วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/01/2008
ที่มา: 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ธรรมะไทย พระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทและมหายาน วิกิพีเดียบทความ พระพุทธเจ้า ซึ่งบทความนี้คัดลอกมาจากวิกิพีเดียและนำมาใช้ภายใต้สัญญา GFDL

พระพุทธเจ้า ( Buddha) เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ พุทธศานาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือพระโคตมพุทธเจ้า และกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและมีการสร้างพระพุทธเจ้าเพิ่มเติมขึ้นมาจนบางองค์มีลักษณะคล้ายเทพเจ้าของศาสนาฮินดู

ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธ ถือกันว่า พระพุทธเจ้า (พระโคตมพุทธเจ้า) พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปีก่อนคริสต์กาลตามตำราไทยอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล

สารบัญ [ซ่อนสารบัญ]
1 ความหมายของคำว่าพุทธะ
2 คำที่ใช้กล่าวเรียกพระพุทธเจ้า
3 พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายเถรวาท
3.1 ประเภทของพระพุทธเจ้า
3.2 พระพุทธเจ้าในอดีต
3.3 พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
3.4 พระพุทธเจ้าในอนาคต
4 พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน
5 พระพุทธสรีระ
5.1 มหาบุรุษ ลักษณะ 32 ประการ
5.2 อนุพยัญชนะ 80 ประการ
5.3 พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระกายพระพุทธเจ้า
 

[แก้ไข] ความหมายของคำว่าพุทธะ
ในพระพุทธศาสนา พุทธะ (ภาษาบาลี พุทฺธ แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน") หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้วอย่างถ่องแท้ ในชั้นอรรถกถา จำแนกพุทธะออกเป็น 3 จำพวกด้วยกันได้แก่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีเรียกเพียง "พระพุทธเจ้า" คือบุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ (พระโคตมพุทธเจ้า) เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระปัจเจกพุทธะ คือบุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองแต่จำเพาะผู้เดียว มิได้สอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
อนุพุทธะ คือบุคคลที่ตรัสรู้เนื่องด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ในอรรถกถาบางแห่งจำแนกเป็น 4 คือ

พระสัพพัญญูพุทธะ (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ปัจเจกพุทธะ
จตุสัจจพุทธะ (สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล)
สุตพุทธะ (ผู้เป็นพหูสูตร)
[แก้ไข] คำที่ใช้กล่าวเรียกพระพุทธเจ้า
มีหลายคำดังจะกล่าวต่อไปนี้

พระบรมโพธิสัตว์, พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่กำลังบำเพ็ญ บารมี 10 คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฐาน เมตา อุเบกขา และ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
อังคีรส หมายถึง ท่านผู้มีรัศมีแผ่ออกมาจากพระกาย
สิทธัตถะหมายถึง ท่านผู้ที่มีความเพียรพยายาม เมื่อต้องการสำเร็จ เป้าหมายที่ประสงค์จะทำ
พระมหาบุรุษ เป็นคำที่ใช้เรียก พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อีกความหมายหนึ่งคือ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่
ตถาคต เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองมี ความหมาย 8 อย่างคือ
พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น
พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น
พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ
พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น
พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น
พระผู้ตรัสอย่างนั้น
พระผู้ทำอย่างนั้น
พระผู้เป็นเจ้า
ตถาคตโพธิสัทธา หมายถึง การเชื่อถือปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
ธรรมกาย หมายถึงท่าน ผู้มีธรรมในกาย
ธรรมราชา หมายถึง ท่านผู้เป็นราชาแห่งธรรม
ธรรมสวามิศร, ธรรมสามิสร หมายถึง ท่านผู้เป็นใหญ่โดยเป็นเจ้าของธรรม
ธรรมสามี หมายถึง ท่านผู้เป็นเจ้าของธรรม
ธรรมิศราธิบดี หมายถึง ท่านผู้เป็นอธิปดีในธรรม เป็นคำกวีหมายถึงพระพุทธเจ้า
บรมศาสดา, พระบรมศาสดา หมายถึง ท่านผู้เป็น ศาสดาอันยอดยิ่ง พระผู้เป็นครูสูงสุด พระบรมครู
พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระพุทธเจ้าหมายถึง ท่านผู้รู้ดี รู้ชอบ ด้วยตนเองก่อนแล้ว สอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
พระศาสดา หมายถึง ท่านผู้ทรงสอนชนทั้งปวง
พระสัมพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า]], พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
ภควา หมายถึง ท่านผู้เป็นผู้มีโชค หรือ ท่านผู้จำแนกแจกธรรม
มหาสมณะ
โลกนาถ, พระโลกนาถ หมายถึง พระผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลก
สยัมภู, พระสัมภู หมายถึง ท่านผู้ตรัสรู้ได้โดยตนเอง ไม่มีใครมาสั่งสอน
สัพพัญญู, พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า หมายถึง ท่านผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
พระสุคต, พระสุคโต หมายถึง ท่านผู้เสด็จไปดีแล้ว
[แก้ไข] พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายเถรวาท
ในพระไตรปิฏกกล่าวว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว 25 พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 25 และพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปคือพระศรีอารยเมตไตรย ในทัสศนะเถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ที่เหนือกว่าคนทั่วไปคือพระองค์พบทางดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง และเผยแพร่หนทางนั้นต่อสรรพสัตว์ ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เมื่อทรงดับขันธปรินิพพาน คือดับไปโดยไม่เหลือเชื้อใดๆ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องทำความดี (บารมี) มาในชาติก่อน ๆ นับชาติไม่ถ้วน (ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระโพธิสัตว์)

[แก้ไข] ประเภทของพระพุทธเจ้า
ในพระไตรปิฎกจะแบ่งประเภทของพระพุทธเจ้าไว้ดังนี้ การแบ่งประเภทของพระพุทธเจ้าตามวิธีการสร้างบารมี

ปัญญาพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ
ศรัทธาพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ
วิริยะพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ
[แก้ไข] พระพุทธเจ้าในอดีต
เรื่องราวอันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในอดีต มีกล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายคัมภีร์ ทั้งที่เป็นพระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกา และหนังสือที่ท่านผู้เป็นปราชญ์ในแต่ละยุคได้รจนาไว้ ด้วยอ้างถึงพระสูตร ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ซึ่งพระโคตมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเป็นสัพพัญญู สมบูรณ์ด้วยทศพลญาณอันไม่ติดขัด ได้ทรงแสดงเรื่องเกี่ยวพระพุทธเจ้าในอดีตเหล่านี้ได้ด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เองแก่พระประยูรญาติ หมู่ภิกษุสงฆ์สาวก เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ณ นิโครธารามมหาวิหารใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ พระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำถ่ายทอดโดยการท่องในยุคแรก และจดจารึก เป็นตำราคัมภีร์ในภายหลัง จนสืบต่อมาถึงปัจจุบันนี้

อนึ่ง เนื่องด้วยพระโคตมพุทธเจ้า ยังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ในอดีตพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรก คือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า และพระสรณังกรพุทธเจ้า แห่งสารมัณฑกัป เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์นี้จึงมีเพียงเล็กน้อย ส่วนพระพุทธเจ้าในอดีต 24 พระองค์ที่มาภายหลังนั้น ได้ให้พุทธพยากรณ์แก่พระโคตมพุทธเจ้าไว้ทุกพระองค์ จึงมีประวัติเรื่องราวแสดงไว้มากกว่า ซึ่งพระประวัติของพระพุทธเจ้า แต่พระองค์นั้นมี แต่จะขอนำเฉพาะรายชื่อของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหมด 27 พระองค์ ดังต่อไปนี้

พระตัณหังกรพุทธเจ้า
พระเมธังกรพุทธเจ้า
พระสรณังกรพุทธเจ้า
พระทีปังกรพุทธเจ้า
พระโกณฑัญญะพุทธเจ้า
พระสุมัคละพุทธเจ้า
พระสุมนะพุทธเจ้า
พระเรวตะพุทธเจ้า
พระโสภิตะพุทธเจ้า
พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
พระปทุมะพุทธเจ้า
พระนารทะพุทธเจ้า
พระปทุมุตตระพุทธเจ้า
พระสุเมธะพุทธเจ้า
พระสุชาตะพุทธเจ้า
พระปิยทัสสีพุทธเจ้า
พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า
พระสิทธัตถะพุทธเจ้า
พระติสสะพุทธเจ้า
พระปุสสะพุทธเจ้า
พระวิปัสสีพุทธเจ้า
พระสิขีพุทธเจ้า
พระเวสสภูพุทธเจ้า
พระกกุสันธะพุทธเจ้า
พระโกนาคมนะพุทธเจ้า
พระกัสสปะพุทธเจ้า
[แก้ไข] พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าทั้ง 27 พระองค์ ดังที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าในอดีต ด้วยเหตุว่าทรงอุบัติขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และเมื่อยกเว้นพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรกแล้ว พระพุทธเจ้าในอดีตเหล่านี้ ได้ให้พุทธพยากรณ์แก่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น และการที่เรียกพระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทั้งที่ได้ดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วนั้น ก็ด้วยเหตุว่าแม้พระองค์จะปรินิพพานไปนานแล้วแต่พระศาสนาคือพระธรรมคำสอนยังดำรงอยู่ ในคัมภีร์สารัตถะสังคหะ แสดงไว้ว่า ตราบใดที่พระสารีริกธาตุมีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังปรากฏอยู่ ตราบนั้นชื่อว่าพระพุทธเจ้ายังทรงดำรงอยู่ ต่อเมื่อใดอันตรธาน 5 ประการ มีปริยัตติอันตรธานเป็นเบื้องต้น และมีธาตุอันตรธานเป็นเบื้องปลายได้เกิดขึ้นแล้วจึงจะชื่อว่าหมดยุคแห่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ

พระโคตมพุทธเจ้า
[แก้ไข] พระพุทธเจ้าในอนาคต
มีจำนวน 10 พระองค์ คือ

พระศรีอาริยเมตไตรย
พระรามะพุทธเจ้า
พระธรรมราชพุทธเจ้า
พระธรรมสามีพุทธเจ้า
พระนารทพุทธเจ้า
พระรังสีมุนีพุทธเจ้า
พระเทวเทพพุทธเจ้า
พระนรสีหพุทธเจ้า
พระติสสพุทธเจ้า
พระสุมังคลพุทธเจ้า
หากแบ่งตามกัปป์ โดยการนับอสงไขยในที่นี้ จะนับอสงไขยแรกโดยเริ่มนับจากช่วงเวลาที่ อดีตชาติของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มสร้างบารมี โดยการอธิษฐานในใจต่อหน้าพระพักตร์ของพระสัมมาพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก จะมีพระพุทธเจ้าในอดีตดังต่อไปนี้

กัปแรกในต้นอสงไขยที่ 17 เป็นสารมณฑกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
พระตัณหังกรพุทธเจ้า
พระเมธังกรพุทธเจ้า
พระสรนังกรพุทธเจ้า
พระทีปังกรพุทธเจ้า
กัปหนึ่งในอสงไขยที่ 18 เป็นสารกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์
พระโกณฑัญญะพุทธเจ้า
กัปหนึ่งในอสงไขยที่ 19 เป็นสารมณฑกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
พระสุมังคละสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสุมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระเรวตะสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระโสภิตะสัมมาสัมพุทธเจ้า
กัปหนึ่งในอสงไขยที่ 20 เป็นสารวรกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 3 พระองค์
สมเด็จพระอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้า
สมเด้จพระปทุมะสัมพุทธเจ้า
สมเด็จพระนารทะสัมพุทธเจ้า
ช่วงเศษแสนมหากัป ของ อสงไขยปัจจุบัน
กัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์. บางตำราว่าเป็นมัณฑกัป บางตำราก็ว่าเป็นสารกัป.
พระปทุมมุตระพุทธเจ้า
สูญกัป (กัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น) 30,000 กัป
มัณฑกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์
พระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสุชาตะสัมมาสัมพุทธเจ้า
สูญกัป 60,000 กัป
วรกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 3 พระองค์
พระปียทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระอัตถทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
สูญกัป 24 กัป
สารกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์
พระสิทธัตถะสัมมาสัมพุทธเจ้า
สูญกัป 1 กัป
มัณฑกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์
พระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระมหาปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า
สารกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์
พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
สูญกัป 60 กัป
มัณฑกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์
พระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า
สูญกัป 30 กัป
กัปปัจจุบัน เป็น ภัทรกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
พระกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระโกนาคมสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)
พระศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า
[แก้ไข] พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน
นิกายมหายานยอมรับพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาททั้งหมดและยังสร้างพระพุทธเจ้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นมนุษย์และมีสถานะเหมือนเทพเจ้าในศาสนาฮินดู นิกายมหายานเชื่อว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ พุทธเกษตรซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามกว่าสวรรค์ พระพุทธเจ้าตามคติมหายานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

อาทิพุทธะ ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติมาพร้อมกับโลกและประทับอยู่กับโลกเป็นนิรันดร์ มีบทบาทคล้ายพระพรหมในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล
พระมานุสสพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่อวตารมาจากอาทิพุทธะมาเกิดในโลกมนุษย์และบำเพ็ญเพียรในฐานะพระโพธิสัตว์จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อปรินิพพานแล้วจะไปอยู่กับอาทิพุทธะ คล้ายกับคติของศาสนาฮินดูที่เมื่อทำความดีถึงขั้นสูงสุดจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาพรหม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจจุบัน ทางมหายานเรียกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระมานุสสพุทธะด้วยเช่นกัน
พระธยานิพุทธะ เป็นพุทธะที่อวตารมาจากอาทิพุทธะเช่นกันแต่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจฌาน (ธยาน) ของอาทิพุทธะไม่ได้ผ่านการบำเพ็ญเพียรในโลกมนุษย์ พุทธะเหล่านี้ประทับบนสวรรค์ ในสภาวะกายทิพย์ มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่มองเห็นได้
[แก้ไข] พระพุทธสรีระ
[แก้ไข] มหาบุรุษ ลักษณะ 32 ประการ
ผู้ที่มีมหาบุรุษลักษณะ เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ ลักษณะของมหาบุรุษมี 32 ประการ คือ

มีพระบาทราบเสมอกัน (พระบาท = เท้า)
ลายพื้นพระบาทเป็นจักร (จักร = รูปลอยล้อรถ คือธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุลล้อนำไป สู่ที่หมาย)
มีส้นพระบาทยาย (ถ้าแบ่ง 4 ส่วน พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ 3) (พระชงฆ์ = แข้ง)
มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย)(นิ้วพระหัตถ์ = นิ้วมือ)
ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย
มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน (อัฐิ = กระดูก ดำเนิน = เดิน)
พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับพระชานุ (พระชานุ = เข่า)
มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก (พระคุยหะ = อวัยวะที่ลับ)
มีฉวีวรรณดุจสีทอง (ฉวีวรรณ =สีผิวกาย)
พระฉวีละเอียด (พระฉวี = ผิว)
มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้น ๆ (พระโลมา = ขน)
เส้นพระโลมาดำสนิทเวียนเป็นทักขิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน (ทักขิณาวัฏ = วนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา)
พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
มีพระมังสะอูมเต็มในที่ 7 แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง 2 และหลังพระบาททั้ง 2 , พระอังสาทั้ง 2, กับลำพระศอ) (พระมังสะ = เนื้อ , ชิ้นเนื้อ พระอังสา = บ่า,ไหล่ พระศอ = คอ)
มีส่วนพระสรีระกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ (สรีระ = ร่างกาย)
พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน (พระปฤษฎางค์ = ส่วนหลัง,ข้างหลัง)
ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุลปริมณฑลแห่งต้นไทร(พระกายสูงเท่ากับว่าของพระองค์)(วา = เท่ากับ 4 ศอก ประมาณ 2 เมตร)
มีลำพระศอกกลมงามเสมอตลอด
มีเส้นประสาทสำหรับรสพระกระยาหารอันดี
มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)(พระหนุ = คาง)
มีพระทนต์ 40 ซี่ (ข้างละ 20 ซี่) (พระทนต์ = ฟัน)
มีพระทนต์เรียบเสมอกัน
พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
เขี้ยวพระทนต์ทั้ง 4 ขาวงามบริสุทธ์
พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏใต้)(พระชิวหา = ลิ้น พระนลาฎ = หน้าผาก)
พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก
พระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักขิณาวัฏ (อุณาโลม = ขนระหว่างคิ้ว)
มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (พระเศียร = ศีรษะ)
[แก้ไข] อนุพยัญชนะ 80 ประการ
นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการแล้ว ยังมีลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ นิยมเรียกกันว่า "อสีตยานุพยัญชนะ" หรือ "อนุพยัญชนะ" อีก 80 ประการด้วยกัน คือ

มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
นิ้วพระหัตถ์แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
พระนขาทั้ง 20 มีสีอันแดง (พระนขา = เล็บ)
พระนขาทั้ง 20 นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา
พระดำเนินงามดุจอาการเดินแหงกุญชรชาติ
พระดำเนินงามดุจสีหราช
พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
พระดำเนินงามดุจอสุภราชดำเนิน
ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้กิริยามารยาทคล้ายสตรี
พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง (พระนาภี = สะดือ)
พระอุทรมีสัณฐานอันลึก (พระอุทร = ท้อง)
ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ
ลำพระเพลาทั้งสองงามดุจลำสุวรรณกัททลี (พระเพลา = ตัก, ขา ; สุวรรณกัททลี = ลำต้นกล้วยสีทอง)
งวงแห่งเอราวัณวัณเทพหัตถี (เอราวัณเทพยหัตถี = ช้าง 33 เศียร เป็นพาหนะของพระอินทร์)
พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คืองามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้ (พระอังคาพยพ = องคาพยพ = ส่วนน้อยใหญ่แห่งร่างกาย, อวัยวะน้อยใหญ่)
พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย
พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนี่ง
พระสรีกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
พระกายงามบริสุทธิ์สิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ (โกฏิ = สิบล้าน)
มีพระนาสิกอันสูง (พระนาสิก = จมูก)
สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม
มีพระโอษฐเบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก (พระโอษฐ = ปาก, ริมฝีปาก)
พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์ เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น (พระอินทรีย์ = ร่างกาย และจิตใจ)
พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์
ดวงพระพักตร์มีสัณฐานขาวสวย
พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน (พระปรางค์ = แก้ม)
ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
สายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง
รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
ดวงเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้วอมิได้คด
พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง มีพรรณอันแดงเข้ม
พระกรรณทั้งสองมีสันฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ (พระกำรณ = หู)
ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่อมิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
พระเศียรมีสัณฐานอันงาม
ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
พระนลาฏมีสันฐานอันงาม
พระโขนงมีสันฐานอันงามดุจกันธนูอันก่งไว้
พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วราบไปโดยลำดับ
พระโขนงนั้นใหญ่
พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระวรกาย
พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
ลมอัสสะปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
พระโอษฐมีสันฐานอันงามดุจแย้ม
กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล (อุบล = ดอกบัว, บัว)
พระเกสาดำเป็นแสง (พระเกสา = ผม)
กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
พระเกสามีสันฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
พระเกสาดำสนิททุกเส้น
พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏทุกๆ เส้น
วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแหงพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ (พระเกตุมาลา = รัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า)
[แก้ไข] พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระกายพระพุทธเจ้า
ฉัพพรรณรังสี คือแสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลางเป็นรัศมี 6 ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระสรีรกายของพระพุทธเจ้า คือ

นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน
ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง
โลหิตตะ แดงเหมือนตะวันอ่อน
โอทาตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน
มัญเชฏฐะ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
ปภัสสระ เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
สีทั้ง 6 นี้ไม่ได้พุ่งออกเป็นสี ๆ ดังที่แยกไว้นี้ แต่แผ่ออกมาพร้อมกันในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงพระฉัพพรรณรังสีที่แผ่ซ่านออกจากพระกายพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้

"ในลำดับนั้น พระฉัพพรรณรังสีก็โอภาสแผ่ออกจากพระสริรกาย อันว่านิลประภาก็เขียวสดเสมอด้วยสีแห่งดอกอัญชันมิฉะนั้นดุจพื้นแห่งเมฆแลดอกนิลุบลแลปีกแห่งแมลงภู่ ผุดออกจากอังคาพยพในที่อันเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า และพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า แลพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีหรดารทองแลดอกกรรณิการ์แลกาญจนปัฏอันแผ่ไว้ พระรัศมีออกจากพระสริรประเทศในที่อันเหลืองแล้ว แล่นไปสู่ทิศานุทิศต่าง ๆ พระรัศมีที่แดงอย่างพาลทิพากรแลแก้วประพาฬ แลกุมุทปทุมกุสุมชาติ โอภาสออกจากพระสริรอินทรีย์ในที่อันแดงแล้วแล่นฉวัดเฉวียนไปในประเทศที่ทั้งปวง พระรัศมีมีที่ขาวก็ขาวดุจดวงรัชนิกร แลแก้วมณี แลสีสังข์ แลแผ่นเงิน แลดวงดาวพกาพฤกษ์ พุ่งออกจากพระสริรประเทศในที่อันขาวแล้วแล่นไปในทิศโดยรอบ พระรัศมีหงสสิบาทก็พิลาสเล่ห์ดุจสีดอกเซ่ง แลดอกชบา แลดอกหงอนไก่ออกจากรัชกายรุ่งเรืองจำรัส พระรัศมีประภัสสรประภาครุนาดุจสีแก้วพลึกแลแก้วไพฑูริย์เลื่อมประพระฉัพพรรณรังสีทั้ง 6 ประการแผ่ไพศาลแวดล้อมไปโดยรอบพระสกลกายยินทรีย์ กำหนดที่ 12 ศอก โดยประมาณ อันว่าศศิสุริยประภาแลดาราก็วิกลวิการอันแสง เศร้าสีดุจหิ่งห้อยเหือดสิ้นสูญ มิได้จำรูญไพโรจโชติชัชวาล"

รัศมีเฉกเช่นฉัพพรรณรังสีนี้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าและเทวดาเท่านั้น นอกจากนี้ก็เกิดแต่ธรรมชาติเช่นสีรุ้งที่เรียกกันเป็นสามัญว่ารุ้งกินน้ำ หรือ พระจันทร์ พระอาทิตย์ทรงกลด ที่ออกจากเทวดานั้นจะเห็นได้ดังที่พรรณนาไว้ในพระสูตรต่าง ๆ ในเวลาที่เทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้าดังนี้

มีเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีสว่างจ้าเข้ามายังพระเชตวัน ทำพระเชตวันให้สว่างไสวไปทั่วบริเวณ เข้าเผ้าพระทุทธเจ้าที่ประทับความสว่างของรัศมีนั้น ไม่เหมือนแสงเดือนแสงตะวัน หรือไม่เหมือนแสงไฟ เป็นแสงสว่างที่เสมอกันทั้งหมด และเป็นแสงสว่างที่ไม่มีเงาเหมือนแสงอื่นเป็นแสงที่แผ่ไปติดอยู่ทั่วบริเวณ

มีข้อความในปฐมสมโพธกถา ปริเฉทที่ 13 ธรรมจักรปริวรรตว่าดังนี้

"ฝ่ายอุปกาชีวเดินมาโดยทุราคมวิถีทางไกล หว่าง คยาประเทศเขตเมืองราชคฤห์กับมหาโพธิญาณ ติดต่อกัน แลเห็นไพสณฑ์สถานอันโอฬารไพโรจน์พรรณราย ด้วยข่ายฉัพพรรณรังสีโสณิวิลาส ปรากฏโดยทิวาทัศนาการทั้งพสุธารแลอากาศโอภาสด้วยพระรัศมีมีพรรณแห่งละ 6 อย่าง ทั่วทั้งทิศล่างและทิศบน มาสัมผัสกายตนประหลาดมหัศจรรย์ไม่เคยได้พบเห็นเป็นเช่นนี้มาแต่ก่อน ถ้าจะเป็นเพลิง ไฉนกายอาตมาจึงไม่ร้อนกระวนกระวายแม้จะเป็นน้ำ ไฉนกายอาตมาจะไม่ชุ่มชื้นเย็นนี่จะเป็นสิ่งอันใดยิ่งสงสัยสนเท่ห์จิต จึงเพ่งพิศไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นองค์พระผู้ทรงสวัสดิ์ภาคย์เสด็จบทจรมา รุ่งเรืองด้วยพระสิดิฉันธมหาหว่างติสสุระ ลักษณะแลพระพยามประภาโอภาสเบื้องบน พระสุริย ก็ช่วงโชติด้วยพระเกตุมาลา ครุนาดุจทองทั้งแท่งประดับด้วยฉัพพรรณรังสี รังสีแสงไพโรจน์จำรัส"

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดียบทความ พระพุทธเจ้า ซึ่งบทความนี้คัดลอกมาจากวิกิพีเดียและนำมาใช้ภายใต้สัญญา GFDL
ธรรมะไทย
พระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทและมหายาน
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

ประเภทของหน้า: ศาสนาพุทธ