วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

ประมาท


[แก้ไข] ประมาท คืออะไร
        คำว่าประมาทนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ให้คำแปลไว้ว่า มัวเมา, เลินเล่อ, เผลอ, ลืมสติ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 43 บัญญัติว่า

         “ที่ว่ากระทำโดยประมาทนั้น ท่านอธิบายว่าบุคคลกระทำโดยมิได้ตั้งใจแต่กระทำโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งต่อไปนี้ คือ

        (1) กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอันควรเป็นวิสัยของปกติชนก็ดี

        (2) ผู้หาเลี้ยงชีพด้วยศิลปศาสตร์ในกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นเป็นหมอ หรือเป็นช่าง เป็นต้น ละเลยการอันควรต้องทำให้ดีในทางศิลปศาสตร์นั้นเสียก็ดี

        (3) ทำฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี

        เหล่านี้ถึงกระทำโดยมิได้ตั้งใจ ท่านก็ว่ากระทำโดยฐานประมาท”

        ต่อมาเมื่อกฎหมายลักษณะอาญาถูกยกเลิกไปโดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็ได้บัญญัติเกี่ยวกับประมาทไว้ว่า

         “กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

        อย่างไรจึงจะถือว่ากระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอันควรเป็นวิสัยของปกติชน ตามมาตรา 43 (1) แห่งกฎหมายลักษณะอาญานั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานหลายเรื่อง เช่น

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2494 ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายฟัก บัวศรี จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยขับรถรางมาในระยะไกล ได้เห็นรถยนต์ของผู้เสียหายขวางทางรถรางอยู่ห่าง 20 เมตร แต่จำเลยมิได้หยุดรถราง ปล่อยให้แล่นเรื่อยไปจนชนรถยนตร์ของผู้เสียหาย เพราะจำเลยเข้าใจว่ารถยนตร์คงถอยหลังพ้นรางไปเสียก่อนที่รถรางจะแล่นไปถึง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำโดยประมาท

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2496 ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายเล็ก น้อยจ้อย จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยขับรถรางมาแต่ไกล มองเห็นรถเมล์จอดส่งคนโดยสารอยู่ริมทางรถราง แต่มิได้ระมัดระวัง คงขับรถรางต่อไป และแล่นเบียดผู้เสียหายซึ่งลงจากรถแล้วเดินเลียบรถเมล์ไปข้างหน้ามีบาดเจ็บ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะนับว่าเป็นความประมาทของผู้เสียหายอยู่ด้วยก็จริง แต่ถ้าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแก่ฐานะที่เป็นผู้ขับรถรางแล้วก็จะไม่มีทางเป็นอันตรายแก่ผู้เสียหายได้ จึงถือว่าเป็นความผิดของจำเลย

        อย่างไรจึงจะถือว่ามิได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอันควรเป็นวิสัยของปกติชนก็มีตัวอย่างจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2487 ระหว่าง พนักงานอัยการ จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ นายปี จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยไปทำไร่ในป่าและได้ล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่ 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งไม่มีรั้ว เพราะมีแต่ลำห้วย รั้วทั้ง 3 ด้าน ได้เอาหนามและกิ่งไผ่สะไว้ เว้นช่องว่างไว้เป็นรูกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอกคืบ พอสุนัขป่าลอดได้จำเลยทำจั่นห้าวดักทิ้วไว้ตามช่องที่กล่าวแล้ว ผู้ตายมาถางไร่ซึ่งติดต่อกับไร่จำเลยและได้คลานลอดเข้าไปในช่องที่จำเลยทำจั่นห้าวดักไว้นั้น ใบหอกจั่นห้าวจึงพุ่งถูกตะโพกถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยของปกติชนแล้วหาได้ประมาทไม่ เพราะจำเลยมิได้ทำจั่นห้าวทิ้งไว้เฉย ๆ แต่ได้กระทำไปในที่ที่จำเลยถางเป็นไร่แล้ว แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ ๆ จำเลยเข้ายึดถือเพื่อทำกิน ทั้งยังทำรั้วกั้นไว้เป็นอาณาเขตแสดงการหวงห้าม การที่ผู้ตายถูกใบหอกจั่นห้าวตายนั้น เป็นโดยผู้ตายล่วงล้ำเข้าไปในรั้วของจำเลยต่างหาก

        ที่จะถือว่าเป็นประมาทโดยทำฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาได้อธิบายไว้ชัดแจ้งแล้วใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2499 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายประจวน หรือจวล สิงคาลวนิช จำเลย ว่าจะต้องได้ความว่าเนื่องจากการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิดนั้นขึ้นด้วย ถ้าการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายนั้นไม่ใช่เหตุที่ทำให้เกิดความผิดนั้นแล้ว หากถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทไม่ ดังนั้นเพียงแต่ขับรถยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่ได้ แล้วเกิดชนคนตายขึ้น เมื่อไม่ได้ความว่าการชนคนนั้นเกิดโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ขับ และปรากฏว่าผู้ขับเคยขับรถยนตร์โดยเรียบร้อยมา 3 ปี แล้วแม้แขนขาจะลีบพิการ การที่ไม่มีใบอนุญาตและแขนขาลีบเท่านั้นหาทำให้เป็นผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทไม่

        เมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว เพียงแต่การฝ่าฝืนกฎหมายข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นหาเป็นประมาทไม่ ซึ่งตรงกับหลักที่ศาลฎีกาได้วางไว้แล้วใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2499 ดังกล่าว ต่อมา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2501 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานี โจทก์ นายสัมฤทธิ์ เพชรไชย จำเลย ก็ได้วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2499 เช่นเดียวกัน

        ประมวลกฎหมายอาญามิได้ถือเอาการปราศจากความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยของปกติชนเท่านั้นว่าเป็นประมาท แต่ถือเอาความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นควรจะต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์เป็นสำคัญ และจะต้องปรากฏด้วยว่า ผู้ที่กระทำการอันอ้างว่าเป็นประมาทนั้นอาจใช้ความระมัดระวังได้ แต่ไม่ใช้ให้เพียงพอ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2502 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ กับพวก โจทก์ นายสุทิน เจริญรัตน์ กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่าจำเลยทั้งสองขับรถยนตร์มาด้วยความเร็วและสวนกันในระยะเบียดชิดกัน เป็นเหตุให้เด็กกระเป๋าของรถยนตร์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งกำลังโหนตัวอยู่ข้างนอกรถถูกรถเบียดถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยรู้อยู่ว่าผู้ตายกำลังโหนตัวอยู่ข้างนอกรถด้านขวา และกำลังมีรถสวนมาด้วยความเร็ว จำเลยมิได้ชลอความเร็วลงหรือหยุดรถ เพียงแต่หักรถหลบไปในระยะกระชั้นชิด ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 แล้ว จึงเป็นการกระทำโดยประมาท

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 127/2503 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ นายเปรื่อง ปุตตะ จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยขับรถยนตร์โดยสารตามรถยนตร์คันหน้าไปด้วยความเร็ว รถยนตร์คันหน้าได้หยุดลงเพราะมีรถยนตร์อีก 2 คัน จอดขวางถนนอยู่ เนื่องจากมีฝุ่นตลบมองไม่เห็นทาง จำเลยจึงหยุดรถไม่ทันและชนรถยนตร์คันหน้า เป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บสาหัส ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยประมาท เพราะจำเลยควรจะเว้นระยะให้ห่างรถยนตร์คันหน้ามากพอที่จะหยุดได้ทัน โดยไม่ให้ชนคันหน้า ยิ่งมีฝุ่นตลบก็ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2503 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์ นายเจิม จันทร์ผ่อง จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า ในเวลากลางคืนเรือยนตร์ที่จำเลยขับแล่นทวนน้ำไปทางฝั่งขวาของลำคลองโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่มิได้จุดโคมไฟ มีเรือยนตร์อีกลำหนึ่งแล่นตามน้ำสวนมาในเส้นทางของเรือจำเลย และบรรทุกคนโดยสารเกินอัตรามาก จึงเกิดชนกันขึ้น เรือที่จำเลยขับไม่สามารถหลบหลีกได้ทัน เพราะขณะเกิดเหตุมืดมองเห็นกันได้ในระยะ 5 – 6 วา เท่านั้น เป็นเหตุให้หัวเรือที่จำเลยขับ ชนคนในเรืออีกลำหนึ่งถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การตายมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย เพราะเรือฝ่ายผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อแล่นเข้ามาในทางที่เรือจำเลยแล่นอยู่โดยความเร็ว

        สำหรับในทางแพ่งนั้น แม้ว่าคำว่า ประมาท หรือ ประมาทเลินเล่อ จะมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่หลายมาตรา เช่น มาตรา 217, 318, 398, 420,441, 451, 623, 812, 831, 879, และ 905 เป็นต้น แต่ก็มิได้มีคำนิยามไว้อย่างใดเลย ฉะนั้น จึงต้องอาศัยแนวคำพิพากษาฎีกาเป็นหลักว่าอย่างไรจึงจะเป็นประมาทหรือไม่ประมาท ซึ่งพอจะศึกษาได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2495 ระหว่าง นายพรหม สิทธิเวช โจทก์ นางสาวสังวาลย์ รัตนไชย กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงว่ามี จำเลยที่ 1 ชนะความจำเลยที่ 2 และนำยึดบ้านของจำเลยที่ 2 โจทก์อ้างว่าเป็นบ้านของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือให้ใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกานิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 นำยึดบ้านรายพิพาทตลอดจนขายทอดตลาดไปนั้น เป็นการใช้สิทธิทางศาล และข้อเท็จจริงได้ควมว่ามีเหตุผลทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าบ้านที่ยึดไว้เป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 หรือผู้แทน กระทำไปโดยมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างใด จึงไม่เป็นละเมิด

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2495 ระหว่าง หลวงอนุสรนนทกิจ โจทก์ นางละเมียด เอี่ยมโสภณ กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอใบแทนโฉนดที่ดินแทนฉบับเดิม แล้วเอาโฉนดเดิมมาจำนองต่อโจทก์ ปรากฏว่า ได้มีการจดแจ้งการออกใบแทนโฉนด และวันเดือนปีที่ออกใบแทนโฉนดด้วยหมึกสีแดงไว้ในโฉนดที่ดินฉบับของหอทะเบียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 4 จึงขอร้องให้ช่วยทำนิติกรรมจำนองให้ จำเลยที่ 4 ก็ช่วยทำให้โดยเซ็นชื่อในสัญญาจำนองและในรายการจดทะเบียนในโฉนดฉบับของหอทะเบียน ตามคำของเจ้าพนักงานที่ดินว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานจะลงชื่อในสัญญาจำนอง จะต้องตรวจสอบสัญญาและโฉนดที่ดินที่เจ้าของนำมากับฉบับหลวงว่าได้แก้ไขถูกต้องหรือไม่และสอบถามคู่สัญญา ถ้าถูกต้องจึงลงชื่อ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำเจ้าพนักงานที่ดินและตามวิสัยธรรมดา พึงเห็นได้ว่า ผู้ที่จะลงนามในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินนั้น จะต้องตรวจดูก่อนว่าเรื่องราวถูกต้องตามที่ปรากฏในหลักฐานหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแต่เซ็นชื่อในสัญญาและทะเบียนอย่างเดียว ในโฉนดฉบับหลวงก็ได้จดแจ้งการออกใบแทนโฉนดไว้ด้วยหมึกสีแดงเห็นได้อย่างสะดุดตา ถ้าจำเลยที่ 4 มิได้ละเลยต่อการตรวจตราตามสมควรแล้ว จะมีการทำจำนองต่อกันเป็นที่เสียหายต่อโจทก์มิได้เลย จึงถือว่าจำเลยที่ 4 ทำการโดยประมาท

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2496 ระหว่าง กรมรถไฟ โจทก์ หลวงวิชานยนตรกรรม กับพวกจำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า องค์การรถไฟสายแม่กลองเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการองค์การรถไฟสายนั้นได้มอบสมุดเช็คให้พนักงานบํญชีเป็นผู้รักษาและเป็นผู้กรอกรายการในเช็คให้จำเลยที่ 1 เซ็นชื่อ ต่อมาเช็คถูกฉีกไปจากเล่ม 2 ฉบับ และมีผู้กรอกรายการปลอมชื่อจำเลยที่ 1 ไปขึ้นเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่รักษาสมุดเช็คและตราบอกบัญชีเบิกเงินไว้เองนั้น ข้ออ้างของโจทก์ห่างไกลกับเหตุแห่งความเสียหายในเรื่องนี้ซึ่งเกิดจากการปลอมเช็ค กฎหมายจะดูผลแห่งการกระทำของบุคคลต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นผลธรรมดาหรือโดยตรงจากการกระทำ หรือเป็นผลอันใกล้ชิดกับเหตุ จริงอยู่ถ้าจำเลยที่ 1 ได้เก็บรักษาสมุดเช็คและตราบอกบัญชีเบิกเงินไว้ด้วยตนเองอย่างรอบคอบก็เป็นการป้องกันอย่างดี ผู้ร้ายหาโอกาสปลอมเช็คได้ยาก แต่นั่นเป็นความคิดของบุคคลหามีกฎหมายใดบัญญัติว่า ผู้มีหน้าที่เช่นจำเลยที่ 1 จะต้องใช้ความระมัดระวังดังที่โจทก์ต้องการนั้นไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด

        คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ถือเอาความระมัดระวังที่ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ มิได้ถือเอาความระมัดระวังที่วิญญูชน หรือบุคคลในภาวะเช่นนั้นควรจะต้องมี ถ้าถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้แล้ว การกระทำหลายอย่างที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องใช้ความระมัดระวังเช่นใดแล้วย่อมจะเป็นประมาทมิได้เลยซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และจะเห็นความจริงนี้ได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2495 ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ที่มีหน้าที่เช่นจำเลยที่ 4 จะต้องใช้ความระมัดระวังเช่นใด จำเลยที่ 4 ก็ยังต้องรับผิดเพราะถือว่าขาดความระมัดระวังตามวิสัยธรรมดาของบุคคลในฐานะเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้คงมุ่งไปในทางที่ว่า เพราะการกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ผลโดยตรงอันใกล้ชิดกับเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มากกว่าที่จะมุ่งไปในทางวางหลักเรื่องประมาทไว้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2502 ระหว่าง นายยอน เคนนี โจทก์ เทศบาลนครกรุงเทพฯ จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยจัดการขยายถนนนครไชยศรี ทำให้บ่อน้ำซึ่งขอบเป็นคอนกรีตเข้ามาอยู่ในตัวถนน จำเลยได้เปิดถนนที่ขยายนี้ให้รถสัญจรไปมาได้โดยยังมิได้ถมบ่อทำให้เรียบเป็นพื้นถนนธรรมดา จำเลยมิได้จัดให้มีเครื่องหมายและสัญญาณไฟติดตั้งให้เป็นที่สังเกตในเวลากลางคืน โจทก์ขับรถยนตร์มาเวลากลางคืนและเกิดชนบ่อนี้เข้า รถเสียหายและโจทก์บาดเจ็บ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีหน้าที่บำรุงทางบกและทางน้ำตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 การขยายถนนนครไชยศรีอยู่ในหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยปล่อยให้มีบ่ออยู่ในถนนเช่นนี้ จำเลยย่อมเห็นได้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งอันตรายแก่รถและคนสัญจรไปมา จำเลยละเว้นหน้าที่อันจะต้องกระทำ ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย

        จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนี้ พอจะถือได้ว่า ประมาทก็คือ การละเว้นกระทำการอันบุคคลเช่นนั้นควรจะต้องกระทำ หรือกระทำการอันบุคคลเช่นนั้นไม่ควรต้องกระทำ และถ้ามีกฎหมายบัญญัติหน้าที่ของบุคคลว่าต้องกระทำหรือต้องไม่กระทำไว้แล้ว การละเลยต่อหน้าที่เช่นนั้นถือว่าเป็นประมาทด้วย อย่างไรจึงจะถือว่าควรจะต้องกระทำหรือไม่ควรต้องกระทำนั้น หากจะถือเอาความระมัดระวังของบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ตามคำนิยามในมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้ประกอบด้วยก็น่าจะใช้ได้

[แก้ไข] ประมาท ตามกฎหมายของอังกฤษและอเมริกา
        ตามกฎหมายอังกฤษและอเมริกา คำว่า ประมาทนี้ตรงกับคำว่า “negligence” ซึ่งมีความหมายอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ หมายถึง ภาวะทางจิตใจที่ใช้ในการกระทำละเมิดประการหนึ่ง และหมายถึงละเมิดลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะเอกเทศต่างหากจากละเมิดลักษณะอื่น ๆ อีกประการหนึ่ง

        เกี่ยวกับความหมายประการแรก ประมาทหมายถึงการที่ผู้กระทำมิได้ตั้งใจและมิได้ประสงค์ต่อผลแห่งการกระทำของตน เช่น คนยามรถไฟผู้มีหน้าที่คอยให้สัญญาณแก่รถไฟที่จะเข้าจอดตามสถานี ได้นอนหลับเสีย เลยเป็นเหตุให้รถไฟชนกันขึ้น หรือหมายถึงอาการที่ผู้กระทำแม้จะมีความตั้งใจอยู่บ้าง แต่การกระทำนั้นก็ยังมีความไม่ตั้งใจปนอยู่ด้วย และไม่ประสงค์ต่อผล เช่นผู้ขับรถยนตร์ไม่ทราบว่าห้ามล้อรถของตนไม่ดี จึงขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อเห็นคนเดินตัดหน้าก็ได้พยายามใช้ห้ามล้ออย่างเต็มที่ แต่เพราะเหตุห้ามล้อไม่ดีจึงชนคนเข้า หรืออาจจะหมายถึงอาการที่ผู้กระทำมีความตั้งใจทั้งต่อการกระทำและต่อผลแห่งการกระทำของตน หากแต่ไม่ประสงค์ที่จะให้เกิดผลขึ้นจากการกระทำของตนนั้นเลย เช่น จำเลยกองฟางไว้ในลักษณะที่อาจจะถูกความร้อนจัดเผาและเกิดไฟไหม้ขึ้นได้ มีผู้ตักเตือนจำเลยแล้วว่าอาจจะเกิดไฟไหม้และลุกลามไปยังที่อื่นได้ จำเลยไม่เชื่อฟังกลับพูดว่าตนจะรับผิดชอบเอง ต่อมาก็เกิดไฟไหม้กองฟางขึ้นจริง ๆ และลุกลามไปยังบ้านเรือนผู้อื่นด้วย ถือว่าจำเลยทำให้ไฟไหม้โดยประมาท ประมาทในความหมายดังกล่าวนี้จึงเป็นภาวะทางจิตใจ ซึ่งต่างกับเจตนาในประการสำคัญที่ว่าประมาทไม่มีความประสงค์ต่อผลแห่งการกระทำของตน แต่เจตนานั้นผู้กระทำย่อมประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนได้

[แก้ไข] ประมาท ตามกฎหมายแพ่งของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายบางประเทศ
        ประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายทั้งหลาย มิได้แยกเอาประมาทเป็นละเมิดลักษณะเอกเทศอย่างเช่นประเทศอังกฤษและอเมริกา แต่ถือเอาประมาทเป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการกระทำละเมิดเท่านั้น เช่นประมวลกฎหมายแพ่งของออสเตรีย มาตรา 1053 บัญญัติว่า “ผู้ใดที่รู้จักผิดและชอบได้จะต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากความผิดของตนต่อผู้อื่น ไม่ว่าความผิดนั้นจะเป็นการกระทำ เป็นการปราศจากความระมัดระวัง เป็นประมาท หรือเป็นการต้องอาศัยความชำนาญก็ตาม” ประมวลกฎหมายแพ่งของเยอรมัน มาตรา 823 วรรคแรก บัญญัติข้อความไว้เช่นเดียวกับมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยทุกประการ ประมวลกฎหมายแพ่งของอิตาลี มาตรา 2043 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยการกระทำอันมิชอบหรือประมาททำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นโดยปราศจากข้ออ้างตามกฎหมาย จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้นั้น”

[แก้ไข] ประมาท ตามกฎหมายแพ่งของไทย
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

        ศาลฎีกาได้ให้คำอธิบายมาตรานี้ไว้ว่า มาตรานี้มิได้หมายความว่าต้องเป็นการทำให้เขาเสียหายโดยความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จึงจะเป็นละเมิด แต่หมายความว่าการกระทำใด ๆ โดยผู้กระทำการนั้นไม่ว่าโดยจงใจก็ดี โดยประมาทเลินเล่อก็ดี (ไม่รวมถึงเช่นละเมออันเป็นการกระทำที่มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นต้น) หากการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นเสียหายดังบัญญัติไว้แล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่าทำละเมิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2491 ระหว่าง นายเค้ง แซ่เหลี่ยม โจทก์ นายเปลื้อง งามสมพงศ์ กับพวก จำเลย) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2496 ระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี โจทก์ นายธงชัย บุญยะสิงห์ กับพวก จำเลย ได้อธิบายต่อไปว่า ตามมาตรา 420 การละเมิดนั้นเป็นประทุษกรรมกระทำต่อบุคคลโดยผิดกฎหมายด้วยอาการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่ห้ามไว้ หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ หรือที่ตนมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้กระทำ หรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำหาเป็นละเมิดไม่

        ท่านศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้บันทึกไว้ท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ว่า มาตรา 420 นี้ปรากฏหลักฐานการร่างว่าเทียบเคียงมาจากมาตรา 823 ของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน และมาตรา 709 ของประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ตามคำอธิบายกฎหมายเยอรมันว่า “ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย หมายถึงการประทุษร้ายต่อสิทธิของผู้อื่นโดยปราศจากอำนาจหรือเกินกว่าอำนาจที่มีอยู่” ฉะนั้น การละเมิดสิทธิของผู้อื่น จึงเป็นผิดกฎหมายอยู่ในตัวโดยไม่จำต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าการกระทำเช่นนั้นผิดต่อกฎหมาย เว้นแต่ผู้กระทำจะมีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้ และตามตำราประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ได้อธิบายคำว่า “ละเมิด” ไว้ว่า เป็นการกระทำที่ต่างหากไปจากการไม่ปฏิบัติตามหนี้ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย โดยผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น และมาตรา 709 นี้ไม่มีคำว่า “ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย” ทั้งนี้ เพราะถือว่าการละเมิดสิทธิของผู้อื่นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นผิดกฎหมาย อยู่ในตัว

