พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘

พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘
____________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วย การบริหารหนี้สาธารณะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

         (๑) พระราชบัญญัติตั๋วเงินคลังพุทธศักราช ๒๔๘๗

         (๒) พระราชบัญญัติกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังในการค้ำประกัน พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๐ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระราชบัญญัติกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังในการค้ำประกัน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐

         (๓) พระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อการป้องกันประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๙

         (๔) พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๙

         (๕) พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากรัฐบาลต่างประเทศเพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร พ.ศ. ๒๕๒๔

         (๖) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังปรับโครงสร้างเงินกู้ต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๘

         (๗) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๑

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “หนี้สาธารณะ” หมายความว่า หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ กู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน

         “การบริหารหนี้สาธารณะ” หมายความว่า การก่อหนี้โดยการกู้หรือการค้ำประกัน การชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะ

         “การค้ำประกัน” หมายความรวมถึงการอาวัลตั๋วเงินด้วย

         “ตราสารหนี้” หมายความว่า ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตร และตราสารอื่นที่มีผลก่อให้เกิดหนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนด และให้หมายความรวมถึงตราสารหนี้ที่ออกในระบบไร้ใบตราสารด้วย

         “ตั๋วเงินคลัง” หมายความว่า เอกสารการก่อหนี้ผูกพันระยะสั้นที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกโดยมีอายุนับแต่วันที่ออกไม่เกินสิบสองเดือน

         “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” หมายความว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

         “พันธบัตร” หมายความว่า เอกสารการก่อหนี้ผูกพันระยะยาวที่มีอายุนับแต่วันที่ออกตั้งแต่สิบสองเดือนขึ้นไป

         “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาล และหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ

         “หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ” หมายความว่า หน่วยงานอื่นของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

         “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

         “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า

         (ก) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

         (ข) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ

         (ค) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจตาม (ก) หรือ (ข) หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) และ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ โดยให้คำนวณเฉพาะทุนตามสัดส่วนที่เป็นของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

         “สถาบันการเงินภาครัฐ” หมายความว่า สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ

         “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

         “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ประกาศและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑ บททั่วไป

____________________

        มาตรา ๖ การบริหารหนี้สาธารณะให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา ๗ ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจในการกู้เงินหรือค้ำประกันในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ผู้เดียว โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๘ หน่วยงานของรัฐนอกจากกระทรวงการคลังจะกู้เงินหรือค้ำประกันมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะ

        มาตรา ๙ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่นิติบุคคล หากมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อใช้ดำเนินกิจการให้กระทรวงเจ้าสังกัดมีอำนาจกู้ให้ได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุนรัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องเสนอแผนงานลงทุนให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ หากเป็นการกู้เงินเกินห้าสิบล้านบาท จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีด้วย

        เงินที่ได้รับจากการกู้ตามมาตรานี้ ให้จ่ายแก่รัฐวิสาหกิจนั้นเพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

        มาตรา ๑๐ การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้หรือวิธีการอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

        การกู้เงินตามวรรคหนึ่ง กระทรวงการคลังจะกู้จากหรือผ่านบุคคลอื่นใดที่มิใช่เป็นผู้ให้กู้โดยตรงไม่ได้ เว้นแต่การกู้เงินโดยการออกตราสารหนี้ กระทรวงการคลังจะจำหน่ายตราสารหนี้ผ่านผู้จัดจำหน่ายก็ได้

        การกู้เงินโดยวิธีการออกตราสารหนี้ ให้ออกได้ตามจำนวนเงิน ระยะเวลาและวิธีการออกตราสารหนี้ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

        มาตรา ๑๑ การออกตราสารหนี้ในประเทศ รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลอื่นจัดจำหน่ายก็ได้

        ภายใต้บังคับวรรคหนึ่ง การออกตราสารหนี้ การซื้อขายตราสารหนี้ การโอนตราสารหนี้ การใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน โดยส่งมอบหรือไม่ต้องส่งมอบใบตราสาร การบังคับหลักประกัน การมอบหมายให้บุคคลจัดจำหน่าย ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยมิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยจำนำแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ เว้นแต่กฎกระทรวงจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

        มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจลงนามในสัญญากู้ หนังสือหรือสัญญาค้ำประกัน หรือตราสารหนี้ แต่ในกรณีที่เป็นการมอบหมายให้มีอำนาจลงนามในตราสารหนี้ต้องประกาศการมอบหมายนั้นในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๑๓ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน การออกและจัดการตราสารหนี้ให้จ่ายจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เว้นแต่ในกรณีของตั๋วเงินคลังหรือเป็นกรณีที่กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังอนุญาตให้จ่ายจากเงินคงคลัง จะจ่ายจากเงินคงคลังก็ได้

        มาตรา ๑๔ ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ โดยดำเนินการกู้เงินรายใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม แปลงหนี้ ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุ ซื้อคืน หรือไถ่ถอนตราสารหนี้ของรัฐบาล หรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๑๕ เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังอาจชำระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินภาครัฐได้ และเมื่อกระทรวงการคลังได้ชำระหนี้แล้ว ให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นหนี้กระทรวงการคลังตามจำนวนเงินที่กระทรวงการคลังได้ชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว

        มาตรา ๑๖ ในการกู้เงินแต่ละครั้ง ให้กระทรวงการคลังประกาศแหล่งเงินกู้ สกุลเงินกู้ จำนวนเงินกู้ การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย ค่าส่วนลด ระยะเวลาการชำระเงินต้นคืน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ เงื่อนไข วิธีการและสาระสำคัญอื่นใดตามที่จำเป็นในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญากู้หรือออกตราสารหนี้แล้วแต่กรณี

        ภายในหกสิบวันหลังจากวันสิ้นเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนของทุกปีให้กระทรวงการคลังสรุปรายงานสถานะของหนี้สาธารณะและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยรายงานดังกล่าวต้องแสดงหนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้เงินและค้ำประกัน ณ วันสิ้นเดือนดังกล่าว รวมทั้งรายการการกู้เงินและการค้ำประกันที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนตามลำดับ

        มาตรา ๑๗ ภายในหกสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังรายงานการกู้เงินและการค้ำประกันที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงินและการค้ำประกัน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ

        มาตรา ๑๘ การคำนวณเงินตราต่างประเทศสกุลใดเป็นเงินบาท ให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ทำสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน หรือออกตราสารหนี้ แต่ในรายงานตามมาตรา ๑๖ วรรคสอง ให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ณ วันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคมหรือเดือนกันยายน แล้วแต่กรณี

        มาตรา ๑๙ ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดกู้เงินโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นหรือกฎหมายอื่นใด โดยมิใช่เป็นการกู้เงินจากกระทรวงการคลัง ห้ามมิให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐเข้ารับผิดชอบหรือค้ำประกันหนี้นั้นหรือตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว

        ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการกู้เงินของหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐด้วยโดยอนุโลม

[แก้ไข]
หมวด ๒ หนี้ที่รัฐบาลกู้

____________________

        มาตรา๒๐ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

         (๑) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

         (๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

         (๓) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ

         (๔) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ

        เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้เงินตาม (๒) ถึง (๔) ให้นำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน หรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

        มาตรา ๒๑ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทไม่เกินวงเงิน

         (๑) ร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และ

         (๒) ร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น

        มาตรา ๒๒ การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

        การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินอย่างชัดเจนและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๒๓ ในการกู้เงินตามมาตรา ๒๒ ถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุน กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศก็ได้

        มาตรา ๒๔ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ให้กระทำได้เฉพาะเพื่อเป็นการประหยัด ลดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน หรือกระจายภาระการชำระหนี้ โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการดังต่อไปนี้

         (๑) กู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของกระทรวงการคลังไม่เกินจำนวนเงินกู้ที่ยังค้างชำระ หรือ

         (๒) กู้เงินเพื่อชำระหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันไม่เกินจำนวนเงินที่ยังมีภาระการค้ำประกันอยู่เงินกู้ตาม (๒) ให้นับรวมในวงเงินตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ แล้วแต่กรณีการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง หากเป็นการกู้เงินรายใหม่เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ที่เป็นเงินบาทให้กู้เป็นเงินบาทเท่านั้นการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกู้เงินที่มีระยะเวลาการชำระหนี้เกินสิบสองเดือนให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

        มาตรา ๒๕ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินภาครัฐมีความจำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศ สำหรับโครงการหรือแผนงานที่รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และหากกระทรวงการคลังเป็นผู้กู้และนำมาให้หน่วยงานดังกล่าวกู้ต่อจะเป็นการประหยัดและทำให้การบริหารหนี้สาธารณะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวกู้ต่อได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้นับรวมในวงเงินตามมาตรา ๒๒

        มาตรา ๒๖ กระทรวงการคลังมีอำนาจเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการชำระหนี้แทนตามมาตรา ๑๕ หรือการให้กู้ต่อตามมาตรา ๒๕ ได้ในอัตราและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด ๓ หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน

____________________

        มาตรา ๒๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินภาครัฐ โดยจะค้ำประกันเต็มจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๒๘ ในปีงบประมาณหนึ่ง กระทรวงการคลังจะค้ำประกันได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

        มาตรา ๒๙ หลักเกณฑ์ และกรอบวงเงินที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินภาครัฐใด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

        กระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจที่มิได้ประกอบกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคและมีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันเกินสามปีไม่ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ยุบเลิกรัฐวิสาหกิจนั้น และเป็นการค้ำประกันหรือให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจนั้นในระหว่างการดำเนินการเพื่อยุบเลิก

        มาตรา ๓๐ กระทรวงการคลังมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันหรือค่าธรรมเนียมอื่นใดได้ในอัตราและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

[แก้ไข]
หมวด ๔ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ

____________________

        มาตรา ๓๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคนหนึ่งซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสามคนเป็นกรรมการ

        ให้ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นกรรมการและเลขานุการ และบุคคลอื่นไม่เกินสองคนซึ่งคณะกรรมการกำหนดเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านการเงิน การคลัง การบริหารหนี้สาธารณะ การงบประมาณหรือกฎหมายและต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

         (๑) มีสัญชาติไทย

         (๒) ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกเว้นคณาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษา

         (๓) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

         (๔) ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะ

        มาตรา ๓๒ ให้กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

        ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

        เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่

        กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

        มาตรา ๓๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือไม่สุจริตหรือบกพร่องต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ

         (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๗) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๑ วรรคสาม

        มาตรา ๓๔ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) รายงานสถานะของหนี้สาธารณะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายหลังการเข้ารับหน้าที่

         (๒) เสนอแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณและการปรับเปลี่ยนแผนดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

         (๓) จัดทำหลักเกณฑ์ในการกู้เงิน การค้ำประกัน การชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะรวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน การออกและจัดการตราสารหนี้ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินภาครัฐยึดถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไป

         (๔) เสนอคำแนะนำในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๖ และมาตรา ๓๐

         (๕) ดำเนินการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

        มาตรา ๓๖ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) ศึกษา วิเคราะห์โครงสร้างหนี้สาธารณะ ตลอดจนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินและสถาบันการเงินภาครัฐที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน รวมถึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประมาณการความต้องการเงินของภาครัฐและการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ

         (๒) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะ ตลอดจนการจัดการกู้เงินเพื่อสำรองเงินคงคลัง การเบิกจ่ายเงินกู้และการชำระหนี้

         (๓) ให้คำปรึกษา แนะนำ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นของรัฐมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         (๔) ติดตามการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ผูกพันกับแหล่งเงินกู้ และประเมินผลการดำเนินงานที่ใช้จ่ายเงินกู้

         (๕) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ

         (๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

____________________

        มาตรา ๓๗ พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบต่อการกู้เงิน การให้กู้เงิน การค้ำประกัน และการปรับโครงสร้างหนี้ที่กระทรวงการคลังกระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี

____________________

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพ แต่โดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการก่อหนี้ การค้ำประกันและการปรับโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศและกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ สมควรปรับปรุงกฎหมายเหล่านั้นให้เป็นระบบและมีเอกภาพยิ่งขึ้น และโดยที่เป็นการสมควรพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีความกว้างขวางมั่นคงและมีความต่อเนื่องอันจะเป็นช่องทางในการระดมเงินทุนแก่ภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง อีกทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารหนี้สาธารณะมีอยู่หลายหน่วยงาน สมควรให้มีหน่วยงานกลางเพียงหน่วยงานเดียวเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารหนี้สาธารณะให้เป็นไปอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ และควบคุมดูแลการก่อหนี้โดยรวมเพื่อให้ภาระหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับฐานะการเงินการคลังของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้