พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
รัฐสภาไทย พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
         พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (Court Organization) คือ กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบศาลยุติธรรม

[แก้ไข]
หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
-------
        มาตรา 1 ศาลยุติธรรมทั้งหลายตามพระธรรมนูญนี้ให้สังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม

        ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบในงานธุรการของศาลทั้งหลายที่อยู่ในสังกัดให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย แต่การดำเนินการพิจารณาคดีรวมตลอดถึงการที่จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับคดีให้เสร็จเด็ดขาดไปนั้น ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลโดยเฉพาะ

        ให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลทั้งหลาย เพื่อให้กิจการของศาลดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน ทั้งนี้โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อนึ่งเพื่อระมัดระวังการที่จะใช้ระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจแนะนำหรือตักเตือนผู้พิพากษาศาลทั้งหลายในการปฏิบัติตามระเบียบวิธีการนั้น ๆ และในการอื่น ๆ

        มาตรา 2 ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญนี้ แบ่งออกเป็นสามชั้น คือ

         (1) ศาลชั้นต้น

         (2) ศาลอุทธรณ์

         (3) ศาลฎีกา (ศาลสูงสุด)

        มาตรา 3 ศาลชั้นต้น

         (1) สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้แก่

(ก) ศาลแขวง
(ข) ศาลจังหวัดมีนบุรี
(ค) ศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรี
(ง) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้
(จ) ศาลแพ่งและศาลอาญา
         (2) สำหรับจังหวัดอื่น ๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่

(ก) ศาลแขวง
(ข) ศาลจังหวัด
        มาตรา 3 ทวิ ศาลอุทธรณ์ตามพระธรรมนูญนี้ สำหรับท้องที่ที่ยังมิได้มีศาลอุทธรณ์ภาคเปิดทำการได้แก่ศาลอุทธรณ์ และสำหรับท้องที่ที่มีศาลอุทธรณ์ภาคเปิดทำการแล้วได้แก่ศาลอุทธรณ์ภาค

        มาตรา 4 ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ศาลใดศาลหนึ่งนั้นอาจแบ่งออกเป็นแผนก และแผนกหนึ่งจะให้มีอำนาจเฉพาะในคดีประเภทใดก็ได้โดยออกเป็นกฎกระทรวง

        มาตรา 5 เมื่อเห็นเป็นการสมควร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งไปนั่งร่วมกับผู้พิพากษาในศาลแขวง มีกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลแขวงมีอำนาจเสมือนศาลจังหวัดชั่วคราวเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในเขตศาลนั้น

        ถ้าท้องที่อำเภอใดยังไม่มีศาลแขวง เมื่อเห็นเป็นการสมควร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งหรือหลายคนของศาลจังหวัดไปนั่งเป็นศาล ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งในท้องที่อำเภอนั้น เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอดังกล่าวและอำเภอใกล้เคียงที่ยังไม่มีศาลแขวงเป็นการชั่วคราว ซึ่งมิฉะนั้นคดีย่อมตกอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือศาลจังหวัด

        มาตรา 6 การจัดตั้งหรือยุบเลิกศาลยุติธรรมนั้น ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่จะรายงานต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงจำนวน สภาพ สถานที่ตั้งและเขตอำนาจศาลตามที่จำเป็นเพื่อให้ความยุติธรรมเป็นไปโดยเรียบร้อยตลอดราชอาณาจักร

        มาตรา 7 ให้มีผู้พิพากษาประจำศาลทุกศาลตามจำนวนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดไว้ตามความจำเป็นแห่งราชการ

        มาตรา 8 ให้มีประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกาหนึ่งคน และให้มีอธิบดีผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ศาลแพ่ง ศาลอาญาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี ศาลละหนึ่งคน กับให้มีรองประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี ศาลละสองคนและให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์ภาค ศาลละหนึ่งคน แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการจะกำหนดให้มีรองประธานศาลฎีกาหรือมีรองอธิบดีผู้พิพากษาประจำศาลใดมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้นก็ได้

        เมื่อตำแหน่งประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลฎีกา หรือรองอธิบดีผู้พิพากษา แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมากกว่าหนึ่งคนให้ผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน

        ในกรณีที่ไม่อาจมีผู้ทำการแทนตามวรรคสองได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งซึ่งประจำศาลนั้นหรือศาลใดศาลหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

        มาตรา 9 ในศาลชั้นต้นตามมาตรา 3 นอกจากศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรีให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศาลละหนึ่งคน

        ถ้าศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ หรือศาลชั้นต้น ศาลใดศาลหนึ่งแบ่งออกเป็นแผนกให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก แผนกละหนึ่งคน

        เมื่อตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาผู้มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นหรือในแผนกนั้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้พิพากษาผู้มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น หรือในแผนกนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาผู้มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้น หรือในแผนกนั้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทำการแทน ในกรณีที่ไม่อาจมีผู้ทำการแทนดังกล่าวได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

        มาตรา 10 ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษา หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้ทำการแทน ต้องรับผิดชอบในงานของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (1) ระมัดระวังการที่จะใช้ระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย หรือโดยประการอื่น ให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยรวดเร็ว

         (2) ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลของตนในข้อขัดข้อง เนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

         (3) ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ในบรรดากิจการอันเกี่ยวกับการจัดวางระเบียบ และดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล

         (4) ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งไปตามระเบียบ และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใด ๆ ของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งได้
(2) สั่งคำร้องคำขอต่าง ๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ
        มาตรา 10 ทวิ ให้รองประธานศาลฎีกา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี หรือ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ใน (1) และ (2) ของมาตรา 10 (4) และให้มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา-ธนบุรี แล้วแต่กรณี ตามที่ประธานศาลฎีกาหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลนั้น ๆ จะได้มอบหมาย

        มาตรา 11 ยกเลิก

        มาตรา 12 ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกเป็นผู้รับผิดชอบให้งานในแผนกดำเนินไปโดยเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ได้จัดตั้งแผนกนั้นขึ้น หรือตามคำสั่งของประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษา หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้น

        มาตรา 13 ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาภาค ส่วนจำนวนและสำนักงานจะอยู่ ณ ที่ใดและมีเขตอำนาจเพียงไร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาค กับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคนแต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ จะกำหนดให้ภาคใดมีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคมากกว่าหนึ่งคนก็ได้

        เมื่อตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่างลง หรือเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองอธิบดี ผู้พิพากษาภาคมากกว่าหนึ่งคน ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้ารองอธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับ เป็นผู้ทำการแทน ในกรณีที่ไม่อาจมีผู้ทำการแทนดังกล่าวได้ รัฐมนตรีาการกระทรวงยุติธรรมจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

        ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 และให้มีอำนาจ

         (1) สั่งให้ผู้พิพากษาหรือจ่าศาลรายงานเกี่ยวด้วยคดี หรือรายงานกิจการอื่นของศาลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตน

         (2) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลทุกศาลซึ่งอยู่ภายในเขตอำนาจของตน หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งได้

         (3) ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตนไปช่วยทำหน้าที่ชั่วคราวในอีกศาลหนึ่งก็ได้ แล้วรายงานไปยังกระทรวงยุติธรรมทันที

        ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ใน (2) และให้มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะได้มอบหมาย

        มาตรา 13 ทวิ บรรดาอำนาจและหน้าที่ของข้าหลวงยุติธรรมเกี่ยวแก่คดีความที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ และบรรดาอำนาจและหน้าที่ของข้าหลวงยุติธรรมตามบทกฎหมายอื่นนั้น ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาค

[แก้ไข]
หมวด 2 เขตอำนาจศาล
-------
        มาตรา 14 ศาลชั้นต้นมีเขตดังนี้

         (1) ศาลแขวง มีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงได้กำหนดไว้

         (2) ศาลจังหวัด มีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดได้กำหนดไว้ แต่บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลจังหวัดนั้น ๆ ที่จะไม่ยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยืนฟ้องเช่นนั้นได้

         (3) ศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรี มีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรีได้กำหนดไว้

         (4) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้ มีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้กำหนดไว้

         (5) ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานครนอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัดมีนบุรี แต่บรรดาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งและศาลอาญานั้น จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญาก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลนั้น ๆ ที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธี-พิจารณาความ

        มาตรา 15 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจดังที่ระบุไว้ 1 และมาตรา 22 (1) ถึง (5)

        ในกรณีที่พิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 22 (5) ถ้าศาลแขวงเห็นว่าควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้ว ก็ให้มีอำนาจพิพากษาได้ แต่จะต้องให้ผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย

        มาตรา 16 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง

        มาตรา 17 ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลแพ่งธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวง

        ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญาธนบุรี มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง

        มาตรา 18 ห้ามมิให้ศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องโดยชอบแล้วไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

        มาตรา 18 ทวิ ศาลอุทธรณ์มีเขตตลอดท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค แต่บรรดาคดีที่อยู่นอกเขตของศาลอุทธรณ์ จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่อุทธรณ์เช่นนั้นได้ เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        มาตรา 19 ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในวรรคสอง (1) และ (2) ด้วย

        นอกจากนี้ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจ

         (1) พิพากษายืนตาม แก้ไข หรือกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขี้นมายังศาลอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

         (2) วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องที่ยื่นตามกฎหมายคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้น

         (3) วินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่น

        มาตรา 20 ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกานอกจากนี้ให้ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่น

        คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้ว คู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่

[แก้ไข]
หมวด 3 องค์คณะผู้พิพากษา
-------
        มาตรา 21 ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งมีอำนาจ

         (1) ออกหมายเรียก ออกหมายอาญา ออกหมายสั่ง ให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น

         (2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี

        มาตรา 22 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้นดังต่อไปนี้

         (1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีแพ่ง

         (2) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

         (3) ไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

         (4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสี่หมื่นบาท

         (5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่ทั้งนี้จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

         (6) พิจารณาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาท หรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินสี่หมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินสามปีแต่ไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ในคดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีแต่เพียงอำนาจพิจารณา ไม่มีอำนาจพิพากษาตาม (5) หรือ (6) เมื่อจะพิพากษาคดี จะต้องมีผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย

        มาตรา 23 ศาลชั้นต้นนอกจากศาลแขวงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน จึงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง

        เมื่อผู้พิพากษาไม่สามารถจะนั่งพิจารณาความให้ครบองค์คณะได้ให้ผู้พิพากษาที่จะนั่งพิจารณาคดีนั้นมีอำนาจเชิญบุคคลที่มีลักษณะดังจะกล่าวต่อไปนี้นั่งเป็นสำรองผู้พิพากษาเพื่อให้ครบองค์คณะ

         (1) เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบเข้าเป็นข้าราชการพลเรือน ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนแต่ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป

         (2) เป็นข้าราชการประจำการหรือนอกประจำการตั้งแต่ชั้นประจำแผนกขึ้นไป หรือผู้ที่เป็นเนติบัณฑิตไทย หรือได้รับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรหรือปริญญาในทางกฎหมายในต่างประเทศ

        เมื่อได้เชิญผู้ใดมาเป็นสำรองผู้พิพากษาให้ช่วยพิจารณาคดีดังกล่าวมาข้างบนนั้นแล้ว ให้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทันที

        ถ้าได้มีการร้องคัดค้านผู้ที่เชิญมาเป็นสำรองผู้พิพากษา ให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีเชิญบุคคลอื่นมาเป็นสำรอง ผู้พิพากษาแทนต่อไป การใดที่ศาลได้จัดทำไปก่อนมีการคัดค้าน เป็นอันสมบูรณ์

        มาตรา 24 ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และศาลฎีกาอย่างน้อยสามคน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีได้

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช 2482

        มาตรา 15 บรรดาอำนาจและหน้าที่ของอธิบดีศาลฎีกาเกี่ยวแก่คดีความที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ และบรรดาอำนาจและหน้าที่ของอธิบดีศาลฎีกาตามบทกฎหมายอื่นนั้น ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานศาลฎีกา

         [รก.2482/-/1097/12 ตุลาคม 2482]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2497         หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อเปลี่ยนเรียกชื่อตำแหน่ง "ข้าหลวงยุติธรรม" เป็น "อธิบดีผู้พิพากษาภาค" ตามร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2497

         [รก.2497/68/1593/26 ตุลาคม 2497]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2499

        มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้กฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนวันที่กล่าวแล้วบังคับแก่คดีนั้น ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าคดีไม่มีทุนทรัพย์มีความสำคัญยิ่งขึ้น จึงควรให้มาฟ้องยังศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดอันมีผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะแทนศาลแขวง และสมควรเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์คดีแพ่งและค่าปรับคดีอาญาที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวและศาลแขวงมีอำนาจดำเนินคดีให้เหมาะสม และเพื่อให้คดีได้เสร็จลุล่วงไปโดยเร็วยิ่งขึ้น

         [รก.2499/78/1058/2 ตุลาคม 2499]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2512

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยปริมาณงานทั้งด้านการพิจารณาพิพากษาคดีและธุรการของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่งและศาลอาญาได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลงานของแต่ละศาลมีเพียงตำแหน่งเดียว ไม่มีผู้ช่วยปฏิบัติราชการ ทำให้ราชการของศาลดำเนินไปไม่สะดวกรวดเร็วเท่าที่ควร สมควรกำหนดให้มีตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นในศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่งและศาลอาญา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ อันจะเป็นผลให้ราชการของศาลได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความรวดเร็วจึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

         [รก.2512/84/812/30 กันยายน 2512]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2520

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากขึ้น และมีคดีความมาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งและศาลอาญาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ห้องพิจารณาของศาลแพ่งและศาลอาญามีอยู่จำกัด ไม่เพียงพอกับจำนวนคดีที่มาสู่ศาล ประกอบกับการคมนาคมในกรุงเทพมหานครไม่สู้จะคล่องตัว ทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้เกี่ยวข้องไม่ได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางไปติดต่อกับศาล สมควรจัดตั้งศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรีเพิ่มขึ้น เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดธนบุรีเดิม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

         [รก.2520/17/4พ/9 มีนาคม 2520]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522

        มาตรา 5 คดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้คงเป็นไปตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนนั้นจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันศาลแขวงมีผู้พิพากษาหลายคน แต่บทบัญญัติมาตรา 15 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติให้คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ซึ่งศาลแขวงเห็นว่าโทษของจำเลยควรจำคุกเกินหกเดือนหรือปรับเกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าวศาลแขวงต้องทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลอาญาหรือศาลจังหวัดพิพากษาทำให้คดีล่าช้า สมควรให้ผู้พิพากษาศาลแขวงสองคนมีอำนาจพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงนั้นได้เลย นอกจากนี้จำนวนทุนทรัพย์คดีแพ่งและค่าปรับคดีอาญาที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียว และศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามบทบัญญัติมาตรา 22 ยังไม่เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและสภาพการณ์ของประเทศในปัจจุบัน สมควรเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์คดีแพ่งและค่าปรับคดีอาญาให้สูงขึ้น และสมควรตัดอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาออก เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธี-พิจารณาความอาญาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 333 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

         [รก.2522/64/17พ/28 เมษายน 2522]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2525

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเกี่ยวกับอำนาจของศาลแขวงและ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น โดยตัดอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาออก เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธี-พิจารณาความอาญาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 333 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ที่ให้ยกเลิกการไต่สวนและมีคำสั่งในกรณีดังกล่าวโดยศาลนั้น บัดนี้ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2523 ซึ่งบัญญัติให้นำการไต่สวนในศาลกลับมาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวอีกสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้สอดคล้องกันเพื่อให้ศาลแขวงและผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้เช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2525/33/1พ/5 มีนาคม 2525]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2525

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไว้จำกัดแต่เฉพาะที่จะสั่งให้ผู้พิพากษาของศาลจังหวัดไปนั่งเป็นศาล ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอนั้นชั่วคราว ทำให้เกิดความขัดข้องในด้านอาคารสถานที่และไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่สมตามความมุ่งหมาย สมควรแก้ไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจสั่งให้ผู้พิพากษาของศาลจังหวัดไปนั่งเป็นศาล ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งนอกจากที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเป็นการชั่วคราวได้ด้วย และให้มีอำนาจกำหนดให้ศาลดังกล่าวมีเขตอำนาจในท้องที่อำเภออื่นที่อยู่ใกล้เคียงด้วย อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อกับศาล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2525/121/11พ/27 สิงหาคม 2525]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2527

        มาตรา 3 ให้แก้คำว่า "นาย" ในกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเป็น "คน" ทุกแห่ง

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยปริมาณงานตุลาการและงานธุรการของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลงานของสำนักงานมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพียงคนเดียวไม่มีผู้ช่วยปฏิบัติราชการ ทำให้ราชการของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคดำเนินไปไม่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สมควรกำหนดให้มีตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ อันจะเป็นผลให้ราชการของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในโอกาสนี้สมควรแก้ไขคำว่า "นาย" ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเป็น "คน" ทุกแห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับการที่ให้สตรีดำรงตำแหน่งข้าราชการตุลาการได้ รวมทั้งสมควรแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 8 และมาตรา 9 เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในมาตรา 13 ด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2527/169/4พ/19 พฤศจิกายน 2527]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2532

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้ขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้ พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นการแบ่งเบาคดีจากศาลแพ่งและศาลอาญาและเพื่อให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางไปติดต่อกับศาลในการนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อกำหนดเขตอำนาจของศาลดังกล่าวและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2532/127/9พ/11 สิงหาคม 2532]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2532

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 ขึ้น แต่เนื่องจากพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมิได้มีบทบัญญัติรองรับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค การกำหนดเขตศาลและอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค อีกทั้งอำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาคดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2532/127/21พ/11 สิงหาคม 2532]


--------------------------------------------------------------------------------

        พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2534         หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานและกำหนดทุนทรัพย์ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของผู้พิพากษาคนเดียวไว้ค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้พิพากษาคนเดียวไม่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์สูงกว่าที่กำหนดไว้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงสมควรแก้ไขอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2534/149/7พ/27 สิงหาคม 2534]


--------------------------------------------------------------------------------

        ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 73

        โดยที่ได้มีการจัดตั้งจังหวัดยโสธรขึ้น จึงต้องกำหนดให้จังหวัดยโสธร อยู่ในเขตอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 3 หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

         [รก.2515/21/8พ/7 กุมภาพันธ์ 2515]


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

รัฐสภาไทย

ประเภทของหน้า: กฎหมาย