        ส่วนประมาทซึ่งเป็นละเมิดลักษณะเอกเทศนั้น ท่าน Alderson ผู้พิพากษาศาลอังกฤษได้ให้อรรถาธิบายไว้ในคดี Blyth v. Birmingham Waterworks Co. ว่า คือการละเว้นไม่กระทำสิ่งซึ่งวิญญูชน (reasonable man) ผู้ที่อาศัยการไตร่ตรองซึ่งตามปรกติย่อมใช้ยึดถือกันเป็นหลักในการประกอบภารกิจของมนุษย์จะต้องกระทำ หรือกระทำการในสิ่งซึ่งวิญญูชนผู้มีความรอบคอบจะต้องไม่กระทำ

        ท่าน Bowen ผู้พิพากษาอีกท่านหนึ่งได้อธิบายไว้ในคดี Thomas v. Quartermaine. ว่า ประมาท คือการไม่ใช้ความระมัดระวังบางอย่างที่ควรจะต้องใช้ต่อบุคคลอื่น

        คำว่า วิญญูชน ซึ่งแปลจากคำว่า reasonable man นั้นหมายถึงบุคคลทั่ว ๆ ไป ที่อยู่ในฐานะและภาวะเช่นผู้กระทำหรือละเว้นกระทำนั่นเอง ฉะนั้น reasonable man ในหมู่บุคคลธรรมดาก็หมายถึงบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป reasonable man ในหมู่ผู้ที่มีอาชีพในทางศิลปะหรืออาชีพที่ต้องใช้ฝีมือเป็นพิเศษ เช่น แพทย์ ทนายความ วิศวกร หรือผู้ขับรถยนตร์สาธารณะ ก็หมายถึงบุคคลในประเภทนั้น ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความชำนิชำนาญ ฝีมือ และความระมัดระวังยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา

        ในอเมริกา คำว่า ประมาท ในละเมิดลักษณะเอกเทศหมายถึงการกระทำซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันผู้อื่นให้พ้นจากการเสี่ยงอันไม่สมควรอย่างยิ่งต่อภยันตราย หรืออาจหมายถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเสี่ยงอันไม่สมควรอย่างยิ่งต่อการก่อให้เกิดความเสียหาย Edgerton ได้กล่าวว่าหลักอันแท้จริงของประมาทมิได้อยู่ที่การขาดความระมัดระวัง แต่อยู่ที่ความประพฤติซึ่งถือว่าก่อให้เกิดภยันตรายอันไม่สมควรแก่บุคคลอื่น

[แก้ไข] มาตรฐานที่ใช้ในเรื่อง ประมาท
        มาตรฐานที่ใช้ในเรื่องประมาทนั้น ต้องถือเอามาตรฐานตามต้องการของสังคมยิ่งกว่าการถือเอาความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคลเป็นหลักว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ แต่ในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แห่งร่างกาย สติปัญญาและสุขภาพทางจิต ความคิดอ่านและความจดจำ ประสบการณ์ ความรอบรู้ตามปรกติและความชำนิชำนาญหรือความรอบรู้เป็นพิเศษของผู้กระทำประกอบด้วย เช่น คนตาบอดจะให้ใช้ความระมัดระวังในการข้ามถนนเท่ากับคนตาดีไม่ได้ หรือเด็ก คนชราและสตรี มาตรฐานในการใช้ความระมัดระวังโดยทั่วไปย่อมต่ำกว่าผู้ชาย มาตรฐานที่ใช้กับบุคคลเหล่านี้จึงต้องเป็นมาตรฐานที่ควรจะคาดคะเนได้จากหรือเหมาะสมกับบุคคลในประเภท อายุ และสติปัญหาอย่างเดียวกันนั้น แต่ถ้าบุคคลใดยอมกระทำตนให้ความระมัดระวังลดน้อยไปกว่าที่ตนควรจะมีแล้วจะนำเหตุนั้นมาพิจารณาประกอบด้วยมิได้ เช่น ผู้ที่ดื่มสุราจนเมามายขับรถยนตร์ไปตามถนนและชนผู้อื่นเข้า มาตรฐานที่จะถือว่าผู้นั้นประมาทหรือไม่ต้องถือเอามาตรฐานของบุคคลที่ไม่เมาสุรา จะถือมาตรฐานความระมัดระวังของคนเมาสุรามาเป็นข้อวินิจฉัยมิได้

        เรื่องบางอย่างที่บุคคลธรรมดาควรจะต้องรู้ เช่น ไฟย่อมไหม้ น้ำย่อมทำให้จม เดินกลางถนนที่มียวดยานย่อมมีอันตราย ก็ต้องถือเป็นมาตรฐานสำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงความรอบรู้ของบุคคลในท้องถิ่นแต่ละแห่งอยู่ด้วยเหมือนกัน เช่นคนในเมืองที่มีไฟฟ้าย่อมรู้ว่าไฟฟ้าดูดและทำให้ตายได้ แต่คนในชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าจะถือว่าต้องรู้เช่นนั้นด้วยไม่ได้

        การที่จะถือว่าบุคคลใดรู้ว่าภยันตรายหรือความเสียหายอาจเกิดขึ้น และตนจะต้องใช้ความระมัดระวังให้พอเพียงนั้น จะต้องปรากฏว่าภยันตรายหรือความเสียหายนั้นเป็นภยันตรายหรือความเสียหายที่บุคคลนั้นอาจจะเห็นได้ แต่ถ้าบุคคลใดประกอบกิจการหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นในอันที่จะต้องสอบสวนหาความจริงบางอย่างแล้ว ก็ถือว่าบุคคลนั้น ๆ ต้องรู้ในสิ่งที่ควรจะต้องสอบสวนนั้นด้วย เช่น เจ้าของร้านค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ขนส่งคนโดยสาร เป็นต้น ถือว่ามีหน้าที่จะต้องระมัดระวังในภยันตรายหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ภยันตรายหรือความเสียหายนั้นตนจะรู้หรือไม่ก็ตาม

        บุคคลธรรมดาอาจจะมีความประมาทเลินเล่อได้บ้างตามธรรมดา ฉะนั้น การเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลเช่นว่านั้น จึงต้องถือว่าผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยต้องรู้ว่าบุคคลอื่นอาจจะประมาทเลินเล่อตามธรรมดาได้บ้าง หรืออาจจะประมาทยิ่งกว่าธรรมดาก็ได้ในเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ตนจึงควรต้องใช้ความระมัดระวังล่วงหน้าให้เพียงพอสำหรับความประมาทของผู้อื่นที่อาจจะมีขึ้นได้ไว้ด้วย ยิ่งถ้าได้รู้ว่าภยันตรายเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นได้แล้วจะไม่ใช้ความระมัดระวังเสียเลย โดยคิดว่าบุคคลอื่นจะต้องไม่ประมาทหาได้ไม่ เช่น ผู้ขับรถยนตร์ผ่านสี่แยกต้องใช้ความระมัดระวังดูซ้ายดูขวาให้ดีเสียก่อน มิใช่ว่าจะขับผ่านไปโดยเข้าใจว่ารถคันอื่นจะต้องหลีกทางให้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลที่ตนเกี่ยวข้องด้วยนั้น ใคร ๆ ก็ย่อมรู้ว่าอาจจะทำสิ่งซึ่งไม่สมควรได้แล้ว ตนก็ต้องมีความระมัดระวังพอที่จะไม่ไว้ใจในบุคคลนั้นจนเกินไป เช่น การมอบปืนที่บรรจุลูกไว้แล้วให้เด็กเล็ก ๆ หรือยอมให้เด็กขับรถยนตร์ อาจเป็นประมาทได้

        นอกจากนี้การที่จะถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังพอควรหรือไม่นั้น ยังต้องคำนึงถึงการกระทำที่บุคคลทั่ว ๆ ไปในท้องถิ่นจะทำกันเป็นประจำ และต้องคำนึงถึงกรณีฉุกเฉินหรือฉุกละหุกด้วย ถ้าการฉุกเฉินนั้นมิได้เกิดจากความประมาทของผู้กระทำแล้ว จะถือมาตรฐานของผู้กระทำในระดับเดียวกันกับมาตรฐานของผู้ที่มีเวลาไตร่ตรองแล้วมิได้ เช่น ผู้โดยสารที่นั่งไปบนรถเมล์ เมื่อเห็นรถที่ตนนั่งจะชนกับรถยนตร์อีกคันหนึ่ง จึงได้กระโดยหนีไปเสียก่อนและเกิดขาหักขึ้น จะถือว่าผู้นั้นประมาทมิได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2489 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ นายมงคล ไกรวงษ์ จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยขับรถจักร โดยเมาสุราและใช้ความเร็วเกินกว่าที่ข้อบังคับกำหนดไว้ และมิได้รออาณัติสัญญาณเสียก่อนจึงแล่นเข้าชานชาลา เป็นเหตุให้เกิดรถชนกันอย่างหน้าหวาดเสียวตื่นเต้นเกิดอันตรายเสียหายมาก จึงมีผู้กระโดดหนีจากรถและถึงแก่ความตายนั้นย่อมถือว่าความตายเป็นผลเกิดจากการกระทำของจำเลย เพราะจำเลยกระทำการน่าอันตรายแก่ชีวิตอย่างหวาดเสียวถึงเช่นนั้น จึงเป็นเหตุให้ผู้โดยสารต้องกระโดดหนีเพื่อเอาตัวรอด และการกระโดดลงไปก็ต้องได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นธรรมดา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2498 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงกับพวก โจทก์ นายพิณ ทองคำ จำเลย ได้วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน

        ถ้ามีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการใช้ความระมัดระวังของบุคคลไว้ การฝ่าฝืนกฎหมายนั้นย่อมถือว่าเป็นการประมาทอยู่ในตัว เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 บัญญัติว่า บิดามารดาของผู้เยาว์ หรือผู้อนุบาลของผู้วิกลจริตต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดร่วมกับผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ซึ่งดูแลนั้น มาตรา 430 บัญญัติว่า ครูอาจารย์ นายจ้าง หรือผู้ที่ได้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดด้วย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร มาตรา 433 บัญญัติว่า เจ้าของสัตว์หรือผู้ที่รับเลี้ยงรักษาแทนเจ้าของ ต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากสัตว์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันควรแก่การเลี้ยง การรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้น ทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น มาตรา 434 บัญญัติว่า ผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างจะต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายนั้นแล้ว เจ้าของต้องรับผิด มาตรา 659 บัญญัติว่า การรับฝากทรัพย์ถ้าไม่มีบำเหน็จ ผู้รับฝากต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการฝากทรัพย์มีบำเหน็จ ผู้รับฝากต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ทั้งนี้ ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในอันที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น มาตรา 759 บัญญัติว่า ผู้รับจำนำต้องรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ให้ปลอดภัย และต้องสงวนทรัพย์สินจำนำนั้นเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตน

[แก้ไข] หลักเกณฑ์ในเรื่อง ประมาท ตามกฎหมายอังกฤษ
        ที่จะถือว่าเป็นประมาทอันเป็นละเมิดอย่างหนึ่งนั้น ตามกฎหมายอังกฤษจะต้องมีการฝ่าฝืนหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้อื่น และเนื่องจากการฝ่าฝืนหน้าที่นั้น ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายต่อกายหรือทรัพย์สิน ฉะนั้นการละเมิดโดยประมาทจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ         (1) บุคคลนั้นมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้อื่น

        (2) ตนได้ฝ่าฝืนหน้าที่นั้น และ

        (3) เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นขึ้น

        1. หน้าที่นี้ต้องเป็นหน้าที่ตามกฎหมายไม่ใช่เพียงแต่เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมจรรยาเท่านั้น หน้าที่ตามกฎหมายนี้ก็คือหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องไม่ทำความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นโดยการไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรของตน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการกระทำของบุคคลไว้ว่าจะต้องไม่กระทำการเกินเลยไปกว่าการกระทำของวิญญูชน (reasonable man) ผู้ที่หากใช้ความระมัดระวังตามธรรมดา ควรจะต้องกระทำในพฤติการณ์อย่างเดียวกันนั้น Lord Atkin ได้อธิบายเรื่องหน้าที่นี้ไว้ในดคี Donoghue v. Stevenson ว่า “ท่านจะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำหรือการละเว้นกระทำซึ่งท่านย่อมจะเล็งเห็นได้ตามธรรมดาว่า ย่อมจะทำความเสียหายให้แก่เพื่อนบ้านของท่าน และใครเล่าคือเพื่อนบ้านตามกฎหมายของข้าพเจ้า คำตอบก็คือผู้ใดก็ตามที่ได้รับความเสียหายโดยตรงและใกล้ชิดจากการกระทำของข้าพเจ้า ซึ่งตามธรรมดาข้าพเจ้าควรจะได้พิจารณาเห็นแล้วในขณะที่ใจของข้าพเจ้าสั่งการให้กระทำหรือละเว้นกระทำการนั้น ๆ ว่าจะให้ผลเสียหายต่อผู้นั้น”

        คดีนี้ข้อเท็จจริงมีว่า เพื่อนชายของโจทก์ได้ซื้อเบียร์ขวดจากร้านขายปลีกมาให้โจทก์ โดยที่ขวดนั้นสีคล้ำมากจึงมองภายในชวดไม่เห็น เมื่อรินเบียร์ออกมาปรากฏว่ามีทากเน่าลอยอยู่ในน้ำเบียร์นั้นด้วย โจทก์เกิดความขยะแขยงจนถึงกับป่วยหนัก โจทก์จึงฟ้องผู้ผลิตเบียร์นั้นเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด ผู้พิพากษาศาลสูงสุดส่วนมากวินิจฉัยว่า จำเลยผู้ผลิตเบียร์มีหน้าที่ต่อโจทก์ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมิให้มีสิ่งที่เป็นอันตรายอยู่ในขวดเบียร์ที่จำเลยผลิตขึ้น และจำเลยต้องรับผิดถ้าฝ่าฝืนหน้าที่เช่นว่านั้น

        แต่ในคดี Bourhill v. Young แม่ค้าปลาผู้มีครรภ์ได้ 8 เดือน ขณะลงจากรถรางได้ยินเสียงอุบัติเหตุรถชนกัน นางก็เข้าไปดูเมื่อเห็นกองเลือดเข้าก็ตกใจจนสิ้นสติและคลอดบุตรออกมา นางจึงฟ้องผู้จัดการมรดกของ ก. ผู้ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุนั้นด้วยความประมาทจนตัวเองต้องตายไป โดยนางเรียกค่าเสียหายในฐานที่ ก. ประมาททำให้นางได้รับความเสียหาย ศาลสูงสุดของอังกฤษเห็นว่า ก. ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิด

        การละเว้นกระทำก็ย่อมเป็นประมาทได้ในเมื่อผู้ละเว้นมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ เช่น คนยามรถไฟที่นอนหลับไม่คอยปิดกั้นถนนเมื่อมีรถไฟผ่านเป็นต้น ศาลฎีกาของเราก็ถือหลักเดียวกันนี้ ดังจะเห็นได้จาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1559, 1560/2504 ระหว่าง นายวิริยะ อุทยานะกะ กับพวก โจทก์ นายสี ปานพรหม กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 โดยมีหน้าที่คอยปิดเปิดเครื่องกีดกั้นถนนที่มีทางรถไฟผ่านและคอยให้สัญญาณไฟเขียวแก่พนักงานขับรถไฟเมื่อปิดกั้นเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 นอนหลับเสียจึงไม่ได้ปิดกั้นและให้สัญญาณ เมื่อรถไฟผ่านจึงเป็นเหตุให้รถยนตร์ที่โจทก์นั่งแล่นผ่านถนนไปและถูกรถไฟชนจนโจทก์บาดเจ็บ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่กระทำกรป้องกันภัยสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำเป็นประจำ ถ้าจำเลยที่ 1 ปิดกั้นทางเสียก่อนรถไฟผ่าน รถยนตร์ที่โจทก์นั่งก็ไม่อาจจะผ่านเข้าไปถึงทางรถไฟ เหตุร้ายก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดด้วย

        หน้าที่ที่ละเว้นกระทำนี้อาจจะเป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้หรือเป็นหน้าที่ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยเฉพาะก็ได้ เช่น การเป็นนายจ้างและลูกจ้าง แพทย์กับคนไข้ เป็นต้น ซึ่งทำให้นายจ้างและแพทย์มีหน้าที่จะต้องให้ความปลอดภัยแก่ลูกจ้างในทางการที่จ้างและแก่คนไข้ในการรักษา ถ้านายจ้างและแพทย์ละเว้นการอันควรต้องทำเพื่อความปลอดภัยเช่นนั้น ย่อมได้ชื่อว่าประมาท แต่การละเว้นการกระทำบางอย่างซึ่งวิญญูชนควรจะต้องกระทำก็หาเป็นประมาทไม่ เช่น ผู้ที่เห็นเด็กกำลังจมน้ำในสระตื้น ๆ ซึ่งผู้นั้นควรจะช่วยได้ และซึ่งตามปรกติวิญญูชนก็ควรจะช่วย แต่ผู้นั้นก็ไม่ช่วย เด็กจึงจมน้ำตายเช่นนี้ จะถือว่าผู้นั้นประมาททำให้เด็กตายมิได้ เพราะผู้นั้นไม่มีหน้าที่อย่างใดที่จะต้องช่วย ทั้งมีหลักอยู่ว่า เราไม่มีหน้าที่จะต้องทำการอันใดเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

        แต่ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดในประเทศไทย ต้องถือว่าผู้นั้นมีหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันอันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และการละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่นี้ก็ย่อมจะเป็นประมาทและอาจจะต้องรับผิดฐานละเมิดได้

        2. การฝ่าฝืนหน้าที่ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังนั้น หมายความว่าเมื่อผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้อื่นแล้ว หากละเลยไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นย่อมถือว่าเป็นการทำละเมิดในเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นต่อบุคคลที่ตนจะต้องใช้ความระมัดระวังนั้น อย่างไรจึงจะถือว่าไม่ใช้ความระมัดระวังนั้น ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยคำนึงถึงวิสัยและพฤติการณ์ของวิญญูชนในภาวะเช่นนั้นเป็นสำคัญ และอาศัยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ประกอบด้วย

        (1) ความหนักเบาของการเสี่ยงต่อภยันตรายที่อาจจะเห็นได้และช่องทางที่จะเกิดความเสียหายนั้นมีเพียงไร ถ้าความเสียหายนั้นเห็นได้ว่ายังห่างไกลอยู่ ก็ไม่จำต้องใช้ความระมัดระวัง แต่ถ้าความเสียหายนั้นเห็นได้ว่าร้ายแรงและมีช่องทางที่จะเกิดได้ง่าย ความระมัดระวังก็ต้องมีมากขึ้นตามส่วน

        (2) ความสำคัญมากน้อยแห่งวัตถุประสงค์ที่จะกระทำ กล่าวคือ ลองชั่งน้ำหนักระหว่างการยอมเสี่ยงภยันตรายกับผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเสี่ยงเช่นนั้นว่าอย่างใดสำคัญกว่ากัน เช่น การขับรถเร็วแต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ย่อมจะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากกว่าการขับรถช้า แต่การขับรถช้าในภาวะจราจรที่แออัดเช่นนี้ย่อมทำให้การจราจรติดขัดล่าช้ากลับเป็นผลเสียมากกว่า ฉะนั้น เพียงการขับรถเร็วแต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จะถือว่าไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรมิได้

        (3) ความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปเพื่อซื้อความปลอดภัยนั้นสมดุลย์กันหรือไม่ เช่น แพทย์ผู้ซึ่งวินิจฉัยโรคของคนไข้ผิดไปเพราะไม่ใช้เครื่องมือชนิดใหม่ จะถือว่าประมาทยังมิได้ หากเครื่องมือชนิดนั้นแม้จะมีใช้ในต่างประเทศแต่ก็ยังหาเครื่องมือนั้นในประเทศที่แพทย์นั้นอยู่ได้ยาก และเครื่องมือนั้นก็ไม่สู้จะมีแพทย์ในประเทศนั้นใช้กัน

        (4) วิธีการซึ่งทางปฏิบัติที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไป ถ้าจำเลยกระทำการไปตามวิธีการหรือทางปฏิบัติที่รับรู้กันอยู่ทั่วไป ก็หาได้ชื่อว่าทำการนั้นโดยประมาทไม่ หลักนี้ศาลฎีกาของไทยก็ถืออยู่ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 100/2492 ระหว่าง พนักงานกรมอัยการ โจทก์ ร.ต. ฟัก ดิสาภิรมย์ จำเลย ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าการที่จำเลยขับรถจักรโดยไม่จุดโคมไฟเป็นการผิดข้อบังคับของกรมรถไฟจึงชนรถโยกที่ไม่จุดไฟเหมือนกัน เป็นเหตุให้คนในรถโยกตาย แต่ปรากฏว่าทางปกิบัติไม่เคร่งครัดตามข้อบังคับเนื่องจากทางการไม่มีโคมไฟพอจ่าย เคยปฏิบัติกันมาเสมอว่าเมื่อเบิกโคมไฟไม่ได้ก็ต้องขับตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จำเลยขับรถตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและเป็นการขับในเขตสับเปลี่ยนรถซึ่งห้ามมิให้คนและรถอื่นเข้าไป ดังนี้ จะเอาผิดแก่จำเลยฐานทำให้คนตายโดยประมาทมิได้

        3. จะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนหน้าที่ที่ต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้อื่นนั้น ความเสียหายนี้จะต้องเป็นผลโดยตรงและใกล้ชิดจากความประมาทของผู้กระทำ หรืออย่างน้อยก็เป็นความเสียหายที่วิญญูชนอาจมองเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นจากความประมาทของตน (Overseas Tankship (U.K.) Ltd. v. Morts Dock and Engineering Co. Ltd.) แต่เดิมศาลอังกฤษถือว่าหากวิญญูชนพอจะเห็นว่าความประมาทของตนอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้แล้วผู้ประมาทจะต้องรับผิดในความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้นโดยตรงจากความประมาทของตนโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า วิญญูชนจะมองเห็นผลแห่งความเสียหายนั้นหรือไม่ก็ตาม Re Polemis

[แก้ไข] ผู้เสียหายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย
        ถ้าผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดนั้นมีส่วนประมาทอยู่ด้วย (contributory negligence) ตามหลัก common law ของอังกฤษถือว่า ถ้าความประมาทของผู้เสียหายนั้นเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น หรือเมื่อไม่สามารถจะทราบได้ว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทของฝ่ายใดแล้ว ผู้เสียหายจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายต้องรับผิดมิได้ เช่น ก. เอาเสามาวางเกะกะกีดขวางถนนไว้ แต่อาจจะมองเห็นได้ในระยะ 100 หลา ข. ขับรถมาตอนพลบค่ำด้วยความเร็วมากและได้ชนเสาล้มคว่ำมีบาดเจ็บ ดังนี้ ข. จะเรียกร้องค่าเสียหายจาก ก. มิได้ Butterfield v. Forrester หลักเช่นว่านี้มีข้อยกเว้นอยู่ในเรื่องเรือชนกันในท้องทะเลหลวง ซึ่ง Maritime Conventions Act, 1911 มาตรา 1 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือสินค้าหรือทรัพย์สินบนเรือ เพราะความผิดของเรือสองลำหรือมากกว่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องเฉลี่ยความรับผิดกันในระหว่างเรือที่ผิดนั้นตามความร้ายแรงแห่งความผิดของตน แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้ถึงความร้ายแรงแห่งความผิดนั้น ก็ให้เฉลี่ยความเสียหายไปเท่า ๆ กัน

        การที่ผู้เสียหายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยดังกล่าวข้างต้นนั้น ตาม common law จำเลยย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีละเมิดได้เสมอ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นละเมิดชนิดใด แต่ยังมีข้อต่อสู้อีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า avoidable consequences คือ ข้อต่อสู้ที่ว่าผู้เสียหายควรจะปัดเป่าบรรเทาค่าเสียหายได้ ถ้าปฏิบัติการด้วยความระมัดระวังพอสมควร เช่น ก. ถูกรถยนตร์ชนเพราะความผิดของคนขับ ก. มีบาดเจ็บที่เท้าเพียงเล็กน้อย ถ้า ก. ให้แพทย์รักษาเสียก็จะหายได้ใน 15 วัน แต่ ก. ปล่อยปละละเลยไม่ยอมรับการรักษา จนเป็นเหตุให้เชื้อโรคอย่างอื่นเข้าแผล และต้องตัดขาในที่สุด ก. จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในการที่ถูกตัดขามิได้ คงเรียกได้แต่เพียงค่าสินไหมทดแทนที่มีบาดเจ็บเท่านั้น ข้อแตกต่างระหว่างข้อต่อสู้ทั้งสองนี้ (contributory negligence และ avoidable consequences) อยู่ที่ข้อต่อสู้ประการแรกเกิดจากความประมาทของโจทก์ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่ข้อต่อสู้ประการหลังเกิดจากความประมาทของโจทก์เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว โดยโจทก์ไม่พยายามจะปัดเป่าความเสียหายในเมื่อความเสียหายนั้นอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และข้อต่อสู้ประการแรกถ้าฟังได้จำเลยไม่ต้องรับผิด (ตามหลัก common law) แต่ข้อต่อสู้ประการหลังจำเลยไม่ต้องรับผิดเฉพาะค่าเสียหายที่อาจจะปัดเป่าหรือหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

        ตามหลักกฎหมายของอเมริกา การที่ผู้เสียหายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย จำเลยย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เสมอ และถ้าฟังได้ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน

        โดยที่หลักเรื่องผู้เสียหายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยดังกล่าวข้างต้น ยังไม่อาจถือว่าให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี เพราะบางครั้งความประมาทของผู้เสียหายมิใช่สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ก็เรียกร้องค่าเสียหายมิได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายเป็นฝ่ายต้องเสียหายอยู่มาก ดังนั้น ศาลทั้งในอังกฤษและอเมริกาจึงผ่อนคลายหลักนี้ไปใช้หลักโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายว่าเป็นของฝ่ายใดแทน หลักนี้อังกฤษเรียกว่า The Doctrine of Last Opportunity และทางอเมริกาเรียกว่า The Doctrine of Last Clear Chance

        หลักโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายนี้ ถือว่าถ้าฝ่ายใดเป็นฝ่ายสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ และไม่หลีกเลี่ยงแล้ว ฝ่ายนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ กล่าวโดยย่อก็คือ ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดความเสียหาย ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิด ตัวอย่างเช่น โจทก์ผูกลาไว้ริมถนนหลวงแต่ปล่อยให้ลาเดินไปมาในถนนได้ จำเลยขับรถม้ามาด้วยความเร็วกว่าปกติและได้ชนลาถึงแก่ความตาย ศาลพิพากษาว่าจำเลยต้องรับผิดในความตายของลา เพราะแม้จะถือว่าเป็นความประมาทของโจทก์ที่ปล่อยลาไว้เช่นนั้น ซึ่งถ้าไม่ปล่อย การชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าถ้าจำเลยใช้ความระมัดระวังในการขับรถม้านั้นแล้ว จำเลยย่อมจะหลีกไปได้โดยไม่ชนลาของโจทก์ (Davies v. Mann)

        ในการพิเคราะห์ว่าฝ่ายใดมีโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลา สถานที่ หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ระหว่างความประมาทของโจทก์ และความประมาทของจำเลยประกอบด้วย ว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้ความประมาทของจำเลยเป็นสาเหตุเดียวเท่านั้นหรือมิใช่ที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ถ้าใช่จำเลยต้องรับผิดฝ่ายเดียว ถ้าไม่ใช่ กล่าวคือ ความประมาทของโจทก์ก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย ตามหลัก common law โจทก์ก็เรียกร้องค่าเสียหายมิได้ เช่น ก. ขับรถเร็วผิดปกติมาตามถนนหลวง และได้ชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนตร์ตรงทางแยกเล็ก ๆ ถึงแก่ความตาย โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนตร์ได้ขับรถออกมาจากทางแยกข้างถนนนั้นโดยมิได้ให้เสียงสัญญาณก่อน ดังนี้ ถือว่า ก. ไม่ต้องรับผิด เพราะระยะเวลาที่ ก. สามารถเห็นรถจักรยานยนตร์ได้ก่อนชนนั้นมีเพียงวินาทีเดียวเท่านั้น จึงถือว่าความตายเกิดจากความประมาทของโจทก์เอง (Swadling v. Cooper)

        นอกจากนี้ไม่แต่เพียงจะถือว่าฝ่ายใดมีโอกาสสุดท้ายจริงๆ ที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายได้เท่านั้น หากยังถือต่อไปว่า ถ้าฝ่ายใดควรจะมีโอกาสสุดท้าย แต่เนื่องจากความประมาทของตนจึงทำให้ไม่มีโอกาสสุดท้ายเช่นนั้นขึ้น ก็ต้องถือว่าผู้นั้นมีโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องรับผิดในการเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด (British Columbia Electric Ry. V. Loach) ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า ก. กับ ข. นั่งรถม้ามาด้วยกัน และด้วยความประมาทของคนทั้งสอง รถม้าจึงวิ่งตัดหน้ารถไฟตรงทางข้ามซึ่งกำลังวิ่งมาในอัตราความเร็ว 35 – 40 ไมล์ต่อชั่วโมง ผู้ขับรถไฟเห็นรถม้านั้นในระยะ 400 ฟุต ได้ใช้ห้ามล้อทันที ถ้าห้ามล้อดีรถไฟจะหยุดได้ในระยะ 300 ฟุต แต่เนื่องจากห้ามล้อไม่ดี รถไฟจึงชนรถม้านั้นเข้าเป็นเหตุให้ ก. ถึงแก่ความตาย Privy Council วินิจฉัยว่าบริษัทรถไฟต้องรับผิด เพราะแม้ว่าผู้ขับรถไฟจะมิได้ทำการอย่างใดอันเป็นความประมาทต่อจากความประมาทของ ก. ก็ตาม แต่ถือว่าเนื่องจากความประมาทของบริษัทรถไฟที่นำรถซึ่งมีห้ามล้อไม่ดีมาวิ่งอันเป็นความประมาทที่มีมาก่อนความประมาทของ ก. จึงทำให้ผู้ขับรถไฟไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายไปได้ แม้ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากความประมาทของ ก. อยู่ด้วย

        หลักโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมาก เพราะมิได้ให้ความเป็นธรรม เช่น ผู้ประมาทมากอาจไม่ต้องรับผิดแต่ผู้ที่ประมาทน้อยกลับต้องรับผิด เช่น คดี British Columbia Eletric Ry. v. Loach ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2488 รัฐสภาของอังกฤษจึงได้ออกพระราชบัญญัติมาฉบับหนึ่งชื่อว่า Law Reform (Contributory Negligence) Act, 1945 ยกเลิกหลัก common law ที่ว่าถ้าโจทก์มีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วยแล้วโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ มาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัตินี้กล่าวว่า “ถ้าผู้ใดได้รับความเสียหายเนื่องจากความผิดของตนและเนื่องจากความผิดของผู้อื่นอยู่ด้วย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจะไม่เสียไปเพราะเพียงเหตุว่าตนมีส่วนผิดอยู่ด้วย แต่ค่าเสียหายที่จะได้รับนั้น จำต้องลดลงตามส่วนที่ศาลเห็นสมควรและยุติธรรม โดยถือตามส่วนที่โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายนี้” คำว่า “ความผิด” ในมาตรานี้ มาตรา 4 ให้หมายความถึงประมาทด้วย

        ในการกำหนดค่าเสียหายนั้น หากปรากฏว่า เพราะความประมาทของจำเลยจึงทำให้โจทก์ตกอยู่ในภาวะอันตรายโดยฉุกเฉิน และโจทก์ได้กระทำการอย่างใดลงไปเพื่อความปลอดภัยของตนซึ่งแม้จะปรากฏต่อมาว่า การกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้องก็ตาม ถ้าโจทก์ได้กระทำไปเพราะเห็นว่าอันตรายอาจจะเกิดขึ้นดังที่ตนคิดไว้ได้ และถ้าการกระทำเช่นนั้นมีเหตุสมควร ก็ไม่ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย ในกรณีเช่นนี้จำเลยจึงต้องรับผิดแต่ผู้เดียว เช่น โจทก์นั่งมาบนรถม้าเห็นเชือกสายบังเหียนม้าขาด และรถโอนเอนทำท่าจะคว่ำลง จึงได้กระโดดลงมาขาหัก แม้ในที่สุดรถม้าจะมิได้คว่ำลงอย่างที่โจทก์หวาดกลัว ก็ยังต้องถือว่าจำเลยผู้ขับรถม้าต้องรับผิดในการที่โจทก์ขาหักนั้น (ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2489 ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งวินิจฉัยทำนองเดียวกันนี้) แต่ถ้าอันตรายนั้นมีเพียงเล็กน้อยขนาดที่บุคคลธรรมดาไม่จำเป็นต้องหาทางหลีกเลี่ยง และโจทก์กระทำการเลี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงเองแล้ว ถือว่าโจทก์ไม่มีเหตุสมควรที่จะต้องกระทำเช่นนี้ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับอันตรายหรือความเสียหายขึ้น จะเรียกร้องให้ผู้อื่นต้องรับผิดหาได้ไม่ เช่น ประตูตู้โดยสารรถไฟมีกลอนใส่ไว้ไม่ดีจึงมักจะเปิดอยู่เสมอ ทำให้ลมพัดเข้ามาถูกโจทก์ โจทก์ควรจะเลี่ยงไปนั่งที่อื่นได้ แต่กลับพยายามปิดประตูนั้นหลายครั้งหลายหน แต่ไม่สำเร็จ ซ้ำตัวเองกลับพลัดตกลงไปมีบาดเจ็บ ถือว่าเป็นความผิดของโจทก์เอง จะเรียกร้องให้บริษัท รถไฟรับผิดมิได้

        โดยที่ Law Reform (Contributory Negligence) Act, 1945 ถือว่าแม้โจทก์จะมีส่วนประมาทในความเสียหายอยู่ด้วย ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าเสียหายอยู่ เพียงแต่ค่าเสียหายลดลงตามส่วนแห่งความประมาทของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น ฉะนั้น จึงถือว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ยกเลิกหลักเรื่องโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายไปในตัว เพราะเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาททั้งสองฝ่ายแล้ว ฝ่ายหนึงฝ่ายใดก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ แต่จะมากน้อยเพียงใดหรือมิได้เลยนั้นก็สุดแล้วแต่ความประมาทของตน ไม่มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเกิดจากฝ่ายใดมีโอกาสจะหลีกเลี่ยงได้เป็นฝ่ายสุดท้าย ฉะนั้น ข้อเท็จจริงในคดี Davies v. Mann ดังกล่าวข้างต้น ถ้าหากเกิดขึ้นภายหลัง พ.ศ. 2488 ศาลอังกฤษก็ย่อมจะต้องให้โจทก์ได้รับค่าเสียหาย เพียงแต่ลดลงตามส่วนแห่งความประมาทของตนเท่านั้น คดีที่ตัดสินภายหลังพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลายคดี เช่น Sayers v. Harlow Urban District Council ข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์ซึ่งเป็นสตรีได้เข้าส้วมสาธารณะของจำเลย เมื่อหยอดเหรียญเพนนีที่ช่องประตูแล้วก็บิดลูกบิดประตูเข้าไปและปิดประตู ปรากฏว่าลูกบิดประตูข้างในหลุดอยู่ทำให้เปิดประตูมาไม่ได้ (เพราะประตูจะล็อคทันทีเมื่อปิด) โจทก์พยายามส่งเสียงให้คนช่วยอยู่นานประมาณ 10 – 15 นาทีแต่ไม่ได้ผล โจทก์จึงปีนขึ้นไปบนส้วมและใช้มือยึดท่อน้ำและประตูเพื่อจะโหนตัวออกทางช่องเหนือประตู แต่โหนขึ้นไม่ไหวโจทก์จึงลงมา เผอิญเท้าที่เหยียบล้อใส่กระดาษชำระลื่น โจทก์จึงหกล้มมีบาดเจ็บ และได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นไม่ให้ค่าเสียหายอ้างว่าความเสียหายไกลต่อเหตุ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยประมาทและความเสียหายเป็นผลธรรมดาที่ย่อมจะเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์ปีนส้วมเพื่อหาทางออกเป็นการกระทำอันสมควร แต่โจทก์ประมาทอยู่ด้วยที่ไปเหยียบล้อใส่กระดาษซึ่งไม่ใช่สิ่งมั่นคงเข้า ศาลจึงลดค่าเสียหายลงหนึ่งในสี่

        สำหรับอเมริกานั้น หลักเรื่องโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น ยังคงยอมรับนับถืออยู่ในขณะนี้ โดยศาลส่วนมากถือว่า ถ้าโจทก์ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงความเสียหายได้เพราะเหตุตนเป็นฝ่ายประมาทก่อน และจำเลยเห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นได้ทันท่วงทีที่จะหลีกให้พ้นได้ ถ้าใช้ความระมัดระวังตามสมควร แต่จำเลยก็มิได้กระทำการเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น จำเลยย่อมรับผิดแต่ฝ่ายเดียว หรือถ้าโจทก์อาจจะหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ แต่เนื่องจากความไม่เอาใจใส่ หรือไม่สนใจของตนจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจำเลยรู้ถึงความไม่สนใจของโจทก์นั้น ทั้งเห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้นได้ทันท่วงทีที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ แต่จำเลยก็มิได้กระทำการหลีกเลี่ยงดังกล่าว จำเลยก็ยังต้องเป็นผู้รับผิดฝ่ายเดียวอยู่นั่นเอง

        แต่ถ้าโจทก์ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เพราะความประมาทของตน และจำเลยก็ไม่อาจจะเห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นได้ ศาลบางศาลในอเมริกาก็ยังถือว่า จำเลยจะต้องรับผิดอยู่ถ้าจำเลยสามารถจะเห็นความเสียหายนั้นได้ทันท่วงทีที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้นได้ หากตนใช้ความระมัดระวังตามสมควร

        ถ้าเป็นเรื่องที่ทั้งโจทก์และจำเลยเพียงแต่ขาดความเอาใจใส่หรือสนใจเท่านั้น หรือถ้าเป็นเรื่องที่จำเลยเห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ หากแต่เพราะความประมาทของตนที่มีอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้จำเลยไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้นได้ เช่น ก. ขับรถยนตร์ตามถนน เห็นคนเดินข้ามถนนได้ในระยะไกล จึงได้พยายามห้ามล้อ หากแต่ห้ามล้อรถไม่ดีจึงหยุดไม่ทันและชนเข้า ศาลในอเมริกาส่วนมากถือว่าจำเลยไม่ต้องรับผิด

        หลักของอเมริกานี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักกฎหมายของอเมริกากันมาก เพราะศาลส่วนมากถือว่าแม้โจทก์จะประมาท แต่ถ้าจำเลยได้เห็นความเสียหายว่าจะต้องเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์ และสามารถจะหลีกเลี่ยงได้ทัน แต่การที่จำเลยไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เพราะความประมาทของตนแล้ว จำเลยจะต้องรับผิดตรงกันข้าม ถ้าจำเลยไม่สามารถจะเห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าความไม่สามารถจะเห็นนั้นเกิดจากความประมาทของตนหรือเกิดจากความไม่ตั้งใจ และไม่สนใจของตนก็ตาม จำเลยไม่ต้องรับผิด เข้าทำนองที่ว่าผู้ที่ประมาทมากกลับรับผิดน้อยหรือไม่ต้องรับผิดเลย เช่น ก. ขับรถยนตร์มาด้วยความระมัดระวังและมองดูทางด้านหน้าตลอดเวลา เห็นคนเดินเหม่อข้ามถนนมาในระยะที่ ก. จะหยุดรถได้ทัน แต่ ก. ตัดสินใจผิดใช้ห้ามล้อช้าไปจึงชนเข้า ก. ต้องรับผิด ในกรณีอย่างเดียวกัน ก. ขับรถมาโดยไม่ระมัดระวัง ไม่คอยดูทางข้างหน้า จึงไม่มีโอกาสจะเห็นคนที่เดินข้ามถนน และไม่มีโอกาสจะหยุดหรือหลีกไปได้จึงชนเข้า หรือเมื่อ ก. เห็นคนเดินข้ามถนน ก็ได้พยายามใช้ห้ามล้อรถแล้ว แต่เนื่องจากห้ามล้อไม่ดีจึงชนเข้า ก. ไม่ต้องรับผิดทั้งสองกรณี (ตามความเห็นของศาลส่วนมากในอเมริกา) ดังนี้จะเห็นว่า ถ้าถือเอาหลักโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงได้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยความรับผิดแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง นักกฎหมายอเมริกาส่วนมากจึงมีความเห็นโน้มเอียงไปในทางที่ว่า ควรจะต้องแบ่งค่าเสียหายกันในระหว่างโจทก์ และจำเลย ตามความประมาทมากน้อยของแต่ละฝ่ายที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็มีกฎหมายอยู่หลายฉบับที่บัญญัติไว้เช่นนั้นแล้ว เช่น The Federal Employers Liability Act, The Merchant Marine Act และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการรถไฟ และกรรมกรต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งบัญญัติว่า คนงานที่มีส่วนประมาทอยู่ด้วยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ แต่ค่าเสียหายให้ลดลงตามส่วนแห่งความประมาทของตน

        ตามกฎหมายไทยก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนไว้เช่นเดียวกัน คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 และมาตรา 223

        มาตรา 442 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยแล้ว ให้นำมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 223 บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งอันก่อให้เกิดความเสียหายด้วย หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะฝ่ายใดเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และวิธีเช่นนี้ให้นำมาใช้รวมถึงกรณีที่ความผิดของฝ่ายผู้เสียหาย แม้จะมีเพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปรกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้ หรือไม่อาจรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปกป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย

        คำว่า “ความผิด” ตามมาตรา 443 และ 223 นี้ ย่อมกินความถึงความผิดอันเกิดจากการกระทำ และละเว้นการกระทำทั้งโดยจงใจหรือประมาทด้วย แต่ถ้าประมาทของผู้เสียหายเป็นแต่เพียงละเลยไม่แจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น จะต้องปรากฏว่า

อันตรายนั้นต้องเป็นการร้ายแรงผิดปกติ และ
ฝ่ายผู้เสียหายต้องรู้ถึงอันตรายเช่นว่านั้น
อันตรายนั้น ลูกหนี้ต้องไม่รู้ หรือไม่อาจจะรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้น จึงจะถือว่าผู้เสียหายมีส่วนทำผิดอยู่ด้วย
        ความตอนสุดท้ายของมาตรา 223 ที่ว่าแม้ความผิดของผู้เสียหายมีเพียงละเลยไม่ปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายก็ให้นำหลักเรื่องลดค่าสินไหมทดแทนมาใช้ด้วยนั้น ตรงกับหลัก avoidable consequences แต่ความตอนต้นเป็นเรื่อง contributory negligence อยู่ด้วย

        ตัวอย่างที่ดียิ่งตามมาตรา 442 และ 223 ก็คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2503 ระหว่าง นายท้าว ฉิมมาฉุย กับพวก โจทก์ นายฮก แซ่ล้อ กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์นำรถยนตร์ไปจอดอยู่ทางขวาของถนนตรงทางโค้ง โดยมิได้จุดโคมไฟไว้ในเวลากลางคืน และจอดขวางถนนเข้าไปเกือบถึงกลางถนน โจทก์จอดรถอยู่เช่นนั้นสัก 5 นาที ซึ่งมีเวลาพอที่จะเข็นรถออกไปให้พ้นทางได้ แต่ก็มิได้กระทำ รถจำเลยขับมาในอัตราความเร็วสูงจึงชนรถโจทก์ ต่างฝ่ายต่างเสียหาย โจทก์และจำเลยจึงฟ้องและฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทนซึ่งกันและกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ต่างฝ่ายต่างประมาทด้วยกัน อาศัยมาตรา 442 และมาตรา 223 ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นพับไป

        นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2496 ระหว่าง นายใช้ แสงประสิทธิ กับพวก โจทก์ นายจำรัส พันธ์หลำ กับพวก จำเลย ก็ได้วินิจฉัยทำนองเดียวกันนี้ ข้อเท็จจริงในคดีมีว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนตร์โดยสารมา และได้จอดรับคนโดยสารทางด้านขวาของถนน โจทก์ที่ 2 ขับรถตามมาด้วยความเร็วและเปิดแตรขอทาง จำเลยที่ 2 จึงออกรถไปทางด้านซ้าย ซึ่งปิดทางรถของโจทก์ โจทก์ที่ 2 เมื่อเปิดแตรขอทางแล้วแทนที่จะรอให้รถของจำเลยให้ทาง กลับขับแซงไปทางซ้ายเป็นการผิดกฎจราจร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิด โดยขับรถชิดทาง และโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายผิดที่ขับรถเร็วมาก และแซงขึ้นทางซ้าย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในการกระทำผิดของตน

        แม้คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้จะมิได้อ้างมาตรา 442 และมาตรา 223 แต่เห็นได้ว่า คำพิพากษาฎีกาใช้คำว่า โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดอยู่ด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเท่ากับนำหลักเกณฑ์ในมาตราทั้งสองดังกล่าวมาใช้นั่นเอง

        จากคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับนี้ ทำให้ได้หลักเพิ่มขึ้นอีกว่า ตามมาตรา 442 และมาตรา 223 มิได้หมายความว่า เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นเพราะผู้เสียหายมีส่วนผิดอยู่ด้วยแล้ว ผู้เสียหายจะต้องได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยเพียงแต่ลดลงตามพฤติการณ์เสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าฝ่ายผู้เสียหายเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว เมื่อศาลพิเคราะห์ตามพฤติการณ์ จะไม่ให้ฝ่ายที่เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทนเลยก็ได้

        เมื่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 442 และมาตรา 223 มีอยู่ดังกล่าว ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2496 และ 463/2503 จึงเป็นที่เห็นได้ว่า ในเรื่องละเมิดโดยประมาทนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายเลยจ เพราะหลักนี้นอกจากจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการวินิจฉัย และไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีดังที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาทั้งในอังกฤษและอเมริกาแล้ว หลักนี้ยังขัดต่อมาตรา 442 และมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย เพราะถ้าถือตามหลักโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายแล้ว แม้โจทก์จะประมาทอยู่ด้วย แต่ถ้าจำเลยประมาทใกล้ชิดกับเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มที่ ซึ่งตามมาตรา 442 และมาตรา 223 ศาลจะต้องลดค่าสินไหมทดแทนลงตามส่วน เพราะถือว่าฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนทำผิดอยู่ด้วย ฉะนั้น เมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทก็มีข้อที่ควรจะพิจารณาเพียงว่า จำเลยเป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียวหรือไม่ ถ้าใช่ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มที่ ถ้าโจทก์ก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วย ในการที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้น ก็พิเคราะห์ว่าระหว่างความประมาทของโจทก์และของจำเลย ความประมาทของใครที่ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากัน ถ้าโจทก์ประมาทน้อยกว่า โจทก์ก็ได้รับค่าสินไหมทดแทนไปเป็นส่วนมาก ถ้าจำเลยประมาทน้อยกว่า โจทก์ก็ได้รับค่าสินไหมทดแทนไปน้อยหรืออาจไม่ได้เลย ถ้าทั้งสองฝ่ายประมาทเท่ากันต่างก็ต้องรับผิดเท่า ๆ กัน

        ความประมาทของโจทก์ที่จะถือว่าเป็นเหตุให้ศาลลดหย่อนค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 442 และมาตรา 223 นั้น จะต้องเป็นความประมาทที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้นด้วย ถ้าความประมาทของโจทก์ไม่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเลย คือไม่ว่าโจทก์จะประมาทหรือไม่ ความเสียหายก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดีแล้ว ศาลย่อมไม่ถือเอาความประมาทของโจทก์มาเป็นเหตุลดหย่อนค่าสินไหมทดแทน เพราะถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนทำผิดอยู่ด้วย ทั้งนี้ จะเห็นได้จาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2497 ระหว่าง นายกล่อม สวนอินทร์ โจทก์ นายทีหรือตี๋ ภูแก้ว กับพวก จำเลย ซึ่งข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์ขับรถมาถึงทางแยกแล้วจะเลี้ยวไปตามถนนสาย ก. จำเลยขับรถแล่นมาจากถนนสาย ก. จะเลี้ยวไปทางถนนที่รถโจทก์แล่นมา แล้วเกิดชนกันขึ้นตรงสี่แยก ได้ความว่ารถของโจทก์ห้ามล้อใช้การไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนกฎจราจร แต่จำเลยก็ขับรถกินทางรถโจทก์ เป็นการผิดกฎจราจรเช่นกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายเลินเล่อในชั้นต้น จำเลยเป็นฝ่ายเลินเล่อในชั้นหลัง แต่เห็นว่าแม้รถของโจทก์จะมีห้ามล้อซึ่งใช้การได้ โจทก์ก็ไม่สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที เพราะจำเลยเลี้ยวรถปิดทางโจทก์ในระยะใกล้ จำเลยจึงเป็นผู้เลินเล่อจนเป็นเหตุให้รถของโจทก์และรถของจำเลยขนกันขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1247, 1248/2497 ระหว่าง นายทอง สุขธาระ กับพวก โจทก์ นายจำรัส ทินโกศัย กับพวก จำเลย ก็ได้วินิจฉัยอย่างเดียวกัน โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า การที่เรือของโจทก์ซึ่งแลนมาตามน้ำชนกับเรือของจำเลยซึ่งแล่นทวนน้ำแต่ได้แล่นตัดเข้าไปในเส้นทางของเรือของโจทก์ ซึ่งพยายามหลบแต่ไม่พ้นนั้น เป็นความผิดของเรือของจำเลยจึงต้องรับผิด เพราะแม้จะฟังว่านายท้ายเรือของโจทก์ไม่มีประกาศนียบัตรถือท้ายและคุมเครื่องก็ดี คนโดยสารเกินอัตรา (แต่ไม่ถึงเพียบ) ก็ดี เรือของโจทก์ไม่ให้สัญญาณก็ดี ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวของจำเลย เพราะถ้าเรือขงอจำเลยไม่แล่นตัดเข้าไปแล้วข้ออ้างต่าง ๆ ที่ยกขึ้นนี้ก็ยังไม่เป็นเหตุให้เรือชนกันได้

[แก้ไข] หน้าที่นำสืบเรื่อง ประมาท
        การนำสืบเรื่องประมาทของจำเลยนั้น ตามปรกติย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติให้ฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นฝ่ายต้องนำสืบให้เห็น ตามหลักกฎหมายของอังกฤษและอเมริกามีสุภาษิตกฎหมายอยู่ว่า res ipsa loquitur (The thing speaks for itself.) ซึ่งหมายความว่า ข้อเท็จจริงดั่งที่ปรากฏอยู่ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า ฝ่ายใดควรจะเป็นฝ่ายผิด กล่าวคือพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะเกิดความเสียหายนั้น ไม่มีใครนอกจากผู้กระทำความเสียหายเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และการที่เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้น ก็ไม่มีทางสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากต้องสันนิษฐานว่าเป็นเพราะความประมาทของผู้กระทำ ตัวอย่างเช่น รถยนตร์แล่นขึ้นไปชนคนบนทางเท้าหรือชนร้านริมถนน กระถางต้นไม้ตกมาจากบนบ้านถูกคนเดินถนน เหล่านี้เบื้องแรกย่อมสันนิษฐานว่า ฝ่ายรถยนตร์หรือเจ้าของบ้านต้องเป็นฝ่ายประมาท เพราะมิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์ดังนั้นขึ้นไม่ได้เลย ในกรณีเช่นนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่เพราะความประมาทของตน ถ้าจำเลยไม่นำสืบหรือนำสืบดังข้อต่อสู้มิได้ก็ต้องรับผิด

        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มีบทสันนิษฐาน เช่น res ipsa loquitur ไว้หลายมาตราด้วยกัน เช่น มาตรา 422 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบัญญัติที่ประสงค์จะปกป้องบุคคลอื่น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ทำการฝ่าฝืนเป็นผู้ผิด มาตรา 433 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของหรือ(รับเลี้ยงรับรักษาแทนต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ว่าได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ มาตรา 434 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างชำรุดบกพร่องหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ ผู้ครอบครองต้องรับผิด แต่ผู้ครอบครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว เจ้าของต้องรับผิด มาตรา 436 บัญญัติว่า ผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือน หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร มาตรา 437 บัญญัติว่า ผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะอันเกินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หรือผู้มีไว้ในความครอบครองซึ่งทรัพย์อันเกิดอันตรายได้ โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น ๆ ต้องรับผิดชอบเพื่อควมเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะหรือทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเพราะความผิดของผู้เสียหายเอง

        โดยที่ประเทศเราเป็นประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย ฉะนั้น ข้อเท็จจริงใดที่ไม่มีกฎหมายสันนิษฐานไว้ให้เป็นคุณแก่ผู้เสียหายโดยฉะเพาะแล้ว ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายต้องรับผิดเสมอ จะอาศัยหลัก res ipsa loquitur มาใช้โดยจะอ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือไม่อาจโต้แย้งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือไม่อาจโต้แย้งได้นั้นเป็นคนละเรื่องกับ res ipsa loquitur ทีเดียว

[แก้ไข] ความยินยอมของผู้เสียหาย
        มีสุภาษิตกฎหมายโรมันอยู่บทหนึ่งว่า Volunti non fit injuria (The to which a man consents cannot be considered an injury.) ซึ่งหมายความว่า ถ้าผู้เสียหายสมัครใจย่อมเสี่ยงต่อภยันตรายหรือความเสียหายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตน ก็ย่อมจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายต้องรับผิดหาได้ไม่ เช่น นักมวยที่ขึ้นชกกันบนเวที คนไข้ที่ยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัด หรือผู้ที่เข้าชมการแข่งขันรถเป็นต้น ความยินยอมของผู้เสียหายนั้นจะกระทำโดยแจ้งชัดเช่นทำเป็นสัญญาไว้ หรือถือว่าเป็นการให้โดยปริยายก็ได้ แต่มีหลักอยู่ว่า

การกีฬา การแข่งขัน การผ่าตัดหรือการใด ๆ ที่ผู้เสียหายให้ความยินยอมนั้น จะต้องไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เช่น ถ้าคนสองคนสมัครใจชกต่อยกัน ต่างฝ่ายจะอ้างสุภาษิตนี้มิได้
ความยินยอมจะต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ความยินยอมที่ให้โดยสำคัญผิด กลฉ้อฉลหรือข่มขู่ หรือความยินยอมที่ให้โดยมีข้อโต้แย้งอยู่นั้นไม่เรียกว่าเป็นความยินยอมโดยสมัครใจ แต่ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลถือว่าเป็นความยินยอมโดยสมัครของผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถด้วย
เพียงแต่รู้ว่าอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการให้ความยินยอม เช่น ก. ขอโดยสารนั่งรถของ ข. เพื่อนกันไปโดยรู้ว่า ข. เมาสุรา ระหว่างทาง ข. ประมาททำให้รถคว่ำ และ ก. บาดเจ็บ ดังนี้ไม่ถือว่า ก. ให้ความยินยอมในอันตรายที่เกิดนั้น ฉะนั้น ข. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ ก.
ถ้าเนื่องจากการกระทำอันมิชอบของบุคคลหนึ่ง ทำให้บุคคลอื่นตกอยู่ในภยันตรายใกล้จะถึง และผู้เสียหายได้ยอมเสี่ยงภัยเข้าไปช่วยในลักษณะซึ่งบุคคลผู้มีความกล้าหาญพอสมควรย่อมจะต้องกระทำเช่นนั้น และได้รับภยันตรายจากการช่วยนั้น ผู้กระทำการอันมิชอบนั้นจะอ้างหลักความยินยอมของผู้เสียหายมาเป็นข้อแก้ตัวมิได้ เพราะถือว่าบุคคลธรรมดาในภาวะเช่นนั้นก็ต้องกระทำดังนั้นเช่นกัน ทั้งยังถือว่าเป็หน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องกระทำอีกด้วย คดีที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “rescue cases” คดีที่สำคัญก็ได้แก่ Haynes v. Harwood and Son ข้อเท็จจริงมีว่า ลูกจ้างของจำเลยจอดรถม้าทิ้งไว้ริมถนนแล้วไปที่อื่นเสีย เด็กซนคนหนึ่งขว้างก้อนหินไปถูกม้าเข้า ม้าตกใจจึงพารถวิ่งไปตามถนน โจทก์ซึ่งเป็นตำรวจอยู่บนสถานีตำรวจเห็นเหตุการณ์ และเห็นว่ารถนั้นกำลังจะชนหญิงและเด็ก ๆ จึงเข้าไปช่วยยึดม้าพยายามดึงให้หยุด เลยถูกม้าลากไปได้รับอันตราย ศาลถือว่าจำเลยต้องรับผิด จะอ้างความผิดของผู้เสียหายเป็นข้อแก้ตัว หรือจะอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยไม่ได้ ทั้งไม่ถือว่าความเสียหายนี้ไกลต่อเหตุด้วย
        ตัวอย่างอีกคดีหนึ่งก็คือ Baker v. T.E. hopkins And Son Ltd. ข้อเท็จจริงมีว่า บริษัทจำเลยรับจ้างทำความสะอาดบ่อน้ำ ได้ใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากบ่อโดยไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้อากาศเสีย เกิดการรวมตัวอยู่ในบ่อและกว่าจะระเหยก็หลายวัน เมื่อผู้จัดการบริษัทจำเลยทราบเช่นนั้น จึงห้ามคนงานมิให้ลงบ่อจนกว่าควันในบ่อจะระเหยหมดแล้ว รุ่งขึ้นผู้จัดการได้สั่งคนงานอีกไม่ให้ลงไปในบ่อนั้นจนกว่าผู้จัดการจะไปถึง แต่คนงานคนหนึ่งไม่เชื่อ ได้ลงไปในบ่อนั้นและสำลักอากาศเสียหมดสติไป คนงานอีกคนหนึ่งได้ตามลงไปก็หมดสติไปด้วย พอดีแพทย์นายหนึ่งผ่านมาทราบลเรื่องเข้าทั้ง ๆ ที่มีผู้ทัดทานแล้ว ก็ยังลงไปช่วยโดยเอาเชือกผูกเอวให้คนข้างบนยึดไว้ พอลงไปแล้วก็ช่วยอะไรคนงานไม่ได้ คนข้างบนจึงดึงเชือกขึ้นมา ปรากฏว่าแพทย์ผู้นั้นหมดสติ และเชือกรัดถึงแก่ความตาย ศาลพิพากษาว่าบริษัทจำเลยต้องรับผิดในความตายของแพทย์ผู้นั้น เพราะถือว่ามีหน้าที่ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังต่อแพทย์ โดยบริษัทจำเลยย่อมเห็นแล้วว่า เนื่องจากความประมาทของตนคนงานจึงได้รับอันตราย และการที่มีผู้มาช่วยคนงานนั้นย่อมเป็นของธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ ความตายของแพทย์นั้นจึงเป็นผลโดยตรงจากการฝ่าฝืนหน้าที่เช่นว่านั้น บริษัทจำเลยจะอ้างความยินยอมของผู้เสียหายมาแก้ตัวมิได้ เพราะเป็นความผิดของตนที่ก่อสถานการณ์อันเป็นภัยและฉุกเฉินเช่นนั้นขึ้น ทำให้แพทย์ผู้นั้นต้องเสี่ยงต่อภยันตรายหรือแม้ความตายของตนเข้าช่วยผู้ที่ประสบภยันตรายอันใกล้จะถึงนั้น

        หลักความยินยอมของผู้เสียหายนี้ แม้จะเป็นหลักกฎหมายของอังกฤษและอเมริกา แต่ก็น่าจะนำมาใช้กับกฎหมายของไทยได้ เพราะความว่า “ถ้าผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 223 นั้นย่อมจะกินความกว้างพอที่จะให้หมายถึงความผิดของผู้เสียหาย แม้จะเกิดจากความยินยอมของตนด้วย ดังนั้นหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นก็อาจจะนำมาใช้ได้ในข้อที่ว่า อย่างไรจึงจะถือว่าความยินยอมของผู้เสียหายเป็นความผิดหรือไม่ เป็นความผิดตามมาตรา 223 ส่วนในกรณีการแข่งขันและการกีฬานั้นย่อมจะถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีได้ว่า ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอันมิใช่เป็นการจงใจประทุษร้ายแล้ว ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมการแข่งขันหรือการกีฬาย่อมจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกันมิได้ จารีตประเพณีดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับนับถือมาช้านานแล้ว และไม่ขัดต่อกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างใด จึงใช้บังคับได้

[แก้ไข] ความเสียหายที่ไกลต่อเหตุ
        ในเรื่องละเมิด จำเลยอาจต่อสู้ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดนั้นมิได้เกิดจากความประมาทหรือความผิดของตน หรือถ้าเกิดจากความประมาทหรือความผิดของตน ความเสียหายนั้นก็ยังห่างไกลต่อเหตุ ความเสียหายที่ไกลต่อเหตุนี้ ตามกฎหมายอังกฤษเรียกว่า remoteness of consequence หรือ remoteness of damage ซึ่งมีหลักอยู่ 2 ประการคือ

หลักที่ว่าจำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำประมาทของตน โดยไม่ต้องคำนึงว่าความเสียหายนั้นอาจจะมองเห็นได้ด้วยตนเองหรือด้วยวิญญูชนหรือไม่ก็ตาม เช่น จำเลยเช่าเรือไปจากโจทก์และนำไปบรรทุกสินค้าซึ่งมีน้ำมันเบนซินด้วย ระหว่างทางถังน้ำมันเกิดรั่วขึ้น ทำให้น้ำมันระเหยไปทั่วห้องเก็บสินค้า เมื่อเรือถึงท่า คนงานของจำเลยได้ถ่ายสินค้า แต่ด้วยความประมาท ทำให้ไม้กระดานตกไปที่ห้องเก็บน้ำมัน ทำให้เกิดไฟลุกไหม้เรือทั้งลำ ดังนี้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ราคาเรือให้โจทก์ แม้ว่าการที่ไม้กระดานร่วงไปถูกห้องเก็บสินค้า จะไม่มีวิญญูชนผู้ใดเห็นเลยว่าจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้เลยก็ตาม (Polemis v. Furness Witty and Co.)
หลักที่ว่าถ้าความเสียหายนั้นบุคคลในฐานะจำเลย ควรจะมองเห็นขณะกระทำนั้นว่าจะต้องเกิดขึ้นจากความประมาทเช่นนั้นแล้ว จำเลยต้องรับผิด ถ้าไม่อาจเห็นได้เช่นนั้น จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด เช่นด้วยความประมาทของคนงานของจำเลยทำให้น้ำมันไหลจากเรือของจำเลยลอยไปตามน้ำในท่าเรือซึ่งมีคนงานของโจทก์ทำการหลอมโลหะอยู่ โลหะที่หลอมเหลวได้ตกไปถูกน้ำมันที่ลอยเข้าเกิดไฟลุกไหม้ท่าเรือนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่อาจเห็นได้เลยว่าน้ำมันที่ลอยไปตามน้ำนั้นจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด (Overseas Tankship (U.K.) Ltd. v. Morts Dock And Engineering Co. Ltd.)
        ถ้าหลังจากที่จำเลยได้กระทำประมาทแล้ว มีบุคคลอื่นทำประมาทซ้อนขึ้นมาอีก หรือมีเหตุการณ์อื่นแทรกแซงขึ้นมาอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น จำเลยหาต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ เว้นแต่ตนควรจะได้มองเห็นว่าอาจมีผู้กระทำการประมาทหรือเหตุการณ์เช่นนั้นต่อจากประมาทของตนขึ้นได้ เช่น จำเลยเปิดฝาช่องห้องใต้ดินทิ้งไว้ ต่อมามีเด็กมาเล่น และทำฝานั้นร่วงไปถูกโจทก์บาดเจ็บ ถือว่าจำเลยต้องรับผิด (Abbott v. Mackie) จำเลยปล่อยให้น้ำจากท่อไหลพุ่งไปที่ถนนหลวง ทำให้ม้าของโจทก์ที่ผ่านมาตกใจและพลัดตกลงไปในหลุมที่ ข. ได้ขุดไว้ริมถนน โดยมิได้ทำรั้วกั้นไว้ ถือว่าจำเลยต้องรับผิดเพราะเป็นผู้ประมาทก่อนที่ทำให้เกิดภยันตรายนั้นขึ้น แม้ว่า ข. จะประมาทในการขุดหลุมทิ้งไว้ด้วยก็ตาม (Hill v. New River Co.) ศาลอเมริกาก็ถือหลักเดียวกันนี้ เช่น คดี Johnson v. Kosmos Protland Cement Co. จำเลยละเลยมิได้ทำความสะอาดเรือบรรทุกน้ำมัน และได้นำมาจอดไว้ที่อู่ เผอิญเกิดฟ้าแลบถูกเรือนั้นเข้า เลยทำให้ไประเหยของน้ำมันที่อยู่ในเรือนั้นระเบิด ทำให้คนงานที่อยู่บนอู่บาดเจ็บ ถือว่าจำเลยต้องรับผิด เพราะย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าการที่ปล่อยให้มีไอระเหยของน้ำมันอยู่เช่นนั้น อาจจะมีเหตุระเบิดได้หลายประการรวมทั้งฟ้าแลบด้วย

        แต่ถ้าความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยเจตนา และผิดกฎหมายของบุคคลอื่นที่ได้กระทำขึ้นภายหลังความประมาทของจำเลย จำเลยหาต้องรับผิดไม่ เช่น ก. ขุดหลุมไว้ข้างทาง ข. เดินผ่านมาและถูก ค. ผลักตกลงไปมีบาดเจ็บ ก. หาต้องรับผิดไม่

        สำหรับกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่าเมื่อผู้ใดทำละเมิดก็จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น แม้มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และค่าสินไหมทดแทนให้รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับใช้ เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยว่า ความเสียหายเช่นใดจำเลยควรต้องรับผิด และความเสียหายเช่นใดจำเลยไม่ควรต้องรับผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2496 ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ศาลฎีกาถือเอาความเสียหายอันเป็นผลโดยตรง หรือเป็นผลอันใกล้ชิดจากการกระทำของจำเลยเป็นสำคัญ และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2487 ระหว่าง นายพัว แพ่นจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจจากวัดสนธิ โจทก์ นายเหมหรือหุ้ย กับพวกจำเลย ก็วางหลักไว้เช่นเดียวกันนี้ แต่ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอีกหลายเรื่อง แม้ศาลฎีกาจะมิได้กล่าวโดยตรงว่า จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่อาจจะมองเห็นได้ในขณะกระทำละเมิดก็ตาม แต่พออนุมานเอาจากคำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านั้นได้ว่า ศาลฎีกาก็ถือเอาหลักการที่อาจจะมองเห็นความเสียหายในขณะกระทำละเมิดของผู้กระทำได้เป็นหลักในการวินิจฉัยอยู่เหมือนกัน

        เรื่องประมาทนี้เป็นเรื่องที่ยังจะต้องได้รับการศึกษาและค้นคว้าอีกมาก เพราะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นั้น เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยประมาทเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นปัญหาที่ยุ่งยากอยู่มิใช่น้อย จึงหวังว่าจะได้รับคำชี้แจงและคำแนะนำจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนี้ต่อไปตามสมควร


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย