พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526

พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526
––––––––––––––
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526
เป็นปีที่ 38 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยภาษี การเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 157 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526

        มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชกำหนดนี้

        ภาษี หมายความว่า ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

        ผู้เดินทาง หมายความว่า ผู้มีสัญชาติไทยและ คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรซึ่งเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

        พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้

        อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากร และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พระราชกำหนดนี้

        มาตรา 4 ภาษีตามพระราชกำหนดนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร

        รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้ส่วนราชการหรือบุคคลอื่นเรียกเก็บภาษีเพื่อกรมสรรพากรก็ได้

        มาตรา 5 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยง การเสียภาษีให้อธิบดีมีอำนาจเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะได้เพื่อทำการตรวจ ค้น ยึด หรืออายัด บัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีที่จะต้องเสีย ได้ทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งบุคคลที่อยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะนั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นได้

        การปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของผู้ถูกตรวจ ค้น ยึด หรืออายัด เว้นแต่การตรวจ ค้น ยึด หรืออายัด ในเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้ หรือในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง อธิบดีจะออกคำสั่งให้ตรวจค้น ยึด หรืออายัดในเวลาใด ๆ ก็ได้

        มาตรา 6 หนังสือเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษี หรือหนังสือที่มีถึงบุคคลใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำไปส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักงานของบุคคลนั้นในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และ อยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้

        ถ้าไม่สามารถส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ด้วยเหตุใด ๆ ให้ส่งโดยวิธีปิดหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษี หรือหนังสืออื่น ณ ที่เห็นได้ง่ายที่ประตูบ้าน สำนักงาน ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของผู้รับ หรือจะส่งโดยวิธีย่อข้อความในหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษี หรือหนังสืออื่นนั้น ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ก็ได้

        เมื่อได้ส่งตามวิธีการดังกล่าวในวรรคสองและเวลาได้ล่วงพ้นไปเจ็ดวันแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีหรือหนังสืออื่นนั้นแล้ว

        มาตรา 7 ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดแบบแสดงรายการและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บและเสียภาษี

        มาตรา 8 ผู้เดินทางมีหน้าที่เสียภาษีทุกครั้งที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินครั้งละห้าพันบาท

        การเสียภาษีตามวรรคหนึ่งให้ผู้เดินทางเสียภาษี ก่อนเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 9 ผู้เดินทางดังต่อไปนี้ได้รับยกเว้นภาษี

         (1) ผู้มีหน้าที่ทำการเกี่ยวกับการประกอบการขนส่งซึ่งโดยลักษณะหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าโดยสาร และเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยหน้าที่การงานของผู้ประกอบกิจการขนส่งซึ่งตนมีหน้าที่

         (2) ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตผ่านแดน

         (3) ผู้เดินทางตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง

        มาตรา 10 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมิได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรให้มีสิทธิขอคืนภาษีต่ออธิบดีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ชำระภาษี

        มาตรา 11 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองอนุญาตให้ผู้ใดเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ผู้นั้นจะได้แสดงหลักฐานการรับชำระภาษี หรือเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 9

        มาตรา 12 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ ในกรณีที่ผู้มี หน้าที่เสียภาษีมิได้เสียภาษีตามมาตรา 8

        มาตรา 13 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 12 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

         (1) ออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือพยานมาให้ถ้อยคำ

         (2) ออกคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือพยานตอบคำถามเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารอันควรแก่กรณีมาตรวจสอบ ไต่สวน

        ทั้งนี้ ต้องให้เวลาแก่ผู้รับหมายเรียกหรือคำสั่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกหรือคำสั่งนั้น

        มาตรา 14 เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 13 แล้ว และมีภาษีที่ต้องเสียให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม โดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีให้ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นภาษีค้าง และให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างมาใช้บังคับ

        มาตรา 15 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอาจอุทธรณ์การเรียกเก็บตามมาตรา 14 ต่ออธิบดีได้เว้นแต่กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งตามมาตรา 13

        การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 16 การเรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามมาตรา 14 ให้กระทำได้ภายในห้าปีนับแต่วันที่ผู้เดินทางมิได้เสียภาษีตามมาตรา 8

        มาตรา 17 ในกรณีที่ผู้เดินทางมิได้เสียภาษีตามมาตรา 8 หรือบุคคลที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 4 ไม่นำส่งภาษีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

         (1) ให้เสียเบี้ยปรับสองเท่าของภาษี

         (2) ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องเสีย โดยไม่รวมเบี้ยปรับตาม (1)

        การคำนวณเงินเพิ่มตาม (2) ให้เริ่มนับแต่วันที่ต้องเสียภาษีหรือนำส่งภาษีตามมาตรา 8 เงินเพิ่มดังกล่าวมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

        มาตรา 18 เบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ระเบียบดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 19 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยาน หลักฐานเท็จมาแสดง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 20 ผู้ใด

         (1) ไม่อำนวยความสะดวก ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา 5

         (2) ไม่ชำระภาษีตามมาตรา 8 หรือในกรณีเป็นบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 4 ไม่ปฏิบัติตามประกาศที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 17

         (3) โดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ยอมตอบคำถามของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 13

        ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 21 ความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ถ้าอธิบดีเห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่ควรต้องได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ก็ให้มีอำนาจเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับ แต่สถานเดียวได้

        เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        มาตรา 22 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พลเอก ป. ติณสูลานนท์

        นายกรัฐมนตรี


        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องป้องกันมิให้มีการนำเงินตรา ต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักรเกินสมควร เพื่อรักษาดุลการชำระเงินของประเทศ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มี ความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้