บทความร่างพระราชบัญญัติ ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
ศรีลา ทองกลาง บริษัท ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด www.lawonline.co.th

บทความร่างพระราชบัญญัติ ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา


“The Act for the Granting of Compensation to Aggrieved Parties and the Accused in Criminal Cases”
        ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 และสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 และขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อไป

        ที่มาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทน ผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 245 และมาตรา 246 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2540 บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญาของบุคคลอื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือได้รับผลแห่งความเสียหายนั้นโดยทางอื่นใด และเพื่อเป็นการรับรองสิทธิในการที่จะได้รับค่าทดแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งหากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้น โดยข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

        บุคคลผู้ซึ่งมีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้แก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา แต่ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่ทั้ง ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายแล้วแต่กรณี ทายาทซึ่งได้รับความเสียหายของผู้เสียหายหรือจำเลยนั้นก็จะเป็นผู้ได้รับสิทธิในการเรียกร้องและการรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากนี้หากผู้เสียหาย จำเลยหรือทายาทซึ่งได้รับความ เสียหายข้างต้นเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ในกรณีนี้ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล, บุพการี, ผู้สืบสันดาน, สามีหรือภรรยาของบุคคลนั้น หรือผู้ดูแลรักษาบุคคลดังกล่าว อาจยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่าย แล้วแต่กรณีแทนได้ ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

[แก้ไข] ผู้เสียหายในคดีอาญาที่อาจยื่นคำขอรับค่าตอบแทนได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
         (1) ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายนั้นเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายร่าง พระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด

        ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึงมาตรา 287

        ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

        *หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 ถึงมาตรา 294

        *หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 ถึงมาตรา 300

        *หมวด 3 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา 301 ถึงมาตรา 305

        *หมวด 4 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก,คนป่วยเจ็บหรือ คนชรา มาตรา 306 ถึงมาตรา 308

        (2) ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือได้รับอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ

[แก้ไข] สำหรับจำเลยในคดีอาญาที่จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าเสียหายตามร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณาดังนี้
        (1) เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ

        (2) ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี และ

        (3) ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

        ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติขึ้นมาเพื่อรับรองสิทธิในการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ดังนั้นการดำเนินการพิจารณาช่วยเหลือหรือจ่าย ค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายแล้วแต่กรณีภายใต้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ผู้ที่พิจารณาและดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ คณะกรรมการที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น

        ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตในส่วนกรณีของจำเลยในคดีอาญาที่จะได้รับค่าทดแทนหรือ ค่าใช้จ่ายนั้นต้องเป็นกรณีเฉพาะจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการเท่านั้นหรือไม่ และถ้าเป็นจำเลยในคดีอาญาที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินคดีแล้ว อย่างนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับครอบคลุมถึงกรณีดังกล่าวด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยในคดีอาญานั้นไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการหรือเอกชนนั้น ผลที่จำเลยได้รับนั้นย่อมไม่แตกต่างกัน

        ประเด็นนี้เมื่อจำเลยถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการแล้ว เมื่อคดีถึงที่สุดโดย คำพิพากษาของศาลว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว รัฐเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายแก่จำเลยนั้น เช่นนี้จึงมีปัญหาอยู่ว่าหากจำเลยถูกฟ้องหรือถูกดำเนินคดีโดยเอกชนแล้วเกิดเป็นอย่างกรณีดังกล่าวข้างต้น ผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยนั้น เพราะกฎหมายระบุให้จำเลยที่จะได้รับค่าทดแทนและ ค่าใช้จ่ายเฉพาะจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ ส่วนจำเลยที่ถูกผู้เสียหายฟ้องร้องก็คงต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้เสียหายเอง

        อนึ่ง มีปัญหาว่าตามคำพิพากษามิได้วินิจฉัยชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด หรือการกระทำไม่เป็นความผิด แต่วินิจฉัยว่ากรณีเป็นที่น่าสงสัยให้ยกประโยชน์แก่จำเลยแล้วยกฟ้องกรณีเช่นนี้จำเลยไม่น่าจะร้องขอรับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายได้

[แก้ไข] การยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย
        ผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญา ทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย หรือบุคคลตามมาตรา 24 แห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถที่จะยื่นคำขอดังกล่าวได้ต่อสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาญา โดยสำนักงานที่ว่านี้จะจัดตั้งขึ้นในกระทรวง ยุติธรรม โดยมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือความเห็นเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย ตลอดจนเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย แล้วทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ ค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายต่อไป

        อนึ่ง การยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้น ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย จะยื่นต่อศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตก็ได้ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ถือว่าเป็นการยื่นคำขอต่อสำนักงานดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน

[แก้ไข] กำหนดเวลาในการยื่น
        ผู้เสียหาย จำเลย หรือ ทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่ประสงค์จะขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จะต้องยื่นคำขอตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด หรือวันที่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดในคดีนั้นว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้วแต่กรณี

[แก้ไข] หลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย
        ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะกำหนดไว้อยู่ในมาตรา 19 และมาตรา 22 คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญาเพียงใด หรือไม่ก็ได้โดยคำนึงถึงพฤติการณ์, ความร้ายแรงของการกระทำความผิด, สภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับหรือโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนที่จำเลยได้รับและโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหายทางอื่นด้วย

        อนึ่ง ในกรณีที่มีคำขอให้ได้รับสิทธิที่เสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน การสั่งให้ได้รับสิทธิคืนตามคำขอดังกล่าว ถ้าไม่สามารถคืนสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นว่านั้นได้ คณะกรรมการก็จะพิจารณาค่าทดแทนเพื่อสิทธินั้นให้ตามที่เห็นสมควร

[แก้ไข] การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
        ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ผู้ยื่นคำขอก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภายในสามสิบวัน (30 วัน) นับแต่วันที่ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับแจ้งคำวินิจฉัย การยื่นอุทธรณ์ข้างต้น ผู้อุทธรณ์สามารถที่จะยื่นต่อสำนักงานหรือศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมี ภูมิลำเนาอยู่ในเขตเพื่อส่งให้แก่ศาลอุทธรณ์ก็ได้

        อย่างไรก็ตาม หลักกฎหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้ถึงแม้จะเป็นการให้คุณต่อ ผู้เสียหายหรือจำเลยหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนในการกระทำความผิด หรือถูกดำเนินคดีทางอาญาก็ตาม บทบัญญัติแห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็สามารถที่จะเป็นโทษต่อบุคคลดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้มีการบัญญัติบทกำหนดโทษไว้ในหมวดที่ 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษไว้ด้วย เช่น การยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือ ค่าใช้จ่าย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการหรืออนุกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นต้น นอกจากนี้อย่างในกรณีที่หากปรากฏในภายหลังว่าการกระทำที่ ผู้เสียหายอาศัยเป็นเหตุในการขอรับค่าตอบแทนนั้นไม่เป็นความผิดอาญา หรือไม่มีการกระทำ เช่นว่านั้น คณะกรรมการก็มีอำนาจที่จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายคืนค่าตอบแทนที่ได้รับไป พร้อมทั้งเบี้ยปรับในอัตราร้อยละสิบสองต่อปีแก่กระทรวงยุติธรรมภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ ได้รับแจ้งด้วย

        หลังจากกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ จนได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว บุคคลผู้เสียหาย จำเลยในคดีอาญา หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหาย ความเดือดร้อน หรือโอกาสที่จะได้รับการชดเชยของพวกเขา เหล่านั้นก็จะได้รับการเยียวยาหรือได้รับการบรรเทาความเสียหายหรือความเดือดร้อนนั้นลงได้ ซึ่งในอดีตบุคคลดังกล่าวและครอบครัวของบุคคลดังกล่าวเหล่านั้นจำนวนมากต้องประสบกับเคราะห์กรรมที่ตนเองมิได้เป็นผู้ก่อ แต่ต้องมารับเอาความทุกข์ ความเดือดร้อนอย่างมากมายจนบางคน ถึงกับต้องเสียชีวิตไปโดยปราศจากความรับผิดชอบของบุคคลใด หรือแม้แต่หน่วยงานหรือองค์กร ของรัฐ แต่กฎหมายฉบับนี้คงเป็นภาระของรัฐมิใช่น้อยที่จะต้องหาเงินมาจ่ายให้แก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา และอาจมีการร้องเท็จเพื่อขอรับเงินค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย เข้ามามิใช่น้อยเช่นกัน


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
ศรีลา ทองกลาง บริษัท ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย