำมาใช้หรือนำมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของมนุษย์ในภายหลัง

        ส่วนด้านประวัติศาสตร์นั้น นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า วิชาประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาครอบคลุมเรื่องราวในอดีตไม่ได้จำกัดแต่เพียงเรื่องราวของมนุษยชาติเท่านั้น หากแต่รวมถึงประวัติศาสตร์ธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์โลกด้วย เมื่อซากฟอสซิลเป็นประโยชน์ในการศึกษาถึงความเป็นมาของสิ่งแวดล้อมและดินแดนที่เกี่ยวข้อง ซากฟอสซิล จึงเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์โลกโดยตรง

        เมื่อพิจารณาความเห็นทางวิชาการโดยสรุปแล้ว จึงเห็นได้ว่าซากฟอสซิลเป็นโบราณวัตถุตามความหมายที่กำหนดไว้ในบทนิยามของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื่องจากเป็นของโบราณที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์โลก

        ในการให้ความเห็นเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) มีความเห็นเพิ่มเติมว่า บทนิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ นั้น แม้จะหมายความรวมถึงซากฟอสซิลตามความเห็นข้างต้นด้วยก็ตาม หากจะได้มีการปรับปรุงบทนิยามคำว่า “โบราณวัตถุ” เสียใหม่ให้มีความชัดเจน หรือมีกฎหมายคุ้มครองซากฟอสซิลขึ้นเป็นการเฉพาะ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่การคุ้มครองและการสงวนรักษาสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 ภาพ:หอยทะเล.jpg ภาพ:ซิส.jpg

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ความหมายของ “ฟอสซิล” ตามพระราชบัญญํติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ -เรื่องเสร็จที่ ๒๙๕/๒๕๔๗ - คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๘)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย