วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ทรัสต์
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะ 3 (พินัยกรรม) หมวด 4 อันว่าด้วยพินัยกรรมที่ตั้งผู้ปกครองทรัพย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1686 ว่า “อันว่าทรัสต์นั้นจะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อม ด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใด ๆ ที่มีผลในระหว่างขีวิตก็ดี หรือเมื่อตายก็ดี หามีผลไม่” บทบัญญัติในมาตราต่อ ๆ ไปในหมวดนั้น กล่าวถึงการตั้งผู้ปกครองทรัพย์ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ไม่ประสงค์ให้บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นว่านั้นเป็นผู้รักษาและจัดการทรัพย์สินที่จะยกให้

        การตั้งผู้ปกครองทรัพย์เป็นวิธีการพิเศษต่างหากจากทรัสต์ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้บัญญัติไว้แล้วว่า เมื่อใดจึงต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ จะตั้งโดยวิธีใด และใครบ้างที่จะเป็นผู้ปกครองทรัพย์ได้ แต่มิได้บัญญัติไว้ที่ไหนเลยว่า ทรัสต์นั้นคืออะไร จะก่อตั้งได้อย่างไรบ้าง

        โดยที่ทรัสต์มีกำเนิดในประเทศอังกฤษ และผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษามาบ้าง จึงเห็นสมควรที่จะนำความรู้ที่ได้ศึกษานั้น มาถ่ายทอดเป็นวิทยาทานเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ผู้เขียนขอออกตัวเสียก่อนว่า ทรัสต์นั้นเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากสลับซับซ้อนยิ่งนัก ในมหาวิทยาลัยบางแห่งในอังกฤษจึงได้จัดไว้เป็นวิชาหนึ่งต่างหาก และตำราว่าด้วยทรัสต์นี้ก็มีท่านผู้รู้เขียนไว้มากมายหลายเล่ม แต่ละเล่มมีความหนามาก ๆ ทั้งนั้น โดยเฉพาะตำราของ Austin Wakeman Scott ซึ่งให้ชื่อว่า The Law of Trusts เฉพาะเนื้อหาซึ่งไม่รวมสารบาญและรายชื่อคดี มีจำนวนถึง 3 เล่ม และยาว 2,602 หน้า ฉะนั้นผู้เขียนจึงไม่อาจเขียนเรื่องทรัสต์โดยละเอียดถี่ถ้วนได้ ถ้าทำเช่นนั้นก็จะกลายเป็นตำราไป ซึ่งผู้เขียนไม่มีความประสงค์และไม่อยู่ในวิสัยของผู้เขียนที่จะทำได้ด้วย ผู้เขียนจึงพยายามที่จะเขียนเรื่องทรัสต์นี้พอเป็นสังเขป เพื่อให้เป็นเพียงแนวทางว่าทรัสต์คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครบ้างจะเป็นทรัสตี และผู้รับประโยชน์ได้เหล่านี้เป็นต้น

        ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้เขียนตำนานของทรัสต์ไว้ในบทบัณฑิตย์ เล่ม 7 พ.ศ. 2475 หน้า 412 ซึ่งหากได้อ่านเสียก่อนแล้วจะทำให้เข้าใจเรื่องทรัสต์ได้ดีขึ้น ท่านได้แปล Trust ว่า มัดใจ และ Trustee ว่า ผู้ถูกมัดใจ แต่โดยที่ Trust หาคำแปลและคำนิยามให้ถูกต้องสมบูรณ์ได้ยาก และโดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 ก็ใช้ทับศัพท์เอา ฉะนั้นผู้เขียนจึงเห็นสมควรใช้ทับศัพท์ต่อไป

        เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ได้ทรงอธิบายคำว่าทรัสตีไว้ในพระดำรัส อธิบายมูลคดีสัญญา ร.ศ. 128 ซึ่งบทบัณฑิตย์ เล่ม 11 พ.ศ. 2482 ได้นำลงพิมพ์ไว้ใน หน้า 1641 ดังนี้

        “ตรัสตีนั้นคือผู้รักษาทรัพย์สมบัติไว้ให้ผู้อื่น เช่น ก. ยกเงิน 100 ชั่งให้ ข. สั่ง ข. ให้จ่ายดอกเบี้ยให้ ค. เรื่องตรัสตีเช่นนี้มักจะมีตัวอย่างในเรื่องพินัยกรรม คือตั้งตรัสตีเมื่อตายแล้ว

        ไม่เป็นสัญญาแท้ เพราะเหตุว่าหนังสือตั้งเป็นคำขอเมื่อตรัสตีฤาคนที่จะรับหน้าที่ยอมเข้ารับทำการแล้วเป็นคำรับ แต่บางทีเช่นในเรื่องพินัยกรรม คำรับนั้นจะรับแต่เมื่อผู้ขอตายแล้ว ซึ่งตามมูลคดีไม่เป็นสัญญา และอีกประการหนึ่งในสัญญาแท้ ผู้สัญญาฟ้องร้องกันได้เท่านั้นเอง นอกจากนั้นฟ้องไม่ได้ แต่ในเรื่องตรัสตี ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ฟ้องร้องได้

        ในการตั้งตรัสตี ต้องมีหนังสือสำคัญ และเมื่อจะให้ทำการภายหลังผู้ตั้งตายแล้ว ต้องทำอย่างพินัยกรรมจึงจะใช้ได้ คนที่ถูกตั้งไม่จำเป็นต้องรับเป็นคนตรัสตี

        ในเรื่องตรัสตีทั้งหลายนี้ มีตัวอย่างในเมืองไทยหลายเรื่อง แต่กฎหมายยังมัวหมองไม่ทราบแน่ นอกจากที่ได้กล่าวมานี้

        ดั่งที่เสด็จในกรมได้รับสั่งไว้ว่า มีตัวอย่างในเมืองไทยหลายเรื่อง ตั้งแต่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มา ก็พอหาตัวอย่างได้จากคำพิพากษาฎีกาบางเรื่อง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 336/2502, 419/2491, 163/2491, 661/2481, 136/2481, และ 507 – 508 / 2480 เป็นต้น

[แก้ไข]
ทรัสต์ คืออะไร
        ในการให้คำจำกัดความของทรัสต์นั้น ยังไม่มีนักกฎหมายคนใดให้คำจำกัดความที่ดีสมบูรณ์โดยไม่บกพร่องได้เลย ดังนั้นจึงสมควรที่จะนำคำจำกัดความของนักกฎหมายหลาย ๆ ท่านมาแสดงไว้

        ท่าน Harold Greville Hanbury ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Modern Equity ว่า “ความสัมพันธ์ทางทรัสต์นั้น คือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งหรือหลายคนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง และตนมีหน้าที่จะต้องยึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยจะต้องกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ หรือโดยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับประโยชน์นั้น ผู้รับประโยชน์ย่อมมีสิทธิทางเอ๊กควิต ซึ่งคล้ายกับกรรมสิทธิ์ทางคอมมอนลอว์ อันอาจใช้ยันได้ทั้งตัวทรัสตีเอง และบุคคลอื่นซึ่งได้ทรัพย์สินนั้นไป เว้นแต่ผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นโดยชอบและโดยสุจริต”

        ท่าน George W. Keeton ในหนังสือ The Law of Trusts ได้ให้คำจำกัดความว่า “ทรัสต์… คือความสัมพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรียกว่าทรัสตี ตกอยู่ในบังคับทางเอ๊กควิตี้ที่จะต้องยึดถือทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ และไม่ว่าจะมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายหรือเพียงสิทธิทางเอ๊กควิตี้ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น (ซึ่งผู้ยึดถือทรัพย์สินอาจเป็นผู้อื่นนั้นด้วยผู้หนึ่งก็ได้ และซึงเรียกว่าผู้รับประโยชน์) หรือเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอันชอบด้วยกฎหมาย และการยึดถือนั้น ยึดไว้ในทำนองที่ว่า ประโยชน์อันแท้จริงของทรัพย์สินนั้นมิได้ตกแก่ทรัสตี หากตกแก่ผู้รับประโยชน์ของทรัสต์นั้น”

        ท่าน Spence ได้ให้ความหมายของคำว่า ทรัสต์ว่า “ผลประโยชน์หรือประโยชน์ทางกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการครอบครอง หรือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในตัวทรัพย์นั้น”

        สถาบันทางกฎหมายของอเมริกา (The American Law Institute) ในบทความเรื่อง The Law of Trusts ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ทรัสต์ …. ที่ไม่ใช่เพื่อการกุศล ที่กลับมาเป็นประโยชน์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์เอง (Resulting Trust) หรือที่เกิดจากการสมมุติของกฎหมาย (Constructive Trust) แล้ว ก็คือความสัมพันธ์ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ (Fiduciary relationship) เกี่ยวกับทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นผลให้บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินนั้น จำต้องรับหน้าที่ทางเอ๊กควิตี้ที่จะต้องจัดการทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ทั้งนี้โดยการแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งเจตนาที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์เช่นว่านั้น”

        ท่านผู้พิพากษา Story ได้กล่าวว่า “ทรัสต์อาจให้คำจำกัดความได้ว่า เป็นสิทธิทางเอ๊กควิตี้ หรือประโยชน์ในทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแตกต่างกับกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในทรัพย์สินนั้น”

        ท่าน H.A. Smith ในหนังสือ Principles of Equity ได้ให้คำจำกัดความของทรัสต์ว่า “เป็นหน้าที่อันเอ๊กควิตี้ถือว่ามีอยู่บนความรู้สึกหิริโอตตัปปะ (Conscience) ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย”

        ท่าน Sir Arthur Underhill ได้ให้คำจำกัดความไว้ในหนังสือ Law Relating to Trust and Trustees ว่า “ทรัสต์คือหน้าที่ทางเอ๊กควิตี้ ซึ่งผูกมัดบุคคลผู้หนึ่ง (เรียกว่าทรัสตี) ให้จัดการทรัพย์สินซึ่งตนมีอำนาจเหนือ (เรียกว่าทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ Trust property) เพื่อประโยชน์ของบุคคลอีกคนหนึ่ง หรือหลายคน (เรียกว่าผู้รับประโยชน์) ซึ่งอาจเป็นตนเองด้วยผู้หนึ่งก็ได้ และผู้รับประโยชน์นั้นแต่เพียงคนใดคนหนึ่งมีสิทธิบังคับให้ปฏิบัติตามหน้าที่นั้นได้ หากทรัสตีกระทำการ หรือเพิกเฉยไม่กระทำงานอันปราศจากข้ออ้างหรืออำนาจที่ให้ไว้ในตราสารจัดตั้งทรัสต์ หรือที่ให้ไว้โดยกฎหมาย ได้ชื่อว่าทำละเมิดทรัสต์” คำจำกัดความของท่าน Sir Arthur Underhill นี้ได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้พิพากษา Cohen ในคดี Re Marshall’s Will Trust

        แม้ว่าจะมีคำจำกัดความของนักกฎหมายหลายท่านดั่งกล่าวข้างต้นแล้วก็ดี ก็ยังเป็นการยากที่จะเข้าใจคำว่า ทรัสต์อยู่นั่นเอง จึงขอยกตัวอย่างดังนี้ ก. ทำพินัยกรรมยกเงินให้ ข. 10,000 บาท และสั่งให้ ข. ลงทุนซื้อพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาล และให้เอาดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจ่ายให้ ค. ในระหว่างที่ ค. ยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อ ค. ตายแล้วให้ ข. จัดการขายพันธบัตรนั้น และแบ่งเงินที่ขายได้ให้บุตรของ ค. คนละเท่า ๆ กัน ตามตัวอย่างนี้ เมื่อ ก. ให้เงินแก่ ข. แล้ว ข. ก็ควรจะได้เงินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ และแม้ ก. จะสั่ง ข. ให้จัดการเกี่ยวแก่เงินนั้นอย่างไรต่อไป ค. ผู้จะได้รับประโยชน์จากคำสั่งของ ก. นั้น ก็ไม่น่าที่จะบังคับ ข. ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ก. ได้ เพราะ ค. เป็นบุคคลภายนอก ไม่มีนิติสัมพันธ์อย่างใดกับ ข. เลย เหตุนี้กฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษจึงไม่ยอมรับบังคับให้ แต่โดยทางเอีกควิตี้แล้ว นักกฎหมายต่างเห็นกันว่า ถ้าปล่อยไปเช่นนั้นน่าจะไม่ยุติธรรม เพราะการที่ ก. ให้เงิน ข. ก็โดยเจตนาจะให้ ข. จัดการลงทุนเงินนั้นเพื่อเก็บผลประโยชน์ให้ ค. และเมื่อ ค. ตายแล้ว ก็ต้องการให้เงินนั้นตกเป็นของบุตรของ ค. หาใช่ตั้งใจจะให้เป็นสิทธิขาดแก่ ข. ไม่ ดังนี้ศาลชานเซอรี่ (Chancery Court) ซึ่งเป็นฝ่ายเอ๊กควิตี้จึงเข้ามาแทรกแซงบังคับให้ ข. จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ ก. ได้ให้ไว้ อันความสัมพันธ์ระหว่าง ข. กับ ค. หรือบุตรของ ค. (ที่เกิดแล้ว หรือจะเกิดขึ้นภายหลัง) ซึ่งทำให้ ข. มีหน้าที่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ ก. และก่อให้เกิดสิทธิแก่ ค. หรือบุตรของ ค. ที่จะบังคับ ข. ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ก. นั้น เรียกว่าทรัสต์ ก. เรียกว่าผู้ก่อตั้งทรัสต์ ข. ผู้ได้รับเงินและถือว่าเป็นเจ้าของเงินตามกฎหมาย มีสิทธิจะจัดการแก่เงินได้ทุกประการเรียกว่าทรัสตี และ ค. ผู้ซึ่งมีสิทธิแต่เพียงจะบังคับให้ ข. ส่งมอบดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ให้ตนตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือบุตร ค. ผู้ซึ่งมีสิทธิบังคับ ข. ให้ขายพันธบัตรเอาเงินมาแบ่งให้ตน เมื่อ ค. ตายแล้วนั้น เรียกว่าผู้รับประโยชน์ (Beneficiaries หรือ Cestuis que trust)

        ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ก. ทำตราสารที่เรียกว่า deed (คือตราสารที่ผู้กระทำต้องลงชื่อประทับตรา และส่งมอบตราสารนั้น) มีข้อความว่าตนเป็นเจ้าของพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลอยู่เป็นมูลค่า 10,000 บาท ประสงค์จะถือพันธบัตรนั้นเป็นทรัสต์เพื่อเอาดอกเบี้ย และผลประโยชน์อื่นของพันธบัตรนั้นจ่ายให้แก่ตนเอง ตลอดเวลาที่ตนยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อตนตายแล้ว จะถือเป็นทรัสตืเพื่อจ่ายดอกเบี้ยและผลประโยชน์นั้นให้แก่ภริยาของตนชั่วชีวิตของภริยานั้น และหลังจากตนหรือภริยา (สุดแล้วแต่ว่าใครจะตายภายหลัง) ได้ตายไปแล้ว ก็จะขายพันธบัตรนั้น และนำเงินมาแบ่งกันระหว่างบุตรของตน ดังนี้ถือว่ามีทรัสต์เกิดขึ้นแล้ว โดย ก. เป็นทั้งผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี และผู้รับประโยชน์ด้วยผู้หนึ่ง ถ้า ก. เป็นผู้รับประโยชน์แต่ผู้เดียว จะเกิดทรัสต์ขึ้นไม่ได้ เพราะคนเราจะบังคับตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเองหาได้ไม่ หรือถ้าภริยา ก. และบุตรของ ก. ทุกคนตายก่อน ก. และ ก. เป็นผู้จัดการมรดกของภริยาและบุตร ดังนี้ทรัสต์ที่มีมาแต่แรกนั้นก็จะสิ้นสุดลง เพราะทรัสตีและผู้รับประโยชน์กลายเป็นบุคคลคนเดียวกันเสียแล้ว

        อาจมีคำถามว่า เหตุไร ก. จึงตั้งตนเองเป็นทั้งทรัสตี และผู้รับประโยชน์ ก. จะตั้งผู้อื่นเป็นทรัสตีมิได้ หรือ คำตอบคือ ได้ แต่ในกรณีเช่นนั้น ก. จะต้องโอนพันธบัตรนั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้อื่นที่จะเป็นทรัสตี และสั่งผู้นั้นให้จัดการดังที่ตนประสงค์ ซึ่ง ก. อาจไม่มีบุคคลที่สนิทสนมพอจะไว้ใจได้ หรืออาจไม่มีใครยอมรับเป็นทรัสตีก็ได้ และอาจมีคำถามอีกว่า ก็เมื่อ ก. เป็นเจ้าของพันธบัตรนั้นอยู่แล้วย่อมได้รับดอกเบี้ยและผลประโยชน์อยู่ในตัว เหตุไรจึงต้องตั้งตนเป็นทรัสตีแล้วกลับให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์นั้นอีก และหาก ก. ประสงค์จะมอบพันธบัตรนั้นให้บุตรของตน ก็จะทำเป็นพินัยกรรมให้ไว้มีสะดวกกว่าหรือ คำตอบมีว่า เมื่อ ก. ยึดถือพันธบัตรนั้นในฐานะทรัสตีแล้ว เจ้าหนี้ส่วนตัวของ ก. ก็จะเอาชำระหนี้สินจากพันธบัตรนั้นไม่ได้ (นอกจาก ก. จะก่อตั้งทรัสต์เพื่อฉ้อโกงเจ้าหนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทรัสต์ได้) และถ้า ก. จะทำพินัยกรรมให้บุตรของตนแล้ว เผื่อ ก. ตายก่อนภริยา และ ก. ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ภริยาของ ก. ก็จะตกอยู่ในฐานะลำบาก หรือถ้า ก. จะทำพินัยกรรมยกพันธบัตรนั้นให้ภริยาตนโดยหวังว่า เมื่อภริยาตายพันธบัตรนั้นก็จะตกเป็นมรดกแก่บุตร ก็ยังไม่แน่นอนว่าภริยาตนจะไม่จำหน่ายพันธบัตรนั้นไปเสียก่อน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด และได้ผลสมเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินทุกอย่างก็คือ การตั้งทรัสต์ดั่งตัวอย่างข้างต้น

        ในการก่อตั้งทรัสต์นั้น ผู้ก่อตั้งทรัสต์อาจจะสั่งให้ทรัสตีจัดการทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์หลายทอดดั่งตัวอย่างที่กล่าวแล้ว หรือเพียงเพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์ทอดเดียวก็ได้ เช่น ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ ข. โดยให้ยึดเป็นทรัสต์ เพื่อ ค. โดยเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ในกรณีที่ ก. ใช้ถ้อยคำเพียงเท่านี้ ก. ย่อมมีสิทธิที่จะให้ ข. จัดการหรือจำหน่าย จ่ายโอน ทรัพย์สินนั้นอย่างไรก็ได้ตามความประสงค์ของตน

        สิทธิของทรัสตีที่มีต่อทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้นเป็นทรัพย์สิทธิ ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไป ตามกฎหมายถือว่าทรัสตีมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น จึงมีสิทธิจัดการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ทุกอย่าง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งคำสั่งของผู้ก่อตั้งทรัสต์ และกฎหมายในเรื่องที่ทรัสต์ใช้บังคับอยู่ ส่วนสิทธิของผู้รับประโยชน์นั้นเป็นเพียงบุคคล สิทธิในอันที่จะบังคับทรัสต์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ก่อตั้งทรัสต์ หรือในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทรัสตี ถ้าทรัสตีปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเป็นการละเมิดทรัสต์ หรือในอันที่จะติดตามเรียกร้องเอาทรัพย์สิน ซึ่งตกอยู่ภายใต้ทรัสต์คืนจากบุคคลที่ได้ทรัพย์สินนั้นไปโดยรู้ว่า ทรัพย์สินนั้นตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ แต่สิทธินี้ไม่อาจใช้ยันต่อผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นโดยสุจริต และโดยไม่ทราบว่า ทรัพย์สินนั้นตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ได้

        ทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นนั้นหาใช่ว่าจะบังคับกันได้ทุกกรณีไปไม่ ที่จะบังคับกันได้ต้องเป็นทรัสต์ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นทรัสต์ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะปิดประตูตีตายบ้านเป็นเวลา 20 ปี หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินมาชำระค่าปรับให้แก่จำเลยในคดีการพนัน จึงเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

[แก้ไข]
ทรัสต์ต่างจากสัญญาลักษณะอื่นอย่างไร
        ทรัสต์ มีลักษณะแตกต่างไปจากลักษณะของสัญญาอื่น เช่น การฝากทรัพย์ (Bailment) หรือสัญญาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ

        ในเรื่องการฝากทรัพย์นั้น เฉพาะแต่สิ่งซึ่งมีรูปร่างเท่านั้นจึงจะฝากได้ แต่ในเรื่องทรัสต์นั้น ทรัพย์สินทุกชนิดอาจตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ได้ และผู้รับฝากทรัพย์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์สินนั้น แต่ทรัสตีมีกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์สิน และแม้ว่าทรัสตีจะได้ขายทรัพย์สินนั้นไปโดยทำนอกเหนือไปจากคำสั่งที่ให้ไว้ก็ตาม ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ ก็ย่อมจะได้กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์สินนั้น

        ในเรื่องสัญญาทั่ว ๆ ไปนั้น ผู้ที่จะบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ จะต้องเป็นคู่สัญญา แต่ในเรื่องทรัสต์นั้น แม้ผู้รับประโยชน์จะมิใช่คู่สัญญาในการก่อตั้งทรัสต์ ก็มีสิทธิบังคับทรัสตีให้ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำสั่งของผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ นอกจากนี้ ถ้าเป็นสัญญาตามกฎหมายอังกฤษ หากมิได้ทำโดยเซ็นชื่อ ประทับตราและส่งมอบแล้ว (made under seal) ก็จะต้องมีคอนซิเดอเรชั่น (บางท่านแปลว่าสินจ้าง) มิฉะนั้นไม่อาจบังคับกันได้ แต่การก่อตั้งทรัสต์หาจำต้องมีคอนซิเดอเรชั่น หรือต้องทำเป็นหนังสือดังกล่าวนั้นไม่ เช่น ก. อาจทำพินัยกรรมตั้งทรัสต์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใด โดยไม่มีอะไรตอบแทนเป็นคอนซิเดอเรชั่นเลยก็ได้

        ทรัสต์ต่างกับหนี้ธรรมดา กล่าวคือ ถ้า ก. ยกทรัพย์สินสิ่งหนึ่งให้ ข. โดยให้ ข. มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้ ค. เดือนละ 100 บาท จนกว่า ค. จะบรรลุนิติภาวะเช่นนี้ หน้าที่ของ ข. มิใช่ทรัสตี ข. เพียงแต่มีหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับ ก. เท่านั้น และสิทธิของ ค. ก็เป็นเพียงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจาก ข. เป็นส่วนตัว หามีสิทธิหรือประโยชน์ที่จะเรียกร้องเอาจากตัวทรัพย์ ดั่งเรื่องของทรัสต์ไม่

[แก้ไข]
ผู้ใดบ้างมีอำนาจก่อตั้งทรัสต์
        ก่อนที่จะทราบว่าผู้ใดมีอำนาจก่อตั้งทรัสต์ได้ ควรหาความเข้าใจในเรื่องสิทธิของบุคคลที่มีต่อทรัพย์สินของตนตามกฎหมายอังกฤษเสียก่อน ทรัพย์สินตามกฎหมายอังกฤษหาได้แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ไม่ หากแบ่งออกเป็น Real property หรือ Realty และ Personal property หรือ Personalty ที่ดินและผลประโยชน์ใด ๆ ในที่ดินนอกจากการเช่าแล้วเป็น Real property ทั้งนั้น ทรัพย์สินนอกจากนี้รวมทั้งการเช่าที่ดินถือเป็น Personal property ทั้งสิ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั่วประเทศอังกฤษ ถือว่าเป็นของกษัตริย์ ประชาชนมีสิทธิเพียงจะยึดถือที่ดินนั้นไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้ามีสิทธิเพียงชั่วชีวิตก็เรียกว่า Life Estate ถ้ามีสิทธิเพียงชั่วชีวิตตกและทายาทสืบสายโลหิตโดยตรงลงไป ก็เรียกว่า Fee Tail ถ้ามีสิทธิชั่วชีวิตตน และทายาทไม่ว่าชั้นใด ๆ ก็เรียกว่า Fee Simple

        สิทธิหรือประโยชน์ที่ได้รับจากที่ดินนี้ ถ้าเป็นสิทธิใน Fee Simple โดยเด็ดขาด (คือปราศจากเงื่อนไข) และได้ครอบครองด้วยก็ดี หรือเป็นสิทธิที่กำหนดเวลาแน่นอนลงไป เช่น มีสิทธิในที่ดิน 20 ปี 30 ปีก็ดีตาม Law of Preperty Act, 1925 ถือว่าเป็น Legal Estate อันอาจจะจำหน่ายจ่ายโอนได้ และใช้ยันได้ต่อบุคคลทั่วไป นอกจากนี้สิทธิเหนือพื้นดินบางประเภท เช่น ภาระจำยอม และสิทธิอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็อาจเป็น Legal Estate ได้ ถ้าเข้าลักษณะที่มาตรานั้นบัญญัติไว้ สิทธิและผลประโยชน์อื่น ๆ ในที่ดินนอกไปจากนี้ ถือว่าเป็นเพียง Equitable Interest ซึ่งใช้ยันได้แก่บุคคลทั่วไป เว้นแต่ผู้ซื้อ Legal Estate ในทรัพย์สินนั้นโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และไม่รู้ถึงสิทธิหรือประโยชน์นั้น หรือบุคคลผู้อ้างสิทธิของผู้ซื้อเช่นว่านั้น ถ้า ก. มอบที่ดิน 1 แปลงให้ ข. โดยให้ ข. ยึดถือไว้เป็นทรัสตีเพื่อ ค. Legal Estate ย่อมตกอยู่แก่ ข. ผู้เป็นทรัสตี และ ค. ผู้รับประโยชน์มีเพียง Equitable Interest เท่านั้น ค. จึงไม่สามารถจำหน่าย ขายโอนที่ดินนั้นโดยตนเองได้ แต่ก็อาจจำหน่าย โอน สิทธิ หรือประโยชน์ ที่จะได้รับนั้นได้โดยทางเอ๊คควิตตี้ยอมรับบังคับให้

        ว่าโดยทั่วไป บุคคลใดก็ตามที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน มี Legal Estate หรือ Equitable Interest ในทรัพย์สินใด ๆ ย่อมมีสิทธิก่อตั้งทรัสต์ขึ้นจากทรัพย์สินนั้นได้ แต่มีข้อยกเว้นบางประการดังนี้

กษัตริย์ จะก่อตั้งทรัสต์ได้แต่เฉพาะทรัพย์สินส่วนพระองค์เท่านั้น และถ้าก่อตั้งโดยพินัยกรรม จะก่อตั้งได้เพียงสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
องค์การบริษัท (Corporation) อาจก่อตั้งทรัสต์ได้แต่ภายในวัตถุที่ประสงค์ของตนเท่านัน และต้องมิได้มีกฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้งด้วย
ผู้เยาว์ ตามกฎหมายอังกฤษ ไม่สามารถยึดถือ Legal Estate ในทรัพย์สินใด ๆ ได้ ฉะนั้น จึงจะก่อตั้งทรัสต์ขึ้นจาก Legal Estate ไม่ได้ แต่อาจก่อตั้งจากสังหาริมทรัพย์ หรือ Equitable Interest ได้
คนวิกลจริต ที่ถูกสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ย่อมไม่สามารถก่อตั้งทรัสต์ได้ แม้ว่าจะกระทำในระหว่างมีสติสัมปชัญญะดี ถ้ามิได้ถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็อาจก่อตั้งทรัสต์ได้ในขณะที่ตนยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ แต่ถ้าจะก่อตั้งทรัสต์ให้แก่บุคคลใดเปล่า ๆ ย่อมทำไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำในขณะมีสติสัมปชัญญะ และรู้ถึงสภาพจำนวนทรัพย์ตลอดจนตัวบุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากตัวทรัพย์นั้น
หญิงมีสามี ตั้งแต่ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2425 เป็นต้นมา หญิงมีสามีของอังกฤษก็มีอำนาจก่อตั้งทรัสต์ได้ ก่อนนั้นอำนาจเช่นว่านี้หามีไม่
[แก้ไข]
ผู้ใดบ้างจะเป็นทรัสตีได้
        ว่าโดยทั่วไป บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ และผู้ไร้ความสามารถ ย่อมมีความสามารถที่จะเป็นทรัสตีได้

กษัตริย์ แม้ว่าจะทรงรับเป็นทรัสตีได้ แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะทรงถูกบังคับให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของทรัสตี
องค์การบริษัทต่าง ๆ (Corporation) สามารถที่จะเป็นทรัสตีได้ทั้งในสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ก่อน พ.ศ. 2503 องค์การบริษัทไม่อาจเป็นทรัสตีของที่ดินได้ เพราะต้องห้ามตาม Mortmain and Charitable Uses Act, 1888 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกษัตริย์หรือมีกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่เมื่อมี Charities Act, 1960 ออกมาแล้ว องค์การบริษัทสามารถยึดถือที่ดินเป็นของตนได้ จึงสามารถเป็นทรัสตีในที่ดินได้ด้วย
คนต่างชาติ ตามกฎหมายอังกฤษ คนต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ทุกชนิด เว้นแต่เรืออังกฤษ ฉะนั้น จึงอาจเป็นทรัสตีของทรัพย์สินได้ทุกชนิด ยกเว้นเรือดังกล่าว
หญิงมีสามี ก็สามารถเป็นทรัสตีได้ และมิจำต้องได้รับความยินยอมจากสามีทั้งในการที่จะเป็นทรัสตี และในการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์
ผู้เยาว์ตาม Law of Property Act, 1925 มาตรา 20 ไม่สามารถเป็นทรัสตีได้ แต่อาจยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นทรัสตีของทรัสต์โดยปริยาย (Implied trust) ทรัสต์โดยการสมมติ (Constructive trust) และทรัสต์ซึ่งกลับมาเป็นประโยชน์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์เอง (Resulting trust) ได้
ผู้ล้มละลาย ก็อาจเป็นทรัสตีได้ แต่ถ้าทรัสตีเพิ่งจะล้มละลายในภายหลัง การล้มละลายอาจเป็นเหตุให้ปลดทรัสตีผู้ล้มละลายนั้นได้
ผู้รับประโยชน์จากทรัสต์ และญาติของผู้นั้น ตามปกติมักไม่นิยมตั้งเป็นทรัสตีกัน เพราะถือว่ามีส่วนได้รับประโยชน์จากทรัสต์อยู่ อาจจัดการทรัสต์โดยมิเป็นธรรมได้ แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามว่าบุคคลดังกล่าวนี้จะเป็นทรัสตีมิได้
ถ้าทรัสตีได้รับแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (ผู้ก่อตั้งทรัสต์มีอำนาจที่จะกำหนดไว้ในตราสารก่อตั้งทรัสต์ ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีอำนาจตั้งทรัสตีได้ ในกรณีที่ทรัสตีที่ตนตั้งไว้ตาย ลาออก หรือในการจะตั้งทรัสตีเพิ่ม) ผู้ที่จะเป็นทรัสตีนั้นต้องมีความสามารถ ไม่อยู่นอกราชอาณาจักร (เว้นแต่ทรัพย์หรือผู้รับประโยชน์อยู่นอกราชอาณาจักรด้วย) ไม่ใช่ผู้รับประโยชน์หรือทนาย หรือสามี ภริยาของผู้รับประโยชน์นั้น ผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะตั้งตัวเองเป็นทรัสตีแทนผู้ที่ตายหรือลาออกได้ แต่จะตั้งตัวเองเป็นทรัสตีเพิ่มขึ้นอีกหาได้ไม่
        ทรัสตีอาจได้รับแต่งตั้งโดยแจ้งชัด หรือโดยผลของกฎหมายก็ได้ การแต่งตั้งโดยชัดแจ้งอาจกระทำได้โดย

ตัวผู้ก่อตั้งทรัสต์
ผู้ได้รับอำนาจจากผู้ก่อตั้งทรัสต์ให้ตั้งทรัสตีได้
ผู้มีอำนาจตาม Trustee Act, 1925 มาตรา 36
ศาล
        การเป็นทรัสตีโดยผลของกฎหมายอาจเกิดขึ้นได้ ในเมื่อได้ก่อตั้งทรัสต์ขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้ตั้งทรัสตี หรือตั้งแล้ว แต่ทรัสตีตาย ลาออก ไร้ความสามารถ และยังไม่มีทรัสตีคนใหม่ ในกรณีเช่นนี้กฎหมายถือว่า เมื่อทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้นตกอยู่ที่บุคคลใดซึ่งไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นโดยสุจริต และไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินไปนั้นต้องเป็นทรัสต์ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีทรัสตีคนใหม่ ตัวอย่างเช่น ผู้ตายทำพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์ แต่ไม่ได้ตั้งทรัสตีไว้ ถือว่าผู้จัดการมรดกของผู้ตายต้องทำหน้าที่เป็นทรัสตี หรือเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ตั้งทรัสตีแล้ว แต่ทรัสตีไม่ยอมรรับ ทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้น ย่อมกลับตกมาสู่ผู้ก่อตั้ง หรือผู้จัดการมรดกของผู้ก่อตั้ง ถ้าผู้ก่อตั้งตาย ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องยึดถือทรัพย์สินนั้นในฐานะเป็นทรัสตี หรือถ้าทรัสตีที่ตั้งไว้เพียงคนเดียว หรือเหลือเพียงคนเดียวตาย ผู้จัดการมรดกของทรัสตีนั้น ก็ต้องทำหน้าที่เป็นทรัสตีแทน จนกว่าจะได้มีทรัสตีคนใหม่ขึ้น

[แก้ไข]
เมื่อใดจึงจะถือว่าเป็นทรัสตี
        เมื่อผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นทรัสตีแล้ว มิใช่ว่าจะต้องยอมรับเป็นทรัสตีเสมอไป ผู้นั้นอาจปฏิเสะได้ และการปฏิเสธอาจกระทำด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือโดยมีพฤติการณ์ส่อแสดงเจตนาว่าไม่ยอมรับ เช่นผู้นั้นมิได้เข้ามายุ่งเกี่ยวจัดการกับทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ภายใต้ทรัสต์นั้นเลยจนเป็นเวลานานเกินสมควร แต่ถ้าผู้นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องจัดการกับทรัพย์สินนั้น แม้ว่าตนเองจะมิได้แจ้งว่าจะรับเป็นทรัสตีก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการยอมรับเป็นทรัสตีโดยปริยายแล้ว การปฏิเสธไม่ยอมรับนี้ ต้องกระทำเสียก่อน ถ้ามีการยอมรับขึ้นเมื่อใดแล้ว ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะปฏิเสธอีกต่อไป จะทำได้ก็แต่เพียงขอลาออกเท่านั้น

        แม้ว่าจะมีการตั้งและยอมรับเป็นทรัสตีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าผู้นั้นเป็นทรัสตีโดยชอบ จนกว่าจะได้มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินนั้นให้ทรัสตีแล้ว ตาม Trustee Act, 1925 มาตรา 40 ถ้าผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้กล่าวในตราสารก่อตั้งทรัสต์ว่า ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ทรัสตีแล้ว (การกล่าวเช่นนี้เรียกว่า Vesting declaration) ถือว่าทรัพย์สินนั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่ทรัสตีทันที โดยไม่จำต้องมีการโอนหรือส่งมอบอีก แต่ว่าตราสารนั้นต้องเป็น Deed ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าทรัสต์ที่ก่อตั้งภายหลัง ค.ศ. 1925 แม้ว่าจะมิได้มีการกล่าวเช่นนั้นไว้ในตราสารก่อตั้งทรัสต์ มาตรา 40 นั้นก็ยังถือว่ามีการกล่าวเช่นนั้นไว้ เว้นแต่จะมีข้อความในตราสารนั้นให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับทรัพย์สินบางประการซึ่งเพียงแต่การกล่าวว่า ให้ทรัพย์สินตกเป็นสิทธิแก่ทรัสตี หามีผลเป็นการมอบทรัพย์ให้ไม่ จะต้องมีการโอน ส่งมอบที่ถูกต้องต่อไป

[แก้ไข]
ผู้ใดบ้างจะเป็นผู้รับประโยชน์ได้
        ว่าโดยหลักทั่วไปแล้ว บุคคลใดก็ตามที่สามารถมีสิทธิยึดถือ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ย่อมจะเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้ทรัสต์ได้

กษัตริย์ก็อาจทรงเป็นผู้รับประโยชน์ได้
ผู้เยาว์อาจเป็นผู้รับประโยชน์ในสังหาริมทรัพย์ Equitable Interest และทรัพย์สินอื่น ๆ ได้ เว้นแต่ประโยชน์ หรือสิทธิในที่ดินที่เรียกว่า Legal Estate เท่านั้น ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายอังกฤษ
องค์การบริษัทต่าง ๆ ก็อาจเป็นผู้รับประโยชน์ได้ ไม่ว่าในทรัพย์สินประเภทใด แต่ก่อนนี้องค์การบริษัทจะยึดถือที่ดินมิได้ ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ข้อห้ามนี้ได้ยกเลิกไปโดย Charities Act, 1960
คนต่างชาติย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน ภายใต้ทรัสต์ที่ก่อตั้งในอังกฤษได้ทุกชนิด เว้นแต่เรืออังกฤษ
บุคคลผู้ที่อยู่นอกเขตสเตอลิงก์ (Sterling Area) ไม่อาจเป็นผู้รับประโยชน์ในตัวเงิน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 29 แห่ง Exchange Control Act, 1947 มิให้ส่งออกไปนอกเขตสเตอลิงก์
[แก้ไข]
ทรัพย์สินใดบ้างที่อาจนำมาก่อตั้งทรัสต์ได้
        ทรัพย์สินทุกชนิดซึ่งอาจมีเจ้าของได้ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าสิทธิในตัวทรัพย์สินนั้นจะมีอยู่ตามกฎหมาย หรือตามเอ๊กควิตี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในราชอาณาจักร หรือนอกราชอาณาจักร และไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความยึดถือครอบครองแล้ว หรือเป็นเพียงสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินนั้นในภายหน้า ย่อมนำมาก่อตั้งทรัสต์ได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ก. มีสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่ง อาจโอนสิทธิหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการเช่านั้นให้ทรัสตี เพื่อให้จัดการให้เป็นประโยชน์แก่ ข. หรือเช่น ก. เป็นเจ้าหนี้เงิน ข. อยู่ 6,000 บาท ก. อาจโอนหนี้รายนี้ให้ทรัสตี เพื่อให้ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของ ค. ได้ แต่ถ้ามีกฎหมายบัญญัติห้ามโอนทรัพย์สินใด ๆ ไว้ เช่น เบี้ยบำนาญ หรือเงินเดือนของข้าราชการ ทรัพย์สินนั้นจะนำมาก่อตั้งทรัสต์หาได้ไม่

        สำหรับทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศนั้น ย่อมสุดแล้วแต่กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลของแต่ละประเทศไป สำหรับประเทศอังกฤษนั้น ถือหลักว่าสังหาริมทรัพย์ย่อมติดตามเจ้าของ ฉะนั้นถ้าเจ้าของสังหาริมทรัพย์อยู่ในเขตอำนาจของศาลอังกฤษ ก็ถือว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตอำนาจด้วย จึงอาจนำมาก่อตั้งทรัสต์ได้ ส่วนที่ดินที่อยู่นอกราชอาณาจักรอังกฤษ ก็อาจตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ได้เช่นกัน และศาลอังกฤษยอมรับบังคับให้ ถ้าคู่กรณีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอังกฤษ และการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลไม่เป็นการพ้นวิสัย

[แก้ไข]
ทรัสต์แบ่งเป็นกี่ชนิด
        ทรัสต์อาจแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดคือ

        1. ทรัสต์โดยแจ้งชัด (Express trust) ทรัสต์โดยปริยาย (Implied trust) ทรัสต์ซึ่งกลับมาเป็นประโยชน์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์เอง (Resulting trust) และทรัสต์โดยการสมมุติ (Constructive trust)

         ทรัสต์โดยแจ้งชัด คือทรัสต์ที่ผู้ก่อตั้งแสดงเจตนาก่อตั้งขึ้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งอาจเป็นโดยประกาศตั้งตนเองเป็นทรัสตี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หรือโดยการส่งมอบทรัพย์สินให้ทรัสตีเพื่อให้ยึดถือเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ข. เพื่อให้ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของ ค. หรือ ก. มีที่ดิน 1 แปลง และประกาศว่าตนจะยึดถือที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์ของ ข.

         ทรัสต์โดยปริยาย คือทรัสต์ที่ถือว่าเกิดขึ้นโดยการสันนิษฐานเอาจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์สิน ว่าประสงค์จะให้มีทรัสต์ขึ้น แต่ว่าเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้แสดงเจตนาก่อตั้งทรัสต์โดยแจ้งชัด ตัวอย่างเช่น ก. ซื้อรถยนต์ 1 คันแต่ให้ใส่ชื่อ ข. เป็นเจ้าของ หรือ ก. และ ข. เข้าหุ้นกันซื้อที่ดิน 1 แปลง แต่ให้โอนใส่ชื่อ ข. แต่ผู้เดียวในโฉนด ดังนี้ทางเอ๊กควิตี้ถือว่า ข. จำต้องยึดถือรถยนต์ หรือที่ดินนั้นในฐานะเป็นทรัสตีเพื่อประโยชน์ของ ก. ในเรื่องรถยนต์ และเพื่อประโยชน์ของ ก. และ ข. ในเรื่องที่ดิน

         ทรัสต์ที่กลับมาเป็นประโยชน์ของผู้ก่อตั้งทรัสต์เอง ทรัสต์เช่นนี้ ความจริงก็ถือว่าเป็นทรัสต์โดยปริยายเหมือนกัน แต่แบ่งออกมาเพื่อความสะดวกในการเรียกชื่อเท่านั้น ทรัสต์เช่นนี้เกิดขึ้นได้โดยผู้ก่อตั้งทรัสต์ตั้งทรัสตี เพื่อให้จัดการทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์นั้น ดังนี้ถ้าผู้รับประโยชน์ตายแล้ว มิใช่ว่าผลประโยชน์นั้นจะตกได้แก่ตัวทรัสตีเอง เพราะตามเจตนาของผู้ก่อตั้งทรัสต์ย่อมไม่ประสงค์จะให้ทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิขาดแก่ทรัสตี ดังนั้นทรัสตีจึงต้องยึดถือทรัพย์สินนั้น เพื่อผู้ก่อตั้งทรัสต์หรือทายาทของผู้ก่อตั้งทรัสต์ต่อไป หรืออาจเกิดขึ้นได้เมื่อ ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้ ข. เพื่อให้ยึดถือเป็นทรัสต์เพื่อประโยชน์ของ ค. แต่เผอิญ ค. ตายเสียก่อน ก. ดังนี้ทรัสต์ตามพินัยกรรมย่อมไม่มีผล แต่ก็จะเห็นตามเจตนาของ ก. ว่า ก. ไม่ประสงค์ให้ ข. ได้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัตินั้น ดังนั้นเมื่อ ก. ตาย ข. ย่อมต้องยึดถือทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์ของทายาทของ ก. สืบไป

         ทรัสต์โดยการสมมุติ คือทรัสต์ที่เกิดขึ้นโดยการสมมุติของ เอ๊กควิตี้ โดยไม่คำนึงถึงเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินนั้นว่าประสงค์จะให้มีทรัสต์ขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากทางเอ๊กควิตี้ถือว่า ถ้าปล่อยให้ผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วก็ จะเป็นการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่เจ้าของทรัพย์มีต่อตน และเป็นการขัดต่อความเป็นธรรมด้วย เอ๊กควิตี้ จึงสมมุติว่าผู้นั้นยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ในฐานะเป็นทรัสตี ทรัสต์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ก. มอบรถยนต์ 1 คันให้ ข. ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของ ค. ถ้า ข. โดยสมยอมโอนทรัพย์สินนั้นให้ ง. โดยมิได้รับความยินยอมจาก ค. และ ง. รู้ว่ารถยนต์นั้นตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ ถือว่า ง. เป็นทรัสตีของรถยนต์คันนั้นเพื่อ ค. โดยการสมมุติของเอ๊กควิตี้ หรือตัวอย่างคดีที่มีชื่อของอังกฤษคือ คดี Keech v. Sandford ข้อเท็จจริงมีว่าผู้เช่าตลาดแห่งหนึ่งได้ทำพินัยกรรมมอบสิทธิในการเช่านั้นให้ทรัสตี เพื่อประโยชน์ของบุตรของผู้เช่า ต่อมาก่อนจะสิ้นสัญญาเช่า ทรัสตีได้ขอต่ออายุการเช่าเพื่อบุตรของผู้เช่านั้น แต่ผู้ให้เช่าไม่ยอม ทรัสตีจึงขอทำสัญญาเช่าต่อเพื่อตนเอง ซึ่งผู้ให้เช่ายอม ศาลถือว่าทรัสตีต้องถือสัญญาเช่านั้น เพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เช่าเดิมต่อไป

        นอกจากนี้ ทรัสต์โดยการสมมุตินี้อาจเกิดขึ้นได้ โดยการที่ทรัสตีใช้ตัวทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์เพื่อหากำไรให้ตนเอง กำไรที่ได้มาก็ต้องยึดถือไว้ในฐานะเป็นทรัสตีเช่นกัน หรือเมื่อผู้ขายตกลงขายทรัพย์สินให้ผู้ซื้อ ระหว่างที่การซื้อขายยังไม่สมบูรณ์นั้น ถือว่าผู้ขายเป็นทรัสตีของทรัพย์สินที่ตกลงขายนั้น และยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อ หรือเมื่อผู้รับจำนองขายทรัพย์ที่จำนองได้เงินเกินกว่าหนี้จำนอง ก็ต้องยึดถือเงินส่วนที่เกินนั้นในฐานะเป็นทรัสตีแทนผู้จำนองหรือผู้รับจำนองหลัง ๆ ถ้าหากมี

        2. ทรัสต์ธรรมดา (Simple or Bare trust) และทรัสต์พิเศษ (Special trust) การแบ่งเช่นนี้ถือตามหน้าที่ของทรัสตีที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ให้ไว้

         ทรัสต์ธรรมดา คือทรัสต์ซึ่งทรัสตีมีหน้าที่แต่เพียงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินไว้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่อื่นใดที่จะต้องกระทำอีก เช่น ก. ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ ข. เพื่อให้ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของ ค. ดังนี้หน้าที่ของ ข. ก็มีแต่เพียงคอยส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ ค. หรือจำหน่ายทรัพย์สินตามที่ ค. ต้องการเท่านั้น

         ทรัสต์พิเศษ คือทรัสต์ซึ่งทรัสตีมีหน้าที่จะต้องทำอะไรบางอย่างตามคำสั่งของผู้ก่อตั้งทรัสต์ เช่น ข้อความในพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์มีว่า ให้ทรัสตีเป็นผู้เก็บค่าเช่าผลประโยชน์จากทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ และใช้จ่ายในการบำรุงรักษา หรือประกันตัวทรัพย์สินนั้น และมอบเงินทีเหลือนั้นให้ผู้รับประโยชน์ไปตลอดชีวิต ทรัสต์พิเศษนี้ ส่วนมากได้แก่ ทรัสต์ที่ให้จัดการขายทรัพย์สิน (Trust for sale) และเอาเงินที่ขายได้ชำระหนี้สินของเจ้าของทรัพย์

        3. ทรัสต์ที่ก่อตั้งเสร็จแล้ว (Executed trust) และทรัสต์ที่ก่อตั้งยังไม่เสร็จ (Executory trust)

         ทรัสต์ที่ก่อตั้งเสร็จแล้ว คือทรัสต์ที่ได้ก่อตั้งกำหนดตัวทรัพย์ และหน้าที่ของทรัสตีไว้แน่นอนแล้วไม่จำต้องทำอะไรต่อไปอีก

         ทรัสต์ที่ก่อตั้งยังไม่เสร็จ คือทรัสต์ที่ยังมิได้ก่อตั้งกำหนดตัวทรัพย์สินและหน้าที่ของทรัสตีให้แน่นอนไป ซึ่งอาจเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่กรณีว่าจะก่อตั้งทรัสต์จากทรัพย์สินบางอย่างขึ้น หรืออาจเป็นเพียงคำสั่งในพินัยกรรมสั่งให้ทรัสตีจัดการซื้อที่ดิน และจัดการตั้งเป็นทรัสต์ขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ทายาทของผู้ทำพินัยกรรมนั้นเป็นต้น         บิดายกที่ดิน 1 แปลงให้ทรัสตีเพื่อให้ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของบุตรสาว และตกลงไว้ด้วยว่าจะโอนหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่งให้แก่ทรัสตีคนนั้น เพื่อให้ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์แก่บุตรสาวในทำนองเดียวกัน ดังนี้สำหรับที่ดินถือว่าเป็นทรัสต์ก่อตั้งเสร็จแล้ว ส่วนหุ้นนั้นเป็นทรัสต์ที่ก่อตั้งยังไม่เสร็จ หรือในกรณีของ ก. และ ข. จะแต่งงานกัน ได้ตกลงกันว่าจะให้ยึดถือทรัพย์สินบางอย่างเป็นทรัสต์ เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุตรที่จะเกิดมา ดั่งนี้เป็นเพียงทรัสต์ที่ก่อตั้งยังไม่เสร็จ เพราะยังจะต้องทำตราสารกำหนดตัวทรัพย์ และตัวทรัสตี ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับให้แน่นอนไปอีกทีหนึ่ง

        4. ทรัสต์เพื่อเอกชน (Private Trust) และ ทรัสต์เพื่อสาธารณะหรือเพื่อการกุศล (Public or Charitable Trust)

         ทรัสต์เพื่อเอกชน คือทรัสต์ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของเอกชนคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มชนใดชนหนึ่ง

         ทรัสต์เพื่อสาธารณะหรือเพื่อการกุศล คือทรัสต์ที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือความผาสุกของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้รับประโยชน์แต่ก็หามีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้ปฏิบัติตามทรัสต์นั้นได้ไม่ สิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับนั้นตกอยู่แก่ Attorney General

        5. ทรัสต์ลับ (Secret Trust) ซึ่งแบ่งเป็นลับทั้งหมด (Fully secret trust) และลับเพียงครึ่งเดียว (Half secret trust)

         ทรัสต์ลับทั้งหมด เกิดขึ้นเมื่อ ก. ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ ข. โดยมิได้บอกในพินัยกรรมเลยว่า ข. จะต้องยึดถือไว้ในฐานะเป็นทรัสตี แต่ว่าก่อนทำพินัยกรรมก็ดี หรือภายหลังก็ดี ก. ได้บอกให้ ข. รู้ว่า ข. จะต้องยึดถือไว้ในฐานะเป็นทรัสตีของ ค. ถ้า ข. ตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายด้วย ถือว่ามีทรัสต์เกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นทรัสต์ลับ ซึ่ง ค. ผู้รับประโยชน์ชอบจะบังคับได้

        ถ้าผู้รับพินัยกรรมมี 2 คน และคนหนึ่งรับจะเป็นทรัสตีตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม ส่วนอีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นด้วย ศาลอังกฤษได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในคดี Re Stead ดังนี้

ถ้า ก. ชัดจูง ค. ให้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ก. และ ข. โดยให้มีส่วนที่แน่นอนในตัวทรัพย์สินร่วมกัน (Tenants in common) และ ก. แต่ผู้เดียวสัญญาหรือยอมรับโดยปริยายว่า ก. และ ข. จะปฏิบัติตามคำสั่งของ ค. แต่ ข. มิได้รู้เห็นกับ ก. ด้วยดังนี้ ก. ย่อมผูกพันตามสัญญาที่ตนให้ไว้กับ ค. แต่ ข. ไม่ผูกพัน
ถ้า ค. ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ ก. และ ข. โดยให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่มิได้กำหนดว่าใครมีส่วนเท่าใด (Joint tenants) และ ก. แต่ผู้เดียวสัญญาต่อ ค. ก่อนทำพินัยกรรม สัญญานั้นย่อมผูกพันทั้ง ก. และ ข.
ถ้า ค. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ก. และ ข. โดยให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และ ก. สัญญาต่อ ค. หลังจากที่ ก. ทำพินัยกรรม ดังนี้ ก. แต่ผู้เดียวผูกพันตามสัญญา
         ทรัสต์ลับเพียงครึ่งเดียว เกิดขึ้นเมื่อพินัยกรรมที่ยกทรัพย์สินให้นั้น มีข้อความว่าได้ยกทรัพย์สินให้ในฐานะเป็นทรัสตี แต่มิได้ระบุต่อไปว่าทรัสตีจะต้องยึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของใคร และต้องจัดการอย่างใด ดังนี้ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้แจ้งให้ผู้รับทรัพย์สินทราบก่อน หรือในขณะทำพินัยกรรมว่า ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อผู้ใดและให้จัดการอย่างใด ทั้งได้แจ้งในพินัยกรรมด้วยว่าได้บอกข้อความนี้ในทรัสตีทราบแล้ว ทรัสตีย่อมผูกพันตามคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรมนั้น ทรัสต์เช่นว่านี้มักมีข้อความว่า ข้าพเจ้าของทำพินัยกรรมมอบที่ดิน 1 แปลงให้ ข. ในฐานะเป็นทรัสตี ตามที่ข้าพเจ้าได้บอกให้ทราบแล้ว

        6. ทรัสต์สุดแล้วแต่ใจของทรัสตี (Discretionary trust) และทรัสต์กำหนดวิธีการป้องกันไว้ (Protective trust)

         ทรัสต์สุดแล้วแต่ใจของทรัสตี คือ ทรัสต์ที่มิได้กำหนดให้ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับประโยชน์รายได้อย่างใดจากตัวทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้น หากแต่กำหนดให้อยู่ในอำนาจของทรัสตีที่จะแบ่งปัน หรือชำระผลประโยชน์รายได้นั้นให้ตามที่ทรัสตีเห็นสมควร

         ทรัสต์กำหนดวิธีการป้องกันไว้ คือ ทรัสต์ที่มีข้อกำหนดว่า ถ้าผู้รับประโยชน์ต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวทรัพย์สินโดยพยายามจะจำหน่าย โอนหรือโดยประการใดตามที่กำหนดไว้ ผู้รับประโยชน์ย่อมหมดสิทธิในผลประโยชน์รายได้ของตัวทรัพย์สินนั้น และทรัสต์นั้นกลายเป็นทรัสต์สุดแล้วแต่ใจของทรัสตีขึ้นมา เพื่อตัวผู้รับประโยชน์เอง คู่สมรส หรือบุตรของผู้นั้น ทรัสต์เช่นว่านี้มีกล่าวโดยละเอียดใน มาตรา 33 แห่ง Trustee Act, 1925 ซึ่งประกอบด้วยหลัก 2 ประการ คือ

ทรัสต์นั้นให้ผลประโยชน์ หรือรายได้จากตัวทรัพย์สิน ภายใต้ทรัสต์แก่ผู้รับประโยชน์ตลอดชีวิต หรือในเวลาที่สั้นกว่า และมีข้อกำหนดว่าทรัสต์นั้นจะสิ้นสุด เมื่อมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นพยายามจำหน่ายโอนตัวทรัพย์สินนั้น) เกิดขึ้น
เมื่อทรัสต์เช่นว่านั้นสิ้นสุดแล้ว ทรัสต์ซึ่งสุดแล้วแต่ใจของทรัสตีจะเกิดขึ้นมาแทนที่ทันที
[แก้ไข]
ถ้อยคำที่ใช้ในการก่อตั้งทรัสต์
        ทรัสต์โดยปริยายหรือโดยการสมมุติ เป็นทรัสต์ที่เกิดขึ้นโดยการสันนิษฐานทางเอ๊กควิตี้เอาจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์สิน และโดยการสมมุติเอาเองโดยเจ้าของทรัพย์สินมิได้ตั้งใจจะให้มีทรัสต์เกิดขึ้นเลย ดังนั้นปัญหาการใช้ถ้อยคำจึงไม่เกิดขึ้น การใช้ถ้อยคำในการก่อตั้งทรัสต์นั้นจะมีได้ก็แต่ในทรัสต์ประเภทชัดแจ้ง หรือทรัสต์ที่ก่อตั้งโดยตรงเท่านั้น

        ทรัสต์ที่ก่อตั้งโดยชัดแจ้งนั้นจะสมบูรณ์ผูกพันคู่กรณีทุกฝ่ายได้ จะต้องเข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ดังนี้

ผู้ก่อตั้งจะต้องใช้ถ้อยคำซึ่งพอจะอนุมานให้เห็นเจตนาของผู้ก่อตั้งว่า ประสงค์จะให้มีทรัสต์ขึ้นจากทรัพย์สินที่แน่นอน และทรัสต์นั้นเพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์อันจะกำหนดตัวได้แน่นอน หรือซึ่งท่าน Lord Longdale ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในคดี Knight v. Knight ว่าในการก่อตั้งทรัสต์นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ
        ก. ถ้อยคำที่ใช้จะต้องส่อให้เห็นว่าเป็นคำสั่ง

        ข. เนื้อหา (Subject – matter) ของทรัสต์ต้องแน่นอน และ

        ค. บุคคลผู้จะได้รับประโยชน์ต้องสามารถกำหนดตัวได้แน่นอน

ถ้าทรัสต์ก่อตั้งเพื่อผู้รับประโยชน์โดยเสน่หา (กล่าวคือ ขาดคอนซิเดอเรชั่นที่มีค่า) ผู้ก่อตั้งจะต้องแสดงเจตนาที่จะก่อตั้งทรัสต์ ในพินัยกรรมหรือได้ตั้งคนเองเป็นทรัสตี หรือได้มีการโอน หรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีแล้ว
ทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้นจะต้องอยู่ในสภาพที่สามารถก่อตั้งทรัสต์ได้
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งทรัสต์นั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย
        แม้ว่าจะเข้าหลักเกณฑ์ครบถ้วนดั่งกล่าวข้างต้นแล้วก็ตาม ทรัสต์ยังอาจเสียไปได้โดย

ผู้ก่อตั้งหรือผู้รับประโยชน์ ไม่มีความสามารถตามกฎหมายที่จะก่อตั้ง หรือรับประโยชน์ได้
ทรัสต์ที่ก่อตั้งเพื่อโกงเจ้าหนี้ อาจถูกเจ้าหนี้เพิกถอนเสียได้ โดยอาศัยกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ (ตามกฎหมายอังกฤษคือ Law of Property Act, 1925 มาตรา 172 และ Bankruptcy Act, 1914 มาตรา 42)
เมื่อมีผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นจากเจ้าของโดยสุจริต และไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ภายใต้ทรัสต์ ทรัสต์นั้นย่อมไม่ผูกพันผู้ซื้อเช่นว่านี้
        การก่อตั้งทรัสต์โดยชักแจ้งนี้หาจำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ เพียงแต่พูดบอกด้วยวาจาธรรมดาก็ใช้ได้ เว้นแต่การนำที่ดินหรือผลประโยชน์ของที่ดินมาก่อตั้ง Law of Property Act, 1925 มาตรา 53 ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ก่อตั้ง การทำเป็นหนังสือนี้ก็ไม่จำต้องทำตามแบบพิเศษใด ๆ เพียงแต่ให้มีข้อความให้ชัดแจ้งครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 เท่านั้น

         ถ้อยคำที่ใช้แสดงโดยแจ้งชัด หรือเพียงพอที่จะอนุมานได้ว่าผู้ก่อตั้งทรัสต์นั้นตั้งใจจะให้มีทรัสต์ขึ้น ดังนั้นถ้อยคำนั้นต้องชัดเจนพอ เพียงแต่ถ้อยคำที่ว่า อยากจะเห็นว่า หวังว่า คิดว่า เชื่อว่า ผู้รับทรัพย์สินจะยึดถือทรัพย์สินนั้น หรือจะจัดการกับทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์ของบุคคลที่สามเท่านั้น จึงไม่แน่นอนพอที่จะถือว่าเจ้าของทรัพย์ประสงค์จะให้มีทรัสต์ขึ้น ผู้รับทรัพย์สินจึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นโดยเด็ดขาด

        ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้ภริยา “เพื่อให้จัดการจำหน่าย จ่าย โอน ตามใจชอบ เพื่อประโยชน์ของเธอเองและครอบครัว” ถืว่าไม่มีทรัสต์เพื่อครอบครัวเกิดขึ้น (Lambe v. Eames)

        เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ภริยา “ด้วยมั่นใจว่าเธอคงจะใช้ความเป็นธรรมแบ่งทรัพย์สินนั้นระหว่างบุตร ๆ ของข้าพเจ้า” ถือว่าไม่เป็นทรัสต์ (Re Adams and the Kensington Vestry)

        ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้บุตรสาว และมีข้อความในพินัยกรรมว่าเป็นความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้เธอจ่ายเงินรายปีให้ ข. ปีละ 25 ปอนด์ ตลอดเวลาที่เธอยังมีชีวิตอยู่” ถือว่าไม่มีทรัสต์สำหรับเงินรายปีนั้น (Re Diggles)

        ก. ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้หลานชาย 2 คน โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้หลานทั้งสองนี้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่ครอบครัว ข. และ ค. เท่า ๆ กัน” ถือว่าหลานทั้งสองได้ทรัพย์สินไปเป็นสิทธิขาดไม่มีทรัสต์ เพื่อประโยชน์ของครอบครัว ข. และ ค. (Re Hamilton)

         เนื้อหาของทรัสต์ต้องแน่นอน เนื้อหานี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ตัวทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ และผลประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ได้รับประโยชน์ทั้งตัวทรัพย์และผลประโยชน์นี้จะต้องกำหนดไว้แน่นอน ถ้าหากขาดความแน่นอนในข้อหนึ่งข้อใดไป ทรัสต์นั้นไม่มีผล จะบังคับฟ้องร้องกันมิได้

        ตัวอย่างเช่น ก. ยกทรัพย์ให้ภริยาและสั่งว่า “ทรัพย์สินส่วนซึ่งภริยาข้าพเจ้าไม่ต้องการ เมื่อเธอตายแล้วให้ยึดถือเป็นทรัสต์เพื่อบุตรของข้าพเจ้า” ถือว่าทรัสต์นั้นเป็นโมฆะ เพราะขาดความแน่นอนในตัวทรัพย์ เพราะไม่อาจกำหนดไว้ว่าทรัพย์สินใดบ้างที่ภริยาต้องการและไม่ต้องการ หรือเช่น ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ ข. และสั่งว่าเมื่อ ข. ตาย ทรัพย์สินนี้ซึ่ง ข. มิได้ขายหรือจำหน่ายไป จะต้องยึดถือเป็นทรัสต์เพื่อ ค. ดังนี้ ทรัสต์นั้นไม่มีผล

        เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกเรือนทั้งหมดให้ทรัสตียึดถือ เพื่อประโยชน์ของภริยาตลอดชีวิต เมื่อภริยาตายให้ยึดถือเรือน 1 หลังสุดแล้วแต่ ก. จะเลือกเพื่อประโยชน์ของ ก. บุตรสาว และเรือนที่เหลือให้ยึดถือไว้เพื่อประโยชน์ของ ข. บุตรสาวอีกคนหนึ่ง ปรากฏว่า ก. ตายก่อนเจ้ามรดก จึงไม่อาจเลือกเรือน 1 หลังไว้ได้ ถือว่าทรัสต์เพื่อประโยชน์ของ ข. เป็นโมฆะ เพราะทรัสตีไม่อาจรู้ได้ว่าเรือนที่เหลือหลังไหนบ้างที่จะยึดถือไว้เพื่อ ข. (Boyce v. Boyce)

         บุคคลผู้จะรับประโยชน์ต้องสามารถกำหนดตัวได้แน่นอน ถ้าผู้จะรับประโยชน์ไม่สามารถจะกำหนดตัวได้ในขณะก่อตั้งทรัสต์ หรือไม่สามารถหยั่งทราบได้แน่นอนจากเจตนาของผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสต์เพื่อประโยชน์ของผู้นั้นย่อมมีมิได้ แต่โดยที่เจ้าของทรัพย์สินไม่ประสงค์จะให้ทรัสตีผู้ได้รับทรัพย์สินนั้น ยึดถือทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเอง ทรัสตีจึงต้องยึดถือทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้นเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้ง หรือทายาทของผู้ก่อตั้งถ้าผู้ก่อตั้งตาย แต่มีข้อยกเว้นในเรื่องทรัสต์เพื่อการกุศล กล่าวคือแม้ว่าผู้รับประโยชน์จะยังไม่อาจกำหนดตัวได้แน่นอน ก็หาทำให้ทรัสต์นั้นเสียไปไม่ เช่น อาจมอบทรัพย์สินให้ทรัสตีเพื่อให้จัดการเก็บผลประโยชน์ และมอบรายได้เพื่อบำรุงการศึกษาตามที่ทรัสตีเห็นสมควร ดังนี้เป็นทรัสต์ที่สมบูรณ์

        ก. ตกลงจะยึดถือทรัพย์สินตามพินัยกรรมเพื่อประโยชน์ของบุคคล ๆ หนึ่งซึ่งเจ้ามรดกจะบอกชื่อให้ในภายหลัง แต่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมิได้บอกชื่อผู้รับประโยชน์แก่ ก. เลย เมื่อเจ้ามรดกตายแล้ว ก. จึงพบจดหมายของเจ้ามรดกบอกชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ ดังนี้ถือว่าผู้ที่มีชื่อนั้นหามีสิทธิได้รับประโยชน์ตามทรัสต์นั้นไม่ ทรัพย์สินนั้นตกเป็นมรดกของเจ้ามรดกต่อไป (Re Boyes)

        เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ ข. “ด้วยความเชื่อมั่นว่า ข. จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินนั้นทั้งหมดให้แก่ผู้ที่เป็นทายาทของบิดาข้าพเจ้า ตามที่ ข. เห็นสมควร” ถือว่าไม่สามารถกำหนดตัวทายาที่แน่นอนได้ (Meredith v. Heneage)

[แก้ไข]
ทรัสต์เพื่อการกุศล
        อะไรคือการกุศลนั้นยากที่จะให้คำจำกัดความโดยสมบูรณ์ได้ แต่อาจอาศัยแนวทางจากคำพิพากษาของศาล หรือกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นเครื่องช่วยการวินิจฉัยว่า อย่างใดคือการกุศล และอย่างใดไม่ใช่ กฎหมายที่ศาลอังกฤษถือเป็นแนวคือคำปรารภใน Statute of Elizabeth 1601 และคดีที่ถือเป็นหลักคือคดี Pemsel แต่แม้ว่าการใดจะมีวัตถุประสงค์เข้าอยู่ในข่ายของคำปรารภในกฎหมายดั่งกล่าว และเข้าเกณฑ์ในคดี Pemsel แล้วก็ตาม ก็หาใช่ว่าการนั้นจะต้องเป็นการกุศลเสมอไปไม่ การนั้นจะเป็นการกุศลก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย

        ตามคำปรารภใน Statute of Elizabeth นั้น ถือว่าการใดที่มีวัตถุประสงค์ต่อไปนี้เป็นการกุศล

        การช่วยเหลือคนชรา คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ และคนยากจน

        การเลี้ยงดูทนุบำรุงทหารผู้ป่วยเจ็บทุพพลภาพ โรงเรียนและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

        การซ่อมแซมสะพาน ท่าเรือ ที่จอดเรือ ถนน โบสถ์ ฝั่งทะเลและทาง

        การศึกษาและการอุดหนุนเด็กกำพร้า

        การช่วยเหลือ การจัดหาอาหาร หรือทนุบำรุงเรือนจำ

        การแต่งงานของสตรีผู้ยากจน

        การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ พ่อค้า ช่างที่อายุยังเยาว์และบุคคลผู้ที่การงานกำลังเสื่อมโทรม

        การช่วยเหลือหรือไถ่ตัวนักโทษหรือเชลย

        การช่วยเหลือหรือบรรเทาคนยากจนในการชำระภาษีอากร

        ตัวอย่างที่ให้ไว้ใน Statute of Elizabeth นี้มิได้หมายความว่า การอื่นที่มิได้ระบุไว้จะมิใช่การกุศล การใดที่มีวัตถุประสงค์ถ้าอยู่ในข่าย แม้จะมิได้ระบุไว้ ก็อาจเป็นการกุศลได้ ฉะนั้น Lord Macnaghten จึงได้กล่าวไว้ในคดี Pemsel ว่าทรัสต์เพื่อการกุศล อาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ

ทรัสต์เพื่อบรรเทาความยากจน
ทรัสต์เพื่อส่งเสริมการศึกษา
ทรัสต์เพื่อส่งเสริมการศาสนา และ
ทรัสต์เพื่อประโยชน์แก่ชุมชน (Community) ซึ่งไม่เข้าอยู่ในข่ายแห่งทรัสต์ในประเภท 1 ถึง 3 ดั่งกล่าวข้างต้น
        ทรัสต์ประเภทที่ 2 ถึง 4 ต้องเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะด้วย ส่วนประเภทที่ 4 นอกจากเพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว ยังต้องเข้าอยู่ในวัตถุประสงค์ของ Statute of Elizabeth อีกประการหนึ่ง ดังนั้นทรัสต์ที่ตั้งขึ้นเพื่อแม่ชีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะก็ดี เพื่อการศึกษาเฉพาะของลูกหลานของผู้หนึ่งผู้ใดก็ดี เพื่อการกุศลในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งก็ดี จึงไม่ถือว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศล แต่ทรัสต์เพื่อสาธารณประโยชน์ของประเทศถือว่าเพื่อการกุศล เมื่อ พ.ศ. 2501 อังกฤษได้มีกฎหมายฉบับใหม่ชื่อว่า Recreational Charities Act, 1958 ผ่อนผันให้ถือว่าทรัสต์บางอย่างซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสวัสดิการ และการหย่อนใจของประชาชนบางหมู่บางพวกเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลด้วย

        การยกทรัพย์สินให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการกุศลโดยให้แก่ตำแหน่ง มิใช่ให้แก่บุคคลนั้นเป็นส่วนตัวแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นการให้ในฐานะทรัสตีเพื่อการกุศล แม้ว่าจะมิได้ระบุไว้เลยว่า จะให้จัดการกับทรัพย์สินนั้นอย่างไร เพราะย่อมถือได้โดยปริยายว่าทรัพย์สินนั้นจะต้องใช้สอยเพื่อประโยชน์ที่ผู้รับทรัพย์สินนั้นมีตำแหน่งหน้าที่จะต้องปฏิบัติอยู่ กล่าวคือ หน้าที่เกี่ยวกับการกุศลนั้นเอง ฉะนั้นจึงมีคดีตัวอย่างในศาลอังกฤษหลายคดีซึ่งพิพากษาว่า การยกทรัพย์สินให้อาจมิชอบแห่งโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ในขณะยกให้ หรือให้แก่วิคการ์ เพื่อให้ใช้สอยเกี่ยวแก่โบสถ์ตามที่เห็นสมควร จึงเป็นทรัสต์เพื่อการกุศล แต่ถ้าวัตถุประสงค์ของทรัสต์นั้นไม่ใช่เพื่อการกุศลแล้ว เพียงแต่มอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการกุศลเท่านั้น หาทำให้ทรัสต์นั้นกลายเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลขึ้นมาได้ไม่ เช่น มอบทรัพย์ให้แก่วิคการ์เพื่องานในเขตท้องที่ของตน แต่ถ้ายกให้วิคการ์เพื่องานของตนในเขตท้องที่ ถือว่าเป็นการยกให้เพื่อการกุศล ทั้งนี้เพราะงานในเขตท้องที่วิคการ์ ตามตัวอย่างแรกอาจไม่ใช่งานในหน้าที่ของวิคการ์ก็ได้

[แก้ไข]
ข้อแตกต่างระหว่างทรัสต์เพื่อเอกชนและทรัสต์เพื่อการกุศล
        1. เมื่อผู้รับประโยชน์ไม่แน่นอน ถ้าเป็นทรัสต์เพื่อเอกชน ทรัสต์นั้นไม่มีผลและบังคับกันมิได้ ผู้ยึดถือทรัพย์สินนั้นจึงต้องยึดถือไว้แทนผู้ก่อตั้งทรัสต์ แต่ถ้าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศล ทรัสต์นั้นหาเสียไปไม่ ยังมีผลใช้ได้อยู่ และศาลย่อมจะให้ทรัสตียึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของการกุศลที่คล้ายคลึง หรือมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกับที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์เจตนาจะให้ได้รับประโยชน์นั้นอยู่ วิธีการนี้เรียกว่า Cy – pres Doctrine แต่ศาลจะนำวิธีนี้มาใช้ได้ ก็ต่อเมื่อ

ปรากฏชัดแจ้งจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินว่า ตั้งใจจะมอบทรัพย์สินนั้นให้เพื่อการกุศลไม่ว่าด้วยประการใด ๆ และ
การจะค้นหาผู้รับประโยชน์ดังเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินนั้นไม่สามารถทำได้ หรือเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ก่อตั้งทรัสต์นั้น เช่น องค์การกุศลนั้นล้มเลิกไปเสียก่อนที่ทรัสต์จะมีผลเป็นต้น
        ถ้าทรัสต์เพื่อการกุศลมีผลบังคับได้ตั้งแต่แรก แต่ไม่อาจปฏิบัติต่อไปได้ในภายหลัง เพราะผู้รับประโยชน์ล้มเลิก หรือกิจการนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ดั่งนี้ ศาลย่อมใช้วิธีการ Cy – pres ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเจตนาของเจ้าของทรัพย์สิน เว้นแต่จะมีข้อความในตราสารก่อตั้งทรัสต์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ว่าเจ้าของทรัพย์สินไม่ประสงค์จะให้มีทรัสต์นั้นอีกต่อไป

        2. เมื่อผู้รับประโยชน์ไม่ใช่บุคคล ถ้าเป็นทรัสต์ธรรมดา ทรัสต์นั้นไม่อาจบังคับกันได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะเป็นโมฆะ เว้นแต่จะขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นถ้าทรัสตีอยากจะปฏิบัติตามคำสั่งในทรัสต์นั้น ก็ไม่มีอะไรห้าม ถ้าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลแล้วย่อมมีผลใช้บังคับได้โดยชอบ และตกเป็นหน้าที่ของ Attorney General ที่จะต้องเรียกร้องบังคับต่อไป

        3. กฎเพอเพททุยที่ (Perpetuity Rule) กฎในเรื่องนี้มีว่า การให้หรือจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ แก่บุคคลซึ่งยังไม่มีตัวแน่นอนในขณะให้หรือจำหน่ายนั้น จะต้องอยู่ในระยะเวลาชั่วชีวิตของผู้รับคนก่อน ๆ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในขณะจำหน่ายทรัพย์สินนั้น กับอีก 21 ปี หลังจากผู้รับคนสุดท้ายตาย (อาจรวมระยะตั้งครรภ์เข้าไปได้) การให้หรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ให้มีผลภายหลังระยะเวลานี้เป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น ก. ยกที่ดิน 1 แปลงให้ ข. (ชายโสด) เพื่อให้ทำกินตลอดชีวิต และเมื่อ ข. ตายแล้ว ยกให้แก่บุตรของ ข. คนแรกที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต ดังนี้การยกที่ดินให้บุตรของ ข. นั้นเป็นโมฆะ เพราะในขณะ ก. ยกที่ดินให้ ข. นั้น บุตร ข. ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นผู้ที่มีชีวิตในขณะที่ ก. ยกที่ดินให้นั้น คือ ข. คนเดียว และบุตรของ ข. ที่เกิดมา แม้จะเกิดมาในระหว่างที่ ข. ยังมีชีวิตอยู่ก็อาจสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตเมื่อมีอายุเกินกว่า 21 ปีแล้วก็ได้ ฉะนั้นการยกที่ดินให้บุตร ข. ดั่งกล่าวจึงเลยระยะเวลาเพอเพททุยที่ (ชีวิต ข. + 21 ปี)

        ทรัสต์เพื่อเอกชนตกอยู่ในกฎนี้ ฉะนั้นถ้า ก. มอบที่ดินให้ทรัสตีเพื่อให้ยึดถือไว้เป็นประโยชน์ของ ข. และเมื่อ ข. ตายแล้วเพื่อประโยชน์ของบุตร ข. โดยมีเงื่อนไขดั่งตัวอย่างข้างต้น ทรัสต์เพื่อบุตรของ ข. เป็นโมฆะ

        ทรัสต์เพื่อการกุศลได้รับยกเว้นไม่เข้าอยู่ในกฎนี้ ฉะนั้น ก. อาจมอบที่ดินให้ทรัสตีเพื่อให้จัดการหาผลประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาล ก. และถ้าเกิดสงครามโลกครั้งที่สามให้เปลี่ยนเป็นจัดหาผลประโยชน์เพื่อบรรเทาคนยากจน ดั่งนี้แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สามอาจไม่เกิดจนกว่าโรงพยาบาล ก. ล้มเลิกแล้ว ตั้ง 21 ปีกว่าก็ตาม ก็ถือว่าทรัสต์เพื่อคนยากจนยังคงมีผลใช้ได้อยู่ แต่ถ้าเป็นการมอบหมายทรัพย์ให้ยึดถือเป็นทรัสต์เพื่อเอกชนและต่อด้วยทรัสต์เพื่อการกุศล หรือเป็นการมอบทรัพย์ให้ยึดถือไว้เป็นทรัสต์เพื่อการกุศล และต่อด้วยทรัสต์เพื่อเอกชน ย่อมไม่ได้รับยกเว้นจากกฎนี้

        4. กฎว่าด้วยการห้ามโอนทรัพย์สิน การจำหน่ายหรือโอนทรัพย์สินใด โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้โอนทรัพย์สินนั้นอีกต่อไป ย่อมเป็นโมฆะ ทรัสต์เพื่อเอกชนก็เข้าอยู่ในกฎนี้ ฉะนั้นการมอบที่ดินให้ทรัสตีเก็บผลประโยชน์บำรุงสมาคม ก. เรื่อยไปโดยไม่มีกำหนดเวลานั้นย่อมเป็นโมฆะ (การให้เก็บแต่ผลประโยชน์ย่อมหมายความว่า ทรัสตีจะจำหน่ายหรือโอนที่ดินนั้นไม่ได้) แต่ทรัสต์เพื่อการกุศลได้รับยกเว้น ไม่ต้องห้ามตามกฎนี้

        5. การได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีเงินได้ ตาม Income Tax Act, 1952 ทรัสต์เพื่อการกุศลได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ทรัสต์เพื่อเอกชนมิได้รับการยกเว้นจากพระราชบัญญัตินี้เลย

        6. อำนาจของทรัสตี ว่าโดยหลักทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นทรัสต์เพื่อเอกชน ทรัสตีถ้ามีหลายคนจะทำการใดให้มีผลผูกพันทรัสตีคนอื่น ๆ มิได้เว้นแต่จะมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ส่วนทรัสต์เพื่อการกุศลนั้นความเห็นข้างมากของทรัสตีย่อมผูกมัดความเห็นของฝ่ายน้อย และมีผลบังคับได้

[แก้ไข]
จำนวนและอำนาจหน้าที่ของทรัสตี
        ทรัสตีจะมีกี่คนก็ได้ แต่ถ้ามีหลายคน ในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ เว้นแต่จะเป็นทรัสตีเพื่อการกุศลดั่งกล่าวข้างต้น ทั้งนี้มีข้อยกเว้นอยู่ในเรื่องทรัสต์อันเกี่ยวกับที่ดิน หรือผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดิน ตาม Trustee Act, 1925 มาตรา 34 จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 4 คน เว้นแต่ทรัสต์ที่ก่อตั้งมาก่อน ค.ศ. 1926 อาจมีจำนวนเกินกว่า 4 คนได้ แต่แม้กระนั้นก็ตามถ้าทรัสตีเหลือเพียง 4 คน หรือน้อยกว่า 4 คน จะตั้งทรัสตีใหม่เกินกว่า 4 คนหาได้ไม่ ถ้าผู้ก่อตั้งทรัสต์ตั้งทรัสตีเกินกว่า 4 คน ผู้ที่ระบุนาม 4 คนแรกและเต็มใจรับหน้าที่เท่านั้นเป็นทรัสตี ที่ว่าทรัสตีเกี่ยวกับที่ดินจะต้องมีจำนวนไม่เกิน 4 คนนี้ มีข้อยกเว้นอยู่ในเรื่องทรัสต์เพื่อการกุศล การศาสนา และเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งจะมีทรัสตีเท่าใดก็ได้ไม่มีจำนวนจำกัด จำนวนขั้นต่ำนั้นถ้าเป็นทรัสตีของสังหาริมทรัพย์ไม่มีข้อจำกัด แต่ถ้าเป็นทรัสตีเกี่ยวกับที่ดินแล้วอย่างน้อยจะต้องมี 2 คน หรือเป็นองค์การบริษัท (Trust corporation) เพราะตาม Trustee Act, 1925 มาตรา 14 ทรัสตีที่จะมีอำนาจออกใบรับเงินเกี่ยวกับการขายที่ดินได้จะต้องมี 2 คนหรือเป็นองค์การบริษัท

        อำนาจและหน้าที่ของทรัสตีนั้นมีอยู่กว้างขวางมาก และนับว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในเรื่องทรัสต์ หลักใหญ่ก็มีบัญญัติไว้ใน Trustee Act, 1925 แต่โดยที่ผู้เขียนตั้งใจจะให้บทความเรื่องนี้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น จึงขอกล่าวเรื่องนี้แต่โดยย่อและกว้าง ๆ

        ในการปฏิบัติหน้าที่ ทรัสตีจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในตราสารก่อตั้งทรัสต์ กฎทางเอ๊กควิตี้ และในกรณีจำเป็นตามคำสั่งของศาล ถ้าเป็นเรื่องต้องใช้ดุลพินิจ ทรัสตีจะต้องทำการโดยสุจริตและใช้ความระมัดระวัง เช่นบุคคลผู้มีอาชีพนั้น ๆ จะ พึงใช้พึงกระทำในอาชีพของตน ในการนำทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ไปลงทุนหาประโยชน์ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเสมือนหนึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นของตน และโดยเฉพาะควรจะลงทุนตามรายการที่บัญญัติไว้ใน Trustee Act, 1925 มาตรา 1 – 2 และ 5 ด้วย

        ทรัสตีจะต้องมีบัญชีรับจ่าย และต้องให้ผู้รับประโยชน์ตรวจดูตามที่จำเป็น ต้องแจ้งให้ผู้รับประโยชน์รู้ว่าตนได้จัดการกับตัวทรัพย์สินไปอย่างไรบ้าง

        ทรัสตีจะต้องไม่หาประโยชน์กำไรให้ตนเองจากตัวทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ หรือโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ หรือต้องไม่ทำการใดซึ่งมีผลประโยชน์ขัดกับหน้าที่ของตน ถ้าทรัสตีซื้อทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์จากตนเอง การซื้อขายนั้นอาจถูกเพิกถอนโดยผู้รับประโยชน์ได้ภายในเวลาอันสมควร แต่ถ้าทรัสตีซื้อทรัพย์สินนั้นจากผู้รับประโยชน์ การซื้อขายนั้นมีผลถ้าทรัสตีทำการโดยสุจริต มิได้ถือเอาประโยชน์จากการเป็นทรัสตีขู่บังคับ และราคาซื้อขายนั้นก็สมควร

        ทรัสตีไม่จำต้องคอยฟังคำสั่งของผู้รับประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เว้นแต่จะเป็นทรัสตีเพื่อให้ขายที่ดินอันเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย (Statutory trusts for sale of land) ซึ่งจะมีได้ตาม Law of Property Act, 1925 มาตรา 39 และ First Schedule, part IV เช่น ก. ยกที่ดิน 1 แปลงให้บุคคล 10 คน โดยมิได้ระบุว่าใครได้ส่วนเท่าใด ดังนี้บุคคล 4 คนแรกต้องยึดถือทิ่ดินนั้นในฐานะเป็นทรัสตีเพื่อขายที่ดินนั้นนำเงินมาแบ่งกัน กรณีเช่นนี้ทรัสตีต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้รับประโยชน์คนอื่น ถ้าผู้รับประโยชน์นั้นบรรลุนิติภาวะและต้องปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้

        ถ้าผู้รับประโยชน์บรรลุนิติภาวะและมีสิทธิในทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้นโดยเด็ดขาด ผู้รับประโยชน์อาจล้มเลิกทรัสต์นั้นและให้ทรัสตีมอบทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ให้ตนได้ ซึ่งทรัสตีจำต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ถือหลักที่วางไว้ในคดี Saunders v. Vautier

        ในบางกรณี ศาลอาจทำการควบคุมตรวจตราทรัสตี ให้คำแนะนำ แก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างทรัสตีและผู้รับประโยชน์ หรือแม้แต่เข้าจัดการทรัสต์เสียเองได้ และยังอาจมอบอำนาจให้แก่ทรัสตีเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในตราสารก่อตั้งทรัสต์ และที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรืออาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในตราสารก่อตั้งทรัสต์ได้ตามที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นธรรม

        ตามปกติทรัสตีจะโอนหรือมอบหมายอำนาจหน้าที่ของตนให้แก่ผู้อื่นมิได้ เพราะทรัสต์เป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื้อใจในตัวบุคคลที่จะมาเป็นทรัสดี แต่มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ทรัสตีอาจจ้างตัวแทน ทนายธนาคารให้ทำกิจการใดอันจำเป็นต้องกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของทรัสตีได้ หรืออาจจ้างผู้ชำนาญการเพื่อตีราคาหลักทรัพย์ของผู้ที่ทรัสตีประสงค์จะให้กู้เงิน ทั้งนี้โดยไม่ต้องรับผิดในการกระทำของตัวแทนเหล่านั้น ถ้าทรัสตีทำการโดยสุจริต นอกจากนี้ทรัสตีผู้ใดต้องการเดินทางไปอยู่ในต่างประเทศเกินกว่า 1 เดือน อาจมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการเป็นทรัสตีแทนชั่วคราวได้ แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ทรัสตีผู้มอบอำนาจนั้นจำต้องรับผิดในการกระทำของตัวแทนเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของตนเอง

[แก้ไข]
บำเหน็จและค่าทดแทนของทรัสตี
        ดั่งได้กล่าวมาแล้วว่าทรัสตีจะต้องไม่แสวงหากำไรให้ตนเอง จากทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ ฉะนั้น จึงเป็นหลักในเรื่องทรัสต์ว่า ทรัสตีไม่สมควรจะได้รับบำเหน็จตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ไม่ว่าจะต้องเหนื่อยยากหรือเสียเวลาเพียงไร แต่มีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีต่อไปนี้

ถ้าผู้รับประโยชน์บรรลุนิติภาวะแล้ว และตกลงจะให้บำเหน็จตอบแทนแก่ทรัสตี
เมื่อศาลมีคำสั่งให้จ่ายบำเหน็จรางวัลให้แก่ทรัสตี เพราะเหตุที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากกว่าปกติ หรือเมื่อศาลได้ตั้งองค์การบริษัทเป็นทรัสตี องค์การบริษัทนั้นย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามที่ศาลเห็นสมควร
เมื่อทรัสตีนั้นเป็นทรัสตีบางประเภท คือทรัสตีที่โดยตั้งศาล (Judicial trustee) ทรัสตีผู้มีหน้าที่ครอบครองควบคุมทรัพย์ภายใต้ทรัสต์ แต่ไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวแก่ตัวทรัพย์สิน (Custodian trustee) และเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดย Lord Chancellor ให้เป็นทรัสตี ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคล (Public trustee)
เมื่อทรัสตีเป็นทนายด้วย ย่อมมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดี
เมื่อตราสารก่อตั้งทรัสต์อนุญาตให้ทรัสตีเรียกร้องบำเหน็จรางวัลได้
        สำหรับค่าทดแทนนั้น ถ้าทรัสตีได้ใช้จ่ายไปตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายในการฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ ย่อมมีสิทธิได้รับชดใช้เอาจากตัวทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอาจเอาชดใช้จากผู้รับประโยชน์ได้ ถ้าผู้รับประโยชน์บรรลุนิติภาวะ และมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโดยเด็ดขาด หรือเมื่อผู้รับประโยชน์สัญญาโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะชดใช้ให้

[แก้ไข]
ความรับผิดของทรัสตี
        ทรัสตีผู้ละเว้นไม่กระทำการอันควรกระทำ หรือกระทำการอันควรละเว้นไม่กระทำในหน้าที่ได้ชื่อว่าทำละเมิดทรัสต์ (Breach of trust) และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับประโยชน์ ในเมื่อการละเมิดนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวทรัพย์ หรือแก่ผลประโยชน์ของผู้รับประโยชน์

        ถ้าทรัสตีมีหลายคน เฉพาะแต่ทรัสตีผู้ทำการละเมิดเท่านั้นที่ต้องรับผิด ทรัสตีคนอื่นหาจำต้องรับผิดร่วมด้วยไม่ เว้นแต่จะมีส่วนผิดหรือช่วยเหลือในการทำละเมิดนั้นด้วย

        ตามธรรมดาทรัสตีหาจำต้องรับผิดในการละเมิดของทรัสตีคนก่อน ๆ ตนขึ้นไปไม่ แต่ถ้าตนได้พบเห็นการกระทำละเมิดนั้นแล้ว ต้องจัดการเรียกร้องทรัสตีคนก่อนให้รับผิดชดใช้ มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดแทน

        ทรัสตีที่ลาออกจากหน้าที่ ก็ยังคงต้องรับผิดในการละเมิดที่ตนได้กระทำไว้ก่อนลาออก แต่หาจำต้องรับผิดในการละเมิดที่เกิดขึ้นภายหลังที่ตนได้ลาออกแล้วไม่ เว้นแต่ตนลาออกเพื่อให้มีการทำละเมิดนั้นขึ้น

        ถ้าทรัสตีผู้ทำละเมิด เป็นผู้รับประโยชน์จากทรัสต์นั้นด้วย ย่อมไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์นั้น จนกว่าจะได้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว

        ทรัสตีผู้กระทำละเมิดทรัสต์อาจไม่ต้องรับผิดในกรณีต่อไปนี้

เมื่อศาลพิพากษาว่า ทรัสตีไม่จำต้องรับผิด เพราะเหตุว่าได้กระทำไปโดยสุจริต มีเหตุสมควรและชอบที่จะได้รับยกเว้นจากการทำละเมิดนั้น
เมื่อคดีขาดอายุความ เว้นแต่จะเป็นการฉ้อโกงหรือทำละเมิดโดยกลฉ้อฉล หรือเมื่อทรัสตียักยอกทรัพย์สินหรือเงินค่าทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ ซึ่งอยู่ในครอบครองของตนมาเป็นประโยชน์ของตนเสีย
เมื่อทรัสตีถูกพิพากษาให้ล้มละลาย และได้รับการปลดจากล้มละลายนั้นแล้ว แต่การพ้นความรับผิดในกรณีนี้ หาคลุมไปถึงการละเมิดโดยกลฉ้อฉลไม่
เมื่อผู้รับประโยชน์บรรลุนิติภาวะ และรู้เหตุแห่งการละเมิดนั้นแล้ว ยังเพิกเฉยเสีย หรือตกลงไม่เอาความกับทรัสตี ย่อมหมดสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อทรัสตีผู้กระทำละเมิดนั้น
เมื่อทรัสตีทำละเมิดโดยการสนับสนุน หรือร้องขอหรือด้วยความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้รับประโยชน์ ศาลอาจพิพากษาให้นำผลประโยชน์จากตัวทรัพย์สินที่ควรได้แก่ผู้รับประโยชน์มาชดใช้แทนทรัสตีได้ตามที่เห็นสมควร
[แก้ไข]
ทางแก้ของผู้รับประโยชน์
        เมื่อมีการละเมิดทรัสต์เกิดขึ้นอันเป็นผลเสียหายแก่ผู้รับประโยชน์ เช่นทรัสตีเอาทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ไปแอบขายเอาเงินเป็นของตนเอง หรือเอาทรัพย์สินนั้นไปลงทุนทำการอันใดซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุน และเกิดขาดทุนขึ้นมา เช่นนี้ ทรัสตีจำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับประโยชน์ และผู้รับประโยชน์มีทางเรียกร้องหลายประการ กล่าวคือ

เมื่อรู้ตัวก่อนว่าทรัสตีจะทำการละเมิด ร้องต่อศาลขอให้สั่งห้ามทรัสตีมิให้ทำละเมิดนั้น
ฟ้องทรัสตีเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดของทรัสตี
ใช้สิทธิติดตามทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้น แต่โดยที่สิทธิของผู้รับประโยชน์ในตัวทรัพย์สินนั้นเป็นเพียงสิทธิทางเอ๊กควิตี้ ส่วนสิทธิตามกฎหมายอันแท้จริงอยู่ที่ตัวทรัสตีเอง ฉะนั้น ถ้าทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์ตกไปอยู่ในมือของทรัสตี (เช่นซื้อเอาเอง) ผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องในทางคอมมอนลอว์เอาจากทรัสตี ถ้าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ที่บุคคลอื่น ผู้รับประโยชน์ต้องให้ทรัสตีเป็นโจทก์ร่วมด้วย แต่ในทางเอ๊กควิตี้แล้ว ผู้รับประโยชน์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์คืนได้ ไม่ว่าจากบุคคลใดผู้ได้ทรัพย์สินนั้นไปตราบเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงสภาพเป็นอื่น ทั้งนี้มีข้อยกเว้นอยู่สำหรับผู้ที่ซื้อทรัพย์สินภายใต้ทรัสต์นั้นโดยสุจริต และไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ภายใต้ทรัสต์ผู้รับประโยชน์หาอาจเรียกคืนได้ไม่

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมุลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย