พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2007
ที่มา: 
พระราชประวัติ พระมหากษัตย์ 9 รัชกาล / ศิวรรณ คุ้มโห

รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพ:Ram3.jpg

[แก้ไข] พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าชายทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในเจ้าจอมมารดาเรียม ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชินี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อปี พ.ศ.2349 พระราชบิดาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระมหาอุปราชกรมบวรสถานมงคล จึงได้รับเลื่อนพระยศตามพระราชบิดาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ต่อมาเมื่อพระชนมายุครบผนวชตามพระราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอัยยิกาธิราชโปรดเกล้าฯ จัดพิธีผนวชให้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จออกในพิธีผนวชครั้งนี้ด้วยแม้จะมีอายุถึง 72 พรรษาแล้วก็ตาม ด้วยทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่ในตอนนั้น เมื่อผนวชแล้วทรงเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม

ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 26 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสถาปนาขึ้นดำรงพระยศเจ้ากรมมีพระนามกรมว่า “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ในปี พ.ศ. 2356 ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายแขนงวิชาไม่ว่าจะเป็นด้านพระพุทธศาสนา อักษรศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพาณิชยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ทำให้เป็นที่วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้กำกับราชการโดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง เช่น กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และยังทรงนับหน้าที่พิจารณาพิพากษาความฎีกาแทนพระองค์อยู่เสมอ ทำให้ทรงรอบรู้ราชการต่าง ๆ ของแผ่นดินเป็นอย่างดี

ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ทรงมิได้มอบพระราชสมบัติให้กับพระราชโอรสพระองค์ใด เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ประชุมปรึกษาหารือแล้วลงมติว่า ควรถวายพระราชสมบัติให้แก่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สืบราชสมบัติแทนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี พระนาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้ความชำนาญทางด้านการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านพ่าง ๆ ที่นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นเอนกอนันต์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมิได้สถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นพระบรมราชินี คงมีแต่เพียงเจ้าจอมมารดา และสนมเอกเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิมาน องค์ข้างตะวันตก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สิริพระชนมายุได้ 63 พรรษา 2 วัน รวมเวลาที่ทรงครองอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นเวลา 26 ปี 8 เดือน

 

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้ไข] ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชสมบัตินั้นประเทศไทยตกอยู่ในภาวะยากจนเป็นอันมาก เนื่องจากเมื่อตันกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศไทยได้ใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วยกรุงศรีอยุธยาสูญเสียทรัพย์สินจากการพ่ายแพ้สงครามพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตั้งระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาหลายอย่างเพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลังหลวง ในรัชกาลของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัฐมีรายได้เข้าประเทศหลายอย่าง คือ จังกอบ อากรฤชา ส่วย ภาษี เงินค่าราชการจากพวกไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เป็นต้นรายได้ของรับมีเพิ่มมากขึ้นกว่ารัชกาลก่อนทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้าและแรงงานเป็นชำระด้วยเงินตรา และที่สำคัญ คือ ภาษีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ถึง 38 อย่าง ได้แก่

  1. อากรบ่อนเบี้ย คือ ตั้งโรงไว้ให้คนไปเล่นกัน นายอากรเป็นผู้เก็บค่าต๋งหัวเบี้ยส่งหลวงส่วนที่เรียกบ่อนเบี้ยส่งหลวงส่วนที่เรียกว่า บ่อนเบี้ยจีนนั้น สำหรับคนจีนเล่นกันตามประเพณีคนจีน
  2. อากรหวย ก.ข. เป็นอากรแบบใหม่ แต่คล้ายกับอากรบ่อนเบี้ยของเดิม จึงยังเรียก อากรแต่ก็ยกมาไว้ ในการเก็บภาษี
  3. ภาษีเบ็ดเสร็จ เรียกเก็บจากของลงสำเภา
  4. ภาษีของต้องห้าม 6 อย่าง
  5. ภาษีพริกไทย เรียกเก็บจากผู้ซื้อของลงสำเภา
  6. ภาษีพริกไทย เรียกเก็บสิบลดจากผู้ขาย
  7. ภาษีฝาง
  8. ภาษีไม้แดง เรียกเก็บจากผู้ซื้อของลงสำเภา
  9. ภาษีไม้แดง เรียกเก็บสิบลดจากผู้ขาย
  10. ภาษีเกลือ
  11. ภาษีน้ำมันมะพร้าว
  12. ภาษีน้ำมันต่าง ๆ
  13. ภาษีกระทะ
  14. ภาษีต้นยาง
  15. ภาษีไม้ชัน
  16. ภาษีฟืน
  17. ภาษีจาก
  18. ภาษีกระแซง
  19. ภาษีไม้ไผ่ป่า
  20. ภาษีไม้รวก
  21. ภาษีไม้สีสุก
  22. ภาษีไม้ค้างพลู
  23. ภาษีไม้ต่อเรือ ได้แก่ กง กระดาน จังกูด สมอ พังงา
  24. ภาษีไม้ซุง
  25. ภาษีฝ้าย
  26. ภาษียาสูบ
  27. ภาษีปอ
  28. ภาษีคราม
  29. ภาษีเนื้อ ปลาแห้ง
  30. ภาษีเยื่อเคย
  31. ภาษีน้ำตาลทราย
  32. ภาษีน้ำตาลหม้อ
  33. ภาษีน้ำตาลอ้อย
  34. ภาษีสำรวจ
  35. ภาษีเตาตาล
  36. ภาษีจันอับ ไพ่ เทียนไข เนื้อ และขนมต่าง ๆ
  37. ภาษีปูน
  38. ภาษีเกวียนต่าง เรือจ้างทางโยง

การเก็บภาษีอากรภายในประเทศนี้ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งระบบการเก็บภาษีโดยให้เอกชนประมุลรับเหมาผู้ขาดไปเรียกเก็ยภาษีจากราษฏรเอง เรียกว่า เจ้าภาษีหรือนายอากร ซึ่งส่วนใหญ่ชาวจีนจะเป็นผู้ประมูลได้ การเก็บภาษีด้วยวิธีการนี้ ทำให้เกิดผลดีหลายประการในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสามารถเก็บเงินเข้า พระคลังมหาสมบัติได้สูงแล้ว ยังส่งผลดีทางด้านการเมืองอีกด้วย คือ ทำให้เจ้าภาษีนายอากรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนนั้น มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และมีความผูกพันกับแผ่นดินไทยแนบแน่นขึ้น

นอกจากนี้รายได้ของรัฐอีกส่วนหนึ่ง ยังได้มาจากการค้าขายกับชาวต่างประเทศได้ผลประโยชน์จากภาษีหลายชั้น คือ ภาษีเบิกร่อง ภาษีขาออก และการค้าแบบผูกขาดของพระคลัง นอกจากนี้ไทยยังส่งเรือสินค้าเข้าไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ เนื่องจากพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยและเชี่ยวชาญการส่งเรือสินค้ามาตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนสมเด็จพระชนกนาถตรัสเรียกพระองค์ท่านว่า “เจ้าสัว” เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงสนับสนุนการค้า ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ทรงมีเรือกำปั่นพาณิชย์ประมาณ 11-13 ลำ เรือกำปั่นของขุนนางที่สำคัญอีก 6 ลำ

รายได้จากการค้าสำเภานี้นับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งอีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพมั่นคงและรัฐมีรายได้มากขึ้น รายได้นี้จึงได้นำมาใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง การป้องกันประเทศ การศาสนา และด้านอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในรัชสมัยของพระองค์เองและในรัชสมัยต่อมา กล่าวคือ

รายได้ของแผ่นดินในรัชกาลนี้ปรากฏว่าสูงขึ้นมาก บางปีมีจำนวนมากถึง 25 ล้านบาท เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เงินในท้องพระคลังหลวงซึ่งหมายรวมถึงเงินค่าสำเภาด้วย เหลือจากการจับจ่ายของแผ่นดินมี 40,000 ชั่ง และด้วยทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยในด้านการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตทรงมีพระราชปรารภให้แบ่งเงินส่วนนี้ไปทำนุบำรุงรักษาวัดที่ชำรุดเสียหายและวัดที่สร้างค้างอยู่ 10,000 ชั่ง ส่วนที่เหลืออีก 30,000 ชั่ง โปรดให้รักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแผ่นดินต่อไป เงินจำนวนดังกล่าวนี้กล่าวกันว่าโปรดให้ใส่ถุงแดงเอาไว้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาใช้จ่ายเป็นค่าปรับในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ เมื่อ ร.ศ. 112 (พ.ศ.2436) จะเห็นได้ว่า แม้สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเสด็จสวรรคตไปแล้ว พระองค์ยังมีส่วนช่วยเหลือประเทศให้รอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ด้วยเงินถุงแดงที่พระองค์ทรงเก็บสะสมไว้

 

[แก้ไข] ด้านการปกครอง

ลักษณะการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงเป็นแบบอย่างที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาและกรุงธนบุรี คือ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของการปกรองประเทศ ทรงเป็นประมุขผู้พระราชทานความพิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้ปลอดภัยตำแหน่งรองลงมา คือพระมหาอุปราช ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตำแหน่งบังคับบัญชาในด้านการปกครองแยกต่อมา คืออัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร คือ พระสมุหพระกลาโหม และฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก ตำแหน่งรองลงมา เรียก เสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เสนาบดีเมืองหรือเวียง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา

ในรัชสมัยของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้เลือกสรรเจ้านายที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นผู้กำกับราชการ ควบคุมดูแลและเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ในหน้าที่ต่าง ๆ กัน เหนืออัครเสนาบดี และเสนาบดีทั้ง 4 ตำแหน่ง เช่น พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงกำกับราชการกรมพระคลังหรือกรมท่า

ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน ยังคงจัดแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นใน และหัวเมืองประเทศราช ดังที่เคยปกครองกันมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการแบ่งการปกครองในลักษณะนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการปกครองหัวเมืองประเทศราช เช่น ลาว เขมร และมลายู เพราะหัวเมืองเหล่านี้พยายามหาทางเป็นเอกราช หลุดจากอำนาจของอาณาจักรไทย

 

[แก้ไข] ด้านการทำนุบำรุงประเทศ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ เน้นหลักไปในด้านการก่อสร้างบ้านเมือง ตลอดจนการขุดลอกคูคลองสร้างป้อม สร้างเมือง ฯลฯ เพราะอยู่ในระยะการสร้างราชธานีใหม่ และพระมหากษัตริย์ในสามรัชกาลแรกทรงยึดถือนโยบายร่วมกันในอันที่จะสร้างบ้านเมืองให้ใหญ่โตสง่างามเทียบเท่ากับกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่การสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นต้น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัตถุสถานต่าง ๆ ที่สร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ อาทิด พระบรมมหาราชวัง และวัดวาอารามต่าง ๆ และยังทรงเป็นพระธุระในการขุดแต่งคลองเพิ่มเติม คือ คลองสุนัขหอน คลองบางขุนเทียนคลองพระโขนง และคลองแสนแสบ (คลองบางขนาก)

ในรัชกาลนี้บ้านเมืองขยายตัวมีการตั้งเมืองใหญ่ ๆ ขึ้นมาก เช่น เรณูนคร อำนาจเจริญ อาจสามารถอากาศอำนวย หนองคาย เป็นต้น พระองค์ทรงประกาศว่า หัวเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย และพระราชทานการทำนุบำรุงด้วยประการต่าง ๆ ให้มีความเจริญขึ้นทัดเทียมส่วนกลาง เป็นผลให้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทยตราบเท่าทุกวันนี้

 

[แก้ไข] ด้านการป้องกันประเทศ

ในรัชสมัยของพระองค์แม้ว่าการสงครามทางด้านทิศตะวันตกระหว่างไทยกับพม่าจะเบาบางและสิ้นสุดในรัชกาลที่ 3 เพราะพม่ารบกับอังกฤษ แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้ว่างเว้นจากศึกสงครามตลอดรัชกาต้องยกทัพไปสู้รบป้องกันพระราชอาณาเขตส่วนทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือและทิศใต้

ในรัชสมัยนี้มีเหตุการณ์ทำสงครามที่สำคัญ คือ เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฎโปรดให้สมเด็จพระบวราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพไปปราบปรามและยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2370

พ.ศ. 2376-2391 การทำสงครามกับญวนที่พยายามชิงเขมรไปจากไทย 4 ครั้ง และญวนสามารถสู้รบกันในแผ่นดินเขมรส่วนนอก เป็นเวลานานถึง 15 ปี จนเลิกรบกัน ผลของสงครามทำให้ไทยได้เขมรมาอยู่ในปกครองอีก

นอกจากนั้นทรงเตรียมรบอยู่พร้อมสรรพมีการสร้างป้อมป้องกันศัตรูทางน้ำ เช่น ที่ เมืองสมุทรสาครเป็นต้น ในปลายรัชกาลโปรดให้สร้างเรือกำปั้นรบ กำปั่นลาดตระเวน ไว้รักษาพระนครและค้าขายนอกจากนี้ยังทรงสร้างสมอาวุธยุทธปกรณ์ไว้เป็นอันมาก คลองต่าง ๆ ที่ขุดขึ้นในรัชสมัย นอกจากตั้งพระราชหฤทัยจะให้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมแล้ว ยังใช้เป็นทางลัดไปมาระหว่างสงครามอีกด้วย

 

[แก้ไข] ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ราชอาณาจักรไทยมีการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเซียและยุโรปมานาน ทั้งด้านการทูตและด้านการค้า ชาติที่สำคัญในทวีปเอเซีย ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนชาติในทวีปยุโรป ได้แก่ อังกฤษ โปรตุเกส เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับจีน ญวน เขมร ลาวและมลายู แต่มีปรเทศโปรตุเกสเป็นชาติเดียวในยุโรปที่เข้ามาติดต่อในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมามีชาวยุโรปอื่นเข้ามาเจรจาเปิดสัมพันธไมตรี คือ อังกฤษ และสหรัฐอเมริการ

ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ในเอเซียนั้น ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ็อันดีกับไทยทั้งทางด้านการทูตและการค้า ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยจัดส่งราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน ใน พ.ศ. 2368 และการค้าระหว่างไทยกับจีนก็ดำเนินไปได้ด่วยดีตลอดรัชสมัย

ในขณะนั้นประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีและตกลงทำสัญญาการค้า ซึ่งเจรจาตกลงเรื่องการค้าไม่ประสบผลสำเร็จนัก ด้วยในตอนต้นทรงมีนโยบายไม่ยอมอ่อนข้อให้กับประเทศตะวันตกด้วยระมัดระวังในเกียรติของชาติ รวมถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญการทำสัญญาการค้าในประเภทที่ไทยจะต้องเสียเปรียบก็ไม่ทรงยินยอม ทรงพยายามที่จะรักษาประโยชน์ของชาติให้มากที่สุด ที่ทรงกระทำเช่นนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่ทรงตระหนักถึงภัยจากการรุกรานของมหาอำนาจตะวันตกที่มีต่อประเทศใกล้เคียง ทรงเข้าพระทัยดี จึงได้พระราชทานกระแสเกี่ยวกับการต่างประเทศไว้ในอนาคตก่อนหน้าที่จะเสด็จสวรรคตว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็อยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสกันทีเดียว” อย่างไรก็ดีการติดต่อกับชาวตะวันตกเช่น มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต็นิกายโปรเตสแตนท์ ได้นำวิทยาการสมัยใหม่ทั้งทางการแพทย์ การทหาร การช่าง ดาราศาสตร์เข้ามาเผยแพร่ ทำให้ชาวไทยได้เรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าและทันสมัยนั้น ก็ทรงเห็นชอบและทรงสนับสนุนอยู่ไม่น้อย

 

[แก้ไข] ด้านการศึกษา

การศึกษาของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดมีบทบาทเป็นสถาบันทางการศึกษาตามอย่างที่เป็นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา การศึกษาที่วัดส่วนใหญ่ยังเป็นไปในลักษณะเดิม และเป็นการเรียนแบบสามัญศึกษา มีพระสงฆ์เป็นครูผู้สอนหนังสือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการเล่าเรียนเขียนอ่านสำหรับเด็ก เนื่องจากแบบเรียนเดิมนั้นยากไปกำหนับเด็ก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชแต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นมาใหม่ ในชื่อเก่า คือ หนังสือจินดามณี

นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีความรู้นำตำราต่าง ๆ จารึกลงบนศิลา ประดับไว้ตามฝาผนังอาคารต่าง ๆ ของวัดราชโอรสาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม โดยเฉพาะที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอันเป็นวัดที่สำคัญที่ทรงโปรดให้บูรณะในรัชกาลของพระองค์ ความรู้และตำราต่าง ๆ ที่โปรดให้จารึกไว้นั้นมีทั้งวิชาอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พุทธศาสตร์และโบราณคดี เช่น ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ พร้อมกันนั้นก็ทรงโปรดให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนแสดงท่าบำบัดโรคลม กับคำโคลงบอกชนิดของลม ตั้งไว้ในศาลารายรอบเขตพุทธาวาสทำให้ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างแพร่หลาย จนคนไทยทั้งหลายในยุคนั้นกล่าวว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย

จากการที่คณะบาทหลวงและมิชชั่นนารีมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย คณะบุคคลดังกล่าวยังเป็นผู้เผยแพร่วิชาการแบบใหม่ของตะวันตกให้แก่บุคคลสำคัญของไทยในยุคนั้น เช่นภาษีอังกฤษ ประวัติศาสตร์ การเมือง วิทยาการทางทหาร แพทยศาสตร์ วิชาการต่อเรือ เป็นต้น การดำเนินงานด้านการศึกษาของคณะระบบโรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ตามมา

 

[แก้ไข] ด้านพระพุทธศาสนา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตามพระราชประเพณีแต่ โดยส่วนพระองค์แล้ว ทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าในบวรพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์พระศาสนา ตลอดรัชสมัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สดับพระธรรมเทศนาและปฎิบัติธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ ทรงพระเมตตาให้ทานแก่ยาจกและวณิพกอยู่เสมอโปรดให้สร้างเก๋งโรงทานสำหรับแจกทานแก่บุคคลทั่วไป

แม้ในฤดูสำเภาออก ก็พระราชทานข้าวกล้องมอบให้จุ้นจูลำละ 50 ถัง บ้าง 1 เกวียนบ้าง ออกไปให้ทานคนยากจนที่เมืองจีน ในส่วนคณะสงฆ์ ทรงทำนุบำรุงคณะสงฆ์เป็นอย่างดี พระราชทานเงินเดือนให้อาจารย์บอกคัมภีร์พุทธวจนะแก่พระภิกษุสามเณร แม้บิดามารดาของพระภิกษุสงฆ์ที่สอบไล่ได้เปรียญก็ทรงอุดหนุนเลี้ยงดู

พระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านศาสนาที่สำคัญ คือ

1. ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นจำนวนมากทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองวัดที่ทรงสร้างใหม่ 3 วัด บูรณะปฏิสังขรณ์อีกถึง 35 วัด วัดที่ทรงสร้างคือ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม ส่วนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนฯ วัดสุทัศน์เทพวราราม ก็ทรงปฏิสังขรณ์เสริมสร้างดุจดังว่าสร้างขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระธาตุเจดีย์ คือ พระปรางค์และพระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระปราค์วัดอรุณราชวราราม พระเจดีย์ 2 องค์ ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนอุทเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูปก็ทรงสร้างไว้มากมาย

2. ทรงสร้างพระไตรปิฏกไว้ไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ คือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองน้อย ฉบับซุบย่อ ฉบับอักษรรามัญ ฉบับเทพชุมนุม และฉบับลายกำมะลอ เป็นต้น

3. ทรงบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อสางเสริมความรู้ของพระภิกษุ จนการศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนาแพร่หลายรุ่งเรืองเป็น อย่างยิ่ง

 

[แก้ไข] ด้านศิลปวัฒนธรรม

[แก้ไข] ศิลปกรรม

การทำนุบำรุงศิลปกรรมในรัชสมัยนี้แบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ และศิลปะแบบพระราชนิยม โดยศิลปกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ เฉพาะด้านสถาปัตยกรรม เป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน และตะวันตก ด้วยติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศทำให้อิทธิพลทางด้านศิลปะเข้ามาผสมผสาน ส่วนศิลปะแบบพระราชนิยม เป็นศิลปกรรมไทยที่มีลักษณะโดดเด่นมากเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง ซึ่งยังหลงเหลือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจนทุกวันนี้ ก่อนที่ศิลปะทางตะวันตกจะเข้ามาอิทธิพลในงานศิลปะไทยในยุคต่อมา

 

[แก้ไข] วรรณคดี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกวีที่สามารถพระรองค์หนึ่ง ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงสนพระราชหฤทัยในการประพันธ์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมหลายเรื่อง คือ โคลงปราบดาภิเษกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทละครเรื่องสังข์ศิลป์ชัยเพลงยาวสังวาส และบทเสภาบางตอนในเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อทรงครองราชทรงมีพระพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้ไม่มีเวลาในการพระราชนิพนธ์วรรณกรรมด้วยพระองค์เอง แต่ถึงกระนั้นก็ทรงทำนุบำรุงวรรณกรรมอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาในรัชสมัยนี้ยังมีกวีที่สำคัญๆ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และสุนทรภู่ ซึ่งมีชื่อเสียงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 แล้ว วรรณคดีที่แต่งขึ้นมาในรัชสมัยนี้ ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย ปฐมสมโพธิกถา กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ระเด่นลันได โคลงสุภาษิตโลกนิติ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่าง ๆ หลายแขนงหลายสาขา เช่น อักษรศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาณิชยศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เนื่องเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ทรงพระปรีชาสามารถฉลาดหลักแหลม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเข้ารับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงกำกับราชการทั้งกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ และยังทรงรับหน้าที่พิจารณาพิพากษาความฎีกาแทนพระองค์อยู่เสมอ จึงทรงรอบรู้กิจการของแผ่นดิน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การบริหาร การปกครอง อย่างเชี่ยวชาญ ครั้นเสด็จขึ้นครองราชสมบัติจึงได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นำความมั่นคงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ศิลปวิทยาการมาสู่ประเทศเป็นเอนกประการ

 

[แก้ไข] บทสรุป

พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศอย่างเอนกอนันต์ ด้วยเมื่อทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนฐานะของประเทศดีขึ้นอย่างมาก ทรงติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศอย่างมาก ทำให้มีเงินในการปฏิสังขรณ์อารามต่าง ๆ ในส่วนการป้องกันประเทศ ทรงทุ่มเทพระวรกายปกป้องอิทธิพลที่เข้ามารุกรานประเทศทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นในบริเวณลานเจษฎาบดินทร์ ถ.ราชดำเนิน


แหล่งอ้างอิง