พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
(แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542)
____________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
เป็นปีที่ 42 ในรัชกาลปัจจุบัน
____________________

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 (ชื่อพระราชบัญญัติ) พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530”

        มาตรา 2 (วันพระราชบัญญัติใช้บังคับ)พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 (บทนิยาม)ในพระราชบัญญัตินี้

         “กองทุน” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสม เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบรวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย หรือออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน

         ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนโดยวิธีใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่นายจ้างหักไว้ หรือจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างเพื่อประโยชน์ในการทำงาน

         “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และไม่ว่าการตกลงนั้นจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่

         “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่

         “นายทะเบียน” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

         “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 (รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติและอำนาจของรัฐมนตรี)ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด 1 การจัดตั้ง

____________________

        มาตรา 5 (การจัดตั้งกองทุนและวัตถุประสงค์) กองทุนจะมีขึ้นได้ก็แต่โดยที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นโดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนนั้นกองทุนต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย หรือออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน

        มาตรา 6 (การจดทะเบียนกองทุน)เมื่อลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งกองทุนขึ้นตามมาตรา 5 แล้ว ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างที่ได้จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะให้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

        มาตรา 7 (ความเป็นนิติบุคคล)กองทุนที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล

        มาตรา 8 (เงื่อนไขการรับจดทะเบียน)ในการขอจดทะเบียนกองทุน ถ้าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 และมีข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา 9 และข้อบังคับนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือวัตถุประสงค์ของกองทุน ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้ และให้ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่กองทุนนั้นให้นายทะเบียนประกาศการจดทะเบียนกองทุนในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 9 (ข้อบังคับกองทุนและการแก้ไขเพิ่มเติม) ข้อบังคับของกองทุนอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

         (1) ชื่อ ซึ่งต้องมีคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และมีคำว่า “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย

         (2) ที่ตั้งสำนักงาน

         (3) วัตถุประสงค์

         (4) วิธีรับสมาชิกและการสิ้นสมาชิกภาพ

         (5) ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ วิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการกองทุน

         (6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน

         (7) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ

         (8) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ หรือเมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25

         (9) ข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของกองทุน

         (10) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่

         (11) รายการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของกองทุน ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไข และยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนแล้ว

        มาตรา 10 (การจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน)ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนแต่ข้อบังคับนั้นจะต้องกำหนดให้หักค่าจ้างเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้างลูกจ้างและนายจ้างอาจตกลงกันให้จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งโดยอนุมัติรัฐมนตรีก็ได้ให้นายจ้างส่งเงินตามวรรคหนึ่งเข้ากองทุนภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้างในกรณีที่นายจ้างส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนล่าช้ากว่าสามวันทำการ ให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มให้แก่กองทุนในระหว่างเวลาที่ส่งล่าช้าในอัตราร้อยละห้าต่อเดือนของจำนวนเงินสะสมหรือเงินสมทบที่ส่งล่าช้านั้น(แก้ไขเพิ่มเติมวรรคหนึ่งโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 11 (คณะกรรมการกองทุน)ให้กองทุนมีคณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วยผู้แทนซึ่งลูกจ้างเลือกตั้งและผู้แทนซึ่งนายจ้างแต่งตั้ง มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนและเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกเพื่อการนี้คณะกรรมการกองทุนจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือการเปลี่ยนกรรมการให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือเปลี่ยนกรรมการ

[แก้ไข]
หมวด 2 การจัดการกองทุน

____________________

        มาตรา 12 (อำนาจโดยทั่วไปของรัฐมนตรีและการมอบหมาย)ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้หน่วยงานใดในสังกัดปฏิบัติหน้าที่แทน และจะมอบหมายให้แต่งตั้งพนักงานของหน่วยงานนั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 12 ทวิ (อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน)ให้นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการจัดการกองทุนและมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนชี้แจงข้อเท็จจริง และทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนได้ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าผู้จัดการกองทุนใดจัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่กองทุนนายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนแก้ไขหรือระงับการกระทำนั้น หรือสั่งถอดถอนผู้จัดการกองทุนได้(เพิ่มความโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 12 ตรี (การจัดทำรายงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลการจัดการกองทุนโดยนายทะเบียน)ให้นายทะเบียนจัดทำรายงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลการจัดการกองทุนเสนอต่อรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละสองครั้งเพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีอาจสั่งให้นายทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานหรือชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพิ่มเติมก็ได้(เพิ่มความโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 13 (คุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่จัดการกองทุน)การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้างและได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 14 (อำนาจและหน้าที่ผู้จัดการกองทุน) ในการจัดการกองทุนให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 15 (การแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินของนายจ้างออกจากของกองทุน)ให้นายจ้างแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของตนออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนโดยเด็ดขาด

        มาตรา 16 (ยกเลิกโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 17(ยกเลิกโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 18 (ยกเลิกโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 19 (ยกเลิกโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 20 (การพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการกองทุน) ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนก่อนครบกำหนดสัญญา เมื่อ

         (1) นายทะเบียนสั่งถอดถอนตามมาตรา 12 ทวิ วรรคสอง

         (2) ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการกองทุน

         (3) กองทุนหรือผู้จัดการกองทุนบอกเลิกสัญญา หรือ

         (4) กองทุนเลิกตามมาตรา 25(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 21 (การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่)ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนตามมาตรา 20(1) (2) หรือ (3) ให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนเดิมพ้นตำแหน่ง และให้แจ้งการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่แก่นายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่แต่งตั้ง(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 22 (การตรวจดูบัญชีและเอกสาร)ลูกจ้างและนายจ้างจะขอตรวจดูบัญชีและเอกสารของกองทุน ณ สำนักงานกองทุนได้ในเวลาเปิดทำการ

[แก้ไข]
หมวด 3 การจ่ายเงินจากกองทุนและการเลิกกองทุน

____________________

        มาตรา 23 (การจ่ายเงินจากกองทุน)เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียว ภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ ในกรณีสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตาย ถ้าลูกจ้างมิได้กำหนดบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนไว้โดยพินัยกรรมหรือทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการกองทุนหรือได้กำหนดไว้แต่บุคคลผู้นั้นตายก่อนให้จ่ายเงินจากกองทุนตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลตามหลักเกณฑ์ดังนี้

         (1) บุตรให้ได้รับสองส่วน แต่ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน

         (2) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน

         (3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วนถ้าผู้ตายไม่มีบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามวรรคสองหรือไม่มีทายาทตามกฎหมายแล้วให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนเพื่อจัดการตามที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน

        มาตรา 24 (การไม่ตกอยู่ภายใต้ความรับผิดแห่งการบังคับคดี และการไม่สามารถโอนกันได้ของสิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุน)ภายใต้บังคับมาตรา 23 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้ และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

        มาตรา 25 (การเลิกกองทุน) กองทุนย่อมเลิก เมื่อ

         (1) นายจ้างเลิกกิจการ

         (2) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก

         (3) มีกรณีที่ข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เลิก หรือ

         (4) นายทะเบียนสั่งให้เลิกกองทุนตามมาตรา 27ในกรณีที่กองทุนจัดตั้งขึ้นโดยมีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย การที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัวจากกองทุนไม่เป็นเหตุให้กองทุนต้องเลิก เว้นแต่ข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เลิกเมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัว และจัดให้มีการชำระบัญชีกองทุนเฉพาะส่วนทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างของนายจ้างนั้นตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนเมื่อได้ชำระบัญชีแล้วให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี(แก้ไขเพิ่มเติม (4) โดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 26 (หน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนเมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25(1) - (3)) เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25(1) (2) หรือ (3) ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กองทุนเลิก และให้คณะกรรมการกองทุนจัดให้มีการชำระบัญชีภายในสามสิบวัน และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่กองทุนเลิก เว้นแต่กรณีจำเป็นนายทะเบียนจะอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปได้ตามที่เห็นสมควร(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 27 (อำนาจของนายทะเบียนในการสั่งเลิกกองทุน)นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้เลิกกองทุนได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

         (1) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการดำเนินงานของกองทุนขัดต่อวัตถุประสงค์หรือขัดต่อกฎหมาย

         (2) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่ากิจการของกองทุนไม่อาจดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าเพราะเหตุใดเมื่อนายทะเบียนสั่งให้เลิกกองทุนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีการชำระบัญชีและให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 28 (วิธีการประกาศเลิกกองทุน) เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25 ให้นายทะเบียนประกาศการเลิกกองทุนในราชกิจจานุเบกษาและปิดประกาศไว้ที่สำนักงานของกองทุนหรือที่ทำการของนายทะเบียน

        มาตรา 29 (การชำระบัญชีและค่าตอบแทน) การชำระบัญชีกองทุนให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดมาใช้บังคับโดยอนุโลมในระหว่างการชำระบัญชี ถ้าผู้ชำระบัญชีเห็นสมควรจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างบางส่วนก่อนก็ได้ และเมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ให้จ่ายเงินทั้งหมดที่ค้างชำระแก่ลูกจ้างให้เสร็จภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชีถ้ามีเงินเหลืออยู่ให้จัดการตามที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนในการชำระบัญชี ให้จ่ายจากทรัพย์สินของกองทุน

[แก้ไข]
หมวด 4 พนักงานเจ้าหน้าที่

____________________

        มาตรา 30 (อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่)เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการจัดการกองทุน ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

         (1) เข้าไปในสำนักงานของกองทุนหรือของผู้จัดการกองทุนเพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของกองทุนในเวลาทำงานปกติ

         (2) สั่งให้กรรมการ ผู้จัดการกองทุน หรือเจ้าหน้าที่ของกองทุนซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนส่งหรือแสดงบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นของกองทุน

         (3) เรียกบุคคลดังกล่าวใน (2) มาเพื่อสอบถามหรือแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุน

        มาตรา 31 (พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวในการปฏิบัติหน้าที่) ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนประกาศกำหนด(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

[แก้ไข]
หมวด 5 บทกำหนดโทษ

____________________

        มาตรา 32 (กรณีไม่ใช้ชื่อและคำต่อท้ายให้ถูกต้อง)กองทุนใดไม่ใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และ “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศแต่ไม่ใช้คำซึ่งมีความเหมายดังกล่าวในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของกองทุน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา 33 (กรณีใช้ชื่อและคำต่อท้ายโดยไม่มีสิทธิใช้)ผู้ใดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และ “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดังกล่าวในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาท จนกว่าจะได้เลิกใช้(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 34 (กรณีคณะกรรมการกองทุนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้)คณะกรรมการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 วรรคสอง มาตรา 21 มาตรา 25 วรรคสาม หรือมาตรา 26 หรือแต่งตั้งบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 เป็นผู้จัดการกองทุน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 35 (กรณีผู้จัดการกองทุนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 12 ทวิ และมาตรา 23)ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 12 ทวิ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 36 (กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15) (ยกเลิกโดยมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 37 (กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15)นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

        มาตรา 38 (ยกเลิกโดยมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 39 (ยกเลิกโดยมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542)

        มาตรา 40 (กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขัดขวาง หรือไม่ให้ความสะดวกแก่นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่) ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 30 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา 41 บทสันนิษฐานความผิดของกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนกระทำความผิดตามมาตรา 34 ให้ถือว่ากรรมการทุกคนเป็นผู้กระทำความผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจกับกรรมการอื่น หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว

        มาตรา 42 (การเปรียบเทียบความผิด)ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามมาตรา 38 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบคดีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

        มาตรา 43 (อายุความเปรียบเทียบและการฟ้องร้องต่อศาล) ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการทำการเปรียบเทียบตามมาตรา 42 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิด หรือภายในห้าปีนับแต่วันที่กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

        นายกรัฐมนตรี