วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/01/2008
ที่มา: 
นายธรมนิตย์ สุมันตกุล กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แปลและเรียบเรียง

ประมวลกฎหมาย


        ประเทศภาคพื้นยุโรปได้รู้จักการจัดทำ “ประมวลกฎหมาย” มาเป็นเวลานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากกฎหมายที่ใช้ในดินแดนประเทศเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งตามความเข้าใจแรกเริ่มนั้น ประมวลกฎหมายเป็นการจัดทำให้กฎหมายมีความชัดเจนแน่นอนและสามารถหาใช้และอ้างอิงได้ และเพื่อที่ผู้ปกครองจะสื่อสารกฎหมายไปยังประชาชน บทความนี้จะกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำประมวลกฎหมาย ต่อจากนั้นจะกล่าวถึงประมวลกฎหมายของฝรั่งเศส การจัดทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่ และการจัดทำประมวลกฎหมายของสหภาพยุโรป

[แก้ไข] ๑. วัตถุประสงค์ในการจัดทำประมวลกฎหมาย
        การจัดทำประมวลกฎหมายเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ดังนี้

         (ก) เมื่อแรกเริ่มนั้น ประมวลกฎหมายมีวัตถุประสงค์เป็นการรวบรวมกฎหมายและกฎระเบียบที่มีใช้อยู่อย่างมากมายในดินแดนนั้นให้เป็นหมวดหมู่ ประมวลกฎหมายจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการจัดวางโครงสร้างกฎหมาย และทำกฎหมายให้มีความสอดคล้องกัน

         (ข) แม้ว่าตามกระบวนการตรากฎหมายจะมีความละเอียดรอบคอบในการจัดทำกฎหมายที่จะไม่ให้มีความผิดพลาดก็ตาม แต่การรวมกฎหมายและทำขึ้นเป็นประมวลด้วยนั้นก็ยิ่งจะเป็นการตรวจสอบและขจัดปัญหาความไม่สอดคล้องได้อีกขั้นตอนหนึ่ง

         (ค) ในระยะต่อมาการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นไปเพื่อให้ประชาชนหากฎหมายอ่านได้ เนื่องจากมีการตรากฎหมายออกมามากมายและกระจัดกระจาย ประชาชนจะได้สามารถค้นหากฎหมายได้ในที่เดียวอย่างเป็นระบบ ในอีกมุมมองหนึ่งการจัดทำประมวลกฎหมายจึงเป็นงานในแง่มุมของการค้นคว้าและประมวลเอกสารกฎหมาย ซึ่งจะต้องค้นหาหลักกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ แล้วนำมาแสดงอย่างสอดคล้องกัน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายของผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่เพียงแต่จะต้องรวมกฎหมายและจัดทำขึ้นเป็นประมวลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำให้ภาษากฎหมายเป็นที่เข้าใจได้ง่าย

[แก้ไข] ๒. ประมวลกฎหมายของฝรั่งเศส
        ในปัจจุบันนี้เป็นที่เข้าใจว่ามีประมวลกฎหมายอยู่สองประเภท คือ ประมวลกฎหมายในลักษณะดั้งเดิม (les codes classiques) และประมวลกฎหมายในความหมายสมัยใหม่ (les codes modernes)

[แก้ไข] ๒.๑ ประมวลกฎหมายในลักษณะดั้งเดิม
        ประมวลกฎหมายฉบับแรก ๆ ของฝรั่งเศสเกิดขึ้นในสมัยกงสุล (Consulat) ในสมัยนั้นมีการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นมาหลายฉบับ ฉบับแรกคือ ประมวลกฎหมายแพ่ง (Code Civil) (ปี ๑๘๐๔) ต่อมาเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (Code de procédure civile ) (ปี ๑๘๐๖) ประมวลกฎหมายพาณิชย์ (Code de commerce) (ปี ๑๘๐๗) และประมวลกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญา (Code d’instruction criminelle) (ปี ๑๘๐๘) ซึ่งก็คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามความหมายของปัจจุบันนี้ และประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา (Code pénal) ในปี ๑๘๑๐

        การจัดทำประมวลกฎหมายในลักษณะดั้งเดิมมีหลักการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นสามชั้น คือ บรรพ (livres) ลักษณะ (titres) และบท (chapitres) ต่อจากนั้นเป็นมาตรา (sections) และย่อยลงเป็นวรรค (paragraphes) การจัดหมวดหมู่เป็นสามส่วนนี้จะเป็นรูปแบบที่สำคัญและยึดถือนำมาใช้กับประมวลกฎหมายของปัจจุบันนี้ด้วย

        สำหรับการลำดับเลขมาตรานั้น ประมวลกฎหมายลักษณะดั้งเดิมจะเรียงมาตราตั้งแต่มาตรา ๑ ไปจนถึงมาตราสุดท้าย ซึ่งจะเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งได้ลำดับเนื้อหาตามมาตรา ตั้งแต่มาตรา ๑ จนถึงมาตรา ๒๒๘๓ ระบบนี้ได้ใช้มาจนถึงประมาณปี ๑๙๕๐ จึงได้มีวิธีการเรียงเลขมาตราใหม่

[แก้ไข] ๒.๒ ประมวลกฎหมายสมัยใหม่
         (ก) เทคนิคที่เกิดขึ้นในประมวลกฎหมายสมัยใหม่คือ การปรับปรุงการจัดหมวดหมู่

        ประมวลกฎหมายลักษณะดั้งเดิมและประมวลกฎหมายสมัยใหม่มีรูปแบบที่เหมือนกันคือจัดแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นสามชั้น แต่แทนที่จะลำดับมาตราติดต่อกันไปเรื่อยๆ ก็จะใช้ระบบตัวเลขแสดงตำแหน่งของมาตรานั้นในประมวลด้วย กล่าวคือใช้ตัวเลขสามหลัก ตัวแรกจะแสดงบรรพ (livres) ตัวที่สองแสดงลักษณะ (titres) และตัวที่สามเป็นหมวด (chapitres) ตัวอย่างเช่น มาตราในบทที่ ๑ ลักษณะที่ ๑ และบรรพ ๑ จะได้แก่ ๑๑๑ ซึ่งถ้าเป็นมาตราที่หนึ่ง ก็จะเป็น “มาตรา ๑๑๑-๑”

(ข) การระบุประเภทของกฎหมาย

        ประมวลกฎหมายแบบดั้งเดิมจะมีแต่บทบัญญัติที่เป็นกฎหมายในลำดับศักดิ์ของพระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายสมัยใหม่จะรวมบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายลำดับรองผนวกเข้าไว้ด้วย เลขมาตราก็จะมีตัวอักษรกำกับด้วย เช่น ถ้ามาตรานั้นเป็นกฎหมายในลำดับพระราชบัญญัติ จะใช้ตัว “L” นำหน้า ถ้าเป็นกฎหมายในลำดับรองใช้ตัว “R” การสั่งการของฝ่ายบริหาร ใช้ตัว “D” ตัวอย่างเช่น “มาตรา L111-1” หรือ “มาตรา R111-1” เป็นต้น

        ประมวลกฎหมายสมัยใหม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี คือ ประมวลกฎหมายแรงงาน (Code du travail) ซึ่งจัดทำขึ้นในปี ๑๙๗๐ ประมวลกฎหมายสมัยใหม่ที่จัดทำต่อมาก็จะอยู่ในแนวทางนี้ ปัจจุบันนี้จะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งที่เรียกว่า Commission supérieur de codification ซึ่งตั้งขึ้นในปี ๑๙๘๙ เป็นผู้ดูแลการจัดทำประมวล

[แก้ไข] ๓. วิธีการจัดทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่ในฝรั่งเศส
        นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาการจัดทำประมวลกฎหมายได้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการ

        ประมวลกฎหมายสมัยใหม่จะไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหากฎหมายเดิมที่ประมวลขึ้นใหม่ (codification à droit constant) จึงเป็นการรวบรวมกฎหมายในเรื่องเดียวกันที่กระจัดกระจายกันอยู่มาจัดวางและจัดหมวดหมู่ใหม่ จัดลำดับเนื้อหาอย่างมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำประมวลกฎหมายสามารถแก้ไขรูปแบบที่เป็นแบบฟอร์มของกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านหรือทำความเข้าใจหรือเพื่อความสอดคล้องของบทบัญญัติต่างๆ ได้

[แก้ไข] ๔. การจัดทำประมวลกฎหมายของสหภาพยุโรป
        สหภาพยุโรปได้จัดทำประมวลกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ง่ายต่อการค้นคว้าเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ความคิดริเริ่มนี้เป็นไปตามมติเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๑๙๗๔ ( Résolution du Conseil du 26 novembre 1974 relative à la codification de ses actes juridiques – JOCE C du 28 janvier 1975) และต่อมาได้จัดทำความตกลง ลงวันที่๒๐ ธันวาคม ๑๙๙๔ กำหนดวิธีการจัดทำประมวลกฎหมาย (Accord interinstitutionnel 96/C 102/2 du 20 décembre 1994 Méthode de travail accélérée pour la codification officiels des textes législatifs – JOCE C du 4 avril 1996 (acte modifié)) และในปัจจุบันนี้ก็จะเห็นได้ว่าได้กำลังจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งของยุโรป (code civil européen


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นายธรมนิตย์ สุมันตกุล กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แปลและเรียบเรียง

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย