ผลกระทบของการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งต่อการประมงของไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
ศ.ดร.จุมพต สายสุนทร www.lawonline.co.th

ผลกระทบของการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งต่อการประมงของไทย
[แก้ไข] บทนำ
        นับตั้งแต่รัฐชายฝั่งโดยเฉพาะรัฐเพื่อนบ้านของไทยได้เริ่มประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) และบังคับใช้กฎหมายในเขตดังกล่าว ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นั้น1 ชาวประมงไทยต้องประสบกับปัญหาการทำการประมงในน่านน้ำไกล (distant - water fisheries) เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ทำการประมงซึ่งเดิมเคยเป็นทะเลหลวง (high seas) ได้ตกอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ของรัฐชายฝั่งโดยการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐดังกล่าว ในการแก้ปัญหาที่ชาวประมงไทยกำลังประสบอยู่นี้ รัฐบาลได้วางมาตรการระยะสั้นโดยพยายามเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำสัญญาการทำการประมงร่วมกัน (fisheries joint - venture agreements) โดยเน้นที่การขอให้รัฐชายฝั่งอนุญาตให้ชาวประมงไทยเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐเหล่านั้น โดยมีข้อแลกเปลี่ยนตามที่จะตกลงกัน เช่น การเสียค่าธรรมเนียมการเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการประมงให้ประเทศเจ้าบ้านเป็นต้น

        วัตถุประสงค์ของบทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่การประมงไทยได้รับจากการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ชาวประมงไทยเคยทำการประมงได้อย่างเสรีก่อนที่จะมีการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งในภูมิภาคนี้ การวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะนี้ ผู้เขียนได้หยิบยกเอาบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องแห่งอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 (The 1982 United Nations Convention on the Law of the Sea ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982”) 2 มาวิเคราะห์ด้วย เพื่อชี้ให้เห็นถึงส่วนได้เสียซึ่งประเทศไทยจะได้รับจากบทบัญญัตินั้น ๆ ถึงแม้ว่าในขณะนี้อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 จะยังไม่มีผลใช้บังคับก็ตาม การวิเคราะห์บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญานี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยซึ่งได้ลงนามอนุสัญญานี้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน

        บทความนี้จะเริ่มต้นด้วยการพิจารณาถึงจุดยืนของประเทศไทยต่อการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะจากนั้นจึงวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่การประมงไทยจะได้รับจากการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งใกล้เคียงตลอดจนปัญหาของการขออนุญาตเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งเหล่านั้น โดยวิเคราะห์ถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องแห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 หลังจากนั้นจึงเป็นการพิจารณาถึงบทบาทและแนวนโยบายของรัฐบาลต่อปัญหาผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอแนะบางประการ

[แก้ไข] 1. จุดยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
        หากจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีกองเรือประมงน่านน้ำไกล (distant – water fishing fleet) อาทิ ญี่ปุ่นหรือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดความกระตือรือร้นที่จะโต้แย้งการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น ๆ อันจะมีผลกระทบต่อการทำการประมงของไทย ที่ว่าขาดความกระตือรือร้นนั้นหมายถึงท่าทีของประเทศไทยในระหว่างการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายทะเลของสหประชาชาติครั้งที่ 3 (The Third United Nations Conference on the Low of the Sea หรือ UNCLOS III) 5 ในการประชุมดังกล่าวประเทศไทยมิได้ยื่นข้อเสนอใด ๆ ต่อที่ประชุม เพียงแต่ได้แถลงจุดยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง พอสรุปใจความได้ดังนี้

        ประเทศไทยยอมรับถึงการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ตลอดทั้งยอมรับถึงเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งเหนือทรัพยากรธรรมชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้แถลงจุดยืนของตนเกี่ยวกับการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะพอจำแนกได้เป็น 2 ประการดังนี้

        ประการที่ 1 ประเทศไทยเข้าใจและรับรู้ว่าประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากรัฐชายฝั่ง แต่ประเทศไทยเห็นว่าการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะดังกล่าวของรัฐชายฝั่งนั้น ควรคำนึงถึงการให้สิทธิ์ทดแทน (compensatory rights) หรือประโยชน์อื่นใด แก่รัฐอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ถึง 200 ไมล์ทะเลด้วย

        ประการที่ 2 เกี่ยวกับเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งเหนือทรัพยากรธรรมชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ประเทศไทยต้องการให้พิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิต (living resources) และทรัพยากรธรรมชาติที่ ไม่มีชีวิต (non – living resources) ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตนั้น ประเทศไทยยอมรับเขตอำนาจของรัฐชายฝั่ง เหนือทรัพยากรดังกล่าวทั้งบนท้องทะเล (sea – bed) และใต้ท้องทะเล (subsoil) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตนั้นประเทศไทยไม่ยอมรับว่ารัฐชายฝั่งมีสิทธิ์เด็ดขาดเหนือทรัพยากรดังกล่าวในทำนองเดียวกันกับที่รัฐชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต ประเทศไทยมีความประสงค์ให้มีการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตระหว่างรัฐชายฝั่งกับประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 6

        ตามคำแถลงข้างต้นจะเห็นได้ว่าจุดยืนของประเทศไทยนั้นไม่ต้องการให้รัฐชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือทรัพยากรที่มีชีวิตในทำนองเดียวกับที่รัฐบาลชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องการให้รัฐชายฝั่งแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตให้กับรัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่จะเสียประโยชน์จากการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้เพราะประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Zone - locked เนื่องจากการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐใกล้เคียง กล่าวคือประเทศไทยไม่มีเส้นทางติดต่อกับทะเลหลวงโดยตรงเว้นแต่จะต้องผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐข้างเดียว ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องการเรียกร้องให้รัฐชายฝั่งที่ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะให้สิทธิ์ทดแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่ประเทศไทย เพื่อที่ชาวประมงไทยจะได้เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งได้

        ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเสียประโยชน์ทางการประมงเพราะการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น ประเทศไทยจึงถือว่าตัวเองเป็นประเทศที่มี “สภาพเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์” (Geographically Disadvantaged State ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า GDS) ประเทศไทยเคยขอเข้าร่วมกลุ่มกับประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อทะเล (land – locked) และ GDS เพราะประเทศไทยเห็นว่าจะทำให้อำนาจต่อรองในการเจรจาเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น ๆ มีมากขึ้น

        อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่มประเทศ land – locked และ GDS ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับประเทศไทยเข้ารวมกลุ่ม และยังปฏิเสธด้วยว่าประเทศไทยมิได้จัดอยู่ในประเทศ GDS 7 ในการที่จะวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็น GDS หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 70 ของอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ประเด็นในการพิจารณาจำแนกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ประเทศไทยเป็น GDS หรือไม่ และถ้าเป็นจะได้ประโยชน์ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 70 หรือไม่

        ประเด็นที่ 1 ประเทศไทยถือเป็น GDS หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 70 วรรค 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 ซึ่งได้ให้คำจำกัดความของ GDS ว่าหมายถึง “รัฐชายฝั่ง ตลอดทั้งรัฐที่อยู่รอบ ๆ ทะเลปิดหรือทะเลกึ่งปิด (enclosed or semi-enclosed seas) ซึ่งสภาพทางภูมิศาสตร์ของรัฐเหล่านั้นทำให้ต้องพึ่งพาการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่นในภูมิภาคนั้น เพื่อที่จะได้มีปริมาณปลาเพียงพอต่อความต้องการทางคุณค่าอาหาร (nutritional purposes) ของประชากรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประชากรของรัฐเหล่านั้น และยังให้หมายความรวมถึงรัฐชายฝั่งที่ไม่สามารถประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนได้ด้วย”

        ส่วนมาตรา 122 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ทะเลปิด” และ “ทะเลกึ่งปิด” ว่าหมายถึง อ่าวหรือทะเลที่ล้อมรอบด้วยรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปและเชื่อมต่อกับทะเลหรือมหาสมุทรอื่นโดยทางน้ำแคบ ๆ หรือพื้นที่ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยทะเลอาณาเขตหรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป

        เมื่อนำบทบัญญัติทั้งในมาตรา 70 วรรค 2 และมาตรา 122 มาปรับกับกรณีของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในประเภทของรัฐที่อยู่รอบทะเลกึ่งปิด ทั้งนี้ เพราะทะเลในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป 8 นอกจากนี้ประเทศไทยยังอาจอ้างได้ว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการประมงของไทยนั้น ชาวประมงไทยได้ทำการประมงในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาช้านานโดยมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเขตน่านน้ำไทยเท่านั้น ดังนั้นเมื่อรัฐชายฝั่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน ทำให้ชาวประมงไทยต้องสูญเสียพื้นที่ทำการประมงไป จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งในภูมิภาคนี้

        แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยอาจถูกโต้แย้งจากรัฐอื่นได้ว่า ความจำเป็นในการพึ่งพาใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นนั้นมิได้เป็นไปเพื่อให้มีปริมาณปลาเพียงพอต่อความต้องการทางคุณค่าอาหาร (nutritional purposes) ของประชากรไทย ทั้งนี้รัฐอื่น ๆ อาจเห็นว่าการพึ่งพาใช้สอยทรัพยากรที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่นนั้นมีลักษณะไปในเชิงพาณิชย์ (commercial purposes) โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการเอากำไรมากกว่าเพื่อที่ให้ปริมาณปลาพอเพียงต่อความต้องการทางคุณค่าอาหาร (nutritional purposes) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำว่า “คุณค่าทางอาหาร” (nutritional) จะมีความหมายถึงความต้องการอาหารโปรตีนจากปลา เพื่อความจำเป็นในการยังชีพอย่างแท้จริงมิใช่เพื่อมีวัตถุประสงค์เป็นการหากำไรทางการค้า ทั้งนี้ประเทศอื่น ๆ อาจจะพิจารณาจากปริมาณการส่งปลาและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทยเป็นสินค้าออกเป็นเกณฑ์พิจารณา เพราะปรากฏว่าประเทศไทยส่งสินค้าออกประเภทปลาและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำออกเป็นจำนวนมากกว่าประเทศใด ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การนำสินค้าขาเข้าประเภทปลาและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง 9

        รัฐอื่น ๆ อาจโต้แย้งอีกว่าหากมาตรา 70 วรรค 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ต้องการให้ความหมายรวมถึงการพึ่งพาใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตในเชิงพาณิชย์ (Commercial purposes) ด้วยแล้ว คำว่า “nutritional purposes” ก็ควรจะละเอาไว้หรือไม่ก็ใช้คำอื่นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความคลุมเคลือในการตีความประเด็นที่ 2 ประเทศไทยจะอาศัยประโยชน์ตามมาตรา 70 ได้หรือไม่

        ตามบทวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะอาศัยบทบัญญัติของมาตรา 70 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ดูจะไม่มีประโยชน์เท่าใดนักทั้งนี้เพราะนอกจากประเทศไทยอาจถูกโต้แย้งจากกลุ่มรัฐ land – locked และ GDS ว่าประเทศไทยไม่เข้าข่าย GDS แล้ว ประเทศไทยก็ยังมิได้รับสิทธิพิเศษหรือเอกสิทธิ์ใด ๆ ในอันที่จะเข้าร่วมกลุ่มกับรัฐเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้เพราะถ้าพิจารณาตามบทบัญญัติของมาตรา 70 วรรค 4 จะเห็นได้ว่า GDS หาได้มีสิทธิพิเศษหรือเอกสิทธิ์ใด ๆ ไม่ในอันที่จะเข้าไปใช้สอยทรัพยากรที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น เพราะมาตรา 70 วรรค 4 เพียงแต่รับรองว่า GDS มีสิทธิที่จะเข้าไปใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งไม่น้อยไปกว่าสิทธิที่รัฐอื่น ๆ พึงมีพึงได้จากรัฐชายฝั่งนั้น GDS จะมีสิทธิ์พิเศษหรือเอกสิทธิ์ในการเข้าไปใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตของรัฐชายฝั่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและความพอใจของรัฐชายฝั่งแต่ผู้เดียว (มาตรา 70 วรรค 6)10

        ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าแม้ว่าประเทศไทยจะจัดเป็น GDS ก็หาได้มีสิทธิพิเศษแต่ประการใดไม่ เพราะมาตรา 70 เพียงแต่รับรองสิทธิของ GDS ที่จะเข้าร่วมใช้สอยทรัพยากรที่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งเท่านั้น การที่รัฐชายฝั่งจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ GDS เข้าไปใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 62 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 ที่ให้รัฐชายฝั่งมีอำนาจเด็ดขาดในการอนุญาตให้รัฐอื่นเข้ามาทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน จะโดยวิธีทำสนธิสัญญาหรือการร่วมมืออื่นใด และรัฐที่เข้ามาทำการประมงต้องปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับหรือเงื่อนไขอื่นใดตามที่รัฐชายฝั่งเป็นผู้กำหนด

[แก้ไข] 2. สิทธิการเข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ภายใต้บทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982
        ปัญหาของประเทศไทยเกี่ยวกับการประมงจึงมิได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยควรจะเป็น GDS หรือไม่หากแต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะมีสิทธิเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งได้

        แม้ว่ามาตรา 56 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 จะบัญญัติให้รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights) เหนือทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตก็ตาม ในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตนั้น มาตรา 61 และ 62 ของอนุสัญญาได้กำหนดให้รัฐชายฝั่งมีหน้าที่พอสรุปได้ 3 ประการคือ (1) กำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่จะอนุญาตให้จับได้ (allowable catch) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน (2) กำหนดขีดความสามารถของตนในการจับสัตว์น้ำนั้น (harvesting capacity) และ (3) ต้องอนุญาตให้รัฐอื่นเข้ามาจับสัตว์น้ำส่วนเกิน (surplus) หากปรากฏว่าขีดความสามารถของตนมีไม่พอที่จะจับสัตว์น้ำได้หมดตามที่อนุญาตไว้

        แม้มาตรา 61 และ 62 ของอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 จะกำหนดหน้าที่ของรัฐชายฝั่งตามที่กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากบทบัญญัติในสองมาตรานี้หรือไม่ยังเป็นที่สงสัยอยู่ ทังนี้เพราะแม้มาตรา 61 และ 62 จะกำหนดหน้าที่ของรัฐชายฝั่งให้อนุญาตรัฐอื่นเข้ามาทำการประมงสัตว์น้ำส่วนเกินก็ตาม แต่มาตรา 62 ก็ได้บัญญัติให้รัฐชายฝั่งมีดุลยพินิจอย่างกว้างขวางในการที่จะอนุญาตให้รัฐอื่นเข้ามาทำการประมงสัตว์น้ำส่วนเกินในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ว่าการใช้ดุลยพินิจของรัฐชายฝั่งอาจมีผลเป็นการปฏิเสธรัฐอื่นที่ต้องการเข้ามาทำการประมงสัตว์น้ำส่วนเกินในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งได้ ตัวอย่างเช่นรัฐชายฝั่งอาจให้เหตุผลว่าตนมีขีดความสามารถที่จะจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้จับได้ทั้งหมด ในกรณีเช่นนี้ก็จะไม่เหลือสัตว์น้ำส่วนเกินที่จะอนุญาตให้รัฐอื่นเข้ามาจับได้ ซึ่งถ้าหากรัฐชายฝั่งได้ใช้ดุลยพินิจเช่นนั้นจริง รัฐอื่น ๆ ก็ไม่อาจหยิบยกมาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 297 (3) (a) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการใช้ดุลยพินิจของรัฐชายฝั่งตามมาตรา 61 และ 62 นั้น รัฐอื่น ๆ ไม่อาจโต้แย้งหรือบังคับฟ้องร้องให้รัฐชายฝั่งอนุญาตให้คนเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งได้

        เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถือได้ว่าประเทศไทยยังขาดหลักประกันทางกฎหมายระหว่างประเทศในการที่จะเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ทั้งนี้เพราะประเทศไทยจะเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐชายฝั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่ และถึงแม้รัฐชายฝั่งจะอนุญาตให้ชาวประมงไทยเข้าไปทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนได้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นอีกว่ารัฐชายฝั่งอาจจะวางเงื่อนไขข้อบังคับที่รัดกุมมากจนเกินไป จนทำให้ชาวประมงไทยไม่สามารถเข้าไปทำการประมงได้เพราะจะไม่คุ้มทุนที่ลงไป ตัวอย่างเช่น รัฐชายฝั่งเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าไปทำการประมงสูงเกินไปจนชาวประมงไทยไม่อาจจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ การวางเงื่อนไขข้อกำหนดนี้รัฐชายฝั่งมีอำนาจทำได้โดยที่รัฐอื่นไม่อาจโต้แย้งคัดค้านได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 297

        นอกจากนี้ประเทศไทยจะต้องคำนึงด้วยว่าประเทศไทยจะพึ่งพาการทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นตลอดไปมิได้ เพราะการขออนุญาตเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นนั้นถือเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแก่ชาวประมงไทยที่เคยทำการประมงน่านน้ำไกลแต่ต้องประสบปัญหาการสูญเสียฟื้นที่ทการประมงไปเพราะการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นๆ เป็นที่คาดได้ว่าในอนาคตเมื่อรัฐชายฝั่งอื่นสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการทำการประมงให้ก้าวหน้าขึ้น รัฐชายฝั่งเหล่านั้นอาจไม่ต้องการให้ประเทศไทยหรือประเทศอื่นใดเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน หรือหากจะอนุญาตให้เข้ามาทำการประมงก็อาจอนุญาตให้เข้ามาทำการประมงพันธุ์ปลาที่มีราคาต่ำก็เป็นได้

[แก้ไข] 3. ผลกระทบของการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งใกล้เคียงต่อการประมงของไทย
        หากประเทศไทยไม่สามารถเจรจาตกลงกับรัฐชายฝั่งอื่นเพื่อขออนุญาตเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐเหล่านั้นแล้ว ผลกระทบของการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งเหลานั้นจะตามมาหลายประการ

        ประการที่ 1 ชาวประมงไทยที่เคยทำการประมงได้โดยเสรี ก่อนที่รัฐชายฝั่งจะประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้น ต้องสูญเสียพื้นที่ทำการประมงไปถึง 3 แสนตารางไมล์โดยประมาณ12 ดังจะเห็นได้จากสถิติปริมาณการจับปลาของไทยนับแต่ปี 1977 เริ่มลดลงเรื่อย ๆ แต่ก็กลับเพิ่มขึ้นอีกในปี 1981 สาเหตุที่ปริมาณการจับปลาเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าวอาจสืบเนื่องมาจากการที่ชาวประมงบางกลุ่มยังคงเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตทะเลจีนใต้ตอนกลางและในน่านน้ำของกัมพูชาและเวียดนาม13 ซึ่งถ้าหากไม่มีการเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นแล้ว คาดว่าปริมาณปลาที่จับได้จะลดลงถึง 6 แสนถึง 8 แสนตันเพาะเหตุที่ต้องเสียพื้นที่ทำการประมงไป 14

        ประการที่ 2 เมื่อชายประมงไทยต้องสูญเสียพื้นที่ทำการประมงไปเพราการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ทำให้ชาวประมงน่านน้ำไกลของไทยส่วนใหญ่ต้องกลับเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย การกลับเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยนี้ทำให้การประมงในเขตน่านน้ำไทย ซึ่งอยู่ในสภาพการทำการประมงเกินขนาด (Overfishing) อยู่แล้ว ต้องเผชิญกับสภาวะการทำการประมงเกินขนาดมากขึ้นไปอีก อันจะมีผลเสียหายอย่างมากต่อพันธุ์สัตว์น้ำในเขตน่านน้ำไทย15 สถิติการทำการประมงในเขตอ่าวไทยปี 1963 ระบุว่าปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยเฉลี่ยต่อ 1 ชั่วโมงเท่ากับ 231.6 กิโลกรัม แต่ในปี 1980 ปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยเฉลี่ยต่อ 1 ชั่วโมงลดลงเหลือเพียง 38.9 กิโลกรัมเท่านั้น และในปี 1984 เหลือเพียง 32 กิโลกรัม16 คาดว่าตัวเลขนี้คงลดลงอีกหากชาวประมงไทยถูกผลักดันให้กลับมาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยเพิ่มขึ้น ชาวประมงไทยจำนวนไม่น้อยถึงขนาดใช้อวนที่มีตาถี่กว่าปกติคือใช้อวนที่มีตาขนาด 25 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีตาถี่กว่ามาตรฐานสากล การใช้อวนที่มีตาถี่เช่นนี้จะทำให้พันธุ์ปลาที่ยังโตไม่ได้ขนาดต้องติดอวนไปด้วย

        ประการที่ 3 ในขณะที่ชาวประมงไทยส่วนหนึ่งกลับเข้ามาทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ก็ปรากฏว่า มีชาวประมงไทยอีกจำนวนหนึ่งยังคงทำการประมงโดยมิได้รับอนุญาตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งใกล้เคียง อาทิ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม เอประมงไทยจำนวนไม่น้อยถูกรัฐชายฝั่งยึดไป และลูกเรือไทยจำนวนมากต้องถูกจับ

ภาพ:Jpjpp.JPG


        ตามตารางข้างบนจะเห็นว่า เวียดนามได้ยึดเรือประมงไทยเป็นจำนวนมากที่สุด และยังใช้วิธีการรุนแรงต่อชาวประมงไทยอีกด้วย เช่น ยิงชาวประมงไทย และจำคุกชาวประมงไทยเป็นจำนวนมาก17 มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ฝ่ายเวียดนามใช้มาตรการรุนแรงและจับลูกเรือประมงไทยเป็นจำนวนมากนั้น มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารระหว่างประเทศกับเวียดนามมากกว่าความพยายามที่ฝ่ายเวียดนามจะบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประมงของตน18 และการเจรจาติดต่อระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามแทบจะไม่มีเลย19

        นอกจากเวียดนามแล้วยังปรากฏว่า เรือประมงไทยเป็นจำนวนมากถูกจับในน่านน้ำของประเทศมาเลเซียอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงระยะระหว่างเดือนตุลาคม ปี 1984 ถึงเดือนกันยายน 1985 เรือประมงไทย 28 ลำ ถูกจับในน่านน้ำของมาเลเซีย และจำนวนเรือประมงไทยที่ถูกจับในน่านน้ำมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ มา กล่าวคือ จากเดือนตุลาคม 1985 ถึงเดือนพฤศจิกายน 1986 เรือประมงไทยถูกยึดในน่านน้ำของมาเลเซียจำนวน 103 ลำ และชาวประมงไทยกว่า 700 คน ถูกเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียจับกุมไป และราวเดือนกันยายน 1987 ทางเจ้าหน้าที่มาเลเซียได้ยึดเรือประมงของไทยเพิ่มอีกกว่า 60 ลำ และได้จับกุมชาวประมงไทยอีกกว่า 1,000 คน20 การเผชิญหน้าระหว่างชาวประมงไทยและทางการมาเลเซียทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 1986 ทางการมาเลเซียได้ยิงเรือประมงไทยเป็นผลให้ชาวประมงไทยต้องเสียชีวิต โดยทางการมาเลเซียอ้างว่าเรือประมงไทยได้ล่วงล้ำเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของมาเลเซีย21 ปัญหาชาวประมงไทยกับมาเลเซียนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยลงนามในสัญญาการทำประมงร่วมระหว่างไทยกับาเลเซียในปีต่อมา 22

        หากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ชาวประมงไทยเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านโดยมิได้รับอนุญาตนั้น พอสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

        ประการที่ 1 น่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ เคยเป็นแหล่งทำการประมงของชาวประมงไทยมาก่อน เมื่อรัฐเหล่านั้นประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ชาวประมงไทยยังปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสิทธิเหนือทรัพยากร ธรรมชาติในทะเล ชาวประมงไทยบางส่วนจึงยังคงเข้าทำการประมงในเขตดังกล่าวอยู่ต่อไป

        ประการที่ 2 เนื่องจากการทำการประมงในน่านน้ำไทยนั้นหนาแน่นเกินไป ชาวประมงไทยบางส่วนจึงเลี่ยงที่จะเข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศใกล้เคียง ที่การประมงยังเบาบางและมีสัตว์น้ำชุกชุม

        ประการที่ 3 นับแต่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้เกิดปัญหาพรมแดนทางทะเลซ้อนกัน และยังมิได้มีการเจรจากำหนดเขตแดนทางทะเลที่แน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงมีการลุกล้ำเขตแดนกันได้โดยง่าย เพราะชาวประมงไทยไม่ทราบถึงเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลที่แน่นอน

        ประการที่ 4 การที่เรือประมงไทยต้องผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อออกสู่ทะเลหลวง กฎหมายบางประเทศ อาทิ มาเลเซียได้มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ปลาที่พบในเรือประมงไทยถือว่าจับมาโดยผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำมาเลเซีย เว้นแต่ทางเรือประมงไทยจะได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของทางการมาเลเซียก่อน เช่น การแจ้งให้ทางการมาเลเซียทราบถึงการใช้สิทธิผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย จุดหมายปลายทางที่จะไป ฯลฯ 23 และแม้จะมีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกับมาเลเซีย เพื่อลาดตระเวนน่านน้ำของทั้งสองประเทศร่วมกันเพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงล้ำเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม ปัญหาการลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศเพื่อนบ้านก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากการที่ชาวประมงไทยยอมเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเพราะผลกำไรที่จะได้มีสูง เป็นที่คาดว่าในอนาคตชาวประมงไทยที่ลักลอบเข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่นจะประสบปัญหาเพิ่มขึ้น เมื่อรัฐเหล่านั้นได้เพิ่มมาตรการตรวจตราเรือประมงต่างประเทศที่ นำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนโดยผิดกฎหมาย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แม้กระทั่งกัมพูชาและเวียดนาม ก็มีนโยบายที่จะเพิ่มมาตรการการตรวจตราให้รัดกุมยิ่งขึ้น

        ตามพระราชบัญญัติการประมงแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2490 ไม่มีบทบัญญัติลงโทษชาวประมงไทยที่เข้าไปทำการประมงโดยผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่น ทั้งนี้เพราะในขณะนั้น ยังมิได้มีการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง พื้นที่ทำการประมงส่วนใหญ่จึงเป็นท้องทะเลหลวง แต่ขณะนี้ทางรัฐบาลไทยได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการปะมงดังกล่าว ซึ่งถ้ามีการประกาศใช้ จะมีบทบัญญัติให้เจ้าของเรือประมงไทยที่ถูกจับในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งอื่นมีหน้าที่นำส่งลูกเรือกลับเมืองไทย หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา25 นอกจากการเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการประมงแล้ว รัฐบาลไทยยังมีมาตรการอื่น เพื่อป้องกันมิให้มีชาวประมงไทยลักลอบเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น เช่น การแนะนำช่วยเหลือในแง่ของการเดินเรือรวมทั้งการฝึกอบรมชาวประมงไทย ให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประมงและผลของการลักลอบเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่นด้วย26

        ประการที่ 5 ผลกระทบของการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะต่อการประมงไทยอีกประการหนึ่ง คือ จำนวนเรือประมงของไทยลดลง เช่น ในปี 1979 มีการประเมินว่ามีเรือประมงไทยราว 26,000 ลำ แต่ในปี 1983 เรือประมงไทยมีจำนวนลดลงเหลือราว 20,000 ลำ และในปี 1986 ลดลงเหลือ 1,800 ลำ จำนวนของชาวประมงก็ลดลงตามส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวประมงบางส่วนต้องเลิกอาชีพทำการประมงและหาอาชีพใหม่27

        ประการที่ 6 ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ การที่ชาวประมงรายย่อยตามชายฝั่ง (small – scale fishermen) ต้องทำการประมงแข่งขันกับชาวประมงรายใหญ่ (large – scale or commercial – scale fishermen) ที่กลับเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย ชาวประมงรายย่อยที่ทำการประมงอยู่ตามชายฝั่งของไทยนั้นไม่อาจจะแข่งขันกับชาวประมงรายใหญ่ที่มีเรือประมงและเครื่องมือทำการประมงที่ทันสมัยกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่า แม้ว่าทางรัฐบาลไทย จะได้สงวนชายฝั่งในรัศมี 3 กิโลเมตร ไว้ให้ชาวประมงรายเล็กตามชายฝั่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏว่ามีการลุกล้ำเขตสงวนของเรือประมงรายใหญ่อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพราะขาดเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจตรามิให้มีรุกล้ำ

[แก้ไข] 4. บทบาทของรัฐบาลไทยต่อการแก้ปัญหาที่เกิดจากการประกาสขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะรัฐชายฝั่ง
        รัฐบาลไทยมิได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาที่ชาวประมงไทยต้องประสบ เพราะการขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ดังปรากฏแนวนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (1982 –1986) ซึ่งรัฐบาลไทยถือว่า การเจรจากับรัฐชายฝั่งเพราะขออนุญาตทำการประมงนั้นเป็นนโยบายประการสำคัญที่รัฐบาลจำต้องกระทำด้วยความรีบด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาการลุกล้ำเข้าไปทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐอื่นโดยมิได้รับอนุญาต แต่เท่าที่ผ่านมานโยบายนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปรากฏว่า สัญญาทางการประมงที่ไทยทำกับต่างประเทศ เช่น บังคลาเทศ อินเดีย ถูกบอกเลิกโดยรัฐคู่สัญญาของไทยให้เหตุผลว่าชาวประมงไทยไม่ปฏิบัติเงื่อนไขข้อบังคับแห่งอนุสัญญา

        นโยบายประการอื่น ๆ ของรัฐบาลไทยได้แก่การควบคุมจำนวนเรือประมงให้ได้สัดส่วนกับปริมาณสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีจำนวนเรือประมงมากเกินไป แข่งขันกันจับสัตว์น้ำ ในทางปฏิบัติการควบคุมจำนวนเรือเพียงอย่างเดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะมิได้คำนึงถึงขนาดของเรือและเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงด้วย ในขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐบาล 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมเจ้าท่า ซึ่งจะรับผิดชอบจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้กับเรือประมง เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการเดินเรือ และกรมประมงซึ่งรับผิดชอบจดทะเบียนเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง ปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เรือประมงที่จดทะเบียนถูกต้องอาจใช้เครื่องมือทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นการควบคุมจำนวนเรือประมงให้ได้สัดส่วนกับปริมาณสัตว์น้ำก็จะไม่ได้ผล

        นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในขณะนี้คือ การศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียอันจะเกิดจากการให้สัตยาบัน อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 ทั้งนี้เพราะในส่วนที่เกี่ยวกับการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง และการประมงนั้นดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมิได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติของอนุสัญญานี้เท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะในฐานะที่ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการทำการประมงน่านน้ำไกลสูง จึงจำเป็นอยู่เองที่ประเทศไทยไม่ต้องการให้รัฐชายฝั่งตั้งเงื่อนไขข้อบังคับที่เข้มงวดในการเข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ซึ่งถ้าพิจารณาตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องแห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 โดยเฉพาะในส่วนที่ 5 ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะแล้ว จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติเหล่านั้นให้ประโยชน์ต่อรัฐชายฝั่งอย่างมาก ในอันที่จะตั้งเงื่อนไขข้อบังคับเพื่ออนุญาตให้รัฐอื่นเข้ามาทำการประมง หรือแม้แต่เสรีภาพในการเดินเรือประมงผ่านในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ก็อาจจะถูกกระทบกระทั่งโดยกฎหมายเกี่ยวกับการประมงของรัฐชายฝั่งได้

        รัฐบาลไทยจึงตกอยู่ในสภาวะลังเลใจว่า ควรจะให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 หรือไม่ ทั้งนี้เพราะในฐานะที่ประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางการประมงทำนองเดียวกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ มีกองเรือประมงน่านน้ำไกลที่มีประสิทธิภาพสูง และกลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่ได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติในส่วนที่ 5 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 เท่าใดนัก ในกรณีเช่นนี้รัฐบาลอาจไม่ต้องการผูกมัดตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้ แต่ในกรณีอื่น ๆ นอกจากบทบัญญัติในส่วนที่ 5 ของอนุสัญญาแล้ว ประเทศไทยมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการที่จะต่อรองเจรจากับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในกรณีการทำเหมืองแร่ทะเลลึก (deep seabed mining) หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล (transfer of marine technology) เป็นต้น

        ดังนั้นประเทศไทยควรจะให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1892 หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักประโยชน์ได้เสียจากการเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ ในกรณีที่ประเทศไทยไม่ต้องการเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ ประเทศไทยอาจเสียสิทธิหรือประโยชน์อื่นใดที่พึงได้เฉพาะรัฐที่เป็นภาคีเท่านั้น อาทิเช่น ประเทศไทยไม่อาจหยิบยกบทบัญญัติในมาตรา 297 (3) (b) (ii) ขึ้นยันรัฐชายฝั่งในกรณีที่รัฐชายฝั่งปฏิเสธตามอำเภอใจที่จะไม่ปฏิบัติตามมาตรา 61 และ 62 ของอนุสัญญา เมื่อประเทศไทยร้องขอ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ประเทศไทยอาจดำเนินการร้องขอให้มีการบังคับไกล่เกลี่ย (compulsory conciliation) ดังบัญญัติไว้ใน Annex v, Section 2 ของอนุสัญญา

        อีกประการหนึ่ง การที่ประเทศไทยไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 เพราะต้องการที่จะยืนยันหลักเสรีภาพในการทำการประมงในทะเล ก็ดูจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ทั้งในทางทฤษฎีกฎหมายระหว่างประเทศและในทางปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยก็ได้ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะเช่นเดียวกันซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น และถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะก็มิได้หมายความว่าประเทศไทยจะมีเสรีภาพในการทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่น ทั้งนี้เพราะรัฐชายฝั่งเหล่านั้นอาจมีกฎหมายภายในที่บังคับใช้ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อชาวประมงของรัฐอื่นที่เข้าไปทำการประมงในเขตดังกล่าว

        หากประเทศไทยใช้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 ประเทศไทยอาจดำเนินนโยบายทางการประมงหรือนโยบายทางทะเลอื่น ๆ ภายใต้บทบัญญัติของอนุสัญญาซึ่งยังมีบทบัญญัติที่สามารถใช้ในการต่อรองเจรจากับรัฐชายฝั่งอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้หากจะพิจารณาทั้งในแง่การเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศแล้วจะเห็นได้ว่าการปฏิเสธไม่ยอมรับเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งเหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐชายฝั่งที่ประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีมากขึ้นตามลำดับ และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กที่ขาดอำนาจต่อรองเหมือนประเทศมหาอำนาจ จึงเป็นไปได้ยากที่จะต้านกระแสแห่งวิวัฒนาการของกฎหมายทะเล

[แก้ไข] บทสรุป
        จะเห็นได้ว่าประเทศไทยต้องประสบปัญหาการทำการประมงอย่างมากเพราะการประกาศขยายเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง การแก้ปัญหาเฉพาะโดยการเจรจาขอเข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งก็ดูจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก เพราะปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือสนธิสัญญาโดยฝ่ายชาวประมงไทยอยู่เสมอ ๆ ดังนั้นนโยบายการประมงระยะยาวของรัฐบาลไทยซึ่งไม่ควรผูกติดอยู่กับการที่จะต้องพึ่งพาแหล่งประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นจนเกินไปนัก รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญต่อพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยอย่างจริงจังควบคู่กันไป โดยต้องแก้ปัญหาการทำการประมงเกินขนาดในเขตน่านน้ำไทย และขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามชายฝั่ง (aquaculture) โดยเน้นที่พันธุ์สัตว์น้ำที่จะให้ราคาสูง เช่น กุ้ง เป็นต้น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 ประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว แล้วดำเนินนโยบายโดยใช้บทบัญญัติของอนุสัญญานี้เจรจาต่อรองกับรัฐอื่น ๆ


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
ศ.ดร.จุมพต สายสุนทร

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย