พระบารมีปกเกล้าและพระบริบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนิติรัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
ดร. เชาวนะ ไตรมาศ ศาลรัฐธรรมนูญ

พระบารมีปกเกล้าและพระบริบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนิติรัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในบทความนี้ได้แบ่งเนื้อหาสำคัญออกเป็น ๓ ส่วนคือ

(๑) นิติรัฐ (legal state) กับรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย (rule of law)

๒. ประชาธิปไตย (democracy) กับรัฐที่ปกครองโดยฝ่ายข้างมาก(majority rule)

๓. พระบารมีปกเกล้าและพระบริบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนิติรัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : รัฐที่ปกครองโดยธรรม (the right, justice and virtue state) ทั้งนี้จะได้กล่าวถึงในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 


[แก้ไข] ๑. นิติรัฐ (legal state) กับรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย (rule of law)
         ๑.๑ หลักประกันขั้นพื้นฐานของนิติรัฐ รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย อาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองแทนการใช้คนเป็นเครื่องมือในการปกครองเพราะถือว่ากฎหมายเป็นตัวแทนอำนาจการปกครองที่ประชาคมการเมือง (political community) สามารถรักษาความเป็นเจ้าของไว้ได้ โดยที่ไม่ต้องตกไปเป็นของผู้ปกครอง (ruler) เสียเองซึ่งต่างจากการปกครองโดยคนที่อำนาจการปกครองย่อมเกิดจากผู้ปกครอง ใช้โดยผู้ปกครองและใช้เพื่อสนองความมุ่งหมายของผู้ปกครองเสมือนกับเป็นเจ้าของอำนาจเองการรักษาอำนาจการปกครองไว้ให้เป็นของประชาคมการเมืองไม่ให้ตกเป็นของผู้ปกครองจึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการแยกประชาคมการเมืองซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง ออกจากผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้เอาอำนาจการปกครองไปใช้เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการกำหนดให้กฎหมายที่ประชาคมการเมืองยึดถือให้เป็นตัวแทนอำนาจการปกครองต้องมี“คุณสมบัติพื้นฐาน” คือ “ความยุติธรรม”เสียก่อนจึงจะทำให้กฎหมายนั้นมี “คุณค่าพื้นฐาน” คือ “ความชอบด้วยกฎหมายในการบังคับใช้” ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ปกครองที่จะนำเอากฎหมายไปใช้บังคับในการปกครองในลำดับถัดไปการได้มาซึ่งกฎหมายที่มีคุณสมบัติพื้นฐานของความยุติธรรมนั้น กฎหมายจะต้องมีที่มาจาก “คนส่วนใหญ่บนฐานของเหตุผลคุณธรรมและผลประโยชน์ร่วมกันเป็นส่วนรวม”กฎหมายแม้จะได้มาจากเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่บนฐานของเหตุผล คุณธรรมและผลประโยชน์ร่วมกันเป็นส่วนรวมแล้วก็ตามแต่กฎหมายนั้นย่อมถูกสงสัยใน “คุณค่าพื้นฐาน” ของกฎหมายได้เช่น กันหากการนำกฎหมายไปใช้บังคับในการปกครองนั้น “ขาดความชอบด้วยกฎหมายในการบังคับใช้” หรือไม่ได้มีการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย

         ๑.๒ หลักประกันขั้นกลางของนิติรัฐ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ปกครองจึงต้องมีส่วนร่วมในการขจัดความสงสัยในคุณค่าพื้นฐานของกฎหมายในด้านการบังคับใช้ไปด้วย กล่าวคือ บทความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีและวิชาการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ปกครองต้องเรียนรู้เข้าใจและมีความรอบคอบในการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมครบถ้วนทั้งกระบวนการเพื่อรักษาหลักประกันขั้นกลางของนิติรัฐโดยการป้องกันไม่ให้กฎหมายที่มีคุณสมบัติของความยุติธรรมสูญเสียคุณค่าไปในชั้นของการนำไปใช้บังคับในการปกครอง หรือการไม่ปล่อยให้กฎหมายที่มีคุณสมบัติพื้นฐานของความยุติธรรมดีอยู่แล้วต้องเสียคุณค่าพื้นฐานไปอันเนื่องมาจากถูกผู้ปกครองนำไปใช้ในทางที่ผิด (abuse of power) ในภายหลังได้ การรักษาคุณค่าพื้นฐานของกฎหมายจากการนำกฎหมายไปใช้บังคับในการปกครองของผู้ปกครองนั้น ผู้ปกครองจำเป็นต้องรักษาความชอบธรรม(legitimacy) ตามครรลองของความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) และความชอบด้วยกฎหมาย (legality) โดยการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายและระวังป้องกันปัญหาความผิดพลาด(illegality) ในการใช้อำนาจโดยไม่ใช้อำนาจที่ไม่มีที่มาจากกฎหมาย (source) ไม่ใช้อำนาจโดยที่ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้(means) และการไม่ใช้อำนาจโดยที่ไม่สนองตอบต่อเป้าหมายที่กฎหมายมุ่งให้บรรลุผล (goal)

         ๑.๓ หลักประกันขั้นสูงของนิติรัฐ นิติรัฐ (legal state) ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย(rule of law) จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อความคาดหวังขั้นสูงของประชาคมการเมือง ซึ่งถือเป็นการสร้างหลักประกันขั้นสูงของนิติรัฐในการทำให้กฎหมายนั้นมี “ผลสัมฤทธิ์พื้นฐาน” คือ “การแปลงเครื่องมือทางกฎหมายให้เป็นเป้าหมายร่วมของรัฐและประชาชน” โดยการทำให้กฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองนั้น สามารถนำรัฐและประชาชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายสูงสุดในบั้นปลายได้ด้วย ไม่ว่าเป้าหมายในด้านความมั่นคง ความมั่งคั่ง ความสุขที่สมบูรณ์ความสงบสุข ความสงบร่มเย็น หรือความสันติสุขก็ตาม การสร้างนิติรัฐให้เป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย โดยที่มีหลักประกันครบถ้วนทั้ง ๓ ระดับ คือ

(๑) ระดับขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นการสร้างคุณสมบัติพื้นฐานของกฎหมายคือความยุติธรรม

(๒)ระดับขั้นกลาง ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าพื้นฐานของกฎหมาย คือ ความชอบด้วยกฎหมายในการบังคับใช้ และ

(๓) ระดับขั้นสูง ซึ่งเป็นการสร้างผลสัมฤทธิ์พื้นฐานของกฎหมาย คือ การแปลงเครื่องมือทาง กฎหมายให้เป็นเป้าหมายร่วมของรัฐและประชาชน นั้น จำเป็นต้องบูรณาการให้กฎหมายทุกระดับของรัฐ ต้องมีองค์ประกอบร่วมในโครงสร้างและหน้าที่หลักของกฎหมาย (common structure & function) ใน ประการด้วยกันคือ

(๑) หลักทั่วไปของกฎหมาย
(๒) หลักศีลธรรมของกฎหมาย และ
(๓) หลักคุณธรรมของกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อเกื้อหนุนให้กฎหมายของรัฐนั้น “เป็นที่ยอมรับในความน่าเชื่อถือศรัทธาและเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในความน่าเคารพปฏิบัติตาม”
[แก้ไข] ๒. ประชาธิปไตย (democracy) กับรัฐที่ปกครองโดยฝ่ายข้างมาก (majority rule)
         ๒.๑ หลักประกันขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาศัยอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดเป็นเครื่องมือในการปกครอง เพราะถือว่าการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั้น เป็น “การปกครองของประชาชน” (rule of the people) อำนาจสูงสุดทางการปกครองหรืออำนาจในการกำกับควบคุมอนาคตของประเทศและกำหนดชะตากรรมของประชาชนหรืออำนาจในการกำหนดใจตนเองของประชาชนซึ่งเรียกว่าอำนาจอธิปไตย จึงต้องเป็น“อำนาจของประชาชน” (popular sovereignty) ด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกันทั้งประชาธิปไตยแบบทางตรง (direct democracy) ประชาธิปไตยแบบผู้แทนหรือแบบทางอ้อม (representative, indirect democracy) หรือประชาธิปไตยแบบส่วนร่วม (participatory democracy) จึงจำเป็นต้องดำรงจุดร่วมอันเดียวกัน คือ“การเคารพในความเป็นเจ้าของอำนาจของประชาชน” ด้วยกันทั้งสิ้น การได้อำนาจหรือการเข้าสู่อำนาจและการพ้นจากอำนาจของผู้ปกครอง จึงต้องเป็นไปตาม“ความตกลงใจของประชาชน”(people determination) ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นเจตนารมณ์ทั่วไป (general will)ผ่านรูปแบบของการออกเสียงประชามติ (referendum) หรือการเลือกตั้งทั่วไป (general election) ที่เป็นไปอย่างอิสระ (autonomy) เป็นความลับ (secret) เป็นการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยทั่วไป (generalsufferage) มีวาระที่แน่นอน (termination) มีความเสมอภาค (equality) มีทางเลือกและการแข่งขัน (competition,alternative) รวมทั้งการมีกติกากำกับควบคุม (regulation) เพื่อสร้างกระบวนการที่เชื่อมั่นว่าสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์บั้นปลายที่ก่อให้เกิดเจตนารมณ์ที่แท้จริง (genuine will) และเจตนารมณ์ของฝ่ายข้างมาก (will of majority) ที่หลอมรวมกันเป็นความยุติธรรม (justice) ได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานให้ “การได้อำนาจหรือการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองนั้นต้องขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ที่คนส่วนใหญ่กำหนดหรือเป็นไปตามความตกลงใจของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง” ไม่ใช่เป็นเพราะผู้ปกครองสามารถกำหนดตัวเองให้ได้อำนาจหรือเข้าสู่อำนาจตามความต้องการหรือความสะดวกใจของตัวเองได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างพันธะผูกพันให้ผู้ปกครองซึ่งได้อำนาจมาจากประชาชนนั้นจะต้อง “มีความรับผิดชอบต่อประชาชน” (people responsibility) ด้วยเช่นกัน

         ๒.๒ หลักประกันขั้นกลางของประชาธิปไตย โดยที่อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงถือหลักว่าอำนาจการปกครองนั้นต้องใช้โดยประชาชน หรือเป็น“การปกครองโดยประชาชน” (rule by the people) ด้วยการปกครองโดยประชาชน จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดให้ผู้ปกครองต้องเป็น“รัฐบาลของปวงชน” (popular government) ด้วย ซึ่งเป็นหลักประกันในขั้นกลางให้ “ประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการการเมือง” (political participation) โดยการแสดงออกถึงผลประโยชน์ความต้องการ(interests articulation) และเรียกร้องให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และความต้องการ (interests aggregation)เหล่านั้นโดยการกำกับเรียกร้องและใช้อิทธิพลกดดันให้ผู้ปกครองรับผิดชอบและตอบสนองให้เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายได้ด้วยหลักประกันดังกล่าวมีส่วนเกื้อหนุนให้วิถีทางของกระบวนการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “มีความเคารพและรักษาบทบาทสถานะและความสำคัญทางการเมืองการปกครองของประชาชนในฐานะที่เป็นผู้กระทำทางการเมืองการปกครองของตนเอง” (political object) มากกว่าการจัดวาง “บทบาทสถานะของประชาชนที่เป็นเพียงผู้รับการกระทำทางการเมืองการปกครองจากผู้ปกครองหรือเป็นผู้รับผลกระทบจากการปกครอง” (political subject) เท่านั้น ซึ่งในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างพันธะผูกพันให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นรัฐบาลของปวงชน (popular government) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปกครองโดยประชาชน (rule by the people) นั้น จะต้อง “มีการตอบสนองต่อประชาชน”(people responsiveness) ด้วย


         ๒.๓ หลักประกันขั้นสูงของประชาธิปไตย ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชน ย่อมส่งผลผูกพันให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็น “การปกครองเพื่อประชาชน”(rule for the people) ด้วย การปกครองเพื่อประชาชน จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดให้ผู้ปกครองต้องเป็น“รัฐบาลผู้พิทักษ์” (guardian government) ด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียง “รัฐบาลผู้แสวงประโยชน์และอำนาจ” (power seeker) เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักประกันขั้นสูงให้“ประโยชน์สูงสุดของประชาชนจำนวนมากที่สุด” (the greatest utilities of the greatest numbers) ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างทั่วถึงและยุติธรรม โดยที่หลักประกันดังกล่าว ถือเป็นเป้าหมายอันพึงปรารถนาของอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีความคาดหวังให้ผู้ปกครองใช้อำนาจการปกครองในการสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อสนองตอบให้แก่ประชาชนจำนวนมากที่สุด ควบคู่ไปกับการใช้อำนาจนั้นให้อยู่ภายใต้ครรลองของการดำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความมีสันติภาพและมีภราดรภาพ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งการยอมรับและเคารพในความแตกต่างหลากหลาย ความสามารถมีศักยภาพ การแข่งขัน เหตุผลคุณธรรมของประชาชน และการสร้างผลพวงเกื้อหนุนให้เกิด “ความมีดุลยภาพระหว่างประโยชน์ส่วนย่อยของประชาชนกับประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศชาติและสังคม” ซึ่งในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างพันธะผูกพันให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นรัฐบาลผู้พิทักษ์ (guardian government) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปกครองเพื่อประชาชน (rule for the people) นั้นจะต้อง มีพันธะผูกพันอย่างต่อเนื่องและเสมอต้นเสมอปลายในการ“อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติ” (devotionfor the public interests) ด้วย

 


[แก้ไข] ๓. พระบารมีปกเกล้าและพระบริบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนิติรัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : รัฐที่ปกครองโดยธรรม(the right, justice and virtue state)
        โดยที่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ เป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุของค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้ตามหลักการพื้นฐานดังกล่าว ถือได้ว่าประเทศไทยและระบอบการปกครองของไทย นั้น “ดำรงอยู่ภายใต้พระบารมีปกเกล้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (reign) และ “ดำรงอยู่ภายใต้พระบริบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (contribution) ในสถานะที่พระองค์ทรงเป็นประมุขสูงสุด ซึ่งเราไม่ได้เป็นเพียงประเทศและระบอบการปกครองที่ “ดำรงอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาล” (rule) และ“ดำรงอยู่ภายใต้การบริหารโดยรัฐบาล” (administration) แต่เพียงอย่างเดียวหลักปรัชญาทางการเมืองการปกครองที่กล่าวถึงรัฐและการปกครองที่ดีว่าเป็น “รัฐและการปกครองที่ยุติธรรม” จึงมีความหมายที่สำคัญและมีนัยที่สูงกว่าการเป็น“รัฐและการปกครองโดยกฎหมายหรือประชาธิปไตย” แต่เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกันกับรัฐและการปกครองในกรณีประเทศไทยของเราที่“ได้รับการปกเกล้าภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ“ได้รับการบริบาลภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งถือว่าเป็น “รัฐที่ปกครองโดยธรรม” นั้นย่อมมีความหมายสำคัญและมีนัยที่ซับซ้อนกว่าการเป็น “รัฐและการปกครองโดยกฎหมายและฝ่ายข้างมากตามแบบของประชาธิปไตยและนิติรัฐทั่วไป”เท่านั้นหากเราได้อัญเชิญเฉพาะพระปฐมบรมราชโองการบางตอนเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “... เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...” มาศึกษาทำความเข้าใจถึงความหมายสำคัญที่เป็นนัยเกี่ยวกับหลักปรัชญาทางการเมืองการปกครองที่กล่าวถึงรัฐและการปกครองที่ดีบนรากฐานของรัฐและการปกครองที่ยุติธรรม แล้วกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีหลักประกันของการเป็นรัฐและการปกครองที่ดีใน ๓ ประการ ด้วยกันคือ

“(๑) เป็นการสร้างรัฐและการปกครองที่มีความถูกต้อง (the right state)

(๒) เป็นการสร้างรัฐและการปกครองที่มีความยุติธรรม ( the justice state) และ

(๓) เป็นการสร้างรัฐและการปกครองที่มีความดีงาม (the virtue state)”


         ๓.๑ การสร้างรัฐและการปกครองที่มีความถูกต้อง (the right state) ถือเป็นจุดตั้งต้นในการวางรากฐานที่สำคัญของรัฐและการปกครองที่พระองค์ทรงตรัสถึง คำว่า “... เราจะครองแผ่นดิน...” ซึ่งต่างจากคำว่า “ปกครองประเทศ” อันเป็นการสะท้อนถึงความถูกต้องของรัฐและการปกครองในหลายประการด้วยกันได้แก่ การสะท้อนถึงการทรงวางสถานะในความเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ ซึ่งอยู่เหนือสถานะของความเป็นรัฐบาล การสะท้อนถึงการทรงวางบทบาทในความเป็นผู้ปกเกล้าและบริบาลซึ่งอยู่เหนือผู้ปกครองและผู้บริหาร การสะท้อนถึงการอยู่เหนือการเมืองซึ่งไม่ต้องทรงกระทำผิดและไม่ต้องทรงรับผิดทางการเมืองและการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะไม่ถูกละเมิดโดยการกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดได้หลักประกันในการสร้างรัฐและการปกครองที่มีความถูกต้องดังกล่าวย่อมส่งผลเกื้อกูลให้รัฐและการปกครองของไทยตั้งอยู่บนฐานค้ำจุนที่มีคุณูปการสูงส่งมากกว่าการดำรงอยู่เพียงฐานของนิติรัฐและฐานของประชาธิปไตย แต่ได้มีฐานค้ำจุนของเสาหลักที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเสมือนราชาปราชญ์(philosopher king) กอร์ปด้วยภูมิความรู้ภูมิความสามารถและภูมิคุณธรรมได้ช่วยค้ำจุนหนุนส่งจากพระปรีชาญาณในการปกเกล้าและบริบาลประเทศชาติและประชาชนให้เราได้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างผาสุกและมีความสงบร่มเย็นเป็นปึกแผ่นอีกด้วย ผลพวงสำคัญที่เราได้รับจากหลักประกันดังกล่าว คือ “การดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐและการ ปกครองที่มีความชอบธรรมอย่างคงทนถาวรตลอดไปโดยไม่แปรเปลี่ยนหรือเสื่อมสลายไปได้” ทั้งนี้เพราะการที่พระองค์ทรงเป็นผู้ปกเกล้าและบริบาลที่มีความเป็นราชาปราชญ์ นั้น ได้หล่อหลอมความเชื่อถือไว้วางใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้อย่างสนิทใจและมีความเลื่อมในศรัทธาอย่างไม่มีความเสื่อมคลายด้วยซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่“พระองค์ทรงเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ค้ำจุนรากฐานของความเป็นรัฐและการปกครองที่มีความถูกต้อง (the right state) ไว้เป็นต้นทุนเดิม” โดยเป็นประมุขของรัฐที่ปกเกล้าและบริบาลประเทศและประชาชนบนพื้นฐานของภูมิความรู้ความสามารถและความมีคุณธรรมในฐานะประมุขสูงสุดของประเทศอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมอย่างทั่วถึงทั่วถ้วนและทั่วด้านปลอดจากอุปสรรคข้อจำกัดที่เกิดจากเงื่อนไขทางกาละและเทศะใด ๆ มาขวางกั้น หากแต่เป็นหนทางที่เปิดกว้างให้พระองค์ทรงสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยใด ๆ ให้แก่อาณาประชาราษฎ์ได้เป็นการทั่วไปไม่มีช่องว่างใดให้เลือกปฏิบัติได้“ซึ่งอยู่เหนือความเป็นพวกพ้องและความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง อยู่เหนือความอ่อนแอ ความยากดีมีจนและความเข้มแข็งมั่งมีศรีสุข อยู่เหนือเชื้อชาติ ศาสน์ ภาษา เพศ ผิวพรรณและกำเนิดอยู่เหนือถิ่นทุรกันดารห่างไกลในชนบทและเขตศิวิไลซ์ในเมืองและนคร อยู่เหนือความทุกข์ยากเคี่ยวเข็ญลำเค็ญและความอยู่เย็นเป็นสุข อยู่เหนือความเสียเปรียบด้อยโอกาสและความได้เปรียบร่ำรวยโอกาส อยู่เหนือความเป็นหมู่คณะของกลุ่มอำนาจและผู้ปกครอง อยู่เหนือความเป็นครั้งคราวตามกำหนดวาระ และอยู่เหนือความรับผิดชอบ ในกรอบที่จำกัดเฉพาะด้านในทางการเมือง” เท่านั้น ซึ่งในขณะเดียวกันหลักประกันดังกล่าวยังได้สืบสานสายใยพระเมตตากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการทรงช่วย“ดำรงรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิสูงสุดแห่งรัฐการปกครองของประเทศและประชาชนในอนาคตระยะยาว” อันเนื่องมาจากประเทศไทยของเรานั้นเป็น“ประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขของรัฐ” อีกด้วย


         ๓.๒ การสร้างรัฐและการปกครองที่มีความยุติธรรม (the justice state) ถือเป็นการกำหนดวิถีครรลองที่สำคัญของรัฐและการปกครองที่พระองค์ทรงตรัสว่า “... เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม...” อันเป็นการสะท้อนถึงการทรงใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือกำกับควบคุมวิถีครรลองของรัฐและการปกครองให้ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นธรรมเป็นหลักสำคัญหลักประกันในการสร้างรัฐและการปกครองที่มีความยุติธรรม(the justice state) ดังกล่าวย่อมส่งผลเกื้อกูลให้รัฐและการปกครองของประเทศมี“ฐานค้ำจุนในเชิงคุณภาพ” ซึ่งเป็นการ“เพิ่มคุณค่าและเนื้อหา” ของความเป็นนิติรัฐและความเป็นประชาธิปไตยที่มีฐานอ้างอิงบนแนวทางของความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริงผลพวงสำคัญที่เราได้รับจากหลักประกันดังกล่าวคือ “การดำเนินวิถีครรลองของรัฐและการปกครองที่ดำรงไว้ซึ่งหลักความยุติธรรมอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่า” ทั้งนี้ เพราะความเป็นรัฐในรูปแบบของนิติรัฐนั้น ย่อมจะต้องดำรงไว้ซึ่งองค์ประกอบของความยุติธรรมที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนอย่างแท้จริงโดยมีความครอบคลุมทั้ง “การสร้างกฎหมายที่ยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายที่มีความชอบด้วยกฎหมายและการใช้กฎหมายให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ถึงเป้าหมายร่วมทั้งของรัฐและประชาชนได้ในบั้นปลายด้วย”เช่นเดียวกับความเป็นระบอบการปกครองในรูปแบบของประชาธิปไตยก็ย่อมจะต้องดำรงไว้ซึ่งองค์ประกอบของความยุติธรรมที่สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างแท้จริงด้วย โดยมีความครอบคลุมทั้ง “การเคารพอำนาจการปกครองที่เป็นของประชาชนการรับผิดชอบและการตอบสนองต่อประชาชนของผู้ปกครองและการเคารพในการปกครองที่มุ่งบรรลุเป้าหมายผลประโยชน์ของประชาชนและการอุทิศตนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดของผู้ปกครอง” ด้วย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่พระองค์ทรงสร้างวิถีครรลองของรัฐและการปกครองที่มีความยุติธรรม (the justice state) โดย “การยกระดับคุณภาพของรัฐและการปกครองในเชิงคุณค่าและเนื้อหา (value) มากกว่าการคำนึงแต่เฉพาะความเป็นรูปแบบ(form)” อย่างเดียว ซึ่งเป็นการสร้าง“จิตวิญญาณ (soul) ให้แก่รัฐและการปกครองของประเทศ” อันเป็นการเกื้อหนุนให้ความเป็นนิติรัฐและประชาธิปไตยของประเทศนั้นเป็นเสมือนองคาพยพของสิ่งมีชีวิตที่ย่อมผันแปรไปตามกฎเกณฑ์ของกรรม และกฎเกณฑ์ของความเป็นอนิจจัง ที่จำเป็นต้องให้การเอาใจใส่ที่ต่อเนื่องในการฟื้นฟูพัฒนาและบำรุงรักษาอย่างถูกที่ถูกทางและถูกกาละเทศะ (rhythm of development)บนพื้นฐานและครรลองของสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรมที่แท้จริง” อันประกอบกันทั้งความยุติธรรมอย่างสัมพัทธ์และความยุติธรรมอย่างสัมบูรณ์ด้วยซึ่งเป็นการชี้นำให้เห็นถึงหลักสัจธรรมเบื้องต้นของรัฐและการปกครองที่ไม่ได้เป็นการแสวงหาคำอธิบายแต่เพียงว่า “ผู้ปกครองจะต้องได้อำนาจมาอย่างไร” เท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงการแสวงหาคำอธิบายอย่างลึกซึ้งถึงในส่วนของ“ผู้ปกครองจะต้องใช้อำนาจนั้นอย่างไรและเพื่อส่งประโยชน์ต่อคนหมู่มากอย่างไร” ได้ด้วย ซึ่งในขณะเดียวกันหลักประกันดังกล่าวยังได้สืบสานสายใยพระเมตตากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการทรงช่วย“ดำรงรักษาไว้ซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างรู้รักสามัคคีของหมู่ชนที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมีดุลยภาพและมีความมั่นคงถาวรอย่างยั่งยืนตลอดไป”อันเนื่องมาจากประเทศของเรานั้นเป็น “ประเทศที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมของการยึดเหนี่ยวแห่งความหวังและความศรัทธา” อีกด้วย


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ดร. เชาวนะ ไตรมาศ
ศาลรัฐธรรมนูญ

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